วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/2




พระอาจารย์

5/2 (540610B)

(แทร็กต่อ)

10 มิถุนายน 2554


โยม –  พระอาจารย์  ขอโอกาสถามเจ้าค่ะ ... จิตของพระอริยะยังมีการต้องวางแผนที่จะทำกิจธุระอีกไหมเจ้าคะ 

พระอาจารย์ –   มี...มี 


โยม –  แสดงว่านั่นต่างจากของคนธรรมดาอย่างไรเจ้าคะ   

พระอาจารย์ –   ท่านก็วางไปอย่างนั้นน่ะ ไม่ได้เข้าไปหมายมั่นจริงจัง 


โยม  แสดงว่าเห็นขันธ์ที่มันเกิด ไม่ว่าจะเป็นรูป สัญญา หรือสังขารที่ปรุง แล้วก็ไม่อุปาทาน มันเป็นแค่การที่เข้าไปเห็น  

พระอาจารย์ –   ก็ทำได้หมดเหมือนคนธรรมดาทั่วไป ...  แต่ท่านจบไปกับตรงนั้นเลย...จบไปพร้อมกับความคิดตรงนั้นที่ดับ ...เหมือนนกบินไปในอากาศ

อย่างนี้...ในห้องนี้  โยมรู้มั้ย  มีร่องรอยตรงไหนมั้ย ที่บอกว่านกเคยบินมา ...ไม่มีนะ  แต่เราบอกว่า...มี  เคยมี แต่โยมหารอยไม่เจอหรอก  แต่จะบอกว่าไม่เคยมีนกมาบิน ไม่จริงนะ ...มี

เพราะนั้นการกระทำของพระอริยะพระอรหันต์นี่ ท่านทำบนความว่างเปล่า  จะไปบอกว่าท่านไม่ทำก็ไม่ได้ ...ก็มีนกบินมา

แต่ของพวกเรานี่มันเป็นนกที่กลิ่นเน่าเหม็น  บินไปแล้วสิบชาติ ยังมีกลิ่นตกค้าง ... มันมีร่องรอยอยู่ เข้าใจมั้ย  ด้วยความหมายมั่นนี่ มันตราตรึงจารึกไว้ในปฐพีผืนดินในใจ ...มันยังมีใจเป็นที่รองรับจารึกไว้...เป็นอุปาทาน สัญญา อาสวะ

แต่ถ้าเป็นพระอรหันต์นี่ เหมือนรอยเท้าในอากาศ เหมือนนกบินในอากาศ  ก็เดินมา...แต่ไม่มีรอยเท้าทิ้งไว้เลย  มันดับไปตรงนั้นเลย ตรงที่ขาย่างก้าว...ทุกก้าวขา ทุกคำพูด ทุกความคิด ...เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งที่ไม่ปรากฏเลยในมนุษย์ปุถุชน

นี่เป็นธรรมชาติหนึ่งของพระอรหันต์ เป็นธรรมชาติของกายกับใจที่แยกกันอยู่โดยอิสระ  ไม่ต่อเนื่องกันแล้ว ไม่มีเชื้อเนื่องกันแม้แต่โยงใยหนึ่ง  เหมือนบัวที่โผล่พ้นน้ำ ไม่มีโคลนตมติด แยกกันเด็ดขาดจากดิน ถึงเรียกว่าบัวบาน

ไอ้พวกเรามันบัวที่เพิ่งออกจากเหง้า เพิ่งแทงเหง้าขึ้นมาจากดิน  แล้วก็...ศีลอ่อน สมาธิมด ปัญญาควาย มันก็ถูกหอยปูปลากิน ...ก็เน่า  แต่เน่าขนาดไหนน่ะ ไอ้บัวนี่มันมีเหง้า มันก็จะงอกขึ้นมาใหม่อีก เข้าใจมั้ย

เพราะนั้นในตัวคนนี่ก็คือบัวสี่เหล่า  อย่าไปบอกว่าคนนั้นเป็นปทปรมะ ไอ้นี่มัน วิปจิตัญญู อุคฆฏิตัญญู เนยยะ ... มันอยู่ในสี่เหล่าทั้งหมดน่ะ  ไอ้ที่นั่งยืนเดินนอนนี่คือบัว  ใจก็เป็นตัวที่แทงยอดขึ้นมา ถ้ามันมีศีลสมาธิปัญญา

พระอริยะเจ้าทั้งหลายท่านก็เป็นบัวสี่เหล่า ที่เริ่มมาจากเหง้าในชาตินั้น แล้วก็งอกขึ้นมา ... แต่อาศัยความพากความเพียรด้วยศีลสมาธิปัญญา ท่านก็รักษาตัวรอด ให้ใจดวงนี้มันผ่านพ้นหอยปูปลาที่จะมาแทะมาเล็มมากัดมากิน  

ด้วยอำนาจของศีลสมาธิปัญญา ก็รักษาให้อยู่ตลอดรอดฝั่ง จนใจดวงนี้เบิกบาน  หรือว่าบัวมันแทงขึ้นมาเรื่อยๆๆๆๆ จนโผล่พ้นน้ำ  บานแล้วบานเลย ...ก็ถึงที่สุดของบัว

ไอ้พวกเรานี่ก็บัว ... แต่พอมันกำลังจะแทงขึ้นมา แทงแล้ว แทง...แทงแล้วๆๆ ...ก็มาเจอว่า ..ไอ้นี่ก็สำคัญ ...ไอ้นี่ก็ใช่ ...ไอ้นี่ก็ต้อง’  เออ นั่นแหละหอยปูปลามาแล้ว ... ก็ไม่ได้ตั้งใจจะให้มันกินหรอก แต่กูแทงไปเข้าปากมันเองอ่ะ มีอะไรมั้ย (หัวเราะ)

มันก็อยู่ในประเภทไหนล่ะ ปทปรมะวันยันค่ำน่ะ  เดี๋ยวก็ตายๆ  จิตหาย จิตเสื่อม จิตถอย จิตขี้เกียจ จิตขี้คร้าน ... ศีลสมาธิปัญญามีไม่เอา ไปเอาสมาธิมด ปัญญาหมา สมองควาย เอามาเป็นที่เสื่อมที่ห่อหุ้มอยู่ ...มันคือหอยปูปลาทั้งนั้น ... มาฟังทีก็...งึดๆๆๆ ...ขึ้นแระๆๆ ... จะได้สักคืบนึงมั้ย 

แล้วคราวนี้ว่า...ไอ้ที่จะโผล่พ้นน้ำนี่ มันแล้วแต่กรรมและวิบากด้วยนะ...ตื้นลึกหนาบางนี่ ... ถ้าดันไปเกิดในก้นบึ้งของท้องสมุทรเลยน่ะ มันก็วิบากเยอะหน่อย ... กรรม...ขยันสร้างเข้าไป มันก็ทับถมกันลงมา มันก็ยิ่งหนา เข้าใจมั้ย ...มันก็ลึกน่ะ

แต่บัวสี่เหล่าของพระอริยะ ท่านไปเกิดในบ่อน้ำตื้น ...ก็ท่านเคยเกิดน้ำลึกมาแล้ว จนมันตื้นขึ้นๆ  ท่านก็เป็นเหง้าที่อยู่ในบ่อน้ำตื้น แค่วาแค่คืบแค่ศอก  พล้อบๆ แพล้บๆ ท่านก็พรวดขึ้นแล้ว ... ไอ้พวกเรานี่อยู่โน่น ใต้ทะเลฝั่งอันดามันที่ลึกที่สุดของโลก อย่างเนี้ย

มันก็อย่าท้อถอยสิ เพียรรักษาศีลสมาธิปัญญาเข้าไป ... อย่าไปสอดส่อง เอาหูเอาตาหาเรื่อง ไปเอาเรื่องตามหูตามตามาเป็นธุระปะปัง มาเป็นเหตุปัจจัยที่จะต้องใช้ประโยชน์โพดผลกับมันอยู่ ... เสียเวลา เราถึงบอกว่าเสียเวลา...กว่าจะโผล่พ้นน้ำได้

มันยังมีโรคภัยไข้เจ็บที่จะมาเกาะกินเกาะกุมบัวดอกนี้อยู่ กว่ามันจะขึ้นมาเป็นถึงเนยยะ กว่าที่จะเป็นวิปจิตัญญู กว่าจะถึงเป็นที่สุดคืออุคฆฏิตัญญู  มันต้องอาศัยความพากเพียรต่อเนื่องไม่ขาดสาย บ่อน้ำนั้นน่ะก็จะตื้นเขินขึ้นไปเอง ... ไม่ยาก

แต่ถ้ายังหมักอยู่แค่เนยยะ อยู่แค่ปทปรมะ  คือโผล่ไม่พ้นคืบไม่พ้นกระเบียดก็หายแล้ว อย่างเนี้ย ... เหมือนสติที่เราพูดอยู่บ่อยๆ ว่าสติขอทานน่ะ  วันนึงรู้สักกี่ครั้งล่ะ  เน่าอีกแล้ว  ใจมันเน่าไปแล้ว  จะกี่ชาติล่ะมันจะผุดขึ้นโผล่ขึ้นมาเป็นบัวพ้นน้ำน่ะ ใช่มั้ย

เพราะนั้นความต่อเนื่องสำคัญ จนเป็นไม่ขาดวรรคขาดตอน  รู้กายรู้ใจ เห็นกายเห็นใจอยู่ สืบเนื่อง  นั่นแหละ บ่อมันก็จะตื้นเขินไปเอง  

การแทงยอดแทงหน่อโดยธรรมชาติของบัวมีอยู่แล้วทุกคนไปน่ะ มันก็โผล่ขึ้นตามธรรมชาติของเหง้าบัวอยู่แล้ว เป็นหลักของวิวัฒนาการ  แต่ว่ามันไม่ใส่ใจรักษาในทางของมรรค มันก็ไม่ทันโผล่พ้นน้ำสักที..ก็เน่าตายไปซะก่อน...ภาวะใจนี่

เพราะนั้นธรรมชาติของสติ โดยปกติวิสัยของสัตว์โลกมีอยู่แล้ว ... แม้ไม่เคยฝึกสมาธิปัญญามาเลย อย่างคนต่างชาติต่างภาษาอะไรก็ตาม บางครั้งก็รับรู้ได้ ระลึกรู้ขึ้นมาได้ ว่ามันกำลังทำอะไร ...โดยธรรมชาติ ไม่ต้องบอกต้องสอนเลยนะ  มันมี...เป็นขณะ บางขณะ หรือเหตุการณ์เกิดขึ้นให้รู้ตัว เกิดความรู้ตัวขึ้นมา  แต่มันก็ปล่อยให้หายไป นั่นน่ะ เน่าอีกแล้วครับท่าน

