วันพฤหัสบดีที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/15 (1)



พระอาจารย์
5/15 (540815A)
15 สิงหาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้แบ่งโพสต์เป็น 2 ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ท่านไม่ติดทั้งบัญญัติ ท่านไม่ติดทั้งสมมุติ และท่านก็ไม่ได้ติดทั้งปรมัตถ์นะ 

คือใจท่านนี่สามารถเป็นกลางได้ในทุกสรรพสิ่ง ทั้งในความหมายของสมมุติ ตามสมมุติ ทั้งไม่มีความหมายตามสมมุติบัญญัติก็ตาม

ไม่ใช่ท่านไม่รู้ ว่าอันนี้สวย อันนี้หอม อันนี้เหม็น ...ไม่ใช่ท่านแยกไม่ออกนะ  ใจท่านก็รู้ ตามสมมุตินั้น บัญญัตินั้น ...แต่ท่านไม่หลงในบัญญัติกับสมมุตินั้น

ทำไมถึงไม่หลง เพราะว่าท่านเห็นทั้งสองสิ่ง เห็นทั้งในบัญญัติและก็เห็นทั้งในปรมัตถ์ เห็นความเป็นจริงทั้งสองส่วนว่าไม่มีความหมาย มันเป็นแค่อุปโลกน์ขึ้นเท่านั้นเอง 

เหมือนกับเป็นบทพากย์ที่โลกเขาเติมแต่งกันไป ...แต่ท่านเห็นว่าอันนี้เป็นบทพากย์ แล้วก็อันนี้เป็นตัวสังขารที่ไม่มีความหมาย ...มันคู่กันอย่างนี้ 

และสุดท้ายก็...ในสมมุติ และในบัญญัติ และก็ในปรมัตถ์ ที่ท่านเรียกว่าเป็นสังขารปรุงแต่งนี่...มันมีความดับอยู่ในตัวของมันเองเป็นธรรมดา

ไม่มีค่า...หมดความหมายในตัวของมันเอง  แม้แต่ขณะที่มันตั้งปรากฏอยู่ ทั้งตามค่า ตามบัญญัติและก็ตามที่มันมีค่าตามสังขารปรุงแต่งขึ้น 

นี่ท่านเห็นทะลุ ท่านแจ้ง ทะลุทั้งในบัญญัติ ทะลุทั้งในปรมัตถ์ ...นี่ถึงเรียกว่าท่านแทงตลอด เพราะนั้นจิตท่านก็มองเป็นเรื่องปกติ

เพราะนั้นเมื่อมองเห็นอย่างนี้ปั๊บ มันไม่มีตัณหา มันไม่มีตัณหาในความสวย มันไม่มีวิภวตัณหาในความไม่สวย ...แล้วมันก็เลยละได้ทั้งสองอย่าง เมื่อใดที่ละราคะ ขณะเดียวกันมันจะละปฏิฆะพร้อมกัน

พระอนาคามี เห็นมั้ย ท่านละกามราคะ แล้วก็ละปฏิฆะได้ในพระอนาคา ...เพราะมันเป็นธรรมคู่กัน เมื่อใดที่มีรักมันก็ต้องมีเกลียด เมื่อใดที่มีชอบมันก็ต้องมีไม่ชอบ 

เพราะนั้นถ้าละความไม่ชอบ...ก็แปลว่าละความชอบได้ในที่เดียวกันนั่นแหละ ...เพราะมันไม่เห็นความมีอะไรในของนั้นน่ะ ...มันจะต้องเข้าไปเห็นถึงความไม่มีอะไรในอาการนั้น ทั้งมีความหมาย ทั้งไม่มีความหมาย

เหมือนอากาศอย่างนี้ ...โยมมองอากาศอย่างนี้ โยมก็ไม่รู้จะไปโกรธมันทำไม หรือโยมจะไปดีใจกับอะไร ...จะไปดีใจกับอะไรดีล่ะ มันจับต้องอะไรได้ล่ะ มันเป็นคุณเป็นโทษอะไรล่ะ อย่างนี้ 

เมื่อใดที่มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นความว่างเปล่า ...มันจะมีตัณหาเกิดกับอะไร มันจะมีโทสะ ปฏิฆะเกิดได้อย่างไร

