วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/8




พระอาจารย์

5/8 (540708C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

8 กรกฎาคม 2554



โยม –  พระอาจารย์บอกว่าถ้าเราดูที่กายอย่างเดียว  ถ้ามันแจ้งอันเดียว มันก็แจ้งทั้งหมด   

พระอาจารย์ –  อือ  


โยม –  ถ้าเห็นความไม่มีตัวตนที่กายอย่างเดียว ก็เห็นความไม่มีตัวตนของขันธ์ทั้งหมด ...แล้วเขาสามารถแยกแยะขันธ์ได้ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  แยกได้ ไม่ต้องกลัวหรอก  โดยสัจจญาณ...สัจจญาณนี่คือลักขณูปณิชฌาน รู้ว่านี่กาย รู้ว่านี่เวทนา รู้ว่านี่คิด รู้ว่านี่จำ ... นี่รู้ลักษณะอาการ 

แล้วมันจะมารวมทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน...คือสิ่งหนึ่ง เป็นแค่ของสิ่งหนึ่ง  รูปก็เป็นของสิ่งหนึ่ง นามก็เป็นของสิ่งหนึ่ง 


โยม  ในขณะที่เห็นความเป็นสิ่งหนึ่งนี่ เขาจะเห็นในความที่ไม่เป็นอะไร เกิด-ดับ ในลักษณะเดียวกันอยู่ใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  ใช่  เมื่อใดที่เห็นเป็นของสิ่งหนึ่ง มันจะเข้าไปเรียนรู้ความเป็นอนัตตา  คือความไม่มีความหมาย ความหมดไปจากความหมายในตัวของมันเอง ความหมดความหมายจากความเป็นรูปและนาม ...จึงไม่มีทั้งรูปและนาม 

มันเริ่มลบความหมายในรูปและนาม มันเริ่มเข้าไปลบสมมุติ ลบสัญญาในรูปและนาม ...ก็เหลือเป็นของสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้จะเรียกอะไรดี  มันจะเข้าไปเห็นความว่างในของสิ่งนั้น จึงเรียกว่าเป็นสิ่งหนึ่ง...สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...ไม่มีความเห็นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เพราะนั้นในลักษณะที่เห็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่เป็นแค่เบื้องต้น ที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จากนั้นจึงจะเห็นไม่มีอะไรในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงจะเห็นความว่าง ความสูญ ความไม่มี ในสิ่งนั้น 

เพราะนั้นไอ้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่ มันหมายรวมทั้งสามโลกธาตุหรือว่าสรรพสิ่ง  เหมือนอย่างที่ท่านว่า "ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง"  คือเหมือนกับที่ว่า “ใดๆ ในโลก” 

นี่ เบื้องต้นจะต้องเห็นความไม่เที่ยง ความแปรปรวนนี่เป็นพื้นฐาน  มันจึงจะคลายออกจากความหมายมั่นหยาบๆ  จนมันวางไว้เหมือนเป็นของที่เรามองเห็นทั่วไป  คือเห็นกายเป็นของเหมือนกับกระถางต้นไม้ที่วางไว้ เห็นเวทนาก็เป็นของที่วางไว้ มองเห็นเป็นของสิ่งหนึ่ง แล้วจากนั้นมันจะสลายรวมกันหมด...ด้วยความดับไป  มีความเหมือนกันในความดับไป 

เพราะนั้นการที่เห็นความดับไปๆๆๆๆ เสมอกัน นี่เป็นญาณอันหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดเป็นอาสวขยญาณ ที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างดับไปเป็นธรรมดา คือทุกสิ่งทุกอย่างดับไปเป็นธรรมดา ... ตรงนี้คือญาณตัวสุดท้ายที่จะไปทำให้เกิดความแจ้งที่เป็นโลกวิทู

แต่ภาวะตรงนั้นน่ะ ที่เห็นความดับไปของทุกสิ่งเสมอกัน  ไม่ใช่ภาวะที่เห็นรูปดับ เสียงดับ อารมณ์ดับ ความคิดอันนั้นอันนี้ดับ...ไม่ใช่  

