วันพุธที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/4





พระอาจารย์

5/4 (540616B)

(แทร็กต่อ)

16 มิถุนายน 2554




พระอาจารย์ – กายน่ะมันจะยิ่งบีบคั้น บีบรัดเรามาก  แล้วใจเราจะอยู่ยังไง ถ้าไม่เตรียมตัวซะแต่เดี๋ยวนี้ ...มัวแต่เมา มัวแต่เล่น มัวแต่ทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ภายนอกอยู่นี่  พอถึงวาระนั้นจริงๆ จิตใจจะทุกข์มาก ไม่ยอมรับ ต่อสู้เท่าไหร่ก็สู้ไม่ได้ เอาชนะมันไม่ได้เลย 

อย่างนี้เราทำมา เรายังมีวันชนะได้บ้าง ได้ผลบ้าง  แต่เจอภาพของความตายที่กำลังคืบคลานมา หรือกำลังจะตาย  มันไม่มีทางชนะ  แล้วเราจะวางใจอย่างไรกับมัน ... มันต้องฝึกๆ ให้ใส่ใจส่วนนี้บ้าง


โยม –   ครับ  ขอบพระคุณ ผมจะได้เอาไปไว้เตือนสติ

พระอาจารย์ –  เตือนไว้ แค่เตือน


โยม  คอยเตือนสติไม่ให้ประมาท 

พระอาจารย์ –  ใช่ ...  เพราะจริงนะ จริงมันใกล้แล้วนะ มันใกล้แล้ว...


โยม –    ตอนนี้กำลังขวนขวาย ... จะได้กลับมาดูตัวเอง

พระอาจารย์ –   ทั้งหมดแล้วก็ไม่เห็นมีอะไร ภายนอก...ทำมาแทบตาย ดูเอา  

แต่ว่าปัญญานี่ ใช้ได้จนตาย  มีปัญญาเข้าใจมันได้ ยอมรับมันได้ นี่ ตรงนี้สามารถ ...พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ อะไรเป็นสาระสำคัญในการมีชีวิต  ไม่ใช่แค่การงานหน้าที่หรือว่าครอบครัวเท่านั้น มันยังมีสาระที่สำคัญกว่านั้น 

ถ้าเราไม่ศึกษาในสาระที่สำคัญส่วนนี้ ถึงบทเวลาที่เราเจ็บไข้จนตาย หรือว่าเจ็บป่วย บางคนก็จะเป็นโรคที่มันรักษาไม่หาย มันจะทุกข์ทรมาน ...แล้วเราจะมีสาระกับการอยู่กับมันได้อย่างไร 

หรือว่าดิ้นรนขวนขวาย หรือว่าอยู่ด้วยการเพ่งโทษ ด่าทอ ตำหนิ หรือว่าจะเอาชนะมัน...ไม่มีทางเลยนะ ... พระพุทธเจ้าบอก ต้องใช้ปัญญา ให้เข้าใจมัน ฝึก...อบรมจิตไปเรื่อย

เอาแล้ว ไปทำงานต่อ

โยม – ครับ  ขออนุญาตกราบลาท่านเลย 


พระอาจารย์ –  (ถามโยมอีกกลุ่ม) เอ้า นั่งฟังนานแล้ว มีปัญหาอะไรมั้ย  นี่ไม่ได้มานานแล้ว มีปัญหามั้ย


โยม  บอกไม่ถูกค่ะหลวงพ่อ  มันก็มีหน้าที่ที่ต้องทำ ก็เหมือนที่หลวงพ่อบอกน่ะค่ะ มันก็คอยรู้อยู่ แต่บางทีถ้ามันมีอะไรเข้ามา บางทีมันก็เผลอไปบ้างอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ก็อยู่ด้วยความเป็นกลางๆ ไปกับมัน  อย่าไปเอาสาระมาก หรือว่ามุ่งมั่นที่จะแก้ไขให้ดีที่สุด ...มันแก้ไม่ได้หรอก แก้ไม่หมดหรอก เรื่องราวภายนอก เดี๋ยวก็ดีเดี๋ยวก็ร้าย เดี๋ยวก็ได้มา เดี๋ยวก็เสีย เดี๋ยวก็ได้ดั่งใจ เดี๋ยวก็ไม่ได้ดั่งใจ ...ก็ไม่ต้องไปมุ่งมั่นโดยตรง ก็อยู่เป็นกลางๆ กับมันไป 

แล้วเมื่อถึงวาระ ควรแก่งานแล้ว ก็มาใส่ใจจริงๆ ภายใน ...ต้องมีวันเวลา ช่วงเวลาที่เราต้องใส่ใจกับกายใจนี้จริงๆ จังๆ ...จะเหลาะๆ แหละๆ ล้อเล่นกับมันไม่ได้ อ้างนู่นอ้างนี่ไม่ได้  ... มันต้องให้อยู่กับกายใจจริงๆ เพื่อทำความชัดเจน แจ้งชัด หรือว่าอาโลโกขึ้นมา

แต่ว่าในช่วงเวลาที่เรายังต้องอยู่...ด้วยกรรมและวิบากมันดึงให้เราจะต้องมีภาระภายนอก  ก็อยู่ด้วยความเป็นกลาง รู้กลางๆ อยู่กลางๆ ...ลงรายละเอียดไม่ได้หรอก จะไปเห็นสภาวะจิตเกิดดับทุกขณะจิต ไม่ทัน ไม่มีทาง 

เพราะนั้น ถ้าฟังเราแล้วอย่าไปจำแล้วว่าต้องทำให้ได้ ตายแน่ มันยังไม่ถึงเวลา นะ  เพราะมันยังมีกรรมและวิบากที่ดึงให้เราต้องไป...ออกไปข้างนอก เพราะนั้นจะมาอยู่กับกายใจร้อยเปอร์เซ็นต์เต็มๆ มันยังไม่ถึง 

แต่ว่าอย่าทิ้งความเป็นกลาง ...ด้วยการตรวจสอบตัวเองบ่อยๆ เมื่อเริ่มเข้าไปจม เข้าไปหมกมุ่น มัวเมา จริงจังขึ้นมานี่  ให้ถอยกลับ  เมื่อรู้ตัวแล้วมีสติ ให้ถอยกลับมาอยู่ที่กายใจ วางภาระนั้นไปบ้าง ...ไม่ขาด ก็ให้วางภาระนั้นไปบ้าง 

รู้แล้ววาง รู้แล้วปล่อย รักษาความเป็นกลางอยู่ภายในไว้  ถือว่าเป็นการอบรมบ่มอินทรีย์ สร้างพละขึ้นมา ด้วยการใช้ชีวิตอยู่นี่แหละ ถือว่าเป็นการสร้างพละขึ้นมา ไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพละ พละ ๕ สะสมอบรมไป เหมือนหยอดกระปุกออมสินน่ะ

เมื่อถึงคราวถึงวาระมันจริงๆ ปุ๊บนี่ จะต้องเล่นไม้เด็ดไม้ตายกับมัน ... ไม่เอาต้องไม่เอาจริงๆ ละต้องละจริงๆ ...เอาให้ขาด ให้เหลือแค่กายกับใจสองอย่าง นอกนั้นไม่มี ไม่ให้โอกาสกับมันเลย 

