วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/5 (1)





พระอาจารย์

5/5 (540707)

(ช่วง 1)

7 กรกฎาคม 2554




(หมายเหตุ : เนื่องจากแทร็กนี้เป็นแทร็กเดี่ยว แต่มีความยาวมาก
จึงขอนำมาแบ่งลงเป็น 2 ช่วง คือ ในบทความนี้เป็น...แทร็ก 5/5 (ช่วง 1) 
ส่วน...แทร็ก 5/5 (ช่วง 2) ...จะโพสต์ลงในบทความต่อไป)


พระอาจารย์ – นี่ไม่เคยมา ...ป่วย?


โยม – ป่วย ค่ะ 

พระอาจารย์ – อือม์..


โยม – มันเป็น...นี่ค่ะ ..อย่างนี้ค่ะ

พระอาจารย์ –  เป็นก้อนน้ำในสมองรึ    


โยม – ไม่ถึงกับ..ไม่ใช่ว่าเป็นตรงนั้นน่ะค่ะ เขาก็มาจากอันเดิมน่ะค่ะ ... แต่เวลาพูด ที่จะพูดว่าอะไรนี่ มันจะ ..    

พระอาจารย์ –  นึกไม่ออก


โยม – ค่ะ บางทีก็จะพูดไม่ค่อยถูกเท่าไหร่   

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องพูด    


โยม –  ควรทำอะไรให้...ตัวเองให้ดีๆ หน่อยอย่างนี้ค่ะ อะไรดีคะ  

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องทำอะไร 


โยม –  เพราะบางทีนี่ เราก็ไม่รู้ว่าเราจะต้องทำอะไรอย่างนี้ฮ่ะ   

พระอาจารย์ –  ก็ไม่ต้องทำอะไร ...ก็ไม่ได้ให้ทำอะไร   


โยม –  ยังไงคะ

พระอาจารย์ –  อยู่เฉยๆ ... อยู่เฉยๆ แล้วก็ดูมันไป ...มันมีให้ดูอยู่แล้ว มันไม่ได้ไปทำอะไร  


โยม –  ค่ะ  ทำอะไรไปตอนนี้ อย่างนี้ใช่ไหมคะ

พระอาจารย์ –  ทำอะไรก็รู้ ...ไม่ต้องไปรู้เรื่องอื่นหรอก รู้เรื่องกายนี่แหละ รู้ตัว ดูความรู้สึกตัว  ดูความรู้สึกทางกาย ...ไม่มีอะไรดู ก็ดูลมหายใจ ดูลมหายใจไม่ออกก็ดูท้องกระเพื่อม ไม่ต้องไปทำอะไร


โยม –  แล้วเรื่องที่เราแบบ ...เราควรที่จะกินอันนั้นอะไรดีไม่ดี เกี่ยวไหมคะ   

พระอาจารย์ – ไม่เกี่ยวอ่ะ กินเข้าไป   


โยม –  อยากกินก็ตามสบายเลยเหรอคะ  

พระอาจารย์ –  อย่าไปกังวล อย่าไปเครียด อย่าไปคิดอะไร...แล้วก็ดูอาการกินไป  อยากกินอะไรก็กินไป  ดูปากเคี้ยว มือขยับ ลิ้นกระดกกลืน ดูไป ช้าๆ ไป ...ยิ่งตอนนี้เรายิ่งช้าอยู่แล้ว ยิ่งดูง่าย ค่อยๆ ดูไป 

ตามดูอาการทางกายไป ให้ทันมัน...ให้ทัน  เวลาไหวก็ให้ทัน เวลาจะยกมือ ขยับ ให้ทัน ให้รู้ทันกัน มือขยับก็รู้ตรงมือขยับ กายอยู่ไหนก็ให้รู้อยู่ตรงที่กายนั่ง อยู่ตรงนี้ ดู ตรงไหนที่มันเด่นชัดที่สุดก็รู้สึกไปตรงนั้น  ที่ก้นที่ขามันรู้สึกชัดก็รู้ที่นั้น  ที่คอที่ไหล่ มันตึง มันเหยียด...รู้ตรงนั้น 

เผลอไปรู้ใหม่ ...ไม่ทำอะไร ทำอย่างเดียวคือว่า เผลอไปรู้ใหม่ กลับมารู้ที่กายใหม่ กลับมาดูความรู้สึกใหม่ ...ทำอยู่แค่นี้ ไม่ต้องสนใจเรื่องอื่น ให้สติมาตั้งอยู่ที่กาย แล้วให้มันทันกับกายปัจจุบัน ...อย่าให้ลืม อย่าให้ลืมกาย 

ทั้งวันมันลืมกาย ไม่รู้ว่ามีกายอยู่ ใช่มั้ย...(ค่ะ)  มันไปไหนก็ไม่รู้ ใช่มั้ย...(ค่ะ) 

นั่นแหละอย่าทำ อย่าทำอาการนั้น ...ให้มาทำอาการใหม่คือให้รู้ตัว ให้รู้ว่ามีตัวอยู่  และตัวนี้กำลังทำอะไร นั่งเฉยๆ ก็รู้ว่านั่งเฉยๆ ...ไม่ต้องพูด ไม่ต้องไปบอกอะไร ดูไป ดูเงียบๆ ดูเงียบๆ อย่าไปปาก(พูด)


โยม – บางทีลืมน่ะฮ่ะ    

พระอาจารย์ –  ลืม ...ลืมก็ลืม ช่างหัวมัน  มันจะเป็นยังไงก็ช่าง ลืมก็รู้ว่าลืม...จบ  

จบแค่นั้นแหละ ...ไม่เอาถูกเอาผิด ไม่เอามรรคผลนิพพานกับลืมหรือไม่ลืม  ถึงลืมก็ไม่ได้มรรคผลนิพพาน  ถึงไปทำให้หายลืมก็ไม่ได้มรรคผลนิพพาน ไม่สนใจ ...สนใจอย่างเดียวคือรู้ตัว รู้ตัวลงไปในปัจจุบัน ...ทำอันเดียวนี่แหละ 

