วันเสาร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/9






พระอาจารย์

5/9 (540715A)

15 กรกฎาคม 2554




โยม –  มันทำได้มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  คือทำได้ แต่ว่ามันเป็นอุบาย  มันเป็นอุบายที่ให้เกิดความตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบันของกาย คือแม้แต่คิดก็คิดอยู่ในแวดวงของกาย ... เป็นแค่อุบายนะ มันยังละไม่ได้หรอก ไม่ใช่ละได้เพราะเห็นอย่างนั้นนะ


โยม –  ที่เราหยั่งนี้ไม่เห็นหรือ

พระอาจารย์ –  ไม่เห็นน่ะ ...ในความหมายของเรา  การพิจารณาจริงๆ นี่ อย่างที่เราบอก  การพิจารณากายคือดูความรู้สึกตั้งแต่หัวจรดตีน แค่นี้ เราเรียกว่าเป็นการพิจารณากาย ...ให้เอาสติลงมา ไซ้ลงมาในกายปัจจุบัน  ไม่ได้ไปสร้างนิมิตขึ้นมาใหม่

เพราะนั้นว่าลักษณะที่เลาะหนัง, เนื้อ ออก เหลือแต่กระดูก ผ่ากะโหลกออกเห็นสมอง อะไรพวกนี้ เป็นนิมิต ไม่ใช่กายตามความเป็นจริง แต่เป็นกายในนิมิตที่เราสร้างขึ้น...จำมา 

เราไม่เรียกว่ากายตามความเป็นจริง ...แต่ว่าในภาษา ในอุบายการปฏิบัติ เขาจะบอกว่ามันมีความเป็นจริงส่วนนี้อยู่ ในอันข้างหน้า ...แต่มันเป็นกายอนาคต

เรื่องพวกนี้ มันเป็นเรื่องถกเถียงกันไม่จบ ว่ายังไงถึงเรียกว่าเกิดปัญญา ... แล้วก็บอกว่าถ้าไม่เห็นอย่างนี้แล้วมันไม่เกิดปัญญา จะละกายไม่ได้


โยม –  แรกๆ เจ็ดวันแรกที่โยมไปพิจารณา มันเหมือนกับเห็นอย่างนั้น  แต่มันเห็นไม่ได้หมดทั้งตัว แต่คิดว่ามันคงเป็นจากความคิดไม่ได้เหมือนกับเห็นจริงๆ

พระอาจารย์ –  ต่อให้ว่าเห็นตามความเป็นจริงที่มันสร้างรูปขึ้นมาในหัวคิดก็ตาม...ก็ยังไม่จริง  ก็ยังไม่ใช่กายตามความเป็นจริง แต่เรียกว่าเป็นแค่ปฏิภาคนิมิต


โยม –  แต่ถ้าเขาพิจารณาเองไปเลยจนว่าถึงที่สุดขึ้นมา แล้วก็พิจารณาได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องไปบังคับให้มันเป็นในลักษณะนั้น

พระอาจารย์ –  ใช่ ไม่ต้อง ... ก็เห็นความดับไปของมัน  ...อย่าไปอยาก อย่าไปเสียดาย  เห็นมั้ยว่ามันมีความอยาก มันมีความเสียดาย...เมื่อภาพนั้น นิมิตนั้นดับไป เห็นมั้ย


โยม –  โยมมีความรู้สึกว่า ถ้าตัวเองไม่ได้พิจารณาแบบนั้น จะไม่ถูกต้อง

พระอาจารย์ –  รู้สึกว่าจะไม่ได้อะไร ...เห็นมั้ย มันมีความอยากมั้ย ดูซิ มันมีความติดข้องมั้ย


โยม –  แล้วการพิจารณาที่เกิดขึ้นเอง ...อย่างเมื่อเช้านี้ค่ะ ตอนนั่งสมาธิแล้วคิดว่าเป็นที่เราเห็นเลยจริงๆ คือโยมพิจารณาจากอานาปานสติ ลมหายใจ  แล้วขณะนึงก็เห็นอาการไหวของการเห็นถุงลมโป่งพอง มันเป็นสม่ำเสมอนะคะในภาพที่โยมเห็น ... แต่โยมเป็นผู้ดู จนกระทั่งเห็นมันดับไป ก็ยังไปพิจารณาต่อ เมื่อเราล้มตัวลงนอน มันก็ยังต่อเนื่อง อันนี้คืออะไรคะ

พระอาจารย์ –  ภาวะอย่างนี้ เขาเรียกว่ารูป เห็นรูปกับนาม เห็นรูปในนาม เห็นนามไปประกอบกับรูป แล้วมันภาพตรงกัน