ตอนนี้ยังไม่ได้ มันยังมีข้ออ้างเยอะ มันยังมีเงื่อนไขเยอะ  ไหนจะแม่ ไหนจะผัว ไหนจะลูก ไหนจะงาน ถ้าไม่ทำไม่ได้ มันจะคิดยาวไกลเลย ...ไม่ต้องคิดมาก เอาตรงนี้แหละ ทำไป แค่นี้  ...อยู่ในหลักความเป็นกลางในปัจจุบัน ก็เป็นกำลังสะสม ได้ระดับหนึ่งๆ 

แล้วก็ทำความชำระ ทำความแจ้งภายในกายใจไป  อย่าขี้เกียจ อย่าปล่อย  เหมือนกับประมาทนอนตายทอดอาลัยไปกับโลก คิดว่าไม่มีอะไรหรอก คือขี้เกียจน่ะ 

อย่าให้ใจหาย อย่าให้ใจเสีย ... เสียอะไรก็เสียไป ไม่ได้อะไรก็ช่างหัวมัน แต่อย่าให้ใจมันเสียหาย  คืออย่าให้ใจนี่มันหายไปไหน ให้มีใจรู้อยู่เท่านี้ อย่าให้มันเสียหาย อย่าให้ใจรู้เสียหาย สำคัญที่สุด สำคัญจนถึงวันตายน่ะ บอกให้เลย 

พูดแค่นี้ เหมือนที่เราพูดให้กับโยมเมื่อกี้  ซึ่งมันมองไม่ออกหรอกว่าการปฏิบัติเมื่อสักครู่สำคัญอย่างไร  ก็จะรู้สึกว่ามันห่างไกลเหลือเกิน ใช้ประโยชน์ไม่ได้ มันยังไม่ถึงเวลา 

ก็บอกแล้วว่า...สะสมการระลึกรู้อยู่กับกาย อยู่กับใจ อยู่กับรู้อยู่เสมอๆ ไม่ทิ้ง ไม่ทอดธุระ  อาศัยประโยชน์ของรู้นี่จนวันตายเลย บอกให้ 

ถึงวาระคับขัน เวลาเข้าด้ายเข้าเข็มกำลังจะเป็นจะตายนี่ ...ด้วยภาวะที่เราฝึกฝนอยู่กับใจรู้รู้ใจ อะไรก็กลับมารู้ อะไรก็อยู่ที่รู้นี่  ...ถึงวาระนั้น หลุดก็หลุดได้เลยนะ บอกให้เลย  

ด้วยความที่ฝึกฝนอบรมมา...ที่เหมือนไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไรกับใครเลย หรือว่าไม่รู้ธรรมะอย่างที่คนอื่นพูดเลย ... แต่รู้อย่างเดียว รู้โง่ๆ นี่  พอถึงวาระคับขัน เวลาตายเข้าจริงๆ นี่ ...ไม่กลับมาเกิดหน้าตาเฉยก็ยังได้เลย

นี่เห็นมั้ย ประโยชน์ของการที่ว่าให้รู้เฉยๆ นี่  อย่าไปล้อเล่น อย่าคิดว่าแค่นี้เองเหรอ ...บทขาดนี่ขาดเลย  ลงในปัจจุบันนั้นๆ ... ตายปุ๊บ ไม่เอาอะไรแล้ว ไม่สนใจอดีตอนาคตแล้ว เห็นแต่รู้อันเดียวนี่ รักษาตัวรอดได้เลย


โยม –  มันก็ช่วยได้เยอะเลยค่ะ พระอาจารย์   

พระอาจารย์ –   อือ ช่วยจากหนักก็เป็นเบา จากที่มันเยิ่นเย้อก็ให้สั้นลง จางคลายออกไป  เพราะนั้นว่า การที่เราอยู่กับใจตัวเอง มันไม่ใช่ว่าปรับแค่กายใจตัวเอง กายใจคนรอบข้างก็ยังแปรเปลี่ยนไป บอกให้เลย ทำความสมดุลได้หมดเลย  ไอ้คนที่ไม่เข้าใจเรา พึ่บ มันก็มองเราด้วยความทึ่ง อึ้ง งง  แล้วก็ เออ ประหลาดดี ... ดีขึ้น จะดีขึ้นหมดน่ะ บอกให้เลย 

แก้ใจดวงเดียวนี่แหละ ทุกอย่างดีหมด บอกให้ ...ถ้ามัวแต่จะไปแก้เขาๆ จะให้เขาเข้าใจเรา  เออ ตายกี่ชาติก็ไม่มีทางเข้าใจเราหรอก ...จนกว่าเราเข้าใจ อยู่ที่ใจเราเอง แล้วทุกคนจะเข้าใจเอง ... ไม่เห็นต้องพูดมากเลย 

แต่ใช้เวลาหน่อย ...ใครว่าเรา ใครบ่นเรา ใครว่าเราอย่างนั้น สอนเราอย่างนี้...ไม่สน อยู่อย่างนี้ เดี๋ยวมันเข้าใจเอง ไม่เข้าใจก็ไม่สน  แล้วมันก็ค่อยๆ ...เป็นการที่เขาน้อมมาเองน่ะ ไม่ใช่เราน้อมไปหาเขา 

จิตมีการน้อมอยู่ตลอดเวลา อ่อนน้อม โอปนยิโก คือ น้อมกลับ ...การที่อ่อนน้อมนี่ มันมีความเคารพต่อธรรมเสมอ มันก็รับรู้ทุกอย่างด้วยความเคารพ อ่อนน้อมถ่อมตน  มันไม่ได้กระด้าง มันไม่ได้ออกไปกระด้างกระเดื่อง ต่อต้านต่อสู้ ขัดขวางอะไรกับใคร มันอยู่ด้วยความอ่อนน้อม โอปนยิโกเสมอ 

ด้วยพลังแห่งความอ่อนน้อม พลังแห่งสันตินี่แหละ มันมีกระแสเป็นเมตตาในตัวของมันอยู่แล้ว ...ใจที่น้อม ใจที่อ่อน ใจที่อ่อนโยน ด้วยการโอปนยิโกอยู่ภายใน  ไม่ต้องไปแผ่เมตตาให้คนมาเข้าใจหรอก ด้วยอำนาจ ด้วยอานิสงส์ ด้วยบุญกริยา ด้วยบุญของภาวนา มันแผ่ออกมาเป็นรัศมีรังสี เป็นอานุภาพ เป็นพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพในตัวของมันเอง

ใครด่าเราก็เคารพ ใครแสดงอากัปกริยาอะไร จิตที่น้อมแล้ว มันรับรู้ด้วยความเคารพในธรรม  ถือว่าเป็นธรรมหนึ่งที่ปรากฏ เพื่อให้เห็นใจของตัวเอง เห็นมั้ย มันรับรู้อาการของเสียง อาการของรูปนั้นด้วยความเคารพ ไม่ได้แข็งกระด้างหรือปฏิฆะออกมา เขาก็จะรับได้เองน่ะ คนรอบข้าง ทุกสรรพสิ่ง เคารพแม้แต่ฟ้าดิน ฝนตกแดดออก 


