วันจันทร์ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/3







พระอาจารย์

5/3 (540616A)

16 มิถุนายน 2554




พระอาจารย์ –  ที่ถ้ำนี้หลวงปู่ท่านบอกเป็นมงคล เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์  พระพุทธเจ้ามาสี่องค์ ผ่านมาหมด ...เพราะนั้นใครที่ได้มาภาวนานี่ ไม่ต้องทำอะไร มีสติอย่างเดียว จิตใจมันก็คืนสู่ธรรมชาติของมันเอง 

มันก็เป็นโลกใบเล็กๆ ... มาเรียนรู้อยู่ในโลกใบเล็กๆ นั้น เห็นอาการความเปลี่ยนไปของมัน  ไม่ต้องไปกล่าวโทษกล่าวร้ายอะไรกับใครเขา ไม่ต้องไปต่อล้อต่อเถียงกับใคร  มันก็เปลี่ยนหน้าหมุนวันผันเปลี่ยนกันไป คนนั้นไปคนนี้มา 

ทางโลกเขาจะว่ายังไง ก็เป็นเรื่องของภาษาทางโลกไป  การเรียนรู้ความจริงก็ต้องอยู่กับกายใจเจ้าของเป็นหลัก จำเพาะจิต จำเพาะกาย ...ถ้าไม่รู้จำเพาะจิต ไม่รู้จำเพาะกายจริงๆ น่ะยาก เพราะมันจะแตกกระจาย แตกกระสานซ่านเซ็นออกไป หาความรู้มากมายก่ายกองไปหมด มีแต่เรื่องราวไม่จบไม่สิ้น

พูดง่ายๆ ทางที่จะหลุดพ้นหรือว่าทางที่จะแจ้งในวิถีของมรรคนี่ จะต้องมารู้จำเพาะกายจำเพาะจิตเท่านั้นต้องบอกว่าเท่านั้นด้วย  จำเพาะกายจำเพาะจิต...ของใครของมัน มันจึงจะเกิดความเข้าใจที่เป็นปัจจัตตังขึ้นมาได้ ...นี่สำคัญ

เพราะนั้น กายใจมันมีอยู่แล้ว ให้เราอยู่กับมัน ... แต่พวกเรา...ด้วยความเผลอไผล ด้วยความไม่ตั้งใจ ไม่ใส่ใจ มันก็เลยมักจะหลงลืมกายใจเจ้าของไป  โดยให้สาระให้ความสำคัญกับภายนอกออกไป กับบุคคลภายนอก กับเรื่องราวภายนอก

ก็พยายามขวนขวายกลับมาตั้งมั่นอยู่ภายในกายใจ  มันจะเป็นยังไงก็ช่าง อยู่ในกายใจนี่พอแล้ว  อย่าออกนอกกายนอกใจ ความเข้าใจ ความชัดเจน ว่ากระบวนการความเป็นจริงของกายของใจ มันก็จะเกิด รู้เอง เห็นเอง

ไม่ต้องไปถามใคร ไม่ต้องให้ใครต้องมาตอบแทน มันจะเข้าใจด้วยตัวของมันเอง  ว่ากายคืออะไร ใจคืออะไร และในใจมันมีอะไร และไอ้ที่มันมีอะไรออกมาในใจมันคืออะไร ... มันก็เข้าใจ มันก็ดูไป ศึกษาไป สำเหนียก สอดส่อง ...ต้องใช้คำว่าสอดส่องอยู่ภายใน

ไอ้ตัวที่สอดส่องอยู่ภายในนี่ เขาเรียกว่าตัวญาณทัสสนะ ...ถ้ามันไม่มีสติมันก็ไม่กลับมาเห็น มันต้องอาศัยสติรู้อยู่ที่กายใจ แล้วก็มันต้องมีการสอดส่อง...เดี๋ยวนี้ขณะนี้มันเป็นยังไง มีอะไรปรากฏ มีอะไรเกิดขึ้น อะไรมันตั้งอยู่ อะไรมันมาก อะไรมันน้อย

มันก็เกิดการสอดส่อง โยนิโส แยบคายกับกายกับใจ ไม่ไปหาความรู้ หาความแยบคายกับภายนอก  แม้มันห้ามไม่ได้หรอกภายนอก แต่มันก็เข้ามาผ่านอายตนะแล้วก็ผ่านไป  ไม่ต้องไปเก็บ ไปกัก ไปผูก เอามาเป็นเรื่อง เอามาเป็นเวทนา เอามาเป็นสัญญาอารมณ์อะไร มันก็แค่รับรู้แล้วก็ปล่อย แล้วก็ผ่านไป

พอมันไม่มีเรื่องราวภายนอก หรือมันสงบ หรือว่าเรื่องราวมันอยู่ในความเป็นปกติ ไม่ดึงให้ใจมันกระเส็นกระสายแตกออกไป  ก็ให้กลับมาศึกษากายใจ รู้ตัว รู้อยู่กับกาย แยกกายแยกใจออกจากกัน

การที่รู้ตัวอยู่นี่ ขณะที่รู้ตัวอยู่นี่  มันยังมีลักษณะที่มันสอดส่องกายอยู่ด้วยการที่ว่า...กายอันหนึ่ง จิตอันหนึ่ง  ตัวอันหนึ่ง...รู้อันหนึ่ง  อยู่อย่างนี้  

เพราะนั้นเวลาที่ไม่มีอะไรทำ หรือไม่มีอะไรให้ดู ไม่มีอารมณ์อะไรเด่นชัดขึ้นมา  ก็ต้องมาแยบคายกับกาย...เป็นฐาน อยู่ตรงนี้  ให้มันแจ้ง ให้มันแยกรูปแยกนาม แยกจิตแยกใจออกจากกายอยู่เสมอ  ไม่ให้มันเข้าไปกลมกลืนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในความเห็นว่าเป็นเรา ของเรา

