วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/17



พระอาจารย์
5/17 (540915A)
15 กันยายน 2554


พระอาจารย์ –  ไปไหนก็ได้ กายใจอันเดิม กายอันเก่า ใจอันเก่า เหตุอันใหม่ ประกอบเหตุปัจจัยอันใหม่ แล้วก็ดับ ไม่มีอะไรเป็นของใหม่หรอก

มันเหตุปัจจัยเกิดขึ้นมาใหม่...ดูเหมือนใหม่ แล้วก็ดับไป ของเกิดดับใหม่ ...มีเก่าอยู่ตัวนึง ตัวรู้ตัวเห็น ตัวเก่า เห็นแบบเก่า ...แต่สิ่งที่เห็นน่ะใหม่ แล้วก็ดับไป...ตามอาการปรุงแต่ง

โลกนี้คือความปรุงแต่ง ขันธ์คือความปรุงแต่ง ...ขันธ์ห้าคือความปรุงแต่ง โลกก็อยู่ด้วยความปรุงแต่ง 

ถ้าเราไม่เห็นความเป็นจริง ว่ามันเป็นเรื่องของความปรุงแต่ง...ที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย  มันก็จะหลงในของปรุงแต่ง...ว่า ดี-ร้าย ถูก-ผิด แค่นั้นเอง

แต่แรกๆ มันก็ต้องอาศัยความปรุงแต่งบางประเภท เพื่อให้เกิดความตั้งมั่น เป็นกลาง...ง่ายต่อการที่จะเข้าไปผู้สังเกตการณ์ ...เพราะการสังเกตการณ์ในบางเหตุที่ปรุงแต่งภายนอกมันก็ยาก

มันยากที่จะเป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ มันมักจะเข้าไปร่วมเสมอ เข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ ...เมื่อเข้าไปร่วมในเหตุการณ์นั้นๆ น่ะ มันก็จะเกิดหลงในเหตุการณ์นั้นๆ ที่ปรากฏ

แต่ว่าบางครั้งนี่ การที่เราลาพักร้อน เหมือนกับลากิจชั่วคราว เพื่อมาทำหน้าที่เป็นผู้สังเกตการณ์ จะได้เป็นผู้สังเกตการณ์ที่ดี มันจะได้เกิดความชัดเจน สะสมเพิ่มพูนปัญญา

แล้วก็อาศัยการสังเกตการณ์ได้ชัดเจนนี่ แล้วมันเพิ่มพูนปัญญา ...มันก็เอาปัญญานั่นน่ะมาใช้เมื่อเราหมดเวลาพัก...คือมาอยู่กับโลกตามความเป็นจริง

เพราะมันลาพักไม่ได้ตลอดชีวิต มันจะอดตาย  เพราะเราต้องทำงาน เพราะเราต้องอยู่กับคน ...นี่ เหตุไม่เอื้อ ทำบุญไม่ดี วิบากไม่ดี ส่งผลมาให้ต้องทำงาน ไม่ทำก็ไม่ได้ ตายแน่ เห็นมั้ย 

นี่ แล้วจะทำยังไงถึงจะอยู่ได้ด้วยปัญญา ...มันก็ต้องมีการลาพักชั่วคราว เพื่อมาทำความชัดเจน เพิ่มพูนพอกพูนปัญญา แล้วเอาปัญญาไปใช้ในชีวิตที่เราจะต้องอยู่กับมันตลอด...ในความปรุงแต่งที่เร่าร้อน

การที่มาอยู่กับธรรมชาตินี่ มันก็คือความปรุงแต่งหนึ่งเหมือนกัน แต่เป็นความปรุงแต่งที่ไม่เร่าร้อน หรือเร่าร้อนน้อยลงแค่นั้นเอง เอ้า ว่าอย่างนั้น เป็นความปรุงแต่งที่เรียบง่าย เหมาะสม เรียกว่าเป็นที่นั่งที่นอนอันสงบ

ในโอวาทปาฏิโมกข์ พระพุทธเจ้าท่านแนะนำไว้อยู่แล้ว ... ขันตี ปรมัง ตะโป ตีติกขา ขันติเป็นเครื่องแผดเผากิเลสที่เร่าร้อน 

กุสลัสสูปสัมปทา การทำบุญ การไม่ทำบาป การชำระจิตให้บริสุทธิ์ การเห็นนิพพานเป็นของยิ่ง การนั่งการนอนในที่อันสงัด การประมาณในการบริโภค เนี่ย คือโอวาทปาฏิโมกข์

เพราะนั้นสถานที่อย่างไร ที่สามารถอยู่ในสิ่งที่พระพุทธเจ้าท่านแนะนำ ท่านบอกว่ามรรคจะเจริญได้ดี ...เมื่อเจริญมรรคได้ดีแล้ว ผลมันก็ได้มา คือปัญญาเห็นแจ้ง เห็นชัด เห็นธรรมตามความเป็นจริงมากขึ้น

ปัญญานี่คือเห็นความเป็นจริงมากขึ้น ...ไม่ใช่ความรู้วิเศษวิโสประหลาดมหัศจรรย์พิสดารอะไรหรอก แต่เห็นขันธ์ว่า...เกิดตรงนี้ ตั้งอยู่ตรงนี้ แล้วก็ดับไปตรงนี้ ด้วยตัวของมันเอง

