วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2559

แทร็ก 5/29


พระอาจารย์
5/29 (541127B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
27  พฤศจิกายน 2554


พระอาจารย์ –  กลับไปทำอย่างเดิม รู้อย่างเดิม รู้เหมือนเดิม รู้แบบเก่านั่นแหละ ...อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรปรากฏผุดโผล่ก็รู้  มันหายไปก็รู้ มันตั้งอยู่ก็รู้  มันอยากก็รู้ มันไม่อยากก็รู้ รู้อย่างเดียว

ไม่ต้องสนใจ อะไรก็ได้ รู้ไว้ เห็นไว้ ...เมื่อรู้แล้วให้เห็น..เห็นว่าอะไร เห็นว่ามันเป็นอะไร เห็นว่ามันเป็นใคร เห็นว่ามันมีมายังไง เห็นว่าสุดท้ายมันก็ดับไป ...มันเห็น..รู้แล้วเห็นว่า..อ๋อ มันเป็นอย่างนี้

อะไรเกิดขึ้นแรกๆ ปุ๊บ รู้ไว้ก่อนๆ ...เพราะมันไม่คาดฝันหรอก ธรรมะเป็นสิ่งที่คาดไม่ได้ คะเนไม่ได้...ใช่ไหม เราไม่รู้หรอกว่านี่เดี๋ยวขับรถไปเราจะเจออะไรบ้าง ...มันคะเนไม่ได้นะ ธรรมข้างหน้า

เพราะนั้น เมื่อมันมีอะไรเกิดขึ้นด้วยการที่ไม่คาดฝัน หรือว่ามันมาแบบไม่คาดหมาย ...มันต้องรู้ก่อน แล้วก็เห็นตาม เห็นว่า..อ้อ มันเป็นสิ่งที่ปรากฏ

แล้วอะไรปรากฏ ...ตรงนี้จะมีความปรุงแต่งเข้าไป  เป็นชายเป็นหญิง เป็นดีเป็นร้าย เป็นคุณเป็นโทษ เป็นถูกเป็นผิด พวกนี้...มันปรุงแล้ว มันให้ค่าแล้ว

ถ้าเห็น รู้แล้วให้เห็นไว้ก่อนว่า...มันกำลังจะเริ่มปรุงแล้ว มันเห็นแล้ว จะปรุงแล้ว...อย่าปรุง ให้ทัน ไม่คิด ไม่หา ไม่เอาถูกเอาผิด เอาห้าเอาสิบอะไรกับมัน ...นี่ เห็นเฉยๆ เห็นเป็นกลางๆ ไว้

พอเห็นเป็นกลางปุ๊บ สุดท้ายเดี๋ยวมันก็ยักย้ายกลายสภาพ แปรปรวนเปลี่ยนแปลง หมดไป สิ้นไป ดับไป นั่น สุดขั้นตอนของธรรมนั้นๆ ที่ปรากฏ หรืออัตตานั้นๆ ที่ปรากฏ...จบ เห็นอัตตาดับ เห็นตัวตนนั้นดับ ดับๆๆๆ

เอ้า เสร็จแล้วพอกลับไปถึงบ้านดันเสือกคิดขึ้นมาอีก จำได้ว่า..ไอ้นี่ทำกู ไอ้นี่ทำอย่างนี้ ...ก็รู้อีกว่าเป็นสัญญา รู้ปุ๊บ นี่เห็นมั้ย รู้ปุ๊บนี่สัญญา...เห็น แล้วก็เห็นสัญญาต่อ

สัญญาเป็นอะไร เป็นแผ่นภาพ มันเป็นภาพแผ่นๆ น่ะ ไม่มีชีวิตจิตใจ ไม่มีตัวไม่มีตน ...มันเป็นอะไรเป็นแผ่นขึ้นมา เป็นแผ่นความทรงจำ เมมโมรี่ มีภาพเสมือนจริงอยู่ เหมือนสามมิติ เอ้า อย่างนั้น

ก็นั่นน่ะ ก็เห็นอยู่ ...แล้วมันจะเริ่มเข้าไปปรุงต่ออีกนะ เอ้า ทันอีกๆ  เห็นอีกว่าจะไปปรุงกับสัญญา ว่าจะไปทำยังไงต่อข้างหน้า ถ้ามันมาครั้งต่อหน้าแล้วเราจะทำยังไงมันดี

เอาอีกแล้ว เริ่มปรุง ...ก็ไม่ปรุงต่อ เอาสัญญามาเป็นอารมณ์ ...แล้วก็ต่อไปต่างคนต่างอยู่อย่างนี้ ดูมันไป อ่ะ เดี๋ยวก็สัญญาดับ ...นี่ อัตตาของสัญญาดับอีกแล้ว ที่สุดของมันก็แค่ดับไป

นี่ ภาวนาคือทำเรื่องแค่นั้นแหละ อยู่อย่างเงี้ย ...ให้สนใจใส่ใจอยู่กับเรื่องที่จะมาจำแนกแยกธาตุแยกขันธ์อยู่อย่างนี้ ...นี่เขาเรียกว่าวิจยธรรมเป็นส่วนๆ ไป

แต่ยังไงต้องมีฐานก่อน...ฐานใจ รู้เห็นก่อน เป็นฐาน..ฐานหลัก ...ไม่งั้นมันก็จะล่องลอย เลื่อนลอยไปเรื่อยเปื่อยแล้ว เหมือนหลักลอยน่ะ

เหมือนยืนบนโคลนน่ะ ...จะไปทำงานตรงไหนได้ล่ะ หือ ขามันยังยืนไม่ตั้งเลย แพลบไปแพลบมา ไอ้นั่นก็คว้า ไอ้นี่ก็มา จะไปหานู่น จะไปเอานี่ ...มันก็ลื่นไถลไปหมด

นี่ มันตั้งไม่ได้น่ะ มันต้องหาที่ตั้งให้อยู่ก่อน ...ตั้งไหนล่ะ ใจตั้งน่ะ ใจอยู่ที่ไหน ...ใจอยู่ที่รู้ ใจอยู่ที่เห็น ใจคือดวงจิตผู้รู้อยู่นั่นแหละ ตั้งอยู่ที่รู้นั่นแหละ ...เอาให้มั่นก่อน