โยม –  ไม่มีอะไร

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไร ... แต่คราวนี้ว่า พอนามดับ ก็จะเหลือรูปตามความเป็นจริงที่ไม่มีนามประกอบ  ก็เป็นความรู้สึกล้วนๆ เหลือแต่ความรู้สึกล้วนๆ เบาๆ พะเยิบๆๆ  แต่จะไม่มีภาพเป็นถุงลม ...ไม่มีภาพมาประกอบ เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นไอ้ตัวภาพนั่นน่ะคือนาม เรียกว่าเป็นผลข้างเคียงจากการปฏิบัติด้วยสมถะ  มันจึงจะเกิดนิมิตพวกนี้ขึ้นมาซ้อน ... เพราะนั้นว่าตัวนิมิตนี่ มันแปรปรวน  มันพร้อมที่จะเป็นยังไงก็ได้ จะให้ละเอียดกว่านี้ก็ได้ จะให้เป็นแก้วเลยก็ได้ ...ถ้าดูไปดูมานะ จะเห็นถุงลมนี่ หรือหนัง หรือเนื้อนี่ เป็นเหมือนแก้วเลย ใสเลย


โยม –  แต่ขณะนั้นอยากทราบว่า เราจะพิจารณายังไงคะ

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องพิจารณา ดูไปเฉยๆ ... ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ เป็นกลาง  การพิจารณาจริงๆ คือต้องอยู่ในฐานของความเป็นกลาง ทำใจเป็นกลาง ... แล้วเห็นมั้ยว่ามันเปลี่ยน เห็นมั้ยว่ามันหายไปแล้ว เห็นความดับไปเองของมันมั้ย

นั่นแหละ เมื่อใดที่เราเห็นในลักษณะที่รู้เป็นกลาง เห็นเป็นกลาง แล้วไม่เข้าไปข้องเกี่ยวกับมัน  แล้วมันแสดงความเป็นจริงของมันในตัวของมันเอง เช่นมันหายไป หรือจบแค่นั้น หรือว่าละเอียดขึ้น หรืออะไรก็ตามที่มันเป็นของมันเองนะ ... แล้วสุดท้ายเห็นความว่า มันหายไปแล้ว


โยม –  พิจารณาเป็นไตรลักษณ์

พระอาจารย์ –  เนี่ยแหละ มันจะเห็นไตรลักษณ์ของทุกสิ่ง  แล้วก็ดู...จากนี้ไปก็ดูต่อว่า อยากมั้ย จะเข้าไปทำใหม่ดีมั้ย  แล้วก็ให้ทัน...ละเลย ละความอยากนั้น ความอยากมี ความอยากเป็น อยากเห็นเหมือนเดิม อยากทำให้มันยิ่งกว่าเดิม

ต้องกล้าละ ...ถ้าไม่กล้าละก็แปลว่าติด ติดความเห็นใดความเห็นหนึ่ง เช่นว่า เชื่อในความเห็นว่า “ต้องเห็นอย่างนี้เท่านั้นจึงจะเกิดปัญญา”  มันจะไม่ยอมละเลย มันจะไม่ยอมละความอยากดี หรือความอยากได้ในธรรม ... แต่เราบอกเลยว่า นี่คือความอยากมี อยากได้ ...แม้จะเป็นธรรม

ในช่วงอย่างนี้ โยมต้องตัดสินใจเอาเอง...จะละหรือจะเอา ... เอา...เอาเลย  ละ...ละเลย นี่ สองอย่างนะ  ถ้าเอา...เอาเลย  ถ้าละ...ละเลย ...มันสำคัญว่าเอาๆ ละๆ นี่สิ  เดี๋ยวเอา เดี๋ยวไม่เอา  เดี๋ยวเอา เดี๋ยวไม่เอา ... มันเอาไม่จริง พร้อมกันมันก็ละไม่จริงด้วย

ธรรมไม่ใช่ทำไปเรื่อย บอกแล้วธรรมะ ไม่ใช่ทำไปเรื่อย ... จะเอาก็เอา...ไม่ว่ากัน  จะละ...ละเลย ไม่ต้องมาอิดมาออด ไม่ต้องมาเสียดาย ... ถ้ามันจะโง่ ถ้ามันจะไม่ได้มรรคผลนิพพานเพราะไม่ทำอะไรเลย กล้ามั้ย


โยม –  แสดงว่าของโยมนี่...ต้องยังไงคะ พระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่รู้...ไม่บอก  ถามว่า ...โยมกล้ามั้ย ให้แก้ผ้านี่ แก้ผ้าได้มั้ยตอนนี้ กล้ามั้ย


โยม –  (หัวเราะ) ไม่กล้า

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย  ถ้ากล้าแก้ผ้าได้ก็คือนั่นแหละ คือละให้หมด ...ใจมันไม่มีอะไรห่อหุ้มอยู่แล้ว ไม่มี accessories น่ะ ...กล้ามั้ยล่ะ