นั่นแหละ มันเห็นธรรมอย่างนั้นชัดเจน นั่นเรียกว่าปัญญา ...ซึ่งอาศัยการอยู่ในองค์มรรค อยู่ในสถานที่ที่มรรคเจริญได้ง่าย ปัญญาก็เกิดได้ง่าย  

แต่ถ้าไม่เข้าใจ มันก็จะไปติดสถานที่ว่า “ต้อง” อย่างนั้น นี่คือมันจะต้องพึ่ง ...อย่างนี้ไม่ถูกแล้ว

แต่ถ้ามันมีปัญญาแล้ว มันจะเข้าใจมากขึ้นว่า...ที่ไหน เวลาไหน เมื่อใด...อกาลิโก นี่มันเริ่มเข้าไปเป็นอกาลิโก ไม่เลือกกาลเวลา สถานที่ ...แต่ว่าปัญญามันจะต้องจัดเจนก่อน 

ไม่ไปติดว่า ถ้าไม่ได้อยู่ตรงนั้น ตรงนี้ แล้วภาวนาไม่ได้ ทำไม่ได้ ...แล้วมันจะเป็นข้ออ้าง...ข้ออ้างที่จะใช้ชีวิตเพื่อรอคอย “วันนี้ก็ไม่ใช่ เดี๋ยวนี้ก็ยังไม่ใช่ ไว้เมื่อนั้น เดือนหน้า ได้เวลาพักเมื่อไหร่ล่ะเอาให้เต็มที่เลย”

แล้วเวลานี้มันทำอะไร หือ เล่นหมากเก็บอยู่มั้ง เอ้า มัวแต่เล่นหมากเก็บอยู่มั้ง ...ไม่ได้ ไม่อ้างกาล ...ถึงแม้ไม่มีเวลา...ก็ต้องเป็นเวลาภาวนาเมื่อนึกได้เจริญได้ด้วยสติ

เพราะนั้นสติ...เป็นแม่ทัพเอก รู้ตัว รู้อยู่...กับปัจจุบัน จึงเป็นธรรมที่เหนือธรรมทั้งหลายทั้งปวง ไม่สามารถจะมีข้อแม้เงื่อนไขอะไร ...ยังไงยังงั้นน่ะ จำไว้เลย สติกับปัจจุบันนี่...ยังไงก็คือยังงั้นน่ะ

ถ้ารู้ตรงนั้น เห็นตรงนั้น แล้วมันปรากฏอย่างนั้น ...ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร ไม่ว่ามันจะเป็นสัตว์ เป็นผี เป็นนางงาม ก็มันเป็นอย่างนั้นน่ะ ...ตรงคือตรงนั้น ธรรมเป็นอย่างนั้น ณ ขณะนั้น ปัจจุบันนั้นๆ 

รู้ลงไป ดูลงไป ไม่เลือก ไม่ต้องเลือก ...จะดี จะร้าย จะถูก จะผิด จะใช่ จะไม่ใช่ จะควร จะไม่ควร ...จะอะไรมันปรากฏอาการนั้นขึ้นมาตรงนั้น ดูมัน รู้มันตรงนั้นน่ะ 

เนี่ย สติที่เป็นกลาง ...ไม่ใช่สติแบบมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ใช่สติแบบมีสิทธิ์เลือกได้ หรือเลือกมีอภิสิทธิ์ “...อย่างนี้ต้องๆ อย่างนี้ใช่ อย่างนี้ไม่ใช่ อันนี้ไม่น่า แหม มันทำไมๆๆ...” 

มันจะทำไมทำซากอะไรหือ ...ก็มันเกิดอย่างเนี้ย ทำไม มีปัญหาอะไรกับมัน ...มันยังไม่มีปัญหาเลยที่มันจะเกิดมา ปรากฏขึ้น ตั้งอยู่ ...แล้วมึงจะไปมีปัญหาอะไรกับมัน

เนี่ย เพราะนั้นสติจะต้องไม่มีอภิสิทธิ์ ไม่ต้องเลือก ...อะไรมันปรากฏตรงปัจจุบันนั้น ถือว่าเป็นความพอดีแล้ว ...ไม่เอาถูก ไม่เอาผิด ไม่เอาดี ไม่เอาร้าย ไม่เอาว่านี่เป็นธรรม นี่ไม่เป็นธรรม  

ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่มีอะไรไม่เป็นธรรม ...มีแต่ใจที่ไม่รู้เท่านั้นแหละที่ไม่เป็นธรรม มันเลือก มันแบ่ง มันไม่ยอม มันไม่พอ มันไม่หยุด มันหาความพอดีไม่เจอ มันไม่เป็นกลาง

รู้ เห็น ...อยู่แค่รู้ แค่เห็น อย่าเกินรู้เกินเห็น ...ถ้าเกินรู้เกินเห็นน่ะมีปัญหา ถ้าอยู่แค่รู้แค่เห็นน่ะไม่มีปัญหา

...อย่างรู้ว่าเห็น ถ้าอยู่แค่รู้ว่าเห็น ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไปอยู่ในการเห็นน่ะมีปัญหา   

ถ้าได้ยินเสียง รู้ว่าได้ยิน ไม่มีปัญหา ถ้าไปอยู่ในเสียงที่ได้ยิน มีปัญหา ...อย่างมีความคิด ถ้ารู้ว่ามีความคิด หรือเห็นว่ากำลังคิด มันก็ไม่มีปัญหา  แต่ถ้าเกินเข้าไปในความคิดน่ะ เดี๋ยวมีปัญหา