อย่างอื่นทิ้งให้หมด ...จะได้ยังไงข้างหน้า จะเกิดความเห็นอะไรข้างหน้า จะเกิดความรู้เข้าใจข้างหน้ามั้ย ...ไม่สน  จะได้ธัมม้งธรรมะข้างหน้ามั้ย...ไม่สน  ภาวนาแล้วจะได้อะไร...ไม่สน  รู้ตัวอย่างเดียว 

เพราะเดี๋ยวมันก็จะคิดขึ้นมาอยู่เรื่อย ...อยากได้นั่น อยากเป็นนี่ อยากให้มันหาย อยากให้มันดีขึ้น เดี๋ยวจะทำอะไรกับมันดี ... อย่าไปฟังมัน รู้ตัวอย่างเดียว รู้ตัวเงียบๆ ...ไม่เอาอะไรหรอก 

รู้ลงไปที่กาย ...เมื่อรู้กายดีแล้ว ชัดเจนดีแล้ว มันรู้ชัดลงที่กายแล้ว ไม่ค่อยไปไหนแล้ว  ซึ่งมันต้องฝึกก่อนนะ ฝึกให้กลับมารู้บ่อยๆ ก่อน  จนมันรู้ชัดในกายนี้แล้ว ดีแล้ว ไม่ค่อยหนีไปไหน  มันก็กลับมาตั้งมั่นอยู่ที่กาย ไม่ค่อยไปไม่ค่อยมากับความคิดความปรุง 

แล้วจากนั้นค่อยๆ สังเกต ...เมื่อมารู้ชัดอยู่ที่กายแล้วให้สังเกตลงไปในอาการที่เป็นกายนั้นๆ ... มันเป็น “เรา” มั้ย เป็น “ของเรา” มั้ย  ถามมันดู ถามเบาๆ แค่ถาม ตั้งคำถามนิดนึง...เป็นของเรามั้ย ...มันก็จะเงียบ มันเงียบใช่มั้ย ก้อนนี้ มันเงียบมั้ย ไอ้ก้อนที่มันนั่งอยู่ตรงนี้ มันเงียบใช่มั้ย


โยม – เงียบค่ะ    

พระอาจารย์ –  เห็นมั้ย มันไม่ตอบว่ามันเป็นอะไร

ถ้าเรารู้ชัดกับกาย...แล้วให้แยบคายลงไป ว่ามันเป็นของเรามั้ย มันเคยแสดงอาการไหนบ่งบอกว่าเป็นเรา ของเรามั้ย ...ไม่ใช่แค่คิดนะ ต้องดูลงไป 

แต่ว่ามันจะต้องรู้ชัดอยู่ที่กาย...คือให้ตั้งมั่นอยู่ที่นี่ก่อน แล้วก็แยบคายลงไปตรงอาการที่เรียกว่า...กาย อาการที่เรียกว่า “แขน” อาการที่เรียกว่า “ขา” อาการที่เรียกว่า “ตัว” อาการที่เรียกว่า “หน้า”  อาการที่เรียกว่า “หัว” 

แล้วก็แยบคายว่ามันเป็น “เรา” มั้ย หรือว่าเป็นแค่ก้อนหนึ่ง ...มันเหมือนเป็นวัตถุอันหนึ่งแค่นั้นเอง หรือว่ามันเป็นเรา ... นี่ ดู นี่เขาเรียกว่าแยบคาย ในกาย 

ดูเฉยๆ ...มันจะเห็นจริง เห็นไม่จริง ช่างมัน  แยบคายลงไปเรื่อยๆ  เพื่อให้มันเกิดปัญญา เพื่อให้มันเห็นกายตามความเป็นจริง ...แต่ถ้าเผลอไปอีก ไปคิดไปปรุงเรื่องนั้นเรื่องนี้ที่ออกนอกเหนือกาย กลับมาอีก กลับมาตั้งสติกับกายมากๆ 

รู้เฉยๆ กับกาย ดูไป เหมือนเราดูของ ของอันหนึ่ง ดู ...เห็นของที่วางอยู่บนโต๊ะมั้ย เนี่ยเราดูกาย ดูก้อนนี่ก็เหมือนเราดูของนั่น และก็ดูว่า...เอ๊ะ มันเป็นของใคร ของมันเคยบอกมั้ยว่าเป็นของใคร 

เหมือนกัน สติที่กลับมาดูกายนี่ ดูเหมือนเรานั่งดูของที่วางอยู่ตรงนี้ นี่ของใคร ... ดูไปดูมามันก็เงียบๆ ไม่เห็นมีอะไร ...มันก็จะเข้าใจตามความเป็นจริงมากขึ้นๆ เรื่อย ...ก็จะรู้ความเป็นจริงของกาย 

จริงๆ กายเขาแสดงความเป็นจริงอยู่ตลอดเวลา ...มันไม่เคยบอกเลยว่าเป็นกาย ไม่เคยบอกเลยว่าเป็นของใคร ไม่เคยบอกว่ามันดี มันร้าย มันถูก มันผิด  มันก็เป็นแค่อาการนึงที่มันแปรเปลี่ยนของมันเอง ไม่ได้ขึ้นด้วยอำนาจบังคับของใคร 

ดูไป ทำความรู้ที่กาย ...อย่างอื่นไม่ต้องสน สภาวะนั้นสภาวะนี้ จะให้เห็นเป็นอย่างนั้น จะให้เข้าใจอันนี้ จะให้ละ จะให้วาง จะให้หมดกิเลสอันนั้นอันนี้ ไม่ต้องคิด ไม่สนใจ ดูกายอย่างเดียว ... ดูไป เดี๋ยวเข้าใจหมดเอง 

ถ้าเข้าใจว่ากายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว ทุกอย่างเข้าใจหมด ...แล้วจะเข้าใจที่มาที่ไปของกิเลส จะเข้าใจว่าที่เกิดที่ดับอยู่ตรงไหน มันจะเข้าใจในที่อันนี้...ระหว่างกายกับใจตรงนี้ 

ไม่ต้องไปทำ ไม่ต้องไปค้น ไม่ต้องไปสร้างความรู้ ไม่ต้องไปควานหาความรู้ ไม่ต้องไปทำขึ้นมา ... ดูเนี่ยๆ เท่าที่มันปรากฏตรงนี้ ดูกายเท่าที่มันปรากฏ ...อย่าลืม 