ถึงบอก ยังไงต้องรู้ไว้ก่อนๆ แล้วก็หยั่งลงไปที่รู้นั้นน่ะ..เสมอ ...มันไม่รู้หรอกว่าตรงไหน หยั่งเข้าไปเหอะ รู้บ่อยๆ มันก็จะรู้เอง อ้อ ตรงเนี้ย ตรงที่รู้สึกว่ารู้น่ะ

ไม่รู้อยู่ตรงไหน อยู่ที่หน้า อยู่ที่อก อยู่ที่หู อยู่ที่หาง อยู่ที่ก้น ไม่รู้ล่ะ มันอยู่ตรงรู้น่ะแหละ ...มันรู้บ่อยๆ แล้วมันจะสังเกตได้ อ้อ อยู่ตรงนี้ ...ก็ไม่รู้ “นี้” ไหนน่ะ “นี้” ใคร “นี้” มัน

หยั่งลงไปที่รู้นั่นแหละ มันมีตำแหน่งของมัน...โดยสามารถคะเนกำหนดได้น่ะด้วยการรู้บ่อยๆ ถึงบอกว่ารู้บ่อยๆ ไง มันจะได้คุ้นเคยว่าฐานของมันนี่...เออ รู้อยู่ตรงนี้

แต่ไม่ใช่ว่านั่งๆ อยู่ แล้วคิด “เอ๊ รู้อยู่ตรงไหนวะ” แล้วจะไปกำหนดขึ้นมา มันไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่ ...ถ้าอยากรู้ก็เห็นว่า “ใคร” รู้ว่าอยากรู้ ...นั่น มันรู้จริงๆ ต้องให้รู้จริงๆ

หรือว่าง่ายๆ เลยว่า เรากำลังนั่ง..ก็รู้ว่านั่ง นั่นแหละ “รู้” มาแล้วๆ นี่ รู้จริง ...พอรู้ว่านั่งแล้วเพลินคิดไปว่า “เฮ้ย ตรงนี้รู้รึเปล่า หรือว่านี่ รู้อยู่ตรงนี้  เอ๊ะหรืออยู่ข้างบนหัว” (หัวเราะกัน) อันนี้ไม่ใช่รู้แล้ว อันนี้มั่วแล้ว มั่วๆ รู้ไม่จริง

เพราะนั้นถ้ารู้จริงก็...นั่งแล้วรู้ว่านั่ง นี่รู้ลงไปในปัจจุบันเลย  มันก็รู้อยู่ตรงนั้น รู้ปรากฏแล้ว นี่ รู้อย่างนี้ รู้ไป  นั่งรถอยู่เผลอเพลิน มันหลงก็รู้ว่าหลง รู้ก็อยู่ตรงหลงนั่นแหละ มันอยู่ตรงนั้น

ไม่ใช่ไปสร้างเป็นนิมิตของรู้ขึ้นมา แล้วก็...เออ นี่ลักษณะนี้ เดี๋ยวกูวงไว้ ...แล้วก็ควับเลยนี่ แล้วก็นั่งถือรู้ ประคองรู้ไปทั้งวันอย่างนั้น...ไม่ใช่ เป็นนิมิตน่ะ ไม่ใช่ มันไปคะเนเอาในรู้ ในใจ

ใจไม่ใช่การคาดการคะเน การเดา การสุ่ม การมั่ว ...แต่มันคือการรู้จริงๆ รู้ลงไปในปัจจุบัน  กายรู้สึก เย็นร้อนอ่อนแข็ง ใครรู้ล่ะ..อยู่ตรงนั้น ใครเห็นล่ะ..อยู่ตรงนั้น ...นี่เขาเรียกว่ารู้ตรงๆ

รู้มันก็เกิดขึ้นทุกขณะนั่นแหละที่มีการระลึกสติขึ้นมา หรือเจริญสติขึ้นมา รู้ก็จะอยู่...มันจะแยกออกเป็นสองส่วนทันที ให้เห็นตรงนั้นเลยว่า รู้เป็นสิ่งหนึ่ง...สิ่งที่ถูกรู้เป็นสิ่งหนึ่ง

แล้วก็อยู่อย่างนั้นแหละ ทำความรู้ชัดอยู่ในของสองสิ่งตรงนั้นบ่อยๆ แล้วมันจะจดจำสภาวะรู้ได้ ...พอมีอะไรปุ๊บ มันจะหยั่งลงที่นั้น หยั่งลงที่รู้เลย

จากนั้นอาการเห็น สัมปชัญญะที่เห็น บางลักษณะที่มัน...ตัวตนที่ปรากฏนั้นๆ มันมีเหตุปัจจัยต่อเนื่อง คือการดำรงอยู่มันเป็นช่วงระยะเวลาที่ว่ายาวนาน มันก็จะเห็นอาการด้วยความเป็นกลาง

แต่ถ้าช่วงไหน เหตุไหน การปรากฏก่อตัวของอัตตานั้นเกิดแค่ขณะเดียว มันก็จะเห็นความดับไปในขณะนั้น ...เพราะนั้นไม่ต้องไปเดือดร้อนกับมัน

ถ้ามันยังตั้งอยู่ ก็ดูไปด้วยความเป็นกลางว่า...อะไรตั้งอยู่ มึงเป็นใคร มึงไม่ใช่กู กูไม่ใช่มึง มึงไม่มีชีวิต มึงเป็นแค่สิ่งหนึ่ง ...นี่ดูด้วยความเป็นว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคล 

ในการดำรงอยู่แห่งอัตตาตัวตนนั้นๆ ไม่ใช่ตัวเรา ...คือตัวของมัน นั่นน่ะคือตัวตนที่แท้จริง คือเป็นตัวตนธรรมชาติของมันเอง ไม่ใช่ของใคร ...แล้วมันก็ดับ สุดท้ายก็เห็นจุดจบของมันคือความดับไป

เพียรเพ่งอยู่ในกิจการ การงานเช่นนี้แหละ ถึงเรียกว่าเป็นสัมมาอาชีโวอยู่ภายในอย่างนี้ ...เรื่องข้างหน้า เรื่องคาดเรื่องฝันหวานอะไรไปในธรรม จะได้นั่น จะเป็นถึงนี่ ...ฟุ้งซ่าน บอกให้เลยฟุ้งซ่าน