โยม –  จิตมันเป็นเองรึคะพระอาจารย์  

พระอาจารย์ –   มันจะเป็นอย่างนั้นแหละ เนี่ยคือธรรม จิตมันก็เกิดความพอดีในทุกสิ่ง  พอดีในรูปที่เห็น พอดีในเสียงที่ได้ยิน พอดีในลิ้นที่รับรส อะไรมันก็พอดีไปหมด ยอมรับได้หมด ปัญหาก็ไม่มี ปัญหาก็น้อยลงเองน่ะ เพราะว่ามันพอดีอยู่ในปัจจุบัน อะไรก็พอดี 

เดินๆ ไปไม้ตกใส่หัว “พอดีเป๊ะเลย ..เจอกูเลย”  ไม่พอดีไม่โดนหัวใช่ป่าว ก็มันพอดีอ่ะ ไม่พอดีมันไม่เกิด (หัวเราะ) แต่พอโดน ... 'แหม ไม่น่าโดนเลย'  ไอ้นี่ไม่พอดี คือมันคิดไม่พอดี ...ถ้ามันคิดแล้วมันจะไม่พอดี ถ้ามันคิดแล้วมันจะบอกว่าไอ้เหตุการณ์นี้ไม่พอดี ...แต่ถ้าไม่คิดมันจะพอดี 

เพราะว่าทุกอย่างถ้ามันไม่พอดีมันจะไม่เกิดในปัจจุบันนั้น...ด้วยเหตุปัจจัย ปั๊บ มันต้องเกิดกับเราก็ต้องเกิด ถ้าไม่เกิดก็ไม่เกิด  ไม่ใช่เรื่องโชคลางเคราะห์โศกโรคภัยหรือว่าผีสางมาทำ...ไม่มีอ่ะ  มันเป็นความพอดีในปัจจุบัน 

ถ้าใจรับรู้ได้ แล้วก็อยู่แค่ปัจจุบัน ก็จะรับรู้ถึงว่า เออ..มันพอดี  แล้วมันก็ดับตรงนั้น ดับตั้งแต่ไม้ถูกหัวแล้ว เห็นมั้ย คืออาการภายนอกมันก็ดับตรงนั้นแล้ว


โยม –  ก็ตอนเห็นอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้   

พระอาจารย์ –  อือ ให้มันผ่านไป ...แต่ว่ามันยังไม่ละเอียดเท่านั้นเอง คือยังไม่ละเอียด มันยังมีระลอก   


โยม –  กระเพื่อม   

พระอาจารย์ –  เออ ภายใน เรายังไม่เข้าไปสังเกตดู สติสมาธิปัญญามันยังไม่เข้าไปย่อย จำแนกสภาวธรรมนั้นดับไป  ต่อไปมันก็ค่อยๆ...คือดับแบบถอนรากถอนโคนน่ะ เข้าใจมั้ย


โยม –   แต่มันทำงานตลอด  

พระอาจารย์ –  ใช่ ให้มันทำไป มันก็ยังสับสน ความรู้ความเข้าใจ จับรายละเอียดก็ยังน้อย ภายใน คือมันเห็นตรงไหนมันก็ดับตรงนั้นแหละ สติน่ะ ไม่ต้องไปทำอะไร ...ไอ้ที่มันไม่ดับหรือว่าอะไรก็เพราะว่าสติมันหยั่งไปไม่ถึง ไม่ทัน


โยม –  ก็เคยสังเกต เอ๊ะ ทำไมมันนานจัง ก็ดูไปอย่างนี้หรือคะ 

พระอาจารย์ –  ก็ดูไป คือถ้าไปดูอาการที่เป็นนาม บางทีก็หลงเข้าไป ...พยายามให้กลับมารู้อยู่กับกาย ให้รู้ตัวอยู่ แล้วก็ช่างหัวอาการนั้น คือให้มีกายอยู่ เห็นอยู่ 

ไม่ต้องกลัวหรอกว่าอาการนั้นจะดับหรือจะตั้งอยู่ ...มันก็ตั้งอยู่อย่างนั้นแต่ว่าเราไม่สนใจอาการที่ตั้งนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือว่าจ้องเพ่งกับมัน  แต่ว่าให้รู้ตัว อยู่กับตัว ให้เห็นว่ายืนเดินนั่งนอน แล้วก็ในท่ามกลางกายกับใจนั้นมันมีอะไรอยู่ ให้เห็นน่ะ

คำว่ามัชฌิมาคือท่ามกลาง ท่ามกลางกายกับใจ คือรู้ตัว ยืนเดินนั่งนอนแล้วก็รู้ว่ากำลังเดินกำลังนั่งกำลังนอน เห็นมั้ย มันมีอารมณ์อยู่ มันมีอะไรอยู่ตรงนั้น ...คือมันจะเห็นว่าท่ามกลางนั้นมันยังมีความยึดมั่นถือมั่นอะไรอยู่  แค่นั้นเอง 

แต่ถ้าไม่มีกายแล้วมันจะเข้าไปอยู่กับความยึดมั่นถือมั่นตรงๆ แล้วมันจะรวมกัน แล้วมันจะแอบปรุง แอบคิด แอบหวัง ...มันเคลื่อนออก เห็นมั้ย ...เราไม่รู้หรอกว่าใจมันเคลื่อนออกไปปรุง เป็นอดีตเป็นอนาคต มันจึงเกิดความเยิ่นเย้อ  เข้าใจคำว่าเยิ่นเย้อมั้ย เพราะมันมีตัณหาเป็นตัวหล่อเลี้ยง  มีอุปาทานกับตัณหาเป็นตัวหล่อเลี้ยงอารมณ์ ความหมายมั่นนั้นๆ

แต่ถ้าเรามาอยู่กับความรู้ตัว มีกายอยู่ รู้ตัวอยู่ เหมือนกับเห็นอยู่ มันก็ไม่หาย มันก็ไม่มากขึ้น มันก็น้อยลง มันก็ตามเหตุของมันเอง แต่เราไม่สนใจมัน เข้าใจมั้ย  เรามาอยู่ที่กาย แล้วก็เห็นว่าท่ามกลางนี้มันมีอย่างนี้อยู่  หมายความว่าขณะนั้นน่ะมันไม่มีการเข้าไปประกอบในเหตุของอุปาทานที่มันตั้งอยู่ เพราะฉะนั้นไอ้ตัวที่มันตั้งอยู่ท่านเรียกว่านี่คือผลหรือว่าวิบาก มันเป็นผลหรือวิบาก


โยม –   ค่ะ หนูก็นึกถึงคำพูดอาจารย์ว่า เนี่ย เสวยวิบาก 

พระอาจารย์ –  อือ  คราวนี้ว่าถ้าเราถอยออกมาแล้ว ไม่ได้อยู่ที่มัน แต่อยู่ท่ามกลางกายกับใจ คือรู้ตัว รู้กับกาย  รู้ตัวอยู่แล้วก็มีอาการนี้อยู่ มันก็อยู่ห่างออกมา ขณะนั้นน่ะมันจะไม่มีการเข้าไปประกอบด้วยตัณหา


โยม –   มันจะเบาลง  

พระอาจารย์ –  มันก็เห็นของมันไปอย่างงั้นๆ  อยากอยู่ก็อยู่ มากก็มาก น้อยก็น้อย ช่วงหัวมัน เราก็อยู่ดูกายเห็นกายตลอดเวลา ก็จะเห็นความจางคลายเมื่อหมดเหตุปัจจัยของมันไปเอง มันก็ดับ มันก็หายไป มันก็สลายไป จางคลาย 