ข้อสำคัญคือมันขี้ลืม ...ไม่ใช่ลืมของที่วางไว้  แต่ลืมดู ลืมเห็นกาย มันลืม ...ไอ้ลืมนี่เขาเรียกว่าหลง  เมื่อลืมแล้วก็รู้ใหม่ เรียกสติขึ้นมา นั่นเรียกว่าการเจริญสติ

เพราะนั้นว่าการเจริญสติในกายนี่ มันสามารถเจริญได้ตลอดเวลา ไม่มีท่าทาง ไม่มีว่ากริยาไหน เวลาไหน  เพราะกายมีตลอด ใช่ป่าว  กายไม่เคยหนีไปไหนเลยใช่มั้ย  อยู่กับเรามาตั้งแต่เกิด ...มีแต่สติน่ะมันหนี มันไม่เกิด ...ไม่เกิดมันก็ไม่เห็นกายตามความเป็นจริงสักที 

ไม่เห็นกายตามความเป็นจริงคือ... เอาแค่ง่ายๆ ไม่เห็นกายในปัจจุบันสักที ... เพราะงั้นกายตามความเป็นจริงคือกายที่จับต้องได้นี่ ไม่ใช่กายในความคิด ... กายในความคิดคือว่า 'ข้างหน้าเราจะดีขึ้นมั้ย' เนี่ย ไม่ต้องสนใจกายอันนั้น (ค่ะ) 

ไม่ต้องสนใจกายที่มันปรุงขึ้นมาในความคิด  เอากายอันนี้ เอากายปัจจุบัน นี่เรียกว่ากายปัจจุบัน  แล้วก็ดูปัจจุบัน...ตรงๆ ไม่ต้องว่าอะไรกับมัน ... ก็จะเห็นว่าไอ้กาย...ไอ้ก้อนนี้ มันเป็นแค่ก้อน เป็นแค่มวล เป็นแค่เหมือนก้อนหินก้อนดิน 

เคยมองเห็นก้อนหินที่วางอยู่มั้ย มันไม่ต่างกันหรอก ...ดูดีๆ ดูเฉยๆ  จนมันเกิดความเชื่อ เกิดความเห็นของมันเองขึ้นมาว่า 'เอ๊อ กายนี่มันเป็นแค่ก้อนนึง ไม่ได้เป็นของใคร'  มันตั้งอยู่บนความแปรปรวน มันตั้งอยู่บนความไม่เที่ยง มันไม่คงที่เลยนะ กายนี่  ตั้งแต่เกิดมานี่กายไม่คงที่เลยนะ ...ลองนั่งเฉยๆ ไม่ขยับ มันเปลี่ยนมั้ย เห็นความเปลี่ยนมั้ย


โยม –  ยังไม่เห็นค่ะ  

พระอาจารย์ –  เอ้า ลมหายใจมีมั้ย ตอนนี้มีลมมั้ย เห็นมั้ย มีลมหายใจเข้าออกมั้ย   


โยม – มีค่ะ   

พระอาจารย์ –  เออ เห็นมั้ยเล่ามันเที่ยงมั้ย แม้แต่นั่งอยู่เฉยๆ นี่ ลมหายใจมันก็ยังเข้า-ออก มันไม่เคยหยุดเลยใช่มั้ย ...หมายความว่าไงล่ะ หมายความว่ากายนี่มันแปรอยู่ตลอด มันเปลี่ยนอยู่ตลอด ... ถ้าไม่เปลี่ยนนี่มันตายแน่ เห็นมั้ย ดูดีๆ

เพราะนั้นกายนี่ไม่เคยหยุดเลยนะ มันเกิดดับสลับกันตลอดเวลา  ลมหายใจเข้าเกิด...ลมหายใจออกดับ ลมหายใจออกเกิด...ลมหายใจเข้าดับ  ... เห็นมั้ย มันทดแทนกันน่ะ 

ตอนที่กายที่เป็นลมหายใจเข้านี่กายอันหนึ่ง พอลมหายใจออกปุ๊บ ก็เป็นกายอีกตัวหนึ่ง ไม่ใช่ตัวเก่าแล้วใช่มั้ย  ตัวที่ลมหายใจเข้านั่นดับไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นตัวที่ลมหายใจออก เห็นป่าว ...เห็นการเกิดดับมั้ย  

เพราะงั้นกายนี่มันไม่เคยถาวรเลย อย่าไปคิดว่ามันถาวร หรือว่าตัวเราเป็นก้อนที่มันไม่แปรปรวนไม่เปลี่ยนแปลง ดู เห็นความไม่ถาวรของกายโดยปริยาย ดูไปเรื่อยๆ... เนี่ย เรียกว่าเห็นไตรลักษณ์  มันจะได้เข้าไปล้างความเห็นว่ากายนี้เป็นเรา ...มีชื่อด้วย หือ มันมีชื่อมั้ย


โยม –    ยังไงคะ 

พระอาจารย์ –     กายนี้มีชื่อมั้ย


โยม –   หมายถึงของ... 

พระอาจารย์ –    ตรงนี้ ถามมันดูซิว่ามันชื่ออะไร  ...ถามตัวมันซิว่ามันชื่ออะไร จับดู


โยม –   ของ เอ.. ของตัวเอ.. คือเอ.. ใช่มั้ยคะ

พระอาจารย์ –     ไอ้นี่คิดเอง ... ตัวมันเคยบอกมั้ยว่ามันชื่อเอ.. มันเคยบอกมั้ยกายน่ะ  ไอ้ก้อนนี้มันเคยบอกมั้ยว่ามันชื่อเอ.. ก้อนนี้มันเคยบอกมั้ยมันชื่ออะไร


โยม –  ก็จะมีตัวเอง 

พระอาจารย์ –  มันไม่มีชื่อ  


โยม –  อ๋อ

พระอาจารย์ –   มันไม่มีนะ..มันมีชื่อติดอยู่มั้ยนี่   


โยม – นี่แบบนี้ฮ่ะ ตอนเช้ามารู้สึกนี่นะฮะ ก็จะ เอ..ทำนั่น เอ..ทำนี่ ... เกี่ยวมั้ยฮะ   

