วันพุธที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/6






พระอาจารย์

5/6 (540708A)

8 กรกฎาคม 2554




โยม –  จะถามอย่างไรดี ... มันเป็นภาวะที่ข้องอยู่กับสิ่งที่มันใช้ชีวิตอยู่น่ะเจ้าค่ะท่านอาจารย์  มันกำลังรู้สึกว่าถูกบีบคั้น กับความคาดหวังของสังคมเจ้าค่ะ  คาดหวังให้ทำอย่างนั้น เดี๋ยวจะต้องเป็นอย่างนี้ ทำอย่างนี้ ถูกคาดหวังอย่างโน้นอย่างนี้  ก็เลยรู้สึก...เอ๊ มันเป็นที่ใจเราปรับสมดุลไม่ได้ใช่มั้ย มันเลยรู้สึกว่ามันถูกบีบคั้นเจ้าค่ะ

พระอาจารย์ –  เอาหูไปนา เอาตาไปไร่  ไม่ต้องใส่ใจ  อย่าไปคิดตาม ใครจะว่ายังไงก็ช่าง  มันจะมีแรงกดดันยังไงก็แค่รู้ไป ภาวะภายนอก ...เราก็ทำได้เท่าที่ทำ 

มันขึ้นกับตัวเราเอง ไม่ได้ขึ้นกับคนอื่น ... กิเลสของมนุษย์ เราก็อย่าไปเล่นตามเขาแค่นั้นน่ะ  มนุษย์โลกมันก็มีแต่กิเลสความคาดหวัง ความอยาก  มันก็กดดันบีบคั้นไป ...เราก็แค่รู้ แล้วก็วาง ทำได้เท่าที่ทำไป ไม่ได้หวังมรรคหวังผลอะไรในโลกนี้ 

แต่คนทั่วไปน่ะ มันเอามรรคเอาผลในโลก คือจะเอาผลงานในโลก ... อีกอย่างใครเขาก็พยายามจะให้เราไปได้ผลงานในโลกอย่างนั้น เราก็ไม่เอา เอามรรคผลนิพพานภายในกายภายในใจมากกว่า 

มันก็ต้องยอมรับความเป็นปกติของโลกเขาเป็นอย่างนี้  เมื่อใดที่อยู่ในโลกมันก็ต้องมีกระแสพวกนี้ ถือว่ามันเป็นกระแสอย่างหนึ่ง ก็เป็นผัสสะอย่างหนึ่ง  จริงๆ ก็คือผัสสะน่ะแหละ  คราวนี้ว่าเราก็เกิดภาวะที่สติปัญญาไม่เท่าทัน ก็เกิดอารมณ์ยินดียินร้าย  แล้วก็จะไปแก้ไปไข หาถูกหาผิดกับมัน

ไม่มีใครผิดหรอก มันเป็นเรื่องของโลก ...โลกนี้ไม่เคยผิดหรอก โลกเขาก็เป็นธรรมชาติของโลกอย่างนี้ เป็นธรรมชาติของไตรลักษณ์ หาความแน่นอนไม่ได้  มันปรุงแต่งด้วยกิเลสราคะตัณหาอยู่เต็มโลกเต็มบ้านเต็มเมือง กระแสมันก็เร่าร้อนอย่างนี้ 

ธรรมดา ...มองให้เป็นเรื่องธรรมดา วางใจให้เป็นกลาง อยู่ในกระแสโลกมันก็เป็นอย่างนี้...ธรรมดา  ถ้าวางใจเป็นกลางก็สามารถที่จะเป็นผู้รับรู้  ใครจะว่ายังไงก็ช่าง ไม่ตามใจกิเลสมนุษย์ เดี๋ยวมันก็เบื่อไปเอง ใครจะเบื่อก่อนกันเท่านั้น ...เดี๋ยวมันก็เบื่อ

ก็ทำหน้าที่ไปตามปกติ ...แล้วก็มาเน้นในเรื่องภายในของเรา เน้นสติ เน้นการรู้กายรู้ใจ  ไม่ต้องไปเอามรรคเอาผลภายนอก ...เมื่อใดที่เราคิดหรือว่าปรุงออกไปตามกระแสพวกนี้ ไหลไปตามกระแส แล้วปรุงตามกระแสพวกนี้  มันจะเกิดอารมณ์ มันจะเกิดความขุ่นมัว

กลับมาทำความรู้ชัดเห็นชัดภายใน รู้กายเห็นกาย  รู้ชัดเห็นชัดภายใน...ในปัจจุบัน  จิตมันจะผ่องใสขึ้นมาเอง มันเหมือนเป็นภูมิต้านทานโรคน่ะ ...ถ้าภูมิต้านทานโรคหรือว่าเกราะของศีลสมาธิปัญญาไม่พอ มันก็แตก แตกตัว มันก็แตกตัวออกไปเป็นความปรุง 

กระแสพวกนี้มันจะเร้ามาตลอดเวลา มาเป็นพักๆ เป็นระยะ เป็นช่วงไป ...ถ้าเราไม่ตั้งมั่นจริงนี่ เราก็ไหล...ออกไปปรุง ออกไปขุ่นมัว เศร้าหมอง  เกิดความเศร้าหมอง แล้วก็สงสัยลังเลต่างๆ นานา ...ต้องหักอกหักใจ กลับมารู้กายเห็นกาย รู้จิตเห็นจิตของเรา

