วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/15 (2)


พระอาจารย์
5/15 (540815A)
15 สิงหาคม 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ :  ต่อจากแทร็ก 5/15  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เมื่อใจมันเข้ามาเห็นสภาวธรรมที่มันเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ แล้วก็ดับไปอย่างนี้ 

มันจะเข้าไปเห็นว่า มันไม่ใช่เรื่องราวของใคร มันเป็นไปด้วยความที่ไม่มีตัวไม่มีตน มันเป็นเรื่องของธรรม เป็นธรรมล้วนๆ เลย ...เป็นเรื่องของธรรม ไม่ใช่เรื่องของเรา หรือของใจที่รู้ที่เห็น

ตอนนี้ใจที่ไปรู้ไปเห็นมันไปว่าเป็นของเราอยู่ ...แต่ต่อไปมันจะเห็นว่ามันไม่ใช่เป็นเรื่องของใจที่ไปเห็น แต่มันเป็นเรื่องของธรรมของเขาเองที่ปรากฏเอง ตั้งเอง ดับเอง 

แล้วก็มีอะไรมากระทบสัมพันธ์ใหม่ มันก็กลายเป็นเกิดขึ้นมาอีก อยู่อย่างนี้ ...ก็เห็นปัจจยาการแห่งการเกิดและการดับอยู่ทั้งวี่ทั้งวันน่ะ เป็นเรื่องของปัจจยาการ เป็นความสืบเนื่องโดยปัจจัย...เหตุปัจจโย

นี่ เวลาสวด ไปสวด ไปสวดให้คนตายฟังทำไม ...ต้องสวดให้คนเป็นฟัง เหตุปัจจโย อารัมณปัจจโย กัมมปัจจโย วิปากปัจจโย อยู่อย่างนี้ ...ทุกอย่างมันเป็นไปตามเหตุและปัจจัย

พอตายก็หมดเหตุปัจจัยของขันธ์ ...แต่ใจภายในไม่หมดเหตุปัจจัย มันยังไม่สิ้น  เพราะว่ามันยังสร้างเหตุขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยความไม่รู้ มันก็สร้างเหตุขึ้นมาด้วยความไม่รู้ ...สร้างเหตุใหม่

“ทำไมถึงตาย ยังไม่ควรตาย ถ้าเรายังอยู่แล้วเราจะทำอะไรได้อีก หรือว่าถ้าเราได้กายที่ดีกว่านี้แข็งแรงกว่านี้ มันจะทำประโยชน์ได้มากกว่านี้” 

นี่ ใจที่มันยังไม่หมดเหตุปัจจัย มันสร้างเหตุอย่างนี้ขึ้นมาอีก ...เมื่อมันสร้างเหตุขึ้นมา...ด้วยความไม่รู้อย่างนี้ ...เหตุนี้มันจึงไปเป็นที่ตั้งของการที่จะมีปัจจัยมาผสม เกิดความสืบเนื่องต่อ 

เหมือนไม้ขีดก้านเดียวน่ะ เผาป่าทั้งป่า...ก็ได้ ...เนี่ย ปัจจัยมันก็จะเกิดขึ้นพอดี เพราะไม้ขีดก้านหนึ่ง ...ตราบใดที่ใจมันยังสร้างเหตุขึ้นมา ด้วยความไม่รู้นี่...แค่นิดเดียวน่ะ มันลาม เป็นไฟลามทุ่งเลย

แต่ของพวกเรานี่ ไม่ใช่แค่นิดเดียวนะที่สร้างเหตุน่ะ ...ตายไปแล้ว อู้หู บานเลย ที่มันยังค้างอยู่ข้างในนี้ ที่มันยังไม่สำเร็จน่ะ ยังไม่สำเร็จผล

เนี่ย ที่มันคาดไว้ มันหวังไว้น่ะ ที่มันยังไม่ได้มาน่ะ  หาดูดิ หาเท่าไหร่ก็ไม่จบเลย ...ดูเอาเหอะ มันคาดไว้ขนาดนั้นน่ะ...มีหรือมันจะไม่เกิด 

แค่ไม้ขีดก้านเดียวยังไหม้โลกได้ทั้งโลกน่ะ ....เพราะนั้น เห็นมั้ยว่าอย่าประมาทแม้แต่ของเล็กน้อย 