พระอาจารย์ – ไม่เกี่ยว ไอ้นั่นมันนึกเอา จำเอา 


โยม –  ค่ะ   

พระอาจารย์ –   นั่งเงียบๆ  ดูซินี่ มันบอกมั้ยมันชื่ออะไร  เอ..น่ะไม่มีหรอก เอ..น่ะมันเป็นแค่สมมุติ แต่ตัวนี้มันไม่ได้ชื่อ เอ.. ใช่มั้ย ตามความเป็นจริง


โยม – ไม่มีฮ่ะ     

พระอาจารย์ –  เออ มันไม่มีใช่มั้ย (ค่ะ) ... ดูเงียบๆ แล้วจะรู้ว่ามันไม่เป็นเรา มันไม่ได้บอกว่าเป็นเรา ...มันก็เรียกกันไปเป็นชื่อ...สมมุติเอา สมมุติว่า 

แต่ถ้าเราไม่เข้าใจ เราไม่เท่าทัน เราก็จะเชื่อเลยว่ามันชื่อเอ..  พอเรียก เอ..ปุ๊บ หัน ...ถ้าด่าว่า เอ..ไม่ดี  โกรธ ...กายนี่มันโกรธมั้ย ตัวนี้มันโกรธมั้ย...ไม่เคยนะ (ค่ะ) ... มันเป็นที่ความเชื่อ เห็นมั้ย 

แต่พวกนี้มันเป็นเรื่องรายละเอียดนะ รายละเอียดที่เราจะต้องรู้เท่าทันต่อไป ...ตอนนี้ยังไม่ต้องสนใจมาก เอาแค่รู้ทัน แล้วก็ไม่คิดต่อ


โยม –  ถ้ามันหลับล่ะคะ  

พระอาจารย์ –  หลับก็หลับไป (ค่ะ) ...ตื่นขึ้นก็รู้ใหม่  สำคัญอย่าไปหลับตอนตื่น รู้จักมั้ย 


โยม –  หลับตอนตื่น... คือยังไงฮะ

พระอาจารย์ –  อ้าว ก็คือหลงอ่ะดิ  ก็คือลืมว่ากำลังเดินอยู่ ลืมว่ากำลังนั่ง ...นี่เรียกว่าหลับตอนตื่น เขาเรียกว่าหลับกลางอากาศ ฝันไปน่ะ  เพราะนั้นตลอดทั้งวันนี่มันอยู่กับความฝัน ใช่ป่าว ไม่รู้ตัวเลย...อย่างนี้ อย่าทำ


โยม –   นี่คือตอนหลับไปแล้วงั้นหรือฮะ 

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยว หลับคือกายหลับ มันก็นอนหลับเราก็หลับ  แต่ตอนนี้อย่าหลับ ให้รู้ตัวไว้ ...ให้รู้ว่ามีกายนี้ มันกำลังนั่งฟังอยู่ รู้มั้ย ตอนนี้รู้มั้ย ตอนนี้รู้อยู่มั้ย


โยม – คิดว่า..

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องคิด รู้ลงไป ...  รู้ก็รู้ อย่าไปคิดว่า


โยม –  ค่ะ...ค่ะ

พระอาจารย์ – รู้ลงไป รู้ที่ก้น   


โยม –  ก้น..ก้น ค่ะ

พระอาจารย์ – รู้สึกมั้ย รู้สึกหนักๆ มั้ย  แข็งๆ มั้ย รู้สึกแข็งๆ มั้ย  เนี่ย รู้ลงไป รู้สึกลงไป        


โยม –   ค่ะ      

พระอาจารย์ –  อือ อย่างนี้ เป็นกายแล้ว รู้ที่กายแล้ว ...อย่าลืม เวลาขยับ เวลาไหว เวลาเดินก็ให้เห็นอาการของกาย รู้สึกที่อาการที่ขามันกำลังก้าว ให้ทันให้เห็นที่ความรู้สึกกำลังสาวเท้า  มือจะจับจะหยิบอะไร จะคว้าอะไรจะกำอะไร ...ดูความรู้สึกให้ทันกัน ให้มันพอดีกัน ตอนยกมือก็ให้เห็นการไหว หรือดูที่ความรู้สึกของมือเวลาเคลื่อนไหว

ทำอยู่แค่นี้แหละ ...อย่าไปนั่งคิดนั่งฝันอะไร อย่าไปหาอะไรในอดีต อย่าไปหาอะไรในอนาคต  เอาสติผูกไว้กับกายที่เป็นกายปัจจุบัน เอาจนมันไม่หนีออกนอกกายนี้ คือมันไม่ลืมกาย เอาจนไม่ลืมกาย 

หมายความว่าตั้งแต่เช้าลืมตาขึ้น...ก็เห็นกายตลอดเวลา เห็นกายตัวเองกำลังทำนั่นทำนี่ เห็นกายตัวเองกำลังนั่งเฉยๆ เห็นกายตัวเองกำลังเดิน กำลังขยับ กำลังแปรงฟัน กำลังเข้าห้องน้ำ ให้เห็นอาการ อากัปกิริยาของมัน 

เหมือนเรานั่งดูหนังน่ะ เคยดูหนังละครมั้ย เคยดูโทรทัศน์มั้ย ...เหมือนเรานั่งดูหนังแล้วก็สมมุติว่าในหนังนั่นน่ะมีตัวเรากำลังแสดงอยู่อย่างนั้นน่ะ ...ดูมันทั้งวันอย่างนั้น ระหว่างวันก็เหมือนกับแสดงละครในฉากนึง แล้วก็ดูตัวมัน มันทำอะไรบ้าง ...ถ้าเผลอถ้าเพลินถ้าหลงไปก็ถามตัวเองว่าทำอะไรอยู่ ..ทำอะไรอยู่


โยม –   ถ้าเป็นอย่างงี้ค่ะ  แป๊บนึง  ก็จะ ..ก็จะ มืด มืด เรียกว่ามืดน่ะค่ะ ก็จะเป็นอย่างนี้สักแป๊บนึง เนี้ยค่ะ เกี่ยวมั้ยคะ        