ลักษณะอย่างนี้ไปรู้จิตดูจิตไม่ได้ มันจะยิ่งปรุงยิ่งหา...แล้วเราไม่ทันมันหรอก ... หยุดคิดหยุดปรุงซะ หยุดหาเหตุหาผล หยุดหาวิธีการ ...กลับมาสงบนิ่ง รู้เห็นแค่กาย สร้างเกราะ สร้างฐานของกายของใจ รักษากายรักษาใจไว้ 

ไม่เอาอะไรในโลก ...ไม่เอาถูกไม่เอาผิด ไม่เอาความควร-ความไม่ควรอะไร  ปล่อยให้มันเป็นไปตามอำนาจของโลก เขาเป็นยังไงก็เป็นของเขาไป  กิเลสมนุษย์แก้ไม่ได้ มันก็ต้นพิษต้นไฟเร่าร้อนล้อมรอบตัวเราอยู่เสมอ 

เข้าไปในที่สำนักงาน เข้าไปในเมือง เข้าไปในที่ไหนน่ะ  เหมือนกับเข้าไปในเตาหลอมอ่ะ มันเร่าร้อนไปหมดน่ะ มันเร่าร้อนด้วยกิเลส  เพราะว่าทุกอย่างที่อยู่ในนั้นมันมีแต่ความปรุงแต่งของกิเลส ...เป็นธรรมดา มันก็ถือว่าเป็นเครื่องฝึกฝนกายใจของเราเองน่ะ 

พอเราออกมาอยู่กับธรรมชาติ  ความเร่าร้อนก็จะลดลง ลองสังเกต  มันก็เกิดความเย็น สบายหูสบายตา เย็นหูเย็นตา มีแต่ความสงบเย็นเป็นธรรมชาติของมันในตัว

แต่ว่าชีวิตน่ะ มันเลือกไม่ได้  วิถีกรรม...มันเลือกไม่ได้  มันยังไม่ถึงวาระที่จะมาอยู่กับธรรมชาติ อยู่กับความสงบภายนอก  มันก็ต้องอาศัยสิ่งที่สัมผัสพบเจอเหล่านั้นเป็นเครื่องขัดเกลา ฝึกฝน สร้างฐานสติ สมาธิ ปัญญา ขึ้นมา 

ก็ไม่ได้มองเป็นเครื่องขัดข้อง หน่วงเหนี่ยว ฉุดรั้ง ... แต่ถ้าคิดน่ะ มันก็เป็นเครื่องฉุดรั้ง  ถ้ากังวลหรือว่าไปหาทางแก้มัน มันก็เหมือนเป็นเครื่องปิดบังหน่วงเหนี่ยว 

เพราะนั้นก็ไม่คิดไม่ปรุงอะไรกับมัน กลับมาทำหน้าที่ของเรา...คือรู้กายเห็นกาย  ...ดูกายเห็นกายเหมือนเป็นก้อนดิน เหมือนเป็นก้อนหินก้อนหนึ่ง เดินไปเดินมาในที่ทำงาน  ใครพูดอะไรก็เหมือนพูดผ่านก้อนหินน่ะ  ทำใจให้หนักแน่นอยู่ภายใน หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด รำคาญก็รู้ว่ารำคาญ อย่าไปสนใจ 

ดูอาการทางกายไป แข็งๆ อ่อนๆ  ดูกระดูกมันเดิน ...ไอ้ที่มันเดินนี่ มันเดินได้เพราะมีกระดูก แข็งๆ น่ะ  ดูขาไป ให้เห็น รู้สึกถึงกระดูกที่มันรับน้ำหนักถ่วงลงมา  มือขยับแกว่งไกว มันไกวมันแกว่งได้ ข้างในมันดามด้วยกระดูก  ดูให้รู้สึกถึงความแข็งๆ มีของอุ่นๆ เหนียวๆ หยุ่นๆ หุ้ม เหมือนเป็นฟองน้ำหุ้มแกนกระดูกอยู่ 

นี่ ทำความรู้สึกภายในอยู่อย่างนี้  ดูมัน ไม่ต้องไปสนใจภายนอกมาก  ก็ทำพูดคิดไป ก็ดูไป  หลงไปเพลินไป หลงไปคิด ทำงานไปแล้วก็ไปหลงอยู่กับงาน พอรู้ตัวก็กลับมาดูต่อ 

ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจ กังวลกับไอ้ที่มันหลุดมันหายไป  มีเวล่ำเวลารู้เนื้อรู้ตัวก็กลับมาดูใหม่  ...ทำไปอย่างเนี้ย มันก็ดำเนินของมันไปเอง ความรู้แจ้งภายใน  

ไม่มีอะไรภายนอกก็ไม่ต้องไปคิด เมื่อหมดเรื่องให้คิด  ไม่ใช่หลงออกไป ไม่ใช่ภารกิจที่จะต้องหลงไปทำ ...ก็กลับมาทำความรู้แจ้งภายใน ทำความรู้แจ้งภายในกาย  