มันจะต้องเป็นภาวะที่ใจล้วนๆ อยู่ที่รู้ล้วนๆ  และเห็นการเกิดครั้งแรกแล้วดับทันที ...มันจะไม่หมายเอากับสิ่งที่กระทบ แต่มันจะหมายลงที่ใจ แล้วมันผุดขึ้นมาจากใจ...แล้วดับอันนั้นน่ะ คือที่จะเข้าไปสมมุติ เข้าไปบัญญัติ เข้าไปให้ค่า เข้าไปมีเข้าไปเป็น 

เบื้องต้นน่ะมันจะไปเห็นหมายเอาแค่รูปแค่นาม ไปหมายอยู่ที่รูปที่นาม มันไปหมายอยู่ที่ผัสสะ ...เอาจนมันดับไปเป็นธรรมดา เอาจนมันสิ้นความเกิด จนไม่มีการเกิด มันจะรู้เองว่าเมื่อไหร่ที่มันไม่มีความเกิด

แต่ตอนนี้มันยังยืนยันตัวมันเองไม่ได้หรอก ...ก็อยู่ไป


โยม –  พระอาจารย์คะ ถามอีกนิดนึง คือว่าโลกียะ กับโลกุตตระฌานนี่ มันต่างกันตรงไหนคะ ในขั้นตอนของการเดินตรงนี้   

พระอาจารย์ –  มันทำขึ้นมา โลกียฌานน่ะ มันรักษา มันประคอง มันจงใจ    


โยม –  แต่ก็มีศีลสมาธิปัญญาเหมือนกันใช่ไหมคะ
  
พระอาจารย์ –  มันก็เป็นศีลสมาธิปัญญาภายนอก   


โยม  ภายนอก  คำว่าภายนอกหมายถึงอะไรคะ  

พระอาจารย์ –  มันก็นอกใจน่ะสิ  เพราะโลกียฌานนี่มันอยู่ในฐานของความสงบ มันไม่อยู่ในฐานใจ ...มันคนละฐานกัน   


โยม –  ฐานของวิญญาณหรือ

พระอาจารย์ –  ฐานของอารมณ์ ...มันยังไม่เข้าถึงใจเลย  

เพราะนั้นว่าตัวสัมมาสติสมาธิปัญญาคือ เช่นว่าทำขึ้นหรือว่าอะไรขึ้นก็ตาม ด้วยการน้อม มีการน้อม  นี่มันไม่ได้พูดถึงในลักษณะของการกระทำเป็นชิ้นเป็นอันหรอก คือน้อมลงที่ใจ ... น้อมปุ๊บมันรู้ น้อมลงปั๊บ มันก็อยู่ที่รู้

พอลงที่รู้ปั๊บมันดับหมด การน้อมการเจตนาก็ดับหมดน่ะ  มันเป็นสัมมา มันลงที่ฐานใจ ...ไม่ใช่ฐานสงบ หรือว่าฐานความรู้ความเห็นใดๆ

ถ้าเป็นตัวโลกียะ  มันเจตนาที่จะรักษาความสงบ ไม่สงบก็ว่าง ไม่ว่างก็นิ่ง ไม่นิ่งก็ไม่มีอะไร  มันเป็นฐานของฌาน ด้วยการเพียรเพ่งจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  

แต่ลักษณะของสมาธิหรือว่าสัมมาญาณ มันจะไม่ลงที่ฐานใดฐานหนึ่ง แต่ลงที่ฐานใจรู้...รวมลงที่รู้ที่เดียว  เมื่อมันอยู่ที่รู้ที่เดียว ศีลสมาธิปัญญามันก็มาถึงภาวะที่มันรักษาตัวมันเอง...ก็รักษารู้นั่นแหละ รู้ก็ปรากฏ...อยู่ในทุกกาลเวลาสถานที่และบุคคล 