เหมือนกับมันล่อน มันร่วง มันหลุดไป  มันเบาๆ เคลื่อนๆ หาย เลือน มันจะเลือนไป ...พอเลือนแล้วอย่าให้สติสัมปชัญญะเลือน ต้องรู้อยู่กับกาย  ไม่ใช่พอมันเลือนแล้วสบายแล้ว ยิ้มแป้นแล้ว ทิ้งเลย ทิ้งหมด


โยม – ใช่ค่ะ ก็ต้องมีสติ กลับมาที่ตัว ที่เดิม    

พระอาจารย์ –  ใช่ พอมันเลือนหายปุ๊บนี่ ทิ้งเนื้อทิ้งตัวอีกแล้ว ทอดธุระอีกแล้ว หมดอาลัยตายอยาก หมายความว่าปล่อยให้มันเป็นไป  สติก็ไม่ตั้ง  คือไปๆ มาๆ คือจะมีสติสมาธิปัญญาต่อเมื่อมันมีเหตุ ถ้าไม่มีเหตุกูไม่มีหรอกสติ ช่างหัวมัน ไม่เจริญ 

ไม่ทุกข์ไม่รู้ ทุกข์ถึงค่อยรู้ อ่ะ ไม่ทันกินแล้วอย่างนี้ ...ต้องให้มันรู้อยู่ บอกแล้ว อย่าให้ใจหาย ถ้าสติหาย...ก็ใจหาย สมาธิหาย...ใจก็หาย  เพราะนั้นเมื่อไม่มีอะไรต้องมาอยู่ที่รู้กาย เป็นรูทีนเลย


โยม –   ก็นึกถึงคำสอนอาจารย์ตลอดค่ะว่า “กายกับใจ” ตลอดนะ 

พระอาจารย์ –  ใช่ อย่าทิ้ง ... อย่าทิ้งกาย อย่าทิ้งใจ ...ยังทิ้งไม่ได้ ยังไม่ใช่พระอรหันต์ ยังทิ้งไม่ได้  พระอรหันต์น่ะท่านทิ้งหมดแล้ว กายก็ทิ้งใจก็ทิ้ง ท่านไม่สนแล้ว ไม่มีกาย แล้วก็...ไม่รู้จะไปดูมันทำไม ท่านทิ้งเลย

แต่พวกเรายังทิ้งไม่ได้ ทิ้งเมื่อไหร่เสร็จ  ถ้าทิ้งเมื่อไหร่ตอนนี้คือประมาท ท่านเรียกว่าประมาทอยู่ ... พระพุทธเจ้าบอกอย่าประมาท อย่าอยู่ด้วยความประมาท  

ก็ให้มันอยู่ในท่าเตรียมพร้อม พร้อมรบ พร้อมที่จะ...อะไรเกิดก็พร้อมที่จะรู้ พร้อมที่จะตั้งมั่นอยู่กับมันด้วยความเป็นกลาง เนี่ย ต้องมีอยู่ด้วยความพร้อม ...สติสัมปชัญญะคือเป็นธรรมแห่งการเตรียมพร้อม 

ไม่งั้นน่ะ...เสร็จ  เสร็จมันด้วยความประมาทเผลอเพลิน  ไม่มีอะไรแล้วมันจะไปเผลอเพลินกับอทุกขมสุขมเวทนา โมหะมันก็จะเกิดตอนนั้นเยอะที่สุด ตอนที่มันไม่มีอะไร ตอนที่มันไม่มีอารมณ์อะไรเด่นชัดน่ะ  ตอนที่ทำไปด้วยความเคยชินน่ะ  ทำงานบ้าน อ่านหนังสือ พวกนี้  มันจะหายไปหมดน่ะตอนนั้น มันเป็นความเคยชิน โมหะก็จะถือโอกาสนั้นน่ะ เข้ามายึดครองใจ


โยม –  ตัวนี้ละเอียดมาก   

พระอาจารย์ –   ละเอียด ...โมหะเป็นรากเหง้าของกิเลส  


โยม –  อย่างความง่วงนี่ค่ะ หนูฟาดฟันกับมัน บางทีก็ ..เออดี มันทำให้เราเห็นสภาวะ หนูก็จะดูมันนะคะความง่วง เหมือนที่อาจารย์บอกว่า ให้เราดู   

พระอาจารย์ –   ด้วยความอดทน


โยม –   ค่ะ มันก็หาย

พระอาจารย์ –  แต่ถ้ามันยังมีเหตุปัจจัยแห่งความง่วง หรือว่าถีนมิทธะยังมีอยู่ เดี๋ยวมันก็ง่วงขึ้นมาอีก มันมาเป็นระลอก ...ดูกับมันไป นั่งหลับตาดูก็ได้ ลืมตาดูก็ได้ เดินดูก็ได้ ทำอะไรก็ได้ ช่างหัวมัน อยู่กับกายไว้ 

ถ้าไม่อยู่กับกายนะ มีสิทธิ์เข้าไปในมัน ... เอากายไว้เป็นที่ตั้งของสติให้มั่น สมาธิให้มั่นอยู่กับกาย แล้วไม่หลงง่าย ไม่ไหลง่าย ... ถ้าไม่มีกายเป็นที่ตั้งของสติ ของสมาธิ เหมือนหลักลอยน่ะ หลักมันจะลอย  พอหลักลอยแล้วมันเริ่มเลื่อนลอยแล้ว มันรู้แบบรู้เลื่อนลอย รู้แบบลอยๆ รู้ออกรู้เข้ารู้อยู่นี่แยกไม่ออกแล้ว

แต่ถ้าอยู่กับตัวนี่ มีการรู้ตัวอยู่ มันเห็นเลยว่าตรงที่ตัวอยู่ตรงนั้น ใจมันอยู่ตรงนั้นแหละ ใจมันตั้งอยู่ตรงที่รู้น่ะ  นั่นแหละใจดวงนั้นแหละไม่ไปไม่มา นั่นคือใจปัจจุบัน 

แล้วมันจะเห็นชัดเลยว่าความคิดมันเป็นอาการเลื่อนลอยโดยตัวของมันเอง ลอยไปลอยมา ผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นๆ ลงๆ แต่มันจะมีอีกตัวหนึ่งที่รู้อยู่ ไม่ไปไม่มา 

เพราะนั้นถ้าไปให้รู้อยู่ลอยๆ นี่ เดี๋ยวมันลอยตาม มันไม่ตั้งมั่นพอ ... เพราะนั้นให้รู้อยู่กับกายไว้ ให้ชัด ให้ตั้งอยู่กับกายไว้  แล้วมันจะเห็นเลยว่า...มันมีรู้อันนึงที่ไม่ไปไม่มา  ส่วนไอ้รู้ไปรู้มานั่นเป็นมโนวิญญาณ มันล่องลอยไปตามกระแสความคิด กระแสความจำ กระแสความปรุงแต่ง อายตนะทั้งหมด