พระพุทธเจ้าท่านถึงเน้นย้ำเรื่องของมัชฌิมาปฏิปทา เรื่องของศีลสมาธิปัญญา ให้กลับมาอยู่ในวิถีชีวิต ให้ต่อเนื่อง  ด้วยความพากเพียร ... มันไม่มีทางต่อเนื่องได้เองหรอก ต้องเจริญขึ้นมา  ไม่ใช่ทิ้งๆ ขว้างๆ แล้วมันจะดีขึ้นมาเองนะ  

ขี้เกียจขี้คร้าน มีแต่ขี้ ไม่ได้อะไร  จะไม่ได้ความรู้แจ้ง จะไม่ได้ความเข้าใจเท่าทัน  เห็นความเป็นจริงของกายของใจ เห็นความเป็นจริงของรูปของนาม เห็นความเป็นจริงของอายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒ ...หกมันมีคู่ อายตนะภายในกับอายตนะภายนอก  

อายตนะภายในคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ  อายตนะภายนอกคือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏ ฐัพพะ ธรรมารมณ์  รวมกันแล้วเรียกว่าอายตนะ ๑๒ ... เหล่านี้ มันก็แจ้งหมดแหละ

แต่ตอนนี้มันไม่รู้อะไรสักอย่าง ... รู้อย่างเดียว '..กูจะได้อะไรวะเนี่ย'  รู้อย่างเดียวว่า 'ต่อไปเขาจะว่ายังไงเรา แล้วเราจะทำยังไงดี' ...  กลัวอยู่แค่นี้ กลัวตายเหรอ  มันไม่แจ้งสิ...ในธาตุ ๔ ขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ อายตนะ ๑๒

ให้มันมารู้อยู่ตรงนี้  ... มันก็อยู่ในตัวนี้ทั้งหมดน่ะ อาการของนามก็ผุดโผล่ขึ้นมาภายในกายนี้ทั้งหมด  มันไม่ได้ออกมาจากสวรรค์นรกข้างนอกหรอก ... ถ้ามันอยู่ตรงนี้ ภายในแวดวงกายนี่ รู้เห็นอยู่ที่ภายในนี้ ในหนังหุ้มอยู่สุดรอบนี่  มันจะไม่แจ้งได้ยังไง ฮึ  ของมันมีอยู่ในนี้ ตรงนี้  ไม่ต้องออกไปรู้อะไรแล้ว  

ก็ยังทำงานได้ ... ตอนนี้เราอาจจะคิดว่าไม่ได้ หรืออาจจะยาก หรืออาจจะไม่เหมือนกับคนอื่น ... มันเป็นแค่ความคิด  ทำไปเหอะ อยู่ไปเหอะ ใช้ชีวิตไป ... แรกๆ ก็อาจจะดีใจเสียใจกับการที่คนเขาเข้าใจหรือไม่เข้าใจเรา  ต่อไปเราจะบอกว่า 'เออ สบายดี กูอยู่คนเดียวเลย ไม่ต้องมายุ่งกับกู ...สบาย'

ง่าย เป็นอิสระดีออก ไปแบบเหมือนพระไง  ภาษาพระเขาว่า 'บาตรเดียวเที่ยวรอบโลก' ... ไป ไม่ข้องไม่แวะอะไร อยู่แบบพระธุดงค์น่ะ  อยู่ไหนก็ได้ ไปไหนก็ได้ เขาให้กินก็อยู่ เขาไม่ให้กินก็เดินต่อไป หาที่อื่นใหม่  บิณฑบาตกินไปวันๆ ไม่เก็บไม่สะสม ถึงเที่ยงแล้วก็ทิ้งหมด ฉันเสร็จแล้วก็ทิ้งหมด หาเอาใหม่

เห็นมั้ย ชีวิตมีอยู่แค่วันๆ ... ไม่ได้เพื่อลาภยศสรรเสริญ ความยินดียินร้ายของคนในโลกนี้หรอก ก็มีชีวิตไป 

นี่ ท่านสร้างรูปแบบของสมณะนักบวชขึ้นมา ... เพื่อให้เห็นสภาวะใจ สภาวะจิต สภาวะธาตุ สภาวะขันธ์  ว่าเขาก็จะอยู่อย่างนี้ เป็นปัจจุบันขณะไป  ไม่มีเผื่อ ไม่มีล่วงหน้า ... ท่านก็เลยสร้างรูปแบบของนักบวชหรือว่าพระ สมณะ

ไอ้นักบวชยุคหลังๆ ก็ไม่เข้าใจ เอารูปแบบกฎเกณฑ์ของท่านมาเป็นหลักแบกหามไว้อีก  เอ้า มายึดมาถือ มายึดมั่นในรูปแบบนี้อีก  เถียงกัน ด่ากัน ทะเลาะกัน โจมตีกัน ติฉินกัน ว่ากล่าวให้กัน  

แต่ถ้าเข้าใจแล้วจะรู้ว่าพระพุทธเจ้าวางรูปแบบกฎเกณฑ์ไว้ ทั้งโดยภายนอกภายใน ทั้งโดยอรรถโดยธรรมโดยกถา ทั้งโดยอรรถโดยพยัญชนะ ทั้งปรมัตถ์ ทั้งสมมุติ ทั้งวิมุติ  ท่านพูดแจกแจงแยบคายที่สุด ครอบคลุมหมด

ไม่ว่ามึงจะไปซ้าย มึงจะออกขวา มึงจะออกหน้าออกหลัง  พระพุทธเจ้าท่านดักไว้หมดเลย ด้วยธรรมที่ท่านรู้แจ้งเห็นจริง  มันไปไม่ได้  ก็รวมลงในร่องเดียวหมดเลย กลับมารวมลงในร่องของมัชฌิมาได้หมด   อย่ามาหือมาอือกับธรรมที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้ว ท่านเรียกว่าเป็นสวากขตธรรม

แต่ไอ้ใจไม่รู้นี่มันจะตั้งตัวเป็นศาสดาอยู่เรื่อย  หลวงปู่ท่านถึงพูดว่าพวกศาสดาหัวแหลม  เดี๋ยวก็แหลมเปี๊ยบขึ้นมา ด้วยความคิดนั้น ด้วยความเห็นนี้  แหลมเปี๊ยบเลย  ศาสดาหัวแหลมบังเกิดขึ้นอีกตนในโลกแล้ว
 
พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ดีแล้วด้วยพระธรรมของท่าน มีผู้ปฏิบัติตามได้ผลแล้วเยอะ พระอริยะสงฆ์ทั้งหลายทั้งปวงนับคณาไม่ได้ดั่งเม็ดทรายในมหาสมุทร  เหล่านี้ไม่เชื่อ ...มาเชื่อศาสดาหัวแหลมเปี๊ยบ 

มันแป๊บขึ้นล่ะเชื่อเลย  และถึงไม่มีแหลมเปี๊ยบ มันก็ไปพยายามเหลาให้มันแหลม(หัวเราะ) มันจะได้เกิดความคิดที่แยบคาย แยบยล อุบายนานาชนิดเลย ... อยู่ดีไม่ว่าดี หาเรื่องเอาของแหลมมาทิ่มแทงกัน  เบียดเบียนตัวเอง เบียดเบียนผู้อื่น ด้วยความเป็นศาสดาหัวแหลม หัวแหลมเปี๊ยบ  

ไม่ได้มีประโยชน์อะไรนอกจากทิ่มแทงตัวเองและก็ทิ่มแทงคนอื่น ... ที่มันทะเลาะกันเพราะความเห็นต่างกันนั่นแหละ  มันก็เป็นอาวุธเลยนะนั่นน่ะ คนนึงถือหอก คนนึงถือดาบ คนนึงถือมีดสั้น คนนี้มีดยาว เป็นอาวุธมาประหัตประหารกันภายนอก

เพราะนั้นว่า ศีล สมาธิ ปัญญา นี่มันจะเข้าไปตัด เข้าไปละ เข้าไปทำลาย  ... กลับมาอยู่ในที่อันควร คือใจก็เป็นใจ ขันธ์ก็เป็นขันธ์  ...เออ มันควร ควรแก่การ ควรแก่งาน ควรแก่การทำความแยบคาย รู้แจ้ง 

โดยสมมุติ โดยปรมัตถ์ มันก็มี ... โดยสมมุติก็ถูกต้องแล้วล่ะที่เรียกว่ากาย ถูกต้องแล้วล่ะที่เรียกว่ายืน เดิน นั่ง นอน นี่โดยสมมุติ  แล้วก็ถูกต้องอีกว่าในยืนเดินนั่งนอนนั้นไม่มีใครยืนเดินนั่งนอน นี่โดยปรมัตถ์  ...ก็มาเห็นกายปรมัตถ์ในสมมุตินั้นๆ  

ก็เห็นทั้งสองฝั่งน่ะ แล้วก็ไม่ได้ว่าอันไหนถูกอันไหนผิด  มันจริง ..เออ อันนี้จริงทางโลก ..เออ อันนี้จริงทางธรรม สัจจะ โดยปรมัตถสัจจะ  อ้อ อันนั้นจริงโดยสมมุติ เขาเรียกว่าสมมุติสัจจะ 

พระอรหันต์ท่านก็ไม่ได้เดือดร้อนทั้งสมมุติสัจจะ แล้วก็ไม่ได้เดือดร้อนกับปรมัตถสัจจะ  เข้าใจ รู้แจ้งตลอดแล้ว ...ก็อยู่ด้วยกัน สันติ  อยู่ไปงั้นๆ น่ะ ไม่ได้หวังอะไรสักอย่างน่ะ จะมีคนมาเคารพมากขึ้นมั้ย จะมีคนมาคอยด่าเรามั้ย  ไม่มีชีวิตในการพูดอยู่ตรงนี้เพื่ออะไรหรอก ... พูดๆๆๆ แล้วก็จบแล้ว

แต่พวกคนฟังมันไม่จบ  มันไม่ยอมจบกันสักที  ... ทำไมมันไม่จบล่ะ  เมื่อไหร่จะหยุด...ฟุลสตอปสักที ... ดิเอนด์(The end) ฟินิช(Finish)  แน่ะ จบ ...  ไอ้คนพูดนี่ พูดแล้วก็จบตรงนี้แล้ว  ไอ้คนฟังยังไม่จบ มันก็ต้องดำเนินในองค์มรรคต่อไป

พอถึงจุดที่ว่าจบก็ ..เออ ปิด ละครเวทีนี้ปิดฉาก ... เหลือแต่พายกับเรือเปล่าๆ ที่ทิ้งไว้อยู่ริมคลอง รอวันผุพัง  ถามหาเจ้าของ...ไม่เจอ ... กายนี้ขันธ์นี้ รูปนี้กายนี้ ขันธ์ ๕ นี้ เหมือนเรือจ้าง ...ข้ามฝั่งแล้ว คนข้ามหายไป เหลือแต่เรือจ้าง

อย่าไปเอาอะไรนอกจากนี้ ... ทำหมันใจซะ จนมันไม่สามารถแพร่พันธุ์ออกมาได้  ที่มันจะกระจัดกระจายล่องลอยออกไปในธาตุ ในโลกธาตุ ในสามโลกธาตุ  