เห็นมั้ย ความรู้สึกของโยมนี่เหมือนกับใจของโยม ที่โยมไม่ยอมละ โยมยังห่วงหาอาวรณ์กับมันอยู่ โยมยังกลัวตกเทรนด์อยู่ กลัวไม่มีแฟชั่น ...เขาบอกว่าต้องยีนส์เท่านั้นน่ะถึงจะอินเทรนด์ เกิดมามันมียีนส์รึเปล่า เกิดมามันมีเสื้อผ้ามั้ยล่ะ  

เอาง่ายๆ ใจมันไม่มีอะไรนอกเหนือจากรู้น่ะ ...ถึงบอกว่าถ้าเถียงกันน่ะ เถียงกันจนตาย  เพราะนั้นถ้าจะทำ...ทำเลย  ถ้าจะละ...ละเลย ... แต่สำคัญมันทำไม่จริง บอกให้เลย  หายาก คนทำจริงน่ะ ... จริงแล้วยังไม่รู้ใช่รึเปล่าด้วย  

แต่พวกเราเชื่อนะ เรามีความเชื่อไว้แล้วนะ ...มันเหมือนมีอะไรเสียดแทงอยู่  ถอนไม่ออก ไม่กล้าถอน ไม่กล้าลบหลู่ ไม่กล้าทิ้งธรรม ... อินเทรนด์ กลัวตกเทรนด์ 

มันละไม่ขาด มันละไม่จริง  มันคิดว่าถ้าทำอย่างนั้นต่างหากถึงจะได้ละจริง ต้องเห็นอย่างนั้นต่างหากถึงจะเรียกว่าละได้จริง ...มันก็ยังไม่ทิ้งความเห็นนี้ เพราะมันสร้างความเชื่อไว้ ...พวกนี้มันจะขัดแย้งอย่างนี้

ทำเอา ดูเอา ...แล้วมันจะประเมินว่า 'กูนี่เฮ้ย เฮฟวี่เวทแท้' ... ไม่ใช่กูนี่ฟลายเวทแต่ริอ่านจะไปขึ้นชกกับเฮฟวี่เวท ... มันประเมินได้ มันจะรู้  มันจะรู้ด้วยตัวของมันเอง ... อย่าดันทุรัง อย่าดันด้วยความด้าน ดื้อ  จิตน่ะ ...ด้วยความเชื่อเท่านั้น ไม่พอนะ หนีความเป็นจริงไม่ได้หรอก

เราเคยเล่าให้ฟังรึเปล่า มีโยมบางคนมาน่ะ ไม่เคยนั่งสมาธิ ไม่เคยปฏิบัติธรรมมาเลย ... มานั่งสมาธิครั้งแรก นั่งหลับตา แล้วกำหนดลมหายใจไปนี่ เห็นตัวเองเป็นกระดูกทั้งตัวเลย  นี่ ครั้งแรกนะ ...อันนี้เห็นเองเลย ไม่ได้สอนไม่ได้สั่งให้คิดเลยนะนั่น มันเห็นน่ะ 

แต่เขาก็ไม่ได้ตกใจ ...เสร็จแล้วเขาก็เลิกนั่ง ออกจากที่นั่ง  คราวนี้ว่าออกจากที่นั่งแล้วนี่ มันยังเห็นต่ออยู่ มันก็ยังเห็นอยู่  ...ไม่ได้อยากเห็นนะนั่นน่ะ มันก็ยังเห็นอยู่อย่างนั้น ว่านี่กระดูกเดิน ...มันชัดอยู่อย่างนั้นน่ะ

อีกสักวันสองวัน  คราวนี้มันไม่ได้เห็นแต่กระดูกตัวเองแล้ว ใครมานั่งใกล้ๆ ใครผ่านไปผ่านมา มันเห็นเป็นกระดูกไปหมดน่ะ  เห็นคนเป็นกระดูกยังไม่พอ เห็นหมายังเป็นกระดูกอีก เอ้า นี่ มันเห็นเองน่ะ จะทำยังไง  

มาหาเรา เราก็บอก ดูไปเลย อยากดูกระดูก ดูไปเลย  เห็นก็เห็น ดูเข้าไป ดูไปถึงกระดูกนั่นแหละ ... แต่คราวนี้เราก็บอกว่าอย่าไปดูกระดูกคนอื่น ดูกระดูกตัวเองมากๆ ดูลงไปเลยที่กระดูก มันเห็นเป็นกระดูก ก็ดูที่กระดูกนั่นแหละ

เราบอกว่าดูไปจนกว่ากระดูกมันจะเป็นแก้ว แค่นั้นน่ะ พูดยังไม่ทันขาดคำ เขาบอก 'หนูเห็นกระดูกเป็นแก้วแล้วค่ะ'  เห็นมั้ย เรื่องของสมถะนี่ เรื่องของการเคยทำเคยมีมาก่อน มันเลือกไม่ได้จริงๆ ...ไอ้อย่างนี้มันเลือกไม่ได้จริงๆ  จะบอกว่าให้ทิ้งกระดูกแล้วมาเจริญสติโดยตรง รู้กายแค่ความรู้สึกนี่ มันไม่ไปแล้ว

