วันอังคารที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/31


พระอาจารย์
5/31 (541129B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554


พระอาจารย์ –  การที่มีสติระลึกรู้แต่ละครั้งนี่ เป็นการฝึก...ฝึกให้เกิดสัมมาสติ

ทำไมถึงเรียกว่าสัมมาสติ ...ถ้าเป็นสติที่เรียกว่าเป็นสัมมาสติ คือเป็นสติที่ย้อนกลับมาที่ใจ ...ถ้าเป็นสติที่มุ่งออกไปนอกใจนั้น เรียกว่าไม่ใช่สัมมาสติโดยตรง

ถ้าเป็นสติที่จะระลึกอยู่กับพุทโธ สติที่ไประลึกอยู่กับลมหายใจ สติที่ไประลึกอยู่กับคำบริกรรมต่างๆ นานา หรือไปเรียนรู้เพ่งอยู่ที่กาย หรือที่ไหนก็ตามที่นอกจากใจ ก็ยังไม่เรียกว่าเป็นปัจจัยให้เกิดสัมมาสติ

แต่เมื่อใดที่สตินั้น บุคคลนั้น เจริญสติเพื่อให้เห็นใจปรากฏขึ้น มีใจรู้ มีใจเห็นปรากฏขึ้นอยู่ ณ ขณะปัจจุบันนั้นๆ นั่นเรียกว่าเป็นปัจจัยให้ก่อเกิดสัมมาสติ...เป็นเป้าหมายที่แท้จริง

ก็ไม่ได้อะไรหรอก...ได้แต่ใจดวงเดียวนั่นแหละ คือใจรู้ใจเห็นมันเด่นชัดขึ้น

เพราะนั้น เมื่อมีการเจริญสติ แล้วมีการหยั่งลงไปที่รู้ที่เห็น หรือว่าสังเกตตรวจสอบอยู่ที่รู้ที่เห็น ด้วยความแยบคายในของสองสิ่ง คือสิ่งที่ถูกรู้และรู้และเห็น มันเป็นการชำระใจไปในตัวของมัน

ใจนี่มันเหมือนความบริสุทธิ์ คือความบริสุทธิ์ ไม่มีอะไรบริสุทธิ์กว่าใจ ...มันมีความบริสุทธิ์ที่คงที่ของมัน หมายความว่าจะทำให้บริสุทธิ์กว่านี้ก็ไม่ได้ จะทำให้มันไม่บริสุทธิ์ก็ไม่ได้

เนี่ยคือสภาวธรรมที่เรียกว่าใจ จะทำให้มันเศร้าหมองก็ไม่ได้ จะทำให้ขุ่นมัวก็ไม่ได้ ...เพราะนั้นในใจจริงๆ แล้วมันไม่มีอะไรเจือปนได้

แต่ไอ้ที่ว่าขุ่น ไอ้ที่ว่าหมอง ไอ้ที่ว่าเศร้านั่นคือสิ่งที่มันห่อหุ้มใจดวงนั้นไว้ คือความไม่รู้ต่างๆ นานา กิเลสอาสวะหมักหมม มันก็ปนเปื้อน แปดเปื้อน

เหมือนเพชรนี่ มันมีความใสในตัวของมันเอง  เหมือนดวงแก้วอย่างนี้ แก้วเจียระไน มันใส มันใสโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว จะไปทำให้มันใสกว่าเดิมก็ไม่ได้หรอก มันก็ใสของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ

แต่คราวนี้ว่า ถ้ามันมีโคลนมีตมมาห่อหุ้ม มันก็ไม่เห็นว่ามันใส ...นี่ ใจมนุษย์มันอยู่ตรงนั้นน่ะ มันอยู่ตรงที่อะไรห่อหุ้มอยู่เต็มไปหมด ปกปิด ปิดบัง ครอบคลุม

แล้วขุดค้นกันไม่เจอ กลับไปขุดที่อื่น ไปหาที่อื่น ไปหาทรัพย์สมบัติสุดขอบฟ้า ตามล่าหามรรคผลนิพพาน ตามล่าหาธรรม เป็นผู้กระหายธรรม

มันก็หาไปเรื่อยน่ะ ...ทั้งๆ ที่ว่า มันอยู่ตรงนี้ มันอยู่ในนี้แหละ ...เบื้องต้นก็เรียกว่าถือว่ามันอยู่ภายในกายใจนี้ก่อน ในกายนี้ก่อน

เมื่อมันถูกห่อหุ้มรวมตัวกันนี่ มันก็เหมือนกับถูกบล็อกไว้ให้เป็นก้อนอยู่ภายใน ...ความไม่รู้นี่มันไปห่อไว้ ดูเหมือนไปรวมมวลของใจไว้ เป็นก้อนอยู่ภายในขันธ์

อาศัยพลังของสติสมาธิปัญญา รู้แต่ละครั้งนี่ ยืนรู้ นั่งรู้ เดินรู้คิดรู้ กังวลรู้ เครียดรู้ สุขรู้ทุกข์รู้ กิเลสเกิดรู้ โกรธรู้ หลงรู้ ...รู้แต่ละครั้งนี่ มันไปสะกิดไอ้ที่หุ้มไว้นี่ด้วยอำนาจของโมหะตัณหานี่ ให้มันเปิดขึ้น

