วันจันทร์ที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

แทร็ก 5/11




พระอาจารย์

5/11 (540715C)

(แทร็กชุดต่อเนื่อง)

15 กรกฎาคม 2554



โยม –  พระอาจารย์คะ ปัจจุบันนี่มันนิดเดียวเท่านั้นใช่ไหมฮะ

พระอาจารย์ –  แค่ขณะเดียวแหละ

โยม –  รู้แล้วก็ดับไป หายไป ..ก็รู้ใหม่อีกหรือฮะ

พระอาจารย์ –  ก็อย่างงั้นน่ะ

โยม –  พระอาจารย์บอกว่า ควรจะน้อมว่าเป็นเราตรงไหน ...อันนี้ควรจะน้อมบ่อยครั้งไหม

พระอาจารย์ –  น้อมต่อเมื่อ... จริงๆ น่ะ เมื่อมันเป็นเราขึ้นมา

โยม –  อ๋อ ความรู้สึกใช่ไหมคะ ว่าเราอย่างนั้น เราอย่างนี้หนอ ...ถ้าโกรธล่ะคะ

พระอาจารย์ –  เหมือนกันน่ะ ...โกรธมันก็ขึ้นมาจาก “เรา” โกรธนั่นแหละ

โยม –  อ่ะฮ่ะ

พระอาจารย์ –  ดู ...รู้ลงไปที่โกรธ แล้วก็ดูว่าโกรธมันเป็นความรู้สึกของเรายังไง


โยม (อีกคน) –  ก็ถ้าเกิดว่าเราดูเวทนา แล้วเราก็บอกว่า...คือสอนใจใหม่เลยน่ะค่ะ ว่าเวทนาไม่ใช่เรา บอกอย่างนี้ไปเลยดีไหมคะ

พระอาจารย์ –  มันก็บอกได้  แต่ว่ามันก็เป็นอุบาย  ... จริงๆ ไม่ต้องบอกอะไรหรอก

โยม –  ถ้าไม่บอกเดี๋ยวมันก็ว่าเป็นเราอย่างนี้น่ะค่ะ 

พระอาจารย์ –  เป็นก็เป็น ก็ให้รู้ว่าเป็นเรา     

โยม –  แล้วถ้าเรากำชับทับไป...ว่าไม่ใช่   

พระอาจารย์ –  มันก็บอกก็เตือนได้ ...แต่ว่ามันก็แก้ไม่ได้หรอก   

โยม –  คล้ายๆ ใส่โปรแกรมใหม่  

พระอาจารย์ –  มันไม่ฟังหรอก

โยม –  ไม่ฟัง (หัวเราะกัน) ...ทำไมมันไม่ฟัง เราเปลี่ยนสั่งใหม่แล้วน่ะค่ะ  

พระอาจารย์ –  สั่งมันกี่ครั้งๆ มันก็ไม่ฟัง    

โยม –  มันไม่ฟัง ... ทำยังไงมันถึงจะฟังคะ  

พระอาจารย์ –  ดูมันไปเฉยๆ รู้ไปเฉยๆ ... มันจะเชื่อ....ต่อเมื่อมันเห็นตามความเป็นจริงด้วยตัวของมันเอง  

ใจที่เข้าไปรู้เข้าไปเห็นตรงๆ ซ้ำซากอยู่ในจุดนั้นแหละ ...จนมันเข้าใจ จนมันยอมรับว่า...สิ่งที่มันรู้ สิ่งที่มันเห็นตรงนี้ มันไม่ได้เป็นอะไรอย่างที่บอกอย่างที่ว่า...ทั้งที่ว่าในแง่ดี แง่ไม่ดี  ทั้งในแง่ถูก ทั้งในแง่ผิด 

บอกเท่าไหร่มันก็ไม่ฟัง มันไม่ฟังหรอก ...เพราะนั้นต้องให้จิตรู้เองเห็นเอง ใจเข้าไปรู้เองเห็นเอง ซ้ำอยู่ตรงนั้นน่ะ  