นิดเดียวก็ไม่เอา หน่อยนึงก็ไม่เอา ...อย่าให้มันผุด ให้มันโผล่ ต่อเนื่องออกมา...ว่าความคิดนี้ไม่มีโทษ คิดไปเรื่อย เพ้อเจ้อไปเรื่อย ไม่ได้เดือดร้อนใคร 

นั่นแหละมันจะเผาไหม้ตัวเองในที่สุด ...อย่าเล่นกับไฟ อย่าคิดว่าเหนือไฟ แก้ไฟได้...ไม่มีทาง 

ขันธ์นี่เป็นไฟ ขันธ์เป็นไฟ ขันธ์ห้าเป็นไฟ ลุกท่วมโลก ท่วมภพสามภพ ก็ไฟในขันธ์นี่ ...มันเป็นของร้อน ...เพราะนั้นต้องดับไฟอยู่เสมอ คือไม่ไปประกอบเหตุกับมันอีก 

อะไรที่จะไปประกอบเหตุกับมันอีก ...ก็พระพุทธเจ้าบอกไว้ อวิชชา ปัจจยา สังขารา ... สังขาราปัจจยาวิญญาณ ... วิญญาณปัจจยานามรูป ... นามรูปปัจจยาผัสสะ เวทนา ตัณหา

ตัวที่จะไปประกอบเหตุให้ต่อเนื่องไปไม่จบสิ้นนี่...ดับตรงไหนได้...ดับ  ...จากสังขาราลงมานี่ ดับได้หมด ...ดับด้วยการหยุด ไม่ใช่ดับด้วยการเอามือไปทุบมัน หรือไปบังคับให้มันหมด ให้มันดับ...ไม่ใช่ 

ดับด้วยการหยุด รู้แล้วก็หยุด รู้แล้วหยุดๆๆ ...ไม่ตามมัน ไม่ไปประกอบเหตุกับมันด้วยการสร้างรูปสร้างนาม สร้างความรู้สึก สร้างความอยาก สร้างความหมายในอดีตในอนาคตกับมัน

เนี่ย พวกนี้ หยุดเข้าไป  อย่าให้มันไปประกอบเหตุพวกนี้กลับมา ...ไม่งั้นมันจะลุกลามใหญ่โต เป็นไฟลามทุ่งไม่จบไม่สิ้น

แล้วไม่ใช่วันนึงมันคิดเรื่องเดียวซะเมื่อไหร่ ...กี่เรื่องล่ะ เจอสิบคนก็คิดสิบแบบแล้ว ถ้าคนนี้ไม่จบ คนนั้นก็ยังค้างอยู่ อีกคนนึงมาอีกแล้ว อีกคนก็ยังคิดค้างอยู่ เอ้า มาอีกคน

มีหรือมันกลับไปมันจะไม่เหนื่อยหอบไปเลย หนักอึ้งไปหมดน่ะ ...แล้วก็มานั่งบ่นว่าทำไมนั่งแล้วมันไม่สงบ ทำไมทุกข์มันถึงสุมมันแน่นไปหมด ...เพราะลึกๆ มันยังไม่หยุดการประกอบเหตุภายใน

สติ บ่อยๆ ...เรียนรู้ทีละเล็กทีละน้อยนี่ ละไปทีละเล็กทีละน้อยนี่  ละความคิด ละความเห็นไป  ไม่คิดไม่เห็น ไม่วิพากษ์วิจารณ์ ...เห็นอะไร ใครทำอะไร ได้ยินอะไร ไม่วิพากษ์วิจารณ์น่ะ

รู้เฉยๆ สงบนิ่งอยู่ภายใน ...ทำเหมือนเซ่อ เหมือนใครจะล่วงล้ำก้ำเกินความเป็นส่วนตัว ใครจะว่ากล่าวเสียดสีก็ได้ ...ส่วนมากผู้หญิงน่ะจะเป็นลักษณะของการเสียดสี เหน็บแนม กัด ทางคำพูด สายตา อะไรพวกนี้ 

ก็ให้เขากัดไป ให้เขาเหน็บไป ให้เขาแย็ปไป ให้เขาล่วงล้ำก้ำเกินไป ถือเป็นอภัยทานไป ...แล้วก็ตั้งมั่นไว้ เล็กๆ น้อยๆ อย่าไปคิดเล็กคิดน้อย...ละไป 