เหมือนเอามือไปสะกิดเอาขี้โคลนออกจากแก้วจากเพชร...มันก็จะเห็นว่า อ๋อ มีแสงสว่าง มีใสอยู่ข้างใน มีใสขึ้นมา ...เพราะนั้นรู้แต่ละครั้งนั่นแหละคือการชำระใจ

ไอ้ที่ว่ารู้ๆ มันก็คือสว่างน่ะ สว่างรู้สว่างเห็นออกมานั่นแหละ แต่มันยังไม่ใช่ใจทั้งดวง ...เห็นแค่สว่างแค่นี้ก็ดีถมเถแล้ว ไม่ใช่มืดตึ้บ มืดบอด ทำไปอยู่ไปด้วยความหลงเผลอเพลิน นี่มืดบอด

ใจไม่อยู่ ใจไม่เห็น ใจอยู่ไหนก็ไม่รู้ หาก็ไม่เจอ เถียงอีกว่าไม่มี ใจอยู่ตรงนั้น ใจอยู่ตรงนี้ นี่ว่าไป ...แล้วก็ไปทำขึ้นมาอีกดวงนึง หลายดวงมั่ง สว่างมั่ง เป็นแก้วมั่ง เป็นพระพุทธรูปมั่ง

นั่นไม่ใช่ใจ ...ใจอยู่นี่ อยู่ที่รู้นี่ รู้นั่นแหละคือแสงสว่าง ...ทำไมพระพุทธเจ้าถึงบอกว่า นัตถิ ปัญญา สมาอาภา สว่างเสมอใดไม่เท่าปัญญา

เห็นมั้ย ทำไมถึงเรียกว่าความสว่างคือปัญญา ...คือใจมันสว่างออกมา นี่ๆๆๆ สว่างออกมามันเห็นน่ะ แสงที่มันเปิดขึ้นนี่ มันเห็นน่ะ มันไม่มืด มันสว่างมันก็เห็นน่ะ

เห็นอะไร ...เห็นขันธ์ เห็นอัตตา เห็นอัตตาธรรม เห็นว่าเป็นเรารึเปล่า หรือว่าเห็นว่าไม่เป็นของเรา ...นี่ มันเห็นตามความเป็นจริงน่ะ ก็ต้องอาศัยรู้อันนี้ที่มันเปิดออกมานี่เห็น...เห็นขันธ์

ด้วยใจที่เป็นกลาง ด้วยความเป็นกลาง โดยมรรค ไม่เลือก  แล้วก็อดทนตั้งมั่น ไม่ดันไม่ดึง ไม่ผลักไม่ไส ไม่แก้ไม่หนี ...ก็จะเห็นว่า อ้อ มันเป็นอย่างนี้ๆ

มีความดับ มีความเกิดมีความดับ มีความตั้งอยู่...โดยที่ไม่มีใครบังคับ ควบคุม มันเป็นไปของมันเองน่ะ ...นี่แสงสว่างแห่งใจดวงนี้มันเห็น แค่นี้เรียกว่าปัญญาแล้ว

ไม่ใช่รู้มากมายก่ายกอง ไอ้นั่นไอ้นี่ ไปรู้คนนั้น ไปรู้อดีตอนาคตของคนนั้นคนนี้ ไปรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าล่วงหลัง ไปรู้ชาติก่อนเกิดเป็นอะไร ไปรู้เหตุการณ์ของโลกข้างหน้าข้างหลัง

มันไม่ใช่ความรู้ที่แท้จริงที่พระพุทธเจ้าต้องการ ...บำเพ็ญเพียรมา ๔ อสงไขย แสนมหากัป ไม่ได้สอนมาให้รู้เห็นเรื่องไร้สาระ ไม่มีประโยชน์ในการที่จะทำให้การเกิดดับนั้นสั้นลง

หรือการเกิดใหม่ตายใหม่น้อยลง มีแต่ยาวออกไป...ด้วยความถือเนื้อถือตัว ด้วยความยึดมั่นถือมั่นในอัตตาธรรม หรือธรรมที่มันได้ขึ้นมา เห็นขึ้นมา

มันก็ถือเอาธรรมที่ปรากฏขึ้นมาว่าเป็นของกู แล้วเอาอัตตานั้นแหละ...ไปข่ม ไปเหนือ ไปต่ำ ไปเปรียบ ไปเทียบกับผู้อื่น

เราถึงบอกว่าคนภาวนานี่ เก่งน่ะเยอะ แต่ดีนะน้อย ...เก่งกันทั้งนั้นน่ะ เก่ง แต่มันไม่ค่อยดี ...ไม่ดีเพราะมันไม่ตรง ไม่ตรงต่อธรรม ไม่ตรงต่อความเป็นจริง

ไม่ตรงที่จะเข้ามาค้นหาความเป็นจริง...ในกายใจนี้คืออะไร ในอัตตาตัวตนนี้คืออะไรคือใคร ...เพราะอะไร เพราะไม่มีฐานที่ตั้งแห่งใจ เพราะไม่อยู่ที่ใจ เพราะไม่เอาใจออกไปรู้ไปเห็น