เพราะนั้นดูไปดูมา ...บางทีดูด้วยความฟุ้งซ่าน ดูด้วยความสับสน ดูแล้วก็สงสัย เพราะมันไม่มีใจที่ตั้งมั่นน่ะ ...เอาจนใจไม่ไปไม่มาแล้ว ตอนนั้นน่ะมันจะเริ่มให้ความสำคัญกับกายน้อยลงไปเรื่อยๆ มันจะเห็นกายเป็นแค่เส้นด้ายบางๆ เท่านั้นเอง 

จากนั้นไป มันก็จะเข้าไปเรียนรู้กับภาวะนามโดยตรงได้ชัดเจน ...คือมันไม่สนใจนามนั้นๆ เลย แค่รู้ปั๊บดับหมด แค่รู้ปั๊บ ...เพราะมันไม่ไปไม่มากับนามนั้นเลย ไม่มีอะไรไปหล่อเลี้ยงนามขันธ์นั้นๆ ด้วยความอยากความไม่อยาก ปั๊บ มันก็ดับหมดน่ะ 

อยู่รู้อย่างเดียวๆ ...รู้ตรงไหนวางตรงนั้น เห็นตรงไหนละตรงนั้นเลย นามนั้นก็ดับ...ไตรลักษณ์ก็เกิด เห็นความไม่มีตัวไม่มีตนของความคิด เห็นความไม่มีตัวไม่มีตนของความรู้ เห็นความไม่มีตัวไม่มีตนของความรู้สึกในอดีตในอนาคต ...ไม่มีอะไรเป็นตัวเป็นตน เกิดตรงไหนดับตรงนั้น เกิดตรงไหนดับตรงนั้น 

แล้วจากนั้นจึงจะเห็นสภาวะจิตเกิดดับ ...คราวนี้ไม่รู้อะไรเป็นรูปอะไรเป็นนามแล้ว มีแต่เกิดดับๆๆๆ  ...จิตที่มันพวยพุ่งออกมา จะไปหาอะไรเป็นภพน่ะ เกิดดับๆๆ เห็นสภาวะจิตเกิดดับ ...ตอนเห็นสภาวะจิตเกิดดับ มันก็เห็นสภาวธรรม เห็นขันธ์เป็นสภาวธรรมหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นของใคร 

เห็นขันธ์เป็นสภาวธรรมที่เป็นกลาง ... กายก็เป็นกลาง ความคิดอารมณ์ รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะที่กระทบสัมผัสอยู่ก็เป็นกลาง  มันก็เห็นเป็นธรรมหนึ่งที่ปรากฏอยู่เท่านั้นเอง แต่เห็นสภาวธรรม สภาวะจิตเกิดดับ ไม่เข้าไปเกิดในธรรมนั้นๆ ไม่ว่ารูปธรรม นามธรรม หรือว่าตาหูรูปเสียงกลิ่นรส ไม่ไปเกิดในนั้น 

ทุกอย่างก็มีเหมือนไม่มี ขันธ์ก็มีเหมือนไม่มี เสียงก็มีเหมือนไม่มี รูปก็มีเหมือนไม่มี  มันอะไรไหวๆ วูบๆ วาบๆ แค่นั้นเอง เป็นเงา เหมือนเงา เหมือนมายา วูบๆ วาบๆ ของมันไป เพราะตอนนั้นมันเห็นแต่สภาวะเดียวที่เด่นชัดคือสภาวะจิตเกิดดับ

เอาจนมันหมด เอาจนมันไม่เกิดไม่ดับ เอาจนมันหมดความปรุง เอาจนใจดวงนั้นหยุดความปรุงแต่ง ...ไม่ต้องถามเวลาเลย ทำหน้าที่อย่างเดียว ทำงานอย่างเดียว สติสมาธิปัญญาทำงานนี้งานเดียว เอาจนมันหมด เอาจนมันหยุด ด้วยตัวของมันเอง 

เหมือนกับหมุนวงล้อ...เหมือนเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ที่มันยังเดินเครื่องได้เพราะมันยังมีน้ำมัน ...เอาจนมันหมดน้ำมันน่ะ  ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น่ะ แต่รู้อย่างเดียวว่าขณะนั้นมันปิดฝาแล้วน่ะ ไม่ได้เติมน้ำมันเข้ามา มันก็เดินเครื่องไปเรื่อยๆ จนกว่ามันจะหมด 

หมดเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้นน่ะ ความเกิดดับที่จิต หรือว่าจิตมันหยุดเกิดดับเมื่อไหร่ ภาวะรู้นั้นก็จะบริสุทธิ์ขึ้นไปเอง ตัวที่เห็นความเกิดดับนั่นน่ะคือใจ ไอ้ที่ที่มันเกิดดับนั่นคือรู้

เดี๋ยวมันก็ชัดเจนขึ้นมาด้วยตัวของมันเอง ...ขอให้อยู่จำเพาะแค่เนี้ย ทำงานอยู่แค่นี้ ไม่ต้องทำงานอื่น งานนอกไม่สน งานราษฏร์งานหลวงไม่เอา เอางานที่เป็นสัมมาอาชีโวล้วนๆ 

แต่ตอนนี้มันยังเผื่องานราษฎร์งานหลวง มันยังมีโบนัส มันยังหวัง ยังมีเงินเดือน  มันยังมีอะไรอยู่ ...ก็อาศัยมันอยู่ แล้วต่อไปก็จะค่อยๆ หดสั้นเข้ามาเรื่อยๆ ... อย่าให้เผลอเพลินไปกับมันจนเสียเวล่ำเวลาไปกับมันเปล่าๆ ปลี้ๆ ...เตือนตัวเองไว้ สอดส่องตัวเองไว้ ดูกายดูใจไว้

ตั้งแต่ลืมตาตื่นเลย ...ก่อนที่จะคิดถึงลูก ก่อนที่จะคิดถึงงาน คิดถึงตัวเองก่อน ว่ากำลังนอนท่าไหน ลุกขึ้นท่าไหน ดูอาการทางกายก่อน  ถือว่าเป็นการสตาร์ทเครื่องที่ดี มันจะได้หันหัวรถให้อยู่ในทางหรือว่าอยู่ในมรรค ตั้งแต่ตื่นนอน เข้าใจรึเปล่า 

ไม่งั้น พอตื่นนอนปุ๊บ ด้วยสัญชาตญาณ 'เอ๊ย ลูกจะไปโรงเรียน เตรียมตัวก่อน' มันนึกถึงลูกก่อนเลย นึกถึงงานก่อน  มันยังทำอะไรค้างคาอยู่เมื่อวาน มันนึกไปก่อนเห็นมั้ย


โยม – มันนึกไปข้างหน้า    

พระอาจารย์ –   เออ มันนึกไปแล้ว ... ก็ให้มันอย่าเพิ่งรีบ ดูตัวเองก่อน แล้วจากนั้นก็ดูกายตัวเองต่อเนื่องไป  


โยม –   แต่บางทีพอนึกไป มันก็แว๊บเข้ามาว่าไม่ได้ให้กลับมา อะไรอย่างนี้ค่ะ  

พระอาจารย์ –    อือ ...จนเข้าใจ  จนเห็นว่ามันไปได้ แต่ไปในฐานะที่มีกายอยู่ รู้กายอยู่เห็นกายอยู่ ...มันทำได้ คิดได้ ปรุงได้ หวังได้ คาดได้  แต่มันเห็นตัวเองกำลังคาดหวังอยู่ ...มันมีตัวกายนี้ แล้วก็มีภายในที่มันมีความคาดหวังขึ้นมา 

