วันศุกร์ที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/8




พระอาจารย์

5/8 (540708C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

8 กรกฎาคม 2554



โยม –  พระอาจารย์บอกว่าถ้าเราดูที่กายอย่างเดียว  ถ้ามันแจ้งอันเดียว มันก็แจ้งทั้งหมด   

พระอาจารย์ –  อือ  


โยม –  ถ้าเห็นความไม่มีตัวตนที่กายอย่างเดียว ก็เห็นความไม่มีตัวตนของขันธ์ทั้งหมด ...แล้วเขาสามารถแยกแยะขันธ์ได้ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  แยกได้ ไม่ต้องกลัวหรอก  โดยสัจจญาณ...สัจจญาณนี่คือลักขณูปณิชฌาน รู้ว่านี่กาย รู้ว่านี่เวทนา รู้ว่านี่คิด รู้ว่านี่จำ ... นี่รู้ลักษณะอาการ 

แล้วมันจะมารวมทั้งหมดเป็นอันเดียวกัน...คือสิ่งหนึ่ง เป็นแค่ของสิ่งหนึ่ง  รูปก็เป็นของสิ่งหนึ่ง นามก็เป็นของสิ่งหนึ่ง 


โยม  ในขณะที่เห็นความเป็นสิ่งหนึ่งนี่ เขาจะเห็นในความที่ไม่เป็นอะไร เกิด-ดับ ในลักษณะเดียวกันอยู่ใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  ใช่  เมื่อใดที่เห็นเป็นของสิ่งหนึ่ง มันจะเข้าไปเรียนรู้ความเป็นอนัตตา  คือความไม่มีความหมาย ความหมดไปจากความหมายในตัวของมันเอง ความหมดความหมายจากความเป็นรูปและนาม ...จึงไม่มีทั้งรูปและนาม 

มันเริ่มลบความหมายในรูปและนาม มันเริ่มเข้าไปลบสมมุติ ลบสัญญาในรูปและนาม ...ก็เหลือเป็นของสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้จะเรียกอะไรดี  มันจะเข้าไปเห็นความว่างในของสิ่งนั้น จึงเรียกว่าเป็นสิ่งหนึ่ง...สิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จากสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็จะไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง...ไม่มีความเห็นในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง

เพราะนั้นในลักษณะที่เห็นแค่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง นี่เป็นแค่เบื้องต้น ที่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  จากนั้นจึงจะเห็นไม่มีอะไรในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง จึงจะเห็นความว่าง ความสูญ ความไม่มี ในสิ่งนั้น 

เพราะนั้นไอ้สิ่งใดสิ่งหนึ่งนี่ มันหมายรวมทั้งสามโลกธาตุหรือว่าสรรพสิ่ง  เหมือนอย่างที่ท่านว่า "ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง"  คือเหมือนกับที่ว่า “ใดๆ ในโลก” 

นี่ เบื้องต้นจะต้องเห็นความไม่เที่ยง ความแปรปรวนนี่เป็นพื้นฐาน  มันจึงจะคลายออกจากความหมายมั่นหยาบๆ  จนมันวางไว้เหมือนเป็นของที่เรามองเห็นทั่วไป  คือเห็นกายเป็นของเหมือนกับกระถางต้นไม้ที่วางไว้ เห็นเวทนาก็เป็นของที่วางไว้ มองเห็นเป็นของสิ่งหนึ่ง แล้วจากนั้นมันจะสลายรวมกันหมด...ด้วยความดับไป  มีความเหมือนกันในความดับไป 

เพราะนั้นการที่เห็นความดับไปๆๆๆๆ เสมอกัน นี่เป็นญาณอันหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดเป็นอาสวขยญาณ ที่จะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างดับไปเป็นธรรมดา คือทุกสิ่งทุกอย่างดับไปเป็นธรรมดา ... ตรงนี้คือญาณตัวสุดท้ายที่จะไปทำให้เกิดความแจ้งที่เป็นโลกวิทู

แต่ภาวะตรงนั้นน่ะ ที่เห็นความดับไปของทุกสิ่งเสมอกัน  ไม่ใช่ภาวะที่เห็นรูปดับ เสียงดับ อารมณ์ดับ ความคิดอันนั้นอันนี้ดับ...ไม่ใช่  

มันจะต้องเป็นภาวะที่ใจล้วนๆ อยู่ที่รู้ล้วนๆ  และเห็นการเกิดครั้งแรกแล้วดับทันที ...มันจะไม่หมายเอากับสิ่งที่กระทบ แต่มันจะหมายลงที่ใจ แล้วมันผุดขึ้นมาจากใจ...แล้วดับอันนั้นน่ะ คือที่จะเข้าไปสมมุติ เข้าไปบัญญัติ เข้าไปให้ค่า เข้าไปมีเข้าไปเป็น 

เบื้องต้นน่ะมันจะไปเห็นหมายเอาแค่รูปแค่นาม ไปหมายอยู่ที่รูปที่นาม มันไปหมายอยู่ที่ผัสสะ ...เอาจนมันดับไปเป็นธรรมดา เอาจนมันสิ้นความเกิด จนไม่มีการเกิด มันจะรู้เองว่าเมื่อไหร่ที่มันไม่มีความเกิด

แต่ตอนนี้มันยังยืนยันตัวมันเองไม่ได้หรอก ...ก็อยู่ไป


โยม –  พระอาจารย์คะ ถามอีกนิดนึง คือว่าโลกียะ กับโลกุตตระฌานนี่ มันต่างกันตรงไหนคะ ในขั้นตอนของการเดินตรงนี้   

พระอาจารย์ –  มันทำขึ้นมา โลกียฌานน่ะ มันรักษา มันประคอง มันจงใจ    


โยม –  แต่ก็มีศีลสมาธิปัญญาเหมือนกันใช่ไหมคะ
  
พระอาจารย์ –  มันก็เป็นศีลสมาธิปัญญาภายนอก   


โยม  ภายนอก  คำว่าภายนอกหมายถึงอะไรคะ  

พระอาจารย์ –  มันก็นอกใจน่ะสิ  เพราะโลกียฌานนี่มันอยู่ในฐานของความสงบ มันไม่อยู่ในฐานใจ ...มันคนละฐานกัน   


โยม –  ฐานของวิญญาณหรือ

พระอาจารย์ –  ฐานของอารมณ์ ...มันยังไม่เข้าถึงใจเลย  

เพราะนั้นว่าตัวสัมมาสติสมาธิปัญญาคือ เช่นว่าทำขึ้นหรือว่าอะไรขึ้นก็ตาม ด้วยการน้อม มีการน้อม  นี่มันไม่ได้พูดถึงในลักษณะของการกระทำเป็นชิ้นเป็นอันหรอก คือน้อมลงที่ใจ ... น้อมปุ๊บมันรู้ น้อมลงปั๊บ มันก็อยู่ที่รู้

