วันจันทร์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/5 (2)




พระอาจารย์

5/5 (540707)

(ช่วง 2)


7 กรกฎาคม 2554




(หมายเหตุ : ต่อจาก แทร็ก 5/5 ช่วง 1


โยม –  เราต้องทำแบบไหนคะ      

พระอาจารย์ –  ตอนนี้ไม่ต้องทำแล้ว       


โยม –  ต้องแบบ..เหมือนเรา        

พระอาจารย์ – ตอนนี้เห็นกายมั้ย  รู้สึกตัวมั้ย      


โยม –   ต้องอย่างนี้ด้วยมั้ยคะ          

พระอาจารย์ –   ไม่ต้องอ่ะ  ตอนนี้...ที่เราถามนี่ รู้มั้ยว่าขยับ  
เห็นหลังมั้ย รู้สึกที่หลังมั้ย  ...(ค่ะ)
มันตึง รู้สึกถึงความตึงมั้ย ...(ค่ะ) 
รู้สึกถึงการขดคู้ของขามั้ย ... ไม่ต้องหลับตา รู้ง่ายๆ อย่าไปเพ่ง รู้สบายๆ
ลมพัด...เย็นมั้ย ...(ค่ะ) 
รู้สึกมั้ย ...(ได้ค่ะ) 
เออ รู้ง่ายๆ รู้เบาๆ ...(ค่ะ) 
มันรู้ตลอด ไม่ต้องอยู่ในท่าไหนนะ      


โยม –    เราก็ทำแบบนี้ใช่มั้ยคะ       

พระอาจารย์ – ใช่ ...มันรู้ได้ตลอดเวลาใช่มั้ย ...(ค่ะ) 
มันดูตรงไหนก็เห็นแล้วความรู้สึกที่กายได้
เอ้า ดูที่ขานี่ เห็นมั้ย ดูที่เท้าซิ มันมีความรู้สึกที่เท้ามั้ย  ...(ค่ะ)       
เออ รู้ได้มั้ยล่ะอย่างนี้         


โยม –  อย่างนี้ใช่มั้ยคะ         

พระอาจารย์ –  ที่ไหนก็ได้ ขอให้เป็นแวดวงของกาย ...(ค่ะ)  ขยับปากนี่รู้มั้ย      


โยม –  ค่ะ ...แล้วเราก็รู้จุดนั่นจุดนี่ไป         

พระอาจารย์ –   ที่ไหนก็ได้ ตรงไหนก็ได้...ที่มันเป็นความรู้สึกปัจจุบัน ...(ค่ะ) 
หรือถ้าหาจุดไหนไม่เจอ หาความรู้สึกไหนไม่เด่นชัด ดูท้องซิมันกระเพื่อมมั้ย 
เห็นมั้ย เห็นท้องกระเพื่อมมั้ย ...(ค่ะ)    
อือ ไม่ต้องกลัวหรอก มันมีที่ให้ดูอยู่ตลอดแหละ ...(ค่ะ)    
มันก็อยู่ ...ไม่เห็นต้องหลับตาเลย ใช่ป่าว ...(ค่ะ)   
...รู้ได้ใช่มั้ย   
     

โยม – ค่ะ ได้ค่ะ ...ไม่ต้องเอาธรรมอย่างอื่นมา..       

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องมีตัวช่วย ...(ค่ะ) 
กายมันมีตลอดทั้งวันน่ะ ...ทำไมจะต้องมีตัวช่วยถึงจะรู้ล่ะ


โยม –   ก็เมื่อก่อนทำก็จะให้นับอย่างนี้ อะไรอย่างนี้ ...ไม่ต้องขนาดนั้นใช่มั้ยคะ      

พระอาจารย์ –  มันทำอย่างนั้นได้ทั้งวันมั้ยล่ะ       


โยม – ได้ค่ะ          

พระอาจารย์ –  ห๊า... นั่งได้ทั้งวันเลยเหรอ นั่งสมาธินี่ได้ทั้งวันเลยมั้ย  (โยมหัวเราะ)


โยม –  มันก็ไม่ถึงขนาดนั้นค่ะ      

พระอาจารย์ – ก็ใช่ไง    


โยม –  (หัวเราะ) ค่ะ        

พระอาจารย์ –   เพราะงั้น...ถ้าเราไปถือแต่รูปแบบว่า ต้องอยู่ท่านี้เท่านั้นถึงจะมีสติรู้กายได้ แล้วไอ้ที่เหลือล่ะ ทำยังไง ...จะรู้กายได้ตอนไหนล่ะ ใช่มั้ย ...(ค่ะ) 

เพราะงั้นตอนนี้มันต้องอยู่อย่างนี้ นี่ ขยับนี่รู้ให้ทัน ...อย่ารีบ ให้มันทันกัน  ไม่ใช่มันขยับแล้วค่อยรู้ หรือว่ารู้ 'เอ้ย เมื่อกี้เพิ่งขยับ' อย่างนี้ ...ให้มันทันพอดีกัน 

เพราะนั้นมันต้องนุ่มนวลนะ พอดีกัน ...(ค่ะ) 
เรียกว่าให้ทันปัจจุบันของกาย ความรู้สึกนี่ ให้อยู่ในนี้ ...(ค่ะ) ... ทำความรู้กับกาย  


โยม –    เกี่ยวกันไหมคะว่า ต้องไหลมา ตรงนี้ เอาตรงนี้ด้วยนะ ตรงนี้ด้วย       

พระอาจารย์ –  ได้ ...ไล่เลยก็ได้ ตั้งแต่หัวจรดตีน  ดูความรู้สึกตั้งแต่หัวจรดตีน ดูลงไป  ไม่มีอะไรทำก็ดูลงไป  ดูความรู้สึกที่หน้า ดูความรู้สึกที่ไหล่ ดูความรู้สึกที่มือที่นิ้ว  แล้วก็ดูไล่ลงมาถึงอก ถึงเอว ถึงขา ...ดูได้ นี่ไล่ ไม่มีอะไรทำก็นั่งไล่ดูกาย ไล่ดูความรู้สึกทั่วกายไป 

เหมือนกับไม่สนใจเรื่องภายนอกเลย ไม่สนใจกับเรื่องคนนั้นจะพูดอะไร ใครจะทำอะไร ไม่สนใจ  เราจะไล่ดูอาการของเราหัวจรดตีน ตีนจรดหัว ขึ้นลงๆ ดูไป ...ดูเงียบๆ ไม่ต้องคิดไม่ต้องพูด ...นี่เขาเรียกว่าการเจริญสติในกาย 

เพราะนั้นในการเจริญสติในกายเช่นนี้  เมื่อมันอยู่ในกายดีแล้ว รู้ชัด เห็นชัดในกายดีแล้ว  จากนั้นน่ะ วิปัสสนาญาณจะเริ่ม  ...คำว่าวิปัสสนาญาณคือเริ่มเข้าไปแยบคาย ...มันเป็นเรามั้ย มันไม่เป็นเรานี่ มันไม่เคยนิ่ง มันไม่เคยคงที่เลย เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปท่านั้น เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปท่านี้ ...นี่มันจะเห็น มันจะเริ่มเข้าไปเห็นไตรลักษณ์ในอาการทางกาย 

แต่มันจะต้องรู้ชัดเห็นชัดอยู่ภายในกายนี้ก่อน ไม่ไปไม่มา ไม่ไปข้างนอก  นี่เรียกว่าตั้งมั่น สมาธิตั้งมั่นอยู่ที่กาย ...นี่เรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา อยู่ที่กาย  แล้วมันก็จะรู้แจ้งเห็นจริงว่ากายนี้คืออะไร 

ก็จะเห็นว่า ...อ๋อ กายนี้ไม่คืออะไร ไม่เป็นของใคร ... แล้วมันก็จะลบความเห็นว่ามันชื่อนั้นชื่อนี้ออกไป มันลบไปเองน่ะ ...ขอให้มันเห็นก่อน เดี๋ยวมันลบไปเอง  

เพราะนั้นระหว่างที่ดูนี่มันก็จะมีความเห็น ความคิด ความปรุงของมันอยู่  มันห้ามไม่ได้หรอกนะ มันก็มี  ก็เรื่องของมัน ไม่สนใจ  สนใจเนี้ย...กูจะสนใจไล่ดูกาย กูไม่สนใจเรื่องความคิด หรือความเห็นใดๆ หรือความอยากความปรุง 

