วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/12 (2)


พระอาจารย์
5/12 (540804A)
4 สิงหาคม 2554
(ช่วง 2)



(หมายเหตุ : ต่อจากแทร็ก 5/12 ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เรื่องของขันธ์ห้า เป็นเรื่องของธรรมชาติที่รวมกันในห้ากองห้ากลุ่ม...รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นลักษณะของธรรมชาติห้าอย่างที่ปรุงรวมกัน ... สั้นๆ ก็เรียกว่ารูปกับนามผสมกัน  

มีกรรมเป็นเครื่องสนับสนุน วิบากกรรมเป็นเครื่องหล่อเลี้ยง มันถึงเกิดความแตกต่างกันไป ในรูปนั้นนามนั้น ...จึงเกิดความไม่เหมือนกันทางภาพ เสียง กลิ่น ทางอายตนะ  ทางสีสันวรรณะ ความเป็นอยู่

แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นอะไรของใครหรอก  มันสมมุติเอา  สมมุติเอา...ใส่ชื่อขึ้นมา แล้วก็สมมุติว่า เรียกเอาว่า เป็นชายเป็นหญิง เป็นสวยเป็นไม่สวย

แต่ถ้ามองด้วยปัญญา ...มันก็จะเห็นว่ามันเป็นแค่ธรรมชาติที่อยู่รวมกันตามเหตุปัจจัย

เฉพาะดวงจิตที่ยังมีกิเลสดวงนั้น มันยึดไว้ มันถือไว้ มันครองไว้ ...และการกระทำของจิตดวงนั้นมันเคยทำมาอย่างนั้นอย่างนี้ มันก็มีวิบากที่ส่งผลมาอย่างนี้ๆๆ

มันไม่ได้เป็นเรื่องของใคร ...เป็นเรื่องของขันธ์มันทำหน้าที่ เป็นเรื่องของธรรมชาติที่มันแสดงตัวรวมกัน เป็นสังขารธรรม เป็นสังขารจิตรวมกัน คละเคล้ากัน อยู่ในโลก

แล้วก็ธรรมชาติของสังขาร ธรรมชาติของความปรุงแต่งที่อยู่รวมกันนี่  มันจะมีอาการกระทบ...เป็นเรื่องธรรมดา  มันจะต้องมีทุกข์...เป็นเรื่องธรรมดาของการกระทบกัน ในการปรากฏการณ์ที่ไปเนื่องกับสิ่งอื่นรอบข้าง 

มันเป็นอย่างนี้มาตั้งแต่ตั้งฟ้าตั้งแผ่นดินแล้ว ...โยคาวจรใด พราหมณ์ผู้ใด บุคคลใด สมณะใดที่เข้ามาเรียนรู้และเห็นความจริงในธรรมอย่างนี้จนตลอด  ...ก็จะเข้าใจ 

แล้วก็จะถอนออกจากความเข้าไปหลงผิด ในความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรื่องเป็นราวของใครคนใดคนหนึ่ง มีใครเป็นผู้จัดสรร มีใครเป็นผู้จัดการ

ใจมันก็จะออกมาจากความเห็นผิดในโลก ว่าโลกเป็นอย่างนั้น โลกเป็นอย่างนี้ ... มันก็จะเห็นว่าโลกไม่เป็นอย่างงั้น โลกไม่เป็นอย่างงี้  โลกเป็นแต่ความเกิดๆ ดับๆ ของสภาพธรรมที่ปรุงแต่งต่างๆ นานา  

เป็นเหมือน Harmony  เหมือนดนตรี Orchestra ที่มันสอดประสานกันของมันอยู่อย่างนี้ ... มันก็ดำเนินไปตามครรลองของบทเพลง

ตัวเราก็เข้ามาเรียนรู้ในตัวของเราเอง ...มันก็จะถอยออกมาจากความเข้าไปหมายในที่ที่เรียกว่าในโลก ก็เข้ามาเรียนรู้ภายใน เข้ามาทำลายความหมายภายใน...กายใครกายมัน ใจใครใจมัน

มันก็เข้ามาทำลายความเห็นความหมายในกาย ว่า...นี่เป็นกาย นี่เป็นชาย นี่เป็นหญิง นี่เป็นคน นี่เป็นสวย นี่เป็นงาม นี่เป็นดี นี่เป็นร้าย นี่เป็นถูก นี่เป็นผิด  ...ก็ต้องมาทำลายความเห็นผิดเหล่านี้