ถ้าไปบอกว่าสวยผิด ห้ามสวย ห้ามไม่สวยนี่ มันจะกลายเป็นอรหันต์ดิบ อรหันต์แบบดิบๆ สุกๆ ...เพราะมันจะเข้าสู่อีกภพหนึ่ง ที่เรียกว่าเป็นภพของอรูป

เหมือนกับฤาษีสมัยโบราณ สมัยก่อนพระพุทธเจ้าเกิดนี่ บำเพ็ญตบะ บำเพ็ญฌาน จนเหาะเหินเดินอากาศได้ พระราชานิมนต์เข้าวัง ก็เหาะมาแล้วก็เหาะไปๆ 

มาเจอพวกนางสนมนั่งนอนผ้าผ่อนหลุดลุ่ย ...แรกๆ ก็เฉยๆ ตั้งมั่นได้ เหาะมาก็เหาะไป ...ตอนหลังเหาะมา เหาะกลับไม่ได้แล้ว ...ตก เสื่อม มีเสื่อมได้ 

แรกๆ ก็ไม่มีอะไร้ ไม่มีอะไร ...พอมาเจอเข้าซ้ำซากๆ ก็ตกแล้ว ขามาเหาะได้ ขากลับเดิน ...อีกสัก ๗ วัน ๒๐ วันเหาะมาใหม่ เดี๋ยวขากลับเดินกลับอีกแล้ว อย่างนี้เขาเรียกอรหันต์ดิบๆ สุกๆ ยังมีขึ้น มีลง มีเสื่อม

เพราะนั้นจะไปดับความเห็นไม่ได้ ดับสมมุติไม่ได้ ...ก็ไม่ได้ดับ แต่เข้าใจ แทงตลอดถึงความเป็นจริง มันมีความเป็นจริงซ้อนในความเป็นจริง 

นี่ความเป็นจริง สมมุติก็คือความจริงหนึ่งนะ เรียกว่าสมมุติสัจจะ สมมุติสัจ ...แล้วมันยังมีความเป็นจริงที่ซ้อนอยู่ในสมมุติสัจ ท่านเรียกว่าปรมัตถสัจ ...แล้วยังมีความเป็นจริงสูงสุดอีก ท่านเรียกว่าอนัตตา เนี่ย

เพราะนั้นพวกผู้บำเพ็ญมาก่อนพระพุทธเจ้านี่มีเยอะแยะ อนิจจัง-ทุกขังๆ ทุกคนเห็นหมด ไม่ใช่ไม่เห็นนะ ...ก็มันทุกข์น่ะมันถึงปฏิบัติ  ก็เห็นน่ะ เกิดแก่เจ็บตาย มันเป็นอย่างนี้ เป็นสามัญลักษณะของโลก 

แล้วมันหนีไง พยายามจะแก้ มันถึงมีการปฏิบัติขึ้น ...ก็เห็นทั้งนั้นน่ะ เพราะทุกขัง-อนิจจังๆ อยู่อย่างนี้ แล้วก็จะเข้าสู่ที่สุดคือความไม่มี ไม่เป็นอะไร 

นี่ มันก็รวดเข้าไปอรูปหมด ด้วยการดับสูญๆๆ น่ะ เข้าไปดับสูญๆๆ หมด คือจะไปลบ เหมือนกับไปลบ มียางลบอันหนึ่งแล้วก็ไปลบ ไปดีลีททิ้งหมดน่ะ ไม่ให้เกิดขึ้นมาเลยน่ะ ...เลยเข้าใจว่านั่นน่ะสูงสุด

มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวนี่แหละที่เข้าไปแทงตลอดถึงอนัตตา ไม่มีเหมือนมี มีเหมือนไม่มี เข้าไปเห็นตรงนั้น ...เพราะนั้น มี-ไม่มี ไม่มี-ไม่มี มีมาก มีไม่มีมาก 

ท่านมาเห็นความไม่มี...ในมีมาก มีน้อย ไม่มีน้อย ...ท่านเห็นตลอดอย่างนั้น ถึงได้ว่าเป็นอนัตตา เรียกว่าสัพเพ ธัมมา อนัตตาติ

ซึ่งเป็นทิฏฐิที่ในยุคสมัยก่อนพระพุทธเจ้าเกิดมา ไม่มีใครเข้าไปถึงทิฏฐิที่เป็นสัมมาตัวนี้ได้เลย ...พระพุทธเจ้าเป็นองค์แรกองค์เดียวในโลกที่แทงตลอด แล้วก็วางเป็นหลักขึ้นมา

