วันพฤหัสบดีที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 5/26 (1)




พระอาจารย์
5/26 (541122A)
22  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ทำความรู้ให้ชัดเจน ...ถ้ารู้ไม่ชัดเจนนี่ มันก็จะเลื่อนลอย มันจะเลื่อนไปกับอาการโดยไม่รู้ตัว ไปจดจ่อจดจ้องอยู่กับอาการของขันธ์ นี่มันจะต้องอยู่ในฐานของรู้กับเห็น

ถ้าอยู่ที่รู้ที่เห็นน่ะ มันก็จะแยกขันธ์ออกจากใจได้ในทุกอาการของขันธ์ ...เพราะนั้นว่าถ้ามันแยกใจได้ชัดเจน หรือว่าตั้งอยู่ในฐานของใจ..ใจรู้ใจเห็นไว้นี่ ...มันก็เหมือนกับเรานั่งดูรถที่สี่แยกน่ะ

รถมันก็ไหลไปไหลมา รถมันก็วิ่งผ่านไปผ่านมา ...แต่ถ้ามันเผลอเพลินเมื่อไหร่ มันก็กระโดดขึ้นรถ...รถที่อาจจะมีบางคันที่เราชอบหรือว่าต้องการขึ้น มันพอดีมา...ก็ขึ้นไป

จนกว่าจะทำความรู้..ให้ชัด แล้วก็ไม่ไปไม่มากับขันธ์ ไม่ตามขันธ์ ไม่ขึ้นลงกับขันธ์ที่มันแปรปรวน เปลี่ยนแปลง หรือว่าก่อเกิดขึ้นมา ...ขันธ์นั่นน่ะ มันก่อเกิดอยู่เสมอในเรื่องราว

เพราะนั้นสตินี่มันเป็นตัวระลึก เพื่อให้ใจมันตั้ง ...แต่ว่าใจมันตั้งแล้วมันไม่ตั้งอยู่ที่ใจ พอใจมันตั้งแล้วบางทีมันก็เผลอเพลินไปตั้งอยู่กับสิ่งที่มันรู้...ด้วยความเห็นใดความเห็นหนึ่งที่มันยังเป็นมิจฉา ไม่เป็นกลาง

ก็พยายาม...มีอะไรก็กลับมาอยู่ที่รู้  กลับมารู้อยู่ที่รู้ เห็นอยู่ที่เห็นนั่นน่ะ ...มันก็จะเห็นอาการไหลไปไหลมาของขันธ์ หรือว่าอาการไตรลักษณ์ ...ก็เห็นถึงความดับไปเสมอของทุกสิ่ง

มันก็จะเห็นขันธ์น่ะเป็นของชั่วคราว...เห็นทุกอย่างน่ะ ไม่ใช่เฉพาะขันธ์หรอก มันเป็นของชั่วคราวหมด เพราะมันจะจับตรงเห็นตรงจุดที่มันดับไปของเรื่องราวทุกสิ่งที่ผ่านมา

การเห็นความดับไปอยู่เสมอ มันจึงจะเข้าไปทำลายความเห็นผิด ความเชื่อผิดๆ ว่ามันเป็นตัว ว่ามันยังคงมีอยู่ ความเป็นตัวตน ความต่อเนื่อง ...ก็จะเห็นว่ามันหมดไปเป็นเรื่องๆ เรื่องๆ เรื่องๆ

เป็นธรรมชาติที่ดับไป เป็นครั้งคราว ไม่ว่าธรรมชาติของเสียง ธรรมชาติของกลิ่น ของรส ของความคิด ของความจำ ของอารมณ์ ของความรู้สึกอะไรก็ตาม ...มันก็เป็นแค่ธรรมชาติหนึ่ง ชั่วคราว

ระหว่างที่มันตั้งอยู่ ก็ต้องตั้งมั่นด้วยสมาธิ แนบแน่นอยู่ที่ใจ ...ถ้าไม่ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ไม่แนบแน่นอยู่ด้วยอำนาจของสมาธิ มันก็จะไหล มันทนไม่ได้หรอก ...มันจะไหลเพราะทนไม่ได้ไปกับอาการ