พระอาจารย์ –   เรื่องของมัน ไม่ต้องไปสงสัย ไม่ต้องไปคิดต่อ ไม่ต้องไปหาเหตุหาผล ...มันเกิดแล้วมันก็ดับไป...จบ   ให้มันจบตรงนั้น พอดี  ...ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปควาน ...เกิดใหม่รู้ใหม่ ไม่เกิดก็รู้ว่ากำลังอยู่อย่างนี้ ไม่มีอะไรก็อยู่อย่างนี้ 

มันเจ็บตรงไหน มันปวดตรงไหน มันวิปริตขึ้นตรงไหนก็แค่รู้มัน ดูมันเฉยๆ เฉยๆ ...ดูเฉยๆ รู้เฉยๆ มันจะมากมันจะน้อยก็ช่างมัน  ไม่ต้องไปผูกกับมัน ไม่ต้องไปคิด ไม่ต้องไปจับมาคิด ไม่ต้องไปเก็บมาคิด ...และเมื่อมันคิดหรือมันไปหาเรื่องคิดต่อก็ให้ทัน และบอกมันว่าอย่าไปคิดต่อ 

พอกลับมาทำอะไรก็ดูกาย ดูอาการทางกายที่มันปรากฏในปัจจุบันต่อไป มันดับไปแล้วก็ดับไป เกิดใหม่รู้ใหม่ แค่นั้นแหละ ไม่เอาถูกเอาผิดอะไรกับมัน ...เพราะมันไม่เคยบอกว่ามันถูก มันไม่เคยบอกว่ามันผิด มันจะถูกหรือมันจะผิดก็ต่อเมื่อเราเข้าไปให้ความเห็นกับมัน 

ก็ไม่ต้องไปให้ความเห็นกับมัน ...โง่เข้าไว้ รู้โง่ๆ  เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้...จบ  เกิดใหม่รู้อีก ตั้งขึ้นมาก็รู้ว่าตั้งอยู่ มากขึ้นก็รู้ว่ามากขึ้น น้อยก็รู้ว่าน้อย หายไปก็รู้ว่าหายไป ...ให้มันเป็นปัจจุบันอย่างนี้ ไม่ล้ำหน้า 

ไม่ออฟไซด์ ไม่ล้ำหน้า ว่า '... เอ๊ะ เมื่อไหร่จะหาย ...เอ๊ะ มาอีกแล้ว' นี่อดีต นี่มันล้ำหน้าล้ำหลังอยู่อย่างนี้ ...ทุกข์มั้ย กังวลใช่มั้ย ให้ทัน (ค่ะ) ... เอาให้ทัน แกล้งโง่กับมัน 

แล้วก็กลับมารู้โง่ๆ กับเดี๋ยวนี้...กับก้อนทั้งก้อนโดยรวมที่มันตั้งอยู่  ก้อนธาตุ กองธาตุ กองกระดูก  มันตั้งอยู่ได้อย่างนี้มันมีโครงกระดูกอยู่ข้างใน ...ให้เห็นอาการตั้งอยู่ของโครงร่าง

เพราะนั้นว่ากายมันก็อย่างนี้ วิปริตแปรปรวนอยู่ตลอด ถึงแม้ว่าอาการนั้นหายไปแล้ว กายก็ยังแปรปรวนอยู่ตลอดด้วยลมหายใจเข้าออก หรืออิริยาบถใหญ่  เดี๋ยวก็ขยับ เดี๋ยวก็เคลื่อน เดี๋ยวก็ไหว เดี๋ยวก็เปลี่ยน 

ทำไมมันต้องมีการขยับ ทำไมต้องมีการเคลื่อนไหว ทำไมต้องมีลมหายใจเข้าออก ...เพราะกายนี้เป็นทุกข์ เพราะกายนี้มันเป็นทุกข์บีบคั้น  ถ้ามันไม่มีการแปรปรวนเมื่อไหร่ ทุกข์เนี่ยจะทนไม่ได้เลย  มันจะแตก มันจะดับ กายจึงต้องมีการแปรปรวนอยู่ตลอด ...เพื่อรักษาสภาวะธาตุนี้ไว้ 

ลองทุกอย่างหยุดหมดสิ กายก้อนนี้แตกทันที ตาย เห็นมั้ย คนตายมันจะหยุดหมด ระบบในรูปขันธ์ในกายทั้งหมดจะหยุดนิ่ง...ตาย  เพราะนั้นระหว่างที่คนเรายังมีชีวิตลมหายใจเข้าออกนี่หมายความว่ามันต้องตั้งอยู่ด้วยความแปรปรวน ไม่มีเวลาไหนเลยที่มันหยุดหรือว่าเที่ยง 

ส่วนที่มันจะแปรปรวน วิปริต หรือผิดปกติของมันที่เราจับได้ชัดเจนว่ามันร้าย มันไม่ดีน่ะ อันนั้นก็เป็นส่วนที่เกินความคาดหมายได้ ... เพราะงั้นกายนี่หาความแน่นอนอะไรกับมันไม่ได้หรอก  อย่าไปวางใจ อย่าไปเชื่อมัน ทำใจให้มันเป็นกลาง ยอมรับมันให้ได้ว่า...เราอยู่กับความไม่แน่นอนในกายก้อนนี้ 

ไม่ใช่ของเราคนเดียวนะ ของทุกคนเลยนะ ... อยู่ดีๆ มันชักดิ้นชักงอเอาเดี๋ยวนี้ก็ได้ ทำไม มันหาความแน่นอนไม่ได้หรอก  ไม่ใช่ว่าพูดๆ ยังงี้แล้วจะไม่ตาย  พูดๆ ยังงี้ อาจจะอยู่ดีๆ หัวใจวาย ชักเลย ไปเสียก่อนงี้ก็ได้ ใครจะไปรู้ล่ะ เห็นมั้ย เราอยู่กับความไม่แน่นอนของกายอยู่แล้ว 

