วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/12 (3)


พระอาจารย์
5/12 (540804A)
4 สิงหาคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 5/12 ช่วง 2

โยม –  คำว่าวิจยะนี่บางทีมันเป็นวิจยะในแต่ละช่วงขณะนั้น แต่ละช่วงๆ ใช่มั้ยเจ้าคะ ที่อาจารย์พูด หมายถึงประมวลในตัวมันเองเช่นนี้  ที่หนูมองเห็นที่ในตัวเองทำก็คือ บางครั้งอย่างเช่นรูปเปลี่ยนอย่างนี้ บางครั้งเราก็ต้องจงใจเปลี่ยน เพราะเราต้องทำอย่างอื่นต่อไป นี่คือรูปถูกเปลี่ยนไปโดยความจงใจ

อีกแบบนึงก็คือ มีเวทนาเกิดขึ้น รู้สึกเมื่อย เวทนานี้เป็นตัวเชื่อมต่อให้เกิดการเปลี่ยนของรูปอีก มันก็เลยมองเห็น เหมือนไม่รู้ว่านี่วิจยะจะถูกมั้ย แต่มันจะ...อ๋อ แบบนี้เจตนา เพราะมีจุดมุ่งหมายที่จะต้องกระทำ  แต่แบบนี้มีเหตุอันเนื่องมาจากเวทนาเกิดขึ้นแล้วต้องเปลี่ยน  อย่างนี้เขาเรียกว่ามันประมวลใช่ไหมเจ้าคะ แต่ละขณะๆ ของมัน

พระอาจารย์ –  อือๆ ใช่ ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียดน่ะ มันมีการวิจัยวิจารณ์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ใจ ปัญญา


โยม –  แล้วอย่างที่เคยเรียนท่านอาจารย์ว่า ที่โยมเดินไปแล้วเห็นตัวเองเป็นแท่ง แล้วมองออกไปมันเห็นเขาเป็นแท่งเหมือนกัน แล้วคำพูดที่เราเหมือนจะเคยได้ยินได้ฟังมา ไม่คิดมาก่อนล่วงหน้าว่ามันจะคิด มันก็ขึ้นออกมาด้วยว่า มี-ไม่มี ไม่มี-มี  ก็เหมือนเขาจะเข้าใจในตัวเขาเบ็ดเสร็จแล้วก็จบลงไป อย่างนี้เรียกว่าอะไรเจ้าคะ เราไม่ได้ตั้งใจที่จะเข้าไป

พระอาจารย์ –  ก็เรียกว่าเกิดความรู้เป็นปัจจัตตัง ... ปัญญานี่เข้าไปเกิดการรู้เห็นตามความเป็นจริง แล้วยอมรับความเป็นจริง ด้วยตัวของมันเอง  เขาเรียกว่าเป็นปัจจัตตัง 

มันไม่มีเหตุมีผลใดๆ มารองรับเลย บทกูเชื่อ กูเชื่อเอาดื้อๆ เลย


โยม –  แสดงว่ามันก็มีความต่างกับวิจยะตรงที่วิจยะเขาสอดส่องโดยอย่างนั้นหรือคะ

พระอาจารย์ –  ในการเป็นปัจจัตตังตรงนี้ ไม่พอหรอก มันยังไม่พอ ... ต่อไปมันจะวิจยะเข้าไปอีกถึงรายละเอียด เกิดความรู้รอบรู้แจ้งขึ้นอีก ... แค่นี้มันยังไม่แจ้ง เดี๋ยวมันมีแจ้งกว่านี้อีก 

แล้วมันจะเห็นทุกอย่าง มันจะมองรวมกันหมด  มันยังไม่เห็นครอบคลุมไปทั่วอนันตาจักรวาล เข้าใจรึเปล่า ...แล้วสุดท้ายเมื่อมันครอบคลุมแล้วคราวนี้ มันจะประมวลรวมลงหมด ความรู้มันจะกระจายไปหมด  

ไม่ได้เห็นแค่แท่ง ไม่ได้หมดสุดสิ้นความหมายแค่แท่ง นี่แค่เป็นปัจจยาการ หรือว่าเป็นแค่ปัจจัตตังจำเพาะเล็กๆ เล็กๆ แค่นั้นเอง ... แล้วความเป็นปัจจัตตังในแต่ละครั้งๆ เดี๋ยวมันประมวลลงเป็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงขึ้นมา