อะไรมันแข็ง อะไรมันอ่อน ...อ่อนๆ แข็งๆ เป็นของใคร เย็นร้อนอ่อนแข็งเนี่ย มันมีใครเป็นเจ้าของ มันบอกมั้ยมันเป็นใคร มันเกิดขึ้นเพื่อใคร ...ทำความรู้ความเห็นภายใน จำแนกออกไปเป็นส่วนๆ ไป 

ไม่ต้องไปกังวลกับภายนอก  มันห้ามไม่ได้อาการภายนอก  ห้ามปาก ห้ามความรู้สึก ห้ามความคิดของคนภายนอก...มันห้ามไม่ได้  ห้ามความคาดหวัง ห้ามความอยากของคนภายนอก...ก็ห้ามไม่ได้ หนีก็ไม่ได้ 

มันอยู่ในที่เดียวกัน ก็ต้องทำใจให้หนักแน่น ...ก็อือออไป ว่าไงก็ว่าไป ทำไม่ทำมันอีกเรื่องนึง เอาไม่เอาก็เรื่องของเรา ไม่ต้องเกรงใจใคร อย่าไปกลัวใคร ... ไปเกรงใจทำไม เวลามันตาย เวลาเราตาย ไม่เห็นมาตายกับเรา ต่างคนต่างตาย 

อย่าไปกังวล อย่าเอาใจไปผูกกับเขา อย่าเอาใจเอากายไปผูกกับงานภายนอก เรื่องราวต่างๆ ความคาดหวังต่างๆ  มันเป็นอะไรแค่ลมๆ แล้งๆ ปล่อยให้เขาบ้าบอกันไป ...เมื่อเรารู้แล้วเข้าใจแล้ว ก็อยู่ในที่อันควรของเรา 

ก็มีที่อันควรที่เดียวนั่นแหละ...คือที่กายที่ใจ  ไม่ใช่ไปอยู่ที่ความกังวล ไม่ได้ไปอยู่ที่เรื่องราว ความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น  ...เพราะงั้นที่ความรู้สึกนึกคิดผู้อื่น ความเห็นผู้อื่น ไม่ใช่ที่อันควรที่จะไปอยู่ หรือเอาไปผูกไว้ เอากายเอาใจเราไปผูกไว้ 

เมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว...ก็ละซะ  ...ไม่ต้องเกรงใจใคร ตำรวจไม่จับ ใครจะมารู้เรื่องกับเราภายใน ปากก็พูดได้ ก็ว่าไป ก็พูดให้มันเป็นสมดุลเป็นกลางไป เขาจะได้สบายอกสบายใจไป ก็แค่นั้น  มันก็แก้ปัญหาได้ ก็หมดเรื่อง 

ไม่ต้องเกรงอกเกรงใจ ไม่มีใครมาฉุดกระชากลากถูได้  ...ถ้าเราไม่ทำ เดี๋ยวเขาก็รู้ของเขาเอง ว่าการใช้ชีวิตของเราจะอยู่กับการดำรงอยู่ที่กายที่ใจ ไม่ได้มีชีวิตเพื่ออะไร หรือเพื่อคนอื่นเป็นหลัก  อันนั้นเป็นเรื่องรอง

เป็นหลักนี่ต้องอยู่กับตัวเอง ทำความรู้แจ้งภายในตัวเอง ภายในกาย ภายในขันธ์  เอาให้แจ้ง เอาให้ชัด เอาให้เข้าใจ เอาให้ไม่ลังเลสงสัยในที่ขันธ์ทั้ง ๕ มันปรากฏอยู่...ว่ามันคืออะไร มันเป็นอะไร มันเป็นทรัพย์สมบัติของใคร มันมีความเป็นตัวเป็นตนมั้ย 

ถ้ายังไม่รู้ ถ้ายังไม่แจ้ง ถ้ายังไม่ชัด ก็ยังไม่หมดงาน ยังเกษียณไม่ได้ 

งานภายนอกก็ทำไปงั้นๆ แหละ พอเลี้ยงดูหาอยู่หากินไป  ลาภยศสรรเสริญบรรดาศักดิ์ก็ปล่อยคนเขาบ้าบอกันไป ทั้งหมดน่ะมันไม่มีอะไร 

ให้มันเหลือแค่กายกับใจ ของสองสิ่งแค่นั้นเอง ... อะไรๆ ก็แค่นั้นแหละ ปล่อยให้มันเป็นแค่...อะไรที่ห่อหุ้มปกคลุมอยู่แค่นั้นน่ะ  มันวูบๆ วาบๆ ไปแค่นั้นเอง ... มันจะหนา มันจะแน่น มันจะบาง มันจะเบา  ก็ไม่ใช่ธุระที่เราจะไปจัดการกับมัน

ก็กลับมารู้ ตั้งมั่น อยู่แค่กาย สรีระขันธ์ สรีระธาตุ หรือว่าธรรมธาตุ  เอาจนรูปขันธ์นี่มันกลายเป็นธรรมธาตุ เป็นแค่ธาตุอันหนึ่งตามธรรมชาติแค่นั้น ... ไม่เป็นแขนไม่เป็นขา ไม่เป็นหน้าไม่เป็นหลังของใครคนใดคนหนึ่ง ของสัตว์ตนใดตนหนึ่ง ของคนบุคคลใดบุคคลหนึ่ง 