เพราะความเป็นจริง...ที่แท้ มันไม่มีชื่อ ไม่มีภาษา ... แต่ความเป็นจริงนี้...จิตมันไม่เห็น  มันไปเชื่อแต่ความเป็นจริงขั้นสมมุติบัญญัติ นี่ มันยังไม่สามารถไปเห็นความเป็นจริงโดยตลอดได้  

ถ้ามันจะเห็นความเป็นจริงโดยตลอดนี่ มันจะต้องเข้าไปเห็นความเป็นจริงโดยปรมัตถ์ จะต้องเห็นกายปรมัตถ์ มันจะต้องเห็นรูปปรมัตถ์ นามปรมัตถ์ ที่เหนือบัญญัตินอกสมมุติ ...มันถึงจะเข้าใจโดยตลอด

เมื่อเข้าใจโดยตลอดทั้งสมมุติบัญญัติและปรมัตถ์แล้วนั่นแหละ มันจึงจะเกิดความเข้าใจโดยรอบ...แทงตลอด  แล้วมันจะวางจากการเข้าไปมี เข้าไปเป็นในอาการนั้นๆ

ตอนนี้มันก็รู้กันทุกคนน่ะ...ว่ามันเป็นทุกข์ ว่าอย่าไปเอานะ อย่าไปยึดนะ ... มันฟังที่ไหนล่ะ  ใจมันยอมมั้ยล่ะ ...บอกให้มันเลิก บอกให้มันละ มันก็ไม่ยอม เห็นมั้ย 

ไม่ใช่ไม่รู้นะ ...มีใครบ้างไม่รู้อนิจจัง มีใครบ้างไม่รู้อนัตตา มีใครบ้างไม่รู้จักคำว่าทุกขัง ... "เอ้ย ช่างมันเถอะ มันเป็นเรื่องไม่เที่ยง" ... เนี่ย มันก็พูดกันอยู่ติดปาก  สอนกัน บอกกัน ...อย่าไปทุกข์กับมันเลย มันไม่เที่ยง 

สุดท้ายทุกข์ใหม่มา มันก็ทุกข์ใหม่ ยึดใหม่ ... บอกมันอีก มันก็ยังยึดอยู่ต่อหน้าต่อตานั่นแหละ

เพราะนั้นแค่บอกแค่พูดให้มันน่ะ มันไม่ฟังหรอก ... มันต้องให้ใจดวงนี้เข้าไปสัมผัสรับรู้ตรงๆ ในความเป็นจริงที่ปรากฏนั้น  มันจะจึงเกิดความเข้าใจตรง...ตรงต่อธรรมทั้งสองฝ่าย ตรงต่อสมมุติธรรม ตรงต่อบัญญัติธรรม ตรงต่อปรมัตถธรรม ...มันจึงจะแจ้งในความหมายของธรรมที่ปรากฏนี้

เช่นเห็นกายไม่เป็นกาย  เช่นเห็นกายไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ชาย ไม่ใช่หญิง  เช่นเห็นกายไม่เป็นแขนไม่เป็นขา ไม่เป็นหน้าไม่เป็นหลัง ไม่เป็นดำไม่เป็นขาว ... มันเห็นกายแค่อาการ นั่นแหละ มันต้องเห็นความเป็นจริงอย่างนั้น

หรือเห็นเวทนา มันไม่มีว่าปวด มันไม่มีบอกว่าเรา มันไม่มีปวดมาก มันไม่มีปวดน้อย ...มันไม่มีคำพูด มันก็เห็นเป็นแค่ก้อน แค่กอง  