ถึงเห็นยังไง กายยังไง ก็อย่าทิ้งกาย ...ดูไป เอากายเป็นเครื่องระลึกรู้ไว้  แล้วเห็นภาวะท่ามกลางกายมันก็มีจิตเกิดดับหรือว่าจิตไม่เกิดดับ หรือว่ามีอารมณ์ที่มันค้างเติ่งอยู่ ที่มันครุ่นคิดกังวลอยู่ ที่มันไหลไปอดีตอนาคตอยู่ ช่างหัวมัน

ก็ต้องมารู้ ดู อาการภายในอย่างนั้นน่ะ แล้วก็อยู่ท่ามกลางกายกับใจ  แล้วก็เห็นอาการท่ามกลางกับใจ เห็นขันธ์โดยรวมอย่างนี้ เข้าใจมั้ย  ให้มันเห็นขันธ์โดยรวมท่ามกลางกายกับใจ

เหมือนท่านโปฐิละ เวลาไปหาเณร...เณรสอนให้ว่า อาจารย์โปฐิละ เปรียบตัวอาจารย์เหมือนจอมปลวก มีเหี้ยอยู่ตัวนึงในจอมปลวก แล้วจอมปลวกมีอยู่หกรู อาจารย์จะจับเหี้ย ทำอย่างไร อาจารย์โปฐิละก็บอกว่า ปิดห้ารู เปิดรูนึงไว้  

เณรก็บอกว่า นั่นน่ะ กายอาจารย์โปฐิละคือจอมปลวก ตาหูจมูกลิ้นกายใจคือช่องทางออกของเหี้ย ให้อาจารย์ปิดห้ารู คือตาหูจมูกลิ้นกาย เปิดที่เดียวคือใจ เดี๋ยวอาจารย์ได้กินเหี้ย เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นนักดูจิตนี่ มันเปิดแต่ใจ  มันลืมไปว่าใจมันอยู่ในจอมปลวก ... เอาแต่ใจหรือเอาแต่นามอย่างเดียวไม่ได้ เข้าใจมั้ย  ลอย มันจะลอย เลื่อนลอย มันจะออกลอย 

มันจะต้องมีขอบเขต ขอบขันธ์พัทธสีมา เป็นเขตของวัด เข้าใจรึเปล่า วัดเขายังมีสังฆปริมณฑล เขายังมีผูกเป็นขันธ์พัทธสีมา ผูกสีมาไว้เป็นโบสถ์

ใจมันอยู่ในกาย  มันมีกายอยู่  ...อย่าลืมจอมปลวก ว่าใจนี้อยู่ในจอมปลวก...ต้องมี  ...ไม่งั้นมันจะลอยเลื่อน ไปอยู่กับนามตรงไหนก็ไม่รู้ จะไปดูนามตรงไหนก็ไม่รู้  

ให้มันอยู่ในภายในกายนี้ ให้มันมีกายนี้อยู่...คือเป็นรู้ท่ามกลางกายกับใจ แล้วก็เห็นอาการคิดอาการปรุงอยู่ภายในกายใจนี้ มันถึงจะเอาตัวรอด รักษาตัวรอดได้

ไอ้ดูจิตไปเรื่อยๆ ลืมกาย หรือว่าเห็นกายมันไม่สำคัญแล้ว ไม่มีอารมณ์เนื่องด้วยกาย แล้วดูจิตไปเรื่อยๆ ดูไปเรื่อยๆ จนถึงว่างปุ๊บนี่...เสร็จเลย ลอย หายไปกับความว่างเลย ไปตกคลั่กอยู่ในอารมณ์ที่เป็นอรูปนี่

แต่เมื่อใดที่เราไม่ลืมกาย รู้กายเป็นรูทีน เป็นเกราะ...ไม่ให้จิตมันเตลิดออกนอก หรือว่าลืมกายลืมใจ ลืมกายใจปัจจุบันไป ...มันก็จะเห็น สุดท้ายนี่ ความปรุงแต่งมันก็หดๆๆ เหลือแต่เกิด-ดับๆ อยู่ภายในกายใจนั้น

เมื่อความเกิดดับจบ หรือว่าหมด หรือว่าว่างปุ๊บ นี่ ก็เหลือกายกับใจ ชัดเจนอยู่ ... เห็นมั้ย มีใจรู้กับกายที่เป็นอะไรก็ไม่รู้อยู่อย่างนั้น ...บอกแล้วทิ้งกายไม่ได้ เพราะเราเป็นคน ไม่ใช่เทวดา ไม่ใช่พรหม  