แต่ถ้ามันตั้งมั่นเป็นกลางอยู่ด้วยสมาธิ มันก็เห็นว่า...ธรรมชาติไหนเกิด ธรรมชาติไหนดับ  ธรรมชาติไหนไม่เกิด ธรรมชาติไหนไม่ดับ...มันมีสองธรรมชาติ มันก็จะเห็น

เมื่อมันเห็นเข้าบ่อยๆ รู้เข้าบ่อยๆ ...มันจะรู้ว่ามีธรรมชาติหนึ่งที่ไม่เกิดไม่ดับ นั่นคือใจรู้ใจเห็น ...แล้วก็มีอีกธรรมชาติหนึ่งที่มันดับอยู่เสมอ คือทุกสิ่งที่มันรู้มันเห็นนั่นแหละ มันเป็นของเกิดดับ

มันก็จะหมดการเข้าไปแบ่งแยกขันธ์ เลือกขันธ์ คัดสรร...มันก็เห็นเป็นของเกิดดับเหมือนกันหมด ...ใจมันก็จะเกิดความเป็นกลางมากขึ้นต่อทุกสิ่ง ต่อทุกสรรพสิ่ง

เมื่อใดที่มันตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน ก็ให้แนบแน่นอยู่ที่ใจ...ด้วยอำนาจด้วยกำลังของสติกับสมาธินี่ มันตั้งอยู่ที่ใจ ...อย่าให้เคลื่อน อย่าให้คลาดเคลื่อนออกไป

ใจรู้ ใจเห็น นี่...ยังงั้ยยังไงมันก็ต้องอาศัยผู้รู้ อาศัยใจ..ใจรู้ ใจผู้รู้นี่แหละ เป็นผู้เห็นธรรมไปก่อน  ...จนมันเห็นรอบ เห็นชัด เห็นแจ้ง มันจึงจะกลับมาเห็นตัวของมันเอง ...นั่น มันวางหมดทุกสิ่งแล้ว

ใจดวงนั้นน่ะ ใจดวงผู้รู้ มันมองเห็นขันธ์โดยรอบ ทั้งนอกทั้งใน ทั้งหยาบ ทั้งละเอียด ทั้งประณีต รวมลงเป็นไตรลักษณ์หนึ่งเดียวกันทั้งหมดแล้ว ...มันจึงจะย้อนกลับมาที่ต้นเหตุคือใจผู้รู้ดวงนั้น

สติ สมาธิ ปัญญา พวกนี้มันเป็นเจตสิก มันเป็นอาการหนึ่งของจิตทั้งนั้นแหละ ...มันก็คือสังขารเหมือนกัน เป็นกุศล มันก็เป็นสังขารส่วนกุศล

แต่ก็อาศัย...มันต้องอาศัยสติสมาธิปัญญานี่ ...มันจึงจะทำให้ใจไอ้ดวงที่รู้..ที่มันมีความไม่รู้อยู่ภายในนี่มันเห็น..ด้วยความเป็นกลาง ในความเป็นจริงของขันธ์

แล้วก็ค่อยๆ ถอดถอนตัวมันเอง ถอดถอนออกจากความเห็นผิดในตัวของมันเอง จนถึงเรียกว่าเป็นสันทิฏฐิโก ...นี่ ใจมันต้องเข้าไปรู้ไปเห็น ต้องเข้าไปรู้เห็นเอง

ซึ่งถ้าไม่เข้าใจ อย่างนี้ มันจะไปหนีตัวผู้รู้ซะก่อน ...หนีไม่ได้ ...ต้องอาศัย ต้องอาศัยก่อนน่ะ แล้วค่อยไปวางทีหลัง นี่ ตัวมันจะวางตัวมันเองแหละ 

ถึงที่สุดแล้ว มันแจ้งแล้ว แจ้งข้างนอกใจ สิ่งที่อยู่นอกใจไปแล้วนี่ ...มันก็จะเห็นต้นตอต้นกำเนิด ต้นธาตุต้นธรรม ต้นกำเนิดของการเกิดของสรรพสิ่ง 

คืออัตตาตัวสุดท้าย คืออัตตาที่ใจ...ที่เป็นสัตว์เป็นบุคคล ความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลของใจ นั่นแหละคือ "ผู้" หรือบุคคลที่รู้อยู่