เพราะนั้นในการปฏิบัติของนักปฏิบัตินี่ มันจะมาติดในเรื่องของฌาน อรูปฌาน กันเยอะ ...เพราะมันคุ้นเคย...เคยทำมา 

แต่ปัญญามันยังไม่พอที่จะเข้าไปเห็นความเป็นอนัตตา หรือความดับไปเอง ความไม่มีอัตตลักษณ์ อัตตบุคคลในสิ่งที่ปรากฏนั้นๆ

ให้ใจน่ะมันเห็นความดับไปเองบ่อยๆ แล้วมันก็จะค่อยๆ เข้าไปลบค่าความเป็นตัวตน ความเป็นสัตว์เป็นบุคคลของทุกสิ่ง 

แต่บอกแล้วว่าต้องมาลบที่ค่ากายกับใจนี้ก่อน มันถึงจะลบทุกอย่างได้โดยตลอด ...ลบความเห็นเป็นตัวเป็นตนนะ ไม่ได้ลบบัญญัติ ไม่ได้ลบสมมุตินะ

ไม่งั้นก็เป็นอรหันต์บ้าบอคอแตกแล้ว เหมือนคนบ้า  เคยเห็นคนบ้ามั้ย แก้ผ้าแก้ผ่อนเดินกลางถนนไม่อายใครน่ะ ...นี่มันลบสมมุติน่ะ มันลบออกไปเลย คือมันไม่สนใจสมมุติน่ะ

เพราะนั้นบางคนปฏิบัติไปก็มี...ที่ไม่เคารพพระ ไม่ไหว้พระ อะไรอย่างนี้ ไม่เคารพนับถือพ่อแม่ เพราะว่าเห็นเป็นแค่ดินน้ำไฟลม เป็นแค่สมมุติ ก็ว่าอย่างนี้ เขาเรียกว่าปล่อยวางถึงที่สุดแล้วถึงได้อย่างนี้ 

ไอ้นี่บ้าบอคอแตกหมดแหละ มีพระอรหันต์ที่ไหนเขาเป็นอย่างนั้น...ไม่ใช่น่ะ

ไปดูครูบาอาจารย์สิ ท่านเคารพนบนอบ กราบไหว้งดงาม เคารพอายุพรรษา ...เป็นพระอรหันต์ก็ยังกราบผู้มีอาวุโสกว่าได้ ท่านก็ยังนับถือกันตามสมมุติตามบัญญัติ

ท่านรู้บัญญัติคือบัญญัติ สมมุติคือสมมุติ ปรมัตถ์คือปรมัตถ์ อนัตตาคืออนัตตา นี่ ใจท่านแจ้งของท่าน 

แต่ท่านทำถูกต้องหมด ครบถ้วนกระบวนความ เป็นสมดุล ...เรียกว่า หมดจดงดงาม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และก็ในที่สุด


เพราะนั้น สงบตั้งมั่นอยู่ภายในด้วยสติ ไม่ใช่ด้วยการกดข่มบังคับ ...ให้ใจมันสงบตั้งมั่นภายในด้วยสติระลึกรู้ ให้ใจผู้รู้มันสงบอยู่ภายใน ระงับความปรุงแต่ง 

แล้วอาศัยผู้รู้นั้นน่ะเป็นผู้ออกมาสังเกตการณ์...เป็นผู้เห็น เมื่อมันรู้อยู่ในที่ฐานที่ควรด้วยสติ ระลึกรู้บ่อยๆ จนมันตั้งมั่นอยู่ภายใน เรียกว่าเป็นผู้รู้ สงบตั้งมั่นอยู่ภายในแล้ว

นี่ อาศัยความสงบรู้ตั้งมั่นภายในนี่...เป็นผู้ที่ออกมาเห็นขันธ์ที่เขาแสดง ที่เขาดำเนินไปตามธรรม...เกิดขึ้นยังไง ตั้งอยู่ยังไง ดับไปยังไง

มันก็จะเรียนรู้ตั้งแต่ว่า...บางครั้งก็เข้าไปเห็นว่ามันเกิดขึ้นเอง ตั้งอยู่เอง ดับไปเอง ...บางครั้งก็จะเห็นว่ามันเกิดขึ้นเพราะมีการเข้าไปกระทำ มันตั้งอยู่เพราะมีการเข้าไปรักษาไปประคองไว้ มันดับไปเพราะว่าจงใจ