เพราะนั้นในขณะที่แยกออกมานี่  อย่างน้อยมันยังไม่ขาด แต่มันก็ยังเห็นเป็นของสองสิ่งอยู่ กายอันหนึ่งรู้อันหนึ่ง...กายอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง  ...ให้มันเห็นห่างๆ อย่าให้มันไปแนบติดกัน ด้วยความหลง ด้วยความเพลิน

มันจะหลงมันจะเพลินกับกายก็ต่อเมื่อเข้าไปคิด ...มันเข้าไปคิดกับกาย เข้าไปให้ความเห็นอะไรกับกาย  เช่นว่ามันเป็นอย่างนั้น มันเป็นอย่างนี้ มันคิด มันปรุง  เพราะนั้นถ้ารู้อยู่กับกาย รู้ตัวเฉยๆ นี่ มันไม่มีความปรุงในขณะที่รู้ตัว

มันก็จะมีแค่สองสิ่งปรากฏอยู่ในขณะนั้น มีสองสภาวธรรม สองสภาพธรรมเกิดในขณะนั้น  ก็คือสิ่งที่ถูกรู้...คือกาย แล้วก็รู้...คือใจ  มันก็จะเห็นว่าเป็นของสองสิ่งกัน ไม่ข้องแวะกัน ไม่ใช่ธรรมเดียวกัน  นี่ มันแยก ...แล้วก็ไม่ได้เห็นว่ามันเป็นของใคร เป็นอะไร

เพราะนั้นเวลาไม่มีเรื่องไม่มีราวอะไรนี่ ต้องไม่ทิ้งนะ...ต้องไม่ทิ้งการสำเหนียกลงที่กาย  ส่วนเวลามีอารมณ์ มีอะไรกระทบ มีอะไรเกิดขึ้น สุขทุกข์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้รู้เฉยๆ กับอาการนั้น  

ถ้ามันรู้แล้วยังไม่เฉย ถ้ารู้แล้วยังไป รู้แล้วยังปรุงแต่งต่อ เอาไม่อยู่ เอาไม่ไหว ด้วยความดึงดูดของใจที่มันจะเข้าไปมีเข้าไปเป็น ...ก็ต้องบังคับให้มันมารู้ตัวกับกายซะ อย่าให้มันแตกออกไปด้วยความปรุง...ในธรรมารมณ์นั้นๆ ในเวทนานั้นๆ

ต้องละความอยากออกไป ละความอยากทำให้มันมีเรื่อง หรือว่าทำให้เรื่องจบ อะไรก็ตาม มันเป็นเรื่องของความอยากกับไม่อยากทั้งนั้นแหละ ...ละตรงนั้นออก แล้วก็ให้กลับมาอยู่กับกายซะ กลับมารู้ตัว

แต่ถ้ามันรู้แล้วเห็นแล้วในอาการที่เป็นนาม  เห็นชัด แล้วไม่ไปกับมัน  เห็นเหมือนกับเห็นมันเป็นอาการ เห็นมันเป็นแค่ปรากฏการณ์ของจิตอย่างหนึ่ง ก็ไม่ทำอะไร ...ก็รู้อยู่ เห็นอยู่ ให้มันเห็นเป็นสองอาการระหว่างสิ่งที่ถูกรู้กับรู้  จนกว่ามันจะดับไปเอง  ก็จะเห็นความดับไปของมัน ของนามนั้นๆ

เวลามันดับไปแล้วหรือว่ามันหายไปแล้ว มันไม่รู้จะไปอยู่กับอะไรนี่ ต้องกลับมาที่ฐานกาย...รู้ตัว ไม่งั้นเดี๋ยวหลง เดี๋ยวโมหะเข้าแทรก  โมหะเข้าแทรกคือความหลง ความเผลอ ความเพลิน  เมื่อความหลง ความเผลอ ความเพลินเข้าแทรกปุ๊บนี่ ภาวะใจนี่จะหาย จะค่อยๆ เลือนหายไป โมหะมันเข้ามาครอบงำ

เหมือนกับจันทรุปราคาน่ะ มีเงามืดมาบดบัง มันก็มัวไป  ใจก็หายไป จางไป ทั้งๆ ที่ว่ามันไม่มีอารมณ์สุขทุกข์อะไรหรอก แต่มันจางไปด้วยความเผลอเพลิน ... สติต้องกลับมา เอากายเป็นที่ตั้ง ให้มันตั้งมั่นอยู่กับกาย  ใจมันก็จะอยู่ตรงกาย อยู่กับกาย รู้อยู่เห็นอยู่กับกาย

ทำอยู่อย่างนี้ ...ไม่ต้องไปอยากได้ อยากมี อยากเป็นอะไรกับใครเขา  ในธรรมในอะไรก็ไม่อยาก  อดีตอนาคตก็ไม่ไป ไม่มา ไม่คาด ไม่หมาย ไม่หวังอะไร  รู้อยู่แค่นี้ รู้กายเห็นกายอยู่แค่นี้  เอาจนไม่รู้จะเรียกว่ากายนี้คืออะไรดีน่ะ

จนเห็นเป็นก้อนหนึ่ง กองหนึ่ง เป็นกองสังขาร เป็นกองมหาภูตรูปหนึ่งแค่นั้นเอง ไม่ได้เป็นอะไรของใคร  มันก็อยู่ได้ด้วยความสงบสันติ แล้วก็ดูอาการแปรปรวนของกายไป  เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวอ่อน เดี๋ยวแข็ง เดี๋ยวหนาว เดี๋ยวปวด เดี๋ยวเมื่อย เดี๋ยวมาก เดี๋ยวน้อย เดี๋ยวเบา เดี๋ยวหนัก ...ก็ดูมันไป เอากายเป็นที่ศึกษา เป็นที่ตั้งของสติ