เราบอกว่าดูจนกว่าเป็นแก้ว แล้วดูไปจนกว่าแก้วมันจะแตก  จนดูไม่เห็นทั้งแก้ว กระดูก จนเห็นว่ามันมีแต่แตกๆๆ ... อันนี้ก็อยู่ที่ความเพียรแล้วล่ะ ได้-ไม่ได้ก็ว่ากันไปเอง

แต่ว่าถึงที่สุดของมันแล้วนี่ นิมิตนั้นๆ น่ะอยู่ไม่ได้  ความเป็นจริงนั้นๆ ที่เป็นนิมิต หรือว่าความปรุง หรือว่าจินตา หรือว่าสมถะกรรมฐานน่ะ ...มันมีที่สุดของกรรมฐานนั้นๆ อยู่ คือความดับไป

แต่เมื่อความดับไปของนิมิตของสมถะ หรือว่าของวิปัสสนากรรมฐานนี่ มันจะเห็นรูปนิมิตนั้นดับ แล้วมันก็จะแสดงรูปนิมิตดับในลักษณะอาการสลาย ...นั่นเรียกว่าถึงที่สุดของสมถะ นี่คือที่สุดของสมถะ นี่คือที่สุดของวิปัสสนากรรมฐาน คือเห็นตัวกรรมฐานนั้นน่ะเป็นไตรลักษณ์


โยม –  คือเขาพิจารณาตัวนี้มาตั้งแต่...คือสะสมมาแต่อดีตชาติ แล้วมาปัจจุบันนี้เขาก็มาเจอ ก็ลงไปทั้งหมดเลยใช่มั้ยค่ะ

พระอาจารย์ –  ใช่ มันจะเหมือนกับสะสมๆ ความแน่น ความแข็งแกร่งของสมถะ วิปัสสนา นี่  จนเต็มที่เต็มฐาน มันจะไปที่สุดถึงว่า ยกรูปนามขึ้นมาตรงไหน...ดับหมด

จากนั้นไปนี่...อะไรนี่ ดับหมด เสียงมากระทบปั๊บ...ดับ รูปมากระทบตา เห็นปั๊บ...ดับ เนี่ย ที่สุดของกรรมฐาน

ลองถามดู ถามตัวเองดู มันมีนิสัยมั้ย หรือว่าแค่ความเชื่อ  ทำ...ก็ได้ แต่เราจะตอบให้ว่า เอาชาติไหนดี  ...อย่างครูบาอาจารย์ท่านน่ะได้  แต่ไอ้อย่างพวกเรานี่ บอกให้...เด่ะๆ ยังไม่แน่จริง

แต่มันไม่ได้หมายความว่ามันผิด หรือไม่สามารถ ...ถ้าทุกคนทำไม่ได้อย่างนี้ หรือว่าเป็นหนึ่งในล้าน หนึ่งในร้อยแล้วการปฏิบัติจะไม่เกิดมรรคผลนิพพานได้เลยสำหรับคนทั่วไป...ก็ไม่ใช่

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่มาพูดเรื่องสติปัฏฐานหรอก ท่านไม่มาพูดบอกว่าสติปัฏฐานสี่ สติในอิริยาบถสี่ สติในกาย สติในบริบทของกาย  คือรู้กายไปตรงๆ นั่งรู้ว่านั่ง ยืน-รู้ เดิน-รู้ ขยับ-รู้ นิ่ง-รู้ ไหว-รู้ กลืนน้ำ-รู้ กังวล-รู้ เย็น-รู้ อ่อน-รู้ เวทนาเกิดขึ้นทางกาย-รู้ๆๆ ...นี่ สติ

คิด-รู้ ฟุ้งซ่าน-รู้ กุศลเกิด-รู้ อกุศลเกิด-รู้ อัพยากฤตเกิด-รู้ จิตหมอง-รู้ จิตขุ่น-รู้ จิตผ่องใส-รู้ จิตหดหู่-รู้ จิตกว้าง-รู้ จิตแคบ-รู้ จิตละเอียด-รู้ จิตหยาบ-รู้ ...คือบอกให้รู้อย่างเดียว นี่คือสติปัฏฐาน...ในสี่ฐาน  ท่านบอกไม่ต้องทำอะไร แค่ระลึกรู้กับสิ่งที่ปรากฏในสี่ฐาน กาย เวทนา จิต ธรรม

นี่ท่านก็บอกว่าเป็นมรรค ... กลัวคนไม่เชื่อ ท่านเลยยืนยันซ้ำลงไป...เจ็ดวัน เจ็ดเดือน เจ็ดปี เท่านั้นแหละ...เห็นผล 