แต่คราวนี้ที่ว่ากับบางคนที่มันมีวิบากของมันส่งผลมา มันก็ให้เห็นว่าผิดปกติจากคนอื่นไป หรือในภาษาสมมุติก็ว่าแย่กว่าคนอื่น ... จริงๆ มันแย่ทุกคนน่ะ แต่มันยังไม่ถึงเวลาเขา ...มันไม่มีใครไม่ตายหรอก ไม่มี ในโลกนี้ยังหาไม่เห็นเลยใครเกิดมาแล้วไม่ตาย ใครเกิดมาแล้วไม่เจ็บ ใครเกิดมาแล้วไม่แก่ 

มันช้าหรือเร็วกว่ากันแค่นั้นเอง บางคนก็เร็วหน่อย บางคนก็ช้าหน่อย หนังเหี่ยวหนังยานแล้ว ...คือกรรมมันยังหล่อเลี้ยงอยู่ บุญน่ะ  เมื่อไหร่ที่ถึงวาระมันก็... สุดท้ายก็กฎเดียวกัน คือ ตาย 

ไม่ต้องไปเสียอกเสียใจ น้อยอกน้อยใจกับใคร เหมือนกันหมดน่ะ แม้แต่พระอรหันต์ยังตายเลย ยังแก่เลย ไม่มีพระอรหันต์องค์ไหนถาวรหรอก ... ขันธ์นี้มันเป็นขันธ์ที่เอามายืมใช้ชั่วคราว ก้อนนี้ ขอยืมเขามา ยืมโลกเขามาใช้ เอาดิน เอาน้ำ เอาไฟ เอาลม เอาอากาศ เอาความว่าง มาปั้นรวมกัน...แค่ซักไม่เกิน ๘๐ ปี ยืมเขามา ทำสัญญาเช่าโลกเขา เดี๋ยวก็คืนเขาไป  

แต่การที่ว่าเรายืมเขามาแล้ว เราโง่ไหมล่ะ เราใช้มันเป็นมั้ยล่ะ เราหาความรู้จากมันได้มั้ยล่ะ เราหาปัญญาออกจากมันได้มั้ย หรือจะโง่ซ้ำซากแล้วก็ไปเป็นหนี้โลกเขาต่อ เขาให้ยืมก็มาบอกว่านี่ของกู ...เขาให้ยืมแท้ๆ ไม่ได้บอกเลยว่าให้นะ เป็นของเรานะ 

นี่โง่ มาเอาของที่ยืมมาไม่ใช่ของเราว่าเป็นของเรา ทั้งโลกน่ะมันโง่ ...มีพระพุทธเจ้าองค์เดียวฉลาด เป็นฉลาดคนแรก พระพุทธเจ้าท่านฉลาด ท่านมีปัญญา  ท่านมาเอะใจว่า อึย ไม่ใช่ของเราน่ะ นี่ด้วยปัญญาญาณ  นั่งอยู่ใต้ไม้โพธิ์ดูไปดูมา ฮึ้ย ก้อนอะไรของใครเนี่ย ...ไม่ใช่ฟลุ๊ค ไม่ใช่บังเอิญ แต่ท่านสอดส่องดู ตามความเป็นจริง 

เหมือนอย่างที่เราให้นั่งดู ..ให้กลับมาดูกายนี่  มันจะได้เหมือนกับพระพุทธเจ้านั่งอยู่ใต้ต้นไม้โพธิ์ ท่านก็นั่งดูกายของท่าน ว่าไอ้ที่นั่งอยู่นี่มันอะไรเนี่ย มันชื่อสิทธัตถะหรือ มันเป็นหญิงมันเป็นชายรึเปล่า ท่านก็นั่งดู สอดส่องดูจนเข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วมันก็ยอมรับ อ๋อ ไม่ใช่เรา แล้วมันเป็นของใครล่ะ ...เป็นของโลก 

เห็นมั้ย คนตายแล้วน่ะ ไปไหนล่ะ ไอ้ก้อนนี้  ไม่ฝังก็เผา ฝังแล้วไปไหน ฝังแล้วอยู่ในดิน เผาก็กลายเป็นธุลีไป แล้วก็กระจัดกระจายอยู่ในอากาศธาตุ ...ก็อยู่ในดิน อยู่ในโลก มาเกิดใหม่ก็ เกิดในท้องพ่อท้องแม่ พ่อแม่ก็กินข้าวกินน้ำ ข้าวน้ำก็มาจากดินจากโลก แล้วก็มาสังเคราะห์ออกมาเป็นสารอาหารอย่างนั้นอย่างนี้ มาผสมกันใหม่ ออกมาเป็นทารก เห็นมั้ย เอามาให้ใช้ชั่วคราว 

ดูไปดูมานี่ เดี๋ยวมันก็เข้าใจเองแหละ ...มันจะได้หายการหวงแหน หวงมั้ย หวงกายมั้ย ไม่ยอมให้มันเจ็บใช่มั้ย ไปเข้าใจว่ามันเป็นของเราไง มันถึงได้หวง ...ขี้โกง เห็นความขี้โกงมั้ย เห็นจิตมันขี้โกงมั้ย ขี้โกงคือไปยักยอกของเขาน่ะ ไปยักยอกของโลกเขามาเป็นของเรา 

แล้วยังมาหวงแหนอีก อาลัย เสียดาย ไม่ยอมรับ เมื่อเขามาทวงสัญญา โลกเขาทวง..จะหมดสัญญาแล้วนะ  เตือนนะ เขาเตือนนะ เขายื่นโนติสให้ ยังไม่เชื่ออีก ยังจะยื้อยุดฉุดกระชากกันต่ออีก จะเอามาเป็นของกูให้ได้ ...หาเรื่องทุกข์นะ 

บุคคลผู้มีปัญญาผู้ฉลาดท่านไม่ทำ ท่านยอมรับ ด้วยความเข้าใจ ...ไม่เข้าใจก็ต้องเข้าใจ นี่ ไม่เข้าใจก็ต้องทำให้เข้าใจ ด้วยศีลสมาธิปัญญา  ด้วยการที่มาสติระลึกรู้เท่าทัน ไม่ต้องคิดมากกับมัน 