สติน่ะไม่ได้มีเพื่อการใดหรอก...เพื่อให้รู้ในปัจจุบัน ...อะไรๆ ที่ปรากฏในปัจจุบันนั่นแหละคืออัตตา คือขันธ์ที่มันก่อเกิดแล้วตั้งอยู่ ไม่ว่าจะเรียกว่านามธรรม ไม่ว่าจะเรียกว่าสมมุติบัญญัติว่ารูปธรรม

ไม่ว่าจะเรียกว่านี่เป็นเสียง นี่เป็นกลิ่น นี่เป็นรส...ทั้งหมดน่ะ ที่มันปรากฏในปัจจุบัน มันคือการก่อเกิดขึ้นมาของอัตตาหนึ่งๆ ใจมันถึงเห็นรับรู้รับทราบได้

พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ต้องอยู่กับปัจจุบัน เห็นอยู่กับปัจจุบัน รู้กับปัจจุบัน ...เพื่ออะไร ...เพื่อให้เห็นว่าปัจจุบันนี่คืออะไร เป็นใคร เที่ยงมั้ย มีตัวตนที่แท้จริงของมันมั้ย ตัวตนที่แท้จริงของมันดำรงอยู่ได้มั้ย

นี่เรียกว่ารู้ปัจจุบัน เห็นปัจจุบัน แล้วจึงละปัจจุบัน ...ไม่ใช่รู้ให้ยึดน่ะ  ไม่ใช่ว่าพุทโธๆๆ ห้ามพุทโธหาย อย่างนี้ยึด เอาให้พุทโธเที่ยง กำหนดลมหายใจไม่ลืมลมหายใจ นี่ ให้ลมหายใจเที่ยง เห็นมั้ย

ในความมุ่งหมายของพระพุทธเจ้า พระองค์ท่านไม่ได้ให้เอาความเที่ยงกับสิ่งใดๆ แต่ให้เห็นว่ามันไม่เที่ยง ...ไม่ต้องไปบังคับให้เห็นด้วย อยู่เฉยๆ เห็นเองแหละ

เพราะมันแสดงความเป็นจริงโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว ไม่ต้องทำขึ้นมาอีก ไม่ต้องทำให้มันดับ ไม่ต้องทำให้มันไม่เกิด ...พอเริ่มภาวนาไปภาวนามา เริ่มสู่รู้อีกแล้ว ไอ้นี่เกิด..กูไม่ให้เกิด ไอ้นี่ไม่ดับ..กูทำให้มึงดับ

นี่ เริ่มเป็นศาสดาหัวแหลม หัวแหลม..หัวลิง รู้ดี ไม่อยู่เฉยๆ ไม่รู้เฉยๆ ไม่เอาแสงสว่างแห่งปัญญา...แค่รู้อยู่เห็นอยู่ในสิ่งที่มันจะเป็นไปตามธรรมอันควร

ทุกอย่างน่ะเป็นธรรมอันควรทั้งนั้นแหละ มันตั้งอยู่นานก็เรื่องของมัน ไม่ใช่เรื่องของใคร ...ก็เหตุปัจจัยมันตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่สิ แล้วก็คอยดูว่าทำไมมันถึงตั้ง มันแอบไปทำอะไรมั้ย

มันแอบไปปรุง แอบไปแต่ง แอบไปเจตนาร่วมกับมันตรงไหนมั้ย จะได้ละมันซะ ...อ้อ มันยังไม่กลาง อ้อ มันยังแอบเลือก อ้อ มันยังแอบภูมิอกภูมิใจ

อ้อ มันยังแอบประคองอยู่ อ้อ มันยังแอบโกรธแอบชังมันอยู่ ...ก็จะเห็น มันก็จะเห็นอีแอบข้างในนั้น คืออำนาจของตัณหา ...มันก็เป็นการชำระให้มันสว่างขึ้น กระจ่างขึ้น...ใจน่ะ

นี่ รู้แป๊บๆ รู้แป๊บๆ เห็นแป๊บๆ มืด ครอบงำใหม่อีกแล้ว ...ครอบงำไม่พอ ไปหามาปิดอีก ไปดึง ไปหาเรื่อง หาเรื่องคิด หาเรื่องทำ หาอดีตหาอนาคตมาปิด ยังเน่าเหม็นทับถมกันอยู่นั่นน่ะ หมักหมมกันเข้าไป

สติไม่ค่อยเรียกหามาใช้ ไม่มาเปิดใจออกมา ไม่มาเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ในการขุดค้นให้ใจมันปรากฏผุดโผล่ขึ้นแสดงตัว ...กลับไปหาอะไรมาปกปิด

เอาความคิดมาบัง เอาเรื่องราวต่างๆ นานา มาปิดบัง เอาภารกิจมาปิดบัง เอาเรื่องของบุคคลอื่นมาปิดบัง เอาเรื่องของเราในอดีตอนาคตมาปิดบัง ...มันจะแจ้งได้ยังไง