แกล้งทำเป็นไม่สนใจมันซะ ...มาสนใจนี่ ทำความรู้เรื่องกายก่อน  รู้ไป ดูไป  มันจะวูบๆ วาบๆ อะไรหรือว่าขุ่นมัว กังวล วิตกเรื่องนั้นเรื่องนี้ สลัดมันทิ้ง...คือไม่ไปแช่กับมัน ไม่ไปจมปลักอยู่กับมัน

เคยเห็นควายมั้ย รู้จักควายมั้ย ...(ค่ะ) เคยเห็นควายมันนอนปลักมั้ย


โยม –   เคยค่ะ        

พระอาจารย์ –   เออ เวลาเราไปคิดไปปรุงแล้วไปจมอยู่ในความคิด เหมือนควายนอนปลัก นอนแช่ ...เหมือนสันดานของควายกับปลักน่ะ เห็นปลักไม่ได้ มันต้องแช่  ...มันเข้าใจว่าไอ้ปลักนี่เป็นมรรคผลนิพพานของมัน 

ทำไงถึงจะออกจากปลักได้ล่ะ ...ก่อนอื่นต้องยืนก่อน แม้จะยืนอยู่บนปลัก แต่ให้ยืนก่อน อย่าแช่ เข้าใจมั้ย ...(ค่ะ)

ยังไงคือยืน ...ในการปฏิบัติคือ...รู้ตัว  คือรู้ตัวว่ามีกายนี้อยู่ เข้าใจมั้ย  รู้ว่ากำลังนั่ง ...ระหว่างคิดน่ะ...รู้ว่ากำลังนั่งคิดน่ะ เนี่ย...รู้  เหมือนกับควายกำลังยืนบนปลัก นี่รู้ตัว ...เมื่อรู้ตัวแล้วยืนอยู่บนปลักแล้ว ค่อยก้าวออกจากปลัก คือรู้ตัวไปเรื่อย ...ไม่สนใจปลัก แม้ปลักมันจะยั่วยวนกวนใจขนาดไหน กูไม่สน กูจะเดินออกจากปลัก 

คือต้องมาแช่อยู่ที่กาย คือให้มารู้กาย สติให้มาตั้งมั่นที่กาย  เดี๋ยวมันก็จะมีเดินไปในกาย สติเดินอยู่ในกาย ๆ นี่คือการทำความรู้แจ้งในกาย สติก็เดินอยู่ในกาย 

ระหว่างที่สติเดินอยู่ในกาย เดี๋ยวมันก็จะไปเจอปลักใหม่ ... เอ้า ด้วยความที่ไม่ชำนาญ ด้วยความที่ว่าไม่แข็งแกร่ง สติในกายไม่แข็งแกร่ง มันก็จะกระโจนลงปลักอันใหม่ ...นี่เรียกว่าหลงอีกแล้ว 

เห็นปลักปุ๊บ... 'โอ้ย มันเหนื่อย โอ้ย มันล้า โอ้ย มันร้อน โอ้ย มัน..โอ เหมือนสวรรค์ เหมือนนิพพานมาโปรดเลยอยู่ข้างหน้า' ...มันก็เข้าไปแช่ปลักเลย  กว่าจะรู้ตัวอีกทีนึง 'อ้าว กูอยู่ในปลักไหนวะเนี่ย ..ไม่เห็นมีมรรคผลนิพพานอยู่ในนี้' 

มันเป็นความคิด ความปรุง อดีต อนาคต เรื่องของเราข้างหน้า เรื่องของเราข้างหลัง เรื่องของเราอยากได้ธรรม รู้ธรรม เห็นธรรมอันนั้น  อยากเห็นอันนั้นเหมือนคนนั้นเหมือนคนนี้ที่เคยได้ยินมา จะทำให้ได้ ...เอ้ย ฟุ้งซ่านแล้วนี่ มันกังวลอยู่นี่  จมปลักอยู่ในความคิด ปลักของความคิด ปลักของอารมณ์ ปลักในอดีต ปลักคืออนาคต 

พอรู้ตัว ...นี่ก็เหมือนกับทะลึ่งตัวขึ้นมา ควายก็ยืนเบิ่งขึ้นมาบนปลักนั้น  กลับมาเดินสติในกายต่อทันที ...ก็เรียกว่าจะค่อยๆ ออกมา 

เหมือนปลักนี่เป็นยางมะตอย มันออกยากหน่อยนะ ...ต้องหักอกหักใจ หักอาลัย หักเสียดาย  กลับมารู้กายให้ต่อเนื่องไป กลับมาเอาสติมาเดินในกายต่อ ให้สติสัมปชัญญะมันเดินอยู่ในกาย  

ที่เดียวไม่พอ ...ไล่มันทั้งตัว เอาให้มันเดินอยู่ในกาย ตั้งแต่เล็บตีนยันปลายผม ไล่ดูความรู้สึกทั่วไป เหมือนกับเดินในกาย ให้สติมันเดินว่อนอยู่ในกายนี้ ...ถือกายนี้เป็นกายนคร เดินเที่ยวเข้าไป เอาสติปัญญาเดินเที่ยวไปให้ทั่ว 

ไม่ต้องคิดนะ  ...ใช่แค่สติปัญญาเดิน เดินดูความรู้สึก เดินคือรู้สึกทั่วกาย  วนอยู่ในหนังหุ้มกระดูกเป็นที่สุดรอบ ไม่ให้มันออกนอกเนื้อนอกหนัง ดูความรู้สึก ...แล้วไม่ต้องกลัว เดี๋ยวก็เจอปลักใหม่ มันเป็นอย่างนี้ล่ะนะ นี่คือทางเดินของนักปฏิบัติ 

จนมันรู้ชัดเห็นชัดดีแล้วน่ะ 'โอ้ย..เสียเวลาว่ะ ไอ้ปลักพวกนี้ กูไม่สนเลย' ... พอเห็นปุ๊บ พอเริ่มจะคิดปั๊บ มันทิ้งเลย มันไม่สน  มันกลับมาเดินในกายต่อ ...สติมันจะเดินในกายตลอด เอากายเป็นเครื่องรู้คู่ใจอยู่ตลอด สติก็แนบลงอยู่ที่กายปัจจุบัน ...ก็เหลือแค่กายกับใจในปัจจุบัน 

ไอ้เรื่องมรรคเรื่องผลนิพพานอะไรที่เคยได้ยินได้อ่าน คนนั้นเล่าว่าได้สภาวะนั้นเห็นสภาวะนี้  มันจะทิ้งหมดเลย ไม่สนใจเลย  มันจะถือว่าเป็นเรื่องเลอะเทอะ เรื่องวิมานลอยในอากาศ เรื่องเพ้อเจ้อเรื่องเพ้อฝัน เรื่องที่ยังไม่มีอะไรจะเกิดเลย...เป็นความจำได้คาดเดาเอา  

ก็ไม่ไป ...ก็รู้แล้วว่ามันเป็นปลัก ปลักมีไว้ให้ควายแช่  ควายแปลว่าโง่ มันก็จะรู้แล้วว่ากูจะไม่เป็นควายอีกแล้ว ...พอเห็นปลักก็ 'เอ้ย ไม่เอา'

ซึ่งแต่ก่อนนี่เหมือนกับขนมหวาน บางทีไม่มีปลักมันก็ส่องหาปลัก  ไม่มีเรื่องให้คิดเรื่องให้ปรุงนะ มันเหงาใจ มันเหงา มันหง่าว มันง่อม...เซ็งว่ะ หาเรื่องคุย หาเรื่องคิด แน่ะ ทั้งที่จริงแล้วมันก็ไม่ได้คิดไม่ได้ปรุง ไม่มีเรื่องให้คิดให้ปรุง มันหาเรื่องเอง ...มันติดไง มันติดปลัก 