ด้วยจิตที่ตั้งมั่น แล้วก็รู้ด้วยความที่เป็นกลาง ...ไม่เข้าไปปรุงต่อด้วยความเป็นสมมุติบัญญัติ ไม่เข้าไปปรุงเป็นภาษาใดๆ ด้วยสัญญาสมมุติ

มันก็จะเห็นธรรม เห็นขันธ์ตามธรรมในความเป็นจริง...ที่เรียกว่าเป็นปรมัตถธรรม ...ไม่ใช่เห็นขันธ์เป็นแค่สมมุติธรรม ตามที่ได้ยินชื่อเสียงเรียงนามเล่าขานเรียกขานกันต่อมา สืบทอดด้วยคำพูดภาษา

แต่ด้วยใจที่มันตั้งมั่นรู้เห็นอยู่ภายใน ด้วยใจที่เป็นกลาง ... มันก็จะเห็นปรมัตถ์ เห็นขันธ์โดยปรมัตถ์ เป็นแค่สิ่งหนึ่ง เป็นแค่ของสิ่งหนึ่ง เป็นแค่อาการหนึ่ง 

เป็นแค่ธรรมชาติหนึ่งที่ไม่มีชื่อไม่มีเสียงในตัวของมัน ไม่มีความหมายด้วยในตัวของมันเอง เป็นแต่อาการที่แปรไปเปลี่ยนมา ย้ายไปย้ายมา โดยไม่มีเหตุไม่มีผลอะไรมารองรับ 

พอจะไปมันก็ไป พอจะมามันก็มา เพราะเหตุปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาประกอบให้เกิดอาการนั้นอาการนี้ที่ปรากฏขึ้น  สุดท้ายก็มีแต่ความหมดไป หมดไป ...เกิดใหม่แล้วก็ดับไป หมดไปเงียบๆ ของเขา 

ตอนเกิดขึ้นเขาไม่ได้ร้องแรกแหกกระเชอ เวลาตั้งอยู่เขาก็ไม่ได้ร้องแรกแหกกระเชอ เวลาดับไปเขาก็ไม่ได้ร้องแรกแหกกระเชอ...แสดงอาการดิ้นรนขวนขวายไม่ยอมรับในการเกิดการดับ  

เขาก็เป็นแค่ความเงียบสงบ เป็นความสงบ เป็นความงดงามในตัวของเขาเอง เป็นความเป็นจริงที่เป็นอิสระในการดำเนินไปของเขาเองด้วยความสงบ

เมื่อใจมันเข้าไปรู้เห็นธรรมในส่วนปรมัตถ์...ที่เป็นไปด้วยความสงบราบเรียบในอาการนั้นๆ ใจมันก็ยิ่งเกิดความราบเรียบลงไป  ยอมรับตามความเป็นจริงทุกเม็ดทุกหน่วย ที่มันเห็น ที่มันรับทราบความเป็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงนี้

มันก็จะเห็นขันธ์เป็นความงดงาม ... งดงามในแง่ที่เรียกว่าเป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่งดงามในแง่ของสมมุติบัญญัติ ...มันเข้าไปเห็นความงดงามด้วยศีลสมาธิปัญญาที่ งามเบื้องต้น ท่ามกลาง แล้วก็งามที่สุด

ไม่ได้งามในแง่ของโลกหรือสมมุติ แต่งามในแง่ความเป็นจริง ...เป็นความสงบราบเรียบกลมกลืน สืบเนื่องสอดประสานกันเหมือนกับวง Orchestra วงใหญ่น่ะ มีความซับซ้อนต่อเนื่อง เป็นความไม่มีตัวไม่มีตน ย้ายไปย้ายมา

แต่ถ้าไม่เข้าใจมันเมื่อไหร่ เข้าไปแตะต้องมันเมื่อไหร่ ปุ๊บ ใจมันจะรู้ทันที ....การแตะต้องมัน คือเข้าไปทำให้เสียงในวงนี้แปรเปลี่ยนไป เพี้ยน ผิดคีย์ไปเมื่อไหร่นี่ ...เป็นทุกข์แล้ว  