นั่นแหละมันจะแจ้งหมดทุกสภาวธรรม  จึงจะเห็นจิตกับธรรมเป็นสภาวะอันเดียวกัน ... คือไม่มีอะไรในใจ เหมือนกับที่ไม่มีอะไรในโลก  

ไม่มีอะไรในรูป ไม่มีอะไรในเสียง ไม่มีอะไรในกลิ่น ไม่มีอะไรในรส ไม่มีอะไรในเย็นร้อนอ่อนแข็ง และที่สุดก็ไม่มีอะไรในใจ  ทุกอย่างเรียกว่าเป็นอันเดียวกัน ด้วยความเป็นสุญโญ สุญญตา

ดูเข้าไปในกายนี่ รู้เห็นเข้าไปในกาย  เห็นมั้ย มันมีอะไรในนี้มั้ย  หรือว่ามันมีอะไรในกอไผ่ มันมีชื่อแปะไว้มั้ย  มันเคยเรียกร้องขอความยุติธรรมจากสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวงมั้ย  เวลาเราพามันไปยืนกลางแดดแล้วมันเคยร้องขออ้อนวอนบอกว่าให้พาหนู พาผม พาดิฉันเข้าร่มหน่อย ฉันทนไม่ได้มั้ย

มันมีอะไรในนั้นมั้ย ... ถ้ามันมี มันต้องบ่นแล้ว ถ้ามันมีมันต้องต่อต้านแสดงอาการไม่ยอมรับในทุกข์  แน่ะ ดูเข้าไปจนเห็น มันมีอะไรในกาย มันมีอะไรในความคิด มันมีอะไรในกิเลส มันมีอะไรในอารมณ์เวทนา

 ดูไปดูมา โบ๋เบ๋ ... มันก็หมดคนดูแล้ว  เมื่อมันดูจนไม่เห็นอะไร มันก็หมดคนดูแล้ว หมดผู้ดู

เอ้า พอแล้ว ... กลับไปเลี้ยงบัวให้โตพ้นน้ำ  อย่าไปเบ้ให้มันเข้าปากเสือ เข้าปากฉลามซะ เดี๋ยวจะเน่า ...เสียเวลางอก.


.............................


วันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/1








พระอาจารย์

5/1 (540610A)

10 มิถุนายน 2554


พระอาจารย์ –  เป็นไงกันมั่ง ทำกันไปถึงไหนแล้ว ... จริงๆ น่ะต้องไม่ถามว่าทำถึงไหน ต้องถามว่ากลับไปเห็นสภาวะของตัวเองได้มากน้อยละเอียดหยาบขนาดไหน  

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ มันก็มีเหมือนเดิมนั่นแหละ ... แต่ว่าสติถ้ามันไม่แข็ง ไม่จดจ่อ ไม่ใส่ใจจริงๆ น่ะ  มันจะจับรายละเอียด ไม่เห็นรายละเอียดที่มันยังมองไม่เห็น ที่มันจะแสดงตัวออกมา  บางทีมันแสดงออกมาแล้ว แต่เราไม่เห็น

เพราะนั้นการปฏิบัติ ที่ว่าคราวหน้าที่มันเข้าไปเห็นสภาวะที่ไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วเข้าไปให้ค่ากับสภาวะนั้นโดยความไม่รู้  พอมันเห็นแล้วมันเข้าใจ มันก็จะละ มันก็จะถอนใจออกจากสภาวะนั้น

นั่นคือหน้าที่ของสติ ที่เข้าไปรู้และเห็นด้วยญาณทัสสนะ  ญาณมันก็จะสอดส่อง ญาณเหมือนกับลูกตามันสอดส่อง  ใจรู้นี่มันก็คอยดูว่าอะไรที่มันคลาดเคลื่อน อะไรที่มันปรากฏขึ้นมาแล้วใจมันไม่รู้ แล้วก็หายไปกับสภาวะนั้น  ด้วยความหลงลืม เผลอเพลิน อะไรอย่างนี้ กับสภาวะที่เล็กๆ น้อยๆ

แต่ถ้าสภาวะไหนที่มันเห็น หรือมันจดจำได้ หรือมันเข้าใจแล้วว่าเป็นแค่อาการโดยชัดเจน  มันก็รู้แล้วก็ผ่าน มันก็แยกกันอยู่โดยเด่นชัด ... แต่บางคราวบางครั้งเวลามันละเอียดเข้าไป เหลือแต่ใจ  บางอาการบางสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้น มันก็เข้าไปกลืนกับสภาวะใจ

ต้องอาศัยความแยบคายมากๆ ตั้งมั่นขึ้นมา  แล้วก็พยายามอย่าลืมกาย ระลึกกาย รู้กาย เพื่อให้ใจมันชัดเจนขึ้น  เวลามันเข้าไปอยู่ในสภาวะที่ละเอียด หรือสภาวะที่บางทีเราไม่รู้จักมักคุ้น แต่เราไปเข้าใจว่าใจเราเป็นนั่น ใจเราเป็นอย่างนี้ เลยลืมกาย ... ต้องถอยกลับมาดูกาย ให้ใจมันเด่นชัดว่าเป็นสภาวะรู้ รู้

เพราะนั้นไอ้รู้น่ะ สภาวะรู้หรือว่าใจจริงๆ หรือธรรมชาติของใจรู้นี่...ไม่มีอาการในนั้น ไม่มีเวทนาในใจ ไม่มีที่ตั้งที่หมายตรงนั้น ไม่มีอารมณ์ ไม่มีทั้งรูปไม่มีทั้งนาม  เนี่ย...ใจ มันเด่นชัดอยู่ตรงนั้น 

ถ้ามันเริ่มเบลอ เริ่มซึม เริ่มหาย เริ่มไปไม่มีอะไร ไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไปเป็นสภาวะว่าง เบา เวิ้งว้าง เลื่อนลอย อะไรก็ตาม  อย่าไปดีอกดีใจกับมัน อย่าไปคิดว่า..เนี่ยแหละใช่ แล้วไปนอนกินอยู่กับมัน

นี่มันจะเข้าโรงเรียนประจำแล้ว  มันจะเข้าอยู่ ไปผูกขาดจ่ายค่าเทอมให้เขาอีกแล้ว ... จะไปอยู่ในโรงเรียนประจำไม่ได้ เรียกว่ามันเริ่มหลงเพลินเข้าไปในสภาวธรรม หรือว่าสภาวะจิตมันเกิด แต่ปัญญามันยังไม่แยบคาย  มันก็แยกไม่ออก มันก็เกิดความหมายมั่นขึ้นมา...เป็นภพภายใน

อย่าเสียดาย อย่าไปเสียดายสภาวะ ...  ให้กลับมารู้กาย  รู้อะไรก็ได้ที่มันชัดเจน  ที่มันจะเป็นกระจกสะท้อนกลับมาสู่ใจ ให้ใจปรากฏเด่นชัดขึ้นมา ด้วยศีลสมาธิปัญญา  แล้วก็อยู่ที่รู้ ยืนเดินนั่งนอนก็อยู่ที่รู้

เมื่อมันเห็นกายแล้ว... มันชัดเจนในกาย ชัดเจนในรูปเสียงกลิ่นรสภายนอกแล้ว มันไม่ออกไปเพ่นพ่านกับอาการ หรือไม่หลงใหลได้ปลื้มในอาการนั้น ไม่ยินดียินร้ายในอาการนั้น ...ก็ให้อยู่ที่รู้ นั่งก็อยู่ที่รู้ ยืนก็อยู่ที่รู้ เดินก็อยู่ที่รู้

ซึ่งแต่ก่อนถ้ารู้มันยังไม่ชัดเจน เราก็ต้องบอกว่ายืนต้องอยู่ที่ยืน เดินต้องอยู่ที่เดิน นั่งก็อยู่กับนั่ง   ถ้ามันชัดเจนแล้ว...ก็ให้อยู่ที่รู้ นั่งก็อยู่ที่รู้ ... มันไม่อยู่ที่นั่ง มันไม่อยู่ที่กาย มันไม่เห็นกาย มันไม่เห็นอะไรแล้ว  มันเห็นแต่รู้ อยู่ที่รู้    

ใจที่มันตั้งมั่นเหลือแต่ใจเด่นชัดขึ้นมา ยืนเดินนั่งนอนไม่ได้อยู่ที่ยืนเดินนั่งนอน...แต่มันอยู่ที่รู้  ได้เห็น ได้ยิน ได้ฟังอะไร....ก็ไม่ได้อยู่ที่เสียง ไม่ได้อยู่ที่รูป ไม่ได้อยู่ที่กลิ่น...แต่มันอยู่ที่รู้  

แล้วมันก็จะเห็นอาการนั้นผ่านไปเหมือนลอยลม เหมือนลมพัดผ่าน เหมือนเป็นอาการไหวๆ ขยับๆ ขยิกๆ ขยักๆ อยู่อย่างนั้น  ...มันก็เห็นอาการของขันธ์ภายนอก เห็นอาการของขันธ์เจ้าของ หรือกาย หรือรูป หรือนาม เป็นอาการแค่ขยิบขยับอย่างนี้ ทั้งรูปทั้งนาม  ไม่มีความหมายมั่นอะไร  

เห็นมั้ย มันมีแต่รู้ๆ รู้อยู่ภายใน รู้อยู่ในที่อันเดียว ... ถ้ามันหายไป หรือว่าเริ่มเผลอเพลิน เริ่มซึม เริ่มสภาวะรู้หาย หรือใจหาย ไปอยู่กับอะไร  ก็ต้องน้อมกลับ โอปนยิโกกลับมาที่กาย ... เราให้เอากายเป็นหลัก  

จริงๆ น่ะ ในหลักของอุบายน่ะล้านแปดร้อยแปด สี่สิบกัมมัฏฐานก็มี  พุทโธก็ได้ อะไรก็ได้ ลมหายใจก็ได้  เพื่อให้มัน “รู้” เกิดขึ้น ... มันเป็นอุบาย ... กาย เวทนา จิต ธรรม เป็นอุบาย...ให้เห็นใจ ให้เกิดภาวะใจรู้ขึ้น ในกาย ในเวทนาบ้าง ในจิตบ้าง ในธรรมบ้าง  จะพุทโธก็ได้ จะลมหายใจก็ได้ จะกายก็ได้  

แต่บางทีถ้ามันไม่มีปัญญา มันก็จะไปสำคัญมั่นหมายในอุบายนั้นว่าเป็นหลัก  มันก็ไปยึดเอาพุทโธนี่ ไปเอาพุทโธเป็นมรรคเป็นผล ไปเอากายเป็นมรรคเป็นผล  ไปยึดมั่น ไปใคร่ครวญ ไปค้นคิด ไปอันนั้นอันนี้ในอุบายธรรมต่างๆ  โดยลืมน้อมกลับมาสู่ใจ ลืมน้อมกลับเข้ามาที่ฐานใจ ที่รู้ที่เห็นนี่