เพราะว่าสันดานเดิมมันเป็นควาย...ใจดวงนี้ มีควายหลายตัวเลยข้างใน หมดตัวนึง มันก็มีตัวใหม่ หมดตัวนึงมันก็มีตัวใหม่ ...จากควายเดี๋ยวก็เป็นวัว เดี๋ยวก็เป็นหมู เดี๋ยวก็เป็นหมา เดี๋ยวก็เป็นไก่ เดี๋ยวก็เป็นคน เดี๋ยวก็เป็นเทวดา เดี๋ยวก็เป็นเทพบุตร เดี๋ยวก็เป็นพรหม เอาดิ 

มันมีหลายตัวในนั้น ... พอเจอปลักไหนที่เสมอกันน่ะ 'อื้ม...ใช่เลย เป็นที่พักพึ่งพิงอาศัยกำหนดอยู่ของกู'... แช่ทันที ... เพราะในนี้นั้น มันไม่ใช่แต่ควาย  มันมีตั้งแต่ เปรต สัตว์นรก อสุรกาย เดรัจฉาน ทุกชนิด จนถึงมนุษย์ จนถึงเทพบุตรเทพธิดานางฟ้า พรหม ยม ยักษ์ ...ได้หมด 

มันเจออะไรที่มันพอเหมาะพอเจาะกับปลัก มันก็จะไปแช่ตรงนั้น ...ไปเจอความสงบน้ำใสไหลเย็นเป็นสุข ปุ๊บ ลงแช่เลย ของโปรด ของโปรดของเทวดา...ปีติ โอภาส สว่าง  พอไปเจอความสงบ เงียบบบ ว่าง ...ของกูเลย พรหม เฉย  พอไปเจอของที่ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไร ใจอารมณ์ที่ไม่มีอะไรไม่เป็นอะไร ว่างๆ โหย ใช่เลย...อรูปพรหม 

มันมีอยู่ข้างในนี่อีกหลายตัว ที่มันจะไปจมอยู่กับปลักไหน ...จนกว่าสติจะรู้เท่าทัน มันก็จะเหมือนกับอาการเดียวกับควายทะลึ่งขึ้นมาจากปลัก แล้วก็ก้าวออกจากปลัก แล้วเดินต่อไป...นั่นเรียกว่ามรรค ...ก็กลับมาอยู่ในองค์มรรคหรือว่ามัชฌิมาปฏิปทา คือรู้เท่าทันกายกับใจ ...ไปเรื่อยๆ จนไม่มีปลักตรงไหนที่จะมายั่วยวนได้ คือจะไม่หลงไปแช่ปลักไหนอีกแล้วในสามโลกธาตุ 

ในสามโลกธาตุนี่มันมีของให้มาหลอกใจเยอะ เยอะๆๆ  เยอะจนเรียกว่ามากๆๆๆ ...สามโลกธาตุนะ ไม่ใช่แค่ที่ตาเราเห็นแค่นี้ ... เพราะนั้นไอ้ที่ตาเราเห็นแค่นี้ ลมพัดสัมผัส ได้กลิ่น ได้ลิ้มรส ได้ดื่ม ได้เห็น ได้ยินนี่ แค่เท่าที่เราสัมผัสนี้ ท่านเรียกว่ากามภพ  มันยังมีอีกสองภพที่ยังมีของหลอกอีกเยอะ คือรูปภพและอรูปภพ

เพราะนั้น เบื้องต้น ท่ามกลาง ละเอียด ...แค่เบื้องต้นนี่เราก็ตายแล้ว จมปลักแล้ว นอนปลักแล้ว ...ตาเห็นรูป ปั๊บ หงุดหงิดเลย  ตาเห็นรูปปั๊บ ดีใจเลย  หูได้ยินเสียงปั๊บ โหย เพลินเลย  ได้ยินเสียงปั๊บ โกรธเลย ...นี่เป็นปลักเห็นมั้ย เห็นปลักมั้ย ที่ใจมันไปแช่อยู่ เป็นจริงเป็นจัง ด้วยความเขลา

ก็ต้องสร้างสติ สร้างปัญญา เจริญสติ เจริญปัญญา ...ด้วยศีล สมาธิ ปัญญานี่ มันจึงจะยืนหยัดขึ้นมาได้ แล้วก็กลับมาอยู่ในช่องทางหรือว่าเส้นทางของมรรค คือรู้...รู้ตัว  คำว่ารู้ตัว คือ ตัวอันหนึ่ง รู้อันหนึ่ง จึงเรียกว่ารู้ตัว 

ตัวคือ นี่...ที่นั่งอยู่นี่ ที่จับได้นี่ ที่โดนลมแล้วเย็นโดนแดดแล้วร้อน นี่แหละตัว นี่เรียกว่าตัว ... แล้วมีการรู้ตัว คือรู้เห็นว่าไอ้ตัวเย็นตัวร้อนตัวนี้ กลับมาอยู่ที่รู้ตัวอย่างนี้ ...นี่ เมื่อใดที่เรากลับมารู้ตัว เมื่อนั้นนี่เรายืนอยู่เหนือปากบ่อปากเหว อยู่เสมอ 

และในขณะที่ยืนขึ้นแล้วเราไม่ไปไม่มากับสิ่งที่มาเกาะแกะข้องแวะนะ นั่นแหละคือมรรคเดินอยู่ ด้วยความเป็นกลาง ...เดินอยู่ท่ามกลางเหวหอกดงมีดดงดาบที่แวดล้อมมันอยู่ ... แต่เวลามันนอนแช่ มันเห็นไอ้มีดดาบระเบิดปืนพวกนั้นน่ะมันเป็นเหมือนปลักควาย...มันชอบ 

แต่พอมาเดินอยู่ในทาง มันจะเห็นเลยว่าเป็นมีด เป็นเสี้ยนหนาม เป็นทุกข์  มีแต่เรื่องทุกข์ มีแต่เป็นทุกข์ มีทุกข์เป็นที่ตั้ง มีทุกข์เป็นที่เกิด มีทุกข์เป็นที่ดับไป ที่สุดของมันคือทุกข์ ...เริ่มต้นมาก็เป็นทุกข์ ตั้งอยู่ก็เป็นทุกข์ ดับไปก็เป็นทุกข์  ไม่เห็นอะไรหาอาการความสุขอะไรในปลักควายนี้ไม่ได้เลย 

ถ้าเดินอยู่ในมรรคนะ คือเดินอยู่ท่ามกลางกายกับใจบ่อยๆ คือรู้ตัวอยู่กับความรู้ตัวบ่อยๆ ... แล้วจะเห็นเลยว่าถ้าออกจากรู้ตัวเมื่อไหร่..เจ็บ เจ็บใจ เสียดแทง เป็นทุกข์ บีบคั้น ทันที  

สติจึงเรียกว่าเป็นอุปกรณ์หลัก ถ้าไม่มีสติ... ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่เกิด  เอาง่ายเอาสั้นเอาลัดเอาตรงที่สุดคือสติตัวเดียวเท่านั้นรู้แจ้งหมด  ขาดสติปุ๊บ มืดตึ้บ จะเกิดแต่ความมืดตึ้บ ไม่รู้ไม่เห็นไม่อะไรเลยสักอย่าง

เพราะนั้นไม่ต้องกังวลว่าสมาธิอยู่ตรงไหน จะนั่งให้สงบแค่ไหนพอ หรือว่าสงบแค่นี้ยังไม่พอ ...ไม่ต้องคิดมากเลย ถามตัวเองว่ารู้มั้ย ถามตัวเองว่ารู้มั้ยตอนนี้ รู้มั้ยว่ากำลังนั่ง  ถามตัวเองดู มันจะได้ไม่ลืม 

พอเริ่มจะไปนั่นจะไปนี่ จะเริ่มว่า... 'เอ ต้องนั่งมั้ย ต้องนั่งสมาธิสักกี่ชั่วโมงดี' ... ถามมันเลยตอนนี้ว่า 'รู้มั้ยกำลังทำอะไร'  ก็จะเห็นเลยทันทีว่ากำลังนั่งคิดฟุ้งซ่านอยู่ ...เห็นมั้ย นี่เรียกว่ายืนมาบนปลักแล้ว  ให้ยืนบนปลักบ่อยๆ แล้วก็เดินไปในเส้นทาง อย่าไปคิดต่อ 