ถ้าเห็นเป็นแค่ก้อนแค่กอง ไม่ต้องถามว่ามันเป็นของใครแล้ว มันก็เหมือนมองเวทนาก็เหมือนเรามองถ่านหรือหิน ...จะบอกว่าถ่านนี้ของใครมั้ย มันก็เห็นอยู่เต็มตา ไม่ต้องไปถามเลยว่าเป็นของใคร  ทำไมมันจะไม่รู้ว่ามันไม่ได้ว่าอะไรสักคำ อย่างเนี้ย

มันต้องเห็นซ้ำซากๆ อยู่อย่างเนี้ย...ความเป็นจริงในขั้นปรมัตถ์นี่  มันจึงจะไปลบความเชื่อในบัญญัติและความเชื่อในสมมุติ ... เพราะอุปาทานน่ะ ตัณหาน่ะ มันจะเกิดตามสมมุติและบัญญัติโดยส่วนใหญ่

พอบอกว่าปวด ...ปวดทันที รู้สึกเจ็บหมดเลย ... แต่ถ้าเราไม่บอกว่าปวด รู้เฉยๆ กับมัน ไม่พูดไม่จา ... มันก็เป็นแค่อะไรตึงๆ ก้อนๆ  จะไม่มีความรู้สึกในข้างในลึกๆ ว่าทรมานไปกับความปวด ...แต่ถ้าบอกว่าปวดๆๆ มันยิ่งทรมาน

นี่ อุปาทานมันตามมากับบัญญัติสมมุติ และความอยาก-ความไม่อยาก ก็จะตามมาอีก  ตามอุปาทานมา...ว่าทำยังไงถึงจะไม่ปวด ...นี่ มันสร้างความปรุงขึ้นมาเลย เป็นภาษา เป็นสมมุติภาษา

แต่ถ้าแค่รู้แค่เห็นเฉยๆ  เท่าทัน...ละออกซึ่งความปรุงแต่งทั้งหลาย...ในสัญญาอารมณ์ ในสมมุติบัญญัติที่มันจะเรียก ที่มันจะขานอะไรออกมา ... มันก็เริ่มมารู้เห็นตรงๆ กับอาการนั้นตรงๆ แบบไม่มีคำพูด

มันจะต้องมาทำความย้ำ ซ้ำซาก ชัดเจน ในส่วนนี้มากๆ  มันถึงจะเข้าไปล้างความเชื่อตามบัญญัติกับสมมุติลงไป ... จนมันเข้าไปเห็นความเป็นจริงโดยปรมัตถ์ ยอมรับความเป็นจริงของปรมัตถ์แล้วนี่  มันถึงจะออกมารับรู้สมมุติด้วยความสมดุล เป็นกลาง ไม่ออกมารู้สมมุติโดยลักษณะอุปาทาน ตัณหา

แล้วมันก็ใช้สมมุติโดยที่สมมุติไม่ได้มาใช้มัน  แต่มันอยู่ด้วยการที่ว่าใช้สมมุติบัญญัติ แต่ไม่อยู่โดยที่ให้สมมุติบัญญัติมาใช้ใจ ... จะบัญญัติก็ได้ จะไม่บัญญัติก็ได้ ไม่เดือดร้อน มันจะอยู่อย่างนั้น

แต่ถ้าไม่มีอะไร มันก็ไม่เข้าไปบัญญัติกับอะไร ไม่เข้าไปสมมุติว่านี่คือนั่น นั่นคือนี่ กับอะไร ... นี่เขาเรียกว่ารู้แล้ว รู้แจ้งรู้จริง รู้ทั้งสองส่วน รู้ทั้งบัญญัติ รู้ทั้งสมมุติ รู้ทั้งปรมัตถ์ เข้าใจ ... นี่ รู้รอบ รู้ตลอด

แต่ถ้ายังรู้ค้างๆ คาๆ  ครึ่งๆ กึ่งๆ นี่ ... มันจะเกิดความลังเล สงสัย ...อะไรดี อะไรไม่ดี  ทำยังไงดี หรือไม่ทำอะไรดี  อะไรถูก อะไรผิด  อะไรควร อะไรไม่ควร  มันยังแยกไม่ออก  เพราะสมมุติ...ความเชื่อในสมมุตินี่ มันจะเป็นตัวกำหนดวิถีของจิต