เคยอ่านประวัติหลวงปู่อ่อนมั้ย ... หลวงปู่อ่อนเวลาท่านไปสอนพวกอายาธรรม หมอธรรมแต่ก่อนที่เขาเป็นนักปฏิบัติภาวนา  เพิ่นก็บอกเพิ่นเจอใจแล้ว เล่าให้หลวงปู่อ่อนฟัง  หลวงปู่อ่อนก็ถามว่า 'ใจอยู่ตรงไหนล่ะ' 

เพิ่นก็เล่าว่า 'กำหนดนั่งสมาธิแล้วจิตก็รวมๆๆ ลงไป  พอรวมๆ ลงไปมันก็เห็นเป็นเหมือนอ่างน้ำ แล้วก็เปิดฝาอ่างน้ำออก แล้วก็เจอข้างในเป็นน้ำใสสะอาด เหมือนกระจกเงาเลย ใสอย่างนั้น  เราอยากรู้อะไร เราอยากเข้าใจ เราอยากเห็นอะไร ก็จ่อลงไปที่น้ำนั้นเลย ตรงใจตรงที่เป็นน้ำใสตรงนั้น  แล้วก็เกิดความรู้ความเห็นออกมาเป็นคำสอนคำพูด เป็นเรื่องราวต่างๆ ที่อยากรู้อยากเห็นขึ้นมา  ก็ว่านั่นแหละใจของข้าเจ้า'

หลวงปู่อ่อนท่านบอก 'นั่นไม่ใช่ใจ ไม่ใช่ผู้รู้นะ' ... 'อ้าว งั้นผู้รู้อยู่ไหนล่ะ'  ... 'ก็ใครล่ะที่เข้าไปถามน่ะ ใครที่เข้าไปดูว่า เห็นว่ามีกระจกใสอยู่ข้างในนั้นน่ะ' ...  'อ๋อ เข้าใจล่ะ'

เข้าใจ...ก็ไปทำมา ก็เกิดสภาวะใหม่อีก  คราวนี้เห็นเป็นประตูเลย มีพระพุทธเจ้ามีพระพุทธรูปใส แล้วเราก็ว่า 'อ๋อ นี่เป็นประตูใจ แล้วก็เข้าไปอยู่ที่ใสในนั้นน่ะ แล้วก็มีความรู้ออกมามากมายตรงนั้น  อ่ะ เจอใจอีกแล้ว'  ก็มาบอกหลวงปู่อ่อน

หลวงปู่อ่อนก็บอก ... 'ไม่ใช่ นั่นไม่ใช่ใจ'

กลับไปหาใจ...หาไม่เจอ  เห็นมั้ย  มันเหมือนขนตากับลูกกะตา  พอมีอะไรเกิดขึ้นปรากฏขึ้นเป็นนิมิตหมายใดๆ  ด้วยความไม่รู้ไม่เห็น ด้วยความไม่มีปัญญา ด้วยอวิชชาปุ๊บ  มันเข้าไปหมาย เข้าไปยึดทันที ว่านั่นคือนี่ นี่คือนั่น ... ทั้งที่ใจมันไม่เคยยึดไม่เคยถืออะไร  มันก็ทำอาการเดียวคืออาการรู้อาการเดียว

พยายามตรวจสอบ แยบคายกับภาวะใจ สอดส่องที่ใจ ลงไปที่ใจ รู้ในปัจจุบัน  อย่าไปเอาความรู้อันอื่น อย่าไปเอาสิ่งที่ถูกรู้นั้นมาเป็นมรรคเป็นผลโดยตรง  มันเป็นอุบายทั้งสิ้น  

จนเห็นว่าไอ้สิ่งที่ถูกรู้นั้นน่ะ ไม่ว่ากาย เวทนา จิต ธรรม หรือว่าสิ่งที่ใจเราไปสัมผัสรับรู้รับทราบรับเห็นตรงนั้นน่ะ มันเป็นอาการของไตรลักษณ์ทั้งนั้น  หาความเป็นตัวเป็นตน เป็นผลเป็นประโยชน์อะไรไม่ได้  มันก็เป็นแค่อาการที่ปรากฏอยู่ตามธรรมชาติในโลกนี้

กาย เวทนา จิต ธรรม นี่  โดยรวม โดยทั้งหมด โดยครอบคลุม ก็หมายความว่าโลกธาตุ  คือโลกธาตุทั้งหมด คือ กาย เวทนา จิต ธรรม  มันเป็นแค่อาการที่แปรปรวนไปมา เดี๋ยวกายมั่ง เดี๋ยวเวทนามั่ง เดี๋ยวจิตมั่ง เดี๋ยวธรรมมั่ง  หรือโดยรวมก็เรียกว่ารูปนาม มันก็เป็นแค่นั้นแหละ

มันก็เปลี่ยนหน้าเปลี่ยนตาของมันไปเรื่อยๆ  พอมาเป็นละเอียดมันก็ปรากฏเป็นละเอียด พอมันมาเป็นหยาบมันก็เหมือนกับเราจับต้องได้ เห็นอยู่ ได้ยินอยู่ ได้ฟังอยู่  มันก็เป็นอาการอย่างหนึ่งที่ปรุงขึ้นมา 

พอละอาการหยาบ มันก็เข้าไปสร้างปรุงขึ้นมาเป็นอาการละเอียด  เป็นสภาวะนั้น เป็นสภาวะอย่างนี้ เป็นลักษณะ เป็นธรรมอันนั้น เป็นธรรมอันนี้ เป็นความรู้อย่างนั้น เป็นความเห็นอย่างนี้ ปรากฏขึ้นมา

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น  ปัญญามันจะจำแนกสภาวะนี้ออกจากใจได้หมดจด หมายความว่ามันเป็นแค่สภาวะอาการหนึ่งเท่านั้นเอง  จิตมันก็ถอนออกๆๆ ถอนออกจากโลก ถอนออกจากธรรม ถอนออกจากทุกสิ่ง  ถอนออก จนเหลือแต่ใจว่างเปล่า ใจที่รู้เปล่าๆ

คราวนี้ไม่ต้องบอก ไม่ต้องคอยระมัดระวัง และไม่ต้องคอยเท่าทันอาการ  มันไม่กลับเข้าไปอีกแล้ว  มันไม่กลับเข้าไปมี เข้าไปเป็น ในธรรมชาติของขันธ์ ธรรมชาติของโลก ธรรมชาติของธรรมทั้งหลายทั้งปวงที่ล้อมรอบอยู่

มันก็เกิดภาวะที่ว่ารู้ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว  เป็นธรรมชาติของรู้ที่แท้จริง มีความบริสุทธิ์ วิสุทธิจิต วิสุทธิธรรม  ใจกลายเป็นวิสุทธิจิต ใจนั้นก็กลายเป็นวิสุทธิธรรมขึ้นมา  ไม่ต้องมาคอยเฝ้าระวัง ตรวจสอบ สอดส่องด้วยศีลสมาธิปัญญาแล้ว ก็หมด...หมดงาน

ตอนนี้มันยังไม่หมดงาน  แล้วก็อย่าขี้เกียจทำงาน อย่าไปหางานภายนอกทำ  โดยอ้างว่างานนั้นจะเป็นมรรคเป็นผล เป็นตัวช่วยตัวเสริม ตัวเร็ว ... นี่โลภ ตัวโลภ ขี้โลภ  มันติดนิสัยขี้โลภ ขี้อยาก ขี้ได้  ไปหาในอดีต เอามาเทียบ เอามาเคียง เอามาปรุงไป ... มันลืมน้อมกลับมาที่ใจในปัจจุบัน

ถ้ารู้เท่าทันปุ๊บมันก็หยุดหมดแหละ  พอหยุดหมดแล้ว เอ้าเสียดาย  เอาอีก อาวรณ์อีก อาลัยอีก อาดูร อย่างนั้นมั้ง อย่างนี้มั้ง จะอย่างงั้นมั้ง จะอย่างงี้มั้ง  เคยได้ยินมา เคยฟังมา

อย่าไปเสียดายกายหยาบกับกิเลส  ทั้งหมดน่ะมันเป็นผลิตผล ผลิตภัณฑ์มวลรวม นี่ เขาเรียกว่าจีดีพี ที่ออกมาจากอวิชชาทั้งสิ้น สภาวะจิตต่างๆ ที่มันปรากฏการณ์ขึ้นมา  เป็นสังขารจิตบ้าง เป็นสังขารธรรมบ้าง เป็นสภาวะขันธ์ต่างๆ นานาบ้าง 

แล้วแต่มันจะปรุงออกมาล่อหลอกล่อลวงให้ใจที่มันยังมีอวิชชาภายใน  ตัวมันเองหลอกตัวมันเอง มันก็หลงตัวมันเอง  สร้างนั่นสร้างนี่ หานั่นหานี่ ทะยานอยากอยู่ตลอดเวลา ไม่หยุดไม่อยู่ไม่ยั้ง

ถ้ากลับมารู้อยู่ที่รู้ เห็นอยู่ที่เห็น  รู้อยู่ที่ปัจจุบัน เห็นอยู่ที่ปัจจุบัน  ตรงนั้นน่ะมันจะหยุด มันไม่มีอะไร มันมีแค่รู้  และมันก็จะมองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างที่มันสัมผัสรู้ มันก็ไม่มีอะไร มันเป็นแค่อาการที่เกิดขึ้นวูบๆ วาบๆ พล้อบๆ แพล้บๆ พึบๆ พับๆ นี่ ไม่มีอะไร ไม่มีความหมายอะไรทั้งสิ้นน่ะ  จะไปให้ความหมายอะไรกับมันนักหนา

เวลาเราฟังใครเขาพูดด้วย เวลาคนเขาพูดเรื่องนั้นเรื่องนี้ หรือว่าเอาเรื่องราวต่างๆ มาเล่าให้ฟัง เวลาเราฟังนี่เหมือนกับเราเป็นต้นไม้  เคยพูดกับต้นไม้มั้ย เหมือนต้นไม้น่ะ ไม่มีอะไร  ลองไปพูดกับต้นไม้ดู ต้นไม้ไม่โต้ตอบหรอก

ใจน่ะมันตั้งมั่นอยู่อย่างนั้น มันก็แค่ฟัง  เหมือนกับยืนเป็นต้นไม้น่ะ หูก็เหมือนบานประตู ตาก็เหมือนกับหน้าต่าง คือยืนอยู่เป็นบ้านเปล่าๆ อยู่อย่างนั้นแหละ  ก็รับรู้รับทราบ ว.2 ๆ อยู่อย่างนั้นแหละ  เหมือนกับเพิ่นยืนคุยอยู่กับต้นไม้ เพิ่นคุยได้ไม่นาน เดี๋ยวเพิ่นก็รู้สึกว่าไม่ได้ผลลัพธ์ตอบสนองอันควร เพิ่นก็ไปแล้ว  ไม่เห็นจะต้องไปพูดไปโต้เถียงหรือไปปฏิเสธแสดงความคิดความเห็นใดๆ