มันก็ต้องเรียนรู้ทุกอย่างน่ะ แล้วมันก็จะค่อยๆ เรียบเรียงๆ ออกมา...อ้อ ไอ้นี่ทำอย่างนี้ ฟลุ้ค  อ้อ อย่างนี้ไม่ฟลุ้ค  อ้อ อย่างนี้ทุกข์เพิ่ม  อ้อ อย่างนี้ทุกข์ไม่เกิดได้เลย 

มันก็จะเรียนรู้ เรียบเรียง อย่างนี้ เข้าใจมั้ย ...เรียกว่า เหมือนกับเราเป็นนักวิทยาศาสตร์น่ะ มันก็ต้องมีการเทสต์ แล้วก็ต้องมีการควบคุมสภาวะแวดล้อมให้ ...แล้วก็จำเพาะตรงนี้ๆ แล้วมันต่างกันยังไง 

มันก็เป็นห้องวิจัยน่ะ กายใจนี่ก็กลายเป็นห้องวิจัย เป็นแล็บ ...ใจมันก็อาศัยตรงนี้เป็นแล็บ 

บางครั้งก็มีเจตนาเข้าไปตรงนี้ ปุ๊บ เอ้า มันไม่ยอมหายสักที ...เพราะอะไร  มันก็เรียนรู้...อ๋อ เพราะมีเจตนา เพราะมีความอยาก เพราะมีความไม่อยาก

พอมันจับผิดตรงนี้ได้ว่า อะไรเป็นเหตุให้เกิดการตั้งไม่รู้จักจบสิ้น อะไรเป็นเหตุให้ทุกข์ไม่ยอมคลาย อะไรเป็นเหตุให้ไม่มีทุกข์เพิ่มขึ้น มันก็จะจับได้ว่าเหตุคืออะไร ...มันก็แก้ลงตรงที่เหตุนั้น

เนี่ย ปัญญามันก็เห็น มันก็ต้องมาทำงานอยู่ภายในกายใจอยู่ตลอดเวลา ใช่มั้ย  

เอ้า ถ้าออกนอกกายใจ ออกนอกห้องแล็บ หนูเข้าไปในห้องแล็บใครจะไปรู้ล่ะ มัวไปทำอะไรอยู่ก็ไม่รู้ แล้วมันออกมาผลมันเป็นยังไงวะ งงไปหมด

ก็เลยเกิดความลังเล สับสนอลหม่าน วุ่นวี่วุ่นวาย ถามโน่นถามนี่ หาโน่นหานี่ แก้ไม่ถูก ทำไม่ถูก

เพราะอะไร ...เพราะปล่อยกายปล่อยใจออกนอกห้องแล็บ ออกแล้วก็เปิดประตูคาทิ้งไว้น่ะ ใครเข้าใครออกก็ไม่รู้น่ะ ใช่มั้ย ใครมาทำให้การทดลองนี้เบี่ยงเบนไปล่ะ ...ไม่รู้น่ะ ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น หลงน่ะ

เพราะนั้นผลออกมาก็มาคาดเดาเอา...เอ๊ะ อย่างนั้นรึเปล่า อย่างนี้รึเปล่า เอ เราไม่ได้ทำนี่ ...ไม่ทำได้ยังไง ก็ไม่ดูเองน่ะ ทำเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ตัว ใช่มั้ย ไปโทษใครไม่ได้

แต่ถ้าเราจดจ่อหรือว่าอยู่ในห้องแล็บตลอดเวลา คือกายใจนี่ถือเป็นห้องปฏิบัติการน่ะ แล้วก็ให้ใจนี่เป็นผู้สังเกต แล้วก็ปล่อยให้มันเป็นไปเอง 

ดูซิ มันจะมีอะไรเกิด มันจะมีอะไรดับ มันเกิดเองเป็นยังไง มันดับเองแล้วเป็นยังไง ผลมันเป็นยังไง ...ถ้าไปทำให้มันเกิด ผลมันจะเป็นยังไง หรือว่าถ้าไปทำให้มันดับ ผลมันจะเป็นยังไง

