วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/16 (1)


พระอาจารย์
5/16 (540815B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ :  แทร็กนี้ยาวมาก แบ่งโพสต์เป็น 4 ช่วงบทความนะคะ)

โยม –  หลวงพ่อคะ ตอนนี้ที่มองมันไม่ชัดอยู่อย่างหนึ่ง ก็คือว่า มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไป ...แต่ว่าช่วงที่ เหตุที่มันขึ้นมาน่ะมันน้อยลงปุ๊บ ทำให้...

พระอาจารย์ –  ว่าง


โยม –  ว่างค่ะ แล้วมันก็ไปเข้าไปใน...เหมือนคล้ายกับ...

พระอาจารย์ –  ไม่มีอะไร


โยม –  อะไรบ้างอย่างนี้ค่ะ ...ก็คือเห็นตามนั้น แค่นั้นใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  มันไม่แค่นั้นน่ะสิ ...เดี๋ยวมันจะหลงในว่าง หลงในไม่มีอะไร ...พยายามให้รู้อยู่กับกาย เห็นกายเกิดดับไว้เป็นฐาน


โยม –  มันเหมือนเป็นแบบ คล้ายๆ กับว่าขี้เกียจเลย อะไรอย่างนี้ฮ่ะ

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ ให้มันรู้ไว้ ...อย่าขี้เกียจ 

ให้เห็นเกิดดับไว้ ...อย่างน้อยเห็นกายเกิดดับ หรือไม่เกิดไม่ดับ ก็เห็นกายเป็นอนัตตา ไม่มีตัวไม่มีตน เป็นฟืนเป็นถ่าน เป็นก้อนดินก้อนหินไป ...เอากายเป็นพุทโธ คู่กับใจพุทโธ


โยม –  แรกๆ ก็ต้องฝืน...ฝืนให้มันรู้ก่อนใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –  ใช่ เพราะมันยังปล่อยไม่ได้ ...ถ้าปล่อยแล้วมันจะไปหลง...หลงในภพที่เรียกว่าไม่มีตัวไม่มีตน

ภพความไม่มีตัวไม่มีตนก็เป็นภพอันหนึ่ง ความไม่มีอะไรก็เป็นภพอันหนึ่ง ความว่างก็เป็นภพอันหนึ่ง ...มันสบายดี มันว่างงาน

ซึ่งมันไม่ได้ว่างแบบเกษียณ แต่มันว่างแบบเขาปลดออก เดี๋ยวมันจะอดอยาก ...ถ้ามันพอดีแล้วเดี๋ยวมันก็เกษียณเอง แต่อันนี้ไม่ใช่

เพราะนั้นระหว่างที่ไม่มีอะไร ต้องรู้กายไว้ ...ถ้าเป็นหลวงตาบัวนี่ท่านบอกให้พุทโธเลย  หมายความว่าให้กลับมานั่งพุทโธๆ ใหม่เลย ...ให้มีการรู้ชัดเจนขึ้นมา


โยม –  เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ก็เหมือนคล้ายกับเหม่อ อะไรเช่นนั้น

พระอาจารย์ –  เออ ลอย มันลอยไปกับจินตนาการที่ว่างเปล่า ...เพราะนั้นว่างเปล่านี่คือจินตนาการหนึ่งนะ คือสังขารธรรมหนึ่ง

ท่านไม่ให้เลื่อนลอย ท่านให้รู้ไว้ แม้ถึงว่าไม่เอาทุกข์เอาสุขกับดินน้ำไฟลมแล้วก็ตาม ไม่เอาทุกข์เอาสุขกับธาตุกับขันธ์แล้วก็ตาม ...มันยังไม่ขาดหรอก 

รู้มันยังไม่สะเด็ดน้ำ ...มันยังมี มันพร้อมที่จะมี  มันยังเป็น มันพร้อมที่จะเป็นได้เสมอ ...รู้เข้าไว้ จนไม่เหลืออะไรจริงๆ คำว่าไม่เหลืออะไรจริงๆ นี่ เหลือแต่รู้นะ  