ใจมันจะแจ้งได้ยังไง ก็ไม่ได้ชำระออกสักนิดน่ะ เอาแต่หมักหมมกลับมา มันจะแจ้งได้ยังไง รู้นี่มันจะแจ้งได้ยังไง ...ที่ว่ารู้แจ้งแทงตลอดนี่ มันต้องชำระจนมันเกลี้ยงน่ะ หมดน่ะ หมด

เวลามือเปียกนี่ มันอยู่ไม่ได้เลยนะ ต้องเช็ดน่ะ ให้มันแห้งน่ะ ...เหมือนกันน่ะกับใจ ชำระอยู่เสมอ คือรู้อยู่เนืองๆ รู้อยู่เป็นนิจ ...เผลอไม่ได้นะ เผลอล่ะถูกเมฆหมอกครอบคลุม โมหะครอบคลุมหมดน่ะ 

แล้วก็จะลุ่มหลงมัวเมา ไปในขันธ์ต่างๆ นานา ทั้งขันธ์ตัวเอง ทั้งขันธ์ผู้อื่น ทั้งขันธ์ที่มีวิญญาณครอง ทั้งขันธ์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ทั้งขันธ์ที่ยังไม่เกิด ทั้งขันธ์ที่เกิดไปแล้ว 

ทั้งขันธ์หยาบ ทั้งขันธ์ละเอียด ทั้งขันธ์ประณีต เยอะแยะไปหมด ...เหมือนเหล้าน่ะ มีหลายยี่ห้อน่ะ ไวน์ก็มี เหล้าขาว เหล้าแดง เหล้าญี่ปุ่น มันดูน่าปลื้มน่าชิม 

แล้วคนนั้นคนนี้เขาก็ชิม เขาก็กิน แล้วเขาว่าอันนั้นดี อันนี้ดี กินแล้วเพลิดเพลินอย่างนั้น กินแล้วมีความสุขอย่างนี้ ...เอาแล้ว เห็นมั้ย มันก็อดไม่ได้นี่ 

เพราะอะไร ...ตัวมันเองแหละมันเป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่ม ...ตัวใจนี่ที่เกิดมานี่ มันมีความเมาอยู่แล้วในตัวมันเอง คือมันติดเหล้า เป็นแอลกอฮอล์ลิซึ่มมาแต่กำเนิด

คือมันหมักเชื้อหมักเมาไว้อยู่นั่นแหละ มันพร้อมที่จะเมาน่ะ ...พอมียี่ห้อใหม่มา..เอ๋ย ขอสักเป๊ก  คือมันยั่วยวนน่ะ เพราะมันมีเชื้อเมาอยู่ข้างใน ...ถ้าไม่ระวังน่ะ เมาแน่ๆ

สติ..สำคัญ สมาธิ..สำคัญ เป็นอุปกรณ์ที่กางกั้นกิเลส ให้ใจมันตั้งขึ้นมา ... สติมาก..สมาธิก็มาก สติมากสมาธิมาก..ปัญญามันก็มาก สติอ่อน..ปัญญาก็อ่อน..สมาธิก็อ่อน

รู้บ่อยๆ ใจมันจะตั้งขึ้นมา มันก็หยั่งลงไปที่รู้ หยั่งลงไปที่เห็น ...ไม่รู้ตรงไหนน่ะ มันตรงที่รู้น่ะ ตรงที่เห็นนั่นแหละ ไม่ต้องถามว่าตรงไหน...ตรงไหนก็ได้

ตรงไหนที่รู้ ตรงไหนที่เห็นอยู่น่ะ ตรงนั้นแหละ...หยั่งลงไปที่ใจดวงนั้น มีดวงเดียว มีรู้แบบเดียว รู้เฉยๆ นั่นแหละ ...รู้แบบไม่มีหน้ามีตา รู้แบบไม่มีตัวไม่มีตน รู้แบบไม่มีใครไม่มีของใคร 

หาตำแหน่งแห่งหนใดไม่ได้เลย เอาโซ่ล่ามไว้ก็ไม่อยู่ เอาอะไรไปมัดไว้มันก็ไม่เห็น ไม่มีปรากฏไว้ แต่มันจะปรากฏได้ต่อเมื่อมีสติ...ดวงจิตผู้รู้ ดวงจิตผู้เห็น เอานั่นแหละเป็นที่อยู่ที่อาศัย เป็นที่พึ่ง เป็นสรณะ 

เหมือนเป็นขั้นบันไดน่ะ อาศัยใจดวงนี้ ดวงที่เห็น ดวงที่รู้...ทีละนิดๆ ที่เห็นสว่างขึ้นเป็นรู้ๆ แต่ละขณะ เหมือนเป็นบันได เดินไปในองค์มรรค

ถ้าไม่อาศัยใจรู้ใจเห็นดวงนี้ไป ผิดทางหมด เตลิดเปิดเปิงหมดน่ะ นอกลู่นอกทางไปหมดน่ะ ไปแบบไม่มีกลับ หรือเรียกว่าไปเรื่อยเปื่อย ...ก็เดินจนกว่าจะถึงที่สุดของบันได