มันจะเป็นเรื่องราวทันที มันจะเป็นจริงจังทันที มันจะเป็นของเที่ยงขึ้นมาทันที มันจะเป็นของเราของเขาขึ้นมาทันที ...เห็นมั้ย นี่ มันไม่อยู่แค่รู้เห็น ถ้าอยู่แค่รู้เห็นน่ะไม่มีปัญหา

เพราะนั้นการที่อยู่แค่รู้เห็นน่ะ ท่านเรียกว่าเห็นชอบ จึงเรียกว่าสัมมาทิฏฐิ เรียกว่ารู้เห็นเป็นชอบ ไม่ใช่ไปอยู่ในสิ่งที่ถูกรู้ถูกเห็นน่ะ ท่านเรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ  ...แล้วก็หยิบมาวิพากษ์ วิจารณ์ วิตก หงุดหงิดๆๆ

หงุดหงิดทำไม มันฟังมั้ย มันห้ามได้มั้ย มันแก้ได้มั้ย ไปไล่เอามือปิดปากคนทั้งโลกเขาได้มั้ย ไปบังคับให้เขาแสดงอากัปกริยาที่ดี ที่ควร ที่ใช่ ที่ถูก ที่ผิดได้มั้ย 

มันหงุดหงิด...เพราะมันไม่อยู่แค่รู้และเห็น พอเริ่มหงุดหงิดนี่กิเลสเกิดแล้ว ถ้าอยู่ที่รู้เห็นน่ะกิเลสไม่เกิด ถึงกิเลสเกิดแล้วก็รู้เห็นอีก กิเลสไม่เกิดต่อ  ถ้าไปอยู่ที่กิเลส กิเลสเกิดต่ออีก เอ้า

มันไม่อยู่แค่รู้เห็นน่ะ มันอยู่ที่รู้หา ...บอกให้รู้เห็นก็ดันรู้หา บอกให้รู้อยู่...ก็รู้ไป  มันจะจบได้ยัง ก็มันไม่รู้อยู่ ...มันจะต้องมีอะไรที่เหนือกว่า อะไรที่ดีกว่า นี่มันยังหาอะไรที่ดีกว่าหรือเปล่า

ต้องทัน แล้วก็หยุด อยู่กับปัจจุบันนั้นๆ ยอมรับธรรมตามความเป็นจริงในปัจจุบัน เรียกว่า ตัตถะ ตัตถะปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ

พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ปัจจุปันนัง คือปัจจุบันเท่านั้น ตัตถะๆ ที่นี้ๆ วิปัสสติ  ให้ตั้งสติอยู่ที่ปัจจุปัน ที่นี้ๆ นี่แหละ จึงจะเกิดความเห็นธรรมตามความเป็นจริงว่า ธรรมคืออะไร ธรรมคือใคร ของใคร หรือไม่เป็นอะไร 

เนี่ย ที่มันไม่เห็น มันไม่เห็นอยู่แค่นี้แหละ...ไม่เห็นธรรมตามความเป็นจริงถ้าตัตถะๆ ลงไป คือตัดอดีต ตัดอนาคต คือตัด...อยู่ที่นี่ๆ ก็จะเห็นปัจจุปันนัง นี่คือไตรลักษณ์ เกิดเอง ตั้งเอง ดับไปเอง 

อย่างเนี้ย ...มันเป็นอย่างนี้ มันเป็นเช่นนั้นเอง ไม่เป็นใคร ไม่เป็นอะไรหรอก ไม่เป็นของใครหรอก ไม่มีความหมายอะไรหรอก

เวลาเดิน ขาซ้ายก้าว...ขาขวาก้าวตามๆ เวลาขาซ้ายก้าว ดูความรู้สึกว่ามีความรู้สึกที่ขาซ้าย หยั่งลงไปปั๊บ ความรู้สึกหยุด ขาขวาก้าวแทน มีความรู้สึกที่ขาขวาเกิด ความรู้สึกที่ขาซ้ายดับ

เห็นความดับไปมั้ย ...ดับ เกิดครั้งเดียวแล้วก็ดับ แล้วก็มีขาซ้ายก้าวขึ้นมาใหม่ ...ไม่ใช่ความรู้สึกเก่านะ เป็นธรรมที่ปรากฏขึ้นใหม่...ที่ดูเหมือนเดิม แล้วก็ดับ ...แล้วก็มีขาขวาเกิดมาแทนขาซ้ายใหม่

เห็นมั้ย ธรรมมันเกิดดับ แต่ละครั้ง...เกิดครั้งเดียว ดับครั้งเดียว ไม่มีดับสองครั้ง ไม่มีดับอีก ...มันเกิดเท่าไหร่ดับเท่านั้น ระหว่างที่ขาขวาเดินแล้วขาซ้ายดับ แล้วจะเก็บมันตรงไหนดี

ไอ้ความรู้สึกที่ดับไปน่ะ ฮึ มันเก็บได้มั้ย มันครอบครองได้มั้ยไอ้ความรู้สึกที่ดับไปน่ะ มันไปซ่อนอยู่ตรงไหน มีที่ให้เก็บมั้ย ...มันเก็บไม่ได้น่ะ มันเกิดครั้งเดียวดับครั้งเดียวน่ะ