แต่ถ้ายังไม่เหลืออะไรจริงๆ นี่ แล้วเข้าไปอยู่ที่ไม่มีอะไรนี่ ไม่เหลือรู้เลยด้วยซ้ำ ...แต่พอถึงขั้นที่สุดแล้วนี่ มันจะไปไม่เหลืออะไรจริงๆ แล้วเหลือแต่รู้


โยม –  ตอนนี้คือมันยังจับจด ยังไม่ค่อยรู้มาก แต่ก็พยายาม คือมันก็รู้ว่าจะเป็น

พระอาจารย์ –  กลับมารู้กายอยู่ กลับมารู้กายไว้


โยม –  ค่ะ เพราะบางครั้งมันก็จะเข้าไปแบบลมหายใจอย่างนี้ค่ะ เข้าไปปุ๊บแล้วเหมือนมัน...

พระอาจารย์ –  รู้หาย


โยม –  รู้หาย... มันก็ยังไม่เชิงขนาดนั้น ...เหมือนกับว่าเราไม่ได้หายใจแล้วปุ๊บ มันก็เลยเหมือนคล้ายกระต่ายตื่นอย่างนี้ฮ่ะ แบบหายใจรึเปล่า มันจะเป็นอะไรมั้ย อย่างนี้ฮ่ะ 

มันก็จะแบบกังวลไปอีก ...แล้วก็มาฝืนๆ อีกทีนึง แล้วก็สักพักมันก็หายไปอีก ทำนองนั้นฮ่ะ

พระอาจารย์ –  เข้าๆ ออกๆ ...นั่นแหละ รู้ไว้ หยาบ-ละเอียด ถอยกลับมา ละเอียดไปหยาบ จากหยาบมาละเอียด กลับไปกลับมาอยู่อย่างนี้ 

เพื่อให้รู้มันชัดเจนขึ้นมาในทุกสภาวธรรม ไม่หลงไม่หายไปในสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง

เพราะนั้น ฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสาม ฌานสี่ อรูปฌานหนึ่ง สอง สาม สี่ นี่ก็คือสภาวธรรมหนึ่ง ...ฌานหนึ่งมันก็หายแล้ว ไม่ต้องพูดถึงฌานสี่แหละ ใจนี่หายแล้ว หายไปไหนก็ไม่รู้ 

เข้าไปอรูปหนึ่ง สอง สาม สี่ นี่ ใจนี่หายหมดเกลี้ยงเลย  มันก็เหมือนกับหลับไป ลอยไป หลับไปลอยไปๆ ไปกับรู้ ...มันพารู้หายไปเลยในนั้น มันกลบทับอยู่

ก็ต้องระลึกขึ้นมาใหม่ สติ เอาที่ตั้งขึ้นมา...อะไรก็ได้ที่เป็นที่ตั้งแห่งสติ ในเวทนา ในกาย ในวิญญาณ ในธรรม ในจิต ...กายน่ะง่ายที่สุด กลับมา อย่าไปเสียดายละเอียด 

เราไม่เสียดายหยาบ เราไม่เสียดายละเอียด เราไม่เสียดายประณีต เราเสียดายรู้ ...เพราะนั้นทุกอย่างมันเป็นอุบาย เพื่อให้รู้เท่านั้น 

เพราะหยาบละเอียดประณีตคือความเกิดแล้วก็คือความดับเท่านั้น ...ส่วนที่มันเสียดายก็คือมันเสียดายตามสมมุติ มันเสียดายธรรมที่เป็นสังขารธรรม ที่เป็นสมมุติธรรม

แต่มันไม่รู้จักว่าสิ่งที่น่าเสียดายกว่าธรรมคือใจ มันไม่มั่นคงลงไปที่ใจ มันไม่ตั้งลงที่ใจ มันไม่เห็นคุณค่าของใจ มันเห็นคุณค่าในสังขารธรรมมากกว่าใจ 

ซึ่งธรรมนั้นเป็นสมมุติธรรมทั้งนั้น เป็นสังขารธรรมตามความปรุงความหมาย ความมั่น ความถือเอาในธรรมนั้นๆ มาเป็นสมบัติพัสถานครอบครอง ตีตราจอง อย่างนี้