มันก็อยู่ด้วยอาการเป็นปกติ เหมือนอยู่กับจอมปลวก  เหมือนเราเดินไปเรารับฟังเรื่องราวของเขา ใครมาเล่าเรื่องนั้นใครมาพูดอย่างนี้ เราก็เหมือนกับจอมปลวกอันหนึ่ง  พูดเข้าไปเหอะ ไม่เห็นมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นเลย มันดับตรงหูแล้ว มันดับ  และพอพูดๆๆ พอเหนื่อยปุ๊บ รูปก็ผ่าน รูปก็ดับ ก็จบ  ไม่เห็นต้องมาครุ่นมาคิด ไม่เห็นต้องเก็บมาคิด ไม่เห็นต้องเก็บมาจำเลย  มันก็ลบๆๆ ลบไปในปัจจุบัน เห็นมั้ย

เมื่อรู้เท่าทันปัจจุบัน เห็นแค่ปัจจุบัน  มีชีวิตแค่ในปัจจุบัน มันก็ดับหมดแล้ว  ดับที่เสียง พูดตรงนั้นมันก็ดับตรงนั้น  ฟังเสียงเอานี่ ฟังมันก็ดับอยู่ที่ตรงหูแล้ว  ไม่ต้องจำแล้ว กลับไปถึงบ้าน ไอ้ที่จำได้นั่นเป็นสัญญา แต่เสียงจริงดับหมดแล้ว ดับไปเป็นหลายชั่วโมงแล้ว  เห็นมั้ย ทุกอย่างมันหมด มันจบ มันสิ้น ตั้งแต่ปัจจุบันขณะแล้ว ... ดูดีๆ

ถ้าอยู่กับปัจจุบันได้ทุกขณะจิตอย่างนี้จะเข้าใจ และจะเห็นว่าไม่มีอะไรยืดเยื้อเยิ่นเย้อ ไม่มียาวไกลหรอก มีแค่ตรงนี้แล้วก็ดับ  

ไอ้ที่มันยาวเป็นเรื่องเป็นราวเพราะ “สัญญา”  เพราะเข้าไปให้ค่าในสัญญา จำได้คนนั้นคนนี้  ถ้าเห็นคนเดินมาปุ๊บ นี่ว่าชื่อนั้นชื่อนี้ เคยเห็น ว่ายังมีตัวนั้นอยู่ ...มันมีในความจำ  จริงๆ ไม่มีอ่ะ ... มันคนใหม่นะนั่นน่ะเดินมา  

เนี่ย มันก็เห็นว่า ที่จำได้ว่าคนนั้นคนนี้คือคนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ มันโดยสัญญา  เป็นสัญญาเข้ามาประกอบกับรูปปัจจุบันเท่านั้นเอง  แล้วก็ไปจริงจังว่า รูปนี้เคยทำอย่างนี้ เคยทำเรื่องราวอย่างนี้ เคยทำดีทำชั่วอย่างนี้ๆ มันก็มีอารมณ์ร่วมในสัญญาปรุงแต่ง ก็เกิดความยินดียินร้าย เสร็จแล้วก็เครียด ...ทำไม แค่ภาพมันเครียดได้ไง  เห็นมั้ย สัญญามันเข้ามาประกอบ 

เพราะนั้นดูรูปแค่ปัจจุบันมันก็เหมือนจอมปลวกสองจอมปลวกมาชนกันอย่างนั้นน่ะ ...  แต่ที่มันเป็นเรื่องราวใหญ่โตมโหฬาร เยิ่นเย้อยืดเยื้อยาวไกลไม่รู้จักจบจักสิ้น เพราะว่ามันผูกไว้กับสัญญาอารมณ์ ... แม้แต่ตัวของเรานี่...แต่ละขณะๆ มันก็ตัวใหม่ๆๆๆ  ไอ้ตั้งแต่เด็กมาจนถึงเดี๋ยวนี้มันตายดับไปแล้ว ตอนนี้ตัวใหม่ แล้วก็เกิดใหม่ๆๆๆ ... เนี่ย มีชีวิตอยู่แค่ปัจจุบัน  

เพราะงั้นเวลาพระอริยะพระอรหันต์ท่านทำอะไรท่านไม่สนใจ มันก็ดับไปแล้วตัวนั้นน่ะ ตัวเก่า  ไปเจอเรื่องใหม่เกิดขึ้นใหม่แล้ว แล้วก็ดับตรงนั้นแล้ว แล้วก็เกิดใหม่แล้วก็ดับตรงนั้น ตัวเก่าไม่มีแล้ว ...ก็อยู่กับปัจจุบัน  เห็นมั้ย มีชีวิตแค่ปัจจุบัน แล้วก็ตายอยู่ในปัจจุบันเป็นขณะๆ ไป  เนี่ย ตายทุกขณะจิต ตายอยู่ทุกขณะจิต ตายจนถึงว่าตายที่สุดไม่สืบเนื่องออกมาแล้วนี่ จึงเรียกว่าดับขันธ์ดับขันธ์

แต่ของพวกเราตายแล้ว ...อย่างพวกเรานั่งอยู่ตรงนี้ก็ยังมีตัวของเราข้างหลังอีก ยังมีรูปของเราข้างหลังอีก  แล้วก็ยังมีรูปของเราข้างหน้าอีก...รองรับ รอคอยอยู่  รูปข้างหน้า...เดี๋ยวจะได้อะไร เดี๋ยวจะเจออะไร เดี๋ยวจะทำอะไร  มันมีรูปทั้งอดีต รูปทั้งอนาคตคอยอยู่

แล้วก็มีรูปหยาบรูปละเอียด รูปเป็นเทวดามั่ง รูปเป็นพรหมมั่ง บางครั้งเป็นอกุศลรูปเป็นสัตว์เดรัจฉาน บางครั้งก็รูปเป็นเปรตอสุรกาย  บางครั้งบางคราวก็กลายเป็นรูปพระนิพพาน เป็นรูปผู้สำเร็จมรรคผลก็มี ...มันเป็นรูปที่ปรุงขึ้นมาทั้งหมด

เพราะนั้นว่าให้หยุดอยู่กับปัจจุบัน อยู่แค่ใจรู้  มีแค่ใจรู้  เหลือแค่รู้ เหลือแค่รู้กับเดี๋ยวนี้ ขณะนี้  ไม่รู้อะไรแล้ว  พอหดสั้นลงมาก็เหลือแค่กายกับใจ ... มีกายอันหนึ่ง ใจอันหนึ่ง อยู่ตรงนี้เท่านั้น 


โยม –  หลวงพ่อ แล้วทีนี้คือเราชอบไปเที่ยวสัญญา ก็คือว่าไปอดีตอนาคตบ่อยๆ ใช่มั้ยคะ  แล้วการที่เราอยู่ในสังคมแล้วให้เป็นที่รู้ว่าจากที่สนิทแล้วไม่สนิท โดยที่ว่าเราก็ดูตรงนี้ไป แล้วทุกคนก็บอกว่าเราหนี อะไรอย่างนี้ แล้วเราก็ไปติดสัญญาอย่างนั้น  แล้วก็มันก็วนเวียนไปวนเวียนมาอยู่ตรงนี้ ก็คล้ายกับว่ามันดักตัวเอง ให้มันวนเวียนอยู่ตรงนี้ค่ะ  

พระอาจารย์ –  ไม่ยอมละ


โยม  ใช่ค่ะ

พระอาจารย์ –  เพราะว่าข้องอยู่ในสมมติ เพราะว่าติดในสีลัพพตะ ติดในรูปแบบประเพณีนิยม  
บอกแล้วว่าต้องเด็ดเดี่ยว เด็ดขาด ... ใครจะว่ายังไง ใครจะมีความเห็นยังไง ใครจะพูดว่าเราเป็นอะไร เราไม่เป็นยังไง  ... ฟังหูซ้ายทะลุหูขวา

ละอย่างเดียว ... ใครจะไม่เข้าใจ เขาจะปฏิบัติตัวต่อเรายังไง ต่อไปข้างหน้าจะยังไง อย่าไปคิด  ละเข้าไปเลย  ไม่ตายหรอก อย่าไปกลัว ... มันไปไม่ได้เพราะมันกลัว


โยม – ใช่ค่ะ  

พระอาจารย์ – มันกลัวตาย มันกลัวเข้ากับคนอื่นเขาไม่ได้ ... ทำไม  เกิดมามีใครมาเกิดด้วย หือ  เกิดมาคนเดียวรึเปล่า เวลาตายก็ตายคนเดียวรึเปล่า  มีเพื่อนคนรอบข้างนี่ ญาติโกโหติกาครอบครัวเพื่อนฝูงมันตายไปพร้อมกันมั้ย  

ทำไมจะต้องไปห่วง ฮึ ทำไมจะต้องไปกังวล ไปเกาะไปเกี่ยวเขาทำไม  เอามาเป็นสรณะ เอามาเป็นมรรคเป็นผลได้รึเปล่า  ถ้ายังอยู่อย่างนั้นน่ะไม่เป็นมรรคเป็นผลหรอก บอกให้เลย  แต่ถ้าทิ้งหมดเลยน่ะได้มรรคได้ผล เอารึเปล่า

ยังไงๆ ก็ตาย ต่างคนต่างตาย  ไอ้เพื่อนที่มันหวังดีประสงค์ร้าย หวังร้ายประสงค์ดี  โอ้ย เยอะแยะไปหมดในความเห็นของกิเลสน่ะ เต็มไปหมด  ความเชื่อความเห็นน่ะมากมายก่ายกอง ตามธรรมเนียม ตามประเพณีนิยม อะไรต่างๆ นานา  ถ้าเรายังไปข้องไปแวะหรือเอามาเป็นที่พึ่งที่ยึดที่ถืออยู่นี่  มันก็ไม่ลาจากไปซะที

เพราะนั้นว่าจิตใจต้องเข้มแข็งกล้าหาญ ... ตัดก็ตัดไป เสียเพื่อนก็เสียไป อย่าให้ใจเสีย อย่าให้ใจออกนอกปัจจุบัน  ดูซิ มันจะเป็นยังไง  

อย่างมากก็ตาย ไม่เกินตายหรอก  ยังไงก็ตาย เพื่อนไอ้คนพูดก็ตาย คนฟังก็ตาย คนทำตามก็ตาย คนไม่ทำตามก็ตาย  เนี่ย เอาตายเข้าไปตัด ตายทั้งนั้น  พูดมากก็ตาย พูดน้อยก็ตาย ทำตามที่เขาพูดก็ตาย ไม่ทำตามที่เขาพูดก็ตาย  มันก็แค่นั้นแหละ ไม่เห็นมีอะไรเกินนั้น  

