วันอาทิตย์ที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/14


พระอาจารย์
5/14 (540804C)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 สิงหาคม 2554


พระอาจารย์ –  ยังภาวนาอยู่ไหม

โยม –  ช่วงหลังๆ นี่หนูทำงาน  แต่ว่าในหนึ่งวัน หนูต้องทำน่ะค่ะ พอนึกขึ้นได้ก็จะทำ  แล้วก็ช่วงประมาณเดือนนึงให้หลังนี่ มันเริ่มแบบ...จากที่เคยเห็นเป็นกระดูก เป็นชิ้นเป็นอัน  มันเริ่มหัก เริ่มร้าวขึ้นทุกวันๆ บางทีก็เห็นแขนในกระดูกเป็นแบบรอยแตก บางทีก็เริ่มดำเหลือง 

แล้วก็ถ้าเกิดอย่างนั่งว่างๆ ไม่ได้ทำอะไร หนูก็จะหลับตา แล้วไม่รู้...คิดว่ามันคงจะเป็นการภาวนาของหนูเหมือนกัน  แต่พอหลับตาไปแล้วรู้สึกว่ามันเป็นก้อนอะไรไม่รู้ อยู่ตรงนี้ ตรงแถวหน้าผากแถวอะไร แต่ก็รู้สึกตัวว่า เออ หัวใจเต้น รู้สึก แต่ก็ไม่รู้ว่ามันคืออะไร 

ก็คิด...บางทีก็คิดหาคำตอบ แล้วก็ เออะ อย่าไปคิดมันเลย ก็ทำไป  ก็เห็นอยู่อย่างนั้นตลอด ... ก็ยังไม่รู้มันเป็นอะไร ไม่รู้ว่าถูก มาทางถูกรึเปล่า


พระอาจารย์ –  ถูก มันเป็นอย่างนั้นแหละ ...ก็ดูไป ดูอาการที่ทำมันแสดงให้เห็น

โยม –  แต่ก็พยายาม  บางทีลืม...ก็พยายามเรียกตัวเองกลับมา

พระอาจารย์ –  กลับมา ให้มันระลึก คืนมาที่กาย

โยม –  ถ้ามันไม่วุ่นวายจริงๆ ก็ทำตลอดค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ อย่าลืม


โยม –  นึกขึ้นได้ ล้างจานนึกขึ้นได้ก็ทำ ก็ไปดูแขนตัวเอง ฮู้ ทำไมแขนหัก ก็ดู ...แต่ว่าไม่เห็นของคนอื่นว่าเป็นยังไง อย่างนี้น่ะค่ะ

พระอาจารย์ –  ดีแล้ว ให้เห็นตัวเองมากๆ


โยม –  ตอนแรกๆ เห็นไปหมดเลย เห็นอะไรใครเดินมาก็เห็นไปหมด หมาแมวก็เป็นกระดูกกระเดี้ยวเลย  แต่หลังๆ มานี่ไม่เห็นแล้ว ... ตอนหลังมานี่หนูไม่ค่อยได้แบบทำจริงจังมากเท่าไหร่ เมื่อก่อนนี้จะนั่งเป็นชั่วโมงๆ เป็นวัน เป็นทั้งวัน แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อย

พระอาจารย์ –  อือ ให้ทำในอิริยาบถมากๆ อิริยาบถปกติ มากๆ


โยม –  ค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ก็เริ่มที่จะกลับมา นึกขึ้นได้ก็กลับมาดู

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นว่าเวลากลับมาดูง่ายๆ ...ก็ดูความแข็งๆ น่ะ แล้วมันก็จะไล่ไปถึงกระดูกได้เลย  ความรู้สึกที่แข็งตรงไหนน่ะ...กระดูก  ที่เราเห็นกันอยู่นี่ กระดูกมันยัน ...ถ้าไม่มีกระดูกนะ มันเป็นเหมือนเนื้อบนเขียง


โยม –  บางทีนั่งอยู่ เอ้ย เห็นเป็นคอหลุดออกมา หัว...เส้นคอตรงนี้ค่ะ มันยังตั้งอยู่ แต่ว่ากะโหลกมันงึกลงมา

พระอาจารย์ –  ห้อย...อือ


โยม –  ก็ตกใจว่า...เอ๊ะ เป็นอะไร ... แล้วก็ช่วงหลังๆ นี่ ที่ว่ามีก้อนๆ อะไรมันอยู่ตรงนี้ ... หนูก็ไม่เข้าใจ ว่ามันคืออะไร

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องไปรู้มัน


โยม –  มันหน่วงๆ ลักษณะมันเป็นก้อนๆ ... รู้ตรงนี้ แล้วก็มารู้ตรงนี้ด้วย  มันตุ้บๆ ยังไงบอกไม่ถูก

พระอาจารย์ –  แค่รู้ไป ดูไป ว่ามีอาการอย่างนี้  ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ มันแสดงอาการธรรมใดให้เห็น ก็แสดงไป ดูมันไป ...เดี๋ยวมันก็ทำ เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเรื่อย

นี่สายพันธุ์กระดูก เรียกว่าพวกสายพันธุ์กระดูก (โยมหัวเราะ) ...วันนั้นก็มีมา อันนั้นเป็นอาจารย์ มช. เหมือนกัน ตอนนี้ไปเรียนต่อ นั่นก็สายพันธุ์กระดูกเหมือนกัน 

นั่งตรงไหนก็เป็นกระดูกหมด กระดูกไม่กระดูกเปล่า นั่งไปนั่งมาเดี๋ยวว่า มีอะไรไม่รู้มาขยุ้มเอาหนังออก แล้วก็ร้อยดึงเอ็นออกทีละเส้น ออกไปใส่โหลรวมกัน กระดูกก็กระจายหมดน่ะ... ไอ้นี่ก็พวกสายพันธุ์กระดูก (หัวเราะ)


โยม –  บางทีก็ เออ ทำไมอันนี้ยังมีเนื้ออยู่ แต่ท่อนนี้หายไปแล้ว เอ้าไปไหน ก็คิด ...พอคิดว่ามันไปไหน ก็เออ อย่าไปคิดเลย กลับมาดูเหมือนเดิมดีกว่า