เนี่ย ธรรม เป็นหนึ่ง ไม่เป็นสอง ...อย่าคิดว่ามันหายไปแล้วมันอยู่ที่ใดที่หนึ่งในสามโลกธาตุนี้นะ ... มันหายไปไหน นี่ หายไปในสุญโญ สูญโญ สูญญตา เนี่ย ธรรมนี่เป็นสุญญตา เกิดครั้งเดียวแล้วก็ดับไปเลย

เวลามันเกิดขึ้นมามันดูเหมือนของเก่า แต่มันของใหม่ที่เกิด ด้วยเหตุปัจจัยใหม่ อย่างนี้ ...ให้มันเห็นปัจจุบันจริงๆ เกิดตรงปัจจุบันแล้วก็ดับลงไปในปัจจุบันนั้นน่ะ

ไอ้ที่เห็นอาการซ้ำซากๆ น่ะ มันคือของใหม่ทั้งนั้นนะ เกิดใหม่ เหตุปัจจัยใหม่แล้วก็ดับไป แล้วก็เกิดใหม่แล้วก็ดับไป ...แต่สัญญา มันเห็นสัญญามันเที่ยง 

มันไม่เห็นว่าสัญญาไม่เที่ยง มันยังเชื่อในสัญญา มันเลยคิดว่ามันยังมีอยู่ มันจำได้ ...มันก็เลยเชื่อมกันเป็นตัวอยู่ ความเป็นตัวจึงมี

เมื่อกี้นั่งบนรถใช่มั้ย ตอนนี้มานั่งตรงนี้ใช่มั้ย ไอ้ตัวบนรถน่ะมันตายแล้ว ตายแล้วนะ มันสูญเลยนะนั่นน่ะ เอาคืนไม่ได้น่ะ เอาไปเก็บตรงไหน นี่ มันหายไปเลยนะนั่นน่ะ

เอ้า ถึงแม้จะไปนั่งรถใหม่ก็ตัวใหม่ เป็นอาการใหม่นะ เดี๋ยวก็ตรงนี้แป๊บนึง เดี๋ยวก็ลุกแล้ว ตัวนี้ก็หายไปอีกแล้ว ...เนี่ย ธรรมนี่เกิดได้เป็นครั้งหนึ่งๆ อย่างนี้ ...นี่ธรรม นี่เห็นธรรม ...แล้วมันเป็นของใครล่ะ 

ไอ้ตัวเมื่อกี้เป็นของใครล่ะ แล้วมันไปอยู่ที่ไหนล่ะ ...อยู่ที่ความจำไง เป็นแค่ความจำนะนั่นน่ะ ตัวจริงเสียงจริงนี่ตายดับๆๆ ดับไปแล้ว เอาคืนไม่ได้ๆ แล้วไม่มีที่ให้เก็บด้วย ในความดับไป

ถ้ามันเก็บได้ป่านนี้เต็มหัวใจแล้ว ที่ให้เก็บน่ะ มันมีตรงไหนล่ะ มีที่ให้เก็บมั้ย...ไม่มี มันเหลือแต่ความเชื่อเท่านั้นเอง ความยึดในความเชื่อว่ายังมีอยู่

นั่นแหละเป็นตัวเชื่อมให้เห็นเป็นตัวตนว่า “ตัวเรา” ...เมื่อกี้ก็เป็นตัวเรา ตอนนี้ก็เป็นตัวเรา  มันเชื่อว่ามี...มีตัวนี้อยู่

ปัญญา...เห็นลงไปในปัจจุบัน คือความดับไปเสมอ วุบๆ วับๆ ผลุบๆ โผล่ๆ ปล้อบๆ แปล้บๆ ดูเข้าไป ให้มันเห็นความดับในแต่ละขณะของมันไป ...บ่อยๆ ซ้ำซากลงไป มันจะได้ไม่ไปบ้า อ้อล้อกับสุญโญ 

นี่ เห็นเราจับแก้วมั้ย ...มันรู้สึกเห็นว่าจับได้นี่ เพราะเหมือนมันมีตัว เพราะเห็นมันเที่ยง เพราะมันมีความแตกต่างในการตั้งอยู่ในลักษณะอาการ เห็นมั้ย ทุกอย่างที่มันเข้าไปจับนี่เพราะมันรู้สึกสามารถจับได้ 

มันจับได้แล้วมันรู้สึกว่าไม่เหมือนกันด้วย มันจึงเปรียบเทียบ ...เพราะมันเห็นว่าเที่ยง เพราะว่าเห็นว่ามันมีตัว มันก็มีอาการไขว่คว้าเหมือนกับวิ่งไล่จับอยู่...ก็มันมีของให้จับ ก็จับสิ

แต่จับอะไรล่ะ หือ จะจับอะไรดีล่ะ ...ความจริงมันมีอะไรให้จับได้ล่ะ แล้วมันจะจับอะไรดีล่ะ...เมื่อใดที่ไม่เห็นว่ามันมีตัว มันจะจับอะไรดีล่ะ  

เมื่อใดที่เห็นว่ามันไม่มีอะไรเป็นของเที่ยงตั้งอยู่น่ะ มันจะจับอะไรดี ...ใจมันจะหยุดอาการจับเองน่ะ  ...แต่ถ้ามันเห็นว่าเนี่ย กูก็ยังจับอยู่ดี เพราะกูยังเห็นว่ามันมีน่ะ