แต่ถ้าเราเชื่อในศีลสมาธิปัญญา หรือแค่สติ การระลึกรู้เท่าทัน ...เราต้องอาศัยตัวสติระลึกรู้เท่าทันเป็นตัวนำจิต นำวิถีชีวิต ไม่ให้สมมุติบัญญัติหรือความเชื่อความเห็นเป็นตัวนำพา

เพราะนั้นถึงว่า อะไรเกิดขึ้น...รู้ แค่รู้ ... คิดก็รู้ แล้วไม่คิด...ไม่ตามความคิด  มีอารมณ์ก็รู้...ว่ามีโกรธ มีพอใจ มีเสียใจ  แต่ไม่ทำตามความพอใจ หรือไม่พอใจ  ไม่ทำตามความโกรธหรือความดีใจ เสียใจ 

ก็แค่รู้ว่าโกรธ ว่ากำลังโกรธ ว่ายังคงความโกรธอยู่ ...แค่รู้  แต่ไม่ทำอะไรตามความโกรธ หรือความดีใจ  นี่ เขาเรียกว่ารู้...แต่ไม่ตาม

ก็เรียกว่าอยู่กับสติ ...ไม่ได้อยู่กับความโกรธ ไม่ได้อยู่กับอารมณ์ ไม่ได้อยู่กับอารมณ์แล้วก็ตามอารมณ์ ...แต่อยู่กับสติ  คืออยู่กับรู้ว่าโกรธ และรู้ว่ามันยังไม่หายโกรธ รู้ว่ายังไม่หายขุ่น  ก็รู้อยู่ รู้อยู่ว่าขุ่น ยังไม่หายขุ่น ... อย่างนี้เขาเรียกว่าเจริญสติไว้

มันจะมีก็ช่างมัน แต่อย่าให้มันมีอิทธิพลเหนือ จนมันชักลากให้กายวาจา ทำไปตามอำนาจสมมุติบัญญัติที่ปรุงที่แต่งนั้นขึ้นมา ...ถ้าระลึกรู้อยู่อย่างนี้ ต่อเนื่องนานๆ ต่อไป มันก็จะเห็นที่สุดของอาการ...ว่าดับไป  สุดท้ายก็ดับไปเองน่ะ สุดท้ายก็จางคลายไปเองน่ะ สุดท้ายก็หมดไป หายไปของมันเองน่ะ

ตรงนี้...การที่เข้าไปเห็นตรงนี้บ่อยๆ นี่แหละ คือตัวที่จะเข้าไปสอนใจจริงๆ ...ว่ามันไม่มีอะไร  มันเป็นไตรลักษณ์ มันไม่ได้เป็นของเราตรงไหน ... นี่ มันจะเป็นอาการที่เข้าไปเห็นที่สุดของมันแล้วดับไปเอง ...ตัวนี้ต่างหากที่เป็นตัวสอนใจที่แท้จริง

ไม่ใช่ด้วยคำพูด ไม่ใช่ด้วยภาษา ไม่ใช่ด้วยความนึกๆ คิดๆ ... แต่เป็นที่ใจดวงนี้มันอยู่ด้วยสติแล้วก็ไปเห็นความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏต่อหน้ามันนั่นแหละ ว่าที่สุดของมันคือความดับไปเป็นธรรมดา ดับไปเองเป็นธรรมดา

นี่ต่างหากคือปัญญา และมันต้องสะสมปัญญาเช่นนี้ ซ้ำซากๆ  ไม่ท้อ ไม่ถอย ไม่เบื่อ ไม่เข้าไปแทรกแซงกระบวนการ  ไม่เข้าไปเพิ่ม ไปเติม ไปตัด ไปต่อ ไปเหนี่ยวรั้ง ไปแก้ไข...กับมัน 