พระอาจารย์ –  นั่นแหละ


โยม –  ความรู้สึกตอนนี้ แบบความรู้สึกตามอะไรมันไม่ค่อยจะมี  บางทีเขาเล่าเรื่องตลกมา...ไม่ตลก ไม่รู้สึก ไม่อยากหัวเราะไม่อยากอะไร เฉยๆ ไปแล้ว

พระอาจารย์ –  ดู ธรรมกระดูกไป เพราะว่าธรรมกระดูกจะแสดงความเป็นไตรลักษณ์ให้เห็นไปเรื่อยๆ ... เพราะนั้นความเป็นที่สุดของไตรลักษณ์คือความเป็นอนัตตา 

เพราะนั้นในธรรมกระดูกของอนัตตาคือความดับ เห็นความแตก ความดับ ความหารูปทรงรูปร่างตัวตนที่แท้จริงของมันไม่มี ในความเป็นกระดูก ...ธรรมก็แสดงไปเรื่อยๆ ในความเป็นไตรลักษณ์ 

ไม่ต้องไปดีใจเสียใจ ...มันแสดง มันปรากฏยังไง รู้สึกยังไง มันจะหาย มันจะขาดกัน หรือมันจะแตก หรือมันจะป่น หรือมันจะรวมขึ้นมาใหม่ หรือว่ามันจะเป็นแก้วเป็นเพชรอะไรขึ้นมา 

มันก็แสดงความเป็นไตรลักษณ์ทั้งสิ้นให้เราเห็น...ในความเป็นกระดูกนั้น ...แต่ในขณะเดียวกัน เราก็เกิดความเข้าใจลึกๆ ว่าตัวเราไม่ได้สวยไม่ได้งาม ไม่ได้วิเศษเลิศเลอเกินกว่ากระดูกก้อนหนึ่งกองหนึ่งเท่านั้นเอง  

ทำไมถึงมาถือตัวถือตนนักหนา ทำไมถึงมารักษาหวงแหนก้อนกองกระดูกบ่ดายอันนี้ ก้อนกองแข็งๆ นี่ มาทะเลาะเบาะแว้งกันเพื่อเรื่องของกระดูกสามร้อยท่อนแค่นี้เอง มาเดือดเนื้อร้อนใจกันในแค่กระดูกเคลื่อนไปเคลื่อนมาแค่นี้เหรอ

มันก็จะเห็นว่ามนุษย์นี่มันเดือดร้อนกับไอ้กระดูกเคลื่อนไปเคลื่อนมาแค่เนี้ย ... พอกระดูกมันไม่เคลื่อนก็กลายเป็นเนื้อกองนึง เหมือนเนื้อบนเขียงหมู เป็นตับ เป็นไต เป็นหัวใจ ม้าม ลำไส้ ปอด ไม่สามารถจะเอามาหลอกกันได้

เพราะนั้นก็แค่กระดูกมันยันกันอยู่นี่ แล้วก็กระดูกเดินไปเดินมานี่...ก็หลอกคนได้ทั้งโลกแล้ว คนมันก็มาหลงกระดูก หลงเนื้อที่หุ้มกระดูก หลงหนังที่ห่อหุ้มเนื้อหุ้มกระดูกไปมาอยู่ในโลก ...มาตายกันอยู่กับแค่กระดูกสามร้อยท่อนนี่

สุดท้ายก็ป่นปี้หมดไม่เห็นเหลืออะไร ...ที่จริงกระดูกมันก็เป็นอย่างนั้นน่ะ เหมือนกันหมด ไม่เห็นต่างกันเลย ... จะไปโกรธกระดูกทำไม จะไปรักกระดูกทำไม ใช่มั้ย  

จะไปรักโลภโกรธหลงกับกระดูกทำไม ...มันก็แค่กระดูกก้อนหนึ่งกองหนึ่งทั้งนั้นแหละ ไม่ได้มหัศจรรย์ ดีร้ายถูกผิดอะไร ..นี่ใจมันเห็น ใจมันก็จะค่อยๆ วาง เป็นกลาง เป็นเฉยๆ เป็นธรรมดาไป  

ในขณะเดียวกัน กระดูกเขาก็แสดงความเป็นไตรลักษณ์ ความไม่มีตัวไม่มีตนในตัวของมันเอง เพื่อให้เกิดปัญญาในการเข้าไปเห็น ไปแจ้ง ในธรรมตามความเป็นจริงขั้นต่อๆ ไป

ใจนี้ก็เป็นอิสระ ราบเรียบมากขึ้น ...นี่ อาศัยการกำหนดงานนี้เป็นงานหลัก  งานอื่นก็ทำไป แต่ให้ถือเป็นงานรองไม่ได้เป็นงานหลัก ...เอางานหลักเป็นอารมณ์เครื่องอยู่ เป็นเครื่องระลึกรู้ไว้คือศีลสมาธิปัญญา

สุดท้ายก็พาข้ามภพข้ามชาติ ข้ามการเกิดการตาย ...ไม่มาเวียนตายเวียนเกิด ไม่มาร้องไห้ดีใจเสียใจกับอะไรในโลก ไม่มาดีใจเสียใจร้องไห้กับก้อนกระดูกของเราเอง ไม่มาร้องไห้ดีใจเสียใจกับกองกระดูกของคนอื่น

ทุกวันนี้มีแต่คนร้องไห้กับกองกระดูกเยอะแยะไปหมด น้ำหูน้ำตาไหลตามงามศพ ... มาไหลมาออกเมื่อกระดูกมันเดินไม่ได้ มันหมดอายุของกระดูก แล้วจำเป็นจะต้องเอากระดูกนี้ไปเผา ...นี่ ความหลง หลงกระดูกของคน 

หลงกระดูกคนไม่พอยังมาหลงกระดูกหมา กระดูกหมู กระดูกควาย กระดูกไก่ ... กินกันไป แทะกันมา  กลายเป็นผีตายซาก เป็นผีดิบอยู่อย่างนี้ ผีดิบใหญ่กินผีดิบน้อย กินจนเหลือแต่กระดูก ...ก็เอากระดูกไปกินกระดูก