ดูจนเห็นว่ามันเป็นแค่ธรรมธาตุหนึ่ง...มันก็จบแล้ว  เป็นแค่เถ้าเป็นแค่ธุลี เป็นแค่มวลที่เป็นกลาง ของกลาง  ใครจะหยิบใครจะยืม ใครจะเอาไปใช้ มันก็ผลัดกันชมไป ... ถึงเวลาถึงวาระมันก็คืนสู่ธรรมชาติของเขาเอง ...กายก็กลายเป็นก้อนธรรมก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งกองอยู่เท่านั้น มีหนังหุ้มเป็นที่สุดรอบโดยสมมุติ  

ความคิดความปรุง อารมณ์ สภาวะจิต สภาวธรรมภายใน  ไม่ต้องไปคา ไม่ต้องไปข้องกับมัน ไม่ต้องไปวิพากษ์วิจารณ์อะไร ไม่ต้องวิตกวิจารณ์อะไรกับมัน ...มองเบาๆ รู้เบาๆ กับมันแล้วก็ผ่านไป เห็นแล้วก็ผ่านไป ไม่ต้องไปสนใจแยแสกับมันมาก  

มันก็จะเห็นในส่วนทั้งหมดมันเป็นแค่อาการของนามที่จับต้องไม่ได้ ไม่เป็นของใครเหมือนกัน ไม่มีอำนาจไม่มีอิทธิพลใดๆ พอที่จะทำให้ใจอันนี้เร่าร้อนได้ ...มันก็เหมือนกับเป็นลมที่ผ่านหินผ่านดินน่ะ ไม่รู้สึกรู้สาอะไร มันก็ธรรมดา มันก็เฉยๆ มันก็รู้เห็นด้วยความปล่อยวางไป  

ถ้ามันไม่วาง ก็ต้องกลับมาเพียรเพ่งลงที่กายใจปัจจุบัน เป็นการถอดถอนความเห็นผิด  จนใจมันเห็นความดับไปเองของอาการที่เป็นนาม ความดับไปเองของอาการที่เป็นสภาวธรรม อาการที่ดับไปเองของกิเลสตัณหา 

มันก็จะเห็นอาการที่ดับไปเองนั้นน่ะ ไม่มีตัวไม่มีตน ไม่มีสาระ หาสาระในตัวมันเองก็ไม่ได้ ... มันก็พอกพูนปัญญาความตั้งมั่นเด็ดเดี่ยว รู้ชัดเห็นชัดอยู่ภายใน  มันก็แข็งแกร่งขึ้นไปเอง ตั้งมั่นขึ้นไปตามลำดับลำดา

สัมมาสมาธิ สัมมาสติ สัมมาปัญญาก็พัฒนาขึ้น จนเท่าทันทุกอาการ ที่มีการกระทบแล้วจิตมันแลบ มันออก มันคว้า มันจับ มันแตะ มันต้อง ...ก็ดับตัณหาอุปาทานที่จะก่อเกิดกับขันธ์ทั้งภายในภายนอกไป 

แล้วมันก็เลยเห็นขันธ์ทั้งภายในภายนอก มันตั้งอยู่บนความแปรปรวน ผันแปร ไม่คงที่ ของมันอยู่อย่างนั้น ...จะดับเมื่อไหร่ก็ได้ จะมากเท่าไหร่ก็ได้ มันไม่ใช่อำนาจของใครคนใดคนหนึ่ง ...มีแต่ความเห็นผิดไม่เข้าใจก็คิดว่าเป็นของๆ กู ของๆ เรา ของของเขา ความเห็นของเขา ความรู้สึกของเขา 

จนเราเห็น จนแจ้ง จนเข้าใจ ว่ามันเป็นแค่สภาวธรรมหนึ่งลอยๆ หาความเป็นเจ้าของไม่ได้ ... มันก็จะกลับมารู้เห็นกับความเป็นจริงเท่านั้น...คือใจ ผู้รู้ผู้เห็น...กับกายที่เกิดๆ ดับๆ อยู่กับใจ

เพราะยังไงๆ กายนี่มันต้องมีจนตาย...คู่กับใจ  มันเป็นของคู่กัน ถ้าไม่มีกายก็ไม่มีใจ  เพราะนั้นก็กลับมาอยู่กับความเป็นจริงที่อยู่คู่กันคือกายกับใจ 

ก็จะเห็นกายเป็นเพียงของเกิดดับเท่านั้น ไม่ได้เป็นอะไรของใคร  เป็นแค่เครื่องมือ เป็นอุปกรณ์ เป็นธรรมธาตุหนึ่งที่ห่อหุ้มใจไว้ ด้วยอำนาจของวิบากกรรมที่เคยทำมา 

ใจดวงนั้นก็จะไม่มองเห็นว่าสิ่งนี้เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นใคร เป็นของใคร มีชื่ออะไร  มันจะเห็นเป็นแค่ก้อนธาตุที่เป็นก้อนวิบาก ที่จำเป็นจะต้องอยู่ร่วมกับใจดวงนี้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ไม่รู้มันจะแตกจะดับเมื่อไหร่ 

เมื่อเข้าใจว่ายังไงๆ มันก็ต้องแตกดับวันหนึ่งไปตามกาล ไปตามกฎของไตรลักษณ์  แต่ก็อยู่โดยที่ว่ายินยอมเสวยวิบากนั้นไป ด้วยความพอดี ด้วยความเป็นกลาง  ...ไม่ได้มองว่านี่เป็นของเรา หรือว่าเป็นของคน หรือว่าเป็นอะไร 