เพราะเทวดานี่ขันธ์สี่ พรหมก็ขันธ์สี่ ขันธ์หนึ่ง หรือไม่มีขันธ์ ... ของเราขันธ์ห้า มีรูป มีกาย ไม่ใช่ขันธ์สี่เข้าใจมั้ย ทิ้งไม่ได้ ...มันต้องมีกาย-ใจอยู่


โยม –  ขันธ์สี่น่ะค่ะ เขาไม่ได้มีรูปละเอียดหรือเจ้าคะ ทำไมของเราขันธ์ห้าแต่เขามีสี่

พระอาจารย์ –  เอ้า ก็เขามีเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ


โยม –  แค่นั้นเอง ไม่มีรูปเหมือนรูปละเอียดรูปหยาบอย่างนี้ไม่ใช่หรือคะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  ไม่มีรูปกาย เพราะนั้นความหมายของเวทนาสัญญาสังขารนี่เขาไม่มีหรอกรูป  เทวดาจริงๆ น่ะ เป็นลักษณะของโอภาส เป็นรัศมีเป็นโอภาสเท่านั้น เข้าใจมั้ย  

นอกจากเทวดาที่บำเพ็ญมากจริงๆ ถึงจะระลึกถึงรูปในอดีตขึ้นมา แล้วอาศัยรูปในอดีตนั่นน่ะ เอามาเป็นตัวหลอกคน (หัวเราะ) ก็คือให้คนเห็น

แต่ว่าธรรมดา เทวดาทั่วไปนี่ เป็นลักษณะของรัศมีหรือโอภาส ความสว่าง แค่นั้นแหละ ... ไม่ใช่เทวดาแบบลอยไปลอยมาหาวิมานนั้นวิมานนี้ อย่างที่นักปฏิบัติเขาเห็นกันเป็นรูปนิมิต


โยม –  อ๋อ รูปอดีตของเทวดาก็มาจากสัญญาของท่าน

พระอาจารย์ –  ใช่  แต่ในความเป็นเทวดาจริงๆ นี่ ไม่มีรูป ไม่มีรูปกาย ... เพราะนั้นรูปภพยิ่งแล้วไม่มีขันธ์ห้า


โยม –  มันก็เลยเหมือนภพของมนุษย์เป็นภพที่โชคดีที่มีรูปให้เห็น

พระอาจารย์ –  ไม่นั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่บอกว่า มนุสสปฏิลาโภ หรอก  คือเกิดเป็นมนุษย์นี่เป็นลาภอันประเสริฐมากที่สุดเลย 

ทำไมพระพุทธเจ้าไม่ไปเกิดเป็นเทวดา เป็นเทพเทวดาที่มีมากมายมหาศาลกว่าสัตว์มนุษย์อีก ไม่เกิดเป็นพรหมที่จิตดีๆ จะได้สอนง่ายๆ ใช่มั้ย ...ทำไมต้องมาเกิดเป็นคน แล้วมาสอนคน

ในบทสวดมหาสมัยสูตรน่ะ ซึ่งในกาลครั้งนึง ของมหาพุทธันดรหนึ่ง จะมีสมัยหนึ่ง ครั้งหนึ่ง คราวหนึ่ง ที่พระพุทธเจ้าจะสวดบทมหาสมัย  ...แต่ละพระพุทธเจ้าแต่ละองค์ก็จะสวดครั้งหนึ่ง ในพุทธกัปนึง 

เป็นการชุมนุมเทวดาครั้งใหญ่ แบบอภิมหาโปรเจ็คท์ ...คือเทวดาทั่วอนันตาจักรวาลจะมาฟังพระพุทธเจ้า หาพระพุทธเจ้าพร้อมกัน เหมือนกับชุมนุม  เทวดาทุกชั้นฟ้าชั้นพรหม มาหมด  

พอเริ่มมานี่ เทวดาองค์เล็กๆ มาก่อน เป็นแสงสว่างมานี่ เดี๋ยวสักพักนึงมันจะมีแสงที่สว่างกว่ารัศมีมากกว่ามา ไอ้ตนนั้นก็ถอย แล้วก็จะมีแสงสว่างกว่ามาอีก เหล่านี้ก็ถอยๆ ...ไอ้ที่สว่างสกาวแล้ว ยังมีสว่างสกาวกว่าอีก