เพราะการเข้าไปกระทำนั่น ทำให้ความเป็นจริงที่สุดสุดท้ายของมันบิดเบือนไป ... ตรงนั้นแหละ ที่มันจะไปก่อให้เกิดความหมายมั่นว่าเป็นเรา ของเราเพิ่มขึ้น

มันจึงกลับกันเลยนะ ...คือยิ่งทำเท่าไหร่ ยิ่งไปข้องเกี่ยวกับมัน ยุ่งกับอาการมากขึ้นเท่าไหร่  แล้วไปทำตาม ทั้งในแง่บวกหรือในแง่ลบ ทั้งในแง่ตัดหรือในแง่เพิ่ม ทั้งในแง่ตอบสนองและในแง่ไม่ตอบสนองแล้วก็ทำให้มันดับไป ... มันจะเข้าไปสะสมความเห็นว่าเป็นเราของเรามากขึ้น  มันกลับกันนะ มันได้ผลลัพธ์กลับกัน

แต่ถ้าอยู่ด้วยสติ แล้วไม่ตามมัน ด้วยความอดทนอดกลั้น รู้เฉยๆ  อยู่กับรู้...เป็นหลัก ผูกไว้  แล้วเห็นความดับไป จางไป คลายไป ของมันเอง ... อย่างเงี้ย มันจะเข้าไปลบความเห็นว่าเป็นเรา ของเรา ให้น้อยลงไปเรื่อยๆ

ไอ้ความที่ว่าเป็นเรื่องของเรา เป็นอารมณ์ของเรา เป็นสิ่งที่เราต้องทำ เป็นสิ่งที่เราไม่ต้องทำ นี่ มันจะไปลบความรู้สึกลึกๆ ภายในส่วนนี้ลงไป ให้เกิดความจางคลาย ...ซึ่งไม่มีวิถีทางอื่นเลย นอกจากว่าใจดวงนี้ ต้องเห็นความเป็นจริงของไตรลักษณ์เท่านั้น

หากเป็นความเห็นอื่น ไม่ว่าจะเห็นในแง่ไหน มันก็เป็นแค่ชั่วคราว ...จะบอกมัน จะสอนมัน มันก็ได้แค่นั้นน่ะ แป๊บนึง ... แต่มันยังแก้อะไรไม่ได้โดยเด็ดขาด โดยสมบูรณ์  

ไม่ว่าจะมองในแง่ว่าเป็นอสุภะ จะมองในแง่ที่ว่าเป็นธาตุ  มันก็ได้แค่ขณะนึง ชั่วคราว .... มันจะไม่เข้าไปลบล้างความเชื่อความเห็นภายใน...ที่ฝังรากลึกกับความมี ความเที่ยง ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของได้

มีธรรมเดียวเท่านั้นน่ะที่แก้ได้ คือไตรลักษณ์ ...การเห็นไตรลักษณ์ เห็นอาการของกาย ของขันธ์ ของผัสสะ ของอายตนะ ของอารมณ์นี่...เป็นไตรลักษณ์เท่านั้น

เบื้องต้นน่ะ ไม่ต้องทำอะไรหรอก ยืนเดินนั่งนอน รู้ไป ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ... ให้มองเห็น ให้รู้ตัว ว่ากายกำลังนั่ง กำลังไหว กำลังขยับ ให้รู้กับสองสิ่ง  เอากายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ เอาใจเป็นเครื่องระลึกรู้และเห็น แค่นี้แหละ

ให้เพียรรู้อยู่อย่างนี้ ที่กาย ต่อเนื่องไป ... ไม่เอาความอยากได้ ความอยากมี มาเป็นตัวกำหนด หรือเป็นตัวตั้งให้เกิดเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่ง ...ให้เอารู้กับกายปัจจุบันน่ะเป็นตัวตั้งอยู่เสมอ  ความเข้าใจชัดเจน มันจะเกิดขึ้นชัดเจนตามลำดับลำดาไป