เห็นเป็นก้อนธาตุหนึ่ง ธรรมธาตุหนึ่ง ที่ห่อหุ้มใจ แล้วแต่จะดำเนินชีวิตไปตามปกติวิสัย  มันเกิดตรงไหน มันก็ดับตรงนั้น  มันเกิดทางรูปมันก็ดับทางตา มันเกิดทางหูมันก็ดับทางหู มันเกิดทางกลิ่นมันก็ดับทางกลิ่น  มันก็เกิดดับพร้อมกัน 

ใจก็มีหน้าที่รู้เห็นในการเกิดดับในปัจจุบันนั้นๆ ไป  ไม่อาลัย ไม่อาวรณ์ ไม่เสียดาย ไม่ขวนขวาย ไม่ทะยานไป มันก็แค่รับรู้กับอาการของอายตนะที่เป็นเรื่องทางกายตามปกติ 

การอยู่การกิน การสัมผัสกับขันธ์ภายนอกที่มีวิญญาณ กับขันธ์ภายนอกที่ไม่มีวิญญาณ  มันก็แค่รับรู้ในปัจจุบันๆ มีอาการรับรู้อยู่แค่นั้น  ไม่ได้ไปถือมาเป็นสัญญาอารมณ์ ไม่ได้ถือมาเป็นอดีตอนาคต แล้วเกิดความต่อเนื่องด้วยความอยากหรือไม่อยาก 

มันก็อยู่ใช้ชีวิตต่อไปด้วยภาวะที่เป็นอิสระ ออกจากโลกออกจากขันธ์  แต่ไม่ได้อิสระแบบหนีโลกหนีขันธ์  หากแต่ระหว่างกันนั้นเป็นอิสระ ระหว่างกิน ระหว่างเสพ ระหว่างสัมผัสนั้นน่ะ เหมือนน้ำกับน้ำมัน ไม่ปนเปื้อนกัน ไม่ทำให้เสียสภาพของน้ำ ไม่ทำให้เสียสภาพของน้ำมัน 

มันก็คงตัวคืนตัว เป็นธรรมชาติที่แท้จริงของใจ ใจเดียว ใจหนึ่ง ใจว่าง ใจสูญ ใจไม่มีอะไรในนั้น  มันก็มีแต่ใจ เหมือนน้ำใส เหมือนน้ำค้างบริสุทธิ์ใสอย่างนั้น ยังไงๆ ก็ใสอยู่อย่างนั้น ... เพราะภายในมันไม่มีอะไรในนั้น

แต่เมื่อใดที่ภายในมันยังมีอะไรปนเปื้อน เจือปนอยู่  มันก็จะแปรเปลี่ยนรูปลักษณ์ของมันไปตามอาการที่มากระทบสัมผัสมัน ... สิ่งนี้คือสิ่งที่เราต้องรู้แล้วก็ละออกไป ...มันก็จะชำระภายในให้เกลี้ยง ให้หมด ให้จาง ให้คลาย ให้ถอนออกไป 

อย่าไปเพิ่มด้วยความวิตกกังวล อย่าไปเพิ่มด้วยความอยากหรือไม่อยากใดๆ  มันเป็นการเก็บกลับเข้ามา หมักดองเป็นอาสวะซ้ำเติมลงไปอีก ...รู้ละ รู้แล้ววาง รู้แล้วปล่อย  รู้แล้วไม่เอา รู้แล้วไม่เป็น รู้แล้วไม่มี  อยู่อย่างนี้ ใจมันก็จะค่อยๆ คืนสู่ความเป็นธรรมชาติของใจของมันเอง

เมื่อถึงธรรมชาติของมันแล้วนี่ เป็นธรรมชาติที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นธรรมชาติที่เหนือไตรลักษณ์ เป็นธรรมชาติที่เรียกว่าเป็นวิสุทธิ เป็นวิมุตติธรรม เป็นวิมุตติจิต  มันนอกเหนืออำนาจของไตรลักษณ์ ไม่หวนกลับคืนมาเศร้าหมองอีก ขุ่นอีก หรือดีอีก ไม่มีทั้งดีไม่มีทั้งไม่ดีอีก

มันเป็นธาตุบริสุทธิ์เกินกว่าความบริสุทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้  เพราะธรรมชาติความบริสุทธิ์ทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้มันเกิดขึ้นจากการรวมกัน การปรุงแต่งรวมกัน มันยังไม่บริสุทธิ์จริง  

แต่ความบริสุทธิ์ของใจ ที่สุดของใจน่ะ เป็นความบริสุทธิ์ที่ไม่ได้เกิดอยู่ ตั้งอยู่ บนความปรุงแต่งใดๆ ทั้งสิ้น  มันตั้งอยู่บนความไม่มีไม่เป็นอะไรเลย เป็นวิมุตติ เป็นวิสังขารจิต เป็นอสังขตธรรม  จึงเรียกว่าบริสุทธิ์จริงๆ หมดจดจริงๆ