ความเป็นไปนี้มีความงดงามในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเอง ... เป็นธรรม เขาแสดงธรรม เป็นธรรมที่ไม่มีภาษา เป็นธรรมที่ไม่มีคำพูด เป็นธรรมที่เขาแสดงทุกเมื่อเชื่อวัน

เพราะนั้นผู้ที่เห็น...เข้าใจอย่างนี้  จึงเรียกว่า เห็นธรรมเต็มโลกเลย มองไปทางไหนก็เป็นธรรม เต็มโลก สอดคล้องประสานกัน...เป็นธรรม

เพราะนั้นจิตใจดวงนั้นก็อยู่ด้วยความบริสุทธิ์ วิสุทธิ ... ไม่เห็นเป็นเรื่อง แต่เห็นเป็นธรรม เห็นทั้งหมดเป็นธรรม โดยธรรม เป็นความงดงามในธรรม เป็นปรมัตถธรรม  ต่างเป็นไตรลักษณ์ เกิดๆ ดับๆ สลับกัน สืบเนื่องกันไป  

แต่ใจไม่เข้าไปหมายเอาด้วยความยินดียินร้ายใดๆ ...ก็รักษาความเป็นกลาง อยู่ด้วยความเป็นกลาง เท่าที่มี เท่าที่มันเป็นไป

เมื่อมันดูไปดูมา รู้ไปรู้มา แล้วมันหายหมดน่ะ ... หยาบก็หาย ละเอียดก็หาย ประณีตก็หาย  ...หายหมด ไม่มีอะไรหรอก  มีแต่รู้กับสิ่งที่ถูกรู้เท่านั้น  

มันไม่สนใจด้วยซ้ำว่าไอ้สิ่งที่ถูกรู้คืออะไร ...ก็เห็นเป็นธรรมอันเดียวกันหมดน่ะ สอดคล้องประสานกันเป็นธรรมอันเดียว ภายใต้เงื่อนไขไตรลักษณ์เท่านั้น

ใจมันถึงจะเป็นอิสระ ไม่ไปข้องแวะในภพ มาถือเป็นภพ มาถือเป็นของเที่ยง มาถือเป็นเรื่องราวใดๆ ...เป็นแค่ธรรมชาติตามความเป็นจริง ตามธรรมนั้นๆ  

การเกิด การตาย  การพบ การเจอ การพลัดพราก การตั้ง การอยู่ การสืบเนื่อง การเกิดขึ้นซ้ำซาก ... มันก็เป็นธรรมตามความเป็นจริงทั้งนั้นแหละ ไม่ใช่เรื่องประหลาดมหัศจรรย์ใดๆ หรือว่าเรื่องร้ายใดๆ  

แต่เป็นธรรมที่ปรากฏเช่นนั้น ตามบทเพลงแห่งธรรมชาติที่ขับขานไปในจักรวาล มันก็จะมีเป็นวรรคเป็นตอนของมันไป ...มันไม่มีผิดมีถูกหรอก 

มันไม่มีเพลงไหนหรอกที่มันเพราะทั้งเพลง ทุกอณูหรอก ... มันจะมีหนัก มีเบา มีค่อย มีกระชั้น สอดกันประสานกัน...แล้วก็มันจึงจะเป็นบทเพลงตามธรรมชาติ ที่ขับเคลื่อนไป

แต่ว่าการขับเคลื่อนบทเพลงธรรมชาตินี้ ไม่มีจุดสิ้นสุด มันบรรเลงของมันจนเป็นอนันตกาล ... อย่าได้ไปหาญสู้ด้วยความไม่รู้  จะไปแต่งเพลงใหม่ จะเข้าไปเติม ลด เพิ่ม เนื้อเพลงนั้น  

สุดท้ายก็สู้ไม่ได้หรอก เอาชนะก็ไม่ได้ ... มันคือการหมุนไป การขับเคลื่อนไป เหมือนกับบรรเลงเพลงธรรมชาติของไตรลักษณ์

สำคัญใจรู้...รู้ใจ ... ถ้าไม่มีใจ ถ้าไม่มีรู้ ดวงเดียวเท่านั้นน่ะ ไปไม่ถูก หามรรคไม่เจอ หานิพพานไม่เจอ 