ถ้าทิ้งกายออกไปแล้วมันจะหลง มันจะเผลอ ... พอมันไม่หลงไม่เผลอ รู้กายเห็นกายอยู่ปุ๊บ ใจมันจะอยู่ภายในนั้นแหละ ไม่ไปไหนหรอก  มันก็ตั้งมั่นโดดเด่นของมัน อยู่ด้วยความตั้งมั่น  ก็มีความตั้งมั่นอยู่ทุกอาการ ทุกอากัปกริยา  จะทำพูดคิดอะไรทางภายนอก มันก็ทำไปด้วยความรู้ตั้งมั่นอยู่ภายใน

เพราะว่ามันไม่ได้ไปอยู่กับภายนอกร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มันจะอยู่กับความตั้งมั่น เป็นหลักภายใน ไม่ได้อยู่กับงานภายนอกเป็นหลัก  มันจะอยู่กับความตั้งมั่น รู้ภายใน แล้วก็ทำไป เหมือนกับการกระทำนั้นๆ เป็นแค่กริยา เป็นแค่อาการหรือว่ากริยาเท่านั้น  

คำพูดก็เป็นแค่กริยาของกาย การกระทำงานการหน้าที่ก็ทำไปเป็นกริยา ไม่ได้ไปคาดหมายหวังผลอะไรกับมันมากมายก่ายกอง มันทำไปด้วยความตั้งมั่นอยู่คู่กับการกระทำภายนอกในเวลาทำงาน

พอมันหมดภาระหน้าที่หรือว่าภาระหน้าที่ภายนอกมันสงบ ซา มันเบาลงปุ๊บนี่  มันจะมาค้นภายใน  จิตที่ตั้งมั่นนี่มันก็จะมาสังเกตรายละเอียด เพราะในขณะที่ตั้งมั่นอยู่กับงานภายนอกนั่น มันจะไม่เห็นรายละเอียดยิบยับๆ หรอก

แต่พอหมดภาระหรือว่าห่างจากภาระภายนอกแล้วปุ๊บนี่ มันเหลือแค่กายกับใจจริงๆ แล้วนี่  มันจะเห็นรายละเอียดท่ามกลางกายกับใจปรากฏขึ้น  

จะเป็นเรื่องเก่าๆ จะเรื่องตัณหา จะเป็นเรื่องความอยาก จะเป็นเรื่องอะไร...ที่มันขึ้นมาคอยรบกวนใจให้เกิดความคิดความปรุงต่อเนื่องออกมาอยู่เสมอ  มันจะเห็นความปรุงภายใน รายละเอียดยิบๆ ยับๆ ของมัน ... ก็ต้องเท่าทันตรงนั้น แล้วก็จะเห็นความเกิดดับของสภาวะจิต ก็จะเห็นสภาวะจิตเกิดดับๆ

เมื่อเห็นสภาวะจิตเกิดดับไปเรื่อยๆ นั่นแหละ โดยที่ไม่ไปเอาประสีประสาอะไรกับมัน มันจะอ่อนกำลังของมันไปเอง  ความปรุงภายในมันก็จะอ่อน  ใจมันก็จะเกิดความสงบระงับ ตั้งมั่นมากขึ้น ชัดเจนขึ้น 

เพราะมันไม่มีความปรุงแต่ง ... มันก็อยู่ด้วยความเป็นเอกภาพของใจก็ชัดขึ้น ใจมันก็กลับคืนสู่ธรรมชาติของมันตามความเป็นจริงมากขึ้น

ไม่เห็นว่ามันจะต้องไปมีความรู้อะไรเกิดขึ้นเลย ... ไอ้ความรู้ที่แท้จริงก็คือความรู้เดียวนี่ คือใจรู้น่ะ กลับมาสู่ความรู้อันเดียวเท่านั้น คือเหลือแค่ใจรู้...เป็นใจรู้เปล่าๆ ใจรู้ซื่อๆ  แล้วมันจะไม่มีอาการออกไปบวกไปลบกับอะไร  แม้แต่ว่าไม่มีอะไรมากระทบสัมผัสมัน มันก็ไม่มีอาการอะไรออกมา มันก็อยู่ของมันอย่างนั้น  เหมือนกับน้ำในแก้วที่วางอยู่ มันก็ใสของมันอยู่อย่างนั้นแหละ 

แต่ตอนนี้บางครั้งมันก็...น้ำวางอยู่ในแก้วแล้ว  แต่น้ำในแก้วนี่ มันยังมีอาการพุ่งพล่านอยู่ เหมือนที่เราเคยเปรียบว่า...เหมือนกับเป็นโซดา ที่มันยังมีฟองอากาศผุดขึ้นมาพึ่บพั่บๆ อยู่ตลอด

เพราะนั้นถ้าอยู่ด้วยความรู้เท่าทัน ก็จะเห็นแค่อาการผุดเข้าผุดออกมาจากภายในที่ตั้งมั่นอยู่นั้น ก็คือสภาวะจิตเกิดดับ  เพราะว่าสภาวะจิตนี่ มันคอยที่จะไปจับกับนามขันธ์ ที่เป็นสัญญาบ้าง เป็นสังขารบ้าง เป็นความรู้ต่างๆ นานา ทางหูทางตาทางจมูกบ้าง  

สภาวะจิตนี่มันจะไปจับ มันจะไปเกิดตามอายตนะ มันจะไปเกิดกับความคิด มันจะไปเกิดกับอารมณ์ มันจะไปเกิดกับความรู้สึก มันจะไปเกิดกับความจำ  แล้วมันจะเกิดความต่อเนื่องไป ...ไม่จบง่ายๆ

แต่ถ้าเราเท่าทันขณะแรกของการเกิดขึ้นของสภาวะจิตนี่ มันก็จะดับ  พอมันดับไปมันก็เหลืออะไรล่ะ  มันก็ไม่เหลืออะไรหรอก มันก็เหลือแต่นามขันธ์ตามความเป็นจริงเท่านั้นแหละ

ก็มีความคิด ก็มีความจำอยู่ ...ไม่ใช่ไม่มี  แต่ก็เป็นความคิดความจำ...เหมือนต้นไม้ เหมือนก้อนหินน่ะ มันเป็นธรรมชาติที่มันเป็นอย่างนั้นของมันเอง ไม่ใช่ต้นไม้ของใครหรือว่าก้อนหินของใคร  

