วันอังคารที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/12 (1)



พระอาจารย์
5/12 (540804A)
4 สิงหาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ : แทร็กยาวมาก แบ่งช่วงการโพสต์เป็น 3 ช่วงเลยนะคะ)

พระอาจารย์ –  ต่างคนต่างภาวนาไป  อาศัยว่าอยู่กับตัวเองมากๆ อยู่กับกายอยู่กับใจไป ...ปัญหาใหญ่คือ หาใจไม่เจอ รู้ใจไม่เป็น เท่านั้นเอง ... มันก็จะเข้าไปปนเปื้อนกับอารมณ์ และไปสำคัญว่าเป็นใจกัน 

มันก็เกิดการเข้าไปหมาย จิตเกิดอาการการเข้าไปหมาย เป็นอุปาทาน ในรูปบ้างนามบ้าง ...รูปมันก็พอชัดเจนอยู่ แต่ในส่วนของนามนี่ จะมีส่วนที่มันเข้าไปหมาย ...ที่สำคัญคือใจ 

สติปัฏฐานทั้งหลายทั้งปวงนี่เพื่อกำหนดให้เกิดภาวะใจชัดเจน ดวงจิตผู้รู้นี่  สามารถกำหนดดวงจิตผู้รู้ได้ชัดเจนนี่ ...ก็รวมลงที่ใจเสมอ จนใจนี่ตั้งมั่นอยู่ภายใน  จิตตั้งมั่น มีสมาธิ มีสติคุ้มครองใจไว้

จากนั้นก็เข้าไป ให้ใจมันเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ของอาการ ... มันจึงเข้าไปทำลายความเที่ยง...ความเห็นว่าเที่ยงในภพได้  

เมื่อเห็นว่าภพไม่เที่ยง อุปาทานมันไม่สามารถจะเกิดได้ ... มันเห็นมีแต่ความดับไป เกิดๆ ดับๆ ไม่มีแก่นสาร  ไม่มีสาระแก่นสารพอให้ไปถือครอง ไปหยุดอยู่ ไปยืนอยู่ได้เลย ...อุปาทานไม่เกิด ดับหมด

เมื่อไม่ออกไปมีอุปาทาน ต่ออารมณ์ ต่ออาการ  มันก็กลับมารู้ รวมลงมารู้อยู่ที่ใจที่เดียว ... ก็เป็นใจเปล่าๆ ... ใจรู้  

ใจรู้มันก็ตั้งมั่นอยู่ภายใน ทำการชำระขัดเกลา ในอาการที่มันจะไปจะมา ที่มันยังตกค้างอยู่ภายใน  ...เพราะเราไม่รู้หรอกว่ามันมีอะไรตกค้างหลงเหลืออยู่ภายใน

เพราะนั้นน่ะเวลาจิตมันไหล จิตมันหลงไป หรือหาฐานใจไม่เจอ  ก็ต้องกลับมาระลึกรู้...รู้ตัวมากๆ ทำความรู้ตัวมากๆ  

มันดูเหมือนไม่ได้อะไร มันดูเหมือนไม่มีปัญญาอะไร ...แต่จริงๆ มันทำให้สภาวะรู้ชัดเจน หรือสภาวะใจชัดเจน ดวงจิตผู้รู้ พุทธะพุทโธอยู่ภายในมันชัดเจน เกิดความตั้งมั่นขึ้นมา

จิตเมื่อมันตั้งมั่นขึ้นมาเป็นสมาธิ เป็นสัมมาสมาธิขึ้นมาแล้วนี่ ...มันถึงจะรู้ทันความเป็นไตรลักษณ์ ในขณะที่มันปรากฏขึ้นนี่ ในส่วนของนามทั้งหลาย  

แต่ถ้าเผลอเพลิน ปล่อยนาน บางทีมันไปแช่ในอาการ แช่กับอารมณ์โดยไม่รู้ตัว ... พอไม่รู้ตัวนานๆ เข้าไป แล้วไปแช่อยู่กับอารมณ์โดยไม่รู้ตัวนี่  มันจะไปติด...เกิดอาการติดข้อง 

แล้วสำคัญผิด เกิดอาการสำคัญผิดด้วยโมหะ ไม่รู้จริง ก็ว่าใจเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้   ใจเราเป็นอย่างนั้น ใจเราเป็นอย่างนี้ ...มันก็เข้าไปหมายว่าใจเราเป็นอย่างนั้น ใจเราเป็นอย่างนี้