ปัญญาเมื่อเห็นว่าสิ่งที่ตั้งอยู่ตรงนี้มีแต่ของดับไป มันเห็นอยู่อย่างนี้ๆ ว่าเกิดตรงไหนก็ดับ เดี๋ยวก็ดับๆๆ แล้วก็ดับๆๆ ไม่มีตัวคงอยู่เลย ...มันจะไปบ้าจับมั้ย

อันนี้ไม่ต้องห้ามแล้ว ไม่ต้องห้ามจับ ...จิตมันหายบ้าเองนะ เมื่อมันเห็นเองว่ามันจับอะไรไม่ได้น่ะ

แต่ถ้ายังเห็นว่าเราจับอย่างนี้ เพราะคนในโลกเขาก็จับกัน ก็มันเห็นว่าเที่ยงน่ะ ความคิดก็เที่ยง สุขก็เที่ยง ทุกข์ก็เที่ยง ของตั้งอยู่ทุกอย่างมีอยู่ เป็นอยู่ จริงอยู่ มันก็ต้องจับสิ ...ใจมันยังเห็นอย่างนั้นน่ะ 

อ่านหนังสือมาก็เยอะว่ามันไม่มีๆ ..."กูไม่เชื่อ กูไม่เชื่อมึงหรอก แค่จินตา แค่สุตตะ กูไม่ฟังๆ"  อ่านตำราก็เยอะ พระไตรปิฎกนี่อ่านแล้ว ฟังเทศน์ก็เยอะ หูห้อยแล้ว ก็ไม่ฟัง มันดื้อ มันด้าน มันโง่ มันไม่ยอม

แล้วทำยังไงมันถึงจะฟัง ทำยังไงมันถึงจะเชื่อ ...ก็เห็นลงไป ให้ใจมันเห็นลงไปในปัจจุบัน มันเกิดตรงไหนมันดับตรงนั้นๆ มันดับไปเอง ...ให้มันเห็น มันเกิดเองดับเองๆ อย่าไปยุ่ง อย่าไปเลือก มันจะได้หายบ้า

ถ้ามันไปเห็นว่ามันไม่มีอะไรให้จับเองน่ะ มันหายบ้าเอง ...ทีนี้ไม่ต้องไปสั่ง ไม่ต้องคอยระวัง ไม่ต้องคอยกลัวว่าเดี๋ยวมันจะไปอย่างงั้นมั้ย เดี๋ยวมันจะไปเอาอันนั้นมาเป็นเรื่อง 

ไม่ต้องกลัว ...มันเห็นความเป็นจริงแล้วมันคลายออก มันคลายของมันเอง ...ไม่มีใครไปทำให้มันคลายหรอก ไม่มีใครไปทำให้มันไม่จับหรอก

แต่มันยังเห็นไม่พอ นีี่ ก็ขี้เกียจดูอีก แล้วมันจะไปหาอะไรที่ดูดีๆ อีก เอ้า ...มันก็ไปตามความเชื่อลึกๆ ที่ออกมาจากความไม่รู้ ว่าต้องเห็นอันนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ ต้องไปดูอันนั้น ต้องไม่ดูอันนี้ 

มันเป็นพระเจ้ารึไงฮึ ถึงจะไปคัดสรรแบ่งสีแบ่งสัน ...ไม่ได้ ไม่ได้ความแล้ว


(ต่อแทร็ก 5/18)




วันอังคารที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2558

แทร็ก 5/16 (4)


พระอาจารย์
5/16 (540815B)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
15 สิงหาคม 2554
(ช่วง 4)


(หมายเหตุ :  ต่อจาก แทร็ก 5/16  ช่วง 3

พระอาจารย์ –  แล้วต่อไปมันก็...อ้อ เข้าใจแล้ว ว่าเรามันเป็นแค่อาการนึง ไม่มี...ตามความเป็นจริงแล้วไม่มี ไม่มีตัวตนของเรา ไม่มีตัวของสักกาย 

มันเป็นแค่เสือกระดาษ ไม่ใช่เสือโคร่งจริง เป็นเสือในกระดาษอย่างนี้ ไม่มีจริง ...แต่ด้วยความไม่รู้มันก็ไปเชื่อว่าเป็นเสือจริง ไปกลืนกินขบกัดทุกอย่างได้ อย่างนี้ 

ปัญญามันก็จะเกิด ของยากก็กลายเป็นของง่าย ...แต่ก่อนเคยมองพิจารณาอะไร จนมันยากเกินไป แบบ..."ทำไมมันยากจังวะ"  ต่อไปก็...เออ แค่เนี้ย แค่นี้เองน่ะ 

ซึ่งดีไม่ดี ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์หรือผู้ตอกย้ำมาคอยย้ำว่า...เออ ก็แค่นี้แหละ  มันก็จะว่า...เอ มันจะได้รึเปล่า มันใช่เหรอ มันไม่น่านะ มันไม่เห็นเหมือนคนอื่นเขาว่ากันเลย

เอาอีกแล้ว นี่ มาถึงครูบาอาจารย์ก็จะตบกะโหลกปั้บ ...จะบ้ารึเปล่า พอแล้ว แค่นี้ก็พอแล้ว เหลือแค่กายใจ มึงจะเอาอะไรๆ ก็เห็นอยู่แค่นี้แหละ ไม่เห็นมีอะไร นั่นแหละ ถึงได้สงบระงับราบคาบไปสักทีหนึ่ง 