ให้มันตายซะตรงนี้ ให้มันตายซะในปัจจุบัน  เหลืออยู่แค่นี้ ดูซิ มันจะเอาตัวรอดได้มั้ย ... คนทั้งโลกไม่เข้าใจ ช่างหัวคนทั้งโลก ไม่ใช่ญาติโกโหติกาพ่อแม่  ถึงเป็นพ่อแม่ก็เหอะ ...ไม่มี  นี่ไม่ได้ลำเลิกอะไรนะ  ใจไม่มีความเป็นพ่อเป็นแม่กับใครเลย  ไอ้พ่อแม่ญาติเพื่อนฝูงนี่มันเป็นแค่รูปกับขันธ์ รูปกายเท่านั้นน่ะ ที่มาสวมทรงอยู่  แต่ถ้าเข้าไปถึงใจ ดูที่ใจแล้วไม่มีใครเป็นพ่อเป็นแม่ใคร ใจดวงเดียวกัน 

แต่เขาไม่ได้เอาใจพูดน่ะ เขาเอาความคิดพูด เขาเอาความเห็นพูด  อย่าหวั่นไหว จะไปไหวทำไม จะไปส่ายทำไม จะไปตามกระแสเขา


โยม –  ไม่รู้จะนานมั้ย ช่วงนี้ก็สับสนกับตัวเองมาก 

พระอาจารย์ – รู้เข้าไป อยู่ตรงนี้ อยู่ที่กายอันนี้ ... ใครจะว่ายังไงก็ช่าง  บอกแล้ว ทำตัวเหมือนต้นไม้ จอมปลวก ภูเขา  อย่าทำตัวเป็นขี้ผึ้ง  รู้จักขี้ผึ้งมั้ย เทียนน่ะรู้จักมั้ย  โดนแดด...เอาไปตั้งกลางแดดนี่...ละลาย

เดี๋ยวก็หายละลาย  ...อย่าให้ใจมันละลาย ใจเบา ใจอ่อน ใจปลาซิว ใจเท่าเข็มหมุด ไม่ใช่หัวเข็มหมุดด้วยแต่เป็นปลายเข็มหมุดน่ะ ... เอาให้ใจมันเข้มแข็ง  ต่อให้ทั้งโลกเขามองด้วยสายตาที่เหยียดหยามไม่เข้าใจ...ก็อยู่ได้ ไม่เห็นมีอะไร  เพราะไม่ได้อยู่กับเขา อยู่ที่ใจอ่ะ

ก็บอกแล้ว อยู่ที่ใจ...ไม่ได้อยู่ที่เสียง  ไม่มีอยู่ที่รูปของเราในอดีตอนาคตนะ  ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นน่ะตาย ผูกคอตายแล้ว  เข้าไปผูกคอตายกับรูปข้างหน้า เข้าไปผูกคอตายกับรูปข้างหลัง เตรียมตัวตายได้เลย

ไม่ให้ไปเกิดไปตายตรงนั้น  ให้มาอยู่ที่ใจที่ไม่ตาย ใจที่ไม่เคยตาย ใจที่เป็นอมตะธาตุ ใจนี่เป็นอมตะธรรม คือใจรู้ รู้ใจ ... ใจรู้ แล้วก็กลับมารู้ใจ  ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงนี่ ใจมันออกไปรู้ รู้เสร็จแล้วก็กลับมารู้ใจ ใจรู้...รู้ใจ ๆๆ ไม่สน

เดี๋ยวนี้ก็ต้องรู้ ... นั่งอยู่ อยู่ที่รู้ อยู่กับรู้  อย่าออก อย่าไปเห็นอันอื่นสำคัญกว่า  รูปของเราข้างหน้า-รูปของเราข้างหลัง...ช่างหัวรูปข้างหน้าข้างหลัง  ซ้ายไม่ไป ขวาไม่ไป หน้าไม่ไป หลังไม่ไป อยู่ตรงนี้ ดูดิ๊ มันจะหายบ้ามั้ย

เอามันจนหายบ้า ... จิตมันบ้า  ใจไม่บ้า จิตน่ะบ้า สภาวะจิตน่ะ...เกิดดับ  พอไม่ไปบ้าตามมันปุ๊บ ก็จะเห็นสภาวะจิตมันเกิดแล้วก็ดับๆๆๆ  หายบ้าเลย คือไม่ตามมัน ไม่บ้าตามมัน ไม่บ้าตามความปรุงแต่งของจิตน่ะ ก็จะเห็นสภาวะจิตเกิดดับ...เกิดดับ

อย่าไปหายาผีบอกกิน  ชอบกินยาผีบอกรึ  เห็นสำคัญไปหมด อะไรก็สำคัญ  ไม่สำคัญอย่างเดียวคือใจ ใช่มั้ย  จะทิ้งใจลูกเดียว จะหาอีรุงตุงนังให้ได้ หาเรื่องให้ได้  ก่อเรื่องขึ้นมา ไม่มีเรื่องก็หาเรื่อง เอ้า 

ใจมันดีอยู่แล้ว จะทำให้มันดีกว่านั้นไม่ได้แล้ว  เร็วก็ไม่มี ช้าก็ไม่มี  มันมีอยู่ที่รู้น่ะ มีแค่นั้นน่ะ เดี๋ยวนี้ก็มี ... มันดีที่สุดได้แค่เนี้ย ไม่มีอะไรมาสนับสนุนให้มันดีขึ้นหรือเลวลงได้หรอกใจน่ะ ...ดูดีๆ

ไอ้นอกนั้นน่ะ ไอ้ที่ว่าดีขึ้น เลวลง นั่นน่ะไม่ใช่ใจ  เป็นไอ้จิตบ้าบอ เป็นสภาวะจิต ขึ้นๆ ลงๆ  เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เดี๋ยวก็ฟื้นไข้ เดี๋ยวก็สร่างไข้ เดี๋ยวก็เมามาย นั่น เดี๋ยวก็ป่วย เดี๋ยวก็สนุกสนานเฮฮา  เนี่ย มันได้ทั้งนั้น จิตน่ะ

มันไปจับกับอะไรล่ะ ... ไปจับกับรูปอดีต ไปเกิดในรูปอดีตเหรอ ไปเกิดในรูปอนาคตเหรอ  ลองไปเกิดในรูปที่เราเคยสุขมาสิ...มันก็เกิดความยินดี  พอไปจับรูปของเราในอนาคตที่ว่าเดี๋ยวเขาว่าเราเป็นอย่างงั้น เดี๋ยวเราก็จะต้องเป็นอย่างงี้ แย่สิ เราจะเข้ากับคนไม่ได้ ปุ๊บ มันก็ไปจับกับรูปที่เป็นของไม่ดี มันก็เป็นความเศร้าหมอง  

เห็นมั้ย สภาวะจิตมันไปเกิดกับอะไรก็ทุกข์ตรงนั้นแหละ  แต่ถ้าไม่เกิดกับอะไร...มันก็ดับ ... ก็ไม่ให้โอกาสมันเกิดกับอะไรน่ะ ด้วยความรู้เท่าทัน เนี่ย ศีลสมาธิปัญญาก็ต้องทำงานน่ะ ทำหน้าที่อย่างเนี้ย

พอรู้เท่าทันแล้วมันเหลืออะไร ... เหลือกาย เนี่ย นั่งอยู่กับใจรู้...แค่นั้นแหละ  ไม่มากไม่น้อย มีแค่สองสิ่งเท่านี้  อยู่แค่เนี้ย ดูดิ๊ มันจะตายมั้ย  ดูดิ๊ มันจะใช้ชีวิตในโลกนี้ไม่ได้รึไง...ลองดู  ถ้าตายก็ให้มันตายไปเลย อย่าไปกลัวๆ

อย่างอื่นไม่เอา ไม่เอาแล้ว ไม่ไปผูกหนี้ก่อสินกับเรื่องราวใดๆ ในโลกนี้  ใครจะอยากดี ใครได้ดีใครไม่ดีอะไรก็ยกให้เขาไปเหอะ มาพูดก็อนุโมทนา มุทิตา อุเบกขา เห็นมั้ย ไม่ใช่มีแค่เมตตากรุณา ต้องมีมุทิตาอุเบกขาลงไป

แล้วก็วางซะ  ได้เห็นอะไร ได้ยินอะไร ใครว่ายังไง  อย่าเอาเราเข้าไปเกิดก่อกับสิ่งที่เห็น เสียงที่ได้ยิน หรือความคิดที่มันชักลากออกไป  มันก็จะหดเข้ามาเรื่อยๆ เหมือนทำหมัน  ทำหมันใจไม่ให้มันไปแพร่พันธุ์ ออกมาเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขของการก่อเกิดที่ไม่รู้จักจบสิ้น

ก็เหลือแต่ตัวนี่  ตัวจริง คือตัวนี้ มหาภูตรูป ๔  อันนี้ตัวจริง เป็นตัวในปัจจุบัน ถึงบอกว่าต้องรู้ตัว  เพราะกายมีอันเดียว กายที่แท้จริงมีอันเดียว  อันอื่นไม่ใช่กาย เป็นแค่รูปที่ปรุงขึ้นในจิต กายคนอื่นก็เป็นแค่ภาพที่เห็น

ให้มาอยู่กับกาย รู้กับกาย  พอรู้กับกายเห็นกับกาย หรือว่ารู้ตัวนี่แหละ รู้เงียบๆ  พอรู้ปุ๊บ เงียบยังไง  เงียบก็คือไม่ให้สภาวะจิตมันเกิดขึ้นมาหมายในรูปของกาย ในกาย  คราวนี้มันจึงจะเห็นกายตามความเป็นจริง ว่ากายไม่ใช่กาย หาแขน หาขา หาหัว หาหาง หาผม หาสีสันวรรณะ หาความเป็นชายเป็นหญิงไม่ได้แล้ว  แน่ะ มันเข้าไปถึงตัวตามความจริง

เดี๋ยวมันมาอีก  เดี๋ยวมันว่าเป็นนั่ง เดี๋ยวมันว่าเป็นเดิน เดี๋ยวว่าเป็นสวย เดี๋ยวว่าเป็นไม่สวย เดี๋ยวว่าอย่างนั้นอย่างนี้  ปุ๊บ...ทัน ทันสภาวะจิต ที่เป็นนามสัญญา ที่เป็นนามเวทนา ที่เป็นนามสังขาร...ดับ สภาวะจิตก็ดับ ดับ...ก็เหลือแต่กาย กายที่ไม่รู้จะเรียกว่าอะไรดี ไม่มีคำพูด พอมันจะมีคำพูดปั๊บ...ดับ ไม่ให้เกิด 

มันเท่าทันสภาวะจิต มันก็เห็นนามธรรมนั้นเกิดดับ  เห็นมั้ย เหลืออยู่แค่นี้จริงๆ  การปฏิบัติธรรมนี่เหลือแค่นี้จริงๆ  ต้องให้เหลืออย่างนี้ จนมันแจ้งๆๆ  แจ้งอะไร  แจ้งในกายเนี้ย หาความเป็นสัตว์บุคคลไม่ได้เลย  เป็นก้อนอะไรว่างๆ ตั้งอยู่บ่ดาย ซื่อๆ  ไม่รู้จะว่าอะไรกับมันดี ... อย่างนี้ถึงเรียกว่าแจ้งในกาย

