วันจันทร์ที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/16 (3)


พระอาจารย์
5/16 (540815B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ :  ต่อจาก แทร็ก 5/16  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  อะไรคือธรรมที่ปรากฏ ที่พอดี ...ก็พระพุทธเจ้าบอกย้ำแล้วย้ำอีก มันมีแค่สองอย่าง...กาย-ใจ  มันมีแค่นี้จริงๆ ที่พอหอบหิ้วมันไปได้ตลอดเวลา  

สมบัติรถราที่ดินการงาน ผู้คนเพื่อนฝูงพ่อแม่ญาติพี่น้อง มันอยู่แค่ประเดี๋ยวนึง ...แต่ที่มีอยู่จริงๆ จำเป็นต้องอยู่กับมันจนตาย เป็นธรรมที่ต้องครอบครองกันอยู่โดยธรรมชาติ มันมีแค่สองอย่างจริงๆ คือกายใจ 

พระพุทธเจ้าบอกให้เอาแค่นี้ก่อน แล้วก็ให้แจ้งไอ้สองอย่างนี่ แล้วทุกอย่างทิ้งได้หมดแหละ ไม่ต้องกลัว ...อัตตามันก็จะหดเข้ามา อีโก้มันก็จะน้อยลง ความเห็นแก่ตัวก็น้อยลง 

ความเอาแต่ตัวเอง เอาแต่เรื่องของตัวเองก็น้อยลง มันไม่รู้จะเอาอะไร ...เพราะไม่มีตัวให้รองรับ ไม่มีเราให้ไปรองรับความอยาก ไม่มีเราไปรองรับความมี ไม่มีเราเข้าไปรองรับความเป็น

ไอ้ที่เรามี เราเป็น เราได้ ...ก็เพราะมี "เรา" น่ะ มันถึงมี...มีคนไปมี  เพราะมี "เรา" น่ะแหละ...มันถึงมีคนไปได้  เพราะมี "เรา" น่ะแหละ...มันถึงมีคนเข้าไปเป็น  

ถ้าไม่มี "เรา" น่ะมันจะมีอะไรได้เป็นล่ะ...ไม่มี ...  มันก็เป็นแค่กายกับใจ ตั้งอยู่ซื่อๆ บ่ดายคู่กัน 

กายก็เดินไปเดินมา ร้อนไปเย็นมา ไหวไปไหวมา เลื่อนไปไหลมา ปวดเมื่อยไปปวดเมื่อยมา หิวไปหิวมาของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ ...ไม่เห็นมันจะดีกว่านี้แล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้แล้ว 

มันเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เกิด ...แล้วมันก็ไม่ได้อุทธรณ์ร้องขอความคุ้มครองชั่วคราว ห้ามปวดนะ ห้ามแก่นะ ห้ามเมื่อย ห้ามป่วย ห้ามหิว ห้ามทุกข์ มันไม่เคยอุทธรณ์ฎีกาใดๆ 

แน่ะ กายเขาก็เป็นอย่างนี้ ซ้ำซาก จำเจ วนเวียนอยู่ตามธรรมที่ปรากฏ มีอยู่แค่นี้จริงๆ ...แต่เราเห็นไม่จริง...ใจน่ะมันเห็นไม่จริง ...เห็นประเดี๋ยวประด๋าว ไปสร้างเรื่องอื่นให้มันเห็นอีกแล้ว 

เห็นประเดี๋ยวประด๋าว ไปเอากายคนอื่นมาเห็นอีกแล้ว เห็นประเดี๋ยวประด๋าว ไปเอากายของเราในอดีตอนาคตมาเห็นอีกแล้ว เห็นประเดี๋ยวประด๋าว ไปเอากายที่ยังไม่ปรากฏเลยในมนุษย์มาเห็นอีกแล้ว

มันไม่แน่จริงนี่หว่า ...จิตไม่แน่ จิตไม่จริง จิตไม่ตรง คดๆ โกงๆ ฉ้อฉล มีเล่ห์ มีเลศนัย มีมารยา มีสาไถย ...มารยาสาไถยคือมลทินเหมือนกัน

จิตมีมารยา จิตมีสาไถย มันไม่ตรง มันอ้างข้างๆ คูๆ ข้ออ้างตามความเคยชิน อ้างไปอ้างมา ...เห็นมั้ย ความมีมารยาสาไถย มันไม่ตรง