แต่เดี๋ยวมันกระเหี้ยนกระหือรือมาอีกแล้ว แฮ่กๆ เหมือนหมาหิวน่ะ ไม่ใช่เสือหิว ...คือเสือนี่มันเลือกกินนะ แต่หมาหิวนี่มันไม่เลือกน่ะ อะไรมาคว้าได้ก็งับ

นี่ ก็ต้องคอยบอกว่า...พอแล้ว สงบๆ ซะ อยู่นิ่งๆ ไว้ แค่กายใจ ...อย่าออกไปไหน ออกไปเดี๋ยวเจ็บ รู้มากเดี๋ยวเครียด รู้ละเอียดเกิน มันนอกกายนอกใจ...อย่าไป เดี๋ยวมีเรื่อง...มีเรื่องกับคนอื่นน่ะ (หัวเราะ)

คือถ้าไปมองเขานี่ ไม่ต้องคิดอะไรมาก เขาแสดงอาการอะไร ไม่ต้องคิด ...อย่าไปรู้จับลึกในรายละเอียด ...มันไม่รู้ดีกว่า ไม่ต้องมีปัญหาอะไรมากกับเขาหรอก ใช่ป่าว 

ถ้าไม่รู้อะไรเลย ก็ไม่ต้องไปตามจิกตามคิดแทนเขา มันก็ไม่มีปัญหาอะไรกับใคร ใช่มั้ย ...รู้มากมันทุกข์มากนะนั่น 

จริงรึเปล่าก็ไม่รู้ มันเชื่อไว้ก่อนแล้ว ...แบบหมาหิวน่ะ คิดเอง เชื่อเอง กินเอง  ของเน่า ของเหม็น ของดี ของไม่ดี กินหมด ...คิดเองกินเองน่ะ มันเชื่ออย่างนั้น

เพราะนั้นก็สงบไว้ ...นี่ต้องตีกรอบเข้ามา ศีลสมาธิปัญญาจะเป็นตัวตีกรอบ ปกติกายวาจาใจอยู่ตรงนี้ แล้วรู้อยู่เห็นอยู่ ตั้งมั่นอยู่ที่กายวาจาใจในปัจจุบัน 

ความที่เข้าไปทะเยอทะยาน ก้าวก่าย ล่วงล้ำ เบียดเบียนผู้อื่น มันก็จะหดตัวลงมา อยู่ในกรอบกายใจ ไม่ไปแผ่ออร่า...ออร่าที่เจือด้วยรังสีอำมหิตนะ ไปฟาดฟันผู้อื่นทั้งในความฝันและความตื่น เนี่ย มันได้หมด

ภพเป็นของน่ากลัว ความเกิดเป็นของน่ากลัว การหมุนวนในวัฏฏะเป็นของน่ากลัว ...ถ้ากลับมารู้อยู่ที่กายใจเสมอบ่อยๆ จะเห็นโทษภัยของการเกิด...ไปในอดีตและอนาคต 

จนเห็นว่าการเกิด...ในทุกที่ ทุกแห่ง ในที่ทั้งปวง ...จะเห็นเลยว่าการเกิดเป็นทุกข์

เพราะนั้นใจที่มันเข้าไปเห็นตรงนั้นน่ะ ...ซึ่งไม่ใช่ไปนั่งคิดว่าเกิดมาจากท้องแม่อยู่เก้าเดือนสิบเดือนเป็นทุกข์ยังไง...ไม่ใช่ ไอ้นั้นเป็นหยาบๆ เป็นจินตา

แต่นี่มันจะเห็นเลยว่าการไปเกิดในความคิด ไปเกิดในอดีต ไปเกิดในอนาคต จิตมันออกไปเกิด ไปในเรื่องราวอันอื่น ไปในเรื่องราวที่ยังมาไม่ถึง ไปในอารมณ์ที่ยังไม่เกิด ไปอารมณ์ที่เกิดไปแล้ว พวกนี้

มันจะเห็นเลยว่าการไปเกิดกับสิ่งพวกนี้...เป็นทุกข์ ...มันจะเกิดความกลัว เกิดความหน่ายในจิตที่สอนไม่รู้จักจำ ในสันดานที่แฝงลึกอยู่ภายใน อย่างนี้

เนี่ย มันถึงขั้นจะอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้...กับการปล่อยให้จิตเป็นอย่างนี้ๆๆ อีกต่อไป ...เพราะนั้นการกระชั้นเข้าไปภายใน การเข้มข้นอยู่ภายใน...ก็ยิ่งขึ้น มันจะไม่มาเหลาะแหละๆ แล้ว 

มันไม่ไปแล้ว ...เสียเวลา ไปปรุงทำไม  ก็ไม่ไปเกิดกับอะไรเลย ในการเกิดในอดีต ในอนาคต ในการคาด การหมาย การมุ่งไป ออกไป ออกนอกนี้ 

ก็อยู่แค่นี้ ...จนมันหดๆๆๆ หดจนเหลือเป็นจุดทศนิยม นิดๆ เล็กๆ อยู่ภายใน เป็นจุดรู้นิดนึง ...แค่นี้ยังอยู่ร่วมโลกกันไม่ได้เลย