เนี่ย เบื้องต้น ต้องฝึก ไม่ฝึกมันไม่เข้าใจ ถ้าไม่ฝึกให้มีสติระลึกรู้อยู่กับกายปัจจุบันนี้ จะไม่เข้าใจอะไรเลย มันต้องเริ่มต้นอย่างนี้ก่อน  ไม่ใช่นั่งปุ๊บจะเอานิพพานเลย จะเอาละกิเลสเลย ... ละอะไรล่ะ ละตรงไหนอ่ะ ละยังไงอ่ะ ฮึ ละไม่ได้หรอกถ้ายังไม่เข้าใจอะไรเลยน่ะ 

จะเอาแต่ดีๆ ไม่ดีไม่เอาน่ะ  ทั้งๆ ที่ว่านั่งนอนอยู่กับของไม่ดีเลยอ่ะ ยังไม่รู้ เอาของไม่ดีมาทำให้เป็นของดีได้ยังไง หือ เอาขี้เป็นมรรคผลนิพพานได้ยังไง มันนั่งอยู่กับของไม่ดี ใช้อยู่กับของไม่ดี ...ต้องเข้าใจก่อนว่าของนี้มันดีมั้ย มันเป็นของเรามั้ย เนี่ย ให้เข้าใจ เนี่ย มรรคผลก็อยู่ตรงนี้ อยู่ที่ความเข้าใจ 

ปัญญาแปลว่าเห็นตามความเป็นจริงแล้วยอมรับตามความเป็นจริงนั้นๆ ... ไม่ใช่พอเริ่มปฏิบัติปุ๊บ ฟังปุ๊บ มีความยินดีพอใจแล้วจะได้ปฏิบัติธรรมแล้วจะได้ธรรม ...อยู่ตรงไหนล่ะหือ ธรรมที่เราอยากได้ แล้วก็ไม่ได้ตามความอยากสักที ...ก็เลยท้อ ก็เลยลังเลสงสัย ไม่รู้จะทำไงดีให้มันได้มา หาวิธีตั้งเยอะแยะทำตั้งหลายแบบเพื่อให้มันได้มา ก็ไม่เห็นได้สักที

มันไม่ได้อะไรหรอก เพราะการปฏิบัติธรรมนี่ ไม่ได้อะไร ...แต่ปฏิบัติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ ว่าไอ้ที่เรา นั่ง กิน ยืน นอน เดิน อยู่กับมันนี่คืออะไร มันคือเอ.. หรือมันคือดินน้ำไฟลมในโลกนี้เท่านั้น 

แล้วก็เข้าใจว่าอันไหนคือความเข้าใจถูก และอันไหนคือความเข้าใจผิด ใช่มั้ย  ตอนแรกก็นึกว่านี่เอ..นี่ถูก  เราบอกว่าผิดเต็มประตู ... ผิดยังไง ...เพราะมันผิดจากความเป็นจริง หรือสัจธรรม หรือสัจจะ หรือว่าธรรมที่เป็นสัจจะ 

กายนี้คือธรรม แต่เราไม่เห็นสัจจะในธรรมนี้ ...แล้วไปเห็นตรงไหนล่ะ  เราไปเห็นกายอันนี้โดยสมมุติ แค่นั้นน่ะ หัวปักหัวปำอยู่แค่นั้นแหละ ว่านี่คือเอ.. ว่าเป็นหญิง ว่าเป็นชาย ว่ามันป่วย ว่ามันเจ็บ นี่ว่าเอา แล้วเชื่อๆๆ เชื่อหมด แล้วว่าจริงด้วยนะ ว่าเป็นจริงด้วย 

แต่พระพุทธเจ้าบอกไม่จริง อันนี้ยังไม่จริง มันจริงแค่สมมุติเท่านั้น ...แต่ยังมีความเป็นจริงที่เหนือกว่าความเป็นจริงนี้อีกที่เรามองไม่เห็น ที่ใจดวงนี้มันยังมองไม่เห็นความเป็นจริงที่เหนือความเป็นจริงในสมมุติหรือว่าความเป็นจริงตามสมมุติ

เพราะนั้นวิธีจะเข้าไปเห็นความเป็นจริงที่นอกจากสมมุติหรือในสมมุตินั้นๆ คืออะไร  พระพุทธเจ้าวางรากฐานให้เป็นแนวทางว่า มีอยู่สามสิกขา  สิกขาคือแนวทาง คือการปฏิบัติหรือสิกขา  ท่านเรียกว่าไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญา ...สามตัวนี้เท่านั้น จึงจะเข้าไปแจ้งแทงตลอดในธรรมนั้นๆ ข้ามทะลุบัญญัติและสมมุติไป มันจะไปเปิดเผยความเป็นสัจจะในธรรมที่ปรากฏนั้นๆ 

แต่ถ้าไม่มีไตรสิกขาหรือศีล สมาธิ ปัญญา ...เอาแค่ความคิดความจำอยู่แค่นี้หรืออ่านหรือเข้าใจหรือพิจารณาเอา ไม่เห็น ได้แต่คาดๆ เดาๆ เอา เดี๋ยวก็ลืม ....เพราะความเห็นดั้งเดิมมันฝังรากลึก ความเชื่อที่เคยเชื่อมาแต่เก่าก่อน มันทับถมอยู่ภายใน มันไม่ยอม มันไม่ยอมเชื่อว่ากายนี้เป็นดินน้ำไฟลม กายนี้เป็นของโลก 

อย่างเราบอกพูดให้ฟังนี่ก็ฟังอยู่ ได้ยินอยู่ เข้าใจอยู่นะ ...แต่มันไม่เชื่อ มันไม่ยอม  เพราะอะไร เพราะความเห็นอย่างเนี้ย ว่าข้าพเจ้าคือ เอ.. ข้าพเจ้าคือผู้หญิง มันฝังความเชื่อนี้ลึกๆๆๆ จนไปถึงก้นบึ้งของใจ ...ท่านเรียกว่าอาสวะ หมักหมม 