แต่ตอนนี้ความคิดความปรุงความจำของพวกเรานี่ มันเป็นต้นไม้ในสวนที่ตบแต่งไว้ แล้วมันผิดจากที่เราตบแต่งไว้ เห็นมั้ย แต่ถ้าเราไม่สนใจใส่ใจ มันก็จะกลายเป็นต้นไม้ตามธรรมชาติของต้นไม้ ...ไม่ใช่มันไม่มี  

แต่ว่าเมื่อสภาวะจิตเกิดดับ หรือว่าไอ้ตัวสภาวะจิตที่จะไปเกิด ไปมี ไปเป็น กับอาการของขันธ์ หรือว่านามหรือรูปที่ปรากฏภายในภายนอกกระทบก็ตาม  มันก็คือตัวตัณหาอุปาทานนั่นแหละ ที่พาให้จิตไปเกิด...โดยมันจะอาศัยขันธ์นั่นเป็นภพ ทั้งรูปขันธ์ นามขันธ์ ทั้งผัสสะทั้งอายตนะ มันจะอาศัยพวกนี้เป็นภพ

เพราะนั้นในโลกทั่วไป ถ้าภายนอกมันก็เรียกว่าเป็นกามภพ ตามอายตนะ ตาหูจมูกลิ้นกาย ... พอเราละออกจากภายนอก หรือว่าเท่าทันมันแล้ว ไม่ไปแล้ว เห็นว่ามันเป็นทุกข์พอแล้ว เหนื่อยแล้วล้าแล้ว เบื่อแล้ว มันถอยออก มันคลายออก มันปล่อยแล้ว มันไม่เข้าไปให้ความสำคัญแล้ว  มันก็จะเหลือส่วนที่เป็นอารมณ์ภายใน เป็นสภาวธรรมละเอียด เวทนาละเอียด พวกนี้

สภาวะจิตที่ยังมีตัณหาอุปาทานอยู่ มันก็จะวิ่งเข้ามาจับ ไปเกิดกับสภาวะนั้น...ที่มันประเสริฐกว่ารูปเสียงกลิ่นรสที่มันออกเป็นกามภพ  มันก็จะมาจับกับสภาวธรรมภายใน ว่างบ้าง ปีติบ้าง สุขบ้าง สงบบ้าง อะไรพวกนี้  มันก็มาจับพวกนี้มาเป็นที่อยู่ที่หมาย เป็นเรา เป็นของเรา  มันก็เกิดเป็นภาวะภพขึ้นที่เรียกว่าเป็นรูปภพ

ก็ต้องเรียนรู้เท่าทันแล้วก็แยกใจออกมา จนเห็นความดับไปๆๆ ความไม่เที่ยงของภพ ของขันธ์ ของเวทนาภพนั้น เวทนาที่มันตั้งเป็นภพ ในความหมายของความยึดมั่นถือมั่น  มันก็จะละออกไป ไม่สนใจไม่ใส่ใจ ไม่เข้าไปยินดียินร้าย พอใจเสียใจกับการได้การเสียของมัน

จนมันหมด มันทิ้งรูปภพ  สภาวธรรมละเอียด มันก็ไม่มีอะไร สุดท้ายมันก็เหลือไม่มีอะไร  มันก็มาจับ...สภาวะจิตก็ออกมาเกิดดับ ออกมาเกิดเป็นภพกับภาวะไม่มีอะไร  จนเราเข้าไปหมายมั่นว่า เนี่ย ใช่แล้วใจ ใจเราไม่มีอะไรแล้ว  เนี่ยว่าใจเราไม่มีอะไร ใจเราว่าง ว่างกว่าทุกครั้งเลย  

มันเคยผ่านมาทั้งหมดนี่ รูปเสียงกลิ่นรส ยินดียินร้าย หรือว่าปีติ ผ่องใส เย็นซาบซ่าน เนี่ยพวกนี้  พอมันเริ่มภาวะไม่มีอะไร มันเห็นพวกนี้เป็นเด็กๆ แล้ว  มันบอก เนี่ย ใช่เลย อยู่ตรงนั้นเลย  ใจเราเป็นอย่างนั้น ใจคือความว่าง ใจเป็นความไม่มีอะไรไม่เป็นอะไร  

เห็นมั้ย สภาวะจิตมันไปเกิดดับ ไปเกิดอยู่กับอารมณ์ปราณีต เวทนาปราณีต  นี่เป็นขันธ์ละเอียด ก็ยังเป็นขันธ์อยู่ แต่มันไม่เห็นตอนแรก

อาศัยว่าแยบคายกับมัน สังเกตมัน สอดส่องดู...ว่าไม่มีอะไรก็คือไม่มีอะไร แล้วใครที่รู้ว่าไม่มีอะไร  มันจะมาเห็นด้วยตัวของมันทีละเล็กทีละน้อย ว่าไม่มีอะไรก็คืออาการหนึ่ง ว่างคืออาการหนึ่ง  รู้ว่าไม่มีอะไร รู้ว่าว่างคืออาการหนึ่ง  มันก็จะเห็นว่าว่างกับไม่มีอะไร ไม่ใช่ใจ

ก็จะเห็นใจชัดเจนขึ้นมาอีกทีว่า  อ้อ ใจก็คือรู้ ใจก็แค่รู้...เป็นสภาวะรู้เฉยๆ ไม่มีอะไรในนั้นหรอก  ไม่มีอารมณ์ ไม่มีเวทนา ไม่มีความรู้สึกในใจหรอก  ไม่ใช่ใจเป็นอะไร อย่างที่มันเข้าใจตัวของมันเอง  มันก็จะละภาวะที่เป็นอรูปออกไป