แล้วก็การปฏิบัติทั้งหลายทั้งปวง...ศีลสมาธิปัญญาเป็นไปเพื่อความชะล้าง ขัดเกลา ละออก  ถอนออกไป วางไป ...ด้วยปัญญา  ไม่ใช่ด้วยความอยาก ไม่ใช่ด้วยความไม่อยาก  แต่ด้วยรู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ววาง ไม่ไปยุ่งกับมัน

ของร้อนอย่าไปร้อนกับมัน ...อะไรๆ ก็ตาม เกิดอะไรขึ้นก็ตาม ให้กลับมาที่กายที่ใจก่อน ตั้งหลักให้มั่น  อย่าไปกังวล อย่าไปหาทางแก้ทางกัน  กลับมาตั้งมั่นอยู่ที่กายใจเฉยๆ ด้วยความอดทน  อย่าเบื่อ อย่าคิดว่ามีวิธีใดแก้ได้ดีกว่านี้ ...ไม่มีอุบายใดแก้ได้หรอก 

มันมีแต่หลักเดียว หลักใจคือหลักเดียว เป็นสัมมาทิฏฐิเดียว เป็นความเห็นเดียวที่เหลือแค่กาย ที่ว่า เอกังจิตตัง เอโกธัมโม กายเดียวจิตเดียว  แก้ได้ด้วยวิธีเดียว หลักเดียว  ถ้ามีสองกาย ถ้ามีสองใจ แก้ไม่ได้ ...ให้มันเหลือแค่กายเดียวจิตเดียว เป็นกายปัจจุบันใจปัจจุบันที่รู้อยู่กับมัน จึงจะเป็นจิตหนึ่ง

มรรคทั้งหมดน่ะ ศีลสมาธิปัญญาทั้งหมด มรรคมีองค์แปดทั้งหมด  มันเป็นเครื่องมือ มันเป็นอุปกรณ์ให้กลับเข้ามาสู่กายหนึ่งจิตหนึ่ง  

อย่าออกนอกนี้...ด้วยความเห็นใดความเห็นหนึ่ง ด้วยความคิดใดความคิดหนึ่ง ด้วยอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง ด้วยความรู้สึกใด ความคาดหมายใดความคาดหมายหนึ่ง...  มันจะแตกออกเป็นสองสามสี่

ถึงบอกว่ากลับมารู้กายโง่ๆ  ไม่เอาอะไร ช่างหัวมัน  ละเอียดก็ไม่เอา ปราณีตก็ไม่เอา ... ไอ้ที่เคยเห็นเคยผ่านมา เคยไปเสพ เคยไปมี เคยไปเป็น สัมผัสกับมัน ก็ไม่เอา ...ให้มันเหลือกายเป็นแค่ธาตุ ธรรมธาตุหนึ่งกับใจที่เป็นธรรมธาตุใจรู้ใจเห็นอยู่เท่านั้นเอง หนึ่งต่อหนึ่ง เรียกว่าธรรมเอก

ระหว่างนั้นที่มันอยู่กับจิตหนึ่งธรรมหนึ่ง กายเป็นธรรมอันหนึ่ง จิตเป็นจิตอันหนึ่ง  มันจะเรียนรู้ในธรรมหนึ่งนั้น เห็นความไม่มี ความว่าง ความไม่มีความหมายในธรรมหนึ่ง...เป็นเรื่องอนัตตา  มันก็จะเข้าไปลบความเห็นผิดขั้นสุดท้าย จากความหมายเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์เป็นบุคคล เป็นเราเป็นเขา 

เมื่อลบธรรมหนึ่งเป็นศูนย์ สุดท้ายมันก็จะมาลบตัวของมันเอง...คือจิตหนึ่ง  เมื่อลบจิตหนึ่ง จนถึงจิตศูนย์ เป็นสุญญตา ...สูญจากความเป็นเรา ของเรา  ใจเรา ใจของเรา ผู้รู้ผู้เห็น ความเป็นสัตว์บุคคลในผู้รู้ผู้เห็น มันก็ละ 

เมื่อนั้นจิตกับธรรมเป็นอันเดียวกัน จิตกับธรรมจึงจะเป็นหนึ่งเดียวกัน คือความไม่มีอะไร  นั่นเรียกว่าเป็นจิตเอกธรรมเอกจริงๆ เป็นอันเดียวกัน คือสุญโญ สูญ  จิตกับธรรมก็รวมกัน เป็นธรรมชาติที่กลมกลืน สู่ความไม่มีโดยสิ้นเชิง สู่ความดับ สู่ความเป็นนิโรธ คือความดับไปโดยสิ้นเชิง ...ไม่มีเชื้อ ทั้งในธรรมทั้งในจิต ไม่มีเชื้อให้ลุกไหม้เป็นไฟออกมาได้

ถ้าข้างในใจยังมีเชื้อ มันก็พร้อมที่จะไหม้  แม้แต่เชื้อแค่อณูเดียวก็ไหม้ มันก็ร้อน  เมื่อมันสัมผัสสัมพันธ์กับอะไร ที่มันตรงกันกับเชื้อนั้น ...แต่เมื่อใดที่มันสูญสลายไม่มีความหมายในตัวของมันเองเมื่อไหร่ มันหมายถึงความหมดเชื้อภายใน สูญ สิ้น  มันสูญ มันสุญโญ มันเป็นสุญญตา มันหมดแล้ว มันไม่เหลือแล้ว 