ก็ถอยๆๆๆ กันจนตกทะเล ตกมหาสมุทร ตกมหาอนันตาจักรวาล ยังไม่หมดเลย เห็นมั้ย ว่าภพของอรูป ภพของเทวดานี่ มากมายมหาศาลขนาดไหน ว่าสุดขอบจักรวาลนี่ 

ไอ้ตอนแรกที่นั่งใกล้พระพุทธเจ้านี่ เจอรัศมีที่ยิ่งกว่ามานี่ พวกนี้มันจะโดยธรรมชาติ มันจะต้องถอยร่นออกไป ด้วยอำนาจของบารมีจิตของภพนั้น หมดสุดขอบอนันตาจักรวาลยังไม่หมดเลย ขนาดไหน

นี่ ทำไมท่านจะไม่รู้ ไม่เอาประโยชน์กับพรหมหรือว่าเทวโลก โปรดสัตว์โลก โปรดสัตว์ได้ตั้งเยอะแยะ ท่านกลับมาเป็นมนุษย์ ที่มีรูป มีขันธ์ห้า
 
เพราะนั้นพระพุทธเจ้าทุกยุคทุกสมัย เกิดในโลกทั้งนั้น เกิดกับคน สอนคนทั้งนั้น ...ไม่มีพระพุทธเจ้าเกิดในเทวโลกหรือพรหมโลกหรอก  นั่นเป็นแค่เล่าเต๊งให้ท่านอยู่แค่นั้นแหละ ...แล้วก็ลงมา


โยม –  นอกจากคนที่มีขันธ์ห้าแล้ว ในสัตว์อื่นมีขันธ์ห้าเช่นนี้มั้ยเจ้าคะ

พระอาจารย์ –  สัตว์ก็มีขันธ์ห้า


โยม –  แต่ทำไมเขาถึงไม่สามารถที่จะเข้าใจ

พระอาจารย์ –  กรรมวิบาก วิบากเป็นตัวปกปิดสติปัญญา ปกปิดตัวเดียวคือตัวสติ ไม่รู้เลยว่าทำอะไรอยู่


โยม –  ทำตามสัญชาตญาณอย่างที่เขาพูดกัน

พระอาจารย์ –  ใช่ สัญชาติ+ญาณ  เห็นมั้ย สัญชาตญาณ คือญาณอันหนึ่ง  ญาณรู้อันหนึ่งของสัตว์ แต่ว่าเป็นติดมากับสัญชาติของสัตว์นั้นๆ ...เป็นญาณความรู้ที่เอาตัวรอด ให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ก็เรียกว่าเป็นสัญชาตญาณ

มนุษย์...ถ้าไม่ปฏิบัติมันก็อยู่ด้วยสัญชาตญาณ เอาตัวรอดไปวันๆ ...ไม่เห็นต้องมีสติก็อยู่ได้ ไม่เห็นต้องละกิเลส มันก็ทำไป มันก็ใช้ชีวิตอยู่ได้ 

เมื่อมีปัญญาได้ยินได้ฟัง เมื่อมีบุญ บุญเก่าสนับสนุนมาให้เกิดสุตตะกับจินตา มันก็เกิดการพอกพูนสติขึ้น สร้างสติสมาธิปัญญาขึ้นมา ... แต่สัตว์...ฟังไม่รู้เรื่อง บอกให้รู้ตัว ไม่รู้จัก เข้าใจมั้ย ไม่รู้ความหมาย


โยม –  มันก็เกิดการสะสมของแต่ละบุคคลว่าเขาจะสะสมไปทิศทางใดหรือเจ้าคะ บางคนก็เป็นนักปฏิบัติ แต่ก็ยังเห็นว่ามีตัวมีตนในความเป็นผู้ปฏิบัติมากมาย  ก็ในเมื่อ เอ๊ะ ก็ปฏิบัตินี่นา แต่มัน...

