วันศุกร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 5/27 (1)


พระอาจารย์
5/27 (541122B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
22  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

ผู้ถาม –  ในความที่เรารู้สึกว่า มันค่อยๆ มีรสชาติน้อยลง นั่นเกี่ยวข้องด้วยไหมครับ

พระอาจารย์ –  เกี่ยว ...มันจะเกิดความจืดชืด  คำว่าจืดชืดนี่ คือความเห็นเป็นธรรมดา คือมันรู้สึกเป็นธรรมดาขึ้นกับขันธ์ ท่านเคยกินน้ำเปล่าไหม


ผู้ถาม –  ครับ

พระอาจารย์ –  ท่านเคยกินโคลาไหม


ผู้ถาม –  เคยครับ

พระอาจารย์ –  ไม่เหมือนกันใช่ไหม ...มันจืด...ใจที่มันเห็นว่าเป็นของธรรมดา ทุกอย่าง มันจะเริ่มจืดจางลง คือมันคลายออก คลายออกจากการเข้าไปจริงจังให้ค่า ...มันจางเองนะ อย่าไปทำให้มันจาง


ผู้ถาม –  คือนับวันรู้สึกว่า มันจะจืดลงไปเรื่อยๆ ทุกสิ่งมันจืดลง ไม่ว่าจะเป็นภายนอกหรือภายใน

พระอาจารย์ –  ช่างมัน ไม่สนใจ  จืด-ไม่จืด...ช่างมัน ...สนใจอยู่ที่อันเดียวคือรู้ไว้ อยู่ที่รู้ไว้ ...อย่าลืมนะ อย่าไปอยู่ที่จืดนะ ...ปล่อยให้มันเป็นไป เห็นยังไงเห็นยังงั้น

ไม่ต้องไปคาดหมายกับสิ่งที่เห็น มันเห็นอย่างไร ปรากฏอย่างไร รู้ไว้เห็นไว้ อยู่ที่รู้อยู่ที่เห็น ...ส่วนอาการของขันธ์มันจะแสดงอย่างไร ปล่อยให้ขันธ์เขาเป็นไป ให้เขาเป็นไป

เท่าทันความดีใจ เท่าทันความเสียใจ เท่าทันความเข้าไปยินดี เท่าทันความเข้าไปยินร้าย...ต่ออาการ ต่อความรู้ที่ปรากฏ ...ทันไว้ รู้ไว้เป็นกลางๆ อยู่ที่รู้ไว้ เห็นไว้เฉยๆ แค่นั้นเอง

ส่วนขันธ์เขาจะแสดงความจำแนกธรรมในส่วนต่างๆ อะไรออกมา ...ก็ทำหน้าที่เหมือนเขาฉายภาพยนตร์ให้เราดู  เราเป็นคนดู เราเป็นแค่ผู้สังเกต ...เป็นผู้สังเกต อย่าเข้าไปอินในภาพยนตร์

เพรานั้นเขาจะฉายหนังหมดม้วนแล้ว อย่าเรียกร้อง อย่าหาใหม่ เข้าใจมั้ย อย่าไปติดกับมัน ...มันก็เป็นภาพเรื่องราวที่เขาแสดงให้เราเข้าใจ แค่นั้นเอง ...อยู่ที่รู้ไว้ เป็นผู้สังเกตไว้ เห็นไว้เฉยๆ แค่นั้นเอง

รักษาใจไว้ จำคำไว้อย่างหนึ่งว่า รักษาใจไว้...แล้วอยู่ที่ใจ ทุกอย่างไม่ว่าอะไร อยู่ที่ใจ ...อย่าอยู่ที่สิ่งที่รู้ อย่าอยู่ที่สิ่งที่มันแสดงออกมา เดี๋ยวจะหลงตามอาการนั้นๆ

แต่ถ้าอยู่ที่รู้ปุ๊บ ความเป็นกลาง ความเป็นธรรมดา ความจืดจาง ความจางคลายมันจะมากขึ้นไปเอง ...มันจะไม่เห็นว่า มันเป็นอะไร มีอะไร เรื่องอะไรของใครคนใดคนหนึ่ง