แต่ถ้าไม่มีดวงจิตผู้รู้นี่ หรือไม่อาศัยดวงจิตผู้รู้นี่เข้าไปเห็นทุกสรรพสิ่งด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยมรรคแปดนี่ ...มันจะไม่เกิดปัญญา มันจะไม่เกิดความชัดเจนในไตรลักษณ์ มันก็ไม่เกิดความจางคลายจากตัณหาอุปาทาน

เบื้องต้น...สติเป็นตัวแยกกายกับใจ แยกนามกับใจออกมาให้เป็นของสองสิ่ง เพื่อให้มาเกิดอาการเห็น...ว่าสิ่งที่มันรู้ สิ่งที่มันเห็นน่ะคืออะไร ความเป็นจริงของสิ่งที่มันรู้ สิ่งที่มันเห็นน่ะคืออะไร

มันเป็นใคร มันเป็นของใคร  หรือมันไม่ได้เป็นใคร ไม่ได้เป็นของใคร ...หรือมันเป็นของชั่วคราว เกิดดับเองตามธรรมชาติ ไม่ได้เป็นอะไรของใครเลย

มันเห็น...เห็นจนเกิดความเบื่อหน่าย คลายออก ถอนออกจากขันธ์ ถอนออกจากความสำคัญผิดในขันธ์ ความเห็นขันธ์ผิดไปจากความเป็นจริง ว่านี้เป็นเรา ของเรา ว่านี้เป็นสัตว์บุคคล ว่านี้มีชีวิต ว่านี้จับต้องได้

มันก็สะสมความรู้ความเห็นเช่นนั้นน่ะ เรียกว่าญาณปัญญา นี่ ญาณปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์ ท่านเรียกว่าสัมมาญาณะ สัมมาญาณ ...มันก็เกิดความจางคลายออกจากความเข้าไปครอบครองหวงแหนขันธ์

เบื้องต้นน่ะ มันก็ดูเหมือนแบ่งว่าเป็นเจโต ว่าเป็นปัญญา ...อะไรก็ตาม มันเป็นแค่อุบายทั้งหมดน่ะ

จริงๆ น่ะ การภาวนาทั้งหมดนี่ ไม่ว่าจะโดยสมถะนำหรือโดยปัญญานำก็ตาม ...มันเป็นไปเพื่อให้กลับเข้าคืนสู่ใจ กลับมาอยู่ที่ใจ กลับมาเห็นใจของเจ้าของเป็นหลักทั้งหมด

แต่ว่าการเลือกเข้าสู่ใจนี่ มันมีหลากหลายอุบาย หลายหลายแนวทาง ตามแต่ความถนัด ความเคยชิน ...ซึ่งศีลสมาธิปัญญานี่ ทั้งหลายทั้งปวงคือการอบรมให้กลับคืนสู่ใจ

ใจมันก็อาศัยอยู่ในนี้ ในบ้านหลังนี้...อาศัยกายนี่เป็นบ้าน มีคนอยู่คนนึงอยู่ในบ้าน ...นั่นน่ะใจ

แต่ว่าใจที่มันลุกลี้ลุกลนน่ะ หรือว่าคนที่อยู่ในบ้านหลังนี้มันลุกลี้ลุกลน ไปๆ มาๆ ไม่หยุดไม่อยู่ ...ไม่อยู่ ไม่อยู่กับที่ มันก็เรียกว่าฟุ้งซ่านรำคาญ

เหมือนมันไม่อยู่กับบ้าน เตลิดเปิดเปิงไปเที่ยวที่นั้น ไปเที่ยวที่นี้ ...มันก็ไม่รู้ว่าบ้านคืออะไร คนในบ้านคือใคร ไอ้ที่ไปที่มาน่ะได้อะไร เพื่ออะไร ...มันก็ไม่รู้อะไรทั้งสิ้น

ศีลสมาธิปัญญาจึงเป็นตัวอบรม...ให้กลับมาอยู่ที่กายอยู่ที่ใจ จะด้วยวิธีการไหนก็ตาม จะด้วยสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน หรือมหาสติปัฏฐานก็ตาม ...เพื่อกลับมารู้อยู่เห็นอยู่กับกายใจปัจจุบัน

แต่ถ้าภาวนาโดยที่เราไม่เข้าใจ มีแต่มุ่งจะให้ได้อะไร ให้เป็นอะไร ให้เกิดอะไรขึ้นนี่ ...บางทีมันก็กลายเป็นตัวขวางไป กลายเป็นของยากไป กลายเป็นสิ่งที่เกินกำลังของบางดวงจิตที่กำลังเริ่มฝึกหัดภาวนา

สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเจโต ไม่ว่าปัญญา มันก็เหลือแค่ใจดวงเดียวนั่นแหละ ที่เดียว เป็นที่ที่จะหลุดพ้นจากขันธ์ จากโลก จากทุกสิ่งที่มันร้อยรัด ที่ใจนี่มันเข้าไปให้ค่าให้ความหมาย ให้ความสำคัญ ให้ความเห็นผิดต่อสิ่งนั้นๆ

เพราะนั้น ในลักษณะของสมถะนี่ มันเป็นอุบายที่มันจะไปสู่อีกหลายขั้นตอน กว่าที่มันจะกลับมาสู่ใจ 

นี่ด้วยอำนาจของความสงบ ด้วยอำนาจของการเพียรเพ่งพิจารณาในขันธ์  ด้วยวิปัสสนากรรมฐาน ...ซึ่งบางทีถ้าไม่มีคนแนะนำให้เข้าใจ มันก็จะไม่เข้าถึงใจได้ง่าย

เพราะนั้นไอ้ที่เรียกว่าปัญญา..โดยตรงนี่  ก็คือลักษณะการเจริญการภาวนาที่หนัก...เน้นในเรื่องของสติ ในเรื่องหลักของมหาสติปัฏฐาน

จะไม่ได้เน้นไปเริ่มต้นด้วยความสงบเป็นกำลัง เป็นฐานของการพิจารณา ...แต่จะเน้นที่สติ เจริญสติเป็นหลัก โดยอาศัยสตินี่เป็นเหมือนแว่นขยาย แบบที่หลวงตาบัวท่านว่า “แว่นส่องใจ” น่ะ

อาศัยสตินี่ระลึกขึ้นมา เพื่อเป็นแว่นตาที่มันส่องลงมาที่กายใจของสัตว์ของบุคคลนั้นๆ  อาศัยสติระลึก รู้...อยู่ที่กาย อยู่ที่จิต อยู่ที่ขันธ์ที่เป็นปัจจุบัน

เพราะนั้นเมื่อใดที่มีสติ หมายความว่าขณะนั้นน่ะ มันกลับมาส่องลงที่กายใจ ...มันจะเกิดปรากฏการณ์อยู่สองปรากฏการณ์ในขณะที่ระลึกรู้..ในกายที่เป็นปัจจุบันกาย

เมื่อมีสติ ...มันก็จะรู้ว่านั่ง รู้ว่ายืน รู้ว่าเดิน รู้ว่านิ่ง รู้ว่าไหว รู้ว่าเย็น รู้ว่าอ่อน รู้ว่าแข็ง ...เห็นมั้ย มันจะมีการส่องกลับมาที่กายใจ

นั่งคือกาย คือเวทนาในอาการของกายเรียกว่านั่ง ...แล้วมันมี “รู้ว่านั่ง” อีกตัวหนึ่ง นี่คือใจ ...ขณะนั้นมันจะเกิดเป็นภาวะที่รู้ว่านั่ง

เมื่อใดที่มีสติ...มันจะมีสองสภาวะ คือสิ่งหนึ่งถูกรู้ และอีกสิ่งหนึ่งที่รู้ ...นี่ มันก็จะแยกออกเป็นสองลักษณะธรรม สองสภาพธรรม สองสภาวธรรม

สภาวธรรมหนึ่งคือขันธ์ ในที่นี้หมายถึงกาย ...อีกสภาวธรรมหนึ่งคือใจ หมายถึงรู้และเห็น

แต่เมื่อใดที่ไม่มีสติ อยู่ในความเผลอเพลิน ความคิดความปรุงแต่งด้วยความไม่รู้เนื้อรู้ตัว ...เมื่อนั้นใจจะไม่ปรากฏ เพราะมันจะมีโมหะเข้ามาครอบงำปิดบังใจ

มันจะเข้าไปเสวย ไปเกลือกไปกลั้ว ไปมัวไปเมา อยู่ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในผัสสะ ที่กระทบสัมผัสในกาย ในความคิด ในอารมณ์ ในความรู้สึก ในอดีต ในอนาคต


(ต่อแทร็ก 5/26  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น