วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/10




พระอาจารย์

5/10 (540715B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

15 กรกฎาคม 2554


โยม –  พระอาจารย์ครับ ถ้าหากมีนักภาวนาที่เดินไปในทางอรูปเป็น ถ้าจะเอามาเดินในสตินี่ เดินในอรูปนี่มันไม่เสี่ยงไปหรือครับ

พระอาจารย์ –  ก็เสี่ยง ไปไม่ได้หรอก ... ถึงบอกว่าอย่าทิ้งกาย บอกเขาเลย บอกทุกคนเลย อย่าทิ้งกาย อย่าลืมกาย ยังไงๆ ต้องกลับมาสู่กายก่อน ถ้าไม่กายก็ต้องมีคำบริกรรม  

อย่าไปเสียดายอารมณ์หรือสภาวะละเอียด หรือไม่มี ...กลับมารู้อย่างเดียว ให้รู้มันชัดขึ้นมา ยังไงก็ได้

เพราะนั้นน่ะ เมื่อกลับมามีกายเมื่อไหร่ จากที่มันหายหรือไม่มี ... กลับมามีกาย นี่ เห็นกาย ปุ๊บ มันจะมีรู้ขึ้นมาทันที  ก็อาศัยรู้นั้นแหละเป็นมรรค ... อาศัยรู้เป็นมรรค ไม่ใช่อาศัยอรูปเป็นมรรค


โยม –  ก็นึกว่าฝึกเพื่อจะได้เป็นกำลัง

พระอาจารย์ –  ไม่มีอ่ะ ... มันเป็นข้ออ้าง มันเป็นเรื่องข้ออ้างของความอยาก ...ครูบาอาจารย์หลายองค์ที่ท่านติดอย่างนี้  เจอหลวงปู่มั่น เจอครูบาอาจารย์ที่เหนือกว่านี่ ท่านให้ไล่กลับมาพิจารณากายหมดเลย 

ไม่ต้องไปเสียดายอารมณ์ ไม่ต้องเสียดายกำลัง ไม่ต้องเสียดายความรู้ความเห็นในความว่างนั้น  ท่านให้ทิ้งโดยไม่ใยดีเลย  ...มันถึงจะออกได้นะ

อย่าไปคิดว่าจะทะลุได้โดยกำลังของสติที่จะไปทำความแจ้งในอรูป...ไม่มีทาง  เพราะมันจะกลืนหายไปกับใจ มันจะหายไปในความไม่มีนั้นเลย

อย่างที่เราเคยบอกไง ขนาดอาจารย์ของพระพุทธเจ้าน่ะ ยังไม่รอดเลย  นั่นเป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้านะ อาฬารดาบส, อุทกดาบส ...พระพุทธเจ้ายังบอกเลย ฉิบหายแล้ว

ท่านให้กลับมาเดินในทางศีลสมาธิปัญญาหมด ... ปกติมีมั้ย ตั้งมั่นอยู่มีมั้ย รู้เห็นด้วยความเป็นกลางมีมั้ย ในของสองสิ่ง 

ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาคอยประกบคอยกำกับอยู่นะ มันจะกลายเป็นของสิ่งเดียวหมด มันจะไล่รวมเข้าไปเป็นของอันเดียวกันหมด ...ใจมันจะไปกลืนกินกับสิ่งนั้น

มันจะไปกลืนกินกับสรรพสิ่ง แล้วไปหมายมั่นเอาเป็นภพ เป็นตัวของมัน เป็นของของมัน ...สันดานมันเป็นอย่างนั้น อาสวะมันเป็นอย่างนั้น มันจะกลืนกินทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้ามันน่ะ เป็นของมัน

ยิ่ง(สภาวะ)ละเอียดเท่าไหร่ ยิ่งไม่มีเท่าไหร่ มันยิ่งชอบ  ใช่เลยน่ะ ตรงนั้นน่ะ ... เพราะหามานานแล้ว 

เพราะนั้นจะให้แยกออก หรือว่าสติตั้ง ละออก แล้วเห็นความเป็นไตรลักษณ์ หรือเห็นความไม่มีตัวไม่มีตนของมันโดยความเป็นจริงแล้ว ...มันไม่ยอมง่ายๆ หรอก