ไม่ใช่พอยืนแล้ว ... 'อ๊าย..ไม่เดินอ่ะ กูนอนต่อ' ...คิดต่ออีก หาวิธีการอีกแล้ว... 'ทำนั่นทำนี่...สักครึ่งชั่วโมงดีมั้ย ระหว่างนั้นก็จะได้มีการรู้กายรู้ใจไปได้ชัดเจนขึ้นกว่านี้' ...มันเป็นเรื่องของความฝันทั้งหมดเลย  ก็รู้ตัวอีก เอ้ายืนบนปลัก แล้วก็ไม่ไปไม่มาในความคิด 

มาไปมาในกายปัจจุบัน คือเอาสติมาโลดแล่นในกาย ไม่ให้มันออกไปที่อื่น ...เมื่อสติที่มันโลดแล่นอยู่ในกายนี่ มันเหมือนกับคนที่เขาเป็นนักกีฬา  นักกีฬาเขาออกกำลังใช่มั้ย เขาออกกำลังกาย เวลาเขาออกกำลังกาย สุขภาพเขาก็แข็งแรง เห็นมั้ย กระปรี้กระเปร่า แข็งแรง 

เหมือนกัน  ...สติที่เราเหมือนกับเป็นการออกกำลังกาย เหมือนกับทำงาน ให้มันเดินไปเดินมาอยู่ในกายนี่ มันก็เหมือนกับนักกีฬาที่เขาออกกำลัง มันก็มีพละกำลังเข้มแข็งขึ้น ...คนที่ไม่ออกกำลังกายเลย ไปยกน้ำหนักสู้กับคนที่เป็นนักกีฬาได้มั้ย...สู้ไม่ได้  ก็อ่อนแออ่อนเปลี้ยเสียขาเสียแข้ง 'ไม่ไหวแระ ตายแระ สู้ไม่ได้' นั่นแหละกำลังไม่มี  

ถ้าอยากจะได้กำลัง สร้างกำลัง ต้องให้มันทำงาน ... ทำงานยังไง ...ให้มันเดินอยู่ในกายนี้ รู้ไป อย่าขี้เกียจ  เหมือนนักกีฬาต้องฝึกซ้อม ต้องออกกำลัง เอ็กเซอร์ไซส์  นี่เรียกว่าสัมมาอาชีวะ...การงานชอบ  ต้องให้สตินี่ทำงาน ถือกายเป็นงาน ถือกายปัจจุบันเป็นงาน ทำงานเดียว เอางานเดียวนะ อย่าจับปลาหลายมือ อย่ารักพี่เสียดายน้อง 

รักเดียวใจเดียว เอกังจิตตัง เอโกธัมโม...กายเดียวจิตเดียว  กายมีอันเดียวก็ต้องมีจิตอันเดียว ไม่ใช่มีหลายงาน  ไอ้นั่นก็จะเอา ไอ้นี่ก็เอา  จิตก็จะดู ปัญญาก็จะไปทำความเข้าใจกับสิ่งนั้นสิ่งนี้ กายก็จะดูเพราะอาจารย์สั่งไว้ ... 'แล้วกูจะดูอะไรดีวะ'  เนี่ย เขาเรียกว่าคนโลภมาก คนโลเล ลังเล คนหลายใจ 

คนหลายใจนี่คบไม่ได้  ถ้าคนมีแฟน แฟนมันหลายใจเรายังไม่คบเลย ต้องรักเดียวใจเดียว ...มรรคก็เหมือนกัน รักเดียวใจเดียว คือเอกังจิตตัง เอโกธัมโม กายหนึ่งจิตหนึ่ง ... กายมันมีหนึ่งอยู่แล้ว ไม่มีสองนะ ไอ้สองนั่นไม่ใช่กาย...เป็นรูปในความคิด 

มันคิดไป .. 'เดี๋ยวเราจะอยู่ที่บ้าน คิดว่าเดี๋ยวเราจะกลับบ้าน' ... มันมีภาพของตัวเราอยู่ข้างหน้า  นั่นเป็นกายเหมือนกันนะ แต่เป็นรูปกาย...ที่ยังไม่ปรากฏในอนาคต ... เพราะฉะนั้นกายตรงนี้จริง  โดนลมแล้วยังรู้สึกว่าเย็นจริงๆ เนี่ย...กายเดียว แล้วก็ให้รู้เดียวคือ...ให้สติตั้งอยู่ที่กายนี้ เรียกว่ารู้เดียว ...เห็นมั้ย กายหนึ่งจิตหนึ่ง 

กายหนึ่งจิตหนึ่งพอแล้ว อย่าโลภมากๆ ...ไอ้นั่นก็จะเอา เคยได้ยินมาเขาบอกว่าอย่างนั้นน่ะ เคยได้ยินเขาว่าวิธีการนั้น เคยได้ยินเคยอ่านครูบาอาจารย์มาท่านทำมาอย่างนั้น อยากลองดูมั่งมันจะถูกจริตเรามั้ย มันจะตรงมั้ย มันจะเร็วกว่านี้มั้ย  รู้สึกเลยว่าไอ้รู้เฉยๆ นี่มันไม่ได้อะไร มันช้า มันน่าจะมีอะไรที่ตรงจริตเรากว่านี้  

นี่ วิกลจริต เป็นจริตเอกของมนุษย์ คือวิกลจริต ...คือมันไม่พอใจตัวมันเองสักอย่าง  เพราะความอยากมันผลักดัน  อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากได้มรรคผลนิพพานเร็วๆ  วิธีการไหนที่เร็วที่สุด...ศึกษามันเข้าไป อ่านมันเข้าไป ฟังเข้าไป  อาจารย์นี้ก็แล้ว อาจารย์นั้นก็แล้ว อาจารย์นั้นเขาว่าดี อาจารย์นี้ก็ใช่ อาจารย์นี้ก็พระอรหันต์แน่ๆ เลย มันต้อง..มันต้องมีของเราสักคนนึงอ่ะ ...เนี่ย ขี้โลภ 

ไม่เอาล่ะ รู้มันไปโง่ๆ ...นี่ แค่มาสลัดอกสลัดใจ ตัดอกตัดใจ แล้วกลับมารู้ลงที่กายนี้ว่า ...ไม่เอาน่ะ ช่างมัน ...นั่นแหละ เหมือนควายยืนขึ้นบนปลักเลย ... แต่ก็ยังมีสิทธิ์นอนลงแช่ต่อนะ เพราะเดี๋ยวมันก็จะเสนอความคิดความเห็นใหม่ๆ ขึ้นมา ...เอาอีกแล้ว 'มันมาตรง..โดนลงตรงกระเบนเหน็บกูพอดี..กูต้องกระโดดพั้บลงไปแช่  แหมมันโดนไอ้จุดชี่มึ้งกูเลย' ...ก็เข้าไปอีกแล้ว 

มันต้องเป็นอย่างนั้นน่ะ ... ก็กลับมารู้ตัวอีก ต่อสู้กันอยู่แค่นี้แหละ...เบื้องต้น กับการที่อยากได้ อยากมี อยากเป็น อยากเร็วอยากช้าอะไรก็ตาม ... 'อยากสำเร็จเร็วเพราะร่างกายเรากำลังแย่ ยังไงถึงจะตรงจริตแล้วก็ได้มรรคผลเอาเร็วๆ เลย เคยอ่านมาหลายอาจารย์แล้ว' ... มันคิดไปแค่นั้นเอง 

มันเป็นแค่ความคิดไปเท่านั้นเอง ...มรรคผลนิพพานไม่ได้เกิดจากความคิด หรือว่าทำตามความคิดหรอก  มรรคผลนิพพานจะเกิดขึ้นเมื่อไม่ตามความคิด...กูไม่ไป กูไม่ฟัง กูไม่สน กูจะรู้อยู่ตรงนี้ 

เอาสติมาโลดแล่นอยู่ในกาย... นี่ เหมือนยาขมเลยนะ  แรกๆ นะ แหมมันเซ็ง มันหง่าว มันเหง้า มันเหงา มันเบื่อ  มันไม่ได้ทำอะไรที่มันเอร็ดอร่อยน่ากินน่าลิ้มรสกว่านี้มั้ย ...นี่มันอยากหาอะไรอร่อยๆ กินอะไรที่มันถูกปากกูน่ะ ไอ้ตรงนี้มันลิ้มรสแล้วมันจืดชืด 