พอรู้ตัวแล้วก็ละเลย ทิ้งเลย กลับมารู้ตรงๆ ตรงนี้เลย ...อยู่กับรู้ อาศัยรู้เป็นสรณะ อาศัยรู้เป็นที่พึ่งที่อยู่ที่อาศัย นั่นแหละ จึงเรียกว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

ไม่ใช่ปฏิบัติธรรมแบบเพ้อฝันเพ้อเจ้อ ...พรุ่งนี้จะเป็นยังไง เดือนหน้าจะดีขึ้นมั้ย การงานจะเป็นยังไง ภาวนาตอนที่มีงานอย่างนี้อย่างนั้นจะดีมั้ย ...เพ้อเจ้อ อย่าไปเพลินไปกับมัน

กลับมารู้ว่ายืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน หรือเจ็บ หรือปวด หรือเครียด หรือกังวล หรือว่าสุข หรือว่าทุกข์ ให้เห็นลงไป อะไรก็ได้ ที่มันโผล่หน้าขึ้นมา ผุดโผล่ขึ้นมาเป็นปัจจุบันธรรม หรือว่าอัตตาที่ก่อเกิด

ไม่ต้องแยก ไม่ต้องคัด ไม่ต้องเลือก ...มันปรากฏยังไงก็อย่างงั้นน่ะแหละ  เรื่องของมึง เรื่องของอัตตา เรื่องของตัวตน ไม่ใช่เรื่องตัวเรา มันเป็นเรื่องของตัวตน

ขันธ์ก็คือตัวตน ไม่มีตัวตนมันไม่มีขันธ์  ขันธ์คือตัวตน ทุกอย่างนี่คืออัตตาหมดเลยนี่ ...นี่ คือการก่อเกิดขึ้น การตั้งอยู่ มันเป็นอัตตาที่รวมตัวกันขึ้นของสังขารธรรม สังขารขันธ์ สังขารธาตุ

มันก็รวมเข้ามาเป็นสิ่งหนึ่งๆๆ ขึ้นมา นี่ ทุกอย่างมันจับต้องได้...แต่มันเป็นอัตตาธรรมชาติ ไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่ของเรา ...แต่ความไม่รู้ต่างหากที่มันจะไปหลงในอัตตานั้น

อย่างว่า “รถของเรา” อย่างเนี้ย ...ก็จริงๆ รถคือรถ ไม่ใช่ไม่จริงนะ  มันมีจริง มันตั้งอยู่จริง แต่ไม่ใช่ของใคร เป็นของมัน ...แต่เราไปหลงว่านี่เป็นของเรา

นี่เขาเรียกว่าหลงในอัตตา หลงอัตตานี้เป็นของเรา เป็นตัวเรา แต่อัตตามีจริงนะ ถ้ามีไม่จริงก็ขับไม่ได้สิ มันขับได้ มันใช้ได้ ...นี่คือมันตั้งอยู่นี่ แต่ว่ามันตั้งอยู่บนความว่างเปล่า

ไม่ใช่ว่าว่างแบบ...เฮ้ย นั่งไป เอ้า ทะลุเลยโว้ย รถไม่มีประตู ไม่มีอะไร ...ไม่ใช่ว่างอย่างนั้น ..."เนี่ย กูจะขับมาได้ยังไงถ้ามันว่าง ก็มันไม่ว่างกูถึงขับมาได้ ไม่เห็นมันว่างเลย" ...ไม่ใช่มันว่างอย่างนั้น

ที่ว่าว่างคือ ...กูนั่งมานี่ มันไม่เห็นบ่นเลย ทำไมมันไม่ถีบกูลง...ว่ามึงนั่งเกิน ๑๐ คน มึงนั่งมาได้ยังไง เพราะกูสร้างมาให้นั่งแค่ ๕ คน ...เห็นมั้ย มันไม่ว่านี่ ...นี่มันว่างเปล่าไหมล่ะ

มันไม่ได้มีเจตนาเป็นคุณเป็นโทษ เป็นดีเป็นร้าย หรือว่าครอบครองว่า...กูให้นั่งได้ ๕ คนเท่านั้นนะ มึงบังอาจมานั่ง ๖ คน กูไม่ยอมเปิดประตูให้ ...เห็นมั้ย นี่คือความว่างจากความเป็นสัตว์และบุคคลต่างหาก

เพราะนั้นเรานั่งอยู่บนของที่มันว่าง...ว่างเปล่าจากความหมายในตัวของมันเอง ...นี่พูดถึงข้างนอก ...แล้วก็เหมือนกันน่ะ ขันธ์นี่เหมือนกัน เหมือนรถนี่ ขันธ์ก็เหมือนรถนี่

เวลาเรานั่งในรถนี่ ก็เหมือนกับกบในกะลา  เวลาเราอยู่ในกายนี่ก็เหมือนกบอยู่ในขันธ์ อ๊บๆๆๆ อยู่นั่นน่ะ จิตสังขาร อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น วิพากษ์วิจารณ์อย่างโง้นอย่างงี้ไปเรื่อย

ตบโหลกมัน...บ่นมาก ตบโหลก ตบหัวมัน อย่าเผยอ อย่าอ้าปาก ...นี่ ทัน สติทัน มันก็ดับหมดน่ะ ไม่บ้าบอคอแตกกับการเสกสรรบรรเจิด กระเจิดกระเจิงไป ปรุงแต่งไป หาเรื่องไป

มันเขียนเรื่องสั้นน่ะ หรือบางทีไม่เป็นเรื่องสั้น ก็เป็นมินิซีรี่ส์ มีหลายตอนเลยนะ ...จิตน่ะมันไปเรื่อย คิดปรุง อยู่เฉยๆ ไม่เป็น ...หาเรื่อง มันเหงา มันเคยชิน

มันสร้างตัวตนใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ  มันวิ่งไปหาตัวตนใหม่ๆ มาครอบครอง ...เหมือนมีรถยี่ห้อใหม่ น่าจะดีกว่ามั้ย ที่ใช้อยู่มันน่าเบื่อแล้ว มันเซ็งแล้ว...คือเวทนาที่มันคุ้นเคยมันก็จำเจไง