เมื่อรู้แล้วเห็นแล้ว รู้แล้วเห็นแล้วนี่  รีบวางซะ ... อย่าเสียดาย อย่าไปอาลัยอาวรณ์มัน อย่าไปกลัวไม่เกิดปัญญา อย่าไปกลัวว่าจะไม่แจ้ง จะไม่ถึงที่สุด 

เหมือนกับเห็นเสือ อย่าไปเข้าใกล้เสือ อย่าไปเลี้ยงเสือไว้ เดี๋ยวเสือมันกิน  เสือมันไม่ไว้หน้าใครหรอก มันเลี้ยงไม่เชื่อง มันกินหมดแหละ

เพราะนั้นน่ะ ต้องเห็นโทษเห็นภัย ...จะเห็นโทษ จะเห็นภัย ...เป็นญาณตัวนึงน่ะ เห็นโทษเห็นภัยในขันธ์ ... เบื่อ ต้องเบื่อ ต้องถอน  ไม่ใช่เข้าไปกลืนกินด้วยความตั้งใจว่า จะได้ จะมี จะเป็นอะไรกับมัน

มีแต่เขาเห็นแล้วกลัว รีบวางเลย รีบออกเลย ไม่ให้ใจมันหายไปกับมัน ...ไม่ใช่ไปเห็นปุ๊บ มันกลายเป็นขนมหวานน่ะ จะกินลูกเดียวน่ะ ... แต่มันอาบยาพิษไว้  มันไม่รู้ 

เพราะจิตมันเหมือนเด็กทารก ไม่รู้เรื่องหรอก ... ด้วยความไม่รู้  แต่มันคิดว่าเป็นขนมหวาน ก็คิดประเมินกำลังตัวเองว่าได้นะ ต้องอย่างนี้นะ ...ด้วยความไม่รู้  

มันไม่เห็นทุกข์ เห็นโทษ เห็นภัยในวัฏฏสงสาร...ว่านี่คือวัฏฏะนึง นี่คือส่วนหนึ่งของวัฏฏะ  มันกล้าเกินไป ก็ตายหมด

พอให้กลับมารู้หยาบๆ หรือกลับมารู้กาย ดูกายยืนเดิน...สติในอิริยาบถปกติ ... มันดูถูกดูแคลนด้วยซ้ำ ว่าต่ำ ว่าหยาบ ... หารู้ไม่ ...สิ่งที่ถูกรู้อาจจะต่ำอาจจะหยาบ แต่เป็นเครื่องระลึก สะท้อนให้รู้นั้นเด่นชัดขึ้น 

เพราะเอารู้...ไม่ได้เอากาย ...แต่อาศัยกายเป็นบรรทัดฐาน อาศัยกายเป็นบันได เพื่อเป็นสะพานทอดสู่ตัวรู้ อยู่ที่ใจ ... แล้วก็อาศัยใจนั่นแหละเป็นหลัก มีหลักใจ ... ไม่ทิ้ง ไม่ทิ้งหลักใจ 

อย่าไปโผ ไปซบ ไปกอดกับอะไร โดยอาศัยว่านั่นน่ะเป็นหลัก ...มันจะลืมตัวลืมใจ  ส่วนมาก...ลืมตัวแล้วมักจะลืมใจ

ดูเอา ...ไม่ต้องถึงอรูปน่ะ ก็ลืมตัว ... ไม่รู้ตัว ไม่รู้กายนั่งยืนเดินนอน  ดูแต่ความคิด ดูแต่อารมณ์ลอยๆ ... ไม่นานหรอก ไปแล้ว  กู่ไม่กลับ ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น ...ไปแล้ว ใจน่ะหายไปกับมัน  

ลืมตัว...มักจะลืมใจ บอกให้เลย ... แต่ถ้าไม่ลืมตัวปุ๊บ ใจมันก็จะอยู่ตรงนี้ อยู่ในของคู่กันอย่างนี้ 

แล้วในท่ามกลางของคู่กันนี่ มันจะเห็นเลย...อาการภายในที่มันวนขึ้นมา  ที่ว่าเป็นความคิดความปรุงหรือว่าตัณหาอุปาทาน หรือว่ากามตัณหา วิภวตัณหา หรือพอใจ ยินดียินร้าย ...มันก็จะผุดโผล่ขึ้นมาท่ามกลางกายกับใจนี่แหละ มันไม่โผล่มาจากที่อื่นหรอก 