จนใจมันว่าง จนใจมันเบา จนใจมันนิ่ง จนใจมันอยู่ได้ ทนได้ ในทุกสภาวการณ์ ทุกสภาวะอารมณ์ ...แล้วก็จะเห็นเองว่ามันไม่มีอะไรหรอก 

ถ้าเราไม่จับมันไปคิดต่อ มันก็ไม่มีเรื่อง ไม่เป็นเรื่องหรอก  มันก็เป็นเรื่องแค่ตอนที่เขาพูด ตอนที่เขาแสดงอาการ ...มันเกิดเหตุแค่ตรงนั้นน่ะ

เพราะนั้นเมื่อสติตั้งมั่นดีแล้ว เท่าทันปัจจุบันดีแล้ว ก็จะเห็น...เหตุเกิดที่ไหน ความดับก็อยู่ที่เหตุนั้นน่ะ ...อยู่ที่ตรงเหตุที่เกิด

ธรรมบทนี้ พระอัสสชินี่ เป็นผู้ที่สอนพระสารีบุตร ด้วยธรรมบทนี้ “ธรรมทั้งหลายทั้งปวงเกิดแต่เหตุ พระพุทธเจ้าสอนให้เห็นถึงธรรมที่เข้าไปสู่ความดับที่เหตุนั้น” 

พระสารีบุตรฟังแล้ว “อ๋อ” เลยน่ะ...อ้อ เข้าใจแล้ว มันเกิดตรงไหนมันดับที่นั่นแหละ

เขาแสดงอากัปกริยาผ่านหน้าให้ตาเราเห็นปุ๊บ นี่คือเหตุภายนอก ปรากฏมากระทบกับลูกตา ถ้าเราไม่ใส่ใจปุ๊บ เหตุนั้นก็ตั้งอยู่ตรงนั้นน่ะ แล้วก็ดับอยู่ตรงนั้นน่ะ 

ไม่ต้องไปดับมันเลย มันดับอยู่ตรงที่ตั้งนั่นแหละ เป็นขณะๆ ไป ...เนี่ย ทุกข์มันจะเกิดได้ยังไง ทุกข์มันเกิดตรงไหนมันก็ดับตรงนั้นน่ะ

ทุกข์ก็เกิดที่เหตุ เหตุที่เกิดก็คือทุกข์ ...เพราะนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่าในโลกนี่มันมีแต่ทุกข์ เพราะมันมีแต่เหตุที่เกิด ไม่จบไม่สิ้น หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนอยู่อย่างนี้

เพราะนั้นพระพุทธเจ้าบอกว่า ในโลกนี้ ท่านมองไม่เห็นอะไรเลย...นอกจากทุกข์เกิดขึ้น กับทุกข์ดับไปแล้ว...ท่านไม่เห็นอะไรหรอก 

เพราะอะไรที่ปรากฏขึ้นน่ะ หรือว่าธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏ ท่านเรียกว่าทุกข์หมด ...คืออาการหรือว่าเหตุที่ปรากฏ

เพราะนั้นท่านเห็นเหตุที่ปรากฏหรือว่าทุกข์ที่ปรากฏ ด้วยความเป็นกลาง ด้วยการไม่เข้าไปมีอุปาทาน ไม่เข้าไปมีตัณหา ไม่เข้าไปมีราคะ ไม่เข้าไปมีโทสะ ...ท่านก็เลยเรียกว่าธรรม เห็นเป็นธรรม 

เห็นเป็นธรรมก็คือธรรมดา เห็นเป็นธรรมก็คือธรรมชาติหนึ่ง เห็นเป็นธรรมก็คือเป็นกลางอันหนึ่ง เป็นสิ่งหนึ่ง...ของมันเอง 

นี่ จากที่ว่า...ไอ้นั่นก็ทุกข์ ไอ้นี่ก็ทุกข์ ไอ้โน่นก็ทุกข์ ไอ้นู่นก็ทุกข์ มันไม่ทุกข์แล้ว มันเป็นธรรม ...มีแต่ธรรมล้วนๆ 

เห็นอะไร ได้ยินอะไร ดีร้ายถูกผิด ล้วนเป็นธรรมที่ปรากฏชั่วคราวแล้วดับไป ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่ได้เป็นของใคร ...ไม่ได้เป็นของคนที่แสดงอาการนั้นด้วย ไม่ได้เป็นของเสียงของคนที่พูดด้วย