ถ้าแจ้งในกายแล้วนี่  สภาวะจิตทั้งหลาย กายเวทนาจิตธรรมนี่ เรื่องเดียวกันหมด  ไม่ต้องไปค้นหาอะไรเลย  เพราะระหว่างที่มันรู้กายเห็นกายอยู่อย่างนี้ สภาวะจิตเกิดดับๆ  มันเห็นสภาวะนามเกิดดับๆ  ก็เห็นสภาวะขันธ์ที่เป็นส่วนของนามนี่เกิดดับในขณะนั้นอยู่แล้ว  พอมันเกิดดับแล้วมันเหลืออะไรล่ะ มันก็เหลือภาวะมหาภูตรูปที่ห่อหุ้มใจดวงนี้อยู่

ต่อไปนี่มันเห็นกายมันแค่เข้าไปสัมผัสแค่นั้นเอง ไม่เป็นตัวเป็นตนอะไรแล้ว  เป็นแค่ผัสสะ เป็นแค่กายเวทนา เป็นแค่กายวิญญาณ ... แข็งน่ะ ดูตรงแข็ง ที่ก้นแข็งๆ  ดูแค่สัมผัสตรงแข็งนั่นน่ะ เป็นใคร เห็นมั้ย  ไอ้ที่ว่าเป็นตัวเรา ตัวของเรานี่ มันเป็นสัญญามาประกอบรูปว่า “นั่ง” เข้าใจรึเปล่า

แต่ถ้าดูที่กายจริงๆ น่ะเป็นกายเวทนานะ กายวิญญาณนะ  มันเป็นแค่สัมผัส ใจออกมาสัมผัสรู้แข็งรู้อ่อนรู้ตึงรู้ขยับรู้ไหวรู้นิ่ง เห็นมั้ย กายเป็นอย่างนั้นจริง  และตรงนิ่ง ตรงขยับ ตรงไหวน่ะ เป็นตัวตนของใคร

เพราะนั้นถ้าดูโดยรวมแล้วมันก็จะเห็นความรู้สึกที่ฉาบอยู่ที่หนังรอบตัว เป็นแค่ความรู้สึกบางๆ เหมือนฟิล์มน่ะ เหมือนแผ่นฟิล์ม เหมือนผ้าม่าน  มันให้ความรู้สึกของทั้งตัวได้แค่นั้นเอง  ว่าผ้าม่านนี่เป็นอะไร เป็นความรู้สึกที่รอบปริมณฑลของหนังหุ้มอยู่เป็นที่สุด  มันมีความรู้สึกทั้งหมดที่เป็นกายเวทนาแค่นั้นเอง

เพราะนั้นก็อาศัยแค่ตรงนั้นน่ะเป็นเครื่องดำเนินไปในโลก  พอให้รู้ได้จับต้องได้โดยสมมุติ โดยสมมุติ สีสัน วรรณะนั้นๆ

แต่ต้องแจ้งก่อน ... อย่าห่วง อย่าไปห่วงเรื่องอื่น นะ อย่าห่วงเรื่องอื่น เรื่องตัวเองยังบอดใบ้บ้าอยู่  อย่าไปห่วง อย่าไปกังวล อย่ามาเอาเป็นธุระภาระ  แจ้งก่อนแล้วค่อยว่ากันใหม่  ค่อยมาอรรถาธิบาย สาธยายธรรมก็ได้  

แต่ตอนนี้ก้มหน้างุดๆๆ เงียบๆ อยู่ภายในนี่แหละ  เอาให้มันแจ้ง เอาให้มันเห็นกายจนทะลุเลย ว่ามันเป็นเราตรงไหน มันมีชื่อมีเสียงติดอยู่ตรงไหน  ...รู้ตัว แยบคายลงตรงนี้  อาการนามไปมาๆ ขึ้นๆ ลงๆ ช่างหัวมัน ไม่สน  พอไม่สนมันก็ดับหมดแหละ  

แล้วมันจะเริ่มเห็น พออยู่ตรงกลางตรงนั้นแล้วน่ะ...อยู่ท่ามกลางระหว่างกายกับใจ  ไม่รู้จะบอกยังไงดี มันอยู่ท่ามกลาง  มันเห็นอยู่ท่ามกลางระหว่างกายอันนึงกับใจอันนึง แล้วก็มีผุบผับๆๆ อยู่อย่างนี้  ... นั่นแหละกลาง นั่นแหละมัชฌิมา

พระพุทธเจ้าต้องการให้เห็นภาวะอย่างนี้ อยู่อย่างนี้ อย่าแส่ อย่าส่าย อย่าให้สภาวะอย่างเนี้ย หลุดหายไป  ถ้าหายไปเมื่อไหร่นี่ อัตตกิลมถานุโยคเกิด กามสุขัลลิกานุโยคเกิด  คิดดีคิดร้าย จริงจังในความคิดความปรุงเกิด จริงจังในเสียงเกิด จริงจังในรูป อาการคนรอบข้างเกิด

เสียหาย ...อย่างนี้ถือว่าเสียหาย เสียเวลา  แต่อาจจะได้อะไรอย่างที่คนอื่นต้องการหรือเราต้องการ  เห็นมั้ย ไอ้ที่ได้มาคือ “เรา...เราได้”  มันมีอยู่นะ มันได้ผล...คือเราได้

แต่ถ้าอยู่ตรงนี้ ... ทำไมถึงบอกว่าไม่ได้อะไร ...มันมีแต่รู้กับเห็น ไม่เห็นได้อะไรเลย  เห็นมั้ย ก็มันไม่มี “เรา” ได้อะไร  ถ้ามันไม่มี "เรา" ก็ไม่มีใครได้ใครเสียสิ  แต่ถ้าภาวะเป็นกลางนี่หายไปปุ๊บ มันมี "เรา" เข้าไปได้...ในความคิด ได้เวทนา ได้ความรู้สึก ได้สรรเสริญ ได้ลาภยศ ได้ติฉินนินทา ได้สุข ได้ทุกข์ เห็นมั้ย มันมี "เรา" เข้าไป "ได้"

เมื่อ “เรา” เกิดก็ต้องได้แล้ว  แล้วมันไปติดตรงที่เราได้ หรือเราเสีย  แต่พอมาอยู่ตรงนี้ ปุ๊บ มันไม่มีเรา มันก็ไม่มีใครได้ใครเสีย  ก็เลยถึงบอกว่ามันธรรมดา มันเห็นเป็นธรรมดา ไม่เห็นมีใคร ไม่เห็นรู้สึกว่าได้มรรคได้ผลนิพพานอะไรเลย

แต่มันได้อย่างเดียวคือเข้าใจ แจ้ง ชัด  แยกกันอยู่  อยู่อย่างนี้ จนมันหมดความหมายมั่น ในกาย ในขันธ์ ทั้งส่วนที่เป็นรูป ทั้งส่วนที่เป็นนาม  

เพราะนั้น ระหว่างที่รู้กาย รู้ตัวอยู่อย่างนี้ ท่ามกลางกายกับใจอยู่อย่างนี้ มันก็ทำความแจ้งในสภาวะนามขันธ์ด้วย บอกให้เลย  ก็เห็นสภาวะนามขันธ์เป็นไตรลักษณ์ เกิดดับๆๆๆๆ

เวลามีชีวิตอยู่ในชีวิตประจำวันเนี่ย อาจจะรักษาสภาวะนี้ไม่ได้ต่อเนื่อง  ยากใช่มั้ย  ทำงาน ได้ยินเสียงคนพูด รู้...ว่าได้ยิน และก็ฟังเสียงที่ดับไปเมื่อเขาพูดจบ ก็เห็นความดับไปของเสียง  เหมือนทำอะไรเสร็จ หยิบจับอะไรเสร็จ รู้อาการทางกายแล้วก็เห็นว่างานภารกิจดับ เสร็จ ... ให้เห็นความหมดไปเป็นตอนๆ ไป คือเห็นสภาวะไตรลักษณ์ของภายนอกไปพร้อมกันในชีวิตประจำวันไปด้วย  

เวลาฟังอะไรก็ตั้งใจฟัง แล้วก็ฟังเป็นคำๆ ไป ฟังเป็นประโยคไป ฟังเป็นเรื่องราวไป หมดถ้อยกระทงความแล้ว ให้เห็นว่าเสียงนั้นดับ จบเรื่อง ก็ดับตรงนั้น ... แล้วสังเกตดู...ใจดับมั้ย หรือใจไม่ยอมดับมั้ย หรือใจยังเก็บมาคิดมาค้นมาปรุง มานอนเอาตีนก่ายหน้าผากตอนกลับถึงที่บ้านแล้วอีก ดูเอาอย่างนี้

แต่ให้เห็นความเป็นจริงตรงขณะนั้นว่าเสียงมันดับไปแล้วนะ  รูป อาการที่เขาแสดงอากัปกิริยาที่น่าเกลียดน่าชังหรือน่ารักน่าใคร่อะไร มันดับตั้งแต่รูปนั้น เราหันหน้าหนี...ดับแล้ว ภาพนั้นดับแล้ว อย่างนี้

ให้เห็น เหตุเขาเกิดตรงนั้น เขาดับตรงนั้นแล้ว  เสียงเขาเกิดตรงหู ดับตรงหู มันดับตรงนั้นแล้ว  ให้เห็นว่า ทุกข์น่ะมันเกิดตรงไหนมันดับตรงนั้น  คือทุกขสัจนะ  เสียง รูป กลิ่น รส นี่คือทุกขสัจนะ  แต่ไอ้ที่ไม่ดับคือทุกข์อุปาทาน...เก็บมานั่งคิดนอนคิด กังวล ว่ารูปเรา เราเคยถูกด่า เรากำลังจะไปด่าเขา เรากำลังจะเอาคืนเขา ไอ้นี่เป็นอุปาทานทั้งสิ้น

แต่ในความเป็นทุกขสัจนี่ เกิดตรงนั้นดับตรงนั้น  แล้วเขาก็เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็ตั้งอยู่เป็นธรรมดา แล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา อยู่อย่างนั้น  ให้สังเกต ให้สังเกตอย่างนี้

แล้วก็ดูอาการ ถ้าไม่มีอะไรก็ให้กลับมาสอดส่องลงที่กาย  อย่าไปผูกขาดอยู่กับความเผลอเพลิน หลง หาย  ตัวนี้สำคัญ  มันไปเมามันอยู่กับอะไรก็ไม่รู้ ไม่รู้ไม่เห็นอะไรสักอย่าง ไปจมอยู่ไหน ไปแช่หัวจมน้ำอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้  ไม่รู้ว่าไปอยู่ในความคิดด้วย ไม่รู้ว่าไปอยู่กับรูปเสียงผัสสะภายนอก ไม่รู้ว่าเผลอเพลิน ลอยยย ... จิตเพ้อเจ้อ