มันจะหมดการให้ค่า ลดการให้ค่าลงไปเรื่อยๆ รู้ไว้เห็นไว้ นั่นแหละใจ ทุกอย่างสำเร็จที่ใจ ทุกอย่างเกิดที่ใจ ทุกอย่างสำเร็จดับลงที่ใจ มีอยู่จุดเดียวเท่านั้น

รักษาใจไว้ ด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยการสอดส่องสังเกตอยู่เสมอ เนืองๆ ...ว่าเดี๋ยวนี้ลืมมั้ย ลืมรู้มั้ย เดี๋ยวนี้ลืมเห็นมั้ย มีอยู่มั้ย รู้มั้ย เห็นมั้ย ...เนืองๆ ไว้

แล้วรู้เห็นตัวนี้มันจะชัดเจนขึ้นมาเอง มีอยู่ตลอดเวลาเลย ไม่หายไปไหนหรอก ...พอมีเหตุการณ์ใดๆ ไม่ว่าจะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะเป็นกิเลสหยาบ กิเลสละเอียด

ไม่ว่ามันจะปรากฏการณ์ใดขึ้นมา มันก็จะมีรู้เห็นคอยเกาะติดอยู่เสมอ ...แม้มันจะมีการเข้าๆ ออกๆ ยังไงก็ตาม  มันก็ไม่ลืมที่จะกลับมาอยู่ที่รู้ กลับมาอยู่ที่เห็น

สร้างนิสัยตัวนี้ไว้  ที่ให้เจริญ...คือเจริญตัวนี้  ไม่ต้องเจริญความรู้ มันจะรู้ยังไงก็ช่าง ...แล้วจากนั้นไปจะเป็นวิถีที่เขาจะแสดงอาการให้เห็น จะเป็นวิถีธรรม

คือวิถีของขันธ์นี่เขาแสดง แล้วมันจะจำแนกออกเป็นส่วนๆ ให้เข้าใจ...ให้ใจมันเข้าใจ ให้ใจมันเรียนรู้ ให้ใจมันเกิดความรอบคอบถ่องแท้ ชัดเจน 

จนถึงที่สุดคือความดับไปสิ้นไป ...มันจะเหมือนกันอยู่ตรงแง่เดียวของทุกอาการขันธ์  คือมีความดับไปเป็นธรรมดา ว่าง ...ตรงที่มันดับน่ะ มันวาบหายไป 

เห็นมั้ย สุญโญ เห็นทุกอย่างเป็นสูญหมด เห็นขันธ์เป็นสุญโญหมด ...ไม่ว่าดี ร้าย ถูก ผิด ละเอียด ประณีต สูญหมด ...ยิ่งสูญเท่าไหร่ ยิ่งเบา

เบาจากอะไร ไอ้ที่ว่าเบาๆ นี่  เบาจากความเป็นตัวเป็นตน เบาจากว่ามันเป็นเรื่องของใคร เบาจากว่ามันยังมีอยู่มั้ย ...มันหาไม่เจอแล้ว  มันดับ มันสิ้น มันสูญ มันหมด ทุกอาการ

มันหมดลงตรงนั้นแหละ ...มันเกิดตรงไหน มันก็หมดลงตรงนั้นแหละ ...ไม่ต้องไปหาที่หมดหรอก ไม่ต้องไปหาวิธีการหมดหรอก มันหมดในตัวของมันเอง มันกลืนกินตัวของมันเอง

นั่นเรียกว่าทุกขสัจ ทุกอาการจึงเป็นทุกขสัจในตัวของมันเอง ...แล้วคอยระวังการเข้าไปมีอุปาทาน คือการเข้าไปหมาย...หมายดีหมายร้าย หมายถูกหมายผิด หมายคุณหมายโทษ ...นั่นแหละคืออุปาทาน

เพราะมันไม่รู้ เพราะมันไม่รู้ว่าไอ้สิ่งนี้มันไม่มีอะไร มันไม่รู้ว่าไอ้สิ่งนี้มันเป็นแค่ชั่วคราว มันไม่รู้ว่ามันไม่สามารถดำรงอยู่ได้ มันไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วมันจับต้องอะไรไม่ได้