ใจเรา...ไม่มีนะ มีแต่...ใจรู้  ... ใจรู้ใจเห็น กับสภาวะรู้สภาวะเห็น 

ก็ต้องละอารมณ์นั้นซะ ...ไม่ว่าอารมณ์ใด ถ้ามันเกิดขึ้นแล้ว ประณีตหรือเปล่า...ไม่สน  จะดี จะร้าย  จะถูก จะผิด อะไรก็ตาม ... ละซะ

ให้กลับมาดูอยู่กับสภาวะรู้สภาวะเห็น  ใจรู้ใจเห็น ให้มันชัดเจน  อย่าไปข้องแวะกับสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง ... มันก็จะเรียนรู้สภาวธรรมต่างๆ ไปทีละเล็กทีละน้อย เข้าใจไปทีละเล็กทีละน้อย 

จิตมันก็คืนสู่ความเป็นกลางมากขึ้น ราบเรียบมากขึ้น ปกติมากขึ้น คงความบริสุทธิ์ของใจได้ต่อเนื่อง คงความบริสุทธิ์พร้อมกับชำระความเห็นผิด หรือว่าความเข้าไปหมายในอาการ หมายในธรรมที่ปรากฏ

เรียนรู้อยู่แค่นั้นน่ะ พอมีอะไรปรากฏขึ้นปุ๊บ...รู้  รู้แล้วแยกออก รู้แล้วแยกออกมา ...อย่าไปตายใจ นอนเนื่องกับมัน  เรียกว่าต้องทำงานอยู่ตลอด ต้องคอยทำงานอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจรู้ อย่าขี้เกียจรู้ตัว

แม้แต่การรู้ตัวก็ไม่ใช่รู้กับตัวเฉยๆ ก็เห็นตัวมันเกิด-ดับ ... ตัวคือกาย ตัวคือรูป ตัวคือเสียง กลิ่น รส อะไรก็ตามที่มันสัมผัสผ่านมาทางตัวหรือกาย 

ก็ให้เห็นความเกิด-ดับอยู่เสมอ เห็นความเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา สลับกันไปมา มากขึ้น น้อยลง ย้ายไปย้ายมา ...ให้เห็นอาการย้ายไปย้ายมาของมันอยู่เสมอ

อย่าขี้เกียจดูความเกิดๆ ดับๆ ...ให้เห็นความเกิด-ดับๆ เสมอ ในการรู้แต่ละครั้ง  อย่าไปเอาแต่สงบเป็นอารมณ์อย่างเดียว มันมักจะติด...เวลาจิตมันนิ่ง หรือมันราบ หรือมันนิ่ง 

ถ้านิ่งแล้วมันขี้เกียจทำงาน ขี้เกียจออกไปรู้ไปเห็นความเกิดดับ มันชอบอยู่นิ่งๆ  ก็เลยชอบรู้นิ่งๆ รู้ว่างๆ รู้แบบสบายๆ ...นี่ มันไปติด ไปติดธรรมนั้นอีกแล้ว

เพราะนั้นความสงบมันก็เป็นธรรมละเอียดธรรมนึง เป็นธรรมที่เรียกว่าเป็นบุญเป็นกุศลอย่างนึง เป็นความปรุงแต่งอีกเหมือนกัน  แต่เป็นความปรุงแต่งที่เป็นกุศล มันก็ดี ...มันก็ติดดี ติดสบาย  

พอให้ออกมาจากความสงบ ให้มันดูอาการเกิดๆ ดับๆ ทางกาย ทางหู ทางตา ทางเสียง ทางเย็นร้อนอ่อนแข็งพวกนี้  มันขี้เกียจ มันขี้เกียจทำงาน มันชอบนอน

แล้วพอไปรู้กับสงบนานๆ เข้า มันก็กลายเป็นสงบไปเลย กลายเป็นใจสงบไป ...อยู่กับใจสงบ ไม่ได้อยู่กับรู้ว่าสงบ มันจะกลืนเข้าไปอย่างนั้นน่ะได้ง่าย

กลับมารู้อิริยาบถ การเคลื่อนการไหว ลมหายใจเข้า-ออก ให้มันยักย้ายถ่ายเทกัน  อย่าไปรู้แค่จุดใดจุดหนึ่ง ... มันจะรู้ได้จุดใดจุดหนึ่งก็ต่อเมื่อมันเหลือแต่ใจรู้ดวงเดียวเท่านั้น