(ต่อแทร็ก 5/32)



วันอาทิตย์ที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/30



พระอาจารย์
5/30 (541129A)
29  พฤศจิกายน 2554


พระอาจารย์ –  ถ้าอยู่กับคนไม่ภาวนา  คนภาวนาน่ะ...คนตั้งใจกับคนไม่ตั้งใจภาวนา มันก็มองกันคนละแง่ แก้ปัญหากันคนละแบบ มันก็ดูเหมือนกับเข้ากันไม่ได้

แต่ว่าภาวนาจริงๆ แล้วมันเข้ากับเขาได้หมด ...มันยังภาวนาไม่จริง ถ้าภาวนาจริงแล้ว อะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ มันไม่มีปัญหา ...ปัญหามันอยู่ที่ใจ...ที่ไม่ยอม  ถ้ายอมแล้วมันก็หมดปัญหา

ชื่อว่าอัตตาเขา อัตตาเรา มันเข้าไปให้ค่าในอัตตา  ความมี ความเป็น ความดำรงอยู่ ...อัตตามันก็คืออัตตา ไม่ใช่ใคร ของใคร  มันก็คือการปรากฏ การแสดงขึ้นมา การหล่อหลอมรวมกันขึ้นมา

กระแสกิเลสปรุงแต่งมั่ง กระแสธรรมปรุงแต่งมั่ง มันก็คืออัตตาทั้งนั้นแหละ ...คนมีกิเลสมันก็แสดงอาการแบบมีกิเลส ผลปรากฏมันก็ตั้งอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร

เพราะนั้นถ้ามีสติตั้งมั่นรู้อยู่เห็นอยู่ ก็จะเห็นความดับไปของมันเอง ไม่ว่าอัตตาเขาหรืออัตตาของเรา..ดับหมด ...แต่จริงๆ มันไม่มีอัตตาเขาอัตตาเราหรอก มีแต่อัตตา...คือการดำรงอยู่ การตั้งอยู่นั่นน่ะ

เหมือนต้นไม้นี่ มันตั้งอยู่นี่ มันก็ตั้งอยู่ ดำรงอยู่ นี่ มันดำรงทรงรูป คงรูปของมัน รับรู้ได้  มันก็เป็นอัตตาที่ตั้งอยู่ ก่อรูปสร้างโลกขึ้นมา ...แต่มันก็ไม่ได้บอกว่ามันเป็นใคร มันเป็นของใคร

มันก็เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ เพราะเหตุปัจจัยมันยังปรุงแต่งต่อเนื่อง เป็นบ้านซึ่งว่างจากตัวตนของมันเอง มันไม่มี...คือมันมีแต่ตัวตนที่ปรากฏ แต่ความรู้สึกที่เป็นตัวตนของมันไม่มี ...มันไม่มี มันเป็นศูนย์

เพราะนั้นว่า ใจมันก็ต้องมาเรียนรู้ การดำรง การคงอยู่ การตั้ง การปรากฏขึ้นของทุกสิ่งนั่นแหละ ...แต่คราวนี้ว่าไอ้ตอนที่มันตั้งอยู่ มันมีอยู่เนี่ย กิเลสของเราน่ะ มันจะเข้าไปถือครอง

มันมีตัณหา มันมีอุปาทาน มันมีการจดจำ มันมีการให้ค่าไว้ก่อน มันมีทิฏฐิในสิ่งนั้นๆ ที่ตั้งอยู่น่ะ มีความเห็นต่างๆ นานา ต่อสิ่งที่มันตั้งอยู่  มันก็เลยก่อให้เกิดกิเลสตัวใหม่ขึ้นมาอีก

มีกิเลส มีการกระทำ มีเจตนาเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง ต่อเนื่อง  มันก็เลยละเลยเพิกเฉย ต่อการที่จะกลับมารู้เห็นเป็นกลางในอัตตานั้น หรือว่าความดำรงคงอยู่ของอัตตานั้นว่ามันเป็นยังไง

แต่ถ้าวางจิตเป็นกลาง มีสมาธิ มีสติ มีปัญญา รู้อยู่เห็นอยู่ ดูมันด้วยใจที่เป็นกลาง ...มันก็จะเห็นว่า อาการที่ดำรงคงอยู่นั้นน่ะ เดี๋ยวมันก็ดับ

พอดับ มันก็จะเห็นความดับไปสิ้นไปของอัตตา...โดยที่ไม่มีเงื่อนไข โดยที่มันไม่ทุรนทุรายร้องขออ้อนวอนในการดำรงอยู่ของมันอีก ...เพราะมันไม่มีชีวิต มันไม่ได้เป็นสัตว์ มันไม่ได้เป็นบุคคล

นั่นแหละ ก็เรียกว่าใจมันเข้าไปเห็น เข้าไปเรียนรู้ ความเป็นไตรลักษณ์ของสรรพสิ่ง ...ใจที่มันเห็นอาการที่เป็นไตรลักษณ์บ่อยๆ เนืองๆ เป็นนิจ  ใจมันก็จะเข้าใจในตัวของมันเอง