หลวงปู่ถึงพูดถึงกระดูกสามร้อยท่อนไง บอกเห็นกระดูกแล้วมันหมดอาลัยตายอยากในการเกิดการตายซะ ... มันเห็นกระดูก มันจะหัวเราะทำไม จะร้องไห้อะไร

กระดูกก็ไม่เห็นมีน้ำตา มีแต่เบ้าตาโบ๋ๆ  ควักออกมาแล้วก็เอากะโหลกเอาลูกตาออก เอาสมองออกแล้วก็เหลือแต่ช่องกลวงๆ แค่นั้นเอง เนี่ย น้ำหูน้ำตามันจะไหลออกมาได้ยังไง กระดูกร้องไห้ไม่เป็น เสียใจไม่เป็น

กระดูกสามร้อยท่อน ...เดินไปเดินมาก็ให้เห็นกระดูกเดินก๊อกแก๊กๆ  แขนก็ห้อยไว้ มีเอ็นรั้งไว้ แกว่งไปไกวมา ก๊อกแก๊กๆ เกิดๆ ดับๆ ของมันอยู่อย่างนั้นน่ะ ... หาสาระหาประโยชน์ได้อะไรในกระดูก 

สุดท้ายก็แตกหักหมด เปราะ ผุพังไป หมดไป ดับไป ...เหลือแต่ใจดวงเดียว เหลือแต่ใจผู้รู้ เหลือแต่ใจที่สุกสว่างบริสุทธิ์ผุดผ่องอยู่ภายใน  ไม่ไปไม่มา ...ไม่ไปหากระดูกใหม่มาเพิ่มเติม  

ไม่ไปใคร่ ไม่ไปมัวเมาลุ่มหลง ไปสร้างกระดูกใหม่ ... มีแต่ใจที่มันรู้มันเห็น มันเข้าใจตามความเป็นจริง ว่าทุกอย่างมันเป็นแค่อาการไตรลักษณ์ เกิดๆ ดับๆ ชั่วคราวเท่านั้นเอง 

ก็ฝึกไป ภาวนาไป ...(ถามโยมอีกคนที่เป็นแม่) แล้วแม่เป็นไงบ้างตอนนี้


โยม –  ตอนนี้หรือคะ ไม่ค่อยได้ปฏิบัติเท่าไหร่ มันยุ่งๆ กับเรื่องปรับปรุงนั่นปรับปรุงนี่

พระอาจารย์ –  อย่าทิ้ง อย่าทิ้งสติ ...ทำงานก็ทำได้ พร้อมสติ  ไม่ใช่ว่าทำงานแล้วทิ้งสติได้ ...สติมันสามารถมาใช้ในงานได้ ยืนเดินนั่งนอน ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว

เพราะนั้นภาวนาไม่ได้อยู่แค่สงบ หรือว่าความคิดความปรุง ... กายก็มี รู้ได้ทำได้ ระลึกขึ้นมาได้  นั่งอยู่ตรงไหน ก็รู้ว่านั่งอยู่ตรงนั้น รู้อยู่ว่ามีกายอยู่ในโลกใบนี้ ไม่ลืมว่ามีกาย  

ให้มันรู้ตัวว่ามีกายอยู่ในโลกใบนี้ มีกายของเรายังอยู่ในโลกนี้อยู่ อย่าลืม ...ถ้าไม่มีสติมันจะลืมไปว่ามีกายอยู่ในโลกนี้ มันหายไปไหนก็ไม่รู้ ทั้งที่ว่ามันมีอยู่ มันอยู่กับใจรู้อยู่  

ระลึกกลับมา ให้อยู่กับกาย ไม่ลืมกาย ... แล้วก็ผูกไว้ เอากายเป็นหลัก เอากายเป็นชีวิต เอากายเป็นที่ตั้งของสติ สมาธิ  แล้วปัญญามันก็จะเริ่มเห็น เริ่มเข้าใจตามความเป็นจริงมากขึ้น 

ด้วยการแยบคายสังเกต ตรวจตราสอดส่อง ...แล้วมันก็กระจ่างแจ้งขึ้นไปในความหมายของไตรลักษณ์ ...ปัญญาทั้งหมดนี่ไม่ได้ไปรู้เห็นเรื่องอะไรหรอก นอกจากเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเรื่องของไตรลักษณ์  

ในความไม่เที่ยง...ความไม่เที่ยงก็คือย้ายไปย้ายมา ไม่เสถียร ไม่ถาวร ...ในความเป็นทุกข์ มันบีบคั้น ในความที่มันทนอยู่ในสภาพไม่ได้  ...ในความเป็นอนัตตา มันก็ดับไปในความเป็นตัวของมันเอง 

ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ไม่มีใครไปบังคับจัดการกับมันได้ ...แล้วก็ในตัวของมันเอง มันก็ไม่มีรูปลักษณ์ของตัวมันที่แท้จริง คือมีแต่ความว่างเปล่าในความเป็นอัตลักษณ์ของมันเอง

เนี่ย ปัญญา ให้เข้ามาเห็นไตรลักษณ์แล้วเรียกว่าปัญญา  แม้แต่เห็นการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เกิดๆ ดับๆ ขณะหนึ่งๆ ถือว่าเก็บเกี่ยวปัญญาขึ้นมาแล้ว

แต่ถ้าเมื่อใดที่ไป หายไป เผลอไป เพลินไป ...อาจจะได้งานภายนอก ได้เรื่องได้ราวภายนอก สุขบ้างทุกข์บ้างก็ตาม แต่มันเป็นของฉาบทาภายนอกเท่านั้น

แต่การที่มาเห็นอาการเกิดๆ ดับๆ ด้วยใจที่เข้าไปเห็นนั่นน่ะ  คือผลงานภายใน เป็นงานภายใน ... มันก็สะสมผลงานไว้ภายใน...ปัญญา  พอให้เอามาใช้จ่ายใช้ประโยชน์

ในเวลาถึงคราวคับขัน ถึงคราวที่มันจะต้องใช้...มันก็อาศัยปัญญาที่เราสะสมไปอยู่นี่มาใช้ไปได้


...............................