รู้เข้าไว้...พ่อสอนไว้ พระพุทธเจ้าสอนไว้ รู้กายรู้ใจ  กายกับใจ สองอย่าง...รู้อันอื่นรู้ไปทำไม จะไปรู้อันอื่นทำไม ถ้ารู้อันอื่น...เข้าฌานไป ไปรู้สึกพิเศษ ได้สิ่งมหัศจรรย์ 

เอาไว้หลอกเด็กน่ะได้ เอาไว้หลอกคนโง่น่ะได้ ...อย่ามาหลอกตัวเอง อย่าเอามาหลอกตัวเอง ...เดี๋ยวมันจะมีบันไดพาดผ่านไปสู่สวรรค์วิมาน นะ มันขึ้นบันไดไปเลย หรือไม่ก็ขึ้นลิฟท์ไปเลย 

แต่ว่ามันออกนอกมรรคา ออกนอกทางที่พระพุทธเจ้าบอกว่า มันมีช่องเดียวน่ะ มันมีช่องหนึ่ง

ในสามโลกธาตุนี่มันมีหลายช่องนะ ...กุศลก็เป็นช่องหนึ่ง อกุศลก็ลงอีกช่องหนึ่ง กุศลขั้นสูงก็อีกช่องหนึ่ง ...มันมีหลายช่องเหลือเกิน อย่างมนุษย์นี่ก็ช่องหนึ่ง

มีช่องเดียวที่พระพุทธเจ้าบอก นี่ ช่องนี้ช่องเดียว...เอกายนมรรค เรียกว่าเป็นเอกายนมรรค คือเป็นทางสายกลาง ...มีช่องเดียว คือกายใจ

รู้แค่กายใจแค่นี้ มีช่องนี้จริงๆ ...ถ้าออกนอกช่องนี้แล้วเสร็จมะก่องด่อง ไม่บันไดขึ้นสวรรค์ก็บันไดลงเหวนรก สัตว์ เดรัจฉาน เทวดา พรหม ไปได้หมด มีหลายทาง

ซึ่งมีคนเสนอเส้นทางเหล่านี้เยอะแยะ ดาษดื่น กลาดเกลื่อน ทั้งในรูปแบบฆราวาส พระ แม่ชี เต็มไปหมด เหมือนของเร่ขายในท้องตลาด ...ต้องคัดเลือกดีๆ มีปัญญา ให้เห็นว่าอันนี้มันเข้าทางมั้ย 

มันเป็นไปเพื่อความละ ความปล่อย ความวางมั้ย ...หรือมันเป็นไปเพื่อความมีความเป็น การเข้าไปเสพ เข้าไปสมสู่กับมัน...ไปได้มา ไปได้อาศัยกับมัน หรือไปได้ประโยชน์ไปได้แก่นสารอะไรกับมัน

หรือว่าเป็นธรรมที่สอนเพื่อความละ ความปล่อย ความวาง ความเป็นอิสระ ความออกจาก ความหลุดพ้น ความไม่กลับมา ความไม่เสียดาย ความไม่เอา ...มันเป็นอย่างนี้มั้ย 

เอาตัวนี้เป็นตัววัด เป็นตัวเทียบเคียง ...ไม่อย่างนั้นพวกเราก็จะตกอยู่ภายใต้สมมุติความเชื่อ ...ที่ท่านสอนกาลามสูตร เป็นพระสูตรที่ท่านพูดถึงความเชื่อสิบประการ ท่านไม่ให้เชื่อในสิบอย่าง

ฟังเราพูดก็อย่าเชื่อ ฟังคนนั้นคนนี้พูดก็อย่าเชื่อ อ่านมาก็อย่าเชื่อทีเดียว ...ให้เชื่อด้วยการที่ใจมันเข้าไปเห็น เข้าไปรู้เองเห็นเอง ว่ามันเป็นไตรลักษณ์จริงมั้ย 

เข้าไปเห็นเหตุที่ให้เกิดทุกข์เพิ่มขึ้น ทุกข์น้อยลง ...ให้มันเห็นอย่างนั้นแล้วจึงเชื่อ ด้วยปัจจัตตัง