คราวนี้ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไรแล้ว  เป็นแต่รู้ มีแต่รู้ อยู่กับรู้ ...แล้วก็คอยหาว่ามีอะไรในรู้ มีตัวมั้ย มีบุคคลมั้ยที่ในรู้น่ะ รู้เป็นของใครมั้ย มันเป็นผู้ที่รู้ได้ตรงไหน  มันก็เข้ามาสอดส่องอยู่ที่รู้นั่น  ตอนนี้เขาเรียกว่ารู้อันเดียว

ในขณะนั้นไม่มีความรู้อะไรเลยนะ  ไม่มีอุบาย ไม่มีภาษา ไม่มีคำพูด ...แค่ภาษาจะโผล่ผุดขึ้นมามันก็ดับแล้ว ไม่เอาเลย มันทันหมดแหละ  นี่เขาเรียกว่ามหาสติมหาปัญญาเลย  

ถ้าเข้ามหาสติเข้ามหาปัญญาเมื่อไหร่ หรือว่าเป็นมหาสติปัฏฐานขั้นประหัตประหารเพื่อให้เกิดความเป็นสมุจเฉทแล้วนี่ ร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ออกนอกรู้เลย  ไม่มีคำพูดใดๆ ผุดโผล่ขึ้นมาได้เลย ไม่มีสมมุติบัญญัติปรากฏในที่นั้นได้เลย  เท่าทันหมด  แล้วก็อยู่กับรู้ที่เป็นอิสระรู้นั่นแหละ

เพื่ออะไร ... เพื่อสอดส่องในตัวของมันเองว่ามันยังมีอะไรในนั้นอีก มีความเป็นสัตว์มีความเป็นบุคคลมั้ย  แล้วก็ไปจับผิดสังเกตได้ตอนที่มันมีอาการเป็นสัตว์บุคคลปรากฏ  มีเราผุดโผล่ มีความเป็นเราขึ้นในใจ  ก็จะเห็นความเป็นเราเหล่านั้นน่ะ จางไป ดับไป ทุกครั้งที่รู้ ที่เห็นตัวมันเองเกิดความเห็นของสัตว์บุคคลขึ้นมา

ทำอยู่แค่นี้แหละ  ไอ้ที่เราทำกันแทบเป็นแทบตายน่ะ เพื่อให้กลับมาสู่รู้อันเดียวนี่แหละ ...อะไรที่มันรู้ออกไปน่ะ อย่าไปกระตือรือร้นกับมันจนเกินไป  ละวางความเข้าไปสำคัญมั่นหมายกับมันซะ

อย่าไปตาม  อย่าไปตามเทรนด์ของเขา ของธรรมในโลก  ไปตามคนบัญญัติบ้าง สมมุติบ้าง  ตามความเห็นต่างๆ นานาบ้าง  มันจะมีเทรนด์หลากหลาย  ผลการปฏิบัติของแต่ละคน สภาวะนั้นสภาวะนี้ที่เขาพูดขึ้นมาเป็นบัญญัติสมมุติขึ้นมา

มันไปกระตุ้นต่อมอยากทันทีเลยน่ะ  พอได้ยิน ได้เห็น ได้ฟังปั๊บนี่ เอาเลย...เนื้อเต้น  ไอ้คำว่าเนื้อเต้นนี่ เนื้อมันไม่เต้นหรอก ใจน่ะมันเต้น  ถ้าพูดภาษาดิบๆ เถื่อนๆ ก็ว่า...กระสัน  ไอ้ความกระสันนั่นน่ะคือความอยาก ในตัวของมันเอง  อยากมี อยากเป็น อยากเข้าไปเสวย อยากได้สภาวะนั้น อยากให้เหมือนกับคนนั้น เหมือนกับจิต...ไม่คนนั้นก็อาจารย์องค์นั้น คำพูดคนนั้น

สติต้องเท่าทันตรงนี้ ละความเสียดายตายอยากไป  อย่าไปเสียดายตายอยากอะไรกับมัน แม้แต่ธรรมนิดเดียวที่จะดึงให้เราออกนอกใจ  รู้...ในปัจจุบัน ... นี่เราพูดในฐานะที่ใจรู้มันอยู่ชัดเจนแล้วนะ  

ถ้ายังหาใจไม่เจอ รู้กายเข้าไป  นั่งตรงไหนใจมันอยู่ตรงนั้นแหละ รู้ว่านั่ง...มันก็อยู่ตรงรู้ว่านั่งน่ะแหละ  รู้ว่าขยับมันก็อยู่ตรงรู้ว่าขยับน่ะแหละ รู้ว่านิ่งมันก็อยู่ตรงรู้ว่านิ่งนั่นแหละ

เบื้องต้นน่ะ ให้ใจมันอยู่กับกายให้ชัด  แล้วก็ตามลำดับลำดามา จนใจนี่กลายเป็นอมตธาตุอันหนึ่ง ลักษณะธาตุอันหนึ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ ไม่มากไม่น้อย  แล้วมันจะอยู่ภายในของมัน  เมื่อถึงตรงนั้นจึงเรียกว่ามีการจดจ่ออยู่ในที่อันเดียว เหลือแค่รู้

อันอื่นก็มีนะ โลกก็มี ความคิดอะไรก็มี  แต่มันมีเหมือนเป็นแค่แผ่นอะไรบางๆ เป็นเหมือนม่านบาง ระลอกคลื่นเบาๆ แค่นั้นเอง  มันไม่พอที่จะมาเขย่าจิตเขย่าใจได้หรอก  มันก็มีของมันอย่างนั้นน่ะ แค่อะไรก็ไม่รู้ เหมือนฟิล์มบางๆ กรองอยู่หลายชั้นซ้อนๆ กันอยู่  

มันจะมองเห็นกายนี่เป็นเหมือนกับผ้าม่าน ผ้าส่าหรีบางๆ อย่างนี้ ไม่พอที่จะเขย่าใจให้ยินดียินร้ายอะไร  เพราะว่าจิตมันจะมุ่งลงที่ใจที่เดียว เหลือแต่รู้