มันก็จะต้องเรียนรู้ซ้ำซากให้มันเห็นอย่างนี้ จนมันหยุดการกระทำทั้งหมดเลยน่ะ ...ปัญญามันจะเข้าไปเห็นความเป็นจริงอย่างนี้ มันจึงจะหยุดในตัวของมันเอง ปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปโดยอิสระ

การปฏิบัติง่ายที่สุดมีวิธีเดียว ต้องกลับมาอยู่ที่กายที่ใจ แค่นั้นแหละ อย่าให้มันออกนอกกายนอกใจ ...แล้วก็ให้มันอยู่ไปนานๆ อยู่ในกายในใจไปนานๆ ไปเรื่อยๆ 

ไม่ต้องคิดอะไรมากหรอก ไม่ต้องหาวิธีการอะไรหรอก ...ทำยังไงก็ได้ให้มันอยู่ที่กายที่ใจตลอดเวลานั่นแหละ ด้วยสติ เป็นอุปกรณ์รักษาไว้

ให้เจริญสติไว้ มันจะได้รักษาการระลึกรู้ รู้เห็นอยู่ภายในอยู่ตลอดเวลา...ภายในกายในใจนี่ เสมอ ต่อเนื่องไป ...มันก็จะเข้าใจ เรียนรู้ตามลำดับลำดาของมัน 

เห็นสภาวธรรมที่แสดงความเป็นไตรลักษณ์โดยธรรมชาติ เป็นไตรลักษณ์โดยปกติวิสัยของมัน โดยที่ว่าไม่มีใครไปบังคับหรือว่าไปสั่งการให้มันเกิดหรือมันดับ

ทุกอย่างเป็นไปล้วนแต่ขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย ...มีปัจจัยอะไรมากระทบสภาวะนั้น มันก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่มาสัมผัสสัมพันธ์มัน เหตุนั้นมันก็เกิดเป็นผลอย่างนี้ขึ้นมา 

เมื่อผลนั้นเกิดขึ้นมา มีเหตุมีปัจจัยไปกระทบผลนั้น ...ผลนั้นก็กลายเป็นเหตุอีกแล้ว แล้วก็เปลี่ยนแปลงไป เกิดเป็นผลอันใหม่ขึ้นมา มีผลอันใหม่เกิดขึ้นมา

ถ้าไม่มีปัจจัยแวดล้อม ปัจจัยมาสัมผัสสัมพันธ์มัน มันก็ไม่สามารถที่จะคงอยู่ได้ ตั้งอยู่ได้ โดยธรรมชาติของมันเอง มันก็จะดับไป ...ก็จะเห็นเหตุนั้นก็ดับไปเป็นธรรมดา

แต่ว่าความสืบเนื่องในขันธ์น่ะ มันยังไม่จบมันยังไม่สิ้น มันก็จะมีการก่อเกิดเป็นการรวมตัวขึ้นมาเป็นเหตุขึ้นมาอีก ...ตราบใดที่มีตาหูจมูกลิ้นกาย มีใจ มีชีวิต สืบเนื่องเป็นสันตติอยู่ตลอดเวลาอย่างนี้ 

มันก็จะสร้างเหตุเข้ามาอยู่ด้วยตัวของมันเองไปจนตายน่ะ แล้วมันก็แปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยที่มาสัมผัสสัมพันธ์มันทั้งภายนอก ทั้งภายใน แล้วก็เป็นผลออกมา

แต่ถ้าไปตามสมมุติ ก็เรียกว่าผลนั้นก็เป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง เป็นอัพยากฤตบ้าง แล้วก็ถ้าไม่มีปัจจัยใดมาสัมผัสสัมพันธ์มัน มันก็จะดับไปในขณะนั้นบ้างในเดี๋ยวนั้นบ้าง 

แต่ถ้ามีปัจจัยมาสัมผัสมันต่อ มันก็จะเกิดการสืบต่อ ตัวนั้นมันก็เป็นเหตุ ...เพราะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตามเหตุและปัจจัย 

เนี่ย กระบวนการของชีวิต ...มันเป็นไปขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัยเช่นนี้ มันเป็นอย่างนี้ สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิด...สิ่งนี้เกิด สิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้ดับ...สิ่งนี้ดับ อยู่อย่างนี้ เกิดๆ ดับๆ


(ต่อแทร็ก 5/15  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น