วันศุกร์ที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/13


พระอาจารย์
5/13 (540804B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
4 สิงหาคม 2554


(หมายเหตุ : ในแทร็กเป็นการสนทนากับพระภิกษุ จึงใช้แทนว่า “ผู้ถาม” ค่ะ)

พระอาจารย์ –  ที่วัดนั่นเขาเรียนกันมั้ย

ผู้ถาม –  เรียนครับ ก็เรียนนักธรรมชั้นตรี แล้วก็จะมีสอนเกี่ยวกับพวกการใช้พระไตรปิฎกอย่างนี้ครับ

พระอาจารย์ –  นวโกวาทต้องเรียนมั้ย

ผู้ถาม –  ครับ พระใหม่ต้องเรียนหมดครับ แล้วก็อยู่ที่โน่นผมได้สอนนักธรรมตรีสามเณรครับ ก็สอนทุกวันตอนเย็น ก็ได้ทบทวนด้วยครับ ทบทวนเรื่องพุทธประวัติ ก็เพิ่งผ่าน เรียนผ่านไปช่วงพุทธประวัติ จะจบอยู่แล้วครับ เหลืออีกสองวิชาครับ


พระอาจารย์ –  วิชาสุดท้ายก็ต้องสอน...การเกิดการตายของตัวเอง การเกิดการตายของอารมณ์ การเกิดการตายของปัจจุบันขณะ เป็นวิชาเอก...วิชาธรรม  

ถ้าไม่เรียนการเกิดการตาย...ด้วยใจที่เข้าไปรู้ไปเห็น มันก็จะติด...ติดนักธรรมตรีโทเอกอีก ...ก็ต้องมาเกิด มาติดอยู่กับโลก ติดคาอยู่อย่างนี้...เอาโลกเป็นที่พึ่ง ที่อาศัย ที่อยู่ ที่ยืน

ต้องให้ใจมันเข้ามาเห็น เข้ามาเรียนความเป็นของเกิดของตาย ของเกิดของดับ ของที่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ของที่ไม่เที่ยง ... ไม่ใช่แค่จำ หรือแค่คิดอ่าน  แต่ต้องให้ใจนี่มันเข้าไปเห็น...ตรง...ต่อหน้าต่อตาเลย  

อย่าไปอยู่กับแค่อาการใดอาการหนึ่ง หรือว่าสภาวะใดสภาวะหนึ่ง หรืออารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง...ที่ทำให้มันได้มา  ...หรือที่มันเกิดขึ้นเองก็ตาม 

เพราะบางอาการมันก็ขวนขวายให้ได้มา บางอาการไม่ได้ขวนขวายก็ได้มา ...เช่น กิเลสความโกรธ กิเลสความดีใจเสียใจ นี่ไม่ต้องขวนขวายให้ได้มา มันก็ยังได้มา 

แต่ถ้าเราไม่เห็นความไม่เที่ยงในอาการนั้น มันก็เกิดการเข้าไปยืนอยู่ในอาการ ไปถือเอาอาการนั้นเป็นของเราตัวเรา ...แล้วเมื่อใดเข้าไปถือน่ะ มันก็จะเกิดความทุรนทุราย กระวนกระวาย กระสับกระส่าย บีบคั้น 

เพราะมันมีตัวตนเข้าไปอยู่ในอารมณ์นั้น มี "เรา" เข้าไปอยู่  เข้าไปยืนอยู่ในของที่คิดว่าเที่ยง คิดว่ามันเป็นที่ให้ยืนให้อยู่ได้ จับต้องได้

มันก็เลยเกิดการเสวย กลืนกินเป็นเนื้อเดียวกันเป็นอันเดียวกัน ...เป็นเวทนา เป็นทุกขเวทนา เป็นสุขเวทนา หรือบางครั้งก็เป็นเฉยๆ เวทนา...เวลาไม่รู้เรื่อง เวลาหลงไม่รู้เนื้อรู้ตัว มันก็เป็นเฉยๆ เวทนาโดยไม่รู้ตัว

ตลอดทั้งวี่ทั้งวันน่ะ มันตายอยู่กับสามเวทนานี้แหละ  ไม่สุขก็ทุกข์ ไม่ทุกข์ก็เฉยๆ ...เฉยๆ นี่ก็คือเลื่อนลอย ไม่รู้เนื้อรู้ตัว ...ไม่ใช่แบบรู้เฉยๆ นะ

ไม่ได้เฉยแบบอุเบกขา หรือเฉยแบบสังขารุเบกขาญาณ ... แต่เพราะไม่รู้เนื้อรู้ตัว ไม่รู้ว่าอะไรเป็นไตรลักษณ์ ไม่รู้ว่าอะไรเกิดอยู่ ไม่รู้ว่าอะไรตั้ง ไม่รู้ว่าอะไรดับ ไม่รู้อะไรทั้งนั้น

เวลาภาวนา...ก็ยังมาหา มาถือ มาครอง สภาวธรรมนั้นสภาวธรรมนี้ ความรู้อันนั้น ความได้อันนี้ มาเป็นที่ถือครองเหมือนกัน ...ใจดวงนี้มันไม่อิ่ม มันกระหาย มันหิวโหย

แต่เมื่อใดที่ใจที่หิวโหยน่ะ...ถูกปลูกฝังหรือถูกสอนด้วยศีลสมาธิปัญญา ให้มันเห็นว่า...ไอ้ที่มันกินแล้วมันว่าได้อิ่มน่ะ หรือว่าได้รสชาติอันนั้นแล้วว่าเอร็ดอร่อยอิ่มขึ้นมา...ความจริงมันเป็นแค่ลม 

มันเป็นแค่ของว่าง ... เป็นของที่ว่างเปล่า ไม่มีตัวไม่มีตน จับต้องไม่ได้ 

ถ้าศีลสมาธิปัญญา...เข้าไปสอนให้ใจดวงนั้นเห็นอาการทั้งหลายทั้งปวง เป็นลักษณะแค่ของว่าง ของเปล่า ของที่เกิดขึ้น-ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วก็สูญไป สิ้นไป ดับไป  

ไอ้ใจที่มันหิวโหยด้วยความอยาก ความทะยานไปหาของกินหาของอยู่นี่ ...มันก็จะรู้สำนึก มีสำนึกในตัวของมันเอง ว่ากูจะไปกินทำไมของว่าง ว่างแล้วมันอิ่มยังไง ...มันมีแต่ของว่าง กินแล้วไม่ได้อะไร