นี่ยังไม่จบนะเนี่ย  มันจะเข้าไปสู่รู้ที่เป็นรู้สัมมาทิฏฐิที่สุดของสัมมาทิฏฐิ คือเหลือแต่รู้ล้วนๆ จริงๆ  เมื่อเหลือแต่รู้ล้วนๆ จริงๆ เมื่อไหร่  หรือว่ารู้ที่ไม่มีอะไรในรู้นั้นแล้วนี่  จึงเรียกว่าที่สุดของมรรค หรือว่าสัมมาทิฏฐิจนถึงที่สุด

จิตดวงนั้นใจดวงนั้นก็เป็นสัมมาทิฏฐิล้วนๆ เรียกว่าที่สุดของมรรคน่ะ ก็เกิดสัมมาทิฏฐิ คือความรู้อันเดียว รู้จริงๆ  อันนี้รู้จริง ...ไม่ใช่รู้หลอก รู้เล่น รู้นอก รู้ออก รู้ไป รู้มา รู้ได้ รู้เสีย รู้มี รู้เป็น รู้ซ้าย รู้ขวา รู้หน้า รู้หลัง รู้บน รู้ล่าง ...ไอ้พวกนี้รู้ไม่จริง

ถ้าออกไปตามมัน เดี๋ยวจากรู้นั่นจะกลายเป็นมโนวิญญาณเลย  มันยังแยกไม่ออก ถ้ายังแยกไม่ออกระหว่างมโนวิญญาณกับใจ มันจะไม่เห็นส่วนของขันธ์ที่เรียกว่าวิญญาณขันธ์  

วิญญาณขันธ์น่ะมันใกล้เคียงกันกับใจรู้ ... นักดูจิตบางคนไม่ทัน ยังแยกไม่ออกเลยระหว่างรูปนามกายใจ แยกไม่ออกระหว่างขันธ์ทั้ง ๕ กับใจ  พอดูจิตปั๊บ ไล่เลยดูเลย ตามไปโดยไม่รู้ตัวว่าทั้งหมดนั่นไม่ใช่ใจ ที่ไปเห็นน่ะ ออกไปเห็นน่ะ  มันเป็นเรื่องของมโนวิญญาณทั้งนั้น

แต่ถ้ามันรู้ตัวอยู่มันจะเห็นสองรู้  รู้นึงอยู่ รู้นึงกำลังไป รู้นึงกำลังผุดโผล่ เห็นมั้ย  ความคิดน่ะ มันไม่ใช่ไม่รู้นะ ไม่ใช่ไม่มีความรู้อยู่ในความคิด เห็นป่าว  แล้วก็มีตัวที่เห็นรู้อยู่...อันนี้ใจ ส่วนไอ้นั่นมโน...มโนวิญญาณที่กำลังไปเกิดอยู่กับความคิด  พอความคิดดับ มโนวิญญาณดับพร้อมกัน แต่ใจนี่ไม่ดับว่ะ

แน่ะ มันเข้าไปเห็นวิญญาณดับพร้อมกับนามขันธ์ดับ  เพราะนั้นก็เห็นวิญญาณเกิดดับ วิญญาณไม่เที่ยง ความรู้นั้นไม่เที่ยง  

แต่ไอ้รู้อันนี้ ใจรู้นี่ ... จริงๆ น่ะ ภาวะใจ ภาวะรู้นี่ หรือธรรมชาติของใจ มันเป็นธรรมชาติที่นอกเหนือไตรลักษณ์  จะไปพูดว่าเกิด พูดว่าดับไม่ได้หรอก  เพราะมันเหนือกว่าธรรมชาติ หรือเหนือกว่าสามัญลักษณะ

แต่ไอ้ที่บอกว่าใจไม่เที่ยง ใจก็ยังมีเกิดดับ  ไอ้คำที่ว่าใจที่ยังมีเกิดดับ นั่นก็คือความเป็นสัตว์บุคคลในใจ  คือความหมายมั่นที่ใจผู้รู้ กลายเป็นผู้รู้ขึ้น  เพราะนั้นไอ้ตัวผู้รู้นี่ยังมีโอกาสที่เกิดดับ  

แต่ใจนี่เป็นภาวะนึงที่เรียกว่าเป็นภาวะที่นอกเหนือกฎของไตรลักษณ์ ถ้าจะมาพูดในภาษาที่พูดตีรวมง่ายๆ ก็เหมือนกับเป็นธาตุบริสุทธิ์ อมตะธาตุ เป็นธาตุที่ไม่เกิดไม่ดับ นี่ถ้าพูดตามภาษานะ  แต่โดยความจริงมันมาพูดว่าเป็นธาตุที่ไม่เกิดไม่ดับไม่ได้ เพราะมันเป็นธรรมชาติของธาตุที่นอกเหนือจากไตรลักษณ์ด้วยซ้ำ

แต่ว่าด้วยความที่มันยังมีอะไรภายในอยู่นั้นน่ะ จึงพาให้เห็นใจดวงนี้ขึ้นๆ ลงๆ  เดี๋ยวหาย เดี๋ยวมี เดี๋ยวก็เป็น ... ขนาดว่าชำระอาสวะหรืออนุสัยหยาบ กลาง ละเอียด ประณีต ออกไปแล้วนี่  มันยังเหลืออาสวะอยู่  ในความเป็นอาสวะนั้นก็ยังเข้าไปให้ความหมายเป็นสัตว์บุคคลในใจ

จนกว่าจะหมดสิ้น ถอนออกจนสิ้น เพิกถอนออก ... ความบริสุทธิ์ของใจจริงๆ จึงจะไม่เกิดไม่ดับตามภาษานั้นจริงๆ ...แต่ไม่ได้หมายความว่าเที่ยงนะ จะมาพูดว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยงไม่ได้