มันจืดชืด ...แค่รู้กายเห็นกายว่านั่ง เฉยๆ อย่างนี้ เห็นมั้ย มันไม่สนุกเลยอ่ะ ไม่เห็นมีปีติปีแตะ ไม่เห็นมีความรู้สึกว่าใกล้เคียงกับสภาวธรรมที่เขาว่ากัน หรือว่าเกิดเป็นความโล่งโปร่ง อู้หูย บรรเจิดเพริศแพร้ว สว่างโล่ง อู้ย....ไม่มีอ่ะ  

เพราะกูเคยจำมาอย่างนั้นน่ะ ...เคยอ่านมา เขาเล่ามา ... นี่ อดีตมันจารึกไว้ ...เหมือนคอก เหมือนคุก แล้วก็กูจะเข้าคุกให้ได้ ชอบติดคุก ...คุกคือความคิด คุกคืออดีต คุกคืออนาคต... กูชอบเข้าคุกจริงๆ ไม่รู้เป็นโรคอะไร มันชอบเข้าไปติดอยู่ในคุกนั่นน่ะ ...บอกให้ออกก็ไม่ออก มันมีอะไรในคุกหา อ้อ ได้กินของฟรีไงเข้าคุก เขาเลี้ยง ของฟรี สบายดีไม่ต้องหา

จนกว่ามันจะรู้มันเข้าใจด้วยตัวของมันเองว่า...เมื่อใดที่ออกจากคุก อยู่นอกคุกแล้ว สบายดี ...แม้จะไม่มีความสุขแต่มันบอกว่าสบายดี เป็นอิสระ ...แค่เป็นอิสระนี่ มันรู้สึกแล้วว่า เออ มันดีกว่าถูกเข้าคอก ถูกจองจำในความคิด ในความน่าจะเป็น ในความเห็นนั้นในความเห็นนี้ ...นี่ทุกอย่างนี่คือเครื่องจองจำพันธนาการ 

แต่เราไม่ค่อยออก ... บอกให้ออกก็ไม่ออก ไม่ยอมออกกัน ...มันเห็นกุญแจมือนี่มันก็บอกว่ากำไล (หัวเราะ) มันเห็นโซ่ที่มัดล่ามนี่ มันก็บอกว่าสร้อยคอ ...นี่ความเห็นผิดนี่มันบอกอย่างนั้นเลยนะ ...'ต้องมีความคิดนะ ถ้าเราไม่คิดนะมันจะไม่ได้ เราจะไม่รู้วิธีการปฏิบัติ เราจะไม่ได้วิธีการ ทำอย่างนั้นจะไม่ประสบผลสำเร็จนะ' 

นั่งก็คิด เดินก็คิด ยืนก็คิด นอนก็คิด หลับแล้วก็ยังคิดต่อในความฝัน ตื่นมายังไม่ทันทำอะไรล้างหน้าแปรงฟันก็คิดซะก่อนแล้ว ...ลืมตัวตั้งแต่ตื่นนอนเลยว่า...มีตัวกำลังลุก กำลังเขยิบ กำลังขยับ กำลังกระเถิบขึ้นจากเตียง ...มันคิดซะก่อนแล้ว เห็นมั้ย มันตายอยู่กับความคิดโดยไม่รู้ตัว 

ทั้งวันอยู่กับความคิด ...คิดเรื่องตัวเองไม่พอ คิดเรื่องลูก คิดเรื่องพ่อ คิดเรื่องแม่ คิดเรื่องเพื่อน คิดเรื่องงาน คิดเรื่องบ้านช่อง คิดเรื่องรถรา คิดเรื่องการไปการมา การอยู่การกิน ...ทั้งวันอยู่กับเครื่องจองจำ ... พอกลับมาถึงบ้านก็บอกว่าเหนื่อย ถึงที่นอนก็บอกว่าวันนี้เหนื่อยล้าจัง แล้วก็บ่นว่ามีแต่เรื่องไม่จบไม่สิ้น ...มันจะไปจบยังไง ก็มันอยู่กับความคิดทั้งวัน

ไม่เคยหยุดกลับมาดูว่ากายนี้อยู่ไหน หือ กายมันหายไปไหนทั้งวัน...กายความเป็นจริงน่ะ เอาไปฝากธนาคารไว้มั้ง หวังกินดอกรึไง ...มันเลยหาทางออกจากคุกไม่เจอ 

มันเจอแต่ในความคิด ...คิดว่าอย่างนั้นดีกว่ามั้ง อย่างนี้ดีกว่ามั้ง  'ถ้าเราปฏิบัติแล้วเราจะได้อย่างนั้น เราจะต้องทำตัวอย่างนี้ เราจะต้องวางจิตอย่างนี้เราจะต้องวางใจอย่างนี้ งี้ๆๆ' ... คิดจนหลับไป ยังไม่ทำอะไรสักอย่าง ...คือมันสรุปไม่ได้ไงว่าจะทำไงดี

ตื่นขึ้นมาจากความคิด ด้วยการระลึกรู้ขึ้นมากับปัจจุบันกาย ...เหมือนกับควายที่ยืนขึ้น ต่อต้านปลัก ซึ่งเคยเป็นที่พำนักพักพึงมันมาแต่เก่าก่อน  ...คือควายกับปลักน่ะเห็นกันเหมือนขนมผสมน้ำยา มันต้องรวมกัน มันต้องเป็นที่พึ่งพาอาศัยแอบอิงกันตลอด 

พอบอกไม่ให้คิด ไม่ต้องคิด ไม่ต้องคิดต่อ มันก็ปฏิเสธแล้ว...'อยู่ได้ยังไง ทำได้ยังไง แล้วจะอยู่กับคนทั่วไปได้ยังไง'  แน่ะ มันเริ่มมีข้ออ้างข้อแม้ ...ไม่ยอม ไม่ยอมให้ถอน ไม่ยอมให้ออก  สุดท้ายก็ตายมัน ..มันไม่ตายเราหรอก เราน่ะตายกับมัน คือกลับไปคิดใหม่อยู่ร่ำไป 

จิตใจต้องกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ด้วยการเจริญสติสมาธิปัญญา จนมันมีพละกำลังเพียงพอ...ที่จะถอนตัวออกจากตัวของมันเอง จากเครื่องล่อลวง จากเครื่องฉุดคร่าให้เข้าไปอยู่กับมัน ไปอิงมันอาศัยมัน ...มีแต่การเจริญสติสมาธิปัญญาเท่านั้นแหละมันจึงจะไปสร้างพละกำลัง

เคยเห็นจรวดมั้ย จรวดที่ขึ้นไปในอวกาศน่ะ  มันต้องมีเชื้อเพลิงนะ กว่าจะพ้นแรงดึงดูดของโลกนี้ มันต้องกี่ท่อนล่ะ  แต่ถ้ามันหลุดจากวงโคจรของโลกได้เมื่อไหร่ ..อวกาศ ไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง ...ศีลสมาธิปัญญาเหมือนกับเป็นพลังขับเคลื่อนใจ ให้ทะลุขึ้นจากบรรยากาศของโลก

ไอ้ของพวกเรานี่มันแค่บั้งไฟอ่ะ ไปซะยังงั้นน่ะ ... ไปๆ มาๆ แทนที่มันจะขึ้นบน...กลับฟู้ว..ไปตามดินไปเรื่อย ไปชนคนนั้น ไปชนคนนี้ ตายกันเป็นแถวๆ รอบตัว ...เอาศีลสมาธิปัญญามาฆ่ามาฟัน มาทำลายล้างกัน มาเบ่งกัน มาข่มกัน มาอ้างถูกอ้างผิดใส่กัน  มันเหมือนกับไอ้บั้งไฟที่มันหันหัววิ่งไปรอบ ไปทั่วไม่มีทิศมีทาง เจออะไรมันก็ชนดะ 

มันต้องปรับหันสัมมาทิฏฐิ คือให้ตรงก่อน คือเป็นไปเพื่อความละวาง ปลดปล่อย ถอนออก เอาออก ... ไม่มี ไม่เป็น ไม่หา ไม่ก่อให้เกิด ...นั่นแหละเขาเรียกว่าปรับสัมมาทิฏฐิ คือปรับหัวมันน่ะให้ตรงออกไปนอกโลก 