พระอาจารย์ –  ไม่มีปัญญา คือไม่ได้เจริญมาทางปัญญาบารมีมาก มันมุ่งทุ่มเททุ่มทุนลงไปที่...อยากได้อยากเป็นมาก...เป็นสัจจะที่มุ่ง  

เพราะนั้นว่าการบำเพ็ญบารมี มันก็ทำด้วยโมหะ ด้วยความไม่รู้  มันก็พอกพูนอัสมิมานะ มานะทิฏฐิขึ้นไป ...อยากได้ อยากมี อยากเป็น ขึ้นไปเรื่อยๆ

จนกว่าจะมีผู้มีปัญญามาชี้แนะ...ให้เข้าใจ ให้กลับมา ระลึกขึ้นมา รู้ตัวเองขึ้นมาเป็น  ให้มีสติระลึกรู้ถึงศีลสมาธิปัญญาที่แท้จริง เป้าหมายสูงสุดของการภาวนาหรือการปฏิบัติคืออะไร  

แล้วจิตมันจะเปิดรับขึ้นมาทีละเล็กทีละน้อย ...แรกๆ เหมือนกับประตูนี่มันลั่นดาลไว้ด้วยกุญแจสักสิบดอกอย่างนี้ มันไม่ยอม เข้าใจมั้ย มันไม่ยอม มันก็ขังตัวเองอยู่ในโลกที่ตัวเองต้องการ หรือธรรมที่ตัวเองต้องการจะได้  

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าปัญญา...ศีลสมาธิปัญญาเสมือนเปิดของคว่ำให้หงายขึ้น นี่มหาสติปัฏฐานก็บอก เหมือนของคว่ำที่หงาย ...พอหงายแล้วมันก็จะรู้เองว่า เหมือนหญ้าปากคอกน่ะ 

เหมือนหญ้าปากคอกเองนะ เข้าใจมั้ย ไม่ใช่อู้หู อ้าหา วู้ย ไม่ไหว ... มันหญ้าปากคอกเองนะ  อยู่ กิน เสพ ใช้ อยู่กับมันตรงนี้  อยู่กับธรรม กินนอนอยู่กับธรรม สัมผัสสัมพันธ์อยู่กับธรรมตลอดเวลาอยู่นี่ 

ไม่ต้องหา ไม่ต้องค้น  ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปปรุงอะไร ... แค่รับรู้ด้วยใจที่เป็นกลางในทุกปัจจุบันขณะด้วยสติ...แค่นี้

แต่ถ้าพูดให้คนอื่นฟังนี่... แค่เนี้ย...ไม่พอ  เห็นมั้ย มันไม่ยอมๆ ... ใจมันลั่นดาลไว้ “กูต้องได้อันนั้นก่อน กูต้องเป็นอย่างนี้ก่อน อาจารย์กูสอนไว้อย่างนี้อย่างนั้น ตำราพระพุทธเจ้าบอกไว้อย่างนี้อย่างนั้น”  

มันก็เลือกเอาแต่ข้อที่พระพุทธเจ้าพูดถึงเรื่องพวกนี้ที่มันมุ่งอยู่ เข้าใจรึเปล่า มันไม่เปิดใจ ...นี่ คือมันจำเพาะ คือกลายเป็นธรรมที่จำเพาะๆๆ จำเพาะกิเลสตัวเองน่ะ จำเพาะแต่ความเห็นของตัวเจ้าของ  

มันเลยเกิดการ shut up ตัวเองน่ะ  shut up - shut down กับเรื่องของตัวเองเท่านั้น เรื่องของความเห็นตัวเอง ... เพราะนั้นมันก็มีโมหะอยู่เต็มๆ น่ะ


โยม –  คนที่มาฟังท่านอาจารย์แล้ว แต่บางคนก็กลับไปเป็นแบบเดิมๆ แบบนี้แสดงว่ายังไม่ตื่นรู้จริง

พระอาจารย์ –  ยัง ...ก็ฟังไปงั้นๆ น่ะ ... เพราะนั้นว่าแค่สุตตะกับจินตาน่ะ ไม่พอหรอก  ตอนฟังน่ะเข้าใจ พอคิดตามตอนฟังน่ะรู้ เข้าใจ ก็ยอมรับ ... แต่พอกลับไปแล้วไม่ทำ

พอไม่ทำนี่หมายความว่าไม่ให้ใจดวงนี้มันเข้ามารู้เห็นตรงๆ ตามความเป็นจริงทุกขณะไป ซึ่งตรงนี้ท่านเรียกว่าภาวนามยปัญญา

ปัญญาตัวนี้สำคัญ ปัญญาตัวนี้จึงจะเกิดเป็นญาณทัสสนะ...เกิดความเปลี่ยนแปลง มันจึงจะเกิดความเปลี่ยนแปลงใจ  ความเห็นในใจให้มันเปลี่ยนไป