โยม –  ที่เมื่อกี้พระอาจารย์พูดถึงสมมุติบัญญัติ ...การบริกรรมพุทโธๆ นี่ จะเป็นการติดสมมุติบัญญัติมั้ยคะ    

พระอาจารย์ –  คือถ้ามันมีปัญญา มันไม่ติดหรอก ...มันก็เป็นอุบาย นึกพุทโธไว้...ดีกว่าไปด่าคนอื่น ใช่ป่าว 

โยม –  (หัวเราะ) ค่ะ                                                                                        

พระอาจารย์ –  เพราะความคิดน่ะมันมีหลากหลายน่ะ  คิดเรื่องคนนั้น คิดเรื่องคนนี้ มันก็คือความคิดเหมือนกัน ...ก็เอาพุทโธไปคิดแทนซะ มันจะได้ไม่ด่าคนอื่น  

โยม –   ค่ะๆ ดีกว่านะคะ  

พระอาจารย์ –  เออ ก็นี่เป็นคำบริกรรมไง ถึงเอาพุทโธบริกรรม   

โยม –  จะด่าก็พุทโธเลย   

พระอาจารย์ –  เพราะถ้าไม่มีคำบริกรรม มันจะคิดแต่เรื่องคนอื่น ตำหนิติเตียน ... เพราะนั้นเอาพุทโธเป็นคำแทนความคิดซะ  นี่เป็นอุบาย 

โยม –  ค่ะ ไม่ติดนะคะ                                                                   

พระอาจารย์ –  ไม่ติดหรอก ต้องอาศัยมันก่อน ...แล้วพอเข้าใจแล้วก็ เออ พอพุทโธไปพุทโธมา เดี๋ยวมันก็วางพุทโธเองน่ะ  

โยม –  พอให้รู้จุดมุ่งหมายว่าเพื่ออะไร    

พระอาจารย์ –  พอมันวางพุทโธเอง ก็หมายความว่าไม่ต้องมีพุทโธ มันก็ไม่ไปไม่มาแล้ว มันก็สงบของมันเอง 

โยม –  ค่ะๆ  พอมันรวมแล้ว มันก็หยุดของมัน  

พระอาจารย์ –  เออ มันก็อยู่ได้ มันก็หยุดพุทโธแล้ว  ไม่รู้จะพุทโธไปทำไม ขี้เกียจพุทโธแล้ว มันก็อยู่ของมันนิ่งๆ อย่างนั้น จิตมันก็สงบของมัน

แต่ถ้ายังไม่สงบนิ่งอย่างนั้น แล้วมันไม่พุทโธนี่  มันก็จะไป "พุดโธ่เว้ย...มึ๊ง มึง" ... มันมีแต่จะไปตำหนิติเตียนคนอื่นเขาอย่างนี้ ...ก็ต้องเอาพุทโธไว้

มันอยากด่านัก...พุทโธเข้าไว้ พุทโธๆๆๆ  มันบ่น...ก็บ่นเป็นพุทโธแทน ให้มันอยู่กับพุทโธซะ มากๆ ...อย่าทิ้งพุทโธ จิตมันจะได้สงบหยุดอยู่กับพุทโธ ... แล้วก็เมื่อมันสงบดีแล้ว ตั้งมั่นสงบระงับดีแล้ว มันก็จะทิ้งพุทโธไปเอง มันก็อยู่กับความสงบ 

โยม –  ไม่ต้องไปนึกว่าพุทโธที่แท้ต้องรู้...