แล้วก็พอมันจะหาสิ่งแปลกใหม่ขึ้นมาปุ๊บ มันก็มีการทะยานไปข้างหน้า อนาคต ...แล้วมันก็เทียบกับปัจจุบัน เทียบกับอดีตที่ใช้มา...เนี่ย มันไม่ได้เรื่องเลย

แน่ะ จิตน่ะ ความปรุงแต่ง มันจะวิ่งออกไปอย่างนี้  มุ่งออกไปๆ มันไม่หยุดอยู่ตรงนี้ ถึงว่าจิตมันเกิดอยู่ตลอดเวลา...ด้วยความไม่รู้นี่ มันพาเกิดพาตาย

มันเกิดตายที่ไหน การเกิดการตายมันเกิดเริ่มต้นจากที่ไหน...ดูดีๆ ...ไม่ใช่ว่าอยู่ที่โลงศพหรืออยู่ที่ท้องแม่เป็นที่ตั้งของการเกิด ...มันเริ่มจากตรงนี้ เริ่มจากจิตนี่...พาเกิด 

จิตนี่พาเกิด จิตก็พาไปตาย จิตพาไปหาสุข จิตพาไปหาทุกข์ ...เพราะนั้น ถ้าเท่าทันตรงนี้ เท่าทันจิตสังขารนี่ ท่านถึงบอกว่า...นี่ จะหลุดพ้นจากบ่วงมาร

แต่เราจะไปดูจิตอย่างเดียวน่ะ ดูไม่ทันหรอก มันต้องมีฐานรู้ฐานเห็นอยู่ ...ถ้าฐานนั้นสลายหายไป ก็น้อมลงมาที่กาย อาศัยกายเป็นเครื่องระลึกรู้ แล้วก็ทำความแจ้งในกายไปในตัวเสมอ เนืองๆ เป็นนิจ

ความวิมุติ ความหลุดพ้นจากก้อนธาตุกองขันธ์นี้ มันก็จะมากขึ้นไปเอง ...ไม่ต้องไปร้องอ๊บๆ เรียกหาอะไร หรือไปบ่นไปโทษอะไรใคร  มันอยู่ที่ว่า...ธรรมใครธรรมมัน รู้ใครรู้มัน 

ใครมีความเพียรเพ่ง รักษาใจได้ต่อเนื่อง เนืองๆ เป็นนิจ  สามารถดำรงซึ่งความเป็นกลางอยู่ภายในได้ชัด ต่อเนื่อง นั่นแหละ การจางคลายมันเกิดเอง ความเข้าใจในธรรมทั้งหลายทั้งปวงมาเอง ความรู้เห็นในธรรมตามจริงเกิดเอง เข้าใจเอง

การรู้เห็นธรรมตามจริง...ก็ไม่มีอะไรหรอก มีแค่เกิดแล้วก็ดับ นั่นแหละเป็นธรรมตามจริง ...ไม่มีอะไรพิเศษกว่านั้นหรอก ไม่มีอะไรลึกลับซับซ้อนมากกว่านั้นหรอก

แค่ใจมันเข้าไปยอมรับความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ชั่วคราว แล้วดับไป นี่...คือสุดยอดของการเห็นของธรรมแล้ว เพราะไม่มีอะไรสุดยอดกว่านี้แล้ว ...นอกนั้นมันปรุงแต่ง make เอา fake เอา 

ตามตำราบ้าง ตามคำเสียงลือเสียงเล่าอ้างบ้าง เชื่อไปเรื่อย ให้ความสำคัญไปเรื่อยกับเหตุกับผล กับการวิเคราะห์วิตกวิจาร กับการได้รู้ได้เห็น กับสิ่งที่ได้รู้สิ่งที่ได้เห็น ...มันก็เลยหาที่จบไม่ได้

เพราะนั้นเริ่มต้นที่รู้ นี่สัมมาทิฏฐิ  เริ่มต้นที่รู้...สุดท้ายจบลงที่รู้  เห็นมั้ย จุดเริ่มต้นกับจุดสุดท้ายนี่จุดเดียวกัน สุดท้าย-เริ่มต้นก็เริ่มจากรู้ อะไรเกิดก็รู้ อะไรเกิดก็เห็น

สุดท้ายมันรู้เห็นไป แล้วเห็นสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็น ว่าไม่มีอะไร ไม่ควรค่าแก่การถือครอง ครอบครองไม่ได้ สุดท้ายมันก็เหลือแค่รู้เปล่าๆ ...เห็นมั้ย เริ่มต้นจากรู้ สุดท้ายก็กลับมาอยู่แค่รู้ 

ไม่เห็นมันยาก ไม่เห็นมันมีวิธีการเลย ไม่เห็นมีอุบายใดๆ เลย ไม่เห็นต้องไปทำอะไรเลย ...พระพุทธเจ้าท่านสอนง่ายจะตาย คนทำน่ะไปทำตามยากเอง

เหมือนเขียนเสือให้วัวกลัว เสียงลือเสียงเล่าอ้าง ต้องอย่างนั้นต้องอย่างนี้ แทบจะต้องบูชายัญกันเลยน่ะ ต้องมีการติดสินบาตรคาดสินบนกันเลย เอาบุญมาเป็นเครื่องล่อ เอาบาปมาเป็นเครื่องห้าม 

เอาวัตรปฏิบัติมาเป็นมรรค นั่น ว่ากันไป มรรคมันก็เยอะแยะไปหมดน่ะถ้าเอาวัตรมาเป็นข้ออ้าง อย่างนั้นอย่างนี้อย่างโน้น ห้ามนั้นเว้นนี้ ทำนั้นทำนี้ก่อน ...กว่าจะเริ่มนั่งสมาธิได้ โอย กูเหนื่อยแทบตายเลย

กว่าจะตรงตามข้อวัตรน่ะ...ทั้งวันน่ะ ได้นั่งสมาธิสักครึ่งชั่วโมง โหย กว่าจะได้นั่ง เพราะมัวไล่ทำข้อวัตรนี่ ...ไม่ถูกข้อวัตรนี่เขาไล่กูลง เดี๋ยวเขาบอกว่า อยู่ไม่ได้ สถานที่นี้ไม่ต้อนรับ ใช่มั้ย