พอรู้ปรากฏ ปัญญามันก็เห็นแจ้งชัดเจนอยู่ตรงนั้น...ความเกิด-ความดับ  ความดับไปของตัณหาอุปาทานก็ดับไปพร้อมกัน  มันจะเห็นแต่ความดับๆๆ ไป เกิด-ดับ แล้วก็เห็นความเกิด-ดับ ... มันรู้เห็นการเกิดมันก็เห็นการดับ

เมื่อรู้เห็นความเกิด...มันก็เห็นความดับ  เกิดอีกแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีกๆ  จนมันไม่เกิด  มันก็มีแต่ความดับ...ดับจากความเกิด ไม่ใช่ดับสูญ ไม่ใช่ดับว่าง ... เพราะนั้นถ้าไปดับหรือไปอยู่ที่ว่างหรือไปอยู่ที่สูญ ตรงช่องว่างนั้น มันก็ลงไปในฐานของอรูป ไปเพ่งอรูปต่อ คือไปกำหนดฐาน

แต่ถ้าจะเป็นโลกุตตรฌานนี่ต้องอยู่ในฐานใจ แล้วก็เห็นท่ามกลางใจมีอะไรมั้ย ... ต้องมีรู้อยู่กับสิ่งที่ถูกรู้ จะเป็นอะไรก็ได้ เป็นความดับก็ได้ เป็นความตั้งก็ได้ เป็นความเกิดดับก็ได้  มันก็เห็นอาการนั้นๆ ดับก็คือดับ ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร  แต่มันรู้...รู้รอบ รู้เห็นภาวะนั้นอยู่     


โยม –  แต่ไม่ใช่ผู้รู้ 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องถามผู้รู้มั้ย มันรู้ของมันเองน่ะ ...มันก็ยังเป็นผู้รู้วันยังค่ำน่ะ จนมันถึงที่สุด ถึงจะรู้เองว่าผู้รู้ไม่มี  

มันก็จางคลายไปในตัวของมันเองแหละ ยังไงๆ ก็ผู้รู้วันยังค่ำจนตายน่ะ ...จนตายจากผู้รู้น่ะแหละถึงจะเรียกว่าใจปรมัตถ์ ใจดวงนั้นก็เป็นใจปรมัตถ์ เป็นวิสุทธิล้วนๆ ...แต่เมื่อใดที่เป็นรู้อยู่อย่างนี้ ยังไงก็เป็นผู้รู้ มีความเป็นสัตว์บุคคล


โยม  ผู้รู้อย่างนี้คือเป็นตัววิญญาณอยู่หรือคะ  

พระอาจารย์ –  มันก็มีเจืออยู่ในนั้น เจืออยู่ในรู้นั่นแหละ ... ใจก็อยู่ตรงนั้น วิญญาณก็อยู่ตรงรู้นั่นแหละ 

เพราะนั้นจะไปเรียกว่าวิญญาณล้วนๆ ก็ไม่ใช่  เพราะวิญญาณล้วนๆ ก็คือความเกิดดับ  มันจะไปเกิดไปดับกับอะไร ไปเกิดกับอะไร....มันเห็นมันก็ดับ มโนวิญญาณนั้นดับ ตัวนั้นน่ะมโนวิญญาณแท้ๆ  

เพราะนั้นจะมาพูดว่าตรงนั้นเป็นวิญญาณ ไม่ได้แท้หรอก ...เพราะมันต้องออกไปทำงานก่อนจึงเรียกว่ามโนวิญญาณ ... แต่ตัวมันก็พร้อมจะเป็นมโนวิญญาณ

จะไปบอกว่าตัวผู้รู้เป็นวิญญาณไม่ได้โดยตรง ผู้รู้ก็เป็นใจ เขาเป็นใจด้วย แต่เวลามันทำงานแล้วน่ะเป็นมโนวิญญาณ ...เพราะนั้นไอ้ตัวเกิดดับนั่นแหละ เป็นมโนวิญญาณเกิดดับ