อยู่ที่ใจไว้ รักษาใจไว้ ... ภายนอกเรื่องของกาย เรื่องของอารมณ์ หายไปเสียไป อย่าไปอาลัยอาวรณ์กับมัน อย่าไปให้คุณให้โทษ หาคุณหาโทษให้มัน ให้มีใจอยู่ไว้เดี๋ยวดีเอง

รู้ไว้ อยู่กับรู้ไว้ ... ไม่ได้อยู่กับคิด ไม่อยู่กับสุข ไม่อยู่กับทุกข์ ไม่อยู่กับเรื่อง ...แต่อยู่กับรู้ ... ใจมันก็จะเข้มแข็ง มั่นคง เด็ดเดี่ยวอาจหาญ ...ไม่ไปไม่มา ไม่ซ้ายไม่ขวา ไม่หน้าไม่หลัง ไม่บนไม่ล่าง อยู่ของมันอย่างนั้นน่ะ อยู่กับใจ

นั่งรถลงเรือ ขึ้นเหนือล่องใต้ มันก็ไปแต่กาย ใจไม่ไปไหน ... ก็อยู่ที่ใจ  ไม่ไปกับรูปเสียงกลิ่นรสที่มันเปลี่ยนไปย้ายมา...อยู่ที่ใจ  ถ้าไม่อยู่ที่ใจ...เดี๋ยวก็ดีใจ เดี๋ยวก็เสียใจ เดี๋ยวก็สวย เดี๋ยวก็ไม่สวย ...มันไม่อยู่ที่ใจ มันอยู่ที่รูป 

ถ้าอยู่ที่รูป มันก็มีอารมณ์สุขทุกข์ ได้บ้างเสียบ้าง เฉยๆ บ้าง ...ถ้าอยู่ที่ใจแล้วเหมือนอยู่ที่บ้าน นั่งรถก็เหมือนนั่งในบ้าน ... เห็นรูปหรือไม่เห็นรูปก็เหมือนกัน เพราะมันไม่ได้มีอารมณ์ตามรูปตามเสียงอะไร 

มันก็มีอารมณ์เดียวคือใจ นี่ตั้งมั่น ...คือไปก็เหมือนไม่ไป ไม่ไปก็เหมือนไป ... บางทีไปแล้วก็ยังไม่รู้ด้วยซ้ำไปไหน เพราะว่าไม่สนใจในรูปเสียงกลิ่นรสภายนอก  

ถึงแม้จะมีอารมณ์...ขณะนั้นก็รู้แล้วก็ดับไป  มันก็กลับมาอยู่ที่บ้าน...คือใจ ทันทีทันใด ...มันก็เป็นแค่อารมณ์ที่วูบๆ วาบๆ เกิดๆ ดับๆ ไป

อยู่ที่ใจอยู่เสมอ ...ความเป็นไตรลักษณ์มันก็ชัดเจนขึ้นมา หมุนไปหมุนมาๆ  มีแต่อาการที่มันย้ายไปย้ายมาขึ้นๆ ลงๆ ไม่มีอะไรถาวร ไม่มีอะไรเสถียร  

แต่เพราะมันซ้ำซากจำเจนี่แหละ จึงทำให้เกิดความเคยชิน ขี้เกียจ ... เจอเรื่องเก่าๆ เจอคนเก่าๆ มันจะจำเจ จนเหมือนกับเที่ยง

ก็ให้เห็นไปเป็นขณะๆ ไป รู้เป็นขณะไป เห็นการเกิดการดับเป็นขณะๆ ไป ... นิดๆ หน่อยๆ ก็ให้เห็นความเกิดความดับ ในการยักย้ายเปลี่ยนแปลง ทางรูป ทางเสียง ทางกาย ที่เปลี่ยนไปสลับมา ...มันขาดเป็นระยะๆ ไป

ทุกอย่างขาดหมด มีแต่ใจอันเดียวไม่ขาด เหมือนสายน้ำที่ตัดไม่ขาดน่ะ ให้อยู่อย่างนั้น ...อยู่กับใจเหมือนกับเป็นสายน้ำที่ไม่มีอะไรมาตัดขาดได้ ใจมันก็อยู่ภายในอย่างนั้น ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด

มันก็เห็นทุกอย่างเปลี่ยนหมดน่ะ เดี๋ยวก็เปลี่ยน มันจะเกิดอะไรก็ได้ ... จิตมันจะค่อยลีบลงไปเรื่อยๆ เริ่มไม่ค่อยไปเอาห้าเอาสิบกับกายหรืออารมณ์  กายก็จะเกิดความระงับ...สงบระงับภายในมากขึ้น  

รู้มากขึ้น รู้ชัดเจนขึ้น รู้ตั้งมั่นขึ้น เดี๋ยวต่อไปมันจะเรียนรู้ภาวะที่ว่า...รู้อยู่กับกาย ที่ไม่เป็นกาย ...แล้วก็เห็นจิตเกิด-ดับ ... เมื่อเห็นแค่จิตเกิด-ดับน่ะ ตรงนั้นน่ะ มันไม่แยกแล้ว  

มันไม่แยกว่าเป็นอารมณ์ ว่าเป็นความรู้สึก ว่าเป็นอดีต ว่าเป็นอนาคต ว่าเป็นเวทนา ว่าเป็นอะไร  เหลือแค่สภาวะจิตเกิด-ดับ อยู่ท่ามกลางกายกับใจ ...มันก็จะเรียนรู้ไป

ตอนนี้มันยังออกมาเป็นเรื่องอยู่  มันยังสมมุติได้ เรียกได้ เป็นภาษาขึ้นมา มันเป็นสมมุติขึ้นมา ...ต่อไป เห็นความเกิด-ดับๆ ของมันบ่อยๆ  เกิดความรู้เท่าทันเร็วขึ้น ชัดเจนขึ้น 

การเข้าไปปรุงแต่งกับมันน้อยลง หยุดอยู่กับรู้มากขึ้น ...การรู้เท่าทันในขณะแรกของการเกิดขึ้นของสภาวะนาม สติมันจะทัน...พอทันตรงไหนมันก็ดับตรงนั้นเลย ...ภาวะอย่างนี้ถึงจะเรียกว่าเป็นมหาสติ 

ถ้าเป็นมหาสติปุ๊บนี่ เหลือแต่จิตเกิด-ดับแล้ว ไม่รู้อะไรเกิด แล้วก็ไม่รู้อะไรดับ  เกิดตรงไหนดับตรงนั้น อยู่ภายใน ...มันก็เรียนรู้ไปตามขั้นตอน  แล้วมันจะเริ่มหยุด เริ่มคิดน้อยลง เริ่มมีความเห็นน้อยลง ทั้งในโลก และก็ในธรรม  

ไม่ใช่แค่ในโลกอย่างเดียวนะ ในธรรมด้วย ... ปรารภไปในโลกก็หมด ปรารภไปในธรรมก็สั้น  แล้วมันจะสั้นลงไป  จิตสังขารนี่ มันจะหดตัว  มันหดเข้าจนเหมือนดินน้ำมันน่ะ

ถ้ามีแต่ดินน้ำมัน ถามว่ามันเป็นรูปอะไร มันจะไม่รู้หรอกแต่ถ้าเอาดินน้ำมันมาปั้น เป็นอะไรก็ได้ เห็นมั้ย ... ตอนนี้พวกเราอยู่ในขั้นตอนที่มันปั้นออกมาแล้ว  ดีก็ได้ ร้ายก็ได้ ชั่วก็ได้ ถูกก็ได้ ผิดก็ได้ มันปั้นออกมาเป็นรูปได้

แต่ว่าจุดเริ่มต้นของมันคือดินน้ำมัน นั่นแหละ สภาวะจิตแรก ... มันจะเข้าไปเห็น สติตัวนี้หรือว่าปัญญาตัวนี้ มันจะเข้าไปเห็นเหตุที่ใกล้เกิด ยังไม่ทันจะเกิด แต่มันเข้าไปเห็นเหตุที่ใกล้จะเกิดก่อน  

พอเห็นเหตุที่ใกล้จะเกิดปุ๊บ...ดับหมด เกิดไม่ได้...รูปนามดับ  เกิด-ดับทันที ...นี่ มหาสติ ...เพราะนั้นมันจะรวมตัวมาเรื่อยๆ หดตัวลงมาเรื่อยๆ