เอ้าไปอีกที่หนึ่ง ข้อวัตรก็เปลี่ยนอีกแล้ว ต้องอย่างนั้น ต้องอย่างนี้ ต้องอย่างโน้นถึงจะสอน ถ้าอยากเรียน ทำได้ก็เอา ...นีี่ ทำไมขั้นตอนมันเยอะไปหมด มันสับสนอลหม่านหากายหาใจไม่เจอเลย 

แล้วไอ้ตัวที่ทำวัตรอยู่น่ะ...ใครทำ ไอ้ตัวที่กำลังปฏิบัติในวัตรนี่มันตัวอะไร ทำไมไม่เห็น ทำไมไม่รู้ ทำไมไม่เห็นว่ามันอยากได้ มันอยากมี มันอยากเป็น ...ใครอยากมี ใครอยากเป็นล่ะ ..."เรา" รึเปล่า

แล้วมันอยู่ตรงไหน เราอยู่ไหน ดูหน้าดูตามันหน่อยซิ มันมีหน้ามีตา มีหนวดมีผมมั้ย เหมือนเรามั้ย ...แล้วบอกว่าเป็นเราๆๆๆ อยู่นั่น หน้ามันเป็นยังไง หือ 

ทำไมไม่ดู ...มันจะไปหาดูอะไรกันอยู่ จะไปหาอะไรทำกัน ...มันมีให้เห็นอยู่ ทำไมไม่ดู  เนี่ย หน้ามันเหมือนเราจริงๆ ไหม ไอ้ที่ว่าตัวเราๆ มันอยู่ไหน

นี่ หาไม่เจอหรอก จับก็ไม่ได้ ...จับไม่ได้แล้วยังไปให้ความสำคัญอะไรกับมันนักหนา ไปเชื่ออะไรมันล่ะ มันเชื่อไม่ได้ ...เชื่อได้แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แค่นั้นแหละ แล้วก็เห็นว่ามันดับไป

ทุกอย่างนี่...ลงถังขยะใบใหญ่คือไตรลักษณ์นั่นแหละ ไม่มีหลุดพ้นไปหรอก ...เพราะนั้น อย่าไปติดอะไร ...ติดอะไรข้องอะไรคือไปเที่ยงอยู่กับมัน ก็อย่าไปเที่ยงกับมัน มันไม่เที่ยงให้กับเราหรอก


.....................................




แทร็ก 5/28 (3)


พระอาจารย์
5/28 (541127A)
27  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 3)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/28  ช่วง 2

พระอาจารย์ –  พอถึงขั้นนั้นนี่ แม้แต่ปรมาณูของจิต...มันยังทิ้งเลย  ยังไม่รู้หน้าตาตัวตนมันคืออะไรดี ยังไม่ทันจะมาว่าเป็นสมมุติบัญญัติได้เลย...ทิ้งแล้ว

มันก่อเกิดขึ้นปั๊บ แค่แสดงอัตตาขึ้นมาเป็นอัตตาใดอัตตาหนึ่งของขันธ์...ไม่เอาแล้ว วางเลย วางโดยไม่อาลัยใยดีเลย ไม่เสียดาย ...มันคัดกรองออกอย่างนั้นศีลสมาธิปัญญานี่

มันคัดกรองของเสียออกหมด มันขัดเกลาน่ะ มันขัด ...เคยเห็นเพชรมั้ย เพชรที่มันอยู่ในโคลน เพชรนี่ไม่เคยไม่ใสในตัวของมันเองนะ คือมันใสโดยธรรมชาติของมันอยู่แล้ว

แต่มันอยู่ในโคลนน่ะ ถ้าไม่ขัดน่ะมันก็ไม่เห็นว่าใส ...แต่ความใสนี่มันใสอยู่แล้วหนา แต่ที่มันมองไม่เห็นว่ามันใส เพราะโคลนมาห่อหุ้มมันอยู่

สติสมาธิปัญญา...นี่คือขัดเกลา แล้วไม่เอาไปแช่โคลนอีก หรือไม่เอาโคลนมาปกปิดมันอีก ...แต่ไอ้พวกนี้ขัดก็ไม่ขัด แล้วยังเอาแต่หาโคลนมาพอกซ้ำอีก ...นี่มนุษย์

มันก็เลยไม่เห็นแม้แต่กระทั่งแสงสว่างแห่งใจ ..."เฮ้ย ใจมันสว่าง มันสว่างยังไงวะ ไม่รู้เลย" ...มันไม่เคยเห็น ไม่เคยเข้าไปเห็นว่า...อาโลโก มันเป็นยังไง

จักขุง อุทปาทิ ญานัง ...อาโลโก อุทปาทิ ญานัง... “มันสว่างยังไงวะ” เนี่ย...ทั้งที่มันสว่างอยู่แล้ว แต่ไม่เห็นหรอก เพราะมันหลายชั้น มันห่อหุ้ม

แต่สติสมาธิปัญญาที่เป็นสัมมา เป็นกลาง รู้ตรงๆ เห็นตรงๆ แค่นี้ ปึ๊บนึงนี่ แสงเกิดมาเท่าลูกตาเล็นน่ะ หรือว่าเท่าลูกตามด เอ้า มันก็เกิดความกระจ่างขึ้น...นิ๊ดดดนึง

โอ้ย แค่นี้ก็ดีแล้ว เนี่ย...รู้ๆ เห็นๆ นี่แหละ คือมันเข้าไปเปิดความสว่างของใจออก ขัดเกลาแล้ว...นี่ ถือว่าขัดเกลาแล้ว ที่บอกว่าไม่เห็นได้อะไร ไม่รู้อะไรเลยนี่

แต่มันเป็นการขัดเกลา ตั้งแต่...หูย มันพอกกี่ชั้นล่ะ ...ได้เห็นแสงสว่างของใจออกมาด้วยการรู้และเห็นตรงๆ นี่ มันเปิดออกแล้ว ...แต่ขณะเดียว แล้วก็ปึ้บ ปิดอีก