พอลงที่รู้ปั๊บมันดับหมด การน้อมการเจตนาก็ดับหมดน่ะ  มันเป็นสัมมา มันลงที่ฐานใจ ...ไม่ใช่ฐานสงบ หรือว่าฐานความรู้ความเห็นใดๆ

ถ้าเป็นตัวโลกียะ  มันเจตนาที่จะรักษาความสงบ ไม่สงบก็ว่าง ไม่ว่างก็นิ่ง ไม่นิ่งก็ไม่มีอะไร  มันเป็นฐานของฌาน ด้วยการเพียรเพ่งจดจ่ออยู่ในอารมณ์นั้น อารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง  

แต่ลักษณะของสมาธิหรือว่าสัมมาญาณ มันจะไม่ลงที่ฐานใดฐานหนึ่ง แต่ลงที่ฐานใจรู้...รวมลงที่รู้ที่เดียว  เมื่อมันอยู่ที่รู้ที่เดียว ศีลสมาธิปัญญามันก็มาถึงภาวะที่มันรักษาตัวมันเอง...ก็รักษารู้นั่นแหละ รู้ก็ปรากฏ...อยู่ในทุกกาลเวลาสถานที่และบุคคล 

พอรู้ปรากฏ ปัญญามันก็เห็นแจ้งชัดเจนอยู่ตรงนั้น...ความเกิด-ความดับ  ความดับไปของตัณหาอุปาทานก็ดับไปพร้อมกัน  มันจะเห็นแต่ความดับๆๆ ไป เกิด-ดับ แล้วก็เห็นความเกิด-ดับ ... มันรู้เห็นการเกิดมันก็เห็นการดับ

เมื่อรู้เห็นความเกิด...มันก็เห็นความดับ  เกิดอีกแล้วก็ดับ เกิดอีกก็ดับอีกๆ  จนมันไม่เกิด  มันก็มีแต่ความดับ...ดับจากความเกิด ไม่ใช่ดับสูญ ไม่ใช่ดับว่าง ... เพราะนั้นถ้าไปดับหรือไปอยู่ที่ว่างหรือไปอยู่ที่สูญ ตรงช่องว่างนั้น มันก็ลงไปในฐานของอรูป ไปเพ่งอรูปต่อ คือไปกำหนดฐาน

แต่ถ้าจะเป็นโลกุตตรฌานนี่ต้องอยู่ในฐานใจ แล้วก็เห็นท่ามกลางใจมีอะไรมั้ย ... ต้องมีรู้อยู่กับสิ่งที่ถูกรู้ จะเป็นอะไรก็ได้ เป็นความดับก็ได้ เป็นความตั้งก็ได้ เป็นความเกิดดับก็ได้  มันก็เห็นอาการนั้นๆ ดับก็คือดับ ไม่มีอะไรก็ไม่มีอะไร  แต่มันรู้...รู้รอบ รู้เห็นภาวะนั้นอยู่     


โยม –  แต่ไม่ใช่ผู้รู้ 

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องถามผู้รู้มั้ย มันรู้ของมันเองน่ะ ...มันก็ยังเป็นผู้รู้วันยังค่ำน่ะ จนมันถึงที่สุด ถึงจะรู้เองว่าผู้รู้ไม่มี  

มันก็จางคลายไปในตัวของมันเองแหละ ยังไงๆ ก็ผู้รู้วันยังค่ำจนตายน่ะ ...จนตายจากผู้รู้น่ะแหละถึงจะเรียกว่าใจปรมัตถ์ ใจดวงนั้นก็เป็นใจปรมัตถ์ เป็นวิสุทธิล้วนๆ ...แต่เมื่อใดที่เป็นรู้อยู่อย่างนี้ ยังไงก็เป็นผู้รู้ มีความเป็นสัตว์บุคคล


โยม  ผู้รู้อย่างนี้คือเป็นตัววิญญาณอยู่หรือคะ  

พระอาจารย์ –  มันก็มีเจืออยู่ในนั้น เจืออยู่ในรู้นั่นแหละ ... ใจก็อยู่ตรงนั้น วิญญาณก็อยู่ตรงรู้นั่นแหละ 

เพราะนั้นจะไปเรียกว่าวิญญาณล้วนๆ ก็ไม่ใช่  เพราะวิญญาณล้วนๆ ก็คือความเกิดดับ  มันจะไปเกิดไปดับกับอะไร ไปเกิดกับอะไร....มันเห็นมันก็ดับ มโนวิญญาณนั้นดับ ตัวนั้นน่ะมโนวิญญาณแท้ๆ  

เพราะนั้นจะมาพูดว่าตรงนั้นเป็นวิญญาณ ไม่ได้แท้หรอก ...เพราะมันต้องออกไปทำงานก่อนจึงเรียกว่ามโนวิญญาณ ... แต่ตัวมันก็พร้อมจะเป็นมโนวิญญาณ

จะไปบอกว่าตัวผู้รู้เป็นวิญญาณไม่ได้โดยตรง ผู้รู้ก็เป็นใจ เขาเป็นใจด้วย แต่เวลามันทำงานแล้วน่ะเป็นมโนวิญญาณ ...เพราะนั้นไอ้ตัวเกิดดับนั่นแหละ เป็นมโนวิญญาณเกิดดับ

เพราะนั้นกิเลสมันจะเกิดขึ้นตามมโนวิญญาณ ตัณหาจะเกิดตามมโนวิญญาณ อุปาทานจะเกิดตามมโนวิญญาณ ด้วยความไม่เท่าทัน ... พอมันเท่าทันปั๊บ ดับหมด ตัณหาอุปาทานก็อยู่ไม่ได้ ไม่มีที่ให้อยู่ 

มันก็กลับมาเหลือที่รู้ เหลือแค่รู้เปล่าๆ ...ไอ้รู้เปล่าๆ นั่นก็คือผู้รู้นั่นแหละ  แล้วก็ลักษณะอาการที่เห็นความดับไปๆๆ บ่อยๆ นี่ล่ะ มันจะเป็นตัวชำระตัวเอง...ด้วยไตรลักษณ์ 


โยม –  พระอาจารย์คะ จำเป็นมั้ยว่า มันจะต้องเห็นขบวนการ หรือว่าปัญญานี่เขาจะเข้าไปเห็นอยู่แล้ว เขาถึงทำความเข้าใจได้

พระอาจารย์ – มันเห็นอยู่แล้ว  ถ้ามันไม่เห็น...มันก็ไม่เข้าใจ มันก็ไม่อยู่อย่างนี้ได้หรอก  มันเห็นไปตามลำดับลำดาของมันเองน่ะ ...เพียงแต่ว่ามันไม่รู้ออกมาเป็นภาษาสมมุติบัญญัติเท่านั้นเอง