ไอ้แบบโง่สุดๆ เลยน่ะ ไม่มีบารมีอะไรกับใครเลยน่ะ สงบซักนิดนึงก็ไม่มี ไม่รู้จักแม้แต่คำว่าขณิกะ ไม่ต้องพูดถึงอัปปนา ไม่ต้องพูดถึงอุปจารสมาธิ ไม่ต้องพูดถึงฌานสามสี่ห้าหกเจ็ดแปด ไอ้นี่โง่สุดๆ ไม่เคยทำอะไรมาเลย ท่านบอกเอาเลย...เจ็ดปี...ไม่เกิน ท่านยืนยันถึงขนาดนี้

แต่มันไม่เชื่อ ...พวกศาสดาหัวแหลม  คิดอะไรแปล๊บ ไปเลย  มันเป็นศาสดาในตัวเองน่ะถึงว่า “อย่างนั้นดีกว่า ไอ้อย่างนี้ดีกว่า ตรงกว่า  ไอ้อย่างนั้นเป็นธรรม ไอ้อย่างนี้ถึงจะได้ธรรม” ... ศาสดาหัวแหลมบังเกิดเลย

เพราะนั้น ถ้าจะทำประกอบกันก็ต้องเข้าใจ ... เมื่อใดที่เห็น เมื่อใดที่ทำ ก็รู้ว่าทำ  เมื่อใดที่ใช้จินตามยปัญญาเข้าไปแยบคายในขันธ์ ในแง่ใดแง่หนึ่ง ทั้งอสุภะ ธาตุ ปฏิกูล ทุกอย่าง ...ก็ให้รู้ว่าทำและกำลังทำ ... ได้ผลอย่างไรช่างหัวมัน  ได้ก็ดี เห็นก็ดี ไม่เห็นก็ดี เท่าตามกำลัง

แต่เมื่อหยุดทำ การภาวนาอย่าหยุด ... เจริญสติต่อ รู้ตัวต่อ  ถึงไม่รู้ด้วยความคิดหรือไม่มาพิจารณากาย หรือไม่มาพิจารณาในแง่ของกระดูกกระเดี้ยวอสุภะต่อเนื่องก็ตาม ...แต่อย่าทิ้งการรู้ตัว  ให้กลับมารู้ว่ายืนเดินนั่งนอน กำลังทำอะไรอยู่ ...ถ้าอย่างนี้ถือว่าประกอบกัน

แล้วมันจะไปถึงบทหนึ่ง จุดหนึ่ง ... มันจะสรุปในตัวของมันเองว่า 'กูไม่เอาอีกแล้ว ไม่เอาแล้ว ไม่ทำแล้ว ไปไม่รอดแน่'  นี่...มันรู้เอง  

แต่ถ้ายังทำแบบดันทุรังทำ ด้วยความเชื่อ ความคาดคะเน ความหวัง ความเดา คิดเอาเองว่า เป็นตัวซัพพอร์ทเอง ...จะไม่ไหว มันจะไม่ไหว

อย่าทิ้งเวลาให้มันล่วงเลย ...อยู่กับเนื้อกับตัวไว้ ไม่ขาดระยะ  คราวนี้ไม่ได้เห็นแค่กระดูก มันไม่ได้เห็นแค่เนื้อแค่หนัง มันไม่ได้เห็นแค่กาย  แต่มันเข้าไปเห็นกายในกาย เห็นกายที่ไม่ใช่กาย

เห็นสิ่งที่อยู่ในกาย คือเห็นความไม่มีกายในกาย ...ไม่ใช่เห็นแค่กาย แต่มันจะเข้าไปเห็นถึงความไม่มีในกาย เห็นความไม่มีกายในกาย เรียกว่าเห็นกายในกาย

ถึงตรงนั้นแล้วไม่เถียงกับใครแล้ว ...ไม่มีอะไรถูกไม่มีอะไรผิดแล้ว  ไม่มีอะไรเป็นธรรม ไม่มีอะไรไม่เป็นธรรม  ไม่มีอสุภะ ไม่มีทั้งสุภะ ... ไม่ใช่แค่มีสุภะกลายเป็นอสุภะนะ ไม่มีกระทั่งอสุภะและสุภะ  เพราะอสุภะก็คืออสุภสัญญา สุภะก็คือสุภสัญญา

เช่นสมมุติว่าโยมเกิดมานี่ แล้วถูกจับไปทิ้งไว้ในป่า ไม่ให้ออกมาเจอสัตว์โลกใดๆ เลย ไม่ให้เรียนรู้ภาษามนุษย์เลย ...มันจะแยกไม่ออกหรอก ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดีในซากศพนี้ เข้าใจมั้ย  ถ้าออกมาปุ๊บแล้วมาเจอ 'อะไรวะนี่' มันจะนึกไม่ออกเลยว่ามันเรียกว่าอะไร เห็นมั้ย