ถ้าขยันรู้ไปเรื่อยๆ ล่ะ ...มันก็ชำระน่ะ มันชำระ ขัดเกลา ...แล้วในระหว่างที่ขัดเกลานี่ มันอยู่ที่รู้อยู่ที่เห็นๆ มันไม่ได้ให้ความสำคัญอันใดกับสิ่งที่อยู่รอบข้าง หรือว่าสิ่งที่อยู่ต่อหน้าใจคือขันธ์

เมื่อมันไม่ให้ความสำคัญอื่นใด ใจมันก็จะเป็นกลางกับขันธ์ ...และเมื่อมันเป็นกลางกับขันธ์ มันก็จะเห็นขันธ์เกิดๆ ดับๆ นี่ มันก็เห็นไตรลักษณ์ไปในตัว

มันก็ยิ่งไม่สนใจอื่น ขัดเกลาอยู่ที่ใจที่เดียว ขุดค้นลงไปๆ มันขุดๆๆ ลงไปที่ใจ ...นี่ ไม่ได้ขุดด้วยความอยากนะ มันขุดลงไปด้วยสติสมาธิปัญญา ชำระอยู่ที่เดียวนั่นแหละ

ไม่ต้องทำให้มากเรื่องหรอก หรือไปเรื่องมากกับขันธ์ ...ขันธ์มันสัพเพเหระอยู่แล้ว โลกมันมีไม่ถ้วนน่ะ ใครจะไปรู้มันได้หมด ใครจะไปทำความแจ้ง ว่าไอ้นี่คือนั่น ไอ้นั่นคือนี่ ไอ้นั่นมายังไง ไอ้นี่ไปยังไง

ไม่รู้อ่ะ ไม่สนใจ มาแล้วก็ดับๆๆ ไม่สนใจ แค่นั้นเอง มันจะถูกมันจะผิด ไม่สนอ่ะ ...มันก็ดับให้เห็นอยู่ตรงนั้นน่ะ ถ้าเราไม่ได้ไปปรารภ ไปวิตก ไปวิจารกับมัน

เห็นมั้ย ถ้าไปปรารภ ไปตรึก นั่น ฌานน่ะฌาน วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา อุเบกขา นี่องค์ฌานเลย ...เพราะไปวิตกวิจารณ์กับขันธ์น่ะ

แต่คราวนี้ว่าไอ้วิตกวิจารณ์กับขันธ์นี่ ...โดยปุถุชนคนทั่วไปนี่ มันวิตกวิจารณ์ไปเรื่อยเปื่อย คิดบ้างจำบ้าง เรื่องนั้นเรื่องนี้บ้าง ...เพราะนั้น ผลมันไม่ใช่ปีติสุข...ผลมันก็คือฟุ้งซ่านกับขุ่นมัว

แต่คราวนี้ว่าพอมาเป็นนักภาวนาปุ๊บ ก็มา...พุทโธๆๆ ลมหายใจๆๆ ...นี่วิตกวิจารนะ วิตกวิจารขันธ์  แต่คือขันธ์ที่เป็นบริกรรมนิมิต คือพุทโธที่เดียว อย่างนี้

ผลมันก็คือปีติ สุข ไม่ใช่ฟุ้งซ่าน ขุ่นมัว หรือว่าแตกกระจายกระสานซ่านเซ็น  จิตก็เป็นเอกัคคตา แล้วก็เกิดอุเบกขาตามมา วางเฉย ...นี่ฌาน องค์ฌาน เห็นมั้ย จิตที่ส่งออกไปเพียรเพ่งอยู่ภายนอก

แต่คราวนี้ฌานนี่ มันมีโลกียฌาน โลกุตรฌาน ...นี่ พอโลกุตรฌานนี่ไม่เพ่งนอก เพ่งใน...นี่ ท่านก็ใช้ว่าเพียรเพ่งอยู่ภายใน ด้วยสติสมาธิ คือรู้อยู่ที่รู้ เห็นอยู่กับเห็น อะไรเกิดขึ้นอยู่ที่เห็นอยู่ที่รู้

นี่เพียรเพ่งเหมือนกันนะ แต่ว่าด้วยสัมมาสติสัมมาสมาธิ อย่างเงี้ย ปัญญาเกิด ...คราวนี้ไม่องค์ฌานเกิดแล้ว ไม่มีองค์ฌานที่ว่าปีติ สุข ...มันจะเป็นลักษณะที่ว่าเกิดเป็นปัสสัทธิ แล้วเป็นธัมมวิจยะ

เห็นมั้ย พอเข้ามาตรงนี้ปึ้บ มันกลายเป็นองค์ธรรมของโพธิปักขิยธรรม อยู่อย่างนั้นน่ะ  นี่ถ้าพูดตามตำรานะ ...แต่ถ้าพูดตามภาษาลูกทุ่งน่ะ รู้อย่างเดียว รู้กับเห็นอย่างนั้น พอแล้ว ครบ ตามภาษาบัญญัติสมมุติน่ะ

เพราะนั้นพอรู้ว่าครบตามภาษาบัญญัติสมมุติแล้ว ...ปิดตำราเลย ปิดหมด ไม่อ่านแล้ว ไม่หาแล้ว ไม่ดูแล้ว ไม่สนใจ ไม่เทียบเคียงตำราแล้ว ...มีรู้อย่างเดียวเห็นอย่างเดียว อยู่อย่างนั้นน่ะ

โยคาวจรใดที่เพียรเพ่งอยู่ที่ใจ โยคาวจรนั้นจะหลุดพ้นจากบ่วงมาร ท่านพูดไว้แค่นี้ ...นั่น ไม่เห็นมากกว่านี้เลย ไม่เห็นยากกว่านี้เลย ไม่เห็นต้องไปทำอะไรมากกว่านี้เลย

มีแต่หัวไอ้เรืองนี่แหละ “ไม่พออ่ะ ไม่ถึงหรอก ต้องสมาธิก่อน มีกำลังแนบแน่น แล้วก็ต้องเห็นกระดูกก่อน ต้องเห็นศพเน่าเฟะหนอนขึ้น” อย่างนี้