เหมือนกับที่เขาชอบเถียงกัน หากันว่า นิพพานเป็นอัตตาหรือนิพพานเป็นอนัตตา ...มันเลยแล้ว นิพพานนี่เลยอัตตา นิพพานนี่เลยอนัตตา บอกให้เลย ... มันเกินกว่าภาษาจะมาบอกว่านิพพานเป็นอัตตาดีหรืออนัตตาดี  ภาวะใจที่แท้จริงนั้น เกินกว่ามนุษย์จะคิดถึงได้ จะจินตนาการได้ ...หยั่งไม่ถึง

แต่ด้วยศีลสมาธิปัญญาเท่านั้นแหละ จึงจะเข้าไปถึงภาวะนี้ได้ ...ไม่ใช่ด้วยการคิดพิจารณา ไม่ใช่ด้วยการค้น ไม่ใช่ด้วยการเปรียบเทียบเปรียบเปรย ทำความเข้าใจกับมันไม่ได้เลย ...ต้องเป็นปัจจัตตังลงจำเพาะกายจำเพาะใจตรงนั้นในรู้ จึงจะเข้าไปถึงใจตัวจริง

คนทั่วไปน่ะที่ไม่ได้ปฏิบัติ คนมีกิเลสทั่วไปที่ไม่ได้สนใจการปฏิบัติ  ให้มานั่งอยู่นี่ เราก็บอกว่า อ่ะ โยมนั่ง โยมรู้มั้ยว่านั่ง  มันก็บอกว่ารู้  มันก็รู้ใช่มั้ย มันก็รู้ได้นะ  พวกโยมก็รู้ว่านั่ง เราก็รู้ว่านั่ง  มันก็รู้เหมือนกันน่ะ

แต่เราบอกเลยว่า  ไอ้รู้ของคนแรกที่ไม่ได้ปฏิบัติ กับรู้ของคนปฏิบัติ กับไอ้รู้ที่เรารู้นี่ คนละรู้กัน  ความเป็นรู้นั้น ...มันรู้เหมือนกันนั่นแหละ ดูไม่เห็นมีอะไรในรู้น่ะ ก็เป็นรู้ธรรมดา เหมือนกันน่ะ ในความรู้สึกของคนนั้น

แต่เราบอกเลยว่า มันคนละดวงกัน...ในความเป็นรู้นั้น ในความเป็นใจรู้นั้น  แม้แต่ตัวของตัวเอง รู้เมื่อก่อนกับรู้เดี๋ยวนี้ ก็คนละรู้กัน ...ก็รู้เหมือนเดิม รู้ธรรมดานั่นแหละ  แต่เราบอกให้เลยมันคนละอันกัน ...ดูเอาเอง

แต่ว่าถ้าดูตรงนี้ ถ้าไปดูแล้วไปหา...ก็ไม่เห็นมันแตกต่างกันเลย มองไม่เห็นหรอก  พระอรหันต์นั่งกับปุถุชนนั่ง มันก็รู้เหมือนกันแหละ แต่เราบอกให้เลย คนละลิบเลย...รู้นั้นน่ะ  เพราะอะไร  เพราะไอ้รู้ของไอ้คนทั่วไปมันยังมีโอกาสตกระกำลำบาก ออกไปหานั่น ออกไปนี่ ออกไปนั่น

แต่รู้พระอรหันต์ รู้แล้วจบๆ ตรงนั้นน่ะ  ไอ้สิ่งที่ถูกรู้แล้วก็รู้ว่านั่ง นั่งตรงนั้น ...จบเลย ดับ  ดับสนิท ดับมอด ดับไม่เหลือซาก  ดับของพระอรหันต์นี่ดับไม่เหลือซาก ต่ำกว่านั้นยังพอเห็นเถ้าถ่าน  พระอนาคายังมีเถ้า สกิทาคายังเป็นถ่าน โสดาบันนี่ยังครึ่งถ่านครึ่งฟืน  

พวกคนทั่วไปนี่ เหมือนกับผ้าเก่าเลย...ไฟมาเมื่อไหร่ กูพร้อมที่จะติดเลย  เนี่ย เห็นมั้ย รู้ธรรมดา รู้เหมือนกันนี่แหละ เห็นป่าว  แต่มันคนละเรื่องกันเลย 

อย่าขี้เกียจที่จะขยันรู้เข้าไป...เหมือนเดิมนั่นแหละ  เราก็บอกว่ารู้...ก็รู้เหมือนเดิมน่ะ ก็รู้เหมือนเดิม รู้อันเดิม ไม่เห็นมีอะไร นั่งก็รู้ แต่ก่อนก็รู้ เดี๋ยวนี้ก็รู้เหมือนเดิม ...ก็บอกว่ามันไม่เหมือนเดิม

จะมาสู่รู้ได้ยังไง คนนึงยืนมองอยู่บนภูดูเสือกัดกันน่ะ  ทำไมจะไม่เห็น ว่าไอ้รู้อันนี้มันไม่เหมือนกับไอ้รู้อันนั้น ไอ้รู้เดือนนี้กับไอ้รู้ปีนี้มันคนละรู้กันแล้ว  แต่ไอ้คนที่มันกำลังรู้อยู่มันก็บอกว่ามันก็ดูเหมือนเดิม

อย่าขี้เกียจ...อย่างไม่ได้อะไร แต่มันมีความกระจ่างจางคลายในตัวของมัน ในตัวรู้นั้น ... ก็ดูเอา  มันลดการเยิ่นเย้อในอดีตอนาคตลง ...มันหด มันสั้น  

ซึ่งแต่ก่อนนี้จะทำอะไร ทำจบแล้วมันไม่ยอมจบ มันมีรายการฝากไว้ก่อน เดี๋ยวมาถอนคืน  แล้วระหว่างที่ฝากไว้ก่อนเดี๋ยวมาถอนคืนนั้น ขณะนั้นมันคิดดอกเบี้ยด้วย ธนาคารเขาไม่ให้ฝากฟรี มันสะสมอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่เมื่อเรารู้ไปเรื่อยๆ สังเกตดูไปเรื่อยๆ ก็จะเห็นว่ามันรู้สึกว่าง่ายขึ้น สั้นขึ้น เร็วขึ้น  จบเร็วขึ้น ไม่เยิ่นเย้อ ไม่ยืดเยื้อ  มันเห็นว่าปัจจุบันมันสั้นลง  ก็ดูเหมือนว่าชีวิตน่ะสั้นลงด้วย