เพราะนั้นไอ้แค่ฟังนี่เราแค่แนะเอง ...ก็ไปลองดู ต้องทำดู  แล้วก็เก็บเกี่ยวผลลัพธ์ไป ศึกษาไป วิเคราะห์วิจัยไป ...ให้ใจวิเคราะห์นะ ไม่ใช่ให้จิตวิเคราะห์

ต้องให้เข้าใจก่อนว่า...ใจวิเคราะห์กับจิตวิเคราะห์นี่มันคนละอย่างกัน ...ถ้าใจวิเคราะห์นี่ไม่มีคำพูด คือแค่รู้แค่เห็น นี่เขาเรียกว่าวิจัยด้วยใจ เรียกว่าเป็นธัมมวิจยะ

แต่ถ้าจิตวิเคราะห์นี่เรียกว่าคิด นี่เรียกว่าฟุ้งซ่านด้วยจินตามยปัญญา ...เอาขนมมาผสมข้าวยำ เอาส้มตำมาใส่วุ้นเส้น เอามาใส่ขนมจีนเรียกว่าตำสั่ว ตำมั่ว 

เห็นมั้ยเขาเรียกว่าตำมั่วตำซั่วขึ้นมา ใส่ถั่ว ใส่ปลาร้า ปูม้า ปูดอง ปูเค็ม ใส่กระปิ น้ำปลา เอาอะไรๆ มายัดใส่ ...นี่เรียกว่าวิจัยด้วยจิต เรียกว่าจินตามยปัญญา

แต่ว่าถ้าให้ใจวิจัย มันจะวิจัยในรูปแบบของสติกับสัมปชัญญะ คือแค่รู้กับเห็น...ด้วยความต่อเนื่อง รู้เห็นต่อเนื่อง เฉยๆ ไม่พูด ไม่ปาก ...ดูไปเห็นไป 

เรียกว่ามันเป็นการวิจยะธรรมโดยสติและปัญญา โดยสติสัมปชัญญะ โดยศีลสมาธิปัญญา ด้วยความเป็นกลาง วิจัยอยู่ในความเป็นกลาง ปล่อยให้กระบวนการเขาแสดงออกมาเต็มๆ ของเขา แล้วก็ดูอาการ

อย่างเวลาพวกโยม...ดอกเตอร์ทั้งหลาย เวลาทดลองอะไรก็ตาม ในหลักของวิทยาศาสตร์ยังต้องอดทนคอยเลยใช่มั้ย จนถึงที่สุดของมัน จนถึงขั้นสุดท้ายที่มันหยุด 

แล้วก็ยังต้องดูต่อไปอีกตั้งนาน จนรู้ว่ามันหยุดแล้วจริงๆ ...ถึงจะรู้ว่า เออ หมดเคสนั้นๆ แล้ว ...อย่างนี้ มันต้องอดทนน่ะ ไม่ใช่ใจร้อนใจเร็ว ใจด่วน ใจไว ใจโลภ ใจอยาก 

ไม่งั้นผลวิจัยก็จะคลาดเคลื่อนไปหมด มันก็ต้องกลับไปวิจัยใหม่อีก ...เพราะเอาไปใช้ประโยชน์แล้วมันไม่ได้ 

เช่น ทำไมยังมีอารมณ์ตกค้างต่อเนื่องมาภายหลัง ทำไมมันขาดไม่จริง ทำไมมันยังเกิดได้ตอนไหนวะ ...เนี่ย ก็ต้องกลับมาวิจัยใหม่ กลับเข้าห้องทดลองใหม่ หน้าดำคร่ำเครียดอยู่ในห้องแล็บนั่นแหละ

เพราะนั้นก็คร่ำเคร่งอยู่ในกายใจ ...แต่ไม่ได้คร่ำเคร่งด้วยความอยากหรือไม่อยากนะ ...คร่ำเคร่งด้วยความเป็นกลาง ไม่ออกจาก ไม่ห่างไกลกายใจนี้เสมอ 

รักษากายรักษาใจนี้ไว้...เป็นธรรมอันควรแก่ธรรม


(ต่อแทร็ก 5/16  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น