นั่นแหละ การสอนจิตให้เห็นสภาวธรรมที่ล้อมรอบกายใจนี้...ว่าเป็นไตรลักษณ์  มันจึงจะเข้าไปหยุดหรือว่าคลายความหิวโหยคือตัณหา คลายรสชาติของการเข้าไปกลืนกิน คืออุปาทาน หรือเวทนาสุขทุกข์ มันก็คลี่คลายออกไปตามลำดับลำดา

แต่เมื่อใดที่เราไม่เข้าไปเห็นความเป็นไตรลักษณ์ในสภาวะขันธ์ ไม่เห็นไตรลักษณ์ในสภาวธรรม ทั้งหยาบ กลาง ละเอียด หรือประณีต ...มันก็อดไม่ได้ที่จะเอามาเป็นภักษาหารของใจ ด้วยความไม่รู้ ด้วยความหมายมั่น ด้วยความเข้าไปเสพเป็นเวทนาสุข อยู่เสมอ

แล้วก็ยิ่งกินยิ่งติด ยิ่งเสพก็ยิ่งติด  ยิ่งอยากมากขึ้น ...มันอร่อยช้อนนึง ก็จะเอาอร่อยจานนึง  มันอร่อยจานนึง ก็จะเอาอร่อยสองจานสามจาน  จนหาไม่มีประมาณ ...มันจะไม่จบไม่สิ้น

การภาวนาไม่ได้หยุดเพียงแค่การรู้ หยุดเห็นแค่ของเที่ยงหรือว่าสภาวธรรมที่เที่ยงเท่านั้น ... จะต้องให้มันมาเรียนรู้ ให้มาเห็นถึงสภาวธรรมที่ไม่เที่ยง ให้เห็นขันธ์ที่ไม่เที่ยง ขันธ์ที่แปรปรวนยักย้ายถ่ายเท ไหลไปไหลมา เกิดๆ ดับๆ อยู่เสมอ 

เมื่อมันเห็นธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นของเกิดๆ ดับๆ นี่ ...มันจะไม่เกิดอาการตามหลังมาคือความประมาทต่อเนื่อง

ถ้ามันไม่เห็นความเกิดๆ ดับๆ ย้ายไปย้ายมา หาความแน่นอน คงอยู่ไม่ได้นี่  มันจะเกิดความประมาทนอนเนื่องในสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง หรือความเป็นคน

โดยมนุษย์ทั่วไปก็ประมาทในความเป็นคน …ประมาทยังไง ...มันไม่คิดว่ามันจะตาย มันก็คิดว่ามันยังอยู่ได้อีกหลายปี ...อย่างนี้คือ ประมาท มัวเมา  

ถ้าเป็นนักภาวนาก็พอภาวนาได้อะไร สภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่งขึ้นมา เช่น สงบบ้าง นิ่งบ้าง ว่างๆ กลวงๆ บ้าง มันก็จะไปตายใจกับสภาวะนั้น ไปนอนจมแช่

ก็ไปประมาทนอนเนื่องในอารมณ์นั้นสภาวธรรมนั้น โดยไม่เห็นว่ามันเป็นไตรลักษณ์ยังไง ... มันเห็นเป็นของเที่ยง เป็นสรณะ เป็นของยึดของอยู่ของมัน เป็นของกินของใช้ของมัน

มันก็หยุดอยู่แค่นั้นน่ะ...ในสภาวะการเดินไปในองค์มรรคที่เป็นปัญญา ... เพราะมรรคน่ะคือทาง ทางนี่คือต้องเดิน เดินนี่คือต้องมีการเดินตลอดเวลา ...ไม่ใช่หยุดนะ  

แต่ว่าหยุดรู้น่ะหยุด ...แต่เดินคือเห็นๆๆๆ เห็นอาการต่างๆ นานา ที่ผ่านไปผ่านมาเกิดๆ ดับๆ ...นี่เรียกว่าเป็นการเดิน เดินในองค์มรรค ต้องมีการเดินในมรรค

ไม่ใช่ว่าพอได้ เห็นอะไร เกิดอะไรขึ้น ก็ไปหยุดอยู่กับตรงนั้น ... มันหยุดการเดินในมรรค นี่ เรียกว่า...ตายแล้ว ตายข้างทาง ตายระหว่างทาง 

ตกม้าตายบ้าง ตกถนนบ้าง ไปเข้าบ้านเข้าเรือน เข้ารกเข้าพงบ้าง ค้างอยู่ตรงไหนบ้าง สวรรค์วิมานบ้าง แล้วแต่ว่าสภาวธรรมนั้นมันไปสอดคล้องประสานกับภพใด...กามภพ รูปภพ อรูปภพ

ในรูปภพอย่างเดียวก็มี ๑๖ ชั้นฟ้า ๑๕ ชั้นดินแล้ว สิบหกพรหม หกเทวดา...ก็ไปได้  ถ้าสภาวธรรมนั้นเกิดไปสงเคราะห์ตรงกับธรรมของจาตุม ยามา ดาวดึงส์ ฯลฯ ได้ทั้งนั้น  หรือเข้าไปสู่พรหม อรูปพรหม ...ได้หมด

ก็ไปค้างเติ่งอยู่ตรงนั้น ไปติดอยู่ตรงนั้น ...ไปไม่รอด ไปตันอยู่ตรงนั้น ไปตันอยู่กับภพ ไปตายอยู่ในภพ ไปเกิดไปตายอยู่ในภพนั้น ที่เป็นสภาวธรรมหรือสภาพธรรมหนึ่ง ...มันไปไม่ทะลุ  มันไม่ทะลุตลอดรอดฝั่ง

แต่ว่าถ้าเรากลับมาตั้งมั่นที่ใจ...ที่ใจรู้  ไม่ได้ไปตั้งมั่นที่ธรรม หรือสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง แม้มันจะดูเหมือนเที่ยงแท้ถาวรแค่ไหน ดูเหมือนกับมันไม่เสื่อมไม่คลายขนาดไหน  