เพราะนั้นกิเลสมันจะเกิดขึ้นตามมโนวิญญาณ ตัณหาจะเกิดตามมโนวิญญาณ อุปาทานจะเกิดตามมโนวิญญาณ ด้วยความไม่เท่าทัน ... พอมันเท่าทันปั๊บ ดับหมด ตัณหาอุปาทานก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ให้อยู่ 

มันก็กลับมาเหลือที่รู้ เหลือแค่รู้เปล่าๆ ...ไอ้รู้เปล่าๆ นั่นก็คือผู้รู้นั่นแหละ  แล้วก็ลักษณะอาการที่เห็นความดับไปๆๆ บ่อยๆ นี่ล่ะ มันจะเป็นตัวชำระตัวเอง...ด้วยไตรลักษณ์ 


โยม –  พระอาจารย์คะ จำเป็นมั้ยว่า มันจะต้องเห็นขบวนการ หรือว่าปัญญานี่เขาจะเข้าไปเห็นอยู่แล้ว เขาถึงทำความเข้าใจได้

พระอาจารย์ – มันเห็นอยู่แล้ว  ถ้ามันไม่เห็น...มันก็ไม่เข้าใจ มันก็ไม่อยู่อย่างนี้ได้หรอก  มันเห็นไปตามลำดับลำดาของมันเองน่ะ ...เพียงแต่ว่ามันไม่รู้ออกมาเป็นภาษาสมมุติบัญญัติเท่านั้นเอง

เมื่อถึงวาระที่มันจะให้ออกมาเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา เป็นภาษาขึ้นมา  มันก็จะรู้ของมันเองน่ะ อธิบายออกมาด้วยตัวของมันเองด้วยความรู้ภายใน ... ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร มันก็รู้ไปดับไป รู้ไปดับไป ...ไม่มีอะไรหรอก ถ้าไม่เข้าไปว่าด้วยจินตาหรือว่าด้วยความคิดความปรุง 

ความรู้นี่ไม่ได้เกิดจากความคิดความปรุง แต่ความรู้มันเกิดด้วยปัจจัตตัง รู้เห็นแล้วก็ดับไป รู้เห็นแล้วก็ดับไป ...มันเกิดความเข้าใจในตัวของมันเอง ความละ ความวาง ความถอด ความถอน ก็เป็นไปด้วยตัวของมันเอง 

ใจมันก็รู้ รู้ปล่อยรู้วางของมันไป เข้าใจด้วยตัวของมันเอง ... ไม่มีเราเข้าไปยุ่ง ไม่มี “เรารู้” เข้าไปยุ่ง

เอ้ามีอะไรมั้ย ...ไม่มีอะไร พอแล้ว  ฟังจนไม่รู้จะฟังอะไรแล้ว  

โยม –   (หัวเราะกัน)

พระอาจารย์ –  อย่าไปสงสัย อย่าไปปรุง ...รู้ตัวอย่างเดียว  อย่าเดา อย่าให้ความคิดดำเนิน ...รู้ไป อยู่ก็ได้ไม่อยู่ก็ได้ รู้ไป รู้ตัวไว้

อย่าให้ความคิดความเห็นอะไรมาลากมันไป ไม่ว่าจะเป็นส่วนกุศลหรืออกุศล มันจะเกิดการคาดการเดาในอดีตอนาคต ... อะไรๆ ละให้หมด  บอกว่าไม่เอาก็ไม่เอา เหลือกายกับใจก็ต้องเหลือกายกับใจ ...อย่ามาแอบอ้างความดีความร้าย วิธีการใดๆ ทั้งปวง 

ถึงวาระถึงคราวที่มันเป็นไปก็ให้มันเป็นไป มันก็เป็นไปในปัจจุบัน  เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบัน ...อดีตอนาคตละหมด ไม่สน ...ไม่งั้นมันจะเกิดความเศร้าหมอง สงสัย ลังเล ขว้างงูไม่พ้นคอ ... ละลงไป ไม่เอา ละให้หมด ...อยู่อย่างนี้...มีกายอยู่ตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น  