เมื่อถึงวาระที่มันจะให้ออกมาเป็นสมมุติบัญญัติขึ้นมา เป็นภาษาขึ้นมา  มันก็จะรู้ของมันเองน่ะ อธิบายออกมาด้วยตัวของมันเองด้วยความรู้ภายใน ... ไม่รู้อะไรก็ไม่รู้อะไร มันก็รู้ไปดับไป รู้ไปดับไป ...ไม่มีอะไรหรอก ถ้าไม่เข้าไปว่าด้วยจินตาหรือว่าด้วยความคิดความปรุง 

ความรู้นี่ไม่ได้เกิดจากความคิดความปรุง แต่ความรู้มันเกิดด้วยปัจจัตตัง รู้เห็นแล้วก็ดับไป รู้เห็นแล้วก็ดับไป ...มันเกิดความเข้าใจในตัวของมันเอง ความละ ความวาง ความถอด ความถอน ก็เป็นไปด้วยตัวของมันเอง 

ใจมันก็รู้ รู้ปล่อยรู้วางของมันไป เข้าใจด้วยตัวของมันเอง ... ไม่มีเราเข้าไปยุ่ง ไม่มี “เรารู้” เข้าไปยุ่ง

เอ้ามีอะไรมั้ย ...ไม่มีอะไร พอแล้ว  ฟังจนไม่รู้จะฟังอะไรแล้ว  

โยม –   (หัวเราะกัน)

พระอาจารย์ –  อย่าไปสงสัย อย่าไปปรุง ...รู้ตัวอย่างเดียว  อย่าเดา อย่าให้ความคิดดำเนิน ...รู้ไป อยู่ก็ได้ไม่อยู่ก็ได้ รู้ไป รู้ตัวไว้

อย่าให้ความคิดความเห็นอะไรมาลากมันไป ไม่ว่าจะเป็นส่วนกุศลหรืออกุศล มันจะเกิดการคาดการเดาในอดีตอนาคต ... อะไรๆ ละให้หมด  บอกว่าไม่เอาก็ไม่เอา เหลือกายกับใจก็ต้องเหลือกายกับใจ ...อย่ามาแอบอ้างความดีความร้าย วิธีการใดๆ ทั้งปวง 

ถึงวาระถึงคราวที่มันเป็นไปก็ให้มันเป็นไป มันก็เป็นไปในปัจจุบัน  เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นในปัจจุบัน ...อดีตอนาคตละหมด ไม่สน ...ไม่งั้นมันจะเกิดความเศร้าหมอง สงสัย ลังเล ขว้างงูไม่พ้นคอ ... ละลงไป ไม่เอา ละให้หมด ...อยู่อย่างนี้...มีกายอยู่ตรงไหน ใจก็อยู่ตรงนั้น  


อย่าทำตัวเป็นควาย...ควายตกปลัก  พอควายมันเห็นปลักเมื่อไหร่มันก็แช่ มันชอบแช่ปลัก  มันเข้าใจว่าปลักควายเป็นมรรคผลนิพพานของมัน 

ถ้าอยากจะไม่เป็นควายให้ยืนขึ้น อย่าแช่ เรียกว่ารู้ตัว ...แล้วก็รู้ตัวไปเรื่อยๆ เรียกว่าเดินออกห่างจากปลักควาย ...แล้วก็จะเดินไปในทาง 

เดี๋ยวก็จะเจอปลักใหม่อีก เดี๋ยวก็แช่อีก...รู้ตัว ยืนขึ้นบนปลักควาย แล้วก็เดินก้าวออกมา  รู้กายรู้ใจๆ อย่างนี้

ต่อไปพอเห็นปลักควาย พอมันเริ่มก้าวเข้าไปเหยียบ เขาก็จะเริ่มงอก มันก็ถอนออกแล้ว 'อ่ะ กูจะเป็นควายอีกแล้ว เขากูจะเริ่มงอกอีกแล้ว หน้ากูเริ่มยาวแล้ว กีบกูเริ่มออกแล้ว เอาแล้วโว้ย ควายมาแล้ว' ...แปรสภาพใจตัวเองเป็นควาย เจอปลักไหนก็จะแช่ ... ปลักนั้นดี ปลักนั้นใส ปลักนั้นขุ่น 

เดินไปเรื่อยๆ  รู้ตัวแล้วก็เดินไป ... จากควายจะเปลี่ยนเป็นคน จากคนจะเปลี่ยนเป็นใจ  มันจะแปรสภาพของมันเอง เป็นเหลือแค่ธรรมชาติหนึ่ง ...มันก็จะละไปในปลักที่แวดล้อม ล้อมรอบตัวมันเอง

ความคิดคือปลักนึง อารมณ์คือปลักนึง อดีตคือปลักอันนึง อนาคตคือปลักอันนึง ขันธ์ทั้งหลายทั้งปวงคือปลักอันนึง ขันธ์ภายนอกคือปลักอันนึง ผัสสะคือปลักอันนึง ...รู้รึยังว่ารอบตัวเรามีแต่ปลักควาย 

ใจที่ไม่รู้เหมือนควาย ชอบเป็นควาย ...ถ้าเป็นควายเมื่อไหร่นี่ เดินมานี่เขามาก่อนเลย ยังไม่เห็นคนตรงไหนเลย มีแต่ควาย  หน้านี่ยาว แล้วก็วนอยู่ในอารมณ์ วนอยู่ในความคิด วนอยู่ในการกระทำนั้น เป็นควายไม่รู้จักเท่าไหร่

รู้ตัว...เขาจะสั้น จมูกจะสั้นลง สายสะพายจะหลุดออกจากจมูก ... ด้วยศีลสมาธิปัญญานั่น มันจะพ้นจากความเป็นควาย ... มันก็จะเดินข้ามโอฆะ ข้ามปลัก ข้ามบ่อเพลิง ซึ่งแต่ก่อนมันบอกว่าเป็นปลักที่เย็นสบาย ได้มรรคได้ผลตรงนั้น 

ต่อไปมันจะเห็นว่าไม่ใช่  มันเป็นบ่อเพลิง เป็นไฟ  ลงไปก็ร้อน ลงไปก็ไหม้ ...ก็เริ่มแปรสภาพเป็นคน เป็นใจ ไม่ค่อยเป็นควายเท่าไหร่ ... พอเริ่มจะมีเขา พอเริ่มจะมีกีบ ก็รู้ตัวแล้ว 'เฮ้ย ควายกูเริ่มแล้ว ควายกูเริ่มกำเริบอีกแล้ว' 

รู้ตัวบ่อยๆ ... จะได้ไม่เป็นควาย


……………………….