แต่ว่ามาตั้งอยู่ที่ใจหรือว่าที่รู้ ก็เรียกว่าเป็นสัมมาสติ สัมมาสมาธิ  ญาณทัสสนะก็อยู่ที่ใจรู้ แล้วก็มีการเห็นอาการธรรมที่อยู่ต่อหน้ามัน...ด้วยความอดทนอดกลั้น ขันติพละ  

มันก็จะเห็นความคลอน โยกๆ ง่อนแง่น  เริ่มๆ เสื่อมๆ เริ่มคลายในภพนั้น หรือสภาวธรรมนั้น อาจจะมีความมากขึ้นหรืออาจจะน้อยลง ...จนถึงที่สุดของธรรมนั้นก็จะแสดงความเป็นจริงให้ชัดเจนขึ้นมาว่าดับไป 

นี่แหละเห็นไตรลักษณ์สุด ที่สุดของไตรลักษณ์คือความดับไป … แต่คราวนี้ว่ามันเห็นครั้งเดียวนี่ มันยังไม่พอ ...มันไม่พอ 

มันไม่พอกับสันดานของความไม่รู้ภายใน ที่มันติดมานาน อยากได้มานาน หามานาน ...แล้วมันดันได้มา มันพอดีให้ได้มา พอดีให้เกิด มันก็เลยเกิดความเหนียวแน่นผูกติด

เพราะนั้นแค่เห็นความดับไปแค่ครั้งเดียวนี่...อู้ย เหมือนแค่เล็บตีนกู  นี่ ถ้ามันบอกได้นะ มันก็บอกอย่างนี้ ...กูไม่รู้เรื่องหรอก ไม่สนน่ะ มาใหม่กูก็ยึดใหม่ มีอะไรมั้ย

เพราะนั้น ต้องเห็นซ้ำซาก ...เพราะเราหมายมั่นมาซ้ำซาก ... มันไม่ได้หมายแค่ชาติเดียว มันไม่ได้หมายตั้งแต่เกิดมาเป็นเด็กชายเด็กหญิงในชาตินี้  

มันกี่กัปแล้ว กี่ล้านชาติ กี่อสงไขยกัป ที่เกิดมา ตายเกิดมาแล้วมาดหมายวาดหวังไว้ในสภาวธรรมใดสภาวธรรมหนึ่ง สภาวะเวทนาใด สภาวะความรู้สึกหนึ่งขึ้นมา

พอมันได้ปุ๊บนี่ ....เหมือนกับถูกลอตเตอรี่เลย  คือสมมุติว่า หวังว่าสภาวะนี้เป็นรางวัลที่หนึ่ง ทั้งซื้อทั้งแทงมาตลอดทุกชาติเลย  มันมาเช๊ะเอาชาตินี้...นี่ พอดีกูเลย 

มันก็ไม่ยอมละ ...มันก็ตั้งอกตั้งใจจะใช้ตรงนั้น  ไม่ยอมทิ้ง ไม่ยอมทิ้งอารมณ์นั้น ไม่ยอมทิ้งความรู้สึกนั้น ไม่ยอมทิ้งเวทนาในภพนั้นๆ ...มันติด

พอมันหมด พอมันสลาย หรือมันเสื่อม ...แล้วด้วยความที่ติด แล้วมันไม่ยอมรับในความเป็นจริงของไตรลักษณ์  นี่ มันเกิดความเสียดายแล้ว เกิดความเสียใจ  

แล้วก็เกิดความกระเหี้ยนกระหือรือขึ้นมาใหม่ ในการที่จะสร้างขึ้นมาอีก หาเงินมาซื้อลอตเตอรี่ใหม่ เริ่มหาเงิน เริ่มสะสม เริ่มประกอบกระทำทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม 

คือเหมือนกับสะสมเงินทองเพื่อจะให้ได้ลอตเตอรี่รางวัลเหมือนเดิม หรือถ้าได้ยิ่งกว่าเดิมยิ่งดี  ...คือแต่ก่อนเคยถูกใบเดียวครึ่งใบ ก็จะเอาใบหนึ่ง จากใบหนึ่งเดี๋ยวกูจะเอาคู่ นั่น เอาคู่แล้วก็เอาแจ็คพอต 

มันจะขยับไปเรื่อยๆ ในความอยาก ...แล้วไอ้ผลรางวัลมันก็จะมีเครื่องล่อใหม่ๆ มาเสมอ  ไอ้เคยล่อเท่านี้ มันไม่เอาแล้ว มันก็เอาของล่อใหม่มา...ที่ยิ่งกว่านั้นอีก  

ใจที่ไม่รู้ภายใน มันก็เหมือนกับเด็กโง่ เหมือนคนโง่ เหมือนคนไม่รู้ ไม่รู้เรื่องรู้ราว ...เห็นอะไรสว่างไสว เห็นแสงเห็นสี ฮู้ย มันตื่นเต้นจนเดินไม่เป็น ตื่นสีสัน ตื่นความศิวิไลซ์ ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน

เหมือนกัน ...รางวัลเหล่านี้มันก็เป็นเครื่องหลอกล่อใจที่ไม่รู้  มันจะมีของล่อเบื้องหน้าเข้าไปเรื่อยๆ แล้วเราก็หลงเข้าไปเรื่อยๆ จมลึกไปเรื่อยๆ หาทางกลับตัวกลับใจไม่ได้

โทษฐานที่ไม่อยู่ที่ใจ ...ผิดอยู่ที่เดียวคือ ไม่อยู่ที่ปัจจุบัน...ผิดที่ไม่อยู่ที่กายที่ใจปัจจุบัน ...พระพุทธเจ้าถึงย้ำนักย้ำหนา...ศีลสมาธิปัญญารักษาเทียบเท่าดวงตาดวงใจ...อย่าให้ขาด  

ไม่ใช่ไปทำสมาธิออกไปออกมา หาไปหามา ทำไปทำมาไหลไปลืมมา ... ท่านให้กลับมาตั้งมั่นอยู่กับกายใจปัจจุบัน ...กัมมัฏฐาน ๔๐ ห้อง สติปัฏฐาน ๔  ทั้งหมดนี่ เป็นอุบายธรรมให้กลับมาอยู่กับกายใจปัจจุบัน ไม่ออกนอกกายใจปัจจุบัน  

