วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 5/20 (2)


พระอาจารย์
5/20 (540923A)
23 กันยายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/20  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  การภาวนามันเป็นเรื่องของชีวิตประจำวันนั่นน่ะ มันไม่ใช่เรื่องที่จะมานั่งค้นนั่งหาในเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือว่าสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง

แต่มันเป็นการฝึกที่จะให้ใจนี่เข้าไปรู้เห็นความเป็นจริงที่ปรากฏในทุกขณะ ...มันจะได้ผลต่อเนื่อง ได้ผลมากหรือน้อยนี่ มันอยู่ที่การรู้เห็นที่ต่อเนื่อง

ถ้าสอนใจหรือว่าสามารถฝึกให้ใจมันรู้เห็นได้ต่อเนื่องนี่  ใจมันก็จะมีปัญญามากขึ้นไปตามลำดับเอง ...ไม่ใช่ว่าจะต้องไปค้นไปหา ไปสร้างไปมี ไปทำอะไรขึ้นมา ไปหาธรรมใดธรรมหนึ่งเป็นที่ถือครองอะไร

ให้ใจมาเห็นขันธ์เยอะๆ ปัจจุบันขันธ์ เป็นปัจจุบันธรรมทุกขณะไป ...นึกอะไรไม่ออกก็นึกไว้ว่า มันเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ...ให้ดูไป

ให้ใจมันพิจารณาข้ออรรถธรรมนี้ไปว่า มันเกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ไม่ว่าอาการภายนอก ไม่ว่าอาการภายใน ไม่ว่าเสียง ไม่ว่ากลิ่น ไม่ว่าภาพ ...มันปรากฏอยู่ตรงไหน มันก็ดับอยู่ตรงนั้น

ไม่ต้องไปหาที่ดับมัน มันดับของมันอยู่ตรงนั้นแหละ  ภายในก็...ความคิดมันเกิดตรงไหน มันก็ดับอยู่ตรงที่ความคิดมันเกิดน่ะแหละ  มันโผล่มาทางไหน มันก็ดับไปหายไป

ให้อยู่ในที่ที่มันผุดโผล่ขึ้นมา ให้มันเห็นอยู่ตรงนั้น ...ให้มันรู้ให้มันเห็น ซ้ำซากลงไป เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของขันธ์ซ้ำซากลงไป ...ไม่ใช่จะเอาแต่ความสงบ หรือความเห็นที่คิดว่าดี ที่คิดว่าถูก

แต่ให้ใจมันเห็นสภาวะขันธ์เกิดดับเป็นขณะไป ...ความแยบคาย ความจำแนกในธรรม มันก็จะปรากฏความเข้าใจ ความลึกซึ้ง ความอิ่ม ความพอ

ยิ่งดูไปเห็นไป มันจะยิ่งรู้สึกพอแล้ว มันจะมีคำว่า “พอ” มากขึ้น...พอดี ไม่ค่อยขาด แล้วก็ไม่ค่อยเกิน ...มันจะพอดี แม้แต่ธรรมก็จะเป็นธรรมที่พอดี 

ไม่ได้ต้องแสวงหาธรรมอะไรมากกว่านี้ ทั้งการกระทำ ทั้งธรรมะที่ใจเคยหมาย หรือ “เรา” น่ะไปหมาย มันก็จะเกิดความพอ...พออยู่ในปัจจุบัน ไม่ขาดไม่เกิน

และให้เห็นปัจจุบันนั้นเป็นของชั่วคราว เป็นธรรมชาติที่ปรากฏทรงอยู่  ขณะหนึ่ง ช่วงหนึ่งเท่านั้น ไม่มีอะไรหรอกในความปรากฏอยู่นั้น

ถ้าใจมันเห็น มันก็จะรู้สึกเองว่าพอ แล้วรู้สึกว่ามันไม่มีอะไร  มันก็ลงอีหรอบเดียวกันหมดคือความดับ ...เห็นแต่ความดับ...ดับไปทุกอย่าง...เป็นธรรมดา

แต่ว่าถ้าขาดการรู้การเห็น หรือว่าขาดการรู้เนื้อรู้ตัวแล้วนี่  มันก็จะไม่เข้าไปซึมซาบ รับทราบอะไรได้เลย ...มีแต่ความหลง เผลอ หาย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว เพลิน ล่องลอย

หรือว่าไปผูกร่างสร้างตัวอยู่ในขันธ์ใดขันธ์หนึ่ง เช่นความคิดอดีตหรืออนาคตก็ตาม แล้วก็ไปจมปลักอยู่ เหมือนควายแช่ปลัก มันก็เหมือนควายที่มันรู้สึกสบายดีที่มันแช่ปลัก

จิตที่โง่เหมือนกับจิตควายน่ะ ไม่รู้อะไร ไม่ยอมลุกมาจากปลักจากตม จากโคลนจากตม ...มันก็ว่ามันเย็นมันสบาย มันมีความสุขดีแล้ว

มันไม่ยอมละ ไม่ยอมเลิก ไม่ยอมถอน ไม่ยอมเห็นความเป็นจริงที่มันมีอยู่ ปรากฏอยู่ ...นี่คือว่าไม่น้อมกลับมาให้ใจมันมีปัญญาเห็นขันธ์เห็นโลกตามความเป็นจริง

อย่าไปเสียดายความคิด อย่าไปเสียดายอดีต อย่าไปกังวลอนาคตอะไร ...พยายามสอนใจให้เห็นค่าเห็นความสำคัญของปัจจุบันธรรม ของการให้จิตรู้จิตเห็นแค่ปัจจุบันธรรมปัจจุบันจิต...พอแล้ว

แล้วก็ให้มันรู้จักคำว่า “พอ” มากๆ  จนใจมันพอดี  มันก็จะเห็นด้วยใจเป็นปัจจัตตังเองว่า มันพอดีแค่ในปัจจุบันเท่านั้นเอง  ถ้าเกินไปแล้วก็เป็นทุกข์ ...เกินจากปัจจุบันเมื่อไหร่ก็ทุกข์เมื่อนั้น

ถ้านั่งอยู่ตรงนี้ ใจอยู่ตรงนี้ ไม่มีทุกข์ ...แต่ถ้ายังคิดถึงงานน่ะก็จะเป็นทุกข์  ถ้าคิดถึงบ้านก็จะเป็นทุกข์  ถ้าคิดถึงคนที่อยู่ที่บ้านก็จะเป็นทุกข์

นี่เพราะว่าใจมันไม่อยู่กับปัจจุบัน ไปหมายมั่นในสิ่งที่มันยังมาไม่ถึง...ไม่มีจริง ...มันเป็นแค่การสร้างภาพขึ้นมา ...เป็นมายาของจิต

และเมื่อใดรู้ตัวรู้ทันมัน ก็กลับมาอยู่ตรงนี้ ...ตรงที่กระดูกทับก้นอยู่นี่ อยู่ที่ความรู้ตัวตรงนี้ ตรงเสียง ตรงรูป ตรงภาพที่ปรากฏอยู่นี่

จืดๆ อย่างนี้ ไม่มีอะไร ...ธรรมดา...ปกติก็คือความธรรมดา ไม่มีอะไรประเสริฐเลิศกว่าความเป็นปกติธรรมดา ...แต่เพราะใจมันหิวโหย...ใจไม่รู้นี่

คือใจจริงๆ นี่มันไม่หิวหรอก ...แต่ไอ้ใจไม่รู้ที่มันอยู่ภายในใจรู้นี่ มันหิว มันโหยหาอารมณ์ ทะเยอทะยานไม่รู้จักพอ ...มันหาแต่สุข หาแต่ความที่มันจะเพลิดเพลินมาเสพ มาครอง

ก็ต้องเชื่อพระพุทธเจ้า ท่านบอกว่าให้ฝึก ไม่ตามมันไป ไม่ไปปรุงกับมัน ...ให้เห็นทันมัน และให้อยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบันเท่านั้นบ่อยๆ  อย่าไปหลงกับมัน

มันหลอก ถูกขันธ์หลอก ...จริงๆ ขันธ์เขาไม่ได้ตั้งใจหลอก แต่ใจไม่รู้นี่มันยอมให้เขาหลอก ...เขาไม่ได้เชื้อเชิญอะไรหรอก แต่ใจไม่รู้น่ะมันไปสร้างความเห็นความเชื่อขึ้นมา ...นี่ โง่

มันก็เกิดอาการทุรนทุราย กระวนกระวาย  ไม่หยุด ไม่อิ่ม ไม่พอ  หิวโหยทั้งข้าวของ ทั้งอารมณ์ ทั้งความสุขความดี ทั้งลาภ ทั้งยศ ทั้งคำชม ทั้งความสุข

โลกธรรม ...มันแสวงหาอยู่แค่นั้น ในโลกธรรมทั้ง ๘ ...มันเลือกเอา ๔  อีก ๔ ไม่เอา

ไอ้โลกธรรมนี่มันก็เป็นธรรมที่มีอยู่คู่โลกอยู่แล้ว ไม่ต้องไปหาไม่ต้องไปเห็นมันหรอก มันมีของมันเองน่ะ มันเป็นทรัพย์สมบัติประจำโลกเขาอยู่

ตราบใดที่ยังมีโลกใบนี้ ยังไม่แตก ยังไม่ดับนี่ ในโลกนี้ก็ประกอบด้วยโลกธรรม ๘ เป็นธรรมคู่โลกคู่แผ่นดิน ...สรรเสริญ-นินทา สุข-ทุกข์ มีลาภ-เสื่อมลาภ มียศ-เสื่อมยศ มันมีอยู่แค่นั้นแหละโลกธรรม

ใจที่ไม่รู้ ที่มันหลงอยู่ในโลกนี่ มันก็จะเกิดมาเพื่อแสวงหา ๔ ใน ๘ ของโลกธรรม ...โดยเข้าใจว่ามันเป็นของเรา ทำยังไงให้มันเที่ยงที่สุด ทำให้มันอยู่กับเรามากที่สุดนานที่สุด ...นี่ความไม่รู้ภายในใจ

แม้แต่มาเริ่มปฏิบัติธรรม ก็ยังเอาโลกธรรม ๘ มาทาบทาอยู่กับธรรม ...สภาวธรรมที่ปรากฏ สุขบ้าง ปีติบ้าง ความหลุดพ้นบ้าง อะไรบ้างก็ตาม ที่มันนึก ที่มันคิด ที่มันปรุงขึ้นมาเป็นสังขารธรรม

จนกว่าใจมันจะเห็น จนรู้จักคำว่า “หยุด” แล้วก็ “พอ” ...เพราะว่ามันเห็นว่า ทั้งหมดทั้งหลายทั้งปวงนี่ มันเป็นแค่อาการหนึ่งที่ปรากฏชั่วคราว

เพราะนั้นถ้าใจไม่เข้าใจไตรลักษณ์ ใจไม่เห็นไตรลักษณ์แล้วนี่ ...ไม่มีทางที่จะละวางถอดถอนได้จากโลก อารมณ์ในโลก  หรือขันธ์ แล้วก็อารมณ์ในขันธ์

แล้วจากมีอารมณ์โลกนี่เป็นของเราของเขา มันก็มาจับอารมณ์ของขันธ์มาเป็นของเราของเขาอีก ...ไปอยู่ในโลกก็ติดโลก มาอยู่คนเดียวก็ติดตัวเอง ติดกับขันธ์ตัวเอง

เอาขันธ์ของตัวเองมาเป็นอารมณ์ ขันธ์อดีต ขันธ์อนาคต ขันธ์ดีขันธ์ร้าย ขันธ์ชั่วขันธ์เลว ขันธ์สุขขันธ์ทุกข์ ก็มาติดในขันธ์นี่อีก แล้วมันก็ยังเอาโลกธรรมมาแสวงอยู่ภายในขันธ์ด้วย

ใจโง่นี่มันโง่ไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีปัญญา ...ปัญญามันจึงจะทำให้ความโง่นี่มันสิ้นสุดลงได้ หรือว่าหมดไป จางไป หายไป สิ้นไป ไม่หวนคืน

ศีลสมาธิปัญญาจึงเป็นเครื่องมือที่พระพุทธเจ้าวางไว้ แนะไว้ เสนอไว้ ให้สัตว์โลกเอาไปใช้ เอามาประยุกต์ เอามาปรับให้พอดีกับชีวิตความเป็นอยู่

เพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น ให้ใจนี่มันเข้าใจ ให้ใจมันเห็นขันธ์ตามความเป็นจริง โลกตามความเป็นจริง ชัดเจนกว่ามิติที่มันเคยซึมซาบเคยเข้าใจ หรือว่าเชื่อว่าโลกมันต้องเป็นอย่างนี้ ควรเป็นอย่างนี้

มันก็จะมามองเห็นโลกในอีกมิติหนึ่งที่ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่มันเชื่อ ไม่ได้เป็นอย่างที่มันเข้าใจ ...ไอ้ที่ใจไม่รู้นี่มันเชื่อมันเคยเข้าใจ...ท่านเรียกว่าเป็นมิจฉาทิฏฐิ

แต่ถ้าทำน้อยนี่ ดูน้อยเห็นน้อย รู้น้อยเห็นน้อยในปัจจุบันธรรม ....มันไม่สามารถจะไปลบล้างความเชื่อผิดๆ ภายในได้ 

เพราะมันสะสมอบรมมาเนิ่นนานอเนกชาติ อเนกอนันตกาล หมุนวนอยู่อย่างนี้นับภพนับชาติไม่ถ้วน

แล้วไอ้การที่จะมาดูแค่ประเดี๋ยวประด๋าว มาฟังเราแล้วก็มีกำลังไปดูแค่ห้าวันสามวันนี่ แล้วก็ทิ้งไปหายไป  แล้วก็จะมาฟังใหม่แล้วก็ไปดูใหม่อีกครั้งนี่ ...มันไม่พอกินหรอก

มันต้องเตือนตัวเอง ตั้งมั่นขึ้นมาให้ได้ ด้วยการที่ว่าเห็น ...อย่างน้อยต้องสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง เชื่อมั่นในธรรมะที่เป็นโอวาทของพุทธะ หรือว่าพุทธธรรม

ให้เชื่อไว้ก่อนว่าศีลสมาธิปัญญานี่จะพาให้ออกจากโลกได้ ...มันจะได้สร้างความขยันหมั่นเพียร ความพากความเพียร ความวิริยะอุตสาหะ

เวลาทำงาน อย่างตัดผ้าตัดผ่อนนี่ ...ถ้าไม่มีวิริยะอุตสาหะนี่ ตัดไม่สำเร็จหรอก เดี๋ยวก็...เอ๊อะ ไม่เอา ขี้เกียจ วันนี้อากาศไม่ดี ลมไม่ดี ...ไม่ทำ

เพราะนั้นเวลาทำอะไรมันต้องอดทนทั้งนั้นน่ะ ...ถ้าไม่อดทนนี่ งานมันไม่สำเร็จหรอก ...ภาวนาก็ต้องอดทนภาวนา อดทนรู้ อดทนอยู่กับปัจจุบัน

มันไม่ยอมอยู่หรอก บอกให้ มันไม่ยอมอยู่หรอกปัจจุบันน่ะ ...บอกให้มันอยู่ สั่งให้มันอยู่ มันไม่อยู่หรอก ใจโง่มันไม่มีทางหรอกที่มันจะมาเชื่อมาฟัง

มันเชื่อแต่ต่อหน้าครูบาอาจารย์น่ะ พอกลับบ้านมันไม่เชื่อแล้ว ...จะไปอ่ะ จะไป  อยู่ทำไม คิดดีกว่า เพลินกว่า สนุกกว่า

มันก็ต้องอาศัยกำลังของตัวเองน่ะ เตือนตัวเองบ่อยๆ ให้ได้ ให้เกิดความขยันตั้งใจขึ้นมา

ความรู้ยิ่งรู้จริงในธรรม มันก็จะมากขึ้น...พอฟัดพอเหวี่ยงกับความเชื่อผิดๆ ความเห็นผิดๆ แต่ดั้งแต่เดิม แต่อ้อนแต่ออก ตั้งแต่ก่อนเกิด


(ต่อแทร็ก 5/21)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น