อย่าไปอาย ...ดีก็ดี ชั่วก็ชั่ว ถูกก็ถูก ผิดก็ผิด มันว่ายังไง ดูมันลงไปตรงๆ ก็จะเห็นความดับไปเป็นธรรมดาของมันเอง ไม่ใช่เรื่อง ...อย่าไปอายจิต อย่าไปอายตัวตนที่แสดงออกมา 

ตัวจริง...ต้องอยู่กับตัวจริง  เพราะธรรมเป็นของจริง ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง จนถึงที่สุด ...เบื้องต้นน่ะธรรมตัวจริงคือกิเลสนั่นแหละ ตัวจริง...ล้วนๆ เลย 

อยู่กับกิเลสทั้งวันทั้งวี่ อย่ามาอ้างเป็นพวกมือถือสากปากถือศีล ปากคาบคัมภีร์ อะไรประมาณนั้น ...ให้มันตรง  ดีก็ดี ร้ายก็ร้าย มีอารมณ์ก็มีอารมณ์ รักก็รัก โลภก็โลก โกรธก็โกรธ หลงก็หลง ...ให้เห็นตรงๆ 

อย่าอาย ที่มันปรากฏขึ้นมา ...แต่ว่าให้รู้ทัน แล้วก็เห็นความเป็นกลางที่ปรากฏ อย่าไปหงุดหงิดกับมัน อย่าไปด่ามัน ...เป็นเรื่องของมันแสดงออกมา เขาแสดงธรรมให้เราเห็น

แล้วนี่...ธรรมในเบื้องต้น มันก็จะแสดงความเป็นจริงของกิเลสออกมาล้วนๆ เป็นเรื่องของกิเลสล้วนๆ ...จากนั้นก็จะเริ่มเป็นธรรมเข้ามาสอดแทรก ...แล้วจากนั้นก็จะเหลือที่สุดน่ะเป็นธรรมล้วนๆ แล้ว 

กิเลสไม่มี ...อะไรก็เกิดมา ไม่ได้เห็นว่าเป็นดีเป็นร้าย เป็นควรเป็นไม่ควรแล้ว ...เห็นเป็นแค่กริยาหนึ่ง เป็นพฤติจิตหนึ่ง เป็นกริยากาย เป็นกริยาขันธ์ เป็นกริยาจิต บ่ดาย ซื่อๆ เปล่าๆ 

เห็นมั้ย จากที่กิเลสน่ะ...กลายเป็นธรรมเอาซะอย่างงั้นน่ะ

แต่ตอนนี้อายจัง อายกิเลส ...อายกิเลสน่ะไม่เห็นกิเลสซักที มันว้อบมันแว้บๆ อยู่นั่นน่ะ  ตัวเองน่ะขี้จุ๊ โกหก โกหกคนอื่นไม่พอ โกหกตัวเองอีก..."มันเป็นอย่างนั้นมั้ง เราไม่ใช่ๆ ไม่ใช่น่ะ"

ไม่ใช่อะไร...มันโผล่มาให้เห็นเต็มๆ มันชกอยู่จนเลือดปากออกซิกๆ ไม่ใช่กิเลสแล้วจะเป็นอะไร ...มึงแหละกิเลส ด่ามันลงไป ดูมันลงไป ...ไปอาย ไปกลัวมันทำไม

กิเลสไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่เรา มันเป็นอาการนึงเท่านั้น เป็นธรรมชาตินึงที่ปรากฏ ...แต่ว่าอย่าไปสนับสนุนมันแค่นั้นเอง แล้วก็อย่าไปห้ามมัน ห้ามไม่ได้หรอก

มันมีกิเลสกันทั้งนั้นแหละ ...ไม่ใช่พระอรหันต์นี่ ก็ต้องมีหงุดหงิดรำคาญ มีโกรธมีโมโหโทโส มีลุ่มหลงมัวเมา มีเผลอมีเพลิน เป็นธรรมดา ...รู้ไป ดูไป รู้ใหม่ ดูใหม่ อย่างนี้ เรียนรู้กับกิเลสอย่างนี้ 

แล้วจะเข้าใจว่ากิเลสก็คือธรรมอันหนึ่ง เป็นสภาพธรรมหนึ่ง ...ความเป็นกลางก็จะเริ่มเกิดขึ้น มากขึ้น ...กลางแม้กระทั่งมีอารมณ์ก็ไม่ไปหงุดหงิดกับอารมณ์ ไม่ไปยินดียินร้ายในอารมณ์

คำว่าอารมณ์นี่ ...รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนี่คืออารมณ์ เรียกว่าอารมณ์ภายนอก ...อารมณ์ภายในก็คือ ความคิด ความปรุง ความอยาก ความไม่อยาก เหล่านี้...มันก็จะเห็นเป็นแค่อารมณ์หนึ่งเท่านั้นเอง