แต่เพราะเรานี่ เกิดมา เราถูกยัดเมมโมรี่เติมลงมา...ด้วยภาษา ด้วยบัญญัติ ด้วยความเห็นรอบข้าง  มันจึงจำได้ว่านี่เรียกว่าไม่สวย ไอ้นี่เรียกว่าสวย ...เห็นมั้ย มันเป็นสัญญา  จริงๆ แล้วมันเป็นสัญญา  สุภะก็สัญญา อสุภะก็สัญญา  ความเป็นสัตว์ ความเป็นชาย ความเป็นหญิง พวกนี้สัญญาหมด

แต่เราเข้าใจว่าสัญญานี้เป็นจริง เราเข้าใจว่ากายนี้เป็นศพจริงตามสัญญา แล้วก็พยายามจะให้เห็นกายที่เราเห็นตรงนี้ ให้มันเป็นศพตามสัญญา แค่นั้นเองนะ ... มันเป็นการเปลี่ยนจากสุภสัญญามาเป็นอสุภสัญญา

เพราะนั้นเมื่อเป็นสุภสัญญา มันจะเกิดราคะ ... เมื่อเป็นอสุภสัญญา มันจะเกิดโทสะ หรือความยินร้าย  สลด สังเวช น่าเบื่อ พวกนี้เป็นปฏิฆะนะ คือความยินร้าย ... แต่ถ้าว่าสวยเมื่อไหร่ปุ๊บ มันจะเกิดความยินดีพอใจ คือเป็นราคะ 

เห็นมั้ย ไม่ว่าจะเป็นราคะ เป็นสุภะ หรืออสุภะ มันจะมีตะกอนตกค้างทั้งสองฝ่าย ...พระพุทธเจ้าบอก กลางเข้าไว้ อยู่ท่ามกลาง ...สวยก็ไม่ว่า ไม่สวยก็ไม่ว่า รู้เฉยๆ  ยินดีก็ไม่ไป ยินร้ายก็ไม่เอา ... รู้เฉยๆ เป็นกลาง นี่เรียกว่าสติปัฏฐาน ...กลางต่อทุกสิ่งที่ปรากฏ

แค่รู้ ...แล้วมันจะเห็นตามความเป็นจริง ของกาย ของนามทั้งหมด ว่าเขาไม่เคยบอกเลย ไม่มีชื่อ ไม่รู้ว่าเป็นกระดูก ไม่รู้ว่าเป็นศพ ไม่รู้ว่าเน่า ไม่รู้ว่าไม่เน่า ...มันเป็นแค่อะไรๆ ที่ปรากฏอยู่ ไม่รู้จะเรียกอะไร เพราะมันไม่เคยบอกว่ามันเป็นอะไร ... นี่ ยังไงๆ ต้องมาเห็นความเป็นจริงสุดท้าย คืออันนี้

เพราะนั้นต่อให้ดูเป็นอสุภะขนาดไหน เรียกว่าเดินมานี่ไม่มีเนื้อหนังติดอยู่เลยก็ตาม สุดท้ายอสุภะนี่ต้องดับ ยังไงก็ต้องดับ ...เพราะมันไม่จริง เข้าใจมั้ย  เพราะมันไม่ใช่ความเป็นจริง ...ไม่ใช่โดยสัจจะ ไม่ใช่เป็นปรมัตถสัจจะ มันก็เป็นแค่สมมุติสัจจะ

ศีลสมาธิปัญญานี่เป็นเรื่องของสมมุติสัจจะหมด ... แต่เมื่อศีลสมาธิปัญญาสงเคราะห์ปัญญาเข้าไปถึงปรมัตถสัจจะปุ๊บ...หมด ไม่เหลือเลย  ไม่มีคำพูด ไม่รู้จะเรียกอะไร ...อะไรก็ผุดโผล่ออกมาไม่ได้เลยตรงนั้น เป็นอะไรเปล่าๆ มันเป็นอะไรเปล่าๆ

กายก็เป็นแค่อะไรเปล่าๆ สักแต่กาย  รูปก็เป็นสักแต่เห็น มันเห็นรูปเปล่าๆ  เนี่ย มันเห็นเข้าไปถึงรูปเปล่าๆ กับกายเปล่าๆ ...ไอ้ตัวเปล่าๆ น่ะ คืออะไร คือกายในกาย คือจิตในจิต คือธรรมในธรรม คือเวทนาในเวทนา
 
ไอ้เปล่าๆ น่ะก็คือความไม่มีไม่เป็น ก็เรียกว่าความเป็นอนัตตา คือเป็นอนัตตลักขณะธรรม เป็นธรรมอันหนึ่ง เป็นธรรมที่เหนือจากธรรมที่มีและเป็น เห็นมั้ย แต่มันอยู่ในธรรมที่มีและเป็น เรียกว่าอนัตตลักขณะธรรม อนัตตธรรม  