วันพฤหัสบดีที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/7




พระอาจารย์

5/7 (540708B)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

8 กรกฎาคม 2554




โยม –   ดูความเกิดดับ...แสดงว่ามีผู้ดูแล้วเห็นความเกิดดับนั้น  อย่างที่ท่านอาจารย์บอกว่ารู้แล้วละ รู้นี่คือตัวสติใช่มั้ยเจ้าคะ ที่รู้เท่าทันเหตุการณ์หรืออะไรก็ตามที่ปรากฏ

พระอาจารย์ –  อือ   

โยม –  แล้วละมันลงไป  คำว่าละนี่คือ ความตั้งมั่นที่จะกลับมารู้กายอย่างนั้นหรือเจ้าคะท่านอาจารย์

พระอาจารย์ –  คือไม่ไปปรุงต่อกับมัน ... ถ้าไปรู้เห็นอะไรแล้วไปปรุงต่อกับมันนี่ อย่างนั้นเขาเรียกว่าไม่ละ ...ก็ให้ละความปรุงแต่งต่อ  เมื่อรู้แล้วก็ละ ... ถ้ามันละคือหมายความว่ามันไม่มีการปรุงต่อ 

เมื่อมันละแล้วมันอยู่ที่ไหนล่ะ  มันก็อยู่ที่กายกับใจ มันก็กลับมาเหลืออยู่แค่นั้นแหละ ก็มีเหลือแค่รู้กับกาย  แล้วจากนั้นก็ดูกาย รู้กาย  เห็นกายเกิดดับ...เป็นอาจิณ เป็นกิจวัตร 

แล้วระหว่างที่ดูกายไป เห็นกายเกิดดับ  มันก็จะเห็นอาการภายในด้วย ...ก็ไม่ต้องไปสนใจ  เมื่อไม่สนใจมัน ก็มาดูกายเกิดดับต่อ ...ก็จะเห็นอาการที่มันผุดโผล่ขึ้นมาเกิดดับเหมือนกัน

แต่ถ้าไปแช่ไปจมอยู่กับมัน มันไม่ดับให้เห็นหรอก...ยาก 


โยม –  อย่างที่ทำอยู่ ถึงแม้ขณะนี้เจ้าค่ะ ก็บางทีเหมือน...แว๊บ มีความคิดเข้ามา เอ้า ทัน  รู้แล้วนะคิด แล้วก็กลับมากาย ...แต่มันก็หมุนไป คือมันอยู่กับกายไม่นานเจ้าค่ะ แว๊บๆ ไปอีก   

พระอาจารย์ –  ใช่ มันก็หลงคิดอีก


โยม –  ก็กลับมารู้อีก ก็พยายามคิดบอก...กาย มารู้กาย  อะไรอย่างนี้เจ้าค่ะ ... มันจะแว๊บออก มันไม่อยู่กับกายตลอด

พระอาจารย์ –  ใช่  จิตมันหาเรื่อง กิเลสมันหาเรื่อง ความไม่รู้มันหาเรื่อง ...หาเรื่องปรุง หาเรื่องคิด  

เพราะว่าการปรุงการคิดน่ะ มันเป็นประตูออก เป็นช่องทางที่ง่ายที่สุดของการไปเกิด...เป็นภพ และเรามักจะไม่ทัน 

เพราะนั้นถ้าปิดประตูทัน...ไปไม่ได้แล้ว ไปเกิดในอดีต-อนาคตไม่ได้แล้ว  
เมื่อไปเกิดในอดีต-อนาคตไม่ได้ แล้วมันเกิดที่ไหน ...มันก็เกิดในปัจจุบัน 
แล้วอะไรเกิดอยู่ในปัจจุบัน ...กาย 
แล้วกายที่เกิดอยู่ในปัจจุบันเป็นไง...ดับ-เกิด...ดับ-เกิด 
ก็เห็นปัจจุบัน...เกิด-ดับ

เพราะนั้นตัวอดีต-อนาคตนั่นน่ะ...คือนาม  อดีต-อนาคตจะผุดโผล่ได้ โดยอาศัยขันธ์ที่เป็นนาม...สัญญา...สังขาร สองตัวนี่  เป็นเครื่องมือไปในอดีตและอนาคต 

แล้วมันจะเป็นช่อง...ซ้ำซากจำเจ ที่กิเลสมันเคยชินออกทางนั้น  แล้วพวกเราไม่ค่อยทัน ...เสียดายด้วย ไม่กล้าละ ในบางครั้ง บางเรื่อง บางสภาวะความเห็นความคิด

ถ้าตั้งอกตั้งใจรู้กายแล้วนี่ มันก็เหมือนกับตั้งอกตั้งใจละความคิดน่ะ  แต่ถ้าไม่ตั้งอกตั้งใจรู้กายแล้วมันก็ไม่ตั้งใจละความคิดความปรุงเหมือนกัน ...มันยังปล่อยช่องว่าง เหมือนกับคอยแง้มๆ ประตูให้มัน 

แต่ว่าถ้าเท่าทันกายหรือว่าอยู่ที่กาย แล้วก็เห็นกายเกิดดับในปัจจุบัน มันจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดดับในปัจจุบันพร้อมกัน  เพราะมันยังไม่ทันเกิด...เป็นสองสามสี่...ดับเลย ก็จะเห็นสภาวะจิตนั้นเกิดดับ ...แค่เกิดดับ ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันเรียกว่าจำหรือคิด

ภาวะนี้เป็นภาวะที่เรียกว่าเก็บรายละเอียด หรือว่าเป็นปัญญาขั้นละเอียด ...แต่ถ้าปัญญาขั้นหยาบนี่ มันไม่ดับ อาการนามขันธ์ไม่ดับ  

มันก็ยังมีความคิดล่องลอยอยู่ เพราะมันยังต้องใช้  ความจำก็ยังล่องลอย ยังต้องอาศัยเกาะเกี่ยวอยู่กับมัน เป็นเครื่องมือ  ไม่งั้นมันทำงานไม่ได้ เข้าใจมั้ย มันก็มี ...แต่เราต้องอยู่ในภาวะที่ประคับประคอง เป็นกลาง คืออย่างน้อยให้รู้กายไว้เป็นหลัก ไม่ให้มันทะลุ่มเมาจนเข้าไปแช่ ตายอยู่กับมัน

เพราะนั้นมันจะมาเหมือนเป็นสภาวะที่เราพูดเมื่อกี้ไม่ได้  ถ้าเหมือนสภาวะที่เราพูดเมื่อกี้ นั่นคือปัญญาขั้นละเอียด รู้ตรงไหนดับตรงนั้นๆๆ ...ภาวะนั้นต้องเป็นกายวิเวกจริงๆ จิตวิเวก หรือว่าเราอยู่คนเดียวกับมัน 