คือให้หลุดพ้นออกจากโลก ...ไม่ใช่ไปหาเรื่องทิ่มตำทิ่มแทงคน เอาถูกเอาผิดอะไรกับใคร  จึงจะเรียกว่าสัมมาสติสัมมาสมาธิหรือว่าญาณ...ปัญญาญาณ  ไม่ใช่เป็นสมาธิสติปัญญาที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียน ทั้งตนเองและผู้อื่น

เพราะนั้นน่ะเราเน้นย้ำเรื่องกายใจ รู้กายก็จะรู้ใจ เห็นใจ ... นั่งอยู่ตรงไหนแล้วรู้ว่านั่ง ใจอยู่ตรงนั้นแล้ว เดินรู้ว่าเดิน เห็นอาการเดิน ใจก็อยู่ตรงที่เห็นอาการเดินรู้ว่าเดินนั้น  เห็นมั้ย เมื่อใดที่มีกาย เมื่อใดที่รู้ว่ามีกาย เมื่อใดที่เห็นกายตามความเป็นจริงในปัจจุบันของกายนั้น ใจก็คือตรงนั้นแหละ มันก็จะมาคู่กันตลอด 

เพราะใจดวงนี้ไม่เคยออกนอกกายเลยตั้งแต่เกิด จะออกทีนึงก็ตอนตายแล้วใจก็จะออกจากร่าง ไปหาดินน้ำไฟลมหรือว่าธาตุสี่ขันธ์ห้าใหม่...รวมตัวขึ้นมาเป็นสังขารปรุงแต่งขึ้นมาใหม่ ... แต่ตั้งแต่เกิดมาจนถึงขณะนี้เดี๋ยวนี้ใจดวงนี้ไม่เคยออกนอกกายเลย มีอยู่ตลอดเวลา ถ้าออกเมื่อไหร่แปลว่าตาย 

ยังไม่ตายใช่มั้ย ...ถ้ายังไม่ตายแสดงว่าใจยังมีอยู่ในนี้ ... แต่เรายังไม่เจอ เรายังไม่เห็น เพราะมันมีอะไรมาครอบคลุมมันอยู่...ความไม่รู้บ้าง ความหลงบ้าง ความเพลินบ้าง ความส่งออกไปนอกกายบ้าง ตามความคิดไป ตามอารมณ์ไป ตามเสียง ตามรูป ตามกลิ่นภายนอกออกไปบ้าง พวกนี้มันเลยทำให้ไม่เห็นว่ากายนี้มันมีใจอยู่ข้างใน 

จึงเรียกว่าต้องอาศัยสติที่กลับมารู้ที่กาย รู้อยู่กับกาย เป็นการทำให้ใจนี้ปรากฏอยู่กับกายปัจจุบัน ... เพราะนั้นอาจยังไม่ชัดเจนว่าใจมันอยู่ตรงไหน ใจคืออะไร ลักษณะอาการเป็นยังไง  รู้ไปเรื่อยๆ ความตั้งมั่นภายในจะปรากฏเอง ว่า 'อ๋อ รู้มันอยู่ตรงนี้' ...ไม่ต้องหา ไม่ต้องค้นเลย แค่ระลึกขึ้นมามันก็รู้อยู่ตรงนี้แล้ว 

นี่เรียกว่าความชำนาญ ...ฝึกบ่อยๆ เจริญสติบ่อยๆ สมาธิบ่อยๆ ปัญญาบ่อยๆ มันก็เกิดความตั้งมั่นเข้มแข็งอยู่ภายใน  ไม่ต้องควาน ไม่ต้องหา ไม่ต้องค้น ... ต่อไปนี่ ฆ่าไม่ตายขายไม่ขาด ทำยังไงใจมันก็โด่เด่อยู่อย่างนี้ มันรู้อยู่ตลอดแหละ 

แต่ก่อนหาแทบตายยังไม่เจอเลย ...ต่อไปจะไล่ให้มันหนีออกไป มันก็ไม่ออก มันอยู่ตลอด มันไม่เคยไปไหน มันตั้งมั่นอยู่ภายใน ด้วยอำนาจด้วยพลังแห่งการเจริญสติสมาธิปัญญา ด้วยการฝึกฝนอบรมกายวาจาจิตของเราเสมอ 

ต่อเนื่องในการรู้ตัวอย่างเดียว ไม่ต้องคิดไม่ต้องพิจารณาอะไรน่ะ  รู้ตัวอย่างเดียวก่อน ให้มันผูกไว้กับกายก่อน ไม่ให้ลืมกายก่อน ไม่ให้ออกหนังหุ้มกายนี้ก่อน ...ถ้าอยากคิดก็ให้มันคิดด้วยการพาสตินี้โลดแล่นไปในกายนี้ทั้งหมดก่อน 

ดูความรู้สึกทั่วกายไป มันตึงตรงไหน มันอุ่นตรงไหน  มันเบา มันขัด มันยอกตรงไหน  มันโปร่งตรงไหน มันหนาตรงไหน มันบางตรงไหน มันแน่นตรงไหน ดูมันไป ดูความรู้สึกที่กายไป ทั่วตัว เป็นวิหารธรรมไปเลย ไม่ทิ้งกาย

ถ้าทำได้อย่างนี้ ไม่ต้องไปไล่ถามหาเลยว่าสมาธิอยู่ที่ไหน ศีลคืออะไร ปัญญาอยู่ตรงไหน ความรู้เป็นปัจจัตตัง ความเข้าใจในตัวของมันเอง มันจะเริ่มค่อยๆ เปิดเผยขึ้นมาเอง  ไม่ต้องไปตามหาซื้อ ตามไล่คว้ามาหรอก 

ขอให้ทำงานให้ถูกกับงาน ทำงานให้สมควรแก่งาน เรียกว่าทำงานให้เป็นสัมมา ...สัมมาอาชีโว ผลของงานมันปรากฏเองนะ ...  แต่ถ้าทำไม่ถูกงาน แต่อยากได้ผลของงานที่ถูก..มันไม่ได้อ่ะ เพราะงานที่ทำมันไม่ถูก มันก็เลยเป็นมิจฉาอาชีโวไป

ไปแช่กับอะไร ไปจมปลักอยู่กับความคิด ไปจมปลักอยู่กับความเห็น ไปจมอยู่ในอดีตอนาคต ไปจมอยู่กับความน่าจะเป็น ไปจมอยู่กับความอยากจะเป็น ไปจมอยู่ในความไม่อยากจะเป็นอะไรพวกนี้ ...มันไม่เรียกว่าเป็นสัมมาอาชีโวหรอก มันเป็นมิจฉาอาชีโว 

ความรู้ความเข้าใจที่เคยอ่านเคยได้ยินมาในส่วนของธรรมบรรยาย ธรรมวัจนะอะไรต่างๆ ...มันก็จะเอาแต่ผลอันนั้น ซึ่งพอมันไม่ได้ ก็ว่ามันไม่มีทางได้หรอกนะ  เมื่อไม่เข้าใจมันก็เกิดความท้อถอย ทำไมไม่ได้สักที ทำไมมันไม่เห็นเกิดผลอย่างนี้ อย่างนั้น อย่างโน้น ...ก็เกิดความท้อถอยลังเล ขี้เกียจขี้คร้านทับถมทวีคูณขึ้น

มีแต่ความเพียรเท่านั้น ที่กลับมาตั้งมั่นรู้อยู่เห็นอยู่ในกายก้อนนี้ ...นเห็นว่ากายนี้ ก้อนนี้ เป็นแค่องค์ประกอบหนึ่งของสังขารขันธ์  คือการรวมตัวกันของวัตถุธาตุ เป็นการรวมกันด้วยวิบาก อำนาจของวิบากกรรม ...ไม่เห็นว่าเป็นเราของเรา แต่มันเห็นเป็นแค่วิบากขันธ์  เป็นผลสืบเนื่องมาจากกรรมในอดีต ที่จะต้องมาชดใช้อยู่กับมัน เป็นแค่วิบากอันหนึ่งไม่ใช่ของใคร 