ว่าทุกสิ่งทุกอย่างทั้งหลายทั้งปวงนี่ แม้จะตั้งอยู่ในรูปแบบใดก็ตาม  ดี ชั่ว ร้าย ถูก ผิด อะไรก็ตาม...มันมีความดับไปเสมอ ...แม้แต่ในการตั้งอยู่ มันก็ไม่มีความเป็นสัตว์และบุคคลใดๆ ในนั้น

เวลาเรานั่งรถมานี่ รถนี่มันก็ก่อรวมตัวกันขึ้นเป็นทรวดทรงหนึ่ง ก็เรียกว่าเป็นรูปขันธ์หนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นรูปขันธ์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ...มันก็คืออัตตาอันหนึ่ง มันก่อรวมตัวกัน ด้วยอำนาจการปรุงแต่ง

เวลาขึ้นไปนั่งน่ะ รถมันก็เฉย นั่งคนเดียวก็เฉย นั่งสี่คนห้าคนสิบคน มันก็เฉย ไม่นั่งมันก็เฉย ...มันไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้ใดๆ ทั้งสิ้นว่า เฮ้ย กูเป็นรถเก๋งนะ มึงนั่งเกินสี่คนไม่ได้ ไม่งั้นกูไม่ให้มึงขึ้นนะ เนี่ย เห็นมั้ย

เพราะนั้นการดำรงคงอยู่ของมัน มันก็ไม่มีความเป็นสัตว์เป็นบุคคล แม้แต่ว่าขันธ์ที่ไม่มีวิญญาณครอง ...เหมือนกัน ความเป็นไปของขันธ์ห้านี่ มันก็ไม่ได้แตกต่างจากวัตถุข้าวของใดๆ หรอก

มันก็มีการดำรงอยู่ ตั้งอยู่ ปรากฏขึ้นด้วยเหตุและปัจจัย ...ไม่ได้เอาห้าเอาสิบอะไรกับใคร ไม่ได้มีตัวของมันเองบอกว่าเป็นดี เป็นร้าย เป็นถูก เป็นผิด เป็นคุณ เป็นโทษอย่างไร

มันปรากฏขึ้น มันก็ตั้งอยู่ของมันอย่างนั้นน่ะ นานบ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง แป๊บเดียวบ้าง แล้วก็ดับ ...นี่ มันเป็นชั่วคราว ไม่ได้เอาห้าเอาสิบอะไรกับใคร ไม่มีความถือตัวถือตนในตัวของมันเอง

แต่ด้วยจิตใจของมนุษย์ปุถุชน มันมีความไม่รู้ มันเข้าไปหลงอัตตา มันเข้าไปหลงในอัตตาว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ว่าเป็นเขา ว่าเป็นของเขา ...เนี่ย คือความโง่

ขาก็ว่าขาเรา แขนก็ว่าแขนเรา หน้าก็ว่าหน้าเรา ตัวก็ว่าตัวเรา ...แขนก็คือแขน ขาก็คือขา ตัวคือตัว หน้าคือหน้า ไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ...เนี่ย ความเป็นจริงของขันธ์นี่ เขาปรากฏอยู่อย่างนั้นน่ะ

ทำยังไงมันถึงจะมองเห็นความเป็นจริงอันนี้ ...ก็คือมีสติสมาธิตั้งมั่นดูไว้ มันก็จะเห็นความเกิดดับไปในอัตตาตัวตนแต่ละขณะ เล็กบ้างใหญ่บ้าง ขณะใหญ่บ้าง ขณะย่อยบ้าง

ในอิริยาบถทางกาย ความรู้สึกทางกาย นี่ มันก็จะเห็นภาวะอัตตาที่ไม่เที่ยง แปรปรวน เปลี่ยนแปลงไปมา โดยที่ไม่มีการร้องขอ อ้อนวอน หวงแหนในตัวมันเอง ในการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ หรือดับไป

การที่ใจมาเรียนรู้ มาเห็นความเป็นไตรลักษณ์นี่แหละ  มันจึงจะเพิกถอน ถอดถอนความเห็นผิด ความเข้าใจผิด ในการเข้าไปเห็นขันธ์ผิดไปจากความเป็นจริง เห็นขันธ์คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงด้วยความไม่รู้นี่

จนใจมันเห็น จนใจมันเชื่อ จนใจมันเข้าใจ จนใจมันไม่สงสัยในขันธ์ ว่าขันธ์นี้ยังเป็นเราอีกไหม มีส่วนไหนบ้าง อะไรบ้าง ไม่ว่าเล็ก ใหญ่ น้อย ใกล้ไกล ดับไปแล้ว หรือยังไม่เกิดก็ตาม

มันไม่สงสัยในกองขันธ์นี้ ไม่สงสัยว่ามีเรา ของเรา อยู่ในนั้นไหม  มีเรา เป็นเราของเราในขันธ์ส่วนใดส่วนหนึ่งไหม...ไม่มี มันไม่สงสัย ...นี่ ถึงจะเรียกว่าใจมันก็สิ้นความสงสัย