ตอนนั้นน่ะจิตหนึ่ง แล้วธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่เป็นแค่ไม่มีความหมายมั่นในธรรมภายนอกแล้ว ใจมันก็อยู่ที่ใจ รู้อย่างเดียว รู้ชัดอยู่ตรงนั้น เรียกว่าสัมมาสติ สัมมาสมาธิ  

ศีลสมาธิปัญญามันเต็มพร้อมแล้ว เต็มบริบูรณ์ ...ใจนี่จะรวม ที่ใจรู้ดวงเดียว  ตอนนั้นน่ะรู้แบบพระจันทร์วันเพ็ญเลยแหละ ไม่ไปไม่มาแล้ว ...อันนั้นน่ะเป็นธรรมหนึ่ง ไม่ใช่ธรรมคู่  

มันเหลือแต่ใจแล้ว เหลือแต่ใจรู้ที่ไม่มีสภาวธรรมใดมากลมกลืน ตัวมันเป็นธรรมเอกของมันเอง เป็นธรรมอันเดียว เป็นรู้อันเดียว มีรู้อันเดียว

มันก็รักษาใจ ศีลสมาธิปัญญามันก็รวมลงเป็นมรรคสมังคี เป็นมรรคจิตอยู่ภายใน ... อาศัยจิตอาศัยใจดวงนั้นน่ะเป็นมรรคโดยตรง ชำระตัวตนสัตว์บุคคลภายใน ในความเห็นความหมายของใจ

แต่ตอนนี้ใจรู้ของเรายังสั่นคลอน ไม่มั่นคง  เดี๋ยวมี เดี๋ยวมา เดี๋ยวไป เดี๋ยวหาย...หายไปตอนไหนก็ไม่รู้ อย่างนี้ ...มันก็สงสัยลังเลเกิดขึ้นนะ งง วิธีไหนถูกที่สุด ดีที่สุดที่จะรักษาใจให้ได้

ไม่มีหรอกวิธี ...รู้ลงไป อะไรเกิดขึ้นก็รู้ตรงนั้นเลย สงสัยกังวลก็รู้ตรงนั้น  นี่ แยกหน้าแยกตามันออกมา แยกใจออกมามันตรงนั้นเลย  อย่าไปมัวแต่ควานหรือว่าลังเลกับอะไร ออกไปหาอะไร...ไม่เอา  

กลับมารู้ รู้อีก รู้เข้าไปๆ ยืนเดินนั่งนอน...รู้ ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว หูได้ยิน ตาเห็นรูปก็รู้เข้าไป ดีใจรู้เสียใจรู้ รู้เข้าไป รู้ไว้ๆ ...จนรู้มันสงบระงับตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว มันก็เกิดความชัดเจนขึ้นมา

เมื่อมันชัดเจนตั้งมั่นดีแล้ว จากนั้นก็ต้องเรียนรู้การเป็นไตรลักษณ์ ... อย่ามัวแต่ดีใจสบายใจว่าจิตมันสงบมันแยกออกมาแล้ว  ที่มันแยกออก...มันแยกออกชั่วคราว แยกใจกับกาย แยกใจกับนามชั่วคราว ...เดี๋ยวมันก็ไหลเข้าไปอีก

มันจะไม่ไหลเข้าไปหรือว่าหมดความหมายมั่นหรือความอยาก ความทะยานไปในภพทั้งหลายทั้งสามภพนี่ ...ด้วยการเข้าไปให้ใจเข้าไปเห็นความเป็นไตรลักษณ์ แล้วมันเกิดปัญญา

เมื่อมีปัญญา มีความเข้าใจแล้วนี่  มันก็เข้าไปคลายทิฏฐิภายใน...ที่จะหมายมั่นภพใดภพหนึ่ง เป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่ยึด ที่ยืน ที่เหยียบ ที่ยั้ง ที่อยู่  

เหมือนเรายืนอยู่บนดินอย่างนี้ มันมีดินรองรับนี่ เราถึงมีตัวยืนอยู่  ถ้ามันไม่มีดิน ดินไม่มีนี่ ตัวเราไม่มีหรอก ใช่มั้ย  กายนี่ ไม่สามารถจะยืนอยู่บนโลกได้

เหมือนกันน่ะ ภพ...ภพมันคือที่ยืนของความหมายมั่น  เมื่อหมายมั่นว่ามันเที่ยงเมื่อไหร่ปุ๊บ มันก็จะไปหยุดยืนอยู่ตรงนั้น ... ถ้าสมมุติว่าแผ่นดินนี้ไม่มีนี่ ตัวเรานี่ไม่มีหรอก ยืนไม่ได้