แต่ว่าเวลาเรากลับมาอยู่คนเดียว กลับมาอยู่บ้านนี่ มันมีภาวะที่ตกค้าง ... มันไม่สามารถจะมาเจริญปัญญาอย่างนั้นได้ ...มันก็ต้องค่อยตะล่อมๆ ไป อยู่ที่กายที่ใจไว้ เหลือแค่นี้  แล้วมันก็จะเป็นแค่หมอกจางๆ ความคิดความปรุงที่มันค้างอยู่ อารมณ์ ความปรุง ความมัว เวทนาทั้งหลายทั้งปวง มันก็ร่นไป

มันต้องเป็นอย่างนี้อยู่แล้ว ไม่มีวิธีอื่นหรอก ...จนกว่ามันจะสมบูรณ์ หรือว่าปัญญามันถึงขั้น


โยม –  แต่ตอนทำงาน เวลามันคิด  มันรู้ว่า เออ คิด มันต้องคิดน่ะ มันก็ต้องคิดต่อนะ  มันรู้แล้วนะ มันก็ต้องคิด ก็ต้องปล่อยคิดต่อ 

พระอาจารย์ –  ใช่  ก็ต้องปล่อย ก็ต้องอาศัยความคิดเป็นเครื่องดำเนินชีพ ...แต่เวลากลับมาอยู่คนเดียว พยายามเน้นกายใจที่เดียว รู้กายรู้ใจอย่างเดียว ...อย่าไปแช่ อย่าไปจม อยู่กับอาการที่มันตกค้างอยู่ 

จนปัญญามันสะสมเต็มที่ปุ๊บนี่ มันจะพอดีกับงานตรงนั้น  คือคิด...คิดไป พอกลับมาถึงบ้านปุ๊บ...ขาด ขาดเลย...ไม่มี  รู้ตรงไหนดับตรงนั้นเลย  

มันเหมือนไม่แยแสเลย  ใจดวงนั้นจะไม่แยแสเลยในอดีตที่ล่วงแล้ว ...แต่นี่เป็นกำลังของปัญญานะ เพราะนั้นดับ...ดับจริงเลย พั่บเลย  เหลือแค่กายใจล้วนๆ พุ่บพั่บๆๆ อย่างเดียวเลย

แต่ตอนนี้มันไม่พุ่บมันไม่พั่บน่ะ มันแช่อย่างเดียวเลย ... มันเลยแลบลิ้นปลิ้นตาอยู่กับเรา มันตามหลอกหลอนเรา ...เพราะว่ากำลังของปัญญาเรายังไม่ถึงขั้นที่ขาดจากภาวะปัจจุบัน มันยังตกค้างเป็นสัญญาอารมณ์

เพราะนั้นเรื่องสัญญาอารมณ์เป็นของละเอียด ไม่ใช่ของง่ายหรอก ... มันต้องเรียนรู้อีกแยะ  

มันก็ต้องยึดมั่นในหลัก ...เพราะระหว่างที่มันแลบลิ้นปลิ้นตากับเรานี่ เรามักจะทนไม่ได้ แล้วหาทางเอาชนะมัน หาวิธี  แล้วก็เกิดความลังเลสงสัยว่าเราทำถูกมั้ย เราทำผิดมั้ย 

เพราะไม่ยอมรับธรรมชาตินี้ จะเอาธรรมชาติเดียวที่เคยจดจำได้ว่า...มันเคยเหลือแต่กายกับใจล้วนแล้วก็ไม่มีอะไร...เนี่ย มันจะเอา มันยังจะเอาภาวะนี้  มันก็เลยเกิดความลังเลสงสัย หาวิธี

ช่างหัวมัน ... มันจะแลบลิ้นปลิ้นตาอยู่ต่อหน้าต่อตาเราก็ตาม  ก็รู้ไป กายนี่ รู้ความแข็งความอ่อน ดูไป  รู้ไปทั้งขุ่นๆ หมองๆ น่ะ ... ดู ต้องดู อย่าไปสนใจกับหมองกับขุ่นกับคิด ที่มันว่อนร่อนๆๆ อยู่รอบกายใจเราน่ะ  ต้องอดทน...แล้วอยู่อย่างนั้นน่ะ ไม่แก้ไม่หนี ... ไม่ดับก็ไม่ดับ  

เพื่อสะสมกำลังสติสมาธิปัญญาขึ้นไป ...และเมื่อถึงคราวถึงวาระมันก็เอามาใช้งานได้ ก็จะเป็น...คิดก็คิดไปงั้นน่ะ สักแต่ว่าคิด กลับมาก็จบเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น  หรือไม่ก็แค่หันหน้าหนีนี่ พั่บ ดับหมด  ฟังๆๆ อยู่ ปุ๊บ ลุกขึ้นเดิน...หายเลยความคิดความปรุงตรงนั้น งานตรงนั้น ...มันก็ดับไปพร้อมกัน 

นี่ด้วยกำลังของปัญญา มันถึงอยู่อย่างนั้นได้นะ ...ชีวิตมีแค่ขณะเดียว กลับมาเหลือชีวิตแค่ขณะเดียว  ...ไม่เยิ่นเย้อ ยืดยาวมาเป็นวันเป็นเดือน

นี่พวกเรายังเยิ่นเย้อมาเป็นวันเป็นเดือนนะ  ยังมีชีวิตของข้างหน้า ...ถึงแม้จะไม่เป็นปี หลายปี  แต่มันก็ยังถือว่าเป็นวันเป็นคืนอยู่ เข้าใจมั้ย ...ก็ยังดี บางคนเขาเกินเดือนน่ะ เป็นหลายปี จนเป็นชาติ ยังหาที่จบที่สิ้นไม่ได้เลย  ...ไอ้เราแค่ค้างคาแค่เป็นวันๆ หรือแค่เป็นเดือน มันก็สั้นลงแล้ว ไม่ไกลแล้ว 

ต่อไปมันก็จะหดเหลือแค่ชั่วโมง นาที หรือแค่ขณะหนึ่ง ...ต่อไปน่ะเหลือแค่ขณะจิตเดียว รู้ลงไป พั่บๆๆๆ...ดับ  มันไม่สามารถจะอยู่ร่วมกับรู้ได้เลย ไม่ว่าอะไร ไม่ว่าภพไหน  

ศีลสมาธิปัญญาพอระลึกขึ้นมา รู้ขึ้นมา หรือเห็นปั๊บนี่  เขาเรียกว่ามันแผดเผาเลย ด้วยอำนาจของความสว่างแห่งปัญญา ... พอเห็นปุ๊บนี่มัน พั่บเลย  สลาย ดับสิ้น  เพราะว่ามันไม่มีอะไรอยู่แล้ว 