มันจะดึงมันจะรั้งเราออกไป...ไม่ไป ...ความเผลอเพลินนี่ก็เป็นแรงฉุดรั้งหนึ่งเหมือนกัน  ความเผลอเพลิน ความเลื่อนลอย มันก็เหมือนกับโซ่ที่ล่ามลากเราออกไปจากกายใจปัจจุบัน  

ตอนไหนใจลอย คิดอะไรเรื่อยเปื่อยเพลินไป...ไม่เป็นสุขไม่เป็นทุกข์น่ะ ก็เรียกว่าเลื่อนลอย ...พอให้กลับมารู้ตัว รู้ตัว...แล้วอยู่กับความรู้ตัว เห็นมั้ย มันขี้เกียจแล้ว  

มันบอกว่าให้เลื่อนลอยเหมือนเดิมสบายกว่า "ไม่รู้จะมารู้ทำไม มันเหนื่อย" ...มันรู้สึกมันเหนื่อย มันรู้สึกว่า “แหม มันมีอะไรที่ต้องรู้ต้องคอยดูอยู่ตลอด” อย่างนี้

ต้องรู้ต้องเห็นกาย ต้องเห็นไม่ลืมกาย นี่ มันต้องเห็นน่ะ มันต้องดูน่ะ ... เพื่ออะไร ดูเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ในกาย  ...มันเป็นมรรคน่ะ มรรคมันต้องเดิน...ต้องเดินปัญญาอย่างนี้ 

ถ้าไม่เดินปัญญามันก็ปล่อย ไปข้างนอก มันสบายดี ...มันสบายแบบน้ำผึ้งอาบยาพิษน่ะ สบายอย่างนี้มันไม่จบ เดี๋ยวก็เกิดใหม่ ตายแล้วก็เกิดใหม่ 

สำคัญว่าตายแล้วเกิดใหม่นี่มันจำไม่ได้ด้วยว่าเคยทำอะไรมา แล้วเพราะอะไรมันถึงมาเกิดใหม่ ...คือกลับมาโง่แล้วก็ซ้อนโง่ลงไปอีกน่ะ  

กว่าจะมาเริ่มกลับลำ...รู้ตัว กลับลำคือ...รู้ตัว  กว่าจะมาได้ยินได้ฟัง กว่าจะมาเริ่มกลับลำรู้ตัว กว่าจะมาตั้งอกตั้งใจรู้ตัวจริงๆ .. อ้าว ตายอีกแล้ว อย่างนี้

แล้วพอมาเริ่มใหม่นี่ไม่รู้เลยนะว่าตายเพราะอะไร ทำไมถึงมาเกิด ...มีใครรู้บ้างล่ะ กรรมไหนพามาเกิด ทำไมต้องมาเกิด นี่มันยังไม่รู้เลย

แต่ถ้าเรากลับมารู้...ด้วยศีลสมาธิปัญญา กลับมารู้กายรู้ใจ...รู้กายรู้ใจบ่อยๆ ... เดี๋ยวรู้เองน่ะ ทำไมต้องเกิด  แล้วรู้เองน่ะ ทำไมจะไม่เกิด  แล้วรู้เองว่าตรงไหนยังไม่เกิด แล้วรู้อีกจะเกิดมากเกิดน้อย และรู้อีกว่า...ไม่มีทางเกิดอีกแล้ว บอกให้เลย

แล้วมันรู้ที่ไหนล่ะ ...ไม่ได้รู้ที่สวรรค์หกชั้น พรหมสิบหกชั้น นรกอีกสามสิบขุมหกสิบขุม ... แต่มารู้อยู่ตรงนี้...กายใจ มีที่รู้อยู่ที่เดียว...กายใจ กายใจอันเดียว

อย่าขี้เกียจ อย่าขี้เกียจดูกายที่มันขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว อย่าขี้เกียจที่จะดูอาการที่มันเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา ...เปลี่ยนจากขามาแขน เปลี่ยนจากแขนมาขา เปลี่ยนจากเย็นไปอุ่น เปลี่ยนจากเบาไปหนัก 

จากหนักเป็นเมื่อย เปลี่ยนจากเมื่อยเป็นปวด เปลี่ยนจากปวดเป็นคลาย  เปลี่ยนจากคลายมาเป็นขยับ เปลี่ยนจากขยับมาเป็นนิ่ง เปลี่ยนจากนิ่งมาเป็นไหว อย่างนี้ ...ดูมันเข้าไป อย่าขี้เกียจดู

อย่าไปจมเพลินกับความคิดความปรุง เรื่องราวในอดีต-อนาคต ทรัพย์สินเงินทองข้าวของภายนอก ...  อันนั้นก็ทำไป ก็ใช้ไป ก็อยู่ไป ก็หาไป  ก็ใช้ชีวิตไป

แต่อย่าไปจมอยู่ด้วยความคิดกังวล จนไม่เป็นอันทำสติสมาธิปัญญาให้เกิดอยู่ภายในกายในจิต ...เพราะของภายนอกทำไปก็แค่นั้นน่ะ เดี๋ยวตายแล้วก็คืนเขาหมดแล้ว ฝากผีฝากไข้อะไรกับมันไม่ได้หรอก 

ข้าวของภายนอกมันไม่มีประโยชน์ที่จะใช้เป็นสมบัติติดตัวไปในภพข้างหน้าเลย ...แต่การที่เราฝึกสติสมาธิปัญญาในทุกอิริยาบถ ในทุกขณะ ... มันจึงจะเป็นสมบัติที่แท้จริง เป็นทรัพย์ที่จะติดตัวติดใจไป 

ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร ...แม้แต่เกิดเป็นสัตว์  เห็นมั้ย สัตว์บางตัวยังมีความสามารถพิเศษ สามารถรู้ได้ แสดงอากัปกริยาที่เป็นผู้มีบุญ ผู้มีธรรม

เคยอ่านข่าวรึเปล่า สิงโตมังสวิรัติ ...มันเป็นสิงโตมังสวิรัติ คือไม่ยอมกินเนื้อ กินแต่ผัก ไข่ยังไม่กินเลย นมก็ไม่กิน  อายุได้ไม่เท่าไหร่ ก็ตาย เพราะไม่กินเนื้อ 