แล้วก็ละๆๆ ละไป ไม่ตามมันไป ... เพราะฉะนั้นน่ะ พอไม่ตามมันไปบ่อยๆ นี่  ความอยาก ความปรุง ความคิด ความจำ ความหมายมั่นในความคิดความจำความปรุง มันก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ ...มันก็จะเหลือแต่อะไรบางๆ ท่ามกลางนี้ หรืออะไรว่างๆ

ตรงเนี้ย คืออรูป ... ตรงนี้มันจะเป็นภพของอรูป ท่ามกลางสองสิ่งนี้ ... พอสติมันเริ่มอ่อนเริ่มล้าลงนี่ มันจะเข้าไปหมายในอรูปแทนกาย  เพราะว่ามันไม่ค่อยคิดไม่ค่อยปรุงน่ะ มันก็จะมีอะไรว่างๆ ... มันจะเริ่มทิ้งกาย เริ่มลืมกายแล้ว มันจะไปรู้กับว่าง รู้กับไม่มีอะไร

ตอนนี้แหละ มันจะเข้าไปหลงภพอรูป ... เพราะธรรมชาติของความคิดความปรุงมันเริ่มจางแล้ว เริ่มไม่รู้จะคิดอะไร ไม่รู้จะปรุงทำไม มันเริ่มดับความคิดความปรุง ความอยาก ความไม่อยากในอดีตในอนาคตน่ะ มันเริ่มหมด เริ่มน้อยลง

มันก็จะยืนพื้นด้วยความไม่มีไม่เป็น มันว่างๆ ... แล้วมันก็เลยลืมกาย เริ่มลืมกาย เริ่มทิ้งกายแล้ว ... มันจะหลง หลงอันใหม่  

เพราะมันใกล้เคียงกับที่เราปรารถนา ที่มันสมมุติว่าเป็นธรรมหนึ่ง ที่สมมุติว่าเหมือนนิพพาน เหมือนหมดกิเลส ...มันจะไปใกล้กับสมมุตินั้น ที่ใจลึกๆ มันหมายอยู่ ...พอมันเจอ พอมันใกล้เคียงปั๊บนี่  มันจะเริ่มเข้าไปเสพ เข้าไปมี เข้าไปเป็น เข้าไปถือครอง เป็นเจ้าของ 

ต่อเมื่อระลึกขึ้นมาได้เมื่อไหร่ มันจึงจะแยกออกมา ... และเมื่อแยกออกมานี่ มันจะต้องหยุด มันต้องมีจุดยืนที่จะให้ใจรู้อยู่  ...ก็ต้องอาศัยกลับมาอยู่ที่กายอีก  เพราะมันไปอยู่ที่พุทโธ อยู่ที่ความคิด บางทีมันก็ไม่คุ้นเคยกับอาการนั้น ... แต่กายนี่มันมีอยู่ 

กายนี่มันมียันพระอรหันต์น่ะ เป็นพระอรหันต์แล้ว ยังมีกายนะ ... เพราะนั้นไม่ต้องกลัวว่าหากายไม่เจอ หรือว่าจะเป็นกายไหนมาหลอก  กายมันก็กายอันเก่านี่ เกิดๆ ดับๆ อยู่ตรงนี้แหละ ...มันมีอยู่ตลอดเวลา

ก็อาศัยกายเป็นเครื่องระลึกรู้ขึ้นมา  ท่ามกลางความว่างของอารมณ์ ท่ามกลางความว่างจากความปรุงแต่ง ...นี่ มันก็จะเห็นอรูปเป็นภพนึงที่ซ้อนอยู่ท่ามกลางกายกับใจ  

มันก็จะเข้าไปเรียนรู้อาการ ...ว่ามันเป็นแค่อาการ หาความเป็นสัตว์ หาความเป็นบุคคลในอาการนี้ไม่ได้  ...เหมือนเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ลอยเคว้งคว้าง