ถึงได้ว่า นัตถิ ปัญญา สมา อาภา ไม่มีแสงสว่างใดเสมอเท่าปัญญา  คือถ้าสว่างมา มืดไม่มี  ถ้าสว่างจริงนะ  มืดกับสว่างอยู่กันไม่ได้ใช่มั้ย ถ้าสว่างปุ๊บนี่ ยังไงก็ไม่มืด  

ปัญญาถ้ารู้จริง หรือสว่างจริง หรือมันแจ้งขึ้นมานี่  พอมันรู้...แค่รู้นี่...รู้นี่คือความสว่าง  สว่างแล้วมืดจะไม่มี มืดคือความไม่รู้นี่ไม่มี ความหมายมั่นในอดีตอนาคตนี่หายหมด...หมดสิ้นเลย

แต่ตอนนี้รู้เรายังไม่แจ้ง ยังไม่มีกำลังพอ ... กำลังนี่คือไม่ใช่กำลังของนั่งนานๆ แล้วเกิดความสงบนานๆ เป็นกำลัง...ไม่ใช่  กำลังของปัญญาคือความยอมรับว่าไม่เป็นตัวเป็นตนนี่มันยังไม่พอ ความรู้แจ้งตรงนี้ยังไม่พอ 

เพราะนั้นมันยังคลุมเครือ มันยังเข้าไปแอบอิง  มันยังเข้าไปสำคัญเป็นตัวเป็นตน จับต้องได้ในความเห็นในใจ...จิต ความรู้สึกมันก็เข้าไปแอบอิงกับอารมณ์นั้น กับสิ่งที่มันดับไปแล้วนั้น 

โดยสำคัญว่ามันยังมีอยู่ มันยังเป็นอยู่ แล้วมันยังเป็นข้างหน้าด้วย แล้วมันจะเป็นข้างหน้าอีกหลายวันด้วย และถ้าเราไม่ทำอะไร มันก็จะเป็นมากขึ้นกว่านี้ด้วย ...เนี่ย ด้วยความเป็นตัวเป็นตนอย่างนี้ มันก็เลยเกิดความเข้าไปจับ เข้าไปอิง เข้าไปเกาะ เข้าไปเกี่ยว ด้วยความเป็นตัวตน 

นี่คือตัวตนนะ นี่คือตัวตนของความคิด นี่คือตัวตนของสัญญา นี่คือตัวตนของเวทนา  จิตที่มันไม่รู้มันก็เข้าไปอยู่ในตัวตนนั้น เราก็เกิดในตัวตนของความคิด เราก็เกิดเป็นตัวเป็นตนกับความจำ มันก็เข้าไปเสวยเป็นเวทนา สุข ทุกข์ ขึ้นมา

เพราะนั้นว่า เมื่อออกจากภาระตรงนั้นหรือว่าออกจากการงานกลับมาอยู่บ้าน กลับมาอยู่คนเดียว  พยายามอย่าไปคิดต่อ  ถึงแม้มันจะยังวนอยู่ในความคิดก็ตาม แต่อย่าไปมีเจตนาในนั้น 

อดทน ...แล้วก็กลับมาทำเหมือนไม่รู้ไม่ชี้กับมัน  ทำอะไรก็ทำไป เดินก็ได้ ขยับตัวก็ได้ ดูอะไรก็ได้ หรือว่านั่งเฉยๆ ก็ได้  ถ้านั่งเฉยๆ บางทีเอามันไม่อยู่ ก็เดิน เคลื่อนไหว ทำนั่นทำนี่ไป  

ดูอาการเกิดดับทางกายเป็นหลัก ปักหลักให้มั่นให้แม่น...อยู่ที่กายปัจจุบัน  เอาแต่ปัจจุบันล้วนๆ  อะไรที่ไม่เป็นปัจจุบันไม่เอา

เพราะนั้นปัจจุบันที่ชัดเจนที่สุดคือกาย ...จะดูที่ขา จะดูที่แขน จะดูที่ก้น จะดูความรู้สึกไหนที่มันเด่นชัด  เป็นความรู้สึกตรงไหนก็ได้ เป็นจุดหนึ่งจุดใดก็ได้ ไล่ดูลงไป  เพื่อให้ผูกไว้อยู่กับกายใจปัจจุบัน อย่างเนี้ย 

ถึงมันจะไม่หาย  ถึงมันจะดูทั้งวัน ดูจนถึงเวลานอนแล้วมันยังอยู่ในอารมณ์ตกค้าง ก็หลับไป ช่างหัวมัน  ไม่เอามรรคเอาผลอะไร มันได้แค่ไหนก็แค่นั้น ...นี่ความเพียรอยู่ตรงนี้ 

อย่าไปอ่อนข้อด้วยการที่ว่า...ไปคิดต่อว่าจะทำยังไงดี จะหาวิธีการอย่างไรดี  แล้วก็ไปจดจ่ออยู่ในเหตุนั้น ด้วยความที่ว่าจะละเหตุนี้อย่างไร จะทำอย่างไรกับเหตุนี้ดี

ก็บอกว่าไม่ต้องไปทำอะไร ...ไม่งั้นเราก็โง่ซ้ำซากกับมันอีก  เพราะเราจะเอาตัวตนเข้าไปเสวยในการที่ดับไป เพื่อจะมีตัวเราเข้าไปรับรู้ในความดับไป ...ก็ทั้งขึ้นทั้งล่องน่ะ 

ถ้าจะละ...ต้องละตั้งแต่อยู่ตรงปัจจุบันนั้น ไม่ยุ่งเลย  มันอยากอยู่ก็อยู่ไป ให้มันลอยเป็นสารตกค้างไป เป็นท็อกซิกของจิต เดี๋ยวมันก็ล้างพิษหมดพิษของมันไปเอง

แต่คราวนี้มันจะมีความคิดซ้ำซากว่า 'พรุ่งนี้ก็เจออีกแล้ว แล้วต้องอยู่กับมันตั้งเป็นเดือนแน่ะ ต้องอยู่กับมันตลอดไปเลยมั้งเนี่ย' อย่างเนี้ย  ...พออย่างนี้นี่ เราจะทนไม่ได้ ที่จะอดมาหนีมาแก้กับมัน 

อย่าไปโทษใคร ...อยากเกิดมาทำไมล่ะ  กรรมน่ะ ช่วยไม่ได้นะ ... มันเป็นเรื่องของวิบากขันธ์วิบากกรรมน่ะ มันหนีไม่พ้นหรอก  ...ก็ต้องชดใช้ไปด้วยความอดทน แล้วก็ตั้งมั่นอยู่กับศีลสมาธิปัญญา เป็นที่พึ่ง 