มันต้องเห็นไตรลักษณ์น่ะ...ว่าทุกสิ่งทุกอย่างมันตั้งอยู่บนความไม่มี มันเป็นความไม่มีตัวตน เป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราวแล้วก็ดับหายไป 

ขณะนั้นปุ๊บนี่ มันจะเข้าไปทำลายความเห็นผิด หรือว่ามิจฉาทิฏฐิ...ที่ว่าเที่ยง ที่ว่าเป็นตัวจับต้องได้ มีคุณค่าหรือว่าเป็นที่ต้องการ ตามที่ต้องการ อย่างนี้

ถ้าเห็นว่าเป็นแค่ชั่วคราวนึงแล้วก็ดับ...ชั่วคราวนึงแล้วก็ดับ  มันก็ถึงจะไปคลายทิฏฐิมานะภายใน  ใจมันก็จะกลับมาสงบระงับของมัน เมื่อเห็นไตรลักษณ์บ่อย  คราวนี้ว่าไม่ต้องรักษาใจ ใจมันก็ไม่ไปแล้ว

ถ้ามันรู้เห็นว่าไม่มีอะไรให้ออกไปหา ไม่มีอะไรให้ออกไปเป็นน่ะ ก็แค่นั้น มันก็แค่นั้น ไม่เห็นมีอะไร ...อาศัยเป็นที่พึ่งพาไม่ได้ มันเกิดๆ ดับๆ ไม่มีสาระแก่นสารใดๆ  

ใจมันก็อยู่ที่ใจของมัน ความสงบระงับตั้งมั่นก็มากขึ้น มั่นคงขึ้น เด่นชัดขึ้น ชัดอยู่ภายในตัวของมัน ตัวใจรู้ๆ รู้อยู่ของมัน ...เพราะนั้นว่าปัญญานั่นแหละ มันจึงจะรักษาใจได้  

แต่ว่าปัญญา มันจะเกิดปัญญาได้ ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิ เป็นปัจจัยให้เกิดปัญญาขึ้นมา ... มันก็เป็นเกลียว สามเกลียวสามเส้ากันอยู่อย่างนั้น  

แต่ว่าถ้าปัญญาน้อยปุ๊บ ศีลสมาธิก็จางไป  ปัญญามากมันก็ไปทำให้ศีลสมาธิมันตั้งมั่นมากขึ้นไปเองของมัน ... มันหนุน มันเกื้อกูล เป็นธรรมที่สงเคราะห์กันอยู่ในหมวดของไตรสิกขาน่ะ

เพราะนั้นเบื้องต้นน่ะ ศีลสมาธิมี รู้  แต่ว่าปัญญายังน้อย ... ถ้าปัญญายังน้อยก็...เดี๋ยวก็ไหล เดี๋ยวก็หลง เดี๋ยวก็เผลอ เดี๋ยวก็เพลิน เดี๋ยวก็ไปใส่ใจในเรื่องที่นอกจากใจ มันไม่กลับมาใส่ที่ใจ ไม่กลับมาตั้งอยู่ที่ใจ 

มันไปตั้งใจอยู่ที่อื่น ...ตั้งเหมือนกัน แต่ว่าไม่ตั้งอยู่ที่ใจ มันไปตั้งอยู่ที่งาน ไปตั้งอยู่ที่รูปภายนอก ไปตั้งอยู่ที่เรื่องราว อะไรต่างๆ ...มันมีที่ให้อยากตั้ง ให้ออกไปตั้งเยอะแยะ

ก็กลับมารู้ตัวบ่อยๆ ให้ใจมันตั้งมั่น แบบที่ท่านว่า รู้ตัว...กันหลงกันลืม จิตก็ตั้งมั่น ... เพราะนั้นแค่ตั้งมั่นยังไม่พอ ต้องให้เห็นไตรลักษณ์ด้วย ไม่งั้นก็เป็นตุ๊กตาล้มลุกอยู่อย่างนี้  ตั้งได้วึบ เดี๋ยวก็หาย หายไป  

มันต้องให้ใจเข้าไปเรียนรู้ความเป็นของว่าง ...เรื่องราวมันเป็นของว่าง จะไปบ้าบอคอแตกอะไรกับมัน กับอาการภายนอก กับการกระทำของผู้คน คำพูดของคน ปฏิกิริยาอาการ

เวลาทำงาน พวกเราก็จะเจอกับเรื่องพวกนี้เยอะ กริยาอาการ คำพูด ปุ๊บ...มันจะเข้าไปมีเรื่อง เข้าไปจับมาเป็นเรื่องน่ะ ...ทั้งๆ ที่มันไม่เป็นอะไร 