เหมือนโลกนี่ มันลอยอยู่ในอวกาศ  อวกาศคือไม่มีอากาศ ไม่มีอะไร ... มันก็จะเห็นกายใจนี่ มันอยู่ท่ามกลางอวกาศของจิต  มันก็จะไม่เข้าไปหมายเอาอวกาศนี่เป็นจิต หรือไม่ไปหมายเอาความว่างนี่เป็นจิต 

ที่เขาบอกว่าจิตว่างๆๆ...ไม่ใช่ ... จิตไม่ว่าง ... จิตคือได้แต่รู้...เป็นรู้ คือรู้  จิตคือรู้  ใจคือรู้...ไม่ใช่ว่าง

อย่าทิ้งกาย ... ถึงแม้ว่าในระดับขั้นตอนนี้ มันเห็นกายไม่เป็นกายแล้ว มันเห็นกายเป็นของเกิด-ดับแล้ว มันเห็นกายเป็นแค่อาการนึงเท่านั้นแล้ว เห็นเป็นแค่เย็นร้อนอ่อนแข็ง ผัสสะนึง ไหวๆ นิ่งๆ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่อย่างนั้น ... จนเบาบางถึงขั้นเป็นแค่ผ้าม่านบางๆ ห่อหุ้มใจอยู่แค่นั้นเอง มันจะเห็นเป็นแค่นั้นเอง เห็นกายแบบจางๆ มันเห็นความเป็นกายแบบจางๆ

แต่อาศัยมันน่ะ เป็นเครื่องระลึกรู้ ท่ามกลางความมีความเป็น ความไม่มีความไม่เป็น หรือที่เป็นอารมณ์ หรือเป็นภพ  ภพน้อย ภพใหญ่ ภพกลาง ภพละเอียด ภพประณีต ภพไม่มี 

จนมันขาดจากสิ่งที่ล้อมรอบใจดวงนี้ทั้งหมด เข้าสู่ธรรมชาติเดิม ธรรมชาติที่แท้จริงของรู้

เมื่อขาดจากสิ่งล้อมรอบทั้งหมดแล้วนี่ ไม่ต้องกลัวหรอก  ภาวะใจจะเข้าสู่ภาวะใจตามความเป็นจริงของมันเองแหละ ...ไม่ต้องทำอะไรหรอก  ขอให้มันเข้าใจทุกอาการที่ล้อมรอบเท่านั้นเอง ใจก็คืนสู่ความเป็นวิมุติ...วิมุติจิตขึ้นมา

แต่ตราบใดที่มันยังสงสัย ลังเล ในภพใดภพหนึ่ง อาการสภาวะใดสภาวะหนึ่งนี่  ใจดวงนั้นจะไม่เข้าสู่วิมุติจิตวิมุติธรรม ...ก็ยังมีความเป็นสัตว์บุคคลอยู่ในตัวของมัน

เพราะนั้นว่าการเข้าไปทำลายใจ หรือว่าความเป็นฐานที่ตั้งของผู้รู้นี่...โดยแท้จริงน่ะ จะต้องทำความแจ้งโดยรอบก่อน  ทั้งส่วนที่มี ไม่มี จับต้องได้ จับต้องไม่ได้ จนถึงว่าทั้งหมดเลย

เมื่อมันแจ้งจนตลอดหมดแล้วนี่ สุดท้ายนี่มันก็หมด ...หมดที่สงสัย หมดคนสงสัย หมดผู้ที่จะเข้าไปสงสัย  ความเป็นสัตว์บุคคลในใจ มันก็หมดไปโดยปริยาย  

นี่ อาสวักขยญาณจะเกิดตรงนี้ ต่อเมื่อมันรู้แจ้งก่อน ... ถ้ามันยังไม่แจ้งนี่ มันก็ยังมีฐานะของผู้ที่ยังต้องรู้ต้องเห็น  เพราะมันยังจะต้องไปเห็นในสิ่งที่มันยังไม่เข้าใจ ยังไปหมายอยู่ ยังไปหมายในสิ่งที่ถูกรู้อยู่

เพราะนั้นในขั้นสุดท้ายของการที่เข้าไปหมายในสิ่งที่ถูกรู้อยู่...คืออรูปทั้งหมดเลย 

ถึงแม้มันจะละกาย ถึงแม้จะไม่ให้ความหมายมั่นในกายแล้วก็ตาม หรือว่าในขันธ์หยาบแล้วก็ตาม  แต่ก็ต้องอาศัยกายเป็นกรอบ อยู่อย่างงั้นน่ะ มันถึงจะทำความแจ้งได้โดยตลอด ...ไม่งั้นแจ้งไม่ตลอด มันจะไปตายตอนจบ ตายตอนจบ