เพราะนั้นแค่สุตตะกับจินตานี่ มันได้แค่ชั่วขณะ ชั่วคราว ตอนนี้ แค่นี้เอง ... แต่ถ้าไม่ให้ใจมันเข้าไปเห็นตามความเป็นจริง เห็นไตรลักษณ์ตามความเป็นจริงทุกขณะ เห็นกายเกิดๆ ดับๆ เห็นกายเป็นไม่มีคำพูดคำจา 

ให้ใจมันเห็นอยู่เสมอ นี่ภาวนามยปัญญา...มันไม่มีตัวนี้ ... พอไม่มีตรงนี้ ปัญญาที่แท้จริง...ไม่เกิด  มันก็จะกลับคืนเหมือนกับความเห็นในโลก เหมือนเดิม 

ด้วยสุตตะ-จินตานี่ ไปไม่รอดหรอก ...ไปไม่รอด  แล้วก็เกิดความทอดอาลัยตายอยากหรือว่าประมาทมัวเมา ...พอมาฟัง หรือถูกชวนมาฟัง ก็ดีเป็นครั้ง  แต่ว่าความตั้งใจที่จะให้เกิดภาวนามยปัญญาน้อย ขี้เกียจ ประมาท  

แต่ถ้าใครฟังเข้าใจ แล้วเอาความฟัง สิ่งที่ฟัง สิ่งที่อ่าน สิ่งที่ได้ยิน แล้วก็พิจารณาตามแล้วเข้าใจ แล้วให้ใจเข้าไปเรียนรู้เห็นทุกขณะไปด้วยสติ สัมมาสติ

จนเป็นสัมมาสติ จนเป็นสัมมาสมาธิ จนเป็นญาณทัสสนะ เห็นความเป็นจริงของขันธ์เป็นไตรลักษณ์ ...อย่างนี้ ใจมันจะเกิดความยอมรับๆ ไป  ทุกครั้งที่ยอมรับ...มันจะวาง ทุกครั้งที่ยอมรับ...มันจะวาง  

ทุกครั้งที่ยอมรับ...ทุกครั้งที่วาง...มันจะเบา ...จากที่เคยเป็นเรื่อง จากที่เคยหนัก จากที่เคยแบก จากที่เคยหาบคอน จากที่เคยมัดเป็นโซ่ เป็นเชือก เป็นอะไรล่ามไว้  มันก็คลี่คลายออกไป...ด้วยภาวนามยปัญญาเท่านั้น

แล้วคราวนี้ว่าพอเปลี่ยนด้วยภาวนามยปัญญาแล้วนี่ คราวนี้มันจะไม่หวนคืน ...ยังไงก็ไม่หวนคืน  

ให้กลับไปมีอย่างเดิม ให้กลับไปทำอย่างเดิม ให้กลับไปคิดอย่างเดิม ไปสร้างความเห็นในโลก สร้างความมีความได้ความสุขความทุกข์ในโลก ...มันก็เริ่มไม่เหมือนเดิม จะไม่ทำ จะไม่หวนคืน

แต่ถ้าเป็นสุตตะ-จินตา เดี๋ยวก็หวนๆๆ  พอมีอะไร สีสันแปลกๆ ใหม่ๆ ดีกว่า ปุ๊บ เอาแล้ว...ทิ้ง ทิ้งหมด ทิ้งศีลสมาธิปัญญาหมด 

แต่พอภาวนาเรื่อยๆ ปุ๊บ มันจะรู้สึกเลยว่า ไม่ทิ้งศีลสมาธิปัญญาแล้ว มันจะอยู่กับศีลสมาธิปัญญามากขึ้นๆ จนศีลสมาธิปัญญารวมเป็นดวงเดียวกับใจ

เพราะว่าธรรมชาติของใจจริงๆ น่ะคือศีลสมาธิปัญญา...โดยธรรมชาติเลยนะ ที่ไม่เป็นภาษาสมมุติบัญญัติ หรือว่าเป็นธรรมบัญญัติ  

แต่สภาวะของใจ จริงๆ คือสภาวะของศีลสมาธิปัญญา ...เป็นธรรมชาติในตัวศีลสมาธิปัญญาโดยตรงอยู่แล้ว


(ต่อแทร็ก 5/13)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น