แล้วอารมณ์คืออะไร ...ก็คือธรรมหนึ่งที่ปรากฏ ก็คือธรรมชาติหนึ่งที่ปรากฏ หรือความจริงหนึ่งที่ปรากฏ เท่านั้นเอง ...ไม่ใช่อะไร ของใคร ไม่มีอะโพสโตรฟี่เอส ('s) ตามติดมาด้วยในการปรากฏขึ้นมา

แต่ด้วยความเคยชิน อะไรเกิดขึ้นตอนนี้ เดี๋ยวนี้ ปุ๊บขึ้นนี่ พั้บเลย มันงับเลย เป็นเรื่องของเรา เรากำลังคิดอยู่ ...แค่เข้าไปเห็นก็ยังบอกเลยเราคิด พูดมาได้ ใจนะ มันเชื่อของมัน ...นี่มันเป็นความเคยชิน

เพราะนั้นไอ้ความรู้สึกอย่างนี้ ห้ามไม่ได้หรอก มันเป็นความเคยชิน ...แต่มันเป็นความเคยชินของอนุสัยไง อนุสัยมันชินแล้วก็ว่า "เรา" น่ะ 

แต่ว่ามันเห็นทันไง มันเห็นว่า อ้อ เราคิด มีคิดอันนึง แล้วก็มีความรู้สึกเป็นเราเข้าไปจับในความคิดนั้นอันหนึ่ง ...แล้วก็มีอีกตัวหนึ่งที่เห็นอยู่ ไอ้ตัวนี้ไม่ว่าอะไรเลย...ตัวที่รู้ที่เห็นนี่ 

เห็นตัวนี้บ่อยๆ เห็นอาการลักษณะนี้บ่อยๆ ...นี่เขาเรียกว่าแยกธาตุแยกขันธ์ แยกใจออกจากธาตุขันธ์ บ่อยๆ...ด้วยสติ สมาธิ มันจึงจะเห็น ...เมื่อแยกบ่อยๆ สมาธิมันก็จะตั้งมั่นขึ้น 

รู้นี่ก็จะชัดขึ้นๆๆ อะไรเกิดขึ้นก็เห็นๆๆ ...จากนั้นไป มันจึงเข้าไปซึมซาบซึมซับภาวะไตรลักษณ์ในอาการ ...ซึ่งแรกๆ มันก็เป็นไตรลักษณ์แล้ว แต่มันไม่สามารถซึมซับภาวะไตรลักษณ์ได้ 

เพราะมันก็จะตายอยู่แล้วในการที่จะถอนออกมาน่ะ ...เพราะพอเผลอปุ๊บมันเข้าๆ มันไม่เข้าไปแยบคายในไตรลักษณ์หรอก ...ทั้งๆ ที่ว่ามันก็เป็นไตรลักษณ์ในการที่เข้าๆ ออกๆ อยู่แล้ว

แต่ว่ากว่าปัญญาจะไปแยบคายไตรลักษณ์ในขันธ์นี่ ...มันต้องอาศัยสัมมาสมาธิ หรือสมาธิที่ตั้งมั่นดีแล้วก่อน จึงเรียกว่าเป็นธรรมอันควร ที่จะเข้าไปเขยิบเจริญขึ้นซึ่งปัญญา...ก็เห็นว่า อ๋อ มันก็แค่นั้นเอง 

เนี่ย กุญแจไขปริศนาธรรม เหมือนว่าเป็นกุญแจไขตู้พระไตรปิฎก ที่จะเข้าไปเห็นธรรมตามความเป็นจริง ...รวมลงท่านเรียกว่ามัชฌิมาปฏิปทา 

ในมัชฌิมาปฏิปทานี่รวมหมดทั้งมรรคแปด รวมหมดทั้งศีลสมาธิปัญญา ...นี่แหละคือโดยอรรถ นี่พูดโดยอรรถ ไม่ได้พูดเชิงพยัญชนะ ...ถ้าเชิงพยัญชนะปุ๊บนี่ มันหลากหลายเกินไป 

เราพยายามทำให้มันลดความหลากหลายลงไป ให้มันหดเข้ามา...โดยอรรถเนื้อความที่พระพุทธเจ้าต้องการจะให้ศาสนิกเข้าไปถึง...เข้าไปเห็นความเป็นจริง 