เมื่อนั้นแหละ ไฟไม่สามารถจะไหม้ได้อีกแล้ว จึงเรียกว่าหมด จบภาระ เกษียณ ปลดระวาง ปลดแอก ปลดสัมภาระ ทิ้งโลกทั้งสามไว้เบื้องหลัง ... เพราะไม่รู้มันจะเอาอะไรกับอะไร ไม่มีผู้เอา ไม่มีผู้เสวย เพราะไม่มีเชื้ออยู่ภายใน 

ใจที่เป็นวิมุตติจิตนั่นแหละ มันจึงมองเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นวิมุตติธรรม ไม่มีอะไรในวิมุตติธรรมให้เข้าไปสวมไปทรง ไปเสวยได้อีก  ดับขันธ์ทั้งหมด สูญ สิ้น  ไม่มีเชื้อ ไม่มีเยื่อ ไม่มีใยใดๆ ...จึงเรียกว่าเป็นผู้เหนือโลก เป็นใจที่เหนือโลกจริงๆ

แต่ในผู้ฝึกผู้ปฏิบัติ ใจมันเหนือโลกชั่วคราว มันยังไม่เป็นถาวร  เดี๋ยวมันก็กลมกลืนกันเข้าไปอีก เดี๋ยวมันก็ไปเกลือกกลั้วอีก  มันซ้ำซากวนเวียนอยู่อย่างนั้น ...ศีลสมาธิปัญญาก็ต้องซ้ำซากวนเวียนอยู่กับมัน 

มันเป็นของเก่า มันเป็นกิเลสตัวเก่า มันหลงเป็นตัวเก่า มันก็ต้องวนเวียนซ้ำเก่าอยู่อย่างนั้น ด้วยศีลสมาธิปัญญา ...รู้เห็นอีก ถอนออกมาอีก จนมันฉลาด รู้รอบรู้เท่าทัน เห็นความไม่มีไปตามลำดับลำดา เห็นความว่างในตัวของธรรมนั้นๆ ไปตามลำดับลำดา 

จนถึงที่สุดก็ไม่มีที่ใดที่หนึ่งที่ให้มันสงสัย หรือข้องใจ ในที่ใดที่หนึ่ง  ใจมันถึงภาวะที่เรียกว่าไม่ข้องในที่ทั้งปวง ไม่สงสัยใดๆ ในที่ทั้งปวง ...มันแจ้งหมด มันแจ้งถึงความว่าง ถึงความไม่มีอะไรในนั้น 

ถ้ามันไม่แจ้งตรงไหนมันก็จะไปซุกหัวอยู่ตรงนั้นน่ะ เอาหัวไปซุก เอาตาไปซุก เอาหูไปซุก เอาใจไปซุกอยู่ตรงนั้น...เป็นภพเป็นชาติ เป็นการก่อเกิด เป็นการอยู่ร่วม เป็นการต่อเนื่องด้วยความสงสัย เมื่อมันยังไม่หายสงสัยในสิ่งนั้น 

แต่เมื่อถอนออกมาอยู่เหนือมัน...ด้วยสติสมาธิ ด้วยปัญญา ...มันก็จะถอนออกมาจากอาการนั้น ออกมาจากภพนั้น จากความรู้สึกนั้น สักระยะหนึ่ง ...เมื่อถอนออกมา ตั้งมั่นด้วยกำลังของสติปัญญา ไม่ไปไม่มา ไม่แตะไม่ต้องกับมัน ก็จะเห็นความดับไปเองของมัน 

มันก็มาเรียนรู้อย่างนี้ เห็นเป็นไตรลักษณ์อีกแล้ว มันก็เกิดความเข้าใจในระดับนึง ... แต่มันยังไม่หลุด เดี๋ยวมันก็เข้าไปอีก  ศีลสมาธิปัญญาก็ต้องทำงาน สติสมาธิปัญญาก็ต้องทำงาน ถอยออกมา ถอนออกมา รู้กายรู้ใจเป็นเครื่องอยู่ เป็นที่ตั้ง แล้วก็จะเห็นอาการนั้น จนกว่ามันจะดับไปเอง 

ด้วยความอดทนอดกลั้น  ไม่ไปคิดไม่ไปปรุงกับมัน ...เขาก็แสดงธรรมตามความเป็นจริงให้ปรากฏ ว่ามีความดับไปเป็นธรรมดา มีความไม่มีตัวตนในสิ่งนั้นๆ เอง ...โดยที่เราไม่ได้ไปยุ่งไปแตะ ไม่มีใครไปแตะไปต้องกับมัน

ญาณ ปัญญาญาณ มันก็จะเกิด.. เห็น เกิดการยอมรับในอาการนั้นตามความเป็นจริง เป็นปหานตัพพธรรมอยู่อย่างนี้  ตลอดชีวิตตราบใดที่ยังมีกิเลสแสดงตัวด้วยความไม่รู้ไม่เห็น มันจะเข้าไปซุก เข้าไปแช่ เข้าไปจมกับอาการที่ปรากฏทางตาหูจมูกลิ้นกายใจ 