แต่ด้วยวิบากนี้จำเป็นจะต้องผูกไว้กับใจดวงนี้ หนีไม่ได้ ต้องมาทนอยู่กับมัน อยู่แบบจำทน ...เพราะมันเป็นก้อนทุกข์กองทุกข์จริงๆ เป็นก้อนไฟกองไฟ เป็นก้อนกองเพลิง ...เหมือนระเบิดเวลา มันยังไม่ปะทุ มันรอวันปะทุ ท่านเห็นอย่างนั้น 

เป็นก้อนวิบากที่มันรอเหมือนระเบิดเวลา เราไม่รู้หรอกว่าชนวนมันจะปะทุเมื่อไหร่  มันพร้อมเสมอที่มันจะแตก ที่มันจะดับ ที่มันจะบิด จะเบี้ยว จะแปรปรวน จะเปลี่ยนรูปได้ตลอดเวลา นี่ท่านเห็นอย่างนี้ 

แต่ว่าหนีก็ไม่ได้นะ ต้องจำยอม ด้วยอำนาจของกรรมและวิบากมันผูกให้ใจดวงนี้ต้องอยู่กับมัน ...ท่านไม่ได้เห็นหรอกว่าก้อนนี้เป็นของใคร  แต่มันเป็นพันธสัญญา เป็นพันธกิจ ที่จะต้องชดใช้อยู่กับมัน สืบเนื่องมาด้วยความโง่เขลาแต่เก่าก่อน 

แต่ระหว่างที่ท่านอยู่อย่างนี้ ท่านก็อาศัยมันนั่นแหละเป็นบันไดให้ก้าวข้ามก้าวพ้น ไม่กลับมาเอามันอีก ไม่กลับมามีมันอีก จะได้เรียกว่าจบแล้วจบเลย ตายแล้วตายเลยไม่กลับมาตายอีก ไม่กลับมาเกิดอีก

ตายไม่ต้องกลัวน่ะ... กลัวเกิด มันตายอยู่แล้ว ตายทุกคน ไม่ต้องกลัว ...แต่ตายแล้วนี่ มาเกิดมั้ย ไอ้นี่น่ากลัว น่ากลัวกว่าการตายอีก ... เพราะไม่รู้มันจะเกิดยังไง ไม่รู้มันจะไปเกิดที่ไหน ไม่รู้จะเกิดเวลาไหน ไม่รู้ว่าจะเกิดเป็นอะไร น่ากลัวมั้ย จะมาเป็นงี้เปล่า หรือไปเกิดเมืองฝรั่งมังค่า หรือไปเกิดในแอฟริกาหรือไปเกิดในไหน เลือกได้มั้ย รู้ได้รึเปล่า ใช่มั้ย 

ไอ้ตายมันไม่น่ากลัวเท่าเกิดหรอก เกิดมานี่คติที่ไปยังไม่แน่นอน ไม่รู้ด้วยซ้ำ  ให้ตายตอนนี้รู้มั้ยนี่ไปเกิดเป็นอะไร ยังไม่รู้เลย แล้วมันจะเป็นอะไรก็ได้ บอกให้เลย  แล้วแต่กรรมมันจะพาไป เหมือนซื้อลอตเตอรี่อ่ะ ถูกรึเปล่าก็ไม่รู้ กะว่ารางวัลที่หนึ่ง โธ่เอ้ย..เลขท้ายตัวเดียวยังไม่ถูกเลย

มันไม่เป็นอย่างที่เราคาดหรอก ใครจะไปรู้ล่ะ  ...กรรมเป็นเรื่องอจินไตยน่ะ ไม่ได้ด้วยตรรกะหรือว่าเหตุผลร้อยเปอร์เซ็นต์ เป็นเรื่องอจินไตย ... หูย ทำดีมาตลอดชีวิต ตายไปเป็นเปรตก็ยังได้ แค่ขณะจิตเดียว จะทำยังไงล่ะ

ก็มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลเลยใช่มั้ย พระนางอะไรที่เป็นเมียของพระเจ้าแผ่นดิน โหยทำบุญมากมายมหาศาล มีอยู่ครั้งไปเดินข้ามผัวนอนอยู่แล้วก้าวข้ามไปบนเตียง ตอนจะตายไปคิดอยู่เรื่องนี้ ลงนรกเลย ...มันไม่ได้บาปบุญหรือด้วยอานิสงส์อะไร แต่ด้วยจิตที่ไปผูกไว้ว่าทำผิดแล้วต้องลงนรกเพราะทำไม่ดี จึงไปลงนรก แบ่งครึ่งหนึ่ง กายส่วนหนึ่งอยู่บนสวรรค์วิมาน ส่วนขาอยู่ในนรกอสุรกาย 

ท่านเปรียบเทียบให้เห็นนะ อย่าประมาทในกรรม อย่าคิดว่าแน่ อย่าคิดว่าชัวร์ ...เอาแน่ไม่ได้ จนกว่าจะเป็นปัจจัตตัง ...และมีผู้ที่เป็นปัจจัตตังอยู่สี่บุคคล โสดา สกิทาคา อนาคา อรหันตา ท่านรู้ ด้วยตัวท่านเอง จะเกิดอีกกี่ครั้ง อย่างมากอย่างน้อยกี่ครั้ง ท่านประเมินได้ ... นี่ปัจจัตตังนะ 

อย่างเราประเมินไม่ได้ ไม่มีทาง  ประเมินก็หมายความว่าไม่จบอีกแหละ และไม่แน่นอนด้วย ...แต่ถ้าเป็นบุคคลในสี่จำพวกนี้ ท่านประเมินตัวเองได้ด้วยตัวเอง  จนถึงพระอรหันต์นี่ท่านไม่ต้องประเมินแล้ว ท่านฟันธง หมายความว่าจบ คือปิดเสื่อปิดม้วนแล้ว ...ด้วยตัวเอง ไม่ต้องให้ใครมายืนยันพยากรณ์อะไร 

แต่ว่าต่ำกว่านั้นมา ท่านก็รู้ด้วยตัวเอง ว่าอย่างมากก็ไม่เกินกี่ชาติ อย่างมากก็ไม่เกิน ๓ ชาติ อย่างมากไม่เกิน ๗ ชาติ  นี่เห็นมั้ย สติของท่านแน่นอน...ด้วยตัวเอง  

เพราะนั้นจึงไม่ต้องกลัวตาย ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ที่ยังมีลมหายใจอยู่นี่ให้เป็นประโยชน์สาระสูงสุด คือให้มีสติรู้ทุกขณะไป ในกายอันนี้  นั่นแหละคือสาระหรือประโยชน์สูงสุด ...ไม่มีอะไรเป็นประโยชน์สาระสูงสุดกว่านี้แล้ว บอกให้เลย ...ยืนยัน 

ไม่งั้นเวลาที่ล่วงไปจะเปล่าๆ ปลี้ๆ เอาคืนไม่ได้ ด้วยการมานั่งคิดนั่งเพ้อละเมอถึงร่างกายในอดีตร่างกายในอนาคต จะทำยังไงกับมันดี  วิตกกังวล เสียเวลาเปล่า ..เสียเวลาไปเปล่าๆ เลยนะ ... เมื่อรู้ตัวแล้วระลึกได้ กลับมารู้ตัว กลับมาดูกาย กลับมารู้สึกที่กาย ตามความเป็นจริงที่ปรากฏตรงนี้เลย 

อย่าเบื่อ อย่าหนี อย่าท้อ ดูไป เรายืนยันได้เลยว่านี่คือสาระสูงสุด นี่คืองานสูงสุด เป็นงานที่เป็นมงคล เป็นงานที่เป็นเลิศ เป็นงานที่เป็นเอก ...ให้มุ่งมั่นลงในงานนี้ เพียรรู้ลงที่กายใจ นี่คืองานชิ้นเอก ความปลดเปลื้อง ความปลดปล่อย ความเป็นอิสระออกจากโลก ออกจากขันธ์ ตามมาเอง