ระลึกขึ้นมา แล้วก็ตั้งลงไปที่กาย เอาให้มั่นๆ  พอเริ่มคิด เริ่มจิ๊บๆ จั๊บๆ เริ่มไหล เริ่มริน เริ่มเทออกไปแล้ว ...ไม่ได้แล้ว ต้องแข็งขืนแล้ว ต่อต้าน ต่อสู้ ด้วยศีลสมาธิปัญญา  ไม่ได้ต่อสู้ด้วยความโกรธ ความกดข่ม แต่ต่อสู้ด้วยการระลึกรู้เท่าทัน อยู่ที่กาย

กลับมา ...  มันดื้อแพ่ง มันจะดื้อแพ่ง เป็นธรรมดา มันไม่ยอม มันไม่ยอมให้หยุดคิด มันไม่ยอมให้หยุดพิจารณาในเรื่องการงานหน้าที่ มันไม่ยอม มันคิดว่ามันเป็นภาระ เดี๋ยวจะมีผลประโยชน์ผลได้ผลเสียเกิดขึ้น มันไม่ยอม ...ไปไม่รอดก็ไอ้ตรงไม่ยอมนี่แหละ

คืออะไร ไม่ยอมอะไร ... ไม่ยอมละ พอบอกให้ละ มันก็บอก ..ฮื้อ มันต้องอย่างนั้น มันต้องอย่างนี้นะ เดี๋ยวจะอย่างงั้น อย่างงี้  ...มันเสียดายกิเลสรึไง ฮึ มันเสียดายการเกิดรึไง กลัวไม่ได้กลับมาเกิดใหม่รึไง

ใจนี่น่ะมันไม่รู้มันก็ไม่รู้หรอก มันไม่รู้อะไรจริงๆ นะ มันทำไปด้วยความเคยชินอย่างนั้น  และคนในโลกเขาก็ทำด้วยความเคยชินอย่างนั้น และเราก็ทำตามความเคยชินอย่างเขา ด้วยความเห็นที่เป็นมิจฉาทิฏฐิ เขาก็ด่ากันไปด่ากันมา ชมกันไปชมกันมา

นี่ เห็นมั้ย โลกธรรม ๘ ก็อยู่ในนี้  ได้ลาภเสื่อมลาภ ได้ยศเสื่อมยศ ได้สุขได้ทุกข์ ได้คำติฉินได้คำชม อยู่แค่นี้เอง นี่คือโลกธรรม ๘   เราก็ตกอยู่ภายใต้โลกธรรมทั้ง ๘ นี่เอง อารมณ์คู่ในโลก คือมันเกิดจากความเห็นผิด หมายมั่น อุปาทาน ความเชื่อ ที่ออกมาจากความไม่รู้

เหมือนปลาเน่าทั้งข้องน่ะ อยู่ในข้องก็เน่าหมดทั้งข้องแหละ  มันก็มีความเห็นเดียวกันหมด  อยู่กับของเหม็นก็บอกว่าหอม เพราะมันเน่าด้วยกันแล้วอ่ะ  จะไปฟังความอะไรกับไอ้ความที่ไม่มีสาระ กับของเน่าของเหม็น

พระพูดไม่ฟัง ครูบาอาจารย์สอนนี่ ไม่ฟัง  พระพุทธเจ้าสอน ไม่ฟัง  มันดื้อแพ่ง มันต่อต้าน  เห็นมั้ย เห็นใจขี้ดื้อมั้ย  ขี้โกรธ  มีแต่ขี้...ใจของเรานี่  ขี้โกรธ ขี้โลภ ขี้หลง ขี้วิตก ขี้สงสัย ขี้กลัว ขี้ขลาด  มีแต่ขี้ๆ เต็มตัวไปหมด

ก็กอบโกยเอาขี้ออกไป ไอ้ขี้พวกนี้ไม่เอา  มัวแต่สะสมอยู่แต่ขี้ เต็มหัวใจอยู่นั่นน่ะ ปฏิกูลทั้งนั้น  แต่พอเขาเอาขี้มาใส่ กลายเป็นว่ากอบโกยเลย เหมือนทองเลย ให้ค่ากันกับขี้นี่น่ะ  เพราะแต่ละคนเขากอบโกยขี้กันทั้งนั้น แล้วเอาขี้มาฉาบทาบ้านตัวเอง ใจตัวเอง กายตัวเอง

โดยเข้าใจว่า นี่ผิดนี่ถูก นี่ใช่นี่ควร นี่ไม่เหมือนกับโลกเขา นี่ไม่เหมือนกับคนอื่นเขา นี่ไม่เหมือนกับธรรมเนียมปฏิบัติของโลก ... กลัว กลัวไม่มีขี้เหมือนเขา  เออ ตลกว่ะ

พระพุทธเจ้าสอนสั่ง ...ไม่ฟัง  มันบังอาจตั้งตัวเป็นศาสดาหัวแหลม  ด้วยข้ออ้าง ข้อแม้ เงื่อนไข  ด้วยเหตุปัจจัยของ “ส่วนตัว” มักจะมีเหตุปัจจัย “ส่วนตัว”

ให้เข้าใจ ...ให้เด็ดเดี่ยว กล้าหาญ  ไม่ต้องอาลัยในโลกนี้  อย่าไปอาลัย อย่าอาลัยความเป็นไปในโลกนี้  อย่าไปอาลัยในรูปเสียงที่เขาฝากไว้ ที่มันตกคลั่กอยู่ในโลกนี้  เอาไปไม่ได้หรอก มันเป็นแค่เครื่องฉาบทาตกแต่งหลอก  

เหมือนบ้านที่ข้างในกลวงๆ แล้วก็หน้าบ้าน อู้หูย มันแต่งซะเริ่ดเลย  เปิดเข้าไป หูย ดูไม่จืดเลย รุงรังเลอะเทอะ  แต่ว่าอยู่นอกบ้านมันแต่งกันซะ ด้วยเทรนด์นั้น แบบนี้  ก็ว่ากันไป  เราก็อย่าไปบ้าเห่อกับเขา กลับมาหายบ้า อยู่กับใจกับกาย

เพราะศาสตร์ทั้งหลายในโลกนี้ ความเห็นความเชื่ออะไร แม้จะเป็นศาสตร์ในการปฏิบัติ แม้จะเป็นความเชื่อความเห็นในโลกียะ  ก็สามารถจะตกแต่งปรุงแต่งให้มันเลิศเลอเพริศแพร้วประณีตน่าเลื่อมใส น่าใคร่ น่าเข้าไปจับจอง น่าเข้าไปค้นหา โดยเข้าใจว่าจะมีมรรคมีผลติดหนวดติดหน้ามาบ้าง

เพราะค่าที่เราให้ไว้ มันพาให้เราลุ่มหลง พาให้เรามัวเมาออกไป  ระวัง...การกระทำคำพูด  ไม่ใช่ของตัวเองอย่างเดียว ของผู้อื่นด้วย  ให้รู้เท่าทันว่ามันจบแค่ตรงนี้ อย่าเก็บเข้าเซฟ เข้าห่อ เข้าพก มันดับตรงนั้นแล้ว

ขอให้อยู่ในปัจจุบันจริงๆ เหอะ ธรรมมีอยู่แค่นี้จริงๆ  ไม่ใช่มากมายก่ายกองอย่างที่เราพยายามไปขวนขวายหา accessories เพิ่มเติม ... อย่าไปเก็บขี้ เขามีแต่เอาออก ... ให้เหลือแค่สองอย่าง ธรรมคู่ที่เป็นมัชฌิมาจริงๆ คือกายใจๆๆ

รู้กายรู้ใจ ใจรู้...รู้ใจ ไม่มีอะไรก็ ใจรู้...รู้ใจ อยู่อย่างเนี้ย แล้วก็กายใจๆ  ไม่มีอะไรก็สอดส่องลงที่กาย เอาจนกายมันแจ้งจนทะลุ  จนหากายไม่เจอแล้วน่ะค่อยอยู่ที่ใจรู้...รู้ใจๆๆ อยู่ที่ใจ  มันจะไปจมไปแช่ไปหาอะไรก็รู้ใจ...ใจรู้  รู้ขึ้นมา ขุดค้นมันขึ้นมาด้วยศีลสมาธิปัญญา เอาขึ้นมา

อยู่ได้ อยู่ที่ใจน่ะ อยู่ได้หมด อยู่ตรงไหนก็ได้  อยู่ในที่ที่เขาจะฆ่ากันฟันกันขนาดไหนก็อยู่ได้ อยู่ในที่ที่บีบคั้นกดขี่ข่มเหงขนาดไหนก็อยู่ได้  เพราะมันไม่ได้อยู่ตรงนั้น มันอยู่ที่ใจ มันอยู่ที่รู้ ... แล้วจะรู้ว่าที่นั้นน่ะเป็นที่ปลอดภัย  เป็นที่ที่พญามาร มัจจุมารตามไม่เห็น หาไม่เจอ จึงเรียกว่าปลอดภัย

อย่าออกนอกนี้ ... มันชอบออก มันกลัวไม่ดีไม่เด่กับเขา มันกลัวไม่ได้ กลัวไม่เป็นกับเขา มันเลยต้องออกไปหา  พอออกไปปุ๊บนี่ “เรา” ... “เรา” น่ะแหละเป็นผู้พาออกไป สักกายะบ้าง อัตตาบ้าง ตัวตนบ้าง  พวกนี้เป็นสมมุตินามบัญญัติให้กับสภาวะที่ออกนอกใจ

เอาจนเหลือแต่ใจดวงเดียว  ไม่ไปไม่มา ไม่หน้าไม่หลัง ไม่ซ้ายไม่ขวา ... ตอนแรกก็ละซ้าย แล้วก็อยู่กับซ้าย...ธรรมซ้าย  พอคนเขามาพูดว่าขวา ..เฮ้ยต้องไปขวา ออกขวาอีกแล้ว ละซ้ายแล้วยังมีไปขวา อ่ะ  รู้ไปเรื่อยๆ ก็ละขวาละซ้าย เดี๋ยวมีคนมาพูดว่าต้องข้างหน้า เอ้า รู้อีก ข้างหน้าก็ละ ก็อยู่ที่รู้ ข้างหลังอีก

เอาจนไม่ไปไม่มานั่นแหละ รู้รอบสามร้อยหกสิบองศา ไม่ไปเลย  นี่เขาเรียกว่ารู้รอบ รู้แจ้ง แทงตลอด  ไม่มีที่ไปที่มา ไม่มีจุดมุ่งหมาย ข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา ข้างบนข้างล่าง .. อยู่ในที่อันควร นี่ ศีลสมาธิปัญญาก็ควรแก่งานแล้ว อยู่ในที่นั้นแหละ...ไม่มีอะไร.


(ต่อ แทร็ก 5/2)