ถ้างั้นหมอทำไมมันไม่ไปนิพพานกันมั่งล่ะ มันเห็นศพจนเบื่อน่ะ ไม่เห็นมันไปได้ ...ไม่เกี่ยวอ่ะ มันเป็นอุบาย  ถ้าเข้าใจว่าทั้งหมดมันเป็นอุบาย อุบายอะไร..ปีติสุขเอกัคคตา แค่นั้นเอง แล้วก็หายไป

เพราะนั้นเพียรเพ่งอยู่ภายใน ด้วยสัมมาสติ สัมมาสมาธิ ...คือไม่ได้เพ่งเพื่ออะไร ไม่หวังผลอะไร ไม่เอาอะไรน่ะ  เอาใจดวงเดียวเท่านั้นน่ะเป็นที่ตั้งที่หมาย...หมายลงที่ใจรู้ใจเห็นนั่นแหละ หรือดวงจิตผู้รู้

ภาวนาทั้งหมดนี่เพื่อให้เห็นใจ เพื่อให้เข้าถึงใจ ...เมื่อเห็นใจเข้าถึงใจแล้ว ท่านบอกว่าให้อยู่ที่ใจ ...แล้วก็อาศัยใจดวงนั้นแหละเป็นผู้เดินไปในองค์มรรค

เพราะนั้นดวงใจดวงจิตผู้รู้ คือใจนี่...ที่มันเป็นแสงสว่างออกมาในขณะหนึ่งๆ ที่เรียกว่าเป็นผู้รู้ผู้เห็นนี่ ก็คือดวงจิตผู้รู้อยู่ ...จริงๆ มันก็เป็นผู้รู้ที่เป็นอัตตาอยู่แล้ว มันมีอัตตาครอบงำอยู่

เพราะมันยังเป็นแสงสว่างที่ยังมีอะไรครอบงำอยู่ มันเป็นแค่แสงสว่างนิดนึง แต่ว่ามันมีอะไรครอบงำอีกเยอะแยะ นั่นแหละคือความหมายมันก็เกิดความรู้สึกเป็นผู้รู้  ผู้เห็น

คืออัตตามันยังปิดบังใจอยู่ ความหมายมั่นเป็นตัวตนของเรายังมีอยู่ หมายมั่นใจเป็นเราของเรายังมีอยู่ ...เป็นผู้ เป็นสัตว์เป็นบุคคล

แต่ต้องอาศัยใจผู้รู้นี่แหละ เป็นบันได ...สมมุติว่ามันมีอยู่ ๔ ชั้น แล้วมันมีบันไดขึ้นไป ๔ ชั้น  ถ้าไม่เดินขึ้นบันไดนี่ มันไม่มีทางขึ้นถึงชั้นที่ ๔

เพราะนั้นดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นนี่ แม้ว่าจะยังมีอัตตาในผู้รู้ผู้เห็น หรือว่ามีความรู้สึกเป็นใจเรารู้ใจเราเห็นอยู่ ...แต่มันเป็นบันได 

ถ้าไม่อาศัยใจรู้ ไม่อาศัยดวงจิตผู้รู้นี่...เป็นผู้เข้าไปเห็นทุกสิ่งเป็นไตรลักษณ์แล้ว ...มันก็ขึ้นบันไดไม่ได้

แต่เมื่อใดที่ว่าขึ้นบันไดไปแล้ว จนถึงที่สุดของชั้นที่ ๔ แล้ว คือชั้นดาดฟ้าแล้ว มันเห็นท้องฟ้ากว้างแล้ว แล้วมันเห็นเลยว่า มันไม่มีที่ให้ไปแล้ว มันไม่มีบันไดแล้ว 

มันหมดบันไดแล้ว มันหมดทางไปแล้ว นั่นแหละ มันก็หมดความเป็นผู้รู้ผู้เห็นน่ะแหละ

เพราะนั้้นนี่ขึ้นมาชั้น ๑ แล้วยังเจอเพดานอีกนะ ยังตันอยู่นะ ยังเป็นกบอยู่นะ ...ชั้น ๒ ก็ยังเป็นฝ้าที่มันสูงขึ้นมาหน่อย ก็ยังเป็นเพดานกั้นอยู่ 

นี่ มีขอบเขตอยู่ มันยังมีปริมณฑลอยู่ ยังมีกายนี้เป็นปริมณฑลอยู่ ยังมีจิตเป็นปริมณฑลไกลใกล้อยู่ มันยังมีขอบขันธสีมาอยู่

พอถึงที่สุด มันขึ้นไปที่โล่งกว้างแล้ว หรือสุดยอดแล้ว ...มันจะเห็นเลยว่า โลกกว้างคืออะไร ใจมันก็เปิดขึ้นเป็นอิสระเต็มที่ ...ไม่ต้องไปร้องหาบันไดแล้ว มันหมดทางไปแล้ว มันถึงที่สุดของใจแล้ว

นีี่ สำคัญที่รู้ สำคัญที่เห็น ...ไม่สำคัญในสิ่งที่รู้ ไม่สำคัญในสิ่งที่เห็น ...อะไรก็ได้ จะดีจะร้าย จะถูกจะผิด จะเลวทราม หยาบ ละเอียด หรือประณีตยังไง ก็แค่นั้นแหละ รู้เห็นไว้

แล้วอยู่ที่รู้ที่เห็นนั่นแหละ อย่าไปดิ้นรน พอดิ้นรนก็รู้อีก พอกระวนกระวายก็รู้อีก พออยากได้นั่นอยากเห็นนี่ อยากเป็นนั่น อยากได้อะไร ก็รู้เห็นอีก

เอารู้เอาเห็นน่ะเป็นยาแก้...แก้บ้าแก้เมา แก้วิปลาสคลาดเคลื่อน แก้อยาก แก้ไม่อยาก แก้ได้หมด ยาใจน่ะ ไม่ใช่ยาใจคนจน ยาใจทุกคนน่ะ ใจเป็นยาทุกคนเลย ไม่เลือก

เพราะใจมันมีอยู่ในทุกสัตว์บุคคล ...แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็มี แต่ว่าชั้นของวิบากที่ครอบงำใจของเดรัจฉานไม่สามารถที่จะเจริญสติสมาธิปัญญาเพื่อเกิดแสงสว่างในใจได้