เพราะนั้นการฟัง แล้วก็คิดตามที่เราพูด นี่แค่สุตตะ นี่แค่จินตา ฟัง...ได้ยินเรานี่สุตตะ ฟังทางหูแล้วก็คิดตามทำความเข้าใจทบทวน นี่เรียกว่าจินตามยปัญญา  บางขณะมีการที่เราเน้นลงไปที่ว่า รู้ตัวมั้ย เห็นมั้ย ว่ากายมี เห็นความรู้สึกทางแขนทางขามั้ย นี่เรียกว่าภาวนามยปัญญา มันก็มีเป็นขณะๆ 

เพราะงั้นตัวที่จะเกิดความรู้จริงเห็นจริง ต้องอาศัยภาวนามยปัญญาตัวนี้เป็นหลัก ... ไม่ใช่แค่คิดกับแค่จำ ไม่ใช่แค่คิดกับแค่พิจารณาหรือเข้าใจ  มันจะต้องมีภาวนามยปัญญาอย่างที่เราเน้น ... รู้ตัวมั้ย  รู้สึกที่แขนมั้ย รู้สึกที่ขามั้ย ตรงนี้...อาศัยตรงนี้เรียกว่าภาวนา ภาวนามยปัญญาก็จะเกิดความรู้จริงเห็นจริงตรงนี้ 

แล้วก็ทำภาวนามยปัญญานี้ให้สืบเนื่องต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย จึงจะบังเกิดผลที่เรียกว่ามรรคหรือว่าผลเป็นนิพพานสมบัติขึ้นมา เป็นความรู้แจ้งเห็นจริงขึ้นมา ... มันจะเปิดเผยทางแห่งมรรคให้ชัดเจนขึ้นตามลำดับ เกิดความมั่นคงมั่นใจในการรู้อันเดียวนี้ 

ความโลเล ลังเล เหลาะแหละอ่อนแอ กังวล มันจะค่อยๆ เจือจางไป หมดไป สิ้นไป ดับไป  ความลังเลสงสัยในการงานที่ทำอยู่นี้ จริงมั้ย ได้มั้ย จะเกิดผลมั้ย ...มันจะหมดความลังเลสงสัยอันนี้ มันจะล้างได้ด้วยภาวนามยปัญญาเท่านั้น 

แต่ก่อนที่จะเกิดภาวนามยปัญญาได้ มันจะต้องอาศัยสุตตะกับจินตาเบื้องต้นก่อนไม่งั้นภาวนามยปัญญาไม่เกิด ...ถึงบอกว่าปริยัติ ปฏิบัติ แล้วจึงมีปฏิเวธ ต้องอาศัยอิงแอบแนบกันอย่างนี้ ... แต่อย่าไปผูกแค่ปริยัติหรือปฏิบัติในความคิดความจำเท่านั้น มันจะต้องลงไปที่กายใจจริงๆ ด้วยสติสัมปชัญญะในปัจจุบัน ปฏิเวธจึงจะปรากฏคือผล

เมื่อเข้าใจในความนี้แล้ว ...ก็ให้คิดให้น้อยลง ความจำได้หมายรู้ต่างๆ ที่เคยจดเคยจำมาอ้างอิงเปรียบเทียบ ก็ให้ทิ้งลงไป  ไม่เอาแล้ว เอาแค่รู้จริงเห็นจริงกับกายจริงในปัจจุบันมากๆ พอแล้ว ...คือว่าให้เน้นให้เริ่มลงไปที่ภาวนามยปัญญา คือภาวนาลงที่กาย 

เพราะฉะนั้นถ้ามีภาวนาลงที่กายแล้ว ยืนก็ภาวนา นั่งก็ภาวนา เดินไปไหนมาไหนก็ภาวนา จะหยิบจะจับจะเคลื่อนจะไหวก็ภาวนา  มันมีภาวนาได้ตลอดเวลา ไม่ต้องอ้างกาลเวลาแล้ว ... ถ้าทำได้อย่างนั้นน่ะไม่ต้องถามหามรรคผลนิพพานเลย ไม่อยากได้มันก็ต้องได้ ไม่อยากเห็นมันก็ต้องเห็น ไม่อยากละมันก็จำเป็นต้องละ ไม่อยากออกมันก็ต้องออก มันทนไม่ได้หรอก 

เมื่อปฏิบัติลงไปด้วยภาวนามยปัญญาแล้ว  กิเลสน้อย กิเลสใหญ่ กิเลสละเอียด มันอยู่ร่วมกันไม่ได้ ...เหมือนความสว่างกับความมืดน่ะ อยู่ด้วยกันได้มั้ย  ถ้าได้สว่างขึ้นมานี่ มืดอยู่ไม่ได้น่ะ  

ลองได้ภาวนามยปัญญาลงไปในทุกอิริยาบถทุกขณะจิตแล้ว เหมือนแสงสว่างที่สาดส่องไปในขันธ์ทั้งห้า ...กิเลสน้อยใหญ่ที่จะมาจับที่ขันธ์ทั้งห้า มันจะเกิดได้ยังไง  ความมืดความไม่รู้ ก่อเกิดไม่ได้นะ จับตัวขึ้นมาไม่ได้เลย ...มันละอยู่ในตัวของมันเองด้วยปัญญา ด้วยการรู้การเห็นในปัจจุบันเท่านั้น 

เพียรลงไป ตั้งใจลงไปอยู่เสมอ อย่าขี้เกียจ อย่าคิดว่ามีอะไรดีกว่านี้ มีอะไรประเสริฐกว่านี้ ... จะมีอะไรประเสริฐกว่าพุทธะ ธรรมะ สังฆะ...ไม่มี  อย่าไปคิดว่าความคิดในอดีต ความคิดในอนาคต ความเห็นอย่างนั้นความเห็นอย่างนี้มันจะมาประเสริฐกว่าพุทธะ ธรรมะ สังฆะ

เพราะนั้นสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่เราแนะนำอยู่นี่ สิ่งที่บอกให้เจริญสติรู้กายรู้จิตปัจจุบันนี่คือประเสริฐที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรประเสริฐกว่านี้แล้ว  นี่คือจุดรวมศูนย์รวมของพุทธะ ธรรมะ สังฆะ ภายใน ...ไม่ใช่พระพุทธรูป ไม่ใช่พระเป็นตัวเป็นตนอย่างนี้ ไม่ใช่ตำราที่เขียนมา 

เพราะนั้นนี่คือทางอันประเสริฐ ท่านถึงเรียกว่าเป็นเอกายนมรรค เป็นทางสายเอก ไม่มีทางไหนที่จะประเสริฐเลิศกว่าทางสายนี้แล้ว  อย่าไปเชื่อคำป้อยอของจิตของใจที่มันปรุงที่มันแต่ง ที่มันขุดที่มันค้น ที่มันแสดงความคิดความเห็นใดๆ ที่มันให้เฉไฉออกไปจากนอกนี้ อย่าไปฟัง

เอาล่ะ พอแล้ว ... เข้าใจมั้ย ...ให้เข้าใจลงไปตรงนี้ แล้วก็ทำเจริญสติขึ้นในกายนี่แหละ  ไม่ต้องคิดเรื่องอื่นให้วุ่นวาย ไม่ต้องหาวิธีการปฏิบัติให้วุ่นวาย ไม่ต้องมีรูปแบบของการปฏิบัติให้วุ่นวาย ที่ไหนเวลาไหน...ไม่มี  มีแต่ปัจจุบันเดี๋ยวนี้ขณะนี้เป็นหลัก 

อย่าบอกว่าเวลานั้นเวลานี้ ...มันไม่มีเวลา มีแต่เดี๋ยวนี้  ถ้ามีแต่เดี๋ยวนี้แล้วไม่มีเวลา ไม่มีคำว่าเวลาเลย ...มีแต่รู้เดี๋ยวนี้ เห็นอยู่เดี๋ยวนี้ มีแต่เดี๋ยวนี้เป็นหลักเท่านั้น  อย่าคิดว่าเมื่อนั้นเวลานี้ ผัดวันประกันพรุ่งไม่มีเวลา 

ช่างหัวกายมันจะเป็นยังไง มันจะเสื่อมยังไง มันจะดีไม่ดี มันจะแย่ลงยังไง ...มองลงไปเป็นกลางๆ เป็นเรื่องของมัน ...ไม่ใช่เรื่องของเรา


.................................