มันเป็นธรรมหนึ่ง เป็นธรรมชาติหนึ่ง เป็นลักษณะของผัสสะหนึ่ง มีความดับไปเองในตัวของมัน 

ไม่ต้องไปบังคับให้มันดับ ไม่ต้องไปหนีมัน ไม่ต้องไปก้าวก่ายแทรกแซงมัน ไม่ต้องไปห้ามมัน ...ทุกอย่างก็เป็นไปตามธรรม ทุกอย่างก็เป็นไปเป็นธรรมดา

พระอรหันต์จึงเรียกว่าเป็นธรรมล้วนๆ ทุกอย่างเป็นธรรมล้วนๆ เป็นธรรมทั้งแท่ง เป็นทองก็เป็นทองแท้ 100% ไม่ใช่ 99.99 หรือ 96.5 ของแท้ ทองแท้ 100% นี่เรียกว่าเป็นธรรมทั้งแท่งเลย

ภายนอกก็เป็นธรรม กายใจก็เป็นธรรม อันเดียวกันตลอด ...ไม่มีของปลอม ไม่มีเจือปนด้วยของปลอม ด้วยความคิดความปรุง ด้วยการคาดการหมาย ด้วยความอยากความไม่อยาก สอดแทรกอยู่ในธรรมนั้นๆ

จึงเรียกว่าหมดจดหมดสิ้น เป็นธรรมที่บริสุทธิ์หมดจดไร้มลทิน เป็นเพชรที่ไร้มลทินไม่มีตำหนิ เป็นเพชรน้ำเอก ไม่มีแม้แต่ขนแมว ละอองน้ำ ในหยาดเพชรเม็ดเพชรนั้น 

นั่น ถึงเรียกว่าเพชรน้ำหนึ่ง ...หาได้ยากในโลก ยากมาก ยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทรอีก

ดูตัวเองก็รู้...ว่ามันยากขนาดไหน กว่าจะชำระใจดวงนี้ให้บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไร้มลทิน สูญสิ้นซึ่งความปรุงแต่งทั้งในแง่ดีแง่ร้าย ทั้งในอดีตทั้งในอนาคต แม้กระทั่งปัจจุบัน  

ไม่ใช่ละอดีตละอนาคตได้แล้วยังมาผูกมัดอยู่กับปัจจุบัน ...แม้แต่ปัจจุบันท่านก็ไม่ติด แน่มั้ยแน่ล่ะ...พระอรหันต์นี่

เพราะนั้น ธรรมเป็นของจริงอย่างเนี้ย ผู้ปฏิบัติจึงต้องจริง ...ถ้าไม่จริงก็ไม่เข้าถึงธรรมที่จริง ไม่เข้าถึงธรรมแท้ ไม่ใช่ของที่เล่นๆ ลูบๆ คลำๆ เป็นงานอดิเรก 

ใจมันจะต้องตั้งมั่นขึ้นมามาก จนถึงมากที่สุด ...จากเห็นคลุมๆ เครือๆ จนถึงเห็นแจ้งเห็นชัด เหมือนแบมือกลางวัน ตอนที่พระอาทิตย์ขึ้น ...นี่ มันชัดขนาดนั้นน่ะ

ไอ้พวกเรามันดูกลางคืน มันก็มองไม่เห็น เวลาเห็นก็ไฟฉายแบตเตอรี่อ่อนๆ แล้วก็หายไป ...ก็ต้องเอาจนมันเป็นเหมือนกับยืนอยู่กลางพระอาทิตย์กลางวันที่ฟ้าใสน่ะแหละ มันแจ้งอย่างนั้น 

ใจพระอรหันต์ท่านสว่างอย่างนั้น ...จิตพระอริยะก็สว่างน้อยกว่ากันลงมาตามภูมิปัญญา

โสดาบันถ้าเปรียบจะเหมือนกับเช้าตรู่ พระอาทิตย์เพิ่งขึ้น มันก็สะลึมสะลือ เบลอๆ ...แต่ก็ไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไรมาก พอเดินไปได้ตามทาง พอเห็นทาง ไม่ออกนอกทาง 

คือยังไงถ้าสว่างแล้วเดี๋ยวก็สายขึ้นมาหน่อย มันก็เห็นชัดขึ้น จากเดินค่อยๆ เดิน มันก็เดินได้เร็วขึ้น พอเดินได้เร็วขึ้น ...พอกลางวัน พอเริ่มจะถึงกลางวัน เมฆไม่ค่อยมี วิ่งก็ยังได้