คือความเป็นจริงของโลก ของขันธ์ ของธรรม ของใจ ว่ามันเป็นส่วนๆ กันอย่างไร มันอยู่ร่วมกันอย่างไร มันต่อเนื่องสืบเนื่องกันอย่างไร มันตั้งอยู่อย่างไร มันดับอย่างไร

เพราะนั้นอวิชชาคืออะไร ...คือไม่รู้อะไรเลย ไม่รู้ว่ามันเกิดยังไง ไม่รู้ว่ามันตั้งเพราะอะไร ไม่รู้ว่ามันดับไปได้ยังไง ไม่รู้ว่าไอ้ที่เกิดคืออะไร ไม่รู้ว่าไอ้ที่ตั้งอยู่นี่คืออะไร

ไม่รู้ว่าอารมณ์คืออะไร ไม่รู้ว่าอะไรเป็นผู้รู้อารมณ์ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่อารมณ์ออกไปจับ ...นี่ ไม่รู้อะไรสักอย่าง เรียกว่าอวิชชา ไม่รู้อะไรสักอย่าง

อาศัยสตินี่ รู้ๆๆๆ มันก็...อ๋อๆ อ้อ เออ เฮ้ย ใช่เว้ย ...นี่ มันรู้แบบไม่มีภาษา เออๆ มันเก็บเกี่ยว short note ภายในลึกๆ น่ะ เก็บเกี่ยวปัญญา เห็นๆๆ รู้เห็นน่ะ มันเก็บเข้าไปประมวลน่ะ มันประมวลผลอยู่ภายใน 

เนี่ย ฉับๆๆ  ไม่รู้น่ะเรียกอะไร  มันประมวลแบบไม่มีภาษา นี่มันเก็บเกี่ยวแบบไม่มีภาษา ...เป็นความแจ้งภายใน เป็นความรู้ภายใน เป็นความเห็นชอบภายใน 

มันก็เก็บเกี่ยวสัมมาทิฏฐิ ...พอได้สักช่วงสักระยะหนึ่ง ก็...อ๋อ เข้าใจแล้วๆ ...มันก็หลุดจากไอ้ความสงสัยตรงนั้นตรงนี้ 

บางทีมันก็หลุดไปเป็นชิ้นเป็นอันไป ...อ๋อ เข้าใจแล้วเรื่องศีลคืออะไร อย่างนี้ ...แน่ะ มันก็ไปเห็นว่าตัวเองโคตรโง่เลย โง่มาตั้งนาน ไปหลงอยู่อย่างนั้นได้ยังไง 

ต่อไปมันก็เข้าใจไปเรื่อย อ๋อ เข้าใจแล้วว่านี่คือสมาธิ อย่างนี้สมาธิ ไอ้อย่างนั้นไม่ใช่เลยๆ ไอ้ที่เคยฟังมา คิดเอาเองตอนนั้น ทำมาแทบเป็นแทบตาย อู้ย กูโคตรโง่เลยว่ะ แค่นี้เองน่ะ

แน่ะมันรู้เอง มันรู้เองนะเนี่ย ...ไม่ใช่ว่าเราไปบีบคอให้เชื่อ หรือพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยไปบีบคอบังคับข่มเขาโคขืนให้เชื่อนะนั่น ...มันเชื่อของมันเองน่ะ

แต่ไอ้ตอนนี้ ปัญญามันไม่ค่อย...เออ ...มันมีแต่ "เอ๊ะ มันดับยังไงวะ ใครทำให้ดับ" ...นี่ ยังงงๆ อยู่ ...มันยังไม่แจ้ง ยังไม่ชัด 

ต่อไปก็...อ๋อ เข้าใจแล้ว ว่ามันดับไปยังไง อะไรคือความดับ อะไรคือความเกิด มีใครทำให้เกิด มีใครทำให้ดับมั้ย 

แล้วก็ต่อๆ ไป พอดูไปดูมา มันเกิดตีกลับ ชวนะจิต ปัญญาตีกลับ พั่บ ระหว่างที่ดู...“เรา” ไปอยู่ไหนวะ ...แน่ะ มันเริ่มจับประเด็นได้แล้ว

"เฮ้ย ไม่เห็นมีเราตรงไหนตอนระหว่างที่รู้ ดู สังเกตสอดส่องอยู่นี่" ...แต่ตอนนั้นมันไม่รู้หรอกนะว่าไม่มีเรา มันไม่รู้หรอก ...ขณะนั้นมันมีแค่รู้กับขันธ์ อย่างนี้


(ต่อแทร็ก 5/16  ช่วง 4)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น