ต้องเอาศีลสมาธิปัญญาเป็นที่พึ่งเท่านั้น  ไม่เอาความสุขนิยมเป็นที่พึ่ง ไม่เอาความไม่มีอะไรเป็นที่พึ่ง ... เอาศีลสมาธิปัญญา ปกติ ตั้งมั่น เป็นกลาง กับกาย  นี่คือศีลสมาธิปัญญารวมลงที่กาย...เป็นที่พึ่ง เป็นทุ่นเกาะไว้ไม่ให้จม ...ไม่งั้นจะจมไปกับความไม่รู้เนื้อรู้ตัว แล้วก็ไหลล่องไปกับกระแส 

เนี่ย ถ้าปล่อยขอน ปล่อยเกาะ ปล่อยมือ ปล่อยเรือ มันก็ล่องลอยไปตามกระแสน้ำที่พัดพา แล้วแต่น้ำจะขึ้นน้ำจะลง น้ำจะมากหรือน้ำจะน้อย  น้ำมากก็แรง...ก็พาไปกระทบแก่งหินโขดหินก้อนหินกิ่งไม้อะไรก็ตาม  น้ำอ่อนก็ไหลไปเรื่อยๆ ใจลอยเลื่อนลอยออกไปในความเผลอเพลิน  น้ำแห้งก็ไม่รู้จะไปทางไหน งง สับสน หาไม่เจอ

เพราะนั้นต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นเกาะ เป็นแพขนาน เป็นที่ยั้งของใจกับกาย  คือเอาศีลสมาธิปัญญารวมลงที่กาย แล้วก็ใจรู้อยู่ตรงนั้น เป็นหลัก เป็นชูชีพ เป็นเครื่องประคับประคองใจไว้ให้รู้อยู่ ไม่ให้มันจม 

ถ้าไม่มีศีลสมาธิปัญญาอยู่ที่กายหรือว่าอยู่ที่ฐานใดฐานหนึ่ง มันจะจม  ใจนี่มันจะจม คือหายไป หายเข้ากลีบเมฆไป จมลงกระแสน้ำไป  

คือที่จริงมันไม่หายไปไหนหรอกใจน่ะ มันฆ่าไม่ตายขายไม่ขาดหรอก ...แต่มันหายเพราะถูกปกคลุม มืดมิดไป  เพราะความมืดมาปกคลุม  ความหลง ตัณหาอุปาทาน พวกนี้มันมาก่อเป็นเมฆหมอกมรสุมมาครอบคลุมมัน  ก็ต้องอาศัยศีลสมาธิปัญญาเป็นทุ่นที่มันจะเผยอขึ้นมาลืมตาอ้าปาก ไม่ให้มันจมดำดิ่งลงไป...กับอะไรก็ตาม

รู้ตัว...แก้ได้หมด  อยู่กับความรู้ตัว  เพราะความรู้ตัวไม่ใช่จะไปรู้ขึ้นมาได้เอง มันต้องรู้ตัวขึ้นมาด้วยศีลสมาธิปัญญา มันถึงรู้ตัวนะ ...เมื่อใดที่เรารู้ตัว หมายความว่าขณะนั้นน่ะมีศีลสมาธิปัญญาแล้ว ให้รู้ไว้เลยว่า...ตรงนั้นน่ะคือมรรคทั้งแปด อยู่ที่รู้ตัวนั่นแหละ ไม่ต้องคิดมาก ไม่มีวิธีอื่นอีกแล้ว 

ศีลสมาธิปัญญารวมลงจึงเกิดความรู้ตัวขึ้นมา  คำว่ารู้ตัวคืออะไร  ตัว...แล้วก็รู้ เข้าใจมั้ย  มีตัวแล้วก็รู้ตัว เห็นมั้ย  ตัวคืออะไร...ตัวก็คือกาย ก้อนเนื้อ ก้อนธาตุ ก้อนกระดูก เศษเนื้อที่ห่มห่อหุ้มมัน หนังหุ้มอยู่เป็นที่สุดรอบ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ที่ห่อหุ้มกระดูก นี่คือตัว ...ก็รู้ตัว เห็นมั้ย มีอยู่แค่สองสิ่งคือ...รู้กับตัว

เพราะนั้นอยู่ดีๆ มันจะรู้ตัวเอง ไม่มีหรอก  มันต้องรู้ด้วยศีลสมาธิปัญญา ไตรสิกขา ...ไตรสิกขาก็คือย่นย่อจากมรรคแปด ...มันก็เป็นกลางแค่รู้ตัวนั่นแหละ 

เพราะอะไร  เป็นกลางยังไง ...คือไม่เอา ไม่ไปไม่มากับอะไรที่มันอยู่นอกจากการรู้ตัว  เพราะมันจะมาพัดมาโบกมาดึงมาลากให้ขาดจากความรู้ตัว ก็ไม่ไปไม่มากับมัน  นั่นแหละ เป็นกลาง...เป็นกลางด้วยความรู้ตัว...คือมัชฌิมา


โยม  เวลาหนูน้อมกลับ เหมือนน้อมกลับมานิด ฉุบมานิดนึง ไม่ใช่ไปคิดใช่มั้ยเจ้าคะ  

พระอาจารย์ –  อือ

โยม –  คือมันหันกลับมามอง เอ๊อ แล้วมันก็จบไป เราไม่ได้ไปอธิบายสาธยายกับเขา    

พระอาจารย์ –  ไม่ต้อง 

โยม –  ก็จบก็ดับ ก็กลับมารู้ตัวใหม่

พระอาจารย์ –   อือ ให้มันพลิกกลับอย่างนั้นน่ะ หันหลังกลับเข้าสู่ฐานใจปัจจุบัน...ทุกอย่างดับหมด  

ให้สังเกตดู เวลารู้ตัวจริงๆ น่ะ มันไม่มีอดีตอนาคตตรงนั้นเลย  ดูเหมือนขณะที่รู้ตัวน่ะ มันขาดออกจากโลกโดยสิ้นเชิงเลย  ขณะที่รู้ตัวขณะนั้น มันขาดออกจากโลก ในปัจจุบันนั้นเลย ...การรู้ตัวนี่มันจะละขาดเป็นขณะๆ ไป


โยม  พระอาจารย์คะ แม้แต่ขณะที่มันคิดฟังธรรมเอง ฟังธรรมจากท่านอาจารย์ขณะนี้ หรือฟังธรรมจากซีดีก็ตามนี่ คือมันจะมีอาการว่ากลับมารู้ตัว มีบางทีมันคิดตาม พอรู้ว่าคิดตามก็กลับมารู้ตัว 

พระอาจารย์ –  อือ มันอย่างนั้นแหละ ... นั่นแหละ ไม่ต้องจำ  เอาธรรมะที่ฟังเป็นเครื่องกระทบเท่านั้นเอง ไม่ต้องคิดตามหรอก  ถึงเวลามันจะคิดตาม ถึงเวลามันบทที่มันเจอจุดที่มันข้องมันคา มันจะรู้ความหมายเอง ...ให้มันรู้เอง ให้จิตให้ใจดวงนั้นมันออกมารับรู้เอง 