แต่ว่าใจนี่มันไปสำคัญว่ามันเที่ยง ...แล้วก็เกาะ เหมือนกับเป็นภาวะมวลสิ่งหนึ่งที่มันมาปะทะ มีแรงปะทะ  เห็นมั้ย มันเป็นความหมายมั่นเอาเองของใจนะ

แต่ถ้าใจมันตั้งมั่นจริงๆ แล้วมีปัญญามองด้วยความเป็นกลาง มันก็จะเห็นทุกอย่างเป็นภาพเบลอๆ แล้วก็สลายไปแค่นั้นเอง  ไม่มีเรื่องอะไร  มันก็เป็นแค่ภาพแล้วก็ผ่านไป เป็นปัจจุบันขณะๆ ที่ผ่านไปแค่นั้น

ก็ให้มันเรียนรู้อย่างนั้นมากๆ เกิดปัญญาเห็นไตรลักษณ์ มันจึงจะคลายออกจากความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เข้าไปมีอุปาทานในรูปเสียงกลิ่นรสภายนอก  

ถ้าภายนอกละยังไม่ได้แล้วไม่ต้องพูดถึงภายในเลย บอกให้ ไอ้ภายในมันละเอียดกว่านั้นอีก ...ภายนอกนี่เห็นกันอยู่หยาบๆ เนี่ย มันยังมีเรื่องกันเลย ...มันไม่ยอม เข้าใจมั้ย มันไม่ยอมน่ะ 

ใจมันไม่ยอม ...ก็รู้ว่าเป็นไตรลักษณ์ แต่ใจมันไม่ยอม  เพราะมันไม่เชื่อ ...มันว่าเป็นเรื่องจริงๆ น่ะ เขาทำจริงน่ะ เขาพูดอย่างนี้จริงๆ เขามีความเห็นอย่างนี้ที่ไม่ดีจริงๆ น่ะ ... เนี่ย มันไม่ยอม

ไอ้ที่ว่าจริงๆ น่ะ...ใจไม่รู้ต่างหากที่มันว่าจริง ... แต่ความเป็นจริงน่ะ มันไม่มีคำพูด ...คือในความเป็นปรมัตถ์มันไม่มีอะไรเป็นจริง-ไม่จริงหรอก

ต้องหัก หักกันตรงๆ น่ะ หักกลับมารู้ตัวตรงๆ ตรงนั้นน่ะ ... มันจะดิ้นขนาดไหน ทะยานออก อยากเหน็บ อยากแนม อยากค้อน อยากหาทางให้เขารู้สึกตัวบ้างอะไรอย่างนี้ ...มันดิ้น  

ต้องหักห้ามด้วยการกลับมารู้ตัวซะ จนกว่ามันจะหมดเชื้อบ้าในเรื่องนั้นๆ ไป ...ให้มันคลี่คลายในตัวของมันเองไป แล้วก็เรียนรู้อาการไตรลักษณ์พร้อมกันไป ...เรียนรู้อย่างนี้

เมื่อเรียนรู้กับมัน ฉลาดเท่าทันมันแล้ว มีปัญญาเท่าทันอาการของรูปเสียงกลิ่นรสภายนอกแล้วนี่  มันจะเห็นเรื่องราวต่างๆ เป็นเรื่องหมูหมากาไก่แล้ว ไม่เอาห้าเอาสิบกับมันแล้ว

ไม่ใช่ไอ้นั่นนิดไอ้นี่หน่อยก็เป็นฟืนเป็นไฟ  ตาก็เป็นไฟ จมูกก็เป็นไฟ หูก็เป็นไฟ ลิ้นก็เป็นไฟ ปากก็เป็นไฟ ... กาย-ใจก็เป็นไฟไปหมด  กลายไฟราคะโทสะโมหะมอดไหม้เผาออกไปตามหูตามตา ร้อนไปหมด

สงบอยู่ดีๆ รักษาใจอยู่ดีๆ ...พอมีอะไรมาสะกิดปุ๊บ จากนั้นไปก็เป็นเรื่อง นี่ ไฟลุกกันสามโลกธาตุเลย มันไหม้ไปหมด...  กว่าจะรู้ตัวทีก็เหนื่อยกันแทบตาย 