มันจึงเกิดมีความหมายมั่น...ว่ามันเที่ยง ว่ามันยังมีอยู่ ว่ามันต้องมีอีก เข้าใจมั้ย

แต่เมื่อเห็นความดับไปในปัจจุบันของมันน่ะ ...ตรงนั้นน่ะ มันจะเข้าไปทำลายความหมายมั่นลึกๆ ภายในนี้ ให้น้อยลง ให้คลายออก ...ยังไม่ขาดหรอก แต่มันจะคลายออก

เหมือนเราเปิดฝาขวดเกลียว มันจะคลี่คลายออกจากความเหนียวแน่น ยึดมั่นถือมั่น  มันยึดแน่น นี่ มันกำแน่น ...มันก็ค่อยๆ ผ่อนๆๆๆ จนห่างออกจากกัน

แล้วก็ของใครของมัน  เรื่องของมันไม่ใช่เรื่องของเรา เรื่องของขันธ์ไม่ใช่เรื่องของใจ ...ขันธ์คือขันธ์ ใจคือใจ มันคนละส่วนกัน ...นี่เริ่มห่าง ...จนขาด

ขาดเมื่อไหร่ หมายความว่า...มันจะบน-ล่าง ขวา-ซ้าย มาก-น้อย...ใจนี้ไม่กระดิกเลย ...มันขาด มันขาดออกจากขันธ์ มันหลุดพ้น  เข้าใจคำว่าหลุดพ้นมั้ย มันหลุด

แต่แรกๆ นี่มันถือมั่นน่ะ มันกำไว้ แล้วมันก็เลือก สรรหา ...นี่ อุปาทานทั้งนั้น ตัณหาทั้งนั้น มันก่อเกิด มันจะหาทางก่อเกิดใหม่ หาอดีต หาอนาคต

มันไม่พอใจปัจจุบัน มันไม่ยอมรับปัจจุบัน มันคิดว่าปัจจุบันนี้ไม่ดี มันคิดว่าปัจจุบันนี้เที่ยง มันเลยไม่พอใจ เข้าใจมั้ย ...แต่ถ้าอยู่ไว้ อดทนไว้ก็จะเห็นว่า ไอ้ปัจจุบันเองน่ะ ยังไม่อยู่เลย 

สุดท้ายปัจจุบันก็ดับ ไม่เห็นมีอะไร พึ้บ เหมือนลมๆ  เหมือนนกบินไปในอากาศ แพล้บ หายไปแล้ว ไม่มีอะไรหลงเหลือเลย ...หาซากรูป หาซากขันธ์ไม่มีน่ะ 

มันหมดสิ้นไปเลยในการดับไปแต่ละครั้ง นี่ ...ใจที่มันเห็นความดับไปเสมอๆ นั่นแหละ จึงเรียกว่าใจดวงนี้เข้าไปเรียนรู้อนัตตา ใจดวงนี้เข้าไปเห็นอนัตตา

ใจดวงนี้เข้าไปเห็นความดับไปสิ้นไปของตัวตน ของความเป็นคน ของความเป็นสัตว์เป็นบุคคล ของความดำรงอยู่ของชีวิต...ไม่มีอะไร มันสุญโญน่ะ มันเป็นสุญโญหมด ธรรมนี่เป็นสูญนะ

แต่ไอ้ที่พวกเราแสวงหานี่ สังขารธรรมทั้งนั้น  แล้วก็มาติดอยู่ตรงสังขารธรรมนั่นแหละ ...อันนั้นดี อันนี้ร้าย อันนั้นเหนือ อันนี้ต่ำ อันนี้สูง อันนี้ดำ อันนี้ขาว อันนี้กุศล อันนี้อกุศล ...มันจะแบ่งน่ะ

แต่จริงๆ กุศลก็ดับ อกุศลก็ดับ ...มันเป็นแค่ปรากฏการณ์ชั่วคราว ...ได้มาก็สูญ ไม่ได้ก็สูญ มันก็มีความดับไปเหมือนกันหมดเลย ..สงบก็ดับ ไม่สงบก็ดับ สงบมากก็ดับ สงบน้อยก็ดับ ใช่มั้ย 

มีอะไรอยู่ล่ะ มันมีอะไรคงอยู่ไหม มันมีอะไรสามารถดำรงอยู่ได้ไหม...ไม่มี ...ใจที่มันเห็นอย่างนี้ จนรอบนี่ ...มันจะไม่ทิ้งอย่างไร มันจะไม่ปล่อยอย่างไร 

มันจะหลง...เข้าไปลุ่มหลงมัวเมาได้อย่างไร ...เหมือนเหล้าวางไว้ในแก้วนี่ ไม่เมาหรอกถ้าไม่กินน่ะ ...เขาก็ไม่ได้เรียกร้องเชิญชวนให้มากินนะ เราไปกินเขาเองน่ะ 

แต่ต่อไปใจนี่เห็นมันเหมือนเหล้า ไม่มีประโยชน์น่ะ แล้วจะไปกินมันทำไม นี่ มันก็ไม่เมาแล้ว ...การที่ใจดวงนี้ไม่เข้าไปมัวเมาในขันธ์นี่ เพราะมันเห็นน่ะ มันไม่มีอะไรในขันธ์นี้ ...กินเมื่อไหร่ก็ทุกข์น่ะ

ไอ้แค่มันตั้งอยู่นี้ก็เป็นทุกข์จะตายแล้ว..คือทุกขสัจ ตามมีตามเกิด ตามที่มันเป็นไปน่ะ ...นี่ เขาเรียกว่ามันเป็นขันธวิสัยน่ะ เป็นทุกข์ในตัวของมันเองอยู่แล้ว ...ยังไปกินมันอีก ก็เมาน่ะสิ

แต่ตอนนี้มันไม่รู้น่ะ กินมั่วไปหมดใจดวงนี้..ใจไม่รู้นี่ที่มันแอบอยู่ในใจ...คืออวิชชา ความไม่รู้ ...มันคิดว่าเที่ยง มันคิดว่ามี มันคิดว่าเป็นของเรา มันเชื่อว่าเป็นตัวเรา นี่ ...นี่เหตุให้เกิดทุกข์น่ะ

รู้บ่อยๆ แยกไว้บ่อยๆ อดทนเอา อดทนต่อสิ่งที่ปรากฏ...ด้วยความหน้าด้านหน้าทนน่ะ ...ใครว่าปัญญาวิมุติง่าย ใครว่าปัญญาวิมุติสบาย ...นี่ มันอยู่ด้วยความอดทนเลยนะ

ไม่แก้ไม่หนี อยากได้ก็ไม่เอา ไม่อยากได้มันดันปรากฏก็ต้องทน ...รู้อย่างเดียว เห็นอย่างเดียว  เอากันจนกว่าจะตายกันไปข้างนึงน่ะ ...มันไม่ตาย ให้ใจดวงนี้ตายไปเลย

แล้วก็จะเห็นว่าใจไม่เคยตาย ...มันน่ะตาย มันน่ะเกิดแก่เจ็บตายอยู่ตลอดน่ะ ทุกอาการของขันธ์น่ะ ไม่มีอะไรเหลือรอดเลย ...เนี่ย มันทนถึงขนาดนั้น

แต่ว่ามันไม่ได้ว่ามานั่งเอาเป็นเอาตายด้วยการสร้างสภาวะอะไรขึ้นมานะ ...แต่มันจะอยู่ตลอดเวลา สตินี่...ต้องตลอดเวลา ไม่มีเวลา ...เข้าใจคำว่าตลอดเวลาไหม...คือไม่มีเวลา

ไม่มีว่าตอนนั้นกี่ชั่วโมงกี่นาที ...คือตลอดเวลา สตินี่ต้องตลอด รู้ตลอด เห็นตลอด เนืองๆ ...แต่อย่าเครียดนะ อย่าไปเครียดจนเอาเป็นเอาตาย ...แต่ให้เตือนไว้


(ต่อแทร็ก 5/27  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น