เรื่องกลางวันดับไป เรื่องกลางคืนเกิดขึ้นในใจ  ก็ต้องมาเรียนรู้ในเรื่องของใจ ...เรื่องกลางวันเกิดขึ้นไม่เท่าทัน มันก็จะเก็บมาเป็นเรื่องกลางคืนต่อ มาคิดมาจำมาปรุง ...เอาจนมันทันทุกขณะทุกเวลา ความต่อเนื่องเป็นสัญญาอารมณ์มันก็จะสั้นลงน้อยลง ความขุ่นมัวเศร้าหมอง มันก็จางคลายของมันเอง 

มันต้องจางคลายด้วยปัญญา ...ไม่ใช่จางคลายด้วยความอยาก อยากแก้ อยากหนี อยากทำยังไงให้มันหมดไป  ...มันไม่มี ทำไม่ได้ เพราะมันประกอบไม่ถูกเหตุ 

ถ้าแก้ถูกเหตุแล้ว รู้ให้ทัน ไม่ไปยุ่งกับมัน ไม่ไปต่อเติมกับมัน ด้วยการกลับมาอยู่ที่ตั้ง  ที่หมายที่เดียวคือกายใจ ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญาที่รวมลงที่กายใจ ...นั่นแหละเป็นหนทางแก้ เป็นหนทางออก เป็นหนทางชำระกรรมวิบากในตัวของมันเอง ...การรู้เห็นเป็นไตรลักษณ์ก็จะปรากฏบังเกิดขึ้น

ธรรมไม่เคยปกปิดตัวมันเอง ที่สุดก็มีแต่ความดับไปเองเป็นธรรมดา ... จะมาก จะนาน จะช้า จะดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลงเลยก็ตาม...ยังไงๆ มันก็มีที่สุดของมันคือความดับไป 

มันสำคัญว่าเราอดทนอยู่กับกายใจได้มากน้อยแค่ไหน ...ก็ต้องอยู่ด้วยความพากเพียร จนถึงที่สุดแห่งทุกข์นั้นๆ มันก็มีความดับไปเป็นธรรมดา

เมื่อจิตมันรู้มันเข้าใจมากขึ้น จากการที่เห็นอาการเช่นนี้แล้วนี่  มันจะไปเกิดเป็นปัญญาที่เกิดความละความวาง  ความไม่เข้าไปยุ่ง ไม่เข้าไปแตะตั้งแต่แรกที่มันปรากฏ...ในภายภาคหน้าต่อไป 

ก็มีความฉลาดเท่าทัน รู้รอบ เท่าทันปัจจุบันขณะ ปัจจุบันจิต ปัจจุบันธรรม  ...ปัญญามันก็จะรักษาใจดวงนี้ไว้ ไม่หลงตกไป ไปจม ไปแช่ ไปหมายไปมั่นในอาการทั้งหลายทั้งปวง

แต่ถ้าด้วยความไม่รู้ ...ใจที่ไม่รู้ดวงนี้มันจะไปสร้างโลก มันจะไปแก้โลก  มันเข้าใจว่ามันดี มันจะแก้ได้ มันจะแนะนำ มันจะอธิบาย มันจะทำด้วยวิธีการนั้น มันจะทำได้ด้วยวิธีการนี้  มันไม่ยอมๆ มันปกป้องตัวของมันเอง ด้วยความเข้าใจว่า สิ่งนั้นสิ่งนี้จะมาทำลายตัวของเรา ตัวของใจ ...ด้วยความหมายว่าเป็นของเรา 

ก็ต้องรู้ทันเจตนานั้นๆ แล้วก็ละเจตนานั้นไป  กลับมาแค่รู้กับกาย เป็นหลัก ดูกายเกิดดับไป ดูการดับไปแต่ละขณะๆ  ดูกายที่แปรปรวนอยู่ตลอดเวลา...เป็นอาหารของปัญญา มันจะพอกพูนพละกำลังปัญญาขึ้นมา 

การเห็นกายเกิดดับเหมือนอาหารใจ เหมือนอาหารของปัญญา ... ให้ปัญญามันอ้วนพีแก่กล้า มันก็เข้าไปละ ถอนออก ซึ่งความเป็นตัวตน ความเป็นสันตติต่อเนื่องของกาย ...แล้วมันก็จะลามไปถึงทุกสิ่ง ก็จะไปหมายเดียวกันในนิมิต ที่เป็นนามนิมิตอย่างที่เป็นนามขันธ์

ไม่มีอะไรก็ให้กลับมารู้กายรู้ใจเงียบๆ ...ไม่ต้องไปหาอะไรดู ไม่ต้องไปหาอะไรให้ใจทำ นอกการนอกงาน...มันเกิน ทำงานเดียวพอแล้ว  

จนมันเหลือแต่รู้เปล่าๆ กายเปล่าๆ พอแล้ว  ...แล้วเห็นกายเปล่าๆ นั้นเกิดดับไป จนหาความเป็นกายไม่เจอ เห็นกายเป็นแค่อาการเกิดดับ...ทั้งกายจริง ทั้งรูปกาย

กายจริงก็เกิดดับ รูปกายก็เกิดดับ พร้อมกัน ... จิตมันก็จะว่างเบาไปเอง เกิดความเข้าใจ หาความเป็นตัวตนไม่ได้ในขันธ์ทั้งหลายทั้งปวง

ดูความดับไปบ่อยๆ  ... อย่าไปดูเพื่อให้มันมีอยู่



(ต่อแทร็ก 5/7)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น