แต่มันเห็นอยู่ว่ามีกาย ...ไอ้พวกนี้มันเป็นความคาด ความหมาย ความหวังอยู่ภายในกาย ...มันเห็นพร้อมกันอย่างนั้น 

แต่ถ้าเรายังคิดต่อออกไปออกมา ขณะนั้นน่ะเราไม่รู้ตัว คือไม่มีกายอยู่ เข้าใจมั้ย มันเหมือนกับเป็นเรื่องนอกกายไป แต่จริงๆ มันเป็นความคิดอยู่ในกายนี้ ...เพราะนั้นให้มันอยู่ในกรอบ เอากายเป็นหลัก แล้วมันก็สามารถคาดหวัง คิดได้


โยม –   อาจารย์คะ อย่างบางทีมันมีความรู้สึกว่าตัวเองขับเคลื่อนหุ่นยนต์อย่างนี้ค่ะ หนูตลกตัวเองว่ามันเหมือนมีตัวอีกตัวแล้วมันขับเคลื่อน  

พระอาจารย์ –   นั่นแหละ ขณะนั้นแหละ ภาวะนั้นเป็นภาวะที่เรียกว่าใจดวงนี้มันเข้าไปเห็นรูปปรมัตถ์หรือว่ากายปรมัตถ์ หรือพูดง่ายๆ คือเห็นกายตามความเป็นจริง ในขณะนั้นช่วงนั้น 

แต่เราไม่เคยเห็นมาก่อน ไม่คุ้นเคยกับการเห็นกายปรมัตถ์ มันก็เลย เอ๊อะ ...บางทีนึกสงสัย บางทีก็ตกใจ ไม่รู้ถูกหรือผิดอะไรอย่างนี้  แต่จริงๆ มันเป็นความเป็นจริงของกาย กายจริงๆ คืออาการนั้นแหละ

แต่ว่ามันได้แค่ชั่วคราว แล้วก็หายไป  ...ก็กลับมาเป็นเราชื่อนี้ เราเป็นหญิง เราเป็นแม่ เราเป็นลูกอะไรไป ...มันเกิด 'ความเป็นเรา' เข้าไปจับ 

ไม่ต้องทำอะไรมากก็รู้ไป ... รู้ไปเรื่อยๆ ดูกายไปเรื่อยๆ ดูกายไปแบบเงียบๆ รู้ตัวเงียบๆ ไป  รู้ตัวเงียบๆ ดูอาการเดินเงียบๆ กินเงียบๆ เคลื่อนไหวเงียบๆ นั่งเงียบๆ ...ก็เห็นตัวเงียบๆ อยู่ 

พอถึงภาวะที่ศีลสมาธิปัญญาพร้อมในระดับหนึ่งขั้นหนึ่ง มันจะถอยออกมา เห็นชัดเลยว่า เหมือนกับเป็นก้อนหนึ่ง ก้อนอะไรก็ไม่รู้ ใครก็ไม่รู้ เดินไปเดินมาอยู่ อย่างนั้นน่ะ เขาเรียกว่ามันแยกกายออกจากใจชัดเจน

แยกอย่างนี้บ่อยๆ ความเป็นสักกายจะลดลงไป คือเห็นว่ากายเป็นเราจะน้อยลงไปเอง ...ก็จะเห็นว่ากายนี้เป็นอะไรก็ไม่รู้ เป็นเหมือนหุ่นกระบอก ขยับๆ ไป เคลื่อนไหว ก๊อกๆ แก๊กๆ กึกๆ กักๆ อยู่อย่างนั้น ... เห็นบ่อยๆ ยิ่งดี 

เพราะนั้นปัจจัยที่จะมาเห็นได้คือรู้ตัวบ่อยๆ รู้เงียบๆ นะ ...ไม่ใช่รู้ด้วยการเข้าไปคิดว่ากายนี้ไม่ใช่เรา กายนี้ไม่เป็นตัวของเรา ...ไม่ต้องคิด รู้ไปแค่ว่า ตัวอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง 

ไม่ต้องบอกว่าแขน ไม่ต้องบอกว่าขา ไม่ต้องบอกว่านั่ง ไม่ต้องบอกว่านอน ... ให้เห็น ให้เห็นว่าเนี่ยมันกำลังขยับ เห็นขยับ ...ไม่ต้องบอกด้วยว่าขยับ เห็นอาการแค่นั้น เห็นเงียบๆ

เห็นเงียบๆ อย่างนี้เรียกว่าเห็นกายปรมัตถ์ เป็นส่วนๆ ไป เป็นย่อยๆ เป็นอนุพยัญชนะของกาย  เห็นว่าขยับปากพั้บๆๆๆ เวลาคุย มือแขนแกว่งเวลาเดิน  ไม่ต้องบอกว่าแขนแกว่ง ให้เห็นอาการแค่นั้น  เนี่ย เห็นอนุพยัญชนะของกาย เห็นไปเรื่อยๆ ต่อเนื่องไปบ่อยๆ 

แล้วมันจะเห็นกายโดยรวม เป็นก้อน..ผลึบ...อะไรก็ไม่รู้ เนี่ย อย่างนี้มันเข้าไปละสักกาย ด้วยปัญญาตรงๆ รู้ตรงๆ ...ไม่ใช่รู้ด้วยคิดด้วย รู้ด้วยพิจารณาด้วย อันนั้นอีกแบบหนึ่ง...ไม่เอา เราเอาสติไปรู้แบบไม่ต้องพูด รู้แบบภาษาเหนือว่าอย่าไปปากมัน

มันไม่ได้รู้ด้วยว่ามันนั่ง ใช่มั้ย  มันบอกมั้ยว่ามันนั่ง ตัวนี้ เห็นมั้ย มันบอกมั้ยว่ามันสั่น มันบอกมั้ยว่ามันขยับ ไม่ต้องไปพูด มันก็เงียบอยู่ ...ก็รู้เงียบๆ ก็จะเห็นกายที่เป็นกายตามความเป็นจริง ไม่ใช่กายตามสมมุติ กายตามสัญญา เข้าใจมั้ย 

นั่ง ขยับ เคลื่อนไหว นี่พวกนี้เป็นสัญญา ไอ้คำพวกนี้ที่มันอยู่ในใจนี่ แล้วบอกว่าเนี่ย กำลังนั่ง  ไอ้คำว่ากำลังนั่ง ตัวนั่งนี่คือสัญญา เป็นนาม...ที่มาประกอบกับกาย ... แต่ถ้านั่ง แล้วเรารู้ว่ากำลังนั่ง แล้วจะเห็นว่านั่งนั่นดับ แต่ตัวนี้ยังอยู่ เข้าใจมั้ย 