แต่ยอมตายนะ ...แน่ะ เห็นมั้ย แสดงความวิสัยที่ผูกติดแต่ดั้งแต่เดิมมาโดยธรรม  แต่ด้วยวิบาก...ส่งผลให้ต้องไปเสวย ชดใช้กันไป

แต่ไอ้ความรู้ภายในนี่ มันปกปิดไม่ได้ โดยธรรม โดยปัญญา...ก็มี  ติดอยู่ในใจนั้น แสดงออกมา ไม่เหมือนกับสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงโดยทั่วไป ที่เกิด-ตายด้วยความไม่รู้

การภาวนาเป็นสิ่งสำคัญ ...อย่ามองว่าเป็นของไกลตัว อย่ามองว่ายังไม่ถึงเวลา  กาย-ใจมีอยู่ตลอด ไม่ต้องไปซื้อไปหา ดูตรงไหนก็เห็นตรงนั้นน่ะ  

ดูอาการที่วูบๆ วาบ เกิดขึ้นที่นึงแล้วก็ดับ แล้วก็เกิดที่นึงใหม่  ไหวที่นึงแล้วมารู้สึกอีกที่นึง เห็นมั้ย เห็นความไหวดับไปมั้ย แล้วมาเกิดความรู้สึกใหม่อีกที่นึง 

เห็นความเกิด-ดับที่นึงแล้วมาเกิดใหม่อีกที่นึง ที่นึงก็ดับไป ...เห็นมั้ยว่าเวลาดับไปมันไม่มีอะไร เป็นความรู้สึกดับไปที่ไม่มีอะไร เป็นธรรมชาติที่เกิด-ดับ แล้วก็หายไปในความเป็นของว่าง

มองซ้ำซากในกายอย่างนี้ ...ในการเคลื่อน การไหว การเปลี่ยนทางวิญญาณ การเปลี่ยนทางเวทนาของมัน ที่แล้วแต่ว่าสภาวธรรมใดจะมาปรุงแต่งมัน  

มันก็จะเห็นกายไม่เป็นชิ้นเป็นอันหรอก ไม่เห็นกายเป็นก้อนรวมๆ ว่าเป็นคนเป็นสัตว์ เป็นบุคคลเป็นชายเป็นหญิง เป็นสวยเป็นงามอะไร ...มันเห็นกายเป็นแค่สภาวธรรมหนึ่งที่เกิดๆ ดับๆ อยู่ตลอดเวลา

อย่าขี้เกียจดู ...ดูเข้าไป จนใจมันเปลี่ยนความเห็นไปเลย มันเปลี่ยนความเห็นว่า...กายเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ มันเปลี่ยนความเห็นว่ากายนี้เป็นเราเป็นเขา เปลี่ยนความเห็นว่ากายนี้เป็นชายเป็นหญิง  

มันเห็นกายเป็นแค่ธรรมชาติหนึ่งเกิดๆ ดับๆ เท่านั้นเอง เป็นธรรมชาติหนึ่งที่ไม่ต่างกับวัตถุข้าวของ ที่เป็นความไม่มีชีวิต ...ไม่อย่างนั้นเราจะเห็นกายนี่เป็นเหมือนชีวิต มันเหมือนกายนี่มีชีวิตจิตใจ เป็นของมีชีวิต

ต่อไปก็จะเห็นกายไม่มีชีวิต ...แต่มันเป็นแค่ก้อนธาตุที่สลับสับเปลี่ยน ยักย้ายไปมาระหว่างดินน้ำไฟลม  บางครั้งบางคราวดินแข็ง บางครั้งไฟอุณหภูมิขึ้น มันก็ปรากฏเด่นชัดในธาตุนั้นๆ ขึ้นมา ... มันเป็นแค่ความรู้สึกในธาตุที่มันปรากฏขึ้นมา 

ความเคยชินที่เคยเชื่อว่าเป็นเขาเป็นเรา เป็นชายเป็นหญิง เป็นสัตว์เป็นบุคคล มันก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ

แล้วมันจะรู้สึกเป็นผลตามมาว่า...เมื่อใดที่เรารู้สึกว่าความเป็นคนน้อยลง ความเป็นสัตว์บุคคลน้อยลง มันจะมีผลตามมาคือมันสบายขึ้น มันเบาขึ้น มันเป็นอิสระขึ้น มันทุกข์น้อยลง ...มันจะมีความรู้สึกเป็นทุกข์ภายในน้อยลง

เวลาเขาพูดถึงเรา พูดถึงเรื่องของเรา เขาพูดถึงตัวเรานี่ ... ฟังไปฟังมามันรู้สึก “เอ๊ะ เรารึเปล่าวะ เขาพูดถึงเรารึเปล่าวะ” บางทียังลืมไปเลยว่าเขาพูดถึงใคร คือไม่ได้สนใจถึงขนาดนั้น

มันไม่เห็นว่ามีเราอยู่ตรงไหน ในแขนในขา ในหน้าในผม ในตัวในเนื้อในหนัง ... มันมีชื่อของเราอยู่ไหน ในส่วนหนึ่งส่วนใด ในหนัง ในกระดูก ในเอ็น ในเนื้อ ในเลือด ...ไหนเราวะ ไหนชื่อของเรา มันไม่เห็น  

มันดูไปดูมา มันเป็นแค่ความรู้สึกธรรมชาติหนึ่งเท่านั้น มันเป็นของใคร ฮึ ...ก็เป็นอาการเกิดๆ ดับๆ ตามธรรมชาติของกาย มันเป็นอย่างนั้น ...อย่างนี้ถึงเรียกว่าเดินปัญญา

ให้ใจมันเข้าไปเห็นเสมอ ซ้ำซาก... ต้องเห็นซ้ำซาก ... อย่าเบื่อ อย่าขี้เกียจ อย่าไปดูเรื่องอื่น อย่าไปดูที่นอกกายนอกใจออกไปข้างนอก มันจะทำให้ปัญญาไม่ค่อยเกิด ...ถึงเกิดก็น้อย


(ต่อแทร็ก 5/14)