ตรงนี้จึงจะเรียกว่า จิต-ธรรม เป็นอันเดียวกัน ไม่เป็นสอง ... ไม่เป็นสองแล้วเป็นอะไร...เป็นสูญน่ะสิ เป็นสุญโญ เป็นอนันตมหาสุญญตา

ดูไป ดูจนไม่ทำน่ะ ... แต่ถ้าทำแล้วมันไม่ค่อยดู มันไม่ดูคนทำ มันจะดูแต่สิ่งที่ทำ ... แต่มันไม่กลับมาดูถึงคนที่ทำ...ว่าใครทำ 

พยายามน้อมกลับเข้ามาถึงใจบ่อยๆ ...ใครเป็นคนอยากทำ ใครเป็นคนอยากได้  มันเริ่มมาจากตรงไหน อยากเห็นกระดูก อยากเห็นเป็นศพ ...ใครเป็นคนอยาก

ดูมันลงไป น้อมกลับเข้ามา ...ไม่ใช่อยู่ดีๆ มันจะอยากขึ้นมาได้  มันต้องมีคนอยาก ... ถึงว่าโอปนยิโก น้อมกลับเข้ามาถึงว่า ใครล่ะ มันอยู่ตรงไหน  

เมื่อกลับมาถึงว่าใครอยาก ใครเห็น ใครทำน่ะ ...บ่อยๆ  แล้วไอ้ความอยาก ความคิดจะทำนี่ มันจะจางลง  เมื่อมันน้อมกลับเข้ามานี่ เมื่อมันไม่ไปทำ ไม่ไปแทรกแซง ไม่เข้าไปประกอบด้วยเจตนา 

การเข้าไปโดยเจตนานี่ หนึ่ง- กุศล  สอง- อกุศล สาม- อัพยากฤต  ถ้ามีการเข้าไปแทรกแซง มันจะมีในสามลักษณะ กุศล อกุศล หรือกลางๆ ไม่หวังผล ... นี่ เนื่องด้วยสังขารหรือว่าความเจตนาของเรา มันจะออกมาในสามลักษณะอาการ ที่จะเข้าไปประกอบในธรรม อดีต อนาคต หรือปัจจุบัน

แต่เมื่อเรากลับมาเท่าทัน กลับมาอยู่ที่ตัวที่จะเข้าไปประกอบกระทำ มันจะหยุดการประกอบกระทำหมด ทั้งกุศล อกุศล แล้วก็อัพยากฤต  

ตรงเนี้ย ถ้าเรียนรู้กับตรงนี้บ่อยๆ ...มันจะอยู่กับทุกสิ่งที่อยู่ต่อหน้าใจนี้ด้วยความเป็นกลาง หรือว่าอยู่กับมัชฌิมา ... โดยไม่เลือก ไม่ทำ ไม่หา ไม่ดัน ไม่ดึง ไม่รักษา ไม่หาใหม่ ไม่ทำให้เพิ่ม ไม่ทำให้ลด ไม่เอา

เพราะนั้น แม้แต่ธรรมน้อย ธรรมใหญ่ ธรรมละเอียด ธรรมประณีต จนถึงที่สุดของธรรมคือไม่มีอะไรเลย  ....มันก็หยุดหมดแหละ หยุดเข้าไปเสพ หยุดเข้าไปค้น หยุดเข้าไปหา

นี่ คำว่ากลาง มันจะกลางไปจนถึงที่สุดของทุกภพ ...ไม่ว่าภพนั้นจะใส่ชื่อว่ายังไง ใส่ชื่อว่าดี ใส่ชื่อว่าละเอียด ใส่ชื่อว่าเป็นธรรม ใส่ชื่อว่าเป็นธรรมของพระอรหันต์ ใส่ชื่อว่าเป็นธรรมของผู้ปฏิบัติ ใส่ชื่อว่าเป็นสิ่งที่ต้องได้ต้องมีต้องเป็น ...ไม่ว่าจะใส่ชื่อไหน มันถอนออกหมด ไม่เข้าไปอิงแอบกับภพนั้นๆ หรือความมีความเป็นในภพนั้นๆ

ฝึก ...ดูได้ก็ดี  ไม่ดูก็ได้ แต่อย่าให้ใจหาย อย่าให้รู้หาย ... เดี๋ยวนี้ขณะนี้ รู้อยู่มั้ย ทบทวนตัวเองบ่อยๆ ถามตัวเองบ่อยๆ ใจไปไหน รู้อยู่มั้ย ทำอะไรอยู่  

กลับมาอยู่ในฐานนี้บ่อยๆ คือฐานกาย-จิตปัจจุบัน ... เพราะนั้นกาย-จิตปัจจุบันนี่ถือว่าเป็นฐานหนึ่ง ฐานหนึ่งในสติปัฏฐาน กลับมาอยู่ในฐาน ต้องมีฐาน ...ไม่งั้นตีนลอย ไม่งั้นเลื่อนลอย