มันก็คลาย ปล่อย วาง ให้เขาเป็นไปตามสภาพ ...แต่นั้นมันก็เห็นอัตตานั้นเป็นธรรม เป็นแค่ธรรมอันหนึ่ง ไม่ได้มองว่าเป็นเราเป็นเขา ไม่ได้มองว่าเป็นใคร เป็นอะไร ตามสมมุติตามบัญญัติ

เพราะเราจะถูกปลูกฝังความเชื่อและความเห็นด้วยสมมุติและบัญญัติ แล้วมันก็จะให้ค่าตามสมมุติและบัญญัติ ภาษา ...มันก็ไม่ได้มองเป็นภาษาบัญญัติและสมมุติสักเท่าไหร่

มันมองเห็นเป็นแค่คุณลักษณะอาการหนึ่ง หรือว่าเป็นธรรมหนึ่ง เป็นธรรมอันหนึ่ง ปรากฏอยู่ ดำรงอยู่ รวมกันอยู่เป็นมวลพอให้ใจรู้ใจเห็นใจสัมผัสได้เท่านั้น

ไม่เป็นบวกไม่เป็นลบกับใคร  มันเป็นกลาง มันสงบ มันเงียบในตัวของเอง  มันไม่มีปากมันไม่มีเสียง มันไม่มีเจตนาร้ายเจตนาดีกับใคร ...มีแต่ใจที่ไม่รู้น่ะ เข้าไปมีเจตนาร้ายเจตนาดีกับมัน

พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง หาว่ามันเป็นอย่างนั้น หาว่ามันเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่เป็นอย่างนั้น ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ...มันหลง หลงอัตตา ไม่รู้ตามความเป็นจริง

หลงแล้วก็ทำไปด้วยความไม่รู้น่ะ พูดก็พูดไปด้วยความไม่รู้ คิดก็คิดไปในเรื่องที่ไม่รู้จริง แสดงอาการทางกายก็แสดงไปด้วยความไม่รู้ทั้งนั้น ...ก็ว่าทุกอย่างเป็นเรื่องของเราหมด

มันเมา เมาขันธ์ เหมือนเหล้า เหมือนเหล้าที่ตั้งอยู่บนโต๊ะ ถ้านั่งมองดูมันนี่ ไม่เมาหรอก ...อย่าไปกินนะ ถ้ากินน่ะเมา

แล้วเหล้ามันก็ไม่เคยเรียกร้องว่าต้องกินกูนะ หรือว่ากูเกิดมาเพื่อให้มึงเมานะ ...เขาตั้งอยู่บ่ดาย ทิ้งไปนานๆ เดี๋ยวก็หมดไปเอง นี่ เขาไม่ได้เรียกร้องให้ใครมากิน เขาไม่ได้เชื้อเชิญ

(ถามโยม) แม่เขาตายแล้วเหรอ


โยม –  ค่ะ

พระอาจารย์ –  หมดวาระกรรมไปแล้ว


โยม –  เผาไปแต่เมื่อวานนี้ค่ะพระอาจารย์

พระอาจารย์ –  เวลาอยู่ก็เป็นทุกข์ หมดแล้วก็หมดไป สูญไป เหมือนไม่มีอะไร ...สิ่งที่มันดำรงอยู่นั่นน่ะมันทนได้ยาก ถ้าไม่มีปัญญา มันก็จะคอยดึงให้เข้าไป

ใจน่ะมันคอยจะไปเหนี่ยว ไปรั้ง ไปดึง ไปผลักให้...ด้วยอำนาจตัณหาอุปทานต่างๆ นานา มีความปรุงแต่งด้วยความไม่รู้มาสนับสนุนให้คิดให้ทำไปเรื่อย

ถึงบอกแล้วว่าโลกมันดำรงอยู่ด้วยความยาก เรื่องราวเหตุการณ์ต่างๆ นี่  ...ถ้าไม่มีปัญญามันก็เข้าไปขลุกเข้าไปเมา มัวเมาลุ่มหลง หาทางหนีหาทางแก้กันอยู่ ...ไม่วางเฉยเหมือนแผ่นดิน ไม่เย็นเหมือนน้ำ

ใจนี่ ไม่อยู่กับใจ ไม่แก้ปัญหาด้วยใจ ...มันแก้ด้วยความคิด มันแก้ด้วยอารมณ์ มันแก้ด้วยความเห็น มันแก้ด้วยเอาถูกเอาผิด ...มันมีแต่ปัญหา แก้ไม่จบหรอก

แล้วสุดท้ายเป็นยังไง ไม่เหลืออะไรสักอย่าง หมดสิ้น สูญหาย ...ก็แค่นั้นน่ะ  ดิ้นรนแทบตาย ก่อกรรมก่อวิบากกันแทบตายกับบุคคลรอบข้าง เห็นมั้ยประมาท ไม่มีปัญญาเมื่อไหร่มันก็เดือดร้อน ไม่จบ

ต้องฝึก ทน ทาน ต่อสิ่งที่อยู่ เท่าที่มันตั้งอยู่ ...ไม่ถึงที่สุดก็ทนไป เป็นการฝึกอบรมจิตให้ตั้งมั่น ...ไม่มั่นก็ต้องให้มั่น ไม่อยู่ก็ต้องให้อยู่ ไม่อยากอยู่ก็ต้องอยู่