ไอ้นั่งน่ะดับ ไอ้รู้ว่านั่งน่ะดับ รู้ตรงไหนก็ดับตรงนั้นน่ะ ไอ้ตรงว่านั่งน่ะ  เพราะว่านั่ง มันไม่ใช่ว่านั่งงงงงง... มันไม่มีใช่มั้ย  พอรู้ว่านั่งปุ๊บ เห็นตรงนั้นว่านั่ง นั่งก็ดับ  แต่ตัวนี้ไม่ดับ ก็เงียบ ก็รู้เงียบๆ อยู่กับก้อนนี้  เดี๋ยวมันก็บอกอีก กำลังขยับ อ่ะรู้ ขยับก็ดับ...ไอ้คำว่าขยับข้างในน่ะดับ แต่อาการยังไม่ดับ เห็นมั้ย  

เนี่ย  ดูกายปรมัตถ์ ...มันจะแยกรูปแยกนาม สติมันเข้าไปแยกรูปแยกนาม แล้วก็แยกใจออกจากรูปนาม ...เมื่อแยกใจออกจากรูปนามได้ระดับหนึ่งชัดเจนปุ๊บ มันจะเห็นรูปนามไม่ใช่สัตว์บุคคล ไม่ใช่ชายไม่ใช่หญิง ไม่ใช่สวยไม่ใช่ไม่สวย ไม่ใช่งามไม่ใช่ไม่งาม ...เห็นเป็นอะไรก็ไม่รู้ 

จะไม่มีความรู้สึกกับกายนั้นๆ ตามสมมุติตามบัญญัติ  เนี่ยเขาเรียกว่าละสักกาย เบื้องต้น ละความเห็นอย่างนี้ ...จิตมันจะเห็นอย่างนี้ มันละโดยที่ไม่ต้องคิดเลย ... เห็นตรงๆ รู้ตรงๆ รู้ตรงๆ ลงไปที่กายปัจจุบัน ให้มันพอดีกัน

จำไว้ทุกคน...รู้แค่กายกับใจ ...  กายในที่นี้คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ไหว นิ่ง ขยับ เคลื่อน เลื่อน เบา สบาย หนัก อย่างเนี้ย ...เวลาเดินก็เห็นอาการวุ่บๆ วั่บๆ กำลังสาวกำลังก้าว ...เป็นธรรมชาติที่สุดนะ ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องเครียด เข้าไปหยั่งเบาๆ เห็นเบาๆ ง่ายๆ ไม่ต้องพูด

ไม่ต้องพูด ...มันยังไม่พูดไม่จากับเราเลย เราก็ไม่ต้องไปพูดไปจากับมัน ไม่ต้องไปญาติดีไม่ต้องไปตีสนิทกับมัน ...ต่างคนต่างอยู่  ก็จะเห็นว่ามันก็ปรากฏอยู่เงียบๆ  เราก็รู้จักเงียบเข้าไปซะบ้าง ไม่ต้องไปบอกว่ามันเดินมันนั่งมันนอน หรือไปดูว่ามันเรียกว่าอะไรดี 

ช่างหัวกายมันดิ มันไม่ได้มีชื่อติดมาแต่กำเนิด ใช่ป่าว เกิดมาไม่เคยบอกว่า กูคือหญิง กูคือชาย กูสวย กูไม่สวย ...กูไม่รู้ กูไม่มีคำพูดออกมาเลย อย่างเนี้ย มันออกมาเงียบๆ เติบโตของมันเงียบๆ แตกเสื่อมของมันเงียบๆ ไม่มีคำพูด 

ใจให้ไปรู้ตรงๆ ด้วยการไม่มีคำพูดกับมัน ...แค่รู้แค่เห็น แล้วจะเข้าใจ  แล้วสักวันนึงช่วงนึงระยะนึง มันจะกระโดดออกมา ถอย ถอนออกมา จนเห็นว่า อ๋อ กายอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง แล้วก็จะอยู่ในช่วงนั้นน่ะ เห็นเหมือนหุ่นยนต์ เหมือนเป็นกายนคร เคลื่อนที่ไปมา หรือว่าอยู่...ตั้งอยู่ของมัน ไม่เกี่ยวข้องกันเลย 

แค่นั้นแหละ ดูไปเรื่อยๆ ถูกแล้ว ดูเข้าไป ...ก็ถือว่าปัญญามันก็เกิดขึ้นเป็นระยะๆ เห็นตามความเป็นจริงได้เป็นระยะๆ  แล้วอาศัยความเห็นตามความเป็นจริงได้เป็นระยะๆ นี่ จึงจะเกิดความยอมรับในกายนี้ 

จนกว่ามันจะยอมรับว่ากายไม่ใช่กาย กายไม่ใช่เรา ...นี่ด้วยอำนาจของสติ ศีลสมาธิปัญญาหรือว่าด้วยไตรสิกขา มันจึงจะเข้าไปเห็นตามความเป็นจริงของกาย ...ไม่ต้องคิด ไม่ต้องจำ ไม่ต้องเอาความเห็นใดๆ ลงไปทุ่มเทใดๆ กับมันทั้งสิ้น 

ด้วยปัญญา ด้วยปัญญาวิมุติ ด้วยปัญญาในขณะปัจจุบัน คือด้วยสติสัมปชัญญะ ที่รู้...แค่รู้และเห็นกับปัจจุบันของมันตรงๆ เพียงพอแล้วที่จะเห็นกายตามความเป็นจริง ...ไม่อาศัยกำลังอะไรอย่างอื่นเลย ไม่ต้องคิดมาก ไม่ได้อาศัยกำลังของจินตามยปัญญาเลย ไม่ได้อาศัยกำลังของสุตตะโดยตรง 

เพราะนั้นสุตตะมันเกิดตอนนี้ เห็นมั้ย ฟัง...ได้ยิน...คิดตาม เนี่ย จินตนาการเกิดตอนนี้ จินตามยปัญญาก็เกิดตอนนี้  จากนั้นไปเป็นภาวนาล้วนๆ สติสัมปชัญญะที่รู้เงียบๆ เป็นภาวนามยปัญญา 

เจริญภาวนามยปัญญาตลอด ล้วนๆ ...สุตตะ-จินตา ทิ้งตรงนี้เลย ทิ้งมันตรงนี้เลย  ไม่เอาไปเป็นอาวุธ ไม่งั้นเดี๋ยวจะมีผีของเราไปหลอกไปหลอน  เหมือนโยมมาอยู่วัด 3-4 วันนี่ เจอผีเราทั้งวันทั้งคืน...ผีคำพูด  คือคำพูดที่มันจำไปนี่น่ะ มันว่าใช่อย่างเราพูดทุกอย่างๆๆ ทุกขณะจิต นั่น โดนผีเราหลอกเลย ...กว่าจะละได้ออกได้จากสัญญาน่ะ มันก็หายบ้าไปกับคำพูดของเราที่จำไป  

แต่ว่ามันก็เป็นตัวช่วย นะ คือเตือนสติให้เกิดความย้ำชัด มันจะได้เลิกเถียงซะที ... เพราะใจนี่มันเถียง ปากไม่เถียงหรอก แต่ใจมันเถียงเพราะไม่ยอมรับ  มันเถียงธรรม เถียงพระพุทธเจ้า เถียงพระสงฆ์ อุตส่าห์สอนไว้มันยังเถียงอีก ...ใจที่มันดื้อด้าน เห็นมั้ย 