เพราะนั้นตะล่อมใจไว้ ตะล่อมกาย ตะล่อมวาจาไว้...ให้อยู่ในกรอบรู้ เห็น  ให้มีดวงจิตผู้รู้ผู้เห็นอยู่เนืองๆ ...แล้วไม่ต้องไปรู้เห็นอันอื่นนอกจากกายใจ 

ก็ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องคิดถึงใจก็คิดถึงกายก็พอ ...เพราะเมื่อใดที่รู้กายเห็นกาย ก็นั่นน่ะใจอยู่ตรงนั้นน่ะ  ใจปัจจุบันก็ปรากฏตรงรู้นั้นแหละ อยู่คู่กับรู้นั่นแหละ 

สติเกิดตรงไหน ใจก็คู่กับสตินั่นแหละ ...แล้วสติไปตั้งอยู่กับอะไร...อยู่กับกาย ใจก็ตั้งคู่อยู่กับกายตรงนั้นแหละ

ไม่ต้องคิดอะไรมาก ไม่ต้องไปสรรหาในธรรม ไปเฟ้นในธรรม ด้วยความอยากได้ อยากมี อยากเข้าใจอะไร ...นอกเหนือจากให้รู้เห็นปัจจุบันเท่านั้น 

กายเป็นธรรมอันหนึ่ง ใจเป็นธรรมอันหนึ่ง...ที่ปรากฏอยู่คู่กันในปัจจุบัน ...ตัตถะๆ วิปัสสติลงไป ตั้งมั่นลงไป อยู่กับปัจจุบันจิตปัจจุบันธรรม 

แล้วก็จึงจะเห็นปัจจุบันธรรมนั้นๆ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของชั่วคราว แปรปรวน เป็นของย้ายไปถ่ายมา สลับขึ้นสลับลง สลับไปสลับมา ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน ไม่มีใครควบคุมมันได้ 

มันเกิดเอง มันตั้งเอง มันดับเอง แล้วมันจะเกิดอีกก็ไม่มีใครห้ามมันได้ มันจะดับไปไม่เกิดมาอีกก็ไม่มีใครไปสั่งมันได้

มันเรียนรู้ของมันอยู่อย่างนี้ซ้ำซากๆ ...ต้องซ้ำซากนะ เพราะเราติดอาการพวกนี้ซ้ำซากเหมือนกัน 

ถ้าไม่ดูซ้ำซาก ไปเบื่อซะกลางคัน ไปท้อไปถอย ไปหางานภายนอกทำ หรือไปหาธรรมบทอื่นมาทำแทน โดยเข้าใจว่าจะได้ผลอันนั้น จะได้สวรรค์มรรคผลนิพพานเร็วกว่านี้ 

นี่ มันทำให้ทิ้งงานที่เป็นงาน ทิ้งทางที่เป็นทาง ทิ้งโอกาสที่มีโอกาส ทิ้งเวลาที่มันเสียไป

เอาคืนไม่ได้นะ...เวลาน่ะ ขณะนึงๆ นี่ เอาคืนไม่ได้แล้ว จะเสียดายมันขนาดไหนก็เอาคืนไม่ได้ ...เมื่อวันที่ผ่านแล้วทำอะไรมาบ้าง หรือไม่ได้ทำอะไรมาบ้าง มันเอาคืนไม่ได้แล้ว

มันเอาคืนไม่ได้ในสิ่งที่ล่วงไป ...เคยด่าเขา เคยจิตหลุด เคยจิตลอด เคยจิตมีอารมณ์เกิดขึ้นในอาการที่ไม่น่าเกิดน่ะ แก้ไม่ทัน รู้ไม่ทัน ...นี่ เอาคืนไม่ได้แล้วนะ 

เพราะนั้น อย่ามัวเสียใจกับมัน ก็มารักษาปัจจุบันต่อไป ...รักษาใหม่ในปัจจุบัน รักษากายรักษาจิตไว้

ที่หลงไป ลืมไป หลุดไป ทำอะไรไม่ดีไป ขาดสติ ขาดสมาธิ ขาดปัญญาไป ในเรื่องราวที่ไม่น่าเกิด ...วางซะ มันดับไปแล้ว เป็นสัญญา เป็นอตีตารมณ์ไปแล้ว 

ไม่ต้องเก็บมาเป็นหนามทิ่มแทง หรือเอามาเป็นเกราะกำแพงขวางกั้นปัจจุบันที่ปรากฏ...ที่จะตั้งสติรู้อยู่เห็นอยู่กับสิ่งนี้ เดี๋ยวนี้ ขณะนี้

นี่แหละ จึงจะเรียกว่าเป็นผู้ที่ประกอบด้วยความเพียร เป็น ชาคริยานุโยค ... เป็นชาคริยานุโยคคือผู้ประกอบด้วยความเพียรไม่มีราตรี ...เป็นผู้ไม่มีราตรี 

ทำไมท่านเรียกว่าชาคริยานุโยค หรือผู้มีความเพียรประดุจผู้ที่ไม่เคยนอนหรือว่าเป็นผู้มีราตรีเดียว ...เพราะว่าอะไรๆ ท่านก็อยู่ในอาการนี้ ไม่ว่ากลางวันกลางคืน 