ไม่งั้นท่านก็ไม่เรียกว่าการอบรมจิตหรอก ...ถ้าปล่อยให้ไปตามเรื่องตามราว ตามความคิดความปรุง ตามอารมณ์น่ะ มันก็ตกเป็นเบี้ยล่างของกิเลสตัณหา อวิชาตัณหาอุปาทานต่างๆ นานา

คอยแต่จะไปเอาเรื่อง ให้ได้เรื่องใหม่มาแทนเรื่องเก่า ให้ได้เวทนาใหม่มาแทนเวทนาเก่า ให้ได้อัตตาใหม่มาแทนอัตตาเก่า ให้ได้ตัวตนใหม่มาแทนตัวตนเก่า ...มันหมายมั่นในตัวตนทั้งนั้นน่ะ

ตัวตนของเรา ตัวตนของเขา คนนั้นอย่างนี้ คนนี้อย่างนั้น เราไม่ได้อย่างนั้น เราได้อย่างนี้ เราข้างหน้าไม่ได้อย่างนั้น เราปัจจุบันได้อย่างนี้ ...เนี่ย เดือดร้อน วุ่นวี่วุ่นวาย สับสนอลหม่าน ไม่รู้อะไรถูกอะไรผิด

เมื่อใดที่จิตใจสงบระงับอยู่ภายใน ตั้งมั่นด้วยอำนาจของสติสมาธิปัญญา รักษาใจไว้ในที่อันควร นั่นแหละมันจึงจะเห็นสภาพธรรมนั้นๆ ได้ชัดเจน ...ไม่ใช่วิ่งไปวิ่งมา ให้ใจมันวิ่งโลดแล่นไปมา

หยุดก็หยุดแค่แป๊บนึง แล้วก็โลดแล่นออกไป นี่ ...ถ้าหาใจไม่เจอ จับใจไม่อยู่ ไม่ลงที่กลางใจ ไม่ตั้งอยู่ที่ใจ ใจไม่ตั้ง...ทุกอย่างล้มเหลวหมด ทุกอย่างที่ภาวนานี่ไม่ได้ผลหมด บอกให้เลย

จะให้สงบตั้งมั่น สงบนิ่งหรือว่าเย็นฉ่ำขนาดไหน มีปีติขนาดไหน เอาไม่อยู่ ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันยังเป็นแค่สภาวะที่เรียกว่าสังขารธรรม มีความเสื่อมไป หมดไป สิ้นไป ธรรมดา

ธรรมทั้งหลายทั้งปวงน่ะ ไม่ว่าต่ำช้า หยาบ ละเอียด ประณีต นั่นน่ะ ท่านว่ามันดับไปหมด ...ท่านถึงว่าธรรมทั้งหลายทั้งปวงไง

อย่าไปคิดว่าภาวนาดี ภาวนาได้ผลอย่างงั้น ได้ผลอย่างงี้ แล้วมันจะรักษาตัวรอดได้นะ ...พอถึงวาระคับขันจริงๆ น่ะ เอาไม่อยู่ ให้นิ่งก็ไม่นิ่ง ให้สงบมันก็ไม่สงบ เอาดิ

ยึดถือเอาความสงบเป็นสรณะ ยึดถือเอาคำบริกรรมเป็นสรณะ ไม่มีทางอยู่หรอก ...เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของเกิดดับ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของที่ควบคุมไม่ได้ ...นอกเหนือยกเว้นใจ

ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นเอก ใจเป็นหนึ่ง ใจไม่เป็นสอง ใจไม่มาก ใจไม่น้อย ใจไม่เกิน ใจไม่ขาด ใจไม่สามารถแบ่งแยกได้ มันมีใจอยู่ตลอดเวลา...ที่ไม่เสื่อม

ไอ้ที่ดูเหมือนเสื่อมหายไปน่ะ มันไม่หายไปไหนหรอก มันถูกครอบ...ครอบงำ ครอบคลุมด้วยโมหะ ด้วยความไม่รู้ ...มันเลยดูเหมือนหายไป เดี๋ยวก็หายไปแล้ว เดี๋ยวก็หายไปอีกแล้วๆ

ใจมันไม่หายไปไหนหรอก ถ้าหายก็ตายแล้ว เดินไม่ได้แล้ว พูดไม่ได้ คิดไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้แล้ว ...เพราะนั้นไอ้ที่มันนั่งนอนยืนเดินได้นี่เพราะมันมีใจอยู่ภายใน เป็นใหญ่เป็นประธานอยู่

แต่อยู่กับมันแบบมืดๆ บอดๆ ไม่รู้ไม่เห็นว่าใจนี้เป็นผู้สั่งการเป็นนายใหญ่อยู่นี่ อยู่ที่บ้านนี่ บ้านคือกายนี่ ถ้าไม่นั้นน่ะเดินไม่ได้แล้ว ตายหมดน่ะ


(ต่อแทร็ก 5/31)