เพราะนั้นการที่จะเข้าไปถอนความเห็นที่ว่าเราชื่อ เอ.. เราเป็นหญิง เราเป็นชายนี่  แค่คิด แค่จำ แค่ฟังนี่ มันผิวเผินมาก ไม่มีทางที่จะแก้ความเห็นผิดว่านี่ไม่ใช่เอ.. ได้ ...เดี๋ยวมันก็ยึดขึ้นมาอีก  ฟังตอนนี้ก็หายไปนิดนึง เดี๋ยวพอลุกออกไปนี่ เอ..กำลังขึ้นรถเลย เอ...ที่กังวลกับความทุกข์ กังวลกับกายข้างหน้าข้างหลังเลย 

เห็นมั้ย มันจะไปผูกกับความเห็นดั้งเดิม ความเชื่อดั้งเดิม ...ท่านเรียกว่าอาสวะหรืออนุสัย หรือว่าสังโยชน์ อะไรก็ได้ท่านเรียกเป็นภาษาสมมุติขึ้นมา เครื่องร้อยรัด ความไม่รู้จริง เรียกได้หมด  อวิชชาซ้ำไปเลย ความโง่ ความยึดมั่นถือมั่น ...จะพูดกี่ภาษาก็ได้คือลักษณะเดียวกันหมดว่า ไม่รู้จริง ไม่เห็นความเป็นจริง ในธรรมนั้นๆ 

ไม่เห็นความเป็นจริงในกายนี้ ว่าหาความเป็น เอ.. ไม่เจอเลย นอกจากไม่มีเอ..ในนี้แล้ว มันยังไม่มีเราในนี้อีก นอกจากไม่มีเอ.. ไม่มีเราในนี้แล้ว มันยังไม่มีชื่อในนี้อีก นอกจากไม่มีชื่อในนี้แล้ว มันยังไม่มีความหมายในนี้อีก เห็นมั้ย ...โดยสัจจะ มันยังมีอีกหลายสัจจะ ที่จะต้องดูเข้าไปจนถึงที่สุดของสัจธรรมที่เรียกว่ากายนี้ นี่เฉพาะกาย

ดู หยั่งลงไปโง่ๆ ... มันโง่เราก็โง่ รู้โง่ๆ ไม่ต้องคิด ไม่ต้องเติมชื่อ ไม่ต้องไปเติมคำในช่องว่าง ไม่ต้องไปหาว่ามันคืออะไร เพื่อให้เกิดความรู้อันใหม่ขึ้นมา มันจะยิ่งโง่ซ้อนโง่ โง่ซับโง่ซ้อน มันโง่อยู่แล้วก็ยังไปให้มันโง่ในอีกแง่นึงอีก ทั้งที่ว่ากายเขาแสดงความไม่มีไม่เป็นอยู่แล้ว ...เห็นมั้ย มันเงียบใช่มั้ย


โยม – ค่ะ

พระอาจารย์ – อือ ....ไม่ได้บอกความหมาย ไม่ได้มีความหมายใดๆ เลย ดูเฉยๆ เงียบๆ นี่ก็จะเห็นแล้ว ความเป็นจริงชัดเจนเลยในขณะนั้น.....เข้าใจมั้ย


โยม –   ยัง..ยังเป็น เอ.. แล้วยัง..      

พระอาจารย์ –  มันฝังอยู่ข้างใน     


โยม – ค่ะ  เพราะมันเหมือนกับว่าจะ...คือจะเหมือนกับว่า จะพูดกับตัวเองว่าจะทำเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรอย่างนี้นะคะ จะทำอะไรก็จะเป็น เอม.. มาก่อน อะไรอย่างนี้ฮ่ะ ซึ่งมันก็ไม่ควรที่จะมาตรงนั้น ใช่มั้ยฮะ           

พระอาจารย์ –    คือให้เห็น  ให้เห็นเฉยๆ ให้เห็นว่ามันมีความรู้สึกอย่างนั้น คือดูความจริงไป...ที่มันปรากฏ  ตั้งแต่หยาบ ลงไปจนถึงละเอียด ...คือหมายความว่าเดี๋ยวนี้มันปรากฏยังไงขึ้น ก็แค่รู้ ดูมันไป มันปรากฏออกมาว่า อ๋อ เอ..คิดอย่างนั้น เอ..จะทำอย่างนั้น 

ก็ช่างมัน  ถือว่ามันปรากฏอย่างนั้น ยังเป็นปรากฏความเชื่อแบบหยาบๆ ...เดี๋ยวมันจะเห็นเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ในความละเอียดของมัน  ความรู้สึกใหม่ๆ ความเห็นใหม่ๆ มันก็จะลบไอ้ความเห็นหยาบๆ ลงไปเรื่อยๆ  มันเปลี่ยน  ดูมันไป 


แต่จริงๆ ไม่ต้องไปใส่ใจในส่วนนี้มากจนเกินไป ให้ใส่ใจกับกาย อย่าไปวิตกกังวลกับอาการในใจแล้วหาทางแก้ หาทางกันมัน ช่างมัน เหมือนไม่สนใจมันเลย  มันจะมีความรู้สึกยังไง มันจะมีชื่อเสียงเรียงนามอะไรปรากฏในความคิดความจำ ช่างมัน ไม่สนใจ 

ให้มาสนใจกับกายก่อน ว่าเอ.. ตัวนอกนี่กำลังทำอะไร  ดูมัน ดูกองนี้ ก้อนนี้ ดู object นี้ที่มันตั้งอยู่นี่ ที่มันไหวๆ เคลื่อนๆ เลื่อนๆ ลอยๆ อยู่นี้ มันทำอะไรอยู่ ...ดูเงียบๆ  ส่วนในใจมันจะมีอารมณ์มีความคิดอย่างนั้นความเห็นอย่างนี้ ช่างหัวมัน เหมือนกับพักยกกับมันก่อน ไม่สนใจ เหมือนขอเวลานอกหน่อย   

เราจะทำหน้าที่การงาน คือมารู้เรื่องของกาย ... ให้มันตั้งลงอย่างนี้ ให้มันตั้งใจรู้อยู่ในที่อันเดียวคือกาย  ส่วนในใจมันจะกระวนกระวาย ทะเยอทะยาน กระสับกระส่าย ปรุงนั่นปรุงนี่ อย่าไปสนใจมัน อย่าไปแก้อย่าไปกัน อย่าไปหาเหตุหาผลกับมันด้วย


ต่อที่ แทร็ก 5/5 (2)