เอาจนใจรู้ ใจแจ้ง  ใจรู้กลายเป็นใจแจ้ง ใจสว่าง ใจกระจ่าง ใจบริสุทธิ์ ใจหลุดพ้น จนถึงใจไม่มีประมาณ ...เนี่ย มันเปิดออกไปเรื่อยๆ น่ะ

เมื่อใดที่เราขัดเกลาจนแสงสว่างมันกระจ่างขึ้น ...แค่เนี้ย แค่เห็นกายชัดเจน กายภายในชัดเจน นามขันธ์ชัดเจน ว่ามันเป็นใครของใคร หรือไม่เป็นใครของใคร

แค่นี้ก็เป็นความสุขที่ไม่มีอะไรเทียบแล้ว เป็นความสุขที่ยิ่งกว่ากินอิ่มนอนหลับที่เรียกว่าเป็นสุขเวทนาอีก แต่ว่าเป็นสุขอยู่ในธรรม สุขที่เห็นธรรมตามความเป็นจริง

สุขที่ได้ละ สุขที่ได้วาง สุขที่เข้าใจ ท่านเรียกว่าเป็นปัสสัทธิ เป็นความสงบเย็นระงับ เป็นสุขที่ละเอียดประณีต ไม่ใช่สุขเวทนาอย่างที่พวกเราเคยเสพเคยลิ้มรส

ใจมันก็จะมีความเยือกเย็น แนบแน่น อยู่อย่างนั้นน่ะ ...แค่เข้าไปรู้อยู่เห็นอยู่กับใจที่แท้จริงน่ะ มันก็มีความเย็นที่มหัศจรรย์ยิ่ง มันมหัศจรรย์ยิ่งกว่าใดๆ ทั้งหลายทั้งปวงในสามโลกธาตุ เนี่ย ธรรมชาติของใจ

พอเปิดเข้าไปถึงใจมากขึ้น ชัดเจนขึ้น หรือว่าเข้าไปที่ฐาน หรือว่าเข้าไปที่ธาตุแท้ของใจ หรือว่าธาตุรู้ของใจที่ตรงชัดเจนมากขึ้น ...มันมีความละเอียดลึกซึ้งในตัวนั้น ที่เทียบอะไรไม่ได้

เป็นธรรมอันเลิศ เป็นธรรมอันประเสริฐ เป็นธรรมอันยิ่ง เป็นธรรมอันไม่มีประมาณ เห็นมั้ย ใจก็เป็นธรรมอันนึงนะ เป็นธรรมธาตุ จนที่สุดมันกลายเป็นธรรมธาตุ

เป็นธรรมที่เหนือธรรมทั้งหลายทั้งปวง ...ยิ่งกว่าสมาธิอีก ยิ่งกว่าปีติอีก มันยิ่งกว่าอุเบกขาใดๆ ทั้งปวง คือพลังธรรมชาติของธาตุใจ ธาตุรู้นี่ 

เพราะนั้น แค่รู้ขณะหนึ่งๆ ...แรกๆ เรายังไม่รู้สึกรู้สมอะไรหรอก  เหมือนน้ำรดหัวตอน่ะ ...แต่ว่าอย่าละความเพียร เปิดใจขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วยสติ..สมาธิ แล้วก็จะเข้าไปเย็นระงับอยู่ข้างในนั้น

ล้างใจ ชำระใจ อย่าเอาอะไรมาหมักหมมใจ ...ไม่มีเรื่องก็หาเรื่องมาคิด ไม่เห็นอะไรก็อยากเห็นนั่นเห็นนี่ ไม่มีสภาวธรรมใดๆ เป็นภาษาสมมุติบัญญัติ ก็อยากหาอยากมี หาเรื่องทั้งนั้นน่ะ รู้เฉยๆ เห็นเฉยๆ ไม่เอา

ทำหน้าที่เป็นภารโรงไว้ ปัดกวาดเช็ดถูไว้ ขัดใจให้เกลี้ยงเกลาไว้ อย่าให้ฝุ่นละอองมาหมักหมม พอชำระถึงที่สุดของใจแล้วก็จะเห็นว่า ไม่มีคนชำระแล้ว ไม่ต้องชำระอะไรแล้ว

เพราะใจไม่มีที่  ใจไม่มีสัณฐาน ใจไม่มีประมาณ ใจไม่มีที่ตั้ง ...ศีลสมาธิปัญญาหมดหน้าที่ ภารโรงก็ไม่มีงานทำแล้ว

เพราะนั้นศีลสมาธิปัญญาเหมือนภารโรง เมื่อมันปัดกวาดจนมันหมด เกลี้ยงเกลาหมด จนไม่มีว่าฝุ่นผงละอองใดจะมาจับต้องได้นี่ ...ภารโรงหมดหน้าที่แล้ว เออลี่รีไทร์ไปเลย

ศีลสมาธิปัญญาก็หมดหน้าที่ สติสมาธิปัญญาก็หมด ไม่รู้จะทำทำไม ไม่รู้จะไปรู้อะไร ไม่รู้จะไปดูอะไร 

ใจมันก็โท่โร่อยู่อย่างนั้นน่ะ คืนสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของใจ ไม่มีอะไรมาปกปิดปิดบังใจได้อีก แม้แต่ปรมาณูหนึ่ง สะเก็ดหนึ่งของจิตก็ไม่มี สว่างอยู่อย่างนั้นน่ะ ...โลกวิทู แจ้ง

ทุกอย่างก็กลายเป็นหมดสิ้น กลายเป็นธรรมธาตุหมด เป็นแค่ธรรมที่เป็นธาตุ ที่ไม่ใช่สัตว์และบุคคล ...จิตก็กลายเป็นธาตุ ธาตุรู้ ขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงก็กลายเป็นธาตุดินน้ำไฟลม

นามทั้งหลายก็เป็นธาตุที่เรียกว่าสภาวธรรมธาตุ ไม่มีอะไรเป็นสัตว์บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ของคนใดของคนหนึ่ง หมดสิ้นซึ่งความเป็นเจ้าของในทุกสรรพสิ่ง


(ต่อแทร็ก 5/29)