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องอ่ะ ...ถ้าจะพุทโธก็พุทโธไปจนถึงที่สุด เดี๋ยวมันสงบ  พอสงบแล้วมันรู้ขึ้นมา ตัวใจมันจะปรากฏเอง ต่อเมื่อพุทโธภาษามันดับไป

แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าจิตมันสามารถเจริญสติรู้ได้ อยู่กับกายได้ เห็นกายได้ รู้ปัจจุบันของกายได้ ก็รู้ลงไป ไม่ต้องพุทโธ เอากายเป็นพุทโธ  


โยม –  ตรงนี้ฮ่ะ โยมไม่เข้าใจว่าเอากายเป็นพุทโธนี่    

พระอาจารย์ –  ก็เหมือนกับคำบริกรรมนึงน่ะ  

โยม –  กายนี่หรือคะ มันรู้ รู้เฉยๆ 

พระอาจารย์ –  มันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้อันหนึ่ง  

โยม –  บางทีมันเบื่อนะคะ   

พระอาจารย์ –  อะไร    

โยม –  เบื่อที่ดูกายเฉยๆ นั่ง พอดูแล้วก็เคลิ้มๆ   

พระอาจารย์ –  เบื่อก็รู้ว่าเบื่อ เคลิ้มก็รู้ว่าเคลิ้ม   

โยม –  ถ้านั่งนิ่งๆ แล้วเคลิ้มน่ะฮ่ะพระอาจารย์         

พระอาจารย์ –  เคลิ้มก็ขยับ

โยม –  ขยับได้นะคะ ลุกขึ้นเดิน หันซ้ายหันขวา

พระอาจารย์ –  เดินก็ได้ ดูอะไรก็ได้ ...คือที่มันเคลิ้มน่ะเพราะไปดูกายนิ่งๆ      

โยม –  ใช่ฮ่ะ นิ่ง นิ่งแล้วเคลิ้ม    

พระอาจารย์ –  เออ ก็ทำไมไม่ดูไอ้กายส่วนที่ไม่นิ่ง 

โยม –  (หัวเราะ) แต่ขณะมันนิ่งนะคะ  

พระอาจารย์ –  ลมหายใจมันนิ่งมั้ย   

โยม –  อ๋อ ไม่นิ่งค่ะ  

พระอาจารย์ –  เออ พยายามดูไว้  ถ้าดูลมหายใจแล้วยังเคลิ้มอีก ก็เดินมันซะ  ให้มันเห็นการไหว การไม่คงที่ การไม่เที่ยง ... เพราะนั้นถ้าเที่ยงแล้วเดี๋ยวมันจะไปแช่ ไปเคลิ้มอยู่กับสิ่งนั้น ...พุทโธมันยังหลับได้คาพุทโธน่ะ เอาเหอะ บอกให้เลย 

โยม –  (หัวเราะ) ค่ะ ใช่  

พระอาจารย์ –  มันไม่ใช่ว่าจะตื่นได้เสมอหรอก ...แต่ว่ามันต้องมีน่ะ กุศโลบาย หรือเทคนิค ... เพราะนั้นการดูกาย ถ้าไปดูนิ่งๆ หรือว่าเพ่งลงไปที่กายที่เดียวนี่ มันจะดูเหมือนว่ากายเที่ยง  ถ้าดูกายเที่ยงแล้วเดี๋ยวไปแล้ว...ไม่เพ่งก็เผลอ

เพราะนั้นให้ดูกายที่เป็นลักษณะที่ขึ้นๆ ลงๆ เคลื่อนไหว หรือไม่คงที่ หรือแปรปรวน ...เพราะที่จริงน่ะ กายมันไม่เคยคงที่เลย   

โยม –  อ้อ ลมหายใจนี่นะคะ    

พระอาจารย์ –  ตลอดเกิดมานี่ ลมหายใจมันเคยหยุดมั้ย ... เพราะนั้นกายนี่มันไม่เคยถาวรเลยนะ มันอยู่บนความแปรปรวนตลอดเวลา ... นี่ ดูความแปรปรวนที่กายบ่อยๆ ก็จะเห็นกายเป็นไตรลักษณ์เองน่ะ ...ไม่ต้องคิดเลย  