แต่ว่าทางน่ะ ทางใครทางมัน ...บางคนก็ยาว บางคนก็สั้นเพราะเคยวิ่งมาหลายรอบแล้ว ...แต่ถ้าเพิ่งเริ่มวิ่ง ยังอีกไกล ก็ต้องวิ่งหน่อย 

ใช้เวลาไม่เท่ากัน เพราะว่าสร้างเหตุไว้มาก-น้อยต่างกัน ...บางท่านบางองค์ท่านก็สร้างเหตุไว้ แล้วท่านก็ละเหตุนั้นมาก่อน ท่านวิ่งมาก่อนแล้ว บางทีก็วิ่งรวดเดียวถึงเลย 

แข่งเรือแข่งพายแข่งได้ แข่งบุญวาสนาแข่งไม่ได้ ...มันไม่เหมือนกัน ธรรมใครธรรมมัน ทางใครทางมัน ตัวใครตัวมัน ใจใครใจมัน กรรมใครกรรมมัน ...ต่างกันอย่างนี้

แต่เมื่อไหร่พระอาทิตย์มันจะขึ้นล่ะ หือ พวกเราน่ะ มืดตึ้บ อาศัยแต่ไฟฉาย เดี๋ยวก็แบตหมด ...มาหาซื้อแบตอยู่นั่นน่ะ เงินก็ไม่ค่อยมี ...คือมาฟังธรรม นี่ ก็ไม่มีเวลามาฟัง 

พอไม่ค่อยมีเวลามาได้ยินได้ฟัง จะซื้อแบตสักทีต้องรอเป็นเดือน มันจะเดินเองก็ตกร่องตกรูอยู่เรื่อย ...แล้วมีร่องมีรูตรงไหน ก็ชอบจัง ชอบไปแวะ 

สนุกดี เพลินดี แวะร้านขายของชำก่อนซื้อขนมขบเคี้ยวไว้กิน นั่งเล่นลอยชายจิบน้ำชาดูวิว ...นี่ มันมืดตึ้บ ไม่ยอมเดิน เพราะไม่รู้จะเดินไปทางไหน มันมืด ใจมันไม่ตื่น

ไอ้มันตื่นแล้วมันก็สว่างขึ้นมา ...ตื่นน่ะแหละคือสว่าง ใจตื่นใจรู้นี่คือความสว่าง อาโลโก ทำให้มันสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ จักขุง อุทปาทิ ญาณัง นี่ อาโลโก อุทปาทิ ญาณัง ให้มันสว่าง 

มันก็เหมือนกับชาร์จแบตเตอรี่ในตัวของมันเอง มันจะได้เดินตรงทางซะหน่อย ...เป็นกลางยังไง มันก็จะชัดเจนขึ้นไปเองเมื่อมันสว่างขึ้นไปเรื่อยๆ น่ะ ไม่งั้นก็ลูบๆ คลำๆ

แต่ก็ต้องอาศัยการลูบๆ คลำๆ ไม่ท้อไม่ถอยนี่แหละ มันก็ตื่นขึ้นไป สว่างขึ้นไป ชัดเจนขึ้นไป รู้ตรงไหนก็ลงอยู่ที่เดียวอันนั้นน่ะ ไม่มีหลายรู้แล้ว ไม่มีที่นั้นที่นี้ ไม่มีตรงนั้น ไม่มีตรงนี้ 

มีอยู่ตรงเดียวก็คือตรงรู้ ...นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ สงบก็รู้ ไม่สงบก็รู้ มีลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้ เห็นก็รู้ ได้ยินก็รู้ ดีใจก็รู้ เสียใจก็รู้ รู้มันเข้าไป ...นั่นแหละมันจะไปเติมความสว่างของใจขึ้นมา ให้มันแจ้ง ชัด ชัดเจน

มันชัดเจนในขันธ์ มันชัดเจนในผัสสะว่าคืออะไร ขันธ์คืออะไร มันมีชื่อมั้ย มันชัดเจนว่ามันไม่มีชื่อน่ะ มันชัดเจนว่าเป็นแค่ของเกิดดับ มันชัดเจนนี่ ...ถึงว่ามันต้องชัดเจนอย่างนี้ 