ความคิดภายใน อาการภายใน ที่มันวนอยู่รอบใจรู้นี่ มันจะหด ... รูปทุกข์ทั้งหลาย มันจะหดลง เหลือแค่สภาวะจิตเกิด-ดับ ยิบๆ ยับๆ สุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่มี จะไปที่ไหนก็ไม่ไป อยู่ที่รู้ที่เดียว มีแต่รู้กับเกิด-ดับ

จนกว่ามันจะไม่เกิด-ไม่ดับน่ะ นั่นแหละถึงเรียกว่าจิตวิเวก ...ไม่ใช่แค่จิตวิเวกแค่สงบ หรือว่าทำให้สงบ นั่นมันเป็นแค่ชั่วคราว ...แต่ว่าจิตวิเวกจริงๆ มันระงับจากความปรุงแต่ง สงบระงับจากความปรุงแต่ง

เพราะนั้นเมื่อมันระงับจากความปรุงแต่งนี่ ...มันไม่ออกไปเป็นภพกับตรงไหน หรือไปถืออะไรเป็นภพ ...กิเลสจะเกิดได้ยังไง  ถ้าไม่เข้าไปยืนอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  

คือยังไม่ทันจะมีอารมณ์เลย มันจะเกิดยินดียินร้ายได้ยังไง มันจะเกิดดีใจเสียใจได้อย่างไร ... เห็นมั้ย กิเลสไม่เกิด เกิดไม่ได้ เพราะมันไม่รู้จะเกิดกับอะไร

กิเลสมันจะเกิดต่อเมื่อมีความหมายมั่นในภพ มีตัวเราเข้าไปยืนอยู่ในภพ เป็นเรื่องของเรา เป็นอารมณ์ของเรา ...เห็นมั้ย กิเลสจะเกิดตรงนี้ เกิดในขณะที่มีตัณหากับอุปาทาน

เพราะนั้นในปัจจยาการ ปฏิจจสมุปบาทนี่ ...อวิชชาปัจจยาสังขารา สังขาราปัจจยาวิญญาณ วิญญาณปัจจยานามรูป นามรูปปัจจยาสฬายตนะ ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์...ทุกข์ก็ ชรา พยาธิ มรณะ โสกะ ปริเทวะ โทมนัส อุปายาส 

มีไหมที่ท่านพูดถึงราคะ โทสะ โมหะ ...ไม่ได้พูดถึงเลย ...เพราะนั้นในความหมายของกิเลสนี่ มันรวมอยู่ในตัณหาอุปาทานทั้งหมด เพราะนั้นเมื่อไม่มีอุปาทานนี่ ไม่ต้องพูดเลย กิเลสไม่เกิดเลย ไม่มีความเป็นกิเลสในอุปาทาน 

เพราะนั้นการละกิเลส มนุษย์นักปฏิบัติที่ไม่เข้าใจ มันจะจองล้างจองผลาญกับกิเลสเหลือเกิน เพราะความไม่เข้าใจ ว่าต้องละให้ได้ ต้องดับให้ได้ ต้องไม่ให้เกิด

มันจะไม่เข้าใจเลยว่าจริงๆ น่ะ การละกิเลสคือการละอุปาทานต่างหาก  ละตัณหา ละการเข้าไปหมายมั่น ...ตรงนั้นน่ะ โลภ โกรธ หลง  ยินดี ยินร้าย เกิดไม่ได้  ราคะเกิดไม่ได้ โทสะก็เกิดไม่ได้อยู่แล้ว  

ไม่ใช่จะไปตั้งหน้าเป็นศัตรูกับราคะ เป็นศัตรูกับความโกรธตรงๆ  แล้วก็ต้องละ ต้องตัด ต้องข่ม อย่างนี้ มันทำด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ

แต่ถ้าเรารู้ทัน...ตั้งมั่น รู้ทัน...ตั้งมั่น มันก็ไม่ค่อยมีกิเลสเกิดขึ้น ...อย่าไปเข้าใจว่าเป็นการตั้งใจละกิเลสนะ  แต่มันด้วยความสติรู้เท่าทันและจิตไม่ออกมาหมายเป็นอุปาทาน 

ไม่มีตัวเราในอารมณ์ ไม่มีตัวเรากับความคิด ไม่มีตัวเรากับรูปที่เห็น ไม่มีตัวเราของเรากับเสียงที่ได้ยิน ดูดิ มันก็มีแค่เสียงลอยไปลอยมา ไม่ใช่เสียงของใคร ไม่ได้โดนเรา ไม่มีตัวเราในเสียง ...โกรธไม่เกิด ดีก็ไม่เกิด