ไอ้ชีวิตที่สั้นลงนั่นคือภพสั้นลง ...ไม่มีชีวิตเพื่อวันข้างหน้า หรือว่าชาติหน้า หรือว่าชาติต่อๆ ไปอย่างนี้  มันมีชีวิตอยู่แค่ปัจจุบัน อยู่แค่ปัจจุบันขณะนึง แล้วก็ทิ้งปัจจุบันไปทุกขณะ  ดับแล้วดับเลย ไม่มีหันรีหันขวาง เก้ๆ กังๆ  ใจให้เห็นอาการเก้ๆ กังๆ ละล้าละลัง ...เอาให้มันขาดลงไปในปัจจุบัน ทุกขณะไป

ไปๆ มาๆ เหลือใจดวงเดียว  เป็นใจที่ไม่เป็นพ่อไม่เป็นแม่ ไม่เป็นผัวไม่เป็นเมีย ไม่เป็นลูกศิษย์ไม่เป็นอาจารย์อะไรกับใครแล้ว ... หาไม่เจอ เกิดไม่ได้  เกิดไปเป็นอาจารย์ก็ไม่ได้ เกิดไปเป็นลูกศิษย์ก็ไม่ได้ เกิดเป็นผัวเป็นลูกเป็นเต้าก็ไม่ได้ เกิดไม่ได้เลย ญาติโกโหติกามันเกิดไม่ได้เลย

เหลือแต่รู้อันเดียว ไม่นับญาติกับใครแล้ว  ไม่เป็นญาติกับสิงสาราสัตว์ ไม่เป็นญาติกับผู้คน ไม่เป็นญาติกับผีเปรตเทวดา  เห็นมั้ย มันตัดญาติขาดมิตรหมด  ไม่งั้นไม่เรียกว่าจำเพาะจิตจริงๆ ... ถึงวาระนั้นน่ะไม่สนใจแล้วญาติโกโหติกา ไม่ว่าโคตรเหง้าเหล่ากอมาด้วยกัน ...ไม่เกี่ยว ใจล้วนๆ

ไม่ขาดมันก็ขาดตรงนั้นแหละ  เพราะไม่รู้มันจะไปเกิดกับใคร ในอารมณ์ ในความรู้สึกที่เป็นพี่น้องพ่อแม่  จริงๆ มันก็แค่ความรู้สึกน่ะ

ถ้ามีลูก ลูกเราป่วย...เราป่วยด้วย  ทีลูกคนข้างถนนป่วย เราไม่เห็นป่วยเลย อายุเท่ากัน  เป็นหมอเป็นพยาบาล เห็นคนป่วยก็งั้นๆ น่ะ ลองให้ลูกเราผัวเราเมียเราเพื่อนเราป่วย  เห็นมั้ย มันเป็นแค่ความรู้สึกไปเกิดกับเขา  มันก็คนเหมือนกันน่ะ ทำไมเห็นคนนึงเราเดือดร้อน เห็นอีกคนนึงเราไม่เดือดร้อนล่ะ

นี่ พอถึงจุดนั้นน่ะ เหมือนกันหมด  ไม่มีใครเลย ไม่มีสัตว์ไม่มีบุคคลภายนอกแล้ว ไม่อ้างอิงสัตว์บุคคลภายนอกมาเป็นโคตรเหง้าเหล่ากอแล้ว มันเริ่มจะตัดญาติขาดมิตรกับโลกแล้ว  เหลือใจดวงเดียว เอกังจิตตัง จิตเอก ธรรมเอก

อะไรที่ผุดโผล่ขึ้นมาถือเป็นธรรมเอกหมด เหมือนกันหมด ละอย่างเดียว...ไม่เข้าไปมีในมัน ไม่ให้มันมามีอะไรต่อเรา ต่างคนต่างเกิดต่างคนต่างดับ  ก็จะเห็นธรรมนั้นดับไปทุกขณะจิต  สภาวะจิตก็กลายเป็นแค่สภาวธรรมหนึ่ง

ไม่สนใจแล้ว กิเลสไม่มีชื่อแล้ว ไม่มีชื่อของกิเลสปรากฏแล้ว เรียกไม่ถูก บอกไม่ได้ อธิบายไม่ออก  เหลือแต่อาการล้วนๆ กับรู้ล้วนๆ  ไม่เรียกว่าขันธ์ ไม่เรียกว่ากิเลสแล้ว อะไรไม่รู้สองอย่าง กำลังอีรุงตุงนังพันตูกันอยู่

ตอนนั้นน่ะ มีตาเหมือนไม่มีตา มีหูเหมือนไม่มีหู มีจมูกก็เหมือนไม่มีจมูก มีลิ้นก็เหมือนไม่มีลิ้น บอกให้เลย  มันเหลืออายตนะใจที่เดียว มันไม่ไปเกิดในอายตนะห้า  วิญญาณก็เหลือวิญญาณตัวสุดท้ายน่ะ คือมโนวิญญาณ

ถึงเวลานั้นน่ะ มันพูดกับใครไม่เป็นแล้ว  ไอ้คนที่มันขยันพูดช่างพูดน่ะ มันจะรู้เองว่าถึงวาระนั้น ไม่รู้จะเอาคำพูดอะไรมาพูด พูดไม่ออก  เหลืออย่างเดียว เหลือแต่ความดับๆๆๆๆ  ดับแล้วรู้ รู้แล้วดับ ดับแล้วรู้ รู้แล้วดับ มีอยู่แค่นั้น ไม่รู้อะไรแล้ว

ถึงเรียกว่าสามโลกธาตุน่ะมันดับหมด  มันดับทั้งสามโลกธาตุ เหลือแต่ความดับกับรู้ รู้กับดับ.


(ต่อแทร็ก 5/4)





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น