ไม่ว่าอยู่ผู้เดียวอยู่หลายคน อยู่ในที่วิเวกหรืออยู่ในที่สังคมสาธารณะ อยู่ในป่าในเขา  ท่านก็ประกอบชาคริยานุโยคอยู่เสมอ เป็นนิจศีล จึงเรียกว่าเป็นผู้มีราตรีเดียว ไม่มีงานอันอื่น ไม่มีใจไปทางอื่น

แต่กว่าจะเป็นผู้มีราตรีเดียวได้ มันต้องพากเพียร อดทนมากๆ ไม่ท้อ ไม่ย่อหย่อน ไม่อ่อนแอ ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่คิดไปคิดมา ไม่สงสัยลังเล หลายอย่าง...ที่จะเกิดความเพียรที่เป็นหนึ่งเนื้อเดียวกับกายใจได้

ความสมดุลเป็นเส้นตรง มาตรฐาน บรรทัดฐาน หรือว่าเป็นทางที่ทอดไปสู่มรรคสู่นิพพาน มันก็ไม่ต้องไปคอยค้นหา คอยบังคับแล้ว มันก็จะเข้าไปในกระแสของมรรค อยู่ในองค์มรรค ด้วยตัวของมันเอง

เมื่อใดที่ออกนอกองค์มรรคปุ๊บ มันก็จะโดนศีลสมาธิปัญญานี่ตบโหลกมัน เนี่ย ไม่ต้องมาให้อาจารย์ตบโหลกแล้ว ตัวใจที่มีศีลสมาธิปัญญาจะเป็นตัวคุ้มครองให้อยู่ในองค์มรรคเอง 

ด้วยความเคยชิน ด้วยความคุ้นเคย อย่างนี้ คืออานิสงส์แห่งศีลสมาธิปัญญา ที่จะเข้าไปรักษาใจไว้ให้อยู่ท่ามกลางทุกสรรพสิ่ง ด้วยความไม่ยินดียินร้าย และเรียนรู้ความเป็นไตรลักษณ์ต่อเนื่องสืบไป 

จนไม่มีอะไรที่สงสัยว่ามันเป็นไตรลักษณ์รึเปล่า นี่ จึงเรียกว่าหมดงาน จบงาน ...อยากทำงานก็ไม่มีงานให้ทำแล้ว จะขอทำต่อก็ไม่รู้จะหางานอะไรให้มาทำต่ออีก ก็ไม่มีแล้ว

มันก็ปลดเกษียณด้วยตัวของมันเอง ปลดจากความเป็นคน ปลดออกจากความเป็นสัตว์ ปลดออกจากฐานะทุกฐานะในสามภพ ปลดออกหมดเลย 

นี่มันปลดตัวเองเลย ...ไม่ไปตีตรา ไม่ไปใส่เสื้อใส่ฟอร์มใด...ที่จะต้องเป็นอย่างนั้น ตามอย่างนั้น ในสังคมอย่างนั้น ในสภาวะอย่างนั้น...ไม่มี

เนี่ย ผู้รู้จริงเห็นจริง รู้จริงเห็นจริงต้องเป็นอย่างนี้ ...ถ้าไม่รู้จริงเห็นจริงอย่างนี้ อย่าเพิ่งไปพูดอะไร ...เอาจนมันหมดก่อน รู้จนหมด ยิ่งรู้หมดเท่าไหร่ ยิ่งเงียบขึ้นเท่านั้น ยิ่งหมดคำพูดขึ้นเท่านั้น

พั่บๆๆ ดับหมด นี่ ไม่ได้ผุดไม่ได้โผล่มาเลย สังขาร สัญญา เวทนา อดีต อนาคต ...ไม่ได้โผล่มุดหัวออกมาได้เลย โดนกุดหัวหมด 

ด้วยอำนาจแห่งศีลสมาธิปัญญานี่แหละ ด้วยอำนาจแห่งสติสัมปชัญญะนี่แหละ ด้วยอำนาจของญาณทัสสนะ ปัญญาญาณนี่แหละ ...ไม่เหลือหรอ หมดสิ้น

อาศัยความเพียร ศรัทธา...เยอะๆ แค่นั้นเอง ...ให้มีศรัทธาไว้ในธรรม ศรัทธาในการปฏิบัติ ศรัทธาในการเจริญสติ 

อย่าไปมีศรัทธาหรือให้ศรัทธาในเรื่องอื่นมากเกินไป ในเรื่องของผล ในเรื่องของบุญ ในเรื่องของชื่อเสียงการยอมรับในโลก ความสุขความสบาย ...อย่าไปศรัทธาในพวกนั้นจนเกินไป

ถ้าไปศรัทธาไปตั้งศรัทธาไว้กับพวกนั้น มันจะดึงให้เราจมเข้าไปกับมัน ไปมุ่งมั่นอยู่กับมัน จนละเลยจนเพิกเฉยกับศรัทธาในสติศีลสมาธิปัญญา ที่จะกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวกายใจ

สร้างศรัทธาตัวนี้มากๆ ...ความเป็นไปในธรรม ความรู้แจ้งในธรรม การยอมรับในธรรม มันก็จะเกิดขึ้นเป็นลำดับลำดา ไม่ขาดวรรคขาดตอนไป 

มันจะต่อเนื่องเป็นสายเหมือนน้ำ ไม่ใช่หยดน้ำ ...แต่เหมือนแม่น้ำที่หลั่งไหลลงสู่มหาสมุทร คือนิพพาน


...............................