อย่าทำตัวเป็นควาย...ควายตกปลัก  พอควายมันเห็นปลักเมื่อไหร่มันก็แช่ มันชอบแช่ปลัก  มันเข้าใจว่าปลักควายเป็นมรรคผลนิพพานของมัน 

ถ้าอยากจะไม่เป็นควายให้ยืนขึ้น อย่าแช่ เรียกว่ารู้ตัว ...แล้วก็รู้ตัวไปเรื่อยๆ เรียกว่าเดินออกห่างจากปลักควาย ...แล้วก็จะเดินไปในทาง 

เดี๋ยวก็จะเจอปลักใหม่อีก เดี๋ยวก็แช่อีก...รู้ตัว ยืนขึ้นบนปลักควาย แล้วก็เดินก้าวออกมา  รู้กายรู้ใจๆ อย่างนี้

ต่อไปพอเห็นปลักควาย พอมันเริ่มก้าวเข้าไปเหยียบ เขาก็จะเริ่มงอก มันก็ถอนออกแล้ว 'อ่ะ กูจะเป็นควายอีกแล้ว เขากูจะเริ่มงอกอีกแล้ว หน้ากูเริ่มยาวแล้ว กีบกูเริ่มออกแล้ว เอาแล้วโว้ย ควายมาแล้ว' ...แปรสภาพใจตัวเองเป็นควาย เจอปลักไหนก็จะแช่ ... ปลักนั้นดี ปลักนั้นใส ปลักนั้นขุ่น 

เดินไปเรื่อยๆ  รู้ตัวแล้วก็เดินไป ... จากควายจะเปลี่ยนเป็นคน จากคนจะเปลี่ยนเป็นใจ  มันจะแปรสภาพของมันเอง เป็นเหลือแค่ธรรมชาติหนึ่ง ...มันก็จะละไปในปลักที่แวดล้อม ล้อมรอบตัวมันเอง

ความคิดคือปลักนึง อารมณ์คือปลักนึง อดีตคือปลักอันนึง อนาคตคือปลักอันนึง ขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงคือปลักอันนึง ขันธ์ภายนอกคือปลักอันนึง ผัสสะคือปลักอันนึง ...รู้รึยังว่ารอบตัวเรามีแต่ปลักควาย 

ใจที่ไม่รู้เหมือนควาย ชอบเป็นควาย ...ถ้าเป็นควายเมื่อไหร่นี่ เดินมานี่เขามาก่อนเลย ยังไม่เห็นคนตรงไหนเลย มีแต่ควาย  หน้านี่ยาว แล้วก็วนอยู่ในอารมณ์ วนอยู่ในความคิด วนอยู่ในการกระทำนั้น เป็นควายไม่รู้จักเท่าไหร่

รู้ตัว...เขาจะสั้น จมูกจะสั้นลง สายสะพายจะหลุดออกจากจมูก ... ด้วยศีลสมาธิปัญญานั่น มันจะพ้นจากความเป็นควาย ... มันก็จะเดินข้ามโอฆะ ข้ามปลัก ข้ามบ่อเพลิง ซึ่งแต่ก่อนมันบอกว่าเป็นปลักที่เย็นสบาย ได้มรรคได้ผลตรงนั้น 

ต่อไปมันจะเห็นว่าไม่ใช่  มันเป็นบ่อเพลิง เป็นไฟ  ลงไปก็ร้อน ลงไปก็ไหม้ ...ก็เริ่มแปรสภาพเป็นคน เป็นใจ ไม่ค่อยเป็นควายเท่าไหร่ ... พอเริ่มจะมีเขา พอเริ่มจะมีกีบ ก็รู้ตัวแล้ว 'เฮ้ย ควายกูเริ่มแล้ว ควายกูเริ่มกำเริบอีกแล้ว' 

รู้ตัวบ่อยๆ ... จะได้ไม่เป็นควาย


……………………….




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น