หน้าที่ของเราคือทำความรู้สึกตัว ระหว่างฟังไป  ...รู้อยู่ที่กาย ไม่ใช่ไปรู้ที่เสียง หรือความหมายในเสียงโดยตรง  ให้รู้ว่ากำลังนั่งฟังน่ะ มันมีตัวนั่งฟังอยู่มั้ย  นั่นแหละ ฟังเป็น...ต้องมีตัวนั่งฟังอยู่ 

หรือว่าถ้ามันละเอียด ก็อยู่ที่รู้เลย  ถ้ามันสงบ ก็ให้รู้อยู่ที่รู้ ตรงที่รับรู้อยู่ภายใน  แล้วเสียงมันก็จะลอยมาจมลงที่รู้ ดับลงที่รู้ พั่บๆ  พอลอยมากระทบแล้วก็ดับลงที่รู้...แล้วก็อยู่ที่รู้  

ไม่ใช่มาอยู่ที่หู...อยู่ที่รู้  ตามอายตนะเสียงน่ะ ผัสสะทางเสียงก็เข้ามา ลอยเข้ามา ปุ๊บ แล้วก็ดับลงที่รู้  ดับเป็นคำๆๆๆ เป็นประโยค เป็นข้อความ ...ถ้าดูอย่างนั้น รู้อยู่อย่างนั้นน่ะ  ฟังแล้ว ฟังจบแล้ว มันเหมือนไม่รู้เรื่องอะไรเลย  มันเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย

เพราะนั้นถ้าอยากฟังเอาสุตตะ เอาจินตา ฟังอีกแบบนึง  ฟังผ่านๆ เข้าใจมั้ย ฟังโดยไม่ต้องกำหนด ...แต่ถ้าฟังด้วยการกำหนดรู้นี่ มันจะไม่รู้เรื่อง  ...แต่ถ้าอยากรู้ถ้อยคำข้อความ ฟังแบบไม่กำหนด ฟังเรื่อยๆ สบายๆ มันจะจำถ้อยความ คิดตามได้ ก็ไม่ผิด

เพราะนั้นปัญญามันมีสามขั้น สุตตะ จินตา และภาวนามยปัญญา เข้าใจมั้ย  เพราะนั้นระหว่างฟังนี่ มันจะได้ทั้งสามปัญญา ทั้งสามตัว ... มันไม่มีอะไรผิดถูกหรอก มันแล้วแต่ ...เพราะบางทีเราก็ต้องการข้อความ ต้องการความเข้าใจโดยภาษา ...ก็เรียกว่าระหว่างนี้ทำปัญญาขั้นสุตตะกับจินตามยปัญญา 

แต่เมื่อเข้าใจแล้ว บางถ้อยความไม่มีสาระ หรือไม่ตรง หรือว่าไม่จำเป็นจะต้องรู้  มันก็จะรวมรู้ลงที่ใจ กับรู้ตัว ...ตรงนั้นน่ะ มันจะผ่านข้อความหมดเลย โดยไม่สนใจในเสียง ในข้อความ ความหมาย ...ในระหว่างตรงที่รู้อย่างนี้เรียกว่าภาวนามยปัญญาเกิด กำลังเจริญภาวนามยปัญญาอยู่ ด้วยการรู้จริงเห็นจริงกับปัจจุบันของกายใจ

แล้วบางทีเดี๋ยวมันก็ถอนขึ้นมา พออยากรู้อยากเห็นมันก็ออกมาทำความรู้แจ้งในสุตตะกับจินตา มาประกอบกันอย่างนี้ ...เพราะนั้นปัญญามันจะประกอบกันสามตัวนี่ 

แต่ต้องเข้าใจไง ...ต้องเข้าใจ แยกแยะให้เป็น  ไม่งั้นมันจะลังเลสงสัย ว่าจะฟังยังไงดี  แล้วก็ไม่รู้จะวางจิตวางใจยังไง  เลยลังเลๆ ละล้าละลัง

แต่ว่าสุดท้ายมันก็ต้องเข้าใจด้วยตัวเองว่า สุตตะกับจินตานี่มันแค่ประคับประคอง  ตัวที่จะได้ผล...รู้แจ้งเห็นจริง มันจะต้องเป็นภาวนามยปัญญาลูกเดียว ล้วนๆ 

แล้วจากนั้นไป ใช้แต่ภาวนามยปัญญาเป็นหลัก ในทุกกาลเวลาสถานที่...ต้องได้  อย่างน้อยน่ะมันจึงจะเข้าใจความหมายว่า ยืนก็ภาวนา นั่งก็ภาวนา เดินก็ภาวนา กินก็ภาวนา นิ่งก็ภาวนา คุยก็ภาวนา คิดก็ภาวนา ... คือมันจะมีภาวนาอยู่ตลอดเวลา ถึงเรียกว่าภาวนาเข้าสายเลือดเลย  เรียกว่าเป็นอกาลิโก

ไม่ใช่แค่จำแค่คิด  มันจะเป็นภาวนาทุกขณะจิตไม่ได้ด้วยการจำการคิด ... ก็ต้องอาศัยรู้กายรู้ใจนี่เป็นภาวนา จึงเรียกว่าเป็นภาวนามยปัญญา  ญาณทัสสนะมันจะเกิดจากภาวนามยปัญญา 

มันไม่ใช่แค่รู้จำกับรู้คิด หรือว่ารู้ยอมรับด้วยความจำกับความคิด นั่นมันแค่ชั่วคราว ประคับประคองเท่านั้นเองให้เกิดความเชื่อมั่นภายนอก ...แต่จะให้เชื่อมั่นลงเป็นที่ใจนี่ ด้วยปัจจัตตังนี่ ต้องลงด้วยภาวนามยปัญญา คือรวมลงที่กายใจ

ไม่ต้องกลัว...รู้กายที่เดียว...แจ้ง  สติตัวเดียว รู้ลงที่กาย...แจ้งหมด  สติปัฏฐานมันเป็นอุบาย  เมื่อเข้าใจ เมื่อถึงสติที่เป็นตัวแท้ตัวจริงตัวสัมมาแล้วนี่ กายนี่มันจะกระจายไปถึงทั้งหมดเลย รวมกันหมดเลย  มันจะไม่แบ่งไม่แยกเป็นรูปเป็นนามหรอก 

มันก็แค่รู้ที่เดียวนี่แหละ กับกายนี่แหละ...แจ้งหมด  เราบอกแล้วไง แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านสำเร็จแล้วท่านยังบอก ท่านก็มีลมหายใจเป็นวิหารธรรม เวลาท่านเจ็บเวลาท่านป่วย ท่านยังมากำหนดดูลมเลย อาศัยลมเป็นเครื่องระลึกรู้


(ต่อแทร็ก 5/8)