เพราะว่าจะให้โยมไปพิจารณาอสุภะทั้งวันนี่ โยมทำไม่ได้หรอก มันมีงานมีภาระ มีเรื่องที่จะต้องคิด ต้องปรุงแต่ง ต้องหา อยู่มากมาย  รู้ตัวไว้...เป็นหลัก เข้าใจมั้ย


โยม –  ค่ะ ...งั้นความรู้สึกตัวทั่วพร้อมที่ทำอยู่ปัจจุบันนี่ จริงๆ มันก็เข้าไปสู่ที่ตรงนั้น

พระอาจารย์ –  ถูกแล้ว ...แต่มันไม่ได้อะไรหรอก


โยม –  มันไม่ก้าวหน้าใช่มั้ย

พระอาจารย์ –  ไม่ใช่ ...ความรู้สึกตัวนั่นน่ะถูกแล้ว แต่มันไม่ได้อะไร ...มันไม่ก้าวหน้าหรอก เพราะมันจะไม่ได้อะไร เพราะการปฏิบัติไม่ได้ให้ได้อะไร นะ ...มันจะอยู่ตรงนี้แหละ


โยม –  ก็ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อยู่ทุกวัน

พระอาจารย์ –  อือ อย่างนี้แหละ ...แล้วก็ละความอยากได้ อยากมี อยากเป็น ออกไป ...อย่าให้มันเกิด อย่าให้มันลากเราออกไป ออกไปรู้ ออกไปเห็นอะไร


โยม –  มันไปติดอยู่ตรงนี้ใช่มั้ยคะ มันเลยเป็นตัวทำให้มันไปข้างหน้าไม่ได้ ใช่ไหมคะ  มันเหมือนกับว่าเราไปกำหนดขั้นตอนว่าเราจะต้องไปยังไงๆ แล้วเหมือนกับกำลังหาตรงนี้

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ไอ้ตัวนั้นแหละที่ทำให้ไม่หยุดอยู่กับปัจจุบัน ...เพราะนั้นเมื่อกลับมาหยุดอยู่กับปัจจุบันน่ะ มันจะไม่ได้อะไร 

แล้วเราจะทนไม่ได้ เราจะทนไม่ได้กับการที่ไม่ได้อะไรในปัจจุบัน ...มันก็ต้องสู้กับตรงนี้  คือไม่เอาอะไร แม้แต่ความรู้ใดทั้งสิ้น


โยม –  มันเหมือนกับว่าเคยพิจารณาอสุภะ แล้วเสียดาย...เสียดายว่ามันเหมือนกับเราจะถอยง่ายๆ เหรอ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ละให้ได้ ละความเสียดายนั้นให้ได้


โยม –  มันเสียดายอะไรคะ                                                               

พระอาจารย์ –  เสียดายธรรม เสียดายความรู้ที่ได้ในธรรม


โยม –  มันติดรึเปล่าอย่างนี้

พระอาจารย์ –  ติด ...แต่เราบอกแล้วไง ถ้าเอา...เอาเลย  ถ้าละ...ละเลย


โยม –  แล้วถ้าเขามาเอง ก็พิจารณาได้

พระอาจารย์ –  เออ ได้ ...เพราะเป็นเรื่องของเขา เราไม่ได้อยากหรือไม่อยาก


โยม –  เข้าใจแล้วค่ะ

พระอาจารย์ –  อื้อ บอกให้เลย  ตั้งใจละลงไปจริงๆ จังๆ ไม่เอาอะไรเลย  ดูอสุภะมานานแล้วมันยังไม่เห็นสักทีน่ะ มันยังไม่ตลอด ยังไม่แจ้งสักที ลองละมันสักเดือนซิเอ้า ลองละมันสักปีนึง เอ้า 

ลองอยู่กับความไม่คิด ไม่ปรุง ไม่หา ไม่ค้น ไม่ทำน่ะ  ลองดูได้นี่  อย่ามาลังเลๆๆ ...รู้ไปอย่างนี้ แค่ว่านั่งรู้ว่านั่ง ยืนรู้ว่ายืน  พอเริ่มคิด...ไม่เอา  คิดอีก...ไม่เอาๆๆ ...ลองดู


โยม –  ที่ทำอยู่นี่...เห็นกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู นี่ก็พอได้ใช่ไหมคะอาจารย์

พระอาจารย์ –  พอแล้ว อยู่แค่นั้นน่ะ  คิดก็ไม่เอา ธรรมก็ไม่เอา อะไรก็ไม่เอา  จะเอารู้อยู่ตรงนี้ รู้อยู่กับกายนี้ พอแล้ว ...ลองดู ลองไปฝึกอยู่แค่นี้ ดูก่อน  มันลองได้น่ะ อย่าไปจับปลาหลายมือ


(ต่อแทร็ก 5/10)

                                                                                                                                 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น