อย่างนี้ต่างหากถึงเรียกว่าการละกิเลส คือการเข้าไปละที่อุปาทาน ไม่เข้าไปมีอุปาทาน ... อุปาทานคือการเข้าไปสร้างเป็นตัวที่ยืนอยู่บนแผ่นดินคือภพ  โดยอาศัยรูปเสียงน่ะเป็นภพ เป็นที่ตั้งของตัว 

เหมือนกับตัวเรายืนอยู่บนแผ่นดิน ไปอาศัยรูปที่เห็นนี่เป็นตัว เป็นแผ่นดินให้ตัวเราไปยืนอยู่ในรูปที่เห็น ...เมื่ออย่างนั้นน่ะ ตรงนั้นน่ะเป็นภพเมื่อไหร่ มันจะเป็นปัจจัยภายในนั้นน่ะ ให้ก่อเกิดราคะโทสะโมหะ 

เพราะว่าราคะโทสะโมหะนี่ มันเป็นลูกเต้าหลานเหลนของโมหะจิต ...ความไม่รู้เบื้องต้นนี่แหละ คือรากเหง้า เป็นรากเหง้าให้มีเชื้อของโกรธโลภหลงตามมาภายหลังในอุปาทาน 

มันก็มาสร้างแตกออกมาเป็นอุปาทาน จากความไม่รู้หรือโมหะจิตนี่ ความไม่รู้เบื้องต้น...นี่คือโมหะ ตัวร้ายเลย รากเหง้าของความไม่รู้ตัวคือโมหะ


โยม –  อ๋อ ถ้างั้นเราต้องมาเห็นตัวรากเหง้า คือกลับมารู้ พอรู้แล้วก็ไม่หลง

พระอาจารย์ –  ใช่


โยม –  แล้วก็ไม่ต่ออุปาทาน อย่างนั้นใช่มั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ เบื้องต้นก็ต้องไล่มา ปัจจยาการของการดับ ...ไม่ไปเกิด  

เพราะนั้นกลับมารู้ตัวบ่อยๆ ...ตอนนี้ ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก ทิ้งมันดื้อๆ น่ะ ละมันดื้อๆ ไปก่อนน่ะ...ให้มันชัดเจนกับรู้ปัจจุบัน  แล้วมันจะค่อยๆ เกิดธัมมวิจยะขึ้นมาเอง ...แต่ไม่ใช่วิจยะด้วยจินตา 

มันจะวิจยะด้วยการรู้เห็นบ่อยๆ รู้เห็นบ่อยๆ  เดี๋ยวมันจะวิจยะ...อ๋อๆๆ เป็นขั้นตอนเลย เป็นปัจจยาการแห่งการดับ ...เพราะในการดับแต่ละครั้ง การเกิดแต่ละครั้ง ไม่เหมือนกัน

การมีกิเลสเกิดขึ้นแต่ละครั้งไม่เหมือนกันหรอก เวลาดับก็ไม่เหมือนกันด้วย ...มันจะอาศัยพวกนี้มาประมวลเป็นธัมมวิจยะขึ้นมาภายในของมันเอง เป็นความรู้ของมันเองภายใน ที่มาทดแทนความไม่รู้ภายใน

จากที่มันทำไปด้วยความไม่รู้ภายในนั่น ...ต่อไปเมื่อมันประมวลด้วยศีลสมาธิปัญญา เห็นซ้ำซากการดับ การเกิดการดับ ซ้ำซากอยู่อย่างนั้น ... มันก็เกิดประมวลเป็นความรู้ภายในขึ้นมา ด้วยการวิจยะภายใน

มันจะเป็นธัมมวิจยะ คือวิจยะตามธรรมที่ปรากฏเกิดดับแต่ละครั้ง ... มันไม่ได้รู้ในครั้งเดียวหรอก ...มันต้องอาศัยนานๆ ไป มันถึงจะประมวลร้อยเรียงกัน เป็นบทเพลงเดียวกันหมด ...คือเป็นปัจจยาการแห่งการเกิดและการดับ


(ต่อแทร็ก 5/12 ช่วง 3)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น