อย่าไปเสียดายมันที่จะเสีย self  เสียความเป็นตัวเอง ถูกล่วงล้ำก้ำเกินอาณาเขตของความเป็นสัตว์บุคคลของเราเอง ... ให้มันเสียไปเยอะๆ ให้มันไม่มีอาณาเขต 

ยังไงก็ได้ อะไรก็ได้ ...อย่าไปรักษาหวงแหนไว้ ว่าเขาจะมาเอาของเราไป เขาจะมาเอาความเป็นส่วนตัวของเราไป เขาจะมาเอาความถูกต้องของเราไป

เอาไปเหอะ ...บอกแล้วมันไม่มีถูกไม่มีผิดหรอก มันเป็นเรื่องของการกระทบกันแค่นั้น .. จิตมันก็จะเบา เป็นอิสระ ออกจากโลกภายนอก ในกามภพ 

นั่นก็หน้าที่การงานของเรามันเป็นเรื่องที่จะต้องเกี่ยวข้องกับกามภพทั้งนั้นน่ะ คือกามภพ ... มีความยินดีทางหู ทางตา ทางจมูก ทางอายตนะ นี่ กามภพ

พอเรากลับมาอยู่คนเดียว ไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้สัมผัสกับโลกทางสื่อต่างๆ  มันก็อยู่กับกายใจตัวเอง ... มันก็จะมาติดรูปภพ อารมณ์ภายใน 

ความสุข การเสวยอารมณ์ การแสวงหาธรรมนั้นธรรมนี้ ปรุงเพื่อไปหาทางนั้นทางนี้ เกิดความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ในอาการนั้นอาการนี้ ...ก็เป็นรูปภพ

บางครั้งบางคราว จิตว่าง จิตสงบ จิตเบา จิตไม่มีอะไร ก็เข้าไปในอรูป เป็นชั่วครั้งชั่วคราวไป ...นี่มันก็มี  มันก็ข้องแวะจรไปในสามภพนี่แหละ ใจ วุ่นวี่วุ่นวายไป  

เพราะนั้นการกลับมาตั้งมั่นภายใน อยู่ที่ดวงจิตผู้รู้ ดวงใจผู้รู้ในปัจจุบัน ...มันเหมือนกับเป็นเกราะคุ้มครองใจ ...ไม่ให้ไหลไปในสามภพก่อน

เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว เข้มแข็งดีแล้ว จิตมีกำลังดี มีสมาธิดี  มันก็จะเห็นด้วยความเป็นกลาง ในการผ่านไปผ่านมา ในความเป็นไตรลักษณ์ของสามโลก ของสามภพ  

มันก็ฉลาดรู้เท่าทันขันธ์ อุปาทานขันธ์ก็น้อยลงไป ...เห็นขันธ์เป็นเรื่องของไตรลักษณ์ ไม่ได้เป็นเรื่องของใคร  เห็นขันธ์เป็นธรรมชาติ ไม่ได้เป็นเรื่องของสัตว์บุคคลใด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ 

ไม่ได้เป็นทั้งของเรา ไม่ได้เป็นของเขา ...เห็นมันเป็นธรรมชาติหนึ่ง หาความหมายในสัตว์บุคคลไม่ได้ ในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในอาการของธรรมชาติดินน้ำไฟลม ฝนตกแดดออกฟ้าร้อง รถติดพวกนี้

ไม่งั้นรถติดนี่เป็นเรื่องเลย ไปไม่ได้ มันก็หงุดหงิด รำคาญ  เห็นมั้ย อะไรไม่รู้เป็นเรื่องไปหมด... ใจดวงนี้มันคอยแต่หาเรื่อง ไม่มีเรื่องก็ทำให้มันมีเรื่อง 

มันดูรถเฉยๆ ที่อยู่บนถนนไม่ได้ มันหงุดหงิด ... ทำไมหงุดหงิด  เพราะจิตมันทะยานออกไปหาอนาคตที่รถไม่ติด มันไม่ยอมอยู่กับปัจจุบัน


ถ้าอยู่ปัจจุบันมันก็แค่นั้น ยอมรับ ...แค่ยอมรับ ว่ามันเป็นอาการหนึ่งตามเหตุปัจจัย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยน รถมันไม่ติดตลอดชาติหรอก อะไรอย่างนี้ ... มันก็ต้องเรียนรู้ไปทีละเล็กทีละน้อย 

จนเห็นว่าสภาวะโลกมันเป็นสภาวะของธรรมชาติ ...สัตว์บุคคลขันธ์ห้าก็เป็นธรรมชาติ


(ต่อแทร็ก 5/12 ช่วง 2) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น