ไม่ต้องดูด้วยความคิดเลย ดูไปตรงๆ น่ะ ว่ามันไม่คงอยู่ ...หายใจเข้าอันใหม่ หายใจออกอันใหม่  เข้าก็อันนึง ออกก็อันนึง  เข้าก็กายอันนึง ออกก็กายอันนึง ...มันคนละตัวกันแล้ว ไม่ใช่อันเดียวกัน 


โยม –  ค่ะ ... ทีนี้การแยกรูปแยกนามหรือแยกขันธ์นี่ ทำยังไงหรือคะ

พระอาจารย์ –  รู้ไปก่อน ให้มันตั้งมั่นก่อน ให้มันรู้อยู่กับกายนี้ ไม่ออกไปไหนก่อน    

โยม –  ค่ะ     

พระอาจารย์ –  ขณะที่รถวิ่ง แล้วโยมนั่งอยู่ในรถนี่ โยมแยกออกมั้ยว่า รอบตรงนี้ที่ผ่านมาเมื่อกี้ ป้ายมันเขียนว่าอะไร    

โยม –  ใช่ฮ่ะ เร็วๆ ไม่ได้   

พระอาจารย์ –  ตราบใดที่โยมยังอยู่ในรถที่ยังวิ่งไปเรื่อยน่ะ โยมจะอ่านจะเห็นว่ามันคืออะไร ใครเป็นคนเขียน เขียนสวยหรือเขียนไม่สวยยังไง ... โยมจะต้องหยุดยืน แล้วดู ใช่มั้ย

เมื่อใดที่โยมหยุดอยู่ที่กายใจปัจจุบัน แล้วไม่ออกนอกกายนอกใจ เรียกว่าตั้งมั่นอยู่กับกายใจในปัจจุบัน ...นั่นแหละโยมจะเห็นอะไรชัดเจนเลย  มันจะเริ่มชัดเจนในสิ่งนั้นเอง ...เหมือนกับยืนอ่าน แล้วก็เห็นเลย อ๋อ ไอ้นี่เรียกว่าปฏิทิน แล้วก็เขียนว่าเดือนอะไร ...แต่ขณะโยมวิ่งไปนี่ โยมไม่เห็นหรอก ก็เห็นว่าอะไรแว้บๆ


โยม –  ใจต้องนิ่งใช่ไหมคะ 

พระอาจารย์ –  เออ ใจมันหยุดอยู่กับปัจจุบัน แล้วก็อยู่ในกาย ไม่ร่อนไม่เร่ ไม่ส่ายไม่แส่ไปในอดีต-อนาคตน่ะ ...เรียกว่ามีสมาธิตั้งมั่น  มันจึงจะเห็นอะไรที่เกิดขึ้นนี่ชัดเจนขึ้น อะไรที่ตั้งอยู่นี่ชัดเจนขึ้น

เช่นว่า นี่ปฏิทิน ไม่ใช่กระดาษเปล่า มันมีตัวหนังสือเขียน มันต่างกันกับกระดาษเปล่า ...แล้วไอ้ตัวที่เขียนคืออะไร ถ้าไม่นิ่งมันไม่เห็นน่ะ มันก็เห็นอะไรแว้บๆ แค่นั้นเอง แยกอะไรไม่ออก อย่างนี้

ที่จะแยกอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม อะไรเป็นอารมณ์ อะไรเป็นขันธ์ อะไรเป็นอายตนะ อะไรเป็นใจ อะไรเป็นรู้ ...มันแยกไม่ออก

นิ่งก่อน รู้ก่อน ตั้งมั่นก่อน สมาธิเกิดก่อน  จิตตั้งมั่นมากๆ อยู่กับกายกับใจ ไม่ไปไม่มา ... แล้วมันจะค่อยเกิดความชัดเจน แยกแยะ จำแนกกาย จำแนกจิต จำแนกขันธ์ จำแนกอายตนะ จำแนