วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 5/20 (1)




พระอาจารย์
5/20 (540923A)
23 กันยายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  พุทโธ...มันก็คือความคิดอันหนึ่ง แต่มันคิดอยู่ในที่อันเดียว มันก็กลายเป็นคำบริกรรม ...ก็เห็นเกิด-ดับๆ อยู่อย่างนั้น

ความคิดน่ะ ...เวลาไหลไปตามมัน ไปหมายมั่นตามความคิด ...มันไม่ดับ มันเกิดไปต่อเนื่อง ...แล้วไม่เห็นความดับไปของความคิด

เพราะนั้นพอเรามาใส่ใจต่อพุทโธ ก็เลยเห็นความคิดนั่นดับ แล้วก็ให้เห็นว่าตัวพุทโธก็ดับ...เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น

ภาวนาทั้งหมดเพื่อให้เห็น ...ไม่ได้ว่าให้ได้อะไร ไม่ได้เอาอะไร ...แต่ให้เห็น...ให้เห็นว่าอะไรเกิดขึ้น อะไรดับไป  อะไรเกิดตรงไหน...อะไรก็ดับไป

ให้ใจมันได้เห็นไตรลักษณ์ ความเกิดดับของขันธ์ เวลาทำอะไร ภายนอกก็ให้เห็นอาการเกิดๆ ดับๆ ของอาการการกระทำ จากตรงนั้นไปตรงนี้ ...มันว้อบแว้บๆ

นี่ ให้มันเห็นความดับไปในอากัปกริยา สัมผัสหยิบจับอะไร ทำอะไร...ก็เห็นมันดับไปตรงนั้น ในขณะนั้น ...แล้วก็ดับ แล้วก็เปลี่ยน แล้วก็ดับ แล้วก็เปลี่ยน อย่างนั้น

เวลาทำงานนี่ ...เวลาเอี้ยว เวลาหยิบ เวลาจับ ให้เห็นความดับ เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น ...ให้ใจมันเห็นความเกิดดับบ่อยๆ จะได้ไม่ไปหมายมั่นเป็นข้าวเป็นของ เป็นวัตถุเป็นอะไร เป็นตัวเป็นตน

พอไม่ได้หยิบ ไม่ได้จับ ไม่ได้ทำอะไร ...ก็มาดูกาย ดูลมหายใจ ดูความคิด เห็นความคิด ดูเวทนาในกาย ดูเวทนาในใจ...พอใจ เดี๋ยวไม่พอใจ เดี๋ยวดีใจ เดี๋ยวไม่ดีใจ เดี๋ยวเฉยๆ

กลับมาให้ใจมันเห็น อย่าให้มันล่องลอยไปเรื่อยเปื่อย ไม่รู้ไม่ชี้ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ...สติ ให้มีการรู้ตัวอยู่ตลอด ...เมื่อรู้ตัวมันแล้วมันจะเกิดภาวะที่ว่าเห็นตามความเป็นจริง

ไอ้ตามความเป็นจริงน่ะ มันก็ไม่ใช่ว่าต้องไปสร้าง ต้องไปหาอะไร ...มันก็มีความเป็นจริงเกิดๆ ดับๆ อยู่ต่อหน้านั่นน่ะ ตรงที่มันปรากฏน่ะ

เวลาตาเห็น เวลาหันไปทางนั้น หันไปทางนี้ ...ก็ให้เห็นรูปเกิดดับ ภาพที่ละสายตาไป ตามันจะมีจุดโฟกัสน่ะ ใช่มั้ย ...มองอะไรอยู่แล้วหันไป ให้เห็นว่าภาพนั้นก็ดับ

ถ้ามันรู้ตัวอยู่ มันก็จะเห็นว่า แม้แต่รูปที่อยู่เบื้องหน้าก็เกิดๆ ดับๆ  อากัปกริยาอาการของผู้คนก็ว้อบๆ แว้บๆ ไปมา อย่างนี้ ...ให้เห็น

อย่าไปหลงไปกับรูปจนลืมตัว มีเรื่องมีราว ไปเป็นเรื่องเป็นราว ไปเป็นสัตว์ไปเป็นบุคคล ...มันก็จะเกิดการยึดติดตามมา

การที่เห็นความเกิดดับไปในปัจจุบัน ...มันจะเข้าไปละความยึดมั่นถือมั่น ว่านี่เป็นเรา นี่เป็นเขา นี่เป็นตัว นี่เป็นสัตว์บุคคลอะไรอย่างนี้

กลับมาอยู่กับความรู้ตัว ให้มีความรู้ตัวอยู่เสมอ จนเห็นขันธ์เกิดดับอยู่ตลอดเวลา ...ถ้าไม่ไปเห็นขันธ์เกิดดับ ก็ให้อยู่ที่รู้ที่เห็น รู้ตัว อยู่กับความรู้ตัวไว้ ตั้งมั่นไว้ให้ดี ตั้งมั่นอยู่ภายใน รู้เห็นๆ อยู่ที่รู้ อยู่ที่เห็น

จากนั้นไป ขันธ์มันก็จะค่อยๆ ปรากฏในตัวของมันเองนั่นแหละ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง ไม่เวทนาก็ความคิด ไม่ความคิดก็อารมณ์ ไม่อารมณ์ก็เสียง ไม่เสียงก็รูป ไม่รูปก็กลิ่นก็รส ก็ว่าไป

ก็ให้เห็น...ให้รู้ว่ามีอาการเห็น  แล้วก็จะเห็นว่า มันจะเกิดตรงไหนก็ไม่ต้องไปใส่ใจกับมัน เกิดที่ไหนมันก็ดับที่นั้นแหละ ...ดูให้เห็นความดับไปในที่อันเดียว

ดูในปัจจุบันที่ปรากฏ มันก็ดับตรงนั้นแหละ ...ให้มันขาดในปัจจุบัน ขณะๆๆไป มันจะเข้าไปทำลายความเป็นสักกาย ความเป็นตัวตน

ปัญญามันก็เกิดที่ใจรู้ใจเห็นตรงนั้นแหละ เห็นตามความเป็นจริงของขันธ์ การภาวนาทั้งหมดเพื่อให้เกิดปัญญา แต่ว่าปัญญานั้นต้องไปเกิดปัญญาที่ใจ

ปัญญานี่ไม่ได้ไปเกิดปัญญาที่ความคิด ไม่ได้ไปเกิดปัญญาด้วยความจำ หรือการอ่านการฟัง ...นั่นมันแก้อะไรไม่ได้  มันแก้ได้แค่กำราบหรือว่าข่มไว้ ไม่ให้มันกำเริบเท่านั้นเอง

แต่ว่าปัญญาที่แท้จริง ต้องเป็นปัญญาที่ใจ ...ใจรู้ใจเห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ ว่ามันเป็นของที่เกิดดับชั่วคราวแล้วก็ดับไปตรงนั้นน่ะ ไม่มีความหมาย 

ให้ใจมันเห็น ...เพราะนั้น ใจมันจะเห็นได้น่ะ มันต้องเห็นด้วยสติและสัมปชัญญะ ...ไม่ใช่บังคับให้มันเห็นด้วยความคิดความปรุงอะไร

แล้วมันปรากฏยังไงก็อย่างงั้น มันก็ดับตรงนั้นแหละ  ...ไม่ต้องไปหาวิธีการในดับ ในการจัดการกับมันยังไงดี ...เกิดตรงไหนก็ให้เห็นว่ามันดับตรงนั้น

ดูไปเห็นไป ทำงาน...ทำงานที่ไม่ได้ทำงาน ทำงานที่ไม่ได้ตั้งใจทำ ...เพราะว่าธรรมเขาก็หมุนเปลี่ยน แสดงธรรมตลอดเวลาอยู่แล้ว แสดงความเป็นจริง แสดงความไม่คงอยู่

แสดงความแปรเปลี่ยน แปรปรวน  แสดงความเกิดแล้วก็ดับไปเองอยู่แล้ว เป็นปกติวิสัยของโลก ของธาตุ ของขันธ์ ของอายตนะ ของผัสสะ ...มันเป็นแค่นั้นเอง

ให้ใจมันเห็น จนมันเชื่อตามที่มันเห็น ...มันก็เห็นจริง เกิดความเชื่อจริง เรียกว่าเกิดสัมมาทิฏฐิ ...ใจมันก็ค่อยๆ คลายออกจากความหมายมั่นในกองขันธ์

ทั้งขันธ์เรา ขันธ์คนอื่น  ทั้งขันธ์ใน ทั้งขันธ์ภายนอก  ทั้งขันธ์ข้างหน้า ทั้งขันธ์ข้างหลัง  มันก็เห็นเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ปรากฏแล้วก็ดับไป ...เป็นธรรมชาติหนึ่ง เป็นสภาวธรรมที่ปรากฏแล้วก็ดับไป

เพราะนั้นใจมันก็อยู่กับทุกสิ่งทุกอย่างด้วยความเป็นปกติ แล้วก็ทุกอย่างก็ปล่อยให้เป็นไปตามธรรม ทุกอย่างก็ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมที่ปรากฏ ไม่มีใครเป็นเจ้าของธรรมที่ปรากฏนั้น

ไม่ว่าจะภายนอก ไม่ว่าจะภายใน ...ภายในก็เป็นขันธ์ห้า ภายนอกก็เป็นขันธ์คนอื่น ...มันก็กลายเป็นปล่อยไปตามธรรมที่ปรากฏ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสัตว์และบุคคลใด ...มันก็เป็นธรรมชาติ 

การใช้ชีวิต การดำเนินชีวิตก็จะเรียบง่าย ไม่มีอะไรเสียดแทง เดือดร้อน คับแค้น กังวล ...ความกังวลความกลัว มันเกิดจากการที่ไม่รู้จริง 

ไปกลัวในอดีต ไปกังวลในอนาคต  ไปกลัวในสิ่งที่มันยังมาไม่ถึง ไปกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง  ไปคาดไปเดา ...พวกนี้มันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้น

ก็ให้เห็นว่าอะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ แล้วก็ต้องละตรงนั้น ...ไม่ใช่ไปคิด แล้วก็เห็นว่ามันทุกข์เพราะความคิด แล้วก็ยังไปคิดว่าจะละมันยังไงดี ...มันละไม่ได้ด้วยการคิด

ก็ให้เห็นว่าเหตุนั้นเกิดที่หลงปรุงไปในความคิด อดีต-อนาคต ...ก็ละมันไปตรงนั้น ในฐานที่ว่ารู้อยู่ตั้งมั่นอยู่กับปัจจุบัน ความปรุงไปในอดีตอนาคตมันก็ดับไปของมัน

ฝึกลงใจให้เกิดปัญญามากๆ ใจมันก็จะตั้งมั่นอยู่ภายใน ...อาการของใจตั้งมั่นอยู่ภายในก็คือรู้เห็นอยู่ตลอด ไม่ว่าจะทำ ไม่ว่าจะพูด ไม่ว่าจะเดินไปเดินมา ทำมาหากิน

มันก็มีการรู้เห็นในอาการที่ปรากฏอยู่เสมอ ไม่ขาด ไม่หาย ...เป็นความรู้ แน่น ชัดเจน...ในธรรมทุกธรรมที่ปรากฏในปัจจุบัน

ใจมันก็จะแยกออกมาจากขันธ์ ใจมันก็จะค่อยๆ ลอยตัวของมันออกมาจากโลกธรรมที่หมุนอยู่รอบตัวใจ ...มันก็ค่อยๆ หลุด  ค่อยๆ จาง ค่อยๆ พ้น จากโลกไปตามลำดับลำดา

นี่เรียกว่ามันหลุดพ้นด้วยปัญญา เพราะใจมันเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ มันไม่ได้เป็นสมบัติข้าวของทรัพย์สินของใครคนใดคนหนึ่ง เป็นแค่ธรรมหนึ่งที่ปรากฏเท่านั้น เป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่เท่านั้น

เมื่อตั้งมั่นดีแล้ว...ก็สังเกตไปเรื่อยๆ ในอาการที่ผิดปกติไปในนั้น ...มันอยากได้ มันอยากหา มันอยากเห็น มันอยากมี มันอยากเป็นอะไร 

ก็ให้รู้ตามธรรมไป แล้วก็ดับ แล้วก็ละความอยากไป ...อย่าปล่อยให้ความอยากมันปรุงออกมาเป็นอารมณ์ เป็นอดีตเป็นอนาคตขึ้นมาอีก ...มันจะเกิดอาการวนซ้ำซากไม่จบไม่สิ้น

จากนั้นก็ให้ตรงแน่วลงไปละที่ความอยากโดยตรง  ความทะยานของใจที่จะไปหมายกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่เกิดอยู่ในปัจจุบัน ทั้งที่ยังไม่เกิด หรือว่าทั้งที่เกิดมาแล้ว ...นี่มันจะทะยาน

ก็ให้เห็นขณะอาการทะยานไปของใจ ที่จะไปคว้า ไปครอง ไปหมาย ...มันก็จะเห็นอาการนั้นก็ดับไปในทันที ...สติมันก็จะแน่วแน่ๆ จนเป็นสัมมาสติขึ้นมา...รู้ตรงไหนก็ดับไปตรงนั้น

ขันธ์ก็เป็นไปตามปกติของขันธ์  มีอยู่ ตั้งอยู่ เป็นอยู่ ...จะมากหรือจะน้อย มันก็เป็นไปของมันตามธรรมที่ปรากฏนั้นๆ

มันตั้งอยู่ยังไงก็ตั้งอยู่อย่างงั้น มันดับไปยังไงมันก็ดับไปตรงนั้น ไม่ใช่ธุระกงการของใครคนใด ...อย่าไปถือครองสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง อย่าไปถือครองสภาวะธาตุใดสภาวะธาตุหนึ่ง

ให้รู้ตัวอยู่เสมอ ...ถึงแม้มันจะละไม่ได้ มันยังยึดอยู่...ก็ให้เห็นว่ามันยังยึด มันไม่ยอมปล่อย...ก็ให้เห็นว่ามันไม่ยอมปล่อย ...ให้รู้ลงไปตรงนั้น

ไม่ต้องไปแก้ ไม่ต้องไปรู้ล่วงหน้า ไม่ต้องไปคาดการณ์กับมันว่าจะละยังไงดี มันจะปล่อยยังไงดี ...ไม่ปล่อยก็ไม่ปล่อย ก็เห็นว่าไม่ปล่อย

ก็ว่ากันไปตามตรง ตามธรรมที่ปรากฏ ...ไม่เอาถูกเอาผิด เอาดีเอาชั่วอะไรกับสภาวธรรม หรือสภาวะจิตที่มันแสดงอาการวิปริตออกมา หรือผิดปกติออกมาจากขันธ์

ก็จะเห็น ...ถ้าอยู่ด้วยอดทนต่อความอยากความยึดนั้นไปเรื่อยๆ  ก็จะเห็นว่ามันก็ดับไปเองในความยึดความอยากนั้น...เมื่อถึงเวลา


มันไม่ได้ยึดตลอดชีวิตต่อเนื่องไปหรอก เดี๋ยวมันก็มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นมาทดแทน แล้วก็ดับ ...ก็จะเห็นความดับไปในความยึดมั่นถือมั่นครั้งนั้นคราวนั้น ขณะนั้น ช่วงนั้น 


(ต่อแทร็ก 5/20  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น