แต่ตายตอนจบตอนนั้นน่ะ ก็ไปอยู่สุทธาวาส นี่เรียกว่าตายตอนจบ มันไม่ตายก่อนตาย ... พระอรหันต์นี่ ตายก่อนตาย ตายหลอกก่อนตายจริง  จิตน่ะตาย กายมันตายทีหลัง  นั่นตายก่อนตาย ... แต่ไอ้ตายตอนจบนี่ แบบ ปุ๊บ สุทธาวาส  ก็มัวแต่ไป เงอะ งุ่มๆๆ กับอะไรไม่รู้ ...นิดเดียว แค่พลิกจิตนิดเดียวนี่


อู้ย แต่พวกเรานี่ อย่าเพิ่ง ...เอาแค่อย่าลืม อย่าลืมเนื้อลืมตัวก่อน เอาแค่ไม่ลืมเนื้อลืมตัวก่อน ...  ความละเอียดในภพละเอียด มันจะเป็นตามลำดับลำดาเอง  

แต่เอาแค่ว่ารู้กายให้ต่อเนื่องก่อน...ไม่ขาดระยะ ... เหมือนสายน้ำ เหมือนลำธาร  ... ไม่ใช่เป็นหยดๆๆๆ แหมะๆๆ แค่นี้ ...เอาให้มันรู้เห็นกายต่อเนื่องไป เป็นกลางกับกายต่อเนื่องไป ไม่ขาดระยะ

ยืน-รู้ เดิน-รู้ นั่ง-รู้ นอน-รู้ ขยับ-รู้ นิ่ง-รู้ ไหว-รู้ เหยียด-รู้ คู้-รู้ เคลื่อน-รู้ ... อะไรก็ตามที่มันเป็นกายปัจจุบันน่ะ รู้มันลงไป ดูมันลงไป ...ดูแบบไม่มีเป้าหมาย ดูแบบไม่เอาอะไรกับมันน่ะ ดูแบบเฉยๆ ธรรมดา ... มันจึงจะเกิดความตั้งมั่นเป็นกลางอยู่กับปัจจุบัน  อยู่ในมรรค อยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา อยู่ในศีลสมาธิปัญญา

ไม่ต้องกลัวหรอกว่ามันจะไม่รู้แจ้งภายใน ไม่รู้แจ้งเห็นจริง  ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่เกิดความหลุดความพ้น  ไม่ต้องกลัวช้า ไม่ต้องกลัวเร็ว ไม่กลัวอะไรทั้งสิ้น ... อยู่ในนั้นน่ะ อยู่ด้วยความไม่คิด ไม่หา ไม่มี ไม่เป็นกับอะไร ... ให้มีแต่กายอันเดียวกับรู้อันหนึ่ง...อยู่คู่กันไป เต็มกำลังความสามารถ

ความรู้ปัจจัตตัง หรือความรู้จำเพาะกายจำเพาะจิตน่ะ มันก็จะเกิดขึ้นมา ...จากนั้นมันจะอยู่กับความเท่าทันๆ เท่าทันอาการทุกอาการ ... เท่าทันอะไร ...เท่าทันในการที่มันจะเข้าไปมี เท่าทันการที่มันจะเข้าไปเป็น เท่าทันการที่มันจะเข้าไปอยาก เข้าไปหา เข้าไปทำ ...มันจะเท่าทัน

เมื่อเท่าทันตรงไหน มันก็ละลงตรงนั้นเลย  ...มันละแบบไม่เสียดายเลย มันต้องละแบบไม่เสียดาย ไม่กลัวเสียของ  ละจริงๆ  ละเป็นสมุจเฉท ละเป็นประหารเลย ... คือไม่ละแบบเลี้ยงไว้ เผื่อไว้  ไม่มีอ่ะ ...ละแบบละจริงๆ  ในคิดก็ไม่คิด ไม่มาเยิ่นเย้อกับว่า เอ๊ จะอย่างนั้นมั้ย อย่างนี้มั้ย

ให้เหลือแต่กายกับใจ...สองอย่างล้วนๆ แค่นั้นน่ะ  จิตใจจะมั่นคงเด็ดเดี่ยวกล้าหาญขึ้นมาเอง เข้มแข็ง ไม่เป็นคนใจอ่อนแอ โลเล ลังเล ละล้าละลัง รักพี่เสียดายน้อง กลัวนั่นกังวลนี่ ...มันก็เด็ดเดี่ยวกล้าหาญลงไปในที่อันเดียว คือกายกับใจปัจจุบัน

จิตมันก็จะเกิดความเบาขึ้น บางขึ้น อิสระขึ้น ชัดเจนขึ้น ...ชัดเจนในอะไรเกิด อะไรดับ  ชัดเจนในสิ่งที่มันตั้งอยู่ แล้วก็ชัดเจนในที่สุดท้ายว่ามันดับไป ไม่มีอะไรไม่ดับ มันจะชัดเจนตรงนั้นมากขึ้น ... นี่ ปัญญามันจะเพิ่มมากขึ้นตามตัว คือเกิดความชัดเจนว่า...ไม่ว่าอะไรเกิด ทุกอย่างดับหมด ไม่ว่าจะมาก ไม่ว่าจะน้อย 

การเข้าไปเหนี่ยวรั้ง รักษา ในการเกิดขึ้น ในการตั้งอยู่ของอาการทั้งหลายทั้งปวงนี่ จะคลายลง จะน้อยลง ... ไม่ไปเอื้ออาทรอะไรกับมันมากจนเกิดความผูกพัน ยืดเยื้อ หวงแหน เสียดาย อาลัยอาวรณ์

จากนั้นไปมันก็จะสั้นๆๆ  รู้สั้นๆ เห็นสั้นๆ ไม่รู้เห็นอะไรยาวหรอก ไม่สนใจในสิ่งที่ยาว เห็นสั้นๆ ภายใน เรียกว่าเห็นสภาวะจิตเกิด-ดับ  เห็นสภาวะจิตเป็นไตรลักษณ์ เกิด-ดับๆ

มันไม่สนใจในสิ่งที่ได้เห็น ที่ได้ยิน ที่ได้ฟัง ที่สัมผัสสัมพันธ์อยู่ภายนอก ... มันสนใจอยู่ในที่เดียว มันจะเกิดดับมั้ย มีอะไรเกิด-ดับมั้ย มันจะไปเกิด-ดับกับอะไรมั้ย มันจะเข้าไปเกิดกับอะไรมั้ย มันจะทันอยู่ตรงนั้นทีเดียว

นี่เรียกว่าเป็นการชำระ ขัดเกลา กิเลสอาสวะ โมหะ อุปาทาน ตัณหาภายใน ...มันจะเห็นความดับไปท่ามกลางกายกับใจนั้นแหละ 

ใจมันก็จะเริ่มเป็นธรรมดา มีความรู้สึกธรรมดา ปกติ ยืนพื้นอยู่  ราบเรียบ...อยู่กับความราบเรียบ  เห็นภูเขาก็ราบเรียบ เห็นแผ่นดินก็ราบเรียบ เห็นคนผู้ชายก็ราบเรียบ เห็นคนผู้หญิงก็ราบเรียบ  เห็นคนสวยก็ราบเรียบ เห็นคนไม่สวยก็ราบเรียบ ...มันจะอยู่กับความราบเรียบเป็นฐาน ไม่กระโดกกระเดกแล้ว ไม่ค่อยกระโดกกระเดก

มันเอาจนเรียบน่ะ พอกระโดกกระเดกปั๊บ...ทัน เนี่ย สติทำงาน สมาธิทำงาน ปัญญาเข้าไปดู...เท่าทัน  พอทันแล้วดับ กระโดก...ดับ กระเดก...ดับ ... พอไวเข้าไปเรื่อยๆ มันก็ไม่กระโดก มันก็ไม่กระเดก มันมีแต่เกิดๆ ดับๆ

พอมันไม่ค่อยเกิดไม่ค่อยดับ มันก็ราบเรียบ ... คราวนี้หญิงมา หญิงก็หญิงดิ ชายก็ชายดิ ...สักแต่ว่า ไม่เกี่ยวกัน ...จิตไม่ออกมาให้ความหมาย ไม่ออกมาหมายมั่นด้วยอุปาทาน  มันก็แค่รับรู้รับทราบแล้วก็เปลี่ยน ทราบแล้วก็เปลี่ยน อยู่ตรงนั้นเลย ...นี่เขาเรียกว่า สักแต่ว่าเห็นไป

เอาจนจิตมันราบเรียบเสมอกันหมด ไม่มีอะไรทำให้ใจดวงนี้ขึ้นๆ ลงๆ ...เสมอด้วยความธรรมดา เสมออยู่ด้วยความเป็นธรรมดา  หรือเป็นธรรมชาติของใจ...ที่เป็นธรรมดา เป็นกลาง  จึงเรียกว่ากลางต่อสรรพสิ่ง กลางทุกสรรพสิ่ง  ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ใดๆ

ไอ้ตัวเงื่อนไขข้อแม้ใดๆ นั่นก็คือกระโดกกระเดก ... ได้มั่ง-ไม่ได้มั่ง ยอมมั่ง-ไม่ยอมมั่ง รับได้-รับไม่ได้มั่ง  มันกระโดกกระเดกขึ้นมา ด้วยความหมายมั่น ...มันก็กระโดกกระเดกขึ้นมาท่ามกลางกายกับใจนี่แหละ มันก็อยู่ข้างในนั่นแหละ มันกระโดกกระเดกอยู่ภายในนั่นแหละ

ดูมันไป อยู่กับมัน ดูมัน สังเกตมัน จนมันจำแนกแยกออกเป็นส่วนๆ ไป ... ดูไปดูมา รู้ไปรู้มา มันจะแยกออกเป็นส่วน เป็นชิ้นเป็นอันว่า ไม่รู้จะไปกระโดกกระเดกอะไรกับสิ่งที่ไม่มีชื่อไม่มีเสียงนี้ทำไม สิ่งที่ไม่มีความหมาย สิ่งที่ไม่เคยรู้ว่าตัวมันเองคืออะไร

จิตมันจะเรียนรู้อย่างนี้ มันจะเห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงอย่างนี้  มันก็จะคลายออกจากความเข้าไปมีเข้าไปเป็น

ใจก็รับรู้ในอาการราบเรียบขึ้นเรื่อยๆ เรื่อยๆ  เป็นธรรมดามากขึ้นเรื่อยๆ  ความตื่นเต้น ดีใจ เสียใจ มันจะด้านลงไป จืดลงไป ...คือเป็นธรรมดามากขึ้น ก็จะจืดไป  ไม่ได้ซ่าเหมือนกับโซดา ที่ฟูฟ่องออกมาแล้ว

สติทำความรู้ให้ต่อเนื่องไป ทุกอิริยาบถไป ... สติในอิริยาบถปกตินี่สำคัญ  ถ้าใครฝึกได้ ใครเจริญสติในอิริยาบถปกติได้นี่ คนนั้นน่ะเก่ง ...สติในท่านั่งสมาธิ สติในท่าเดินจงกรมในที่จำกัดไว้นี่ มันก็ยังพอทำได้  แต่ว่าใครไปเจริญหรือว่าสร้างสติปัฏฐานในอิริยาบถปกติ นั่นแหละสุดยอดของสติ

เพราะนั้นไอ้ที่บอกที่สอน ที่ดูเหมือนง่ายนี่  เราบอกให้เลยว่ายากมาก ในการทำความต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน

ไอ้ใครว่าแน่ใครว่าเก่งนี่ ภาวนาเก่งๆ นั่งสมาธิได้เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง  ให้มันมารู้ตัวทั้งวันนี่ ถามดู มีใครทำได้  ...ถ้าไม่ฝึกไม่เจริญมา ไม่มีทางเลย  มันจะต้องหนีทันทีเลย 

เพราะไอ้แบบนั่งนานๆ นั้นมันจะต้องหนีจากโลกก่อน มันจะต้องหนีจากงานก่อน มันจะต้องหนีจากผู้คนแล้วต้องมาอยู่คนเดียวก่อน เห็นมั้ย มันเก่งไม่จริง เก่งแบบหลอกๆ