พอมันน้อมเข้าๆๆ อ่อนน้อมเข้าๆ ...มันเชื่อ มันเกิดความเชื่อด้วยตัวของมันเอง ปัจจัตตังมันก็เกิดขึ้น รู้เองเห็นเอง ... ธรรมเป็นเรื่องรู้เองเห็นเอง  ใครจะมาบังคับให้...มันไม่เชื่อหรอก มาโอ้โลมปฏิโลมขนาดไหน มันก็ฟังไปอย่างนั้นแหละ มันไม่เชื่อหรอก

แต่ด้วยภาวนามยปัญญาเท่านั้นน่ะ รู้เองเห็นเองๆ ตอนเนี้ยเถียงไม่ออก ...พอเถียงไม่ออกแล้วมันยังไง นอนตายยอมรับเลย...จริง ไม่ผิดอย่างที่พระพุทธเจ้าว่า มันเชื่อเลย จริงอย่างที่อาจารย์บอกทุกคำพูดเลย 

เราไม่ได้โกหก เราไม่ได้เอาของโกหกมาพูด เราเอาสิ่งที่เราเห็นด้วยการภาวนามยปัญญา รู้เองเห็นเองนี่แหละ มาแจกแจงอธิบายเท่านั้นเอง มันจึงยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไข

ไอ้ที่เคยถือดีอวดดี มานะทิฏฐิ รู้มากอ่านมากทำมาก แต่ทำอะไรก็ไม่รู้ เรื่อยเปื่อย ...มันทิ้งหมดแหละ ถือเป็นมิจฉาหมดเลย ถือว่า 'เนี่ย กูบ้าเพราะไอ้นี่ กูไปๆ มาๆ ก็เพราะไอ้ความคิดการกระทำพวกนี้แหละ'  มันเป็นมิจฉาหมดแหละ มันก็ไม่เอามาเก็บให้มันรกสมองหรอก ไม่มากระทำตามมันให้เดือดเนื้อร้อนใจทั้งตัวเองและคนอื่นหรอก มันร้อน 

จะไปจับมันทำไมของร้อน ก็ไม่จับ ไม่จับก็ไม่ร้อน ...แต่มันก็ร้อน ใช่ป่าว เตาน่ะมันร้อน ถ้าไม่จับก็ไม่ร้อน  แต่ร้อนมันก็ร้อนไปสิ ก็ไม่มีคนจับ เดี๋ยวมันก็หายร้อนของมันเอง ส่วนเราไม่ร้อนเพราะเราไม่จับ แต่มันร้อนก็รู้อยู่ว่ามันร้อน...แต่ไม่จับ ...ใครจะไปบ้าจับ  

แต่ก่อนน่ะบ้า ร้อนก็ยังบ้าแบก บ้าถือ บ้าหาม ทำให้มันร้อนยิ่งขึ้นไป...ด้วยความไม่รู้ทั้งสิ้น  พอรู้แล้วไม่บ้าแล้ว หายบ้าแล้ว เนี่ยเขาเรียกว่าจิตหายมัวเมา ออกจากความลุ่มหลงมัวเมา ออกจากความเข้าไปด้วยมิจฉาทิฏฐิแล้ว มันก็ปล่อยให้ของร้อนมันเป็นของร้อนไป ไม่มีใครไปจับ ไม่ไปแตะ ต่างคนต่างอยู่ เนี่ย

ขันธ์นี่เป็นของร้อน นามขันธ์ก็ร้อน รูปขันธ์ก็ร้อน ตาก็ร้อน หูก็ร้อน จมูกก็ร้อน ปากก็ร้อน ลิ้นก็ร้อน กายก็ร้อน ของร้อนทั้งนั้น อย่าไปแตะ ... แตะไม่พอ ปัจจุบันยังไม่พอ ยังไปหาเอามาแตะในอดีตอนาคตอีก  มันร้อนแค่ปัจจุบันไม่พอรึไง ห๊า เอามาสุมกันเข้าไป เอาให้มอดไหม้ไปเลยมั้ง นั่น 

โดยอ้างว่าเป็นธรรม โดยอ้างว่าเป็นความรู้ โดยอ้างว่าเป็นทางหลุดพ้น นี่ ไม่เห็นมันพ้นสักที  ก็งง ก็สงสัย เหมือนเดิม เนี่ย ...จนกว่าจะต่างคนต่างอยู่นั่นน่ะ น้อมกลับเข้าที่ใจ รู้ลงในปัจจุบันเสมอ เป็นนิจ ก็จะออกจากยาผีบอก 'ไอ้นั่นดี ไอ้นั่นใช่ ไอ้นั่นควร ไอ้นี่ถูก ไอ้นี่ช่วย' หูย มันหลอกเราทั้งนั้น

มันก็จะหายบ้าหายโง่เป็นระยะๆ นะ ...เอาจนมันหายขาด เขาเรียกว่า so long ไม่ใช่ see you again ... again and again and again ... มันต้อง so long ไม่เจอกันแล้ว ไปแล้วไปลับ ไม่กลับ ขาดหลุดออกไปจากหัวใจดวงนี้ ไม่มีที่ตั้งที่หมายของกิเลสตัวใดตัวหนึ่งหลงเหลืออยู่ด้วยความหมายมั่น ด้วยตัณหา ด้วยอุปาทาน ด้วยความหวังใดๆ ทั้งสิ้น...หมด 

เป็นคนไร้ความหวัง หมดความหวัง สิ้นความหวัง ไร้สาระสิ้นดี  อยู่ไปงั้นๆ น่ะ อยู่พอให้มันตายไป จิตก็จบๆ กันไป อยู่ไปงั้นๆ อยู่แบบคนไม่มีความหวัง ...แต่ทำได้หมด ทำได้ทุกอย่าง เนี่ย เขาเรียกว่าเป็นคนที่มีค่า แต่ไม่มีความหวัง เพราะถ้ามันมีค่าแล้วมันไม่มีความหวัง ...สุดท้ายก็กลับมาเป็นคนที่มีคุณค่าที่ไม่มีความหวัง

ไอ้คนที่มีความหวังน่ะมันไม่มีค่า เพราะมันหาค่าไม่เจอ มันยังหาค่าตัวเองไม่เจอ มันเลยหวังไปข้างหน้า หวังธรรมข้างหน้า หวังธรรมชาติหน้า หวังธรรมในอนาคต หวังธรรมจากคนอื่น ... เหมือนข้าวรอฝน เมื่อไหร่ฝนจะตก แล้วแต่พยากรณ์อากาศจะว่าแล้วกัน หาความคาดเดาจากข้างหน้า ...ไม่เจอหรอก

ละลงไปในปัจจุบัน ทั้งหมด กลับมารู้ลงที่ปัจจุบัน ... ถ้ายังไม่เจอว่าปัจจุบันอยู่ไหน นั่ง...รู้ว่านั่ง เดิน...รู้ว่าเดิน ขยับ...รู้ว่าขยับ แค่นั้นแหละ ... โลกมันมีอยู่แค่นั้นแหละ โลกมันมีอยู่แค่ความรู้สึกที่ตัวตรงปัจจุบันนั่นแหละ 

แล้วจะเห็นว่าโลกทั้งหมดที่เราเคยให้ค่าให้ความหมายนั้น...ดับหมดน่ะ  ไม่ว่าอะไร ไม่ว่าใกล้ ไม่ว่าไกล ใดๆ ทั้งสิ้น

เอ้า พอแล้ว.


…………………….





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น