ไม่ใช่ไปเห็นเหมือนกับชัดจนเห็นรายละเอียดไปถึงไฝถึงรอยกระ...ไม่ใช่ ...คำว่าชัดคือชัดว่า...เออ มันไม่มีชื่อมีเสียงนะ เป็นใครอะไรอย่างนี้ มันชัด เห็นชัดๆ เลย

อ้อ เห็นชัดเลยว่ามันเกิดเองน่ะ มันตั้งเอง แล้วมันดับไปเองน่ะ มันชัดอย่างนี้ ...แล้วก็ในการเกิดการดับไปน่ะ มันไม่มีผีตัวใดอยู่ในตัวนั้นน่ะ ...คือมันไม่มีชีวิตในขันธ์นั้นๆ ที่ปรากฏ 

อย่างนี้ เรียกว่าชัดเจน ...คือชัดเจนด้วยปัญญา ด้วยญาณ

เมื่อมันชัดเจนอย่างนี้บ่อยๆ นั่นแหละ ทางมันก็ยิ่งวิ่งอยู่ในทาง เดินอยู่ในทางอยู่ตลอดแล้ว ในการชัดเจนอย่างนี้ ในไตรลักษณ์อย่างนี้ๆ ...จนเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมอันเดียวกัน

คำว่าธรรมอันเดียวกันคือในแง่ของปรมัตถ์ที่เกิดดับ นั่นแหละเรียกว่าเป็นธรรมอันเดียวกัน ...แต่ว่ามันแตกต่างกันโดยสมมุติ บัญญัติ เรียกขาน จำ อะไรอย่างนี้ มันแตกต่างกัน 

มันแตกต่างกันที่สมมุติกับบัญญัติ ...ไอ้นี่เรียกว่ารูป ไอ้นี่เรียกว่านาม ไอ้นี่เรียกว่ารูปชายรูปหญิง ไอ้นี่เรียกว่ารูปสวยรูปไม่สวย ...นี่ มันแตกต่างกันโดยสมมุติกับบัญญัติเท่านั้น

แต่ถ้าโดยปรมัตถ์นี่ มันคืออาการเกิดๆ ดับๆ ...แล้วจากนั้นเมื่อมันเห็นความเป็นจริงของปรมัตถ์นี้บ่อยๆ ในความเกิดดับ ก็ไม่มีอะไร...ในความเกิด ไม่มีอะไร...ในการตั้งอยู่ ไม่มีอะไร...ในความดับไป 

นี่ ยิ่งดับไปนี่ยิ่งเห็นได้ชัดว่าไม่มีอะไร ...เพราะนั้นต่อไปมันจะเห็นความดับๆๆๆ ไม่เห็นอะไรไม่ดับ ...ดับตลอด มันชัดเจนน่ะ ...ยิ่งชัดเจน นี่ เกิดไม่ค่อยสนแล้ว สนแต่ดับ 

ดับๆๆๆ หาความไม่ดับไม่มี หาอะไรที่ไม่ดับไม่มี ...มันจะนาน มันจะมาก มันจะน้อย มาเท่าไหร่ดับเท่านั้น  มามากดับมาก มาน้อยดับน้อย มานานดับนาน มาเร็วดับเร็ว ...ดับหมด

ไม่เหลือ ไม่หลงเหลือ เวลาดับแล้วไม่เหลือซากน่ะ เข้าใจมั้ย  ...คำว่าดับไม่เหลือซาก ดับโดยสิ้นซากนี่ เขาเรียกว่ามันไม่มีตัวตน ดับกระทั่งไม่มีตัวไม่มีตนหลงเหลืออยู่

หรือเห็นทีไรมันไม่เคยเหลือซากเลย...นั่นแหละความเป็นจริง  ...ถ้ามันไม่จริงน่ะมันก็จะมีซาก 

นี่ ใจมันก็จะเข้าไปเรียนรู้ความเป็นอนัตตาของทุกสิ่ง มันก็จะเห็นขันธ์ สัพเพ ธัมมา อนัตตา ขึ้นไปเรื่อยๆ ...ทั้งขันธ์ใน-ขันธ์นอก จนถึงที่สุดของขันธ์  

ที่สุดของขันธ์...คือเหตุที่ให้เกิดขันธ์...คือใจ  ใจนี่แหละเป็นเหตุให้เกิดขันธ์ ไม่มีใจ...ไม่มีขันธ์  ไม่มีขันธ์ก็ไม่มีใจ


(ต่อแทร็ก 5/16)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น