ถึงเห็นพระกัมมัฏฐานตบะแตกอยู่เรื่อยน่ะ  มันทานไม่ไหวน่ะ  มันเก่งในป่าน่ะ มันเก่งคนเดียว แล้วมันเก่งไม่ตลอดด้วย

เพราะนั้นว่าฝึกได้ทำได้ ขอให้ตั้งใจฝึกสติขึ้นมา...ในอิริยาบถ


โยม –  ที่มันชอบตื่นเต้น เห็นดอกไม้ว่าสวยอย่างนี้น่ะค่ะ มันไม่ราบเรียบอย่างนี้ เป็นเพราะสติอ่อนหรือคะ

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  อะไรนิดก็ตื่นเต้น อะไรหน่อยก็ตื่นเต้น ตะกี้ท่านบอกว่าถ้าจิตที่ฝึกไว้ดีแล้วจะราบเรียบใช่ไหมฮะ เป็นธรรมดาหมด เป็นทางสายกลาง

พระอาจารย์ –  อื้อ ตื่นเต้นก็รู้ว่าตื่นเต้น  แก้ไม่ได้ ไม่ต้องแก้ ... ให้รู้ทันบ่อยๆ  อย่าไปเดือดร้อนกับมัน แล้วความตื่นเต้นก็จะมีลิมิทของมัน ในขั้นที่เรียกว่าดาวน์เทรนด์ ไม่ใช่อัพเทรนด์ จากที่เคยตื่นเต้นมากมันก็จะค่อยๆ ซาลง

ขอให้รู้ว่ามันเกิดอะไรอยู่ตรงนั้น เป็นธรรมชาติของมัน  รู้ทันบ่อยๆ  ดูมัน แล้วไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องแก้ ...แล้วมันจะเกิดความจางคลาย ด้วยความเท่าทันไปเอง


โยม –  แล้วท่านบอกว่าพลิกจิตนิดเดียว นี่มันยังไงคะ พลิกจิตนิดเดียวนี่

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องถามแล้ว อันนั้นเป็นเรื่องของพระอนาคามี กับเรื่องของพระอรหันต์


โยม –  ท่านก็บอกเป็นทฤษฎี

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องบอก ไปรู้เอาเอง ...ไม่งั้นมันจะรู้จำ  มันจะจดจำ...แล้วก็จะไปเพ้อเจ้อในความจำ ...ไม่มีประโยชน์

ถ้าจะเพ้อ...ให้เพ้อกับความจริง ให้มันคลอเคลียอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน มากที่สุด ... อะไรที่เกินนี้ ไม่เอาเลย  ไม่ว่าจะเป็นสภาวธรรมล่วงหน้า สภาวธรรมที่ยังมาไม่ถึง สภาวะจิตที่ล่วงหน้า สภาวะจิตที่ยังไม่เคยเป็นไป 

ไม่ต้องไปล่วงหน้า ...ให้มันคลอเคลียอยู่กับปัจจุบัน นี่เรียกว่าสติ สมาธิ ปัญญา ... เจริญไว้ รักษาไว้ มันจึงจะเกิดความรู้แจ้งกับปัจจุบัน รู้จริงกับปัจจุบัน


โยม (อีกคน) –  อย่างนี้คนที่มีกำลังพอจะเข้าอรูปได้ พระอาจารย์ก็ไม่แนะนำเลย

พระอาจารย์ –  ไม่ ไม่เอา ... บอกแล้วไงเรื่องพวกนี้ ถ้าพูดแล้วคนจะไปตีความผิดหมดน่ะ แล้วมันจะไปยึดว่าเราบอกให้ดูอย่างนั้นดูอย่างนี้

จริงๆ เราบอกว่าอย่าลืมกาย อย่าทิ้งกาย อย่าเสียดายอาลัยอาวรณ์กับสภาวะ อย่าคิดว่าต้องทะลุในสภาวะนั้นแล้วมันถึงจะแจ้ง ...มันทะลุไม่ได้หรอก ติดหมดแหละ

ให้อยู่ที่รู้ อยู่กับรู้ๆ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ ...กายนี่เป็นเครื่องระลึกรู้ที่ชัดเจนที่สุด ...ถึงว่า อย่าทิ้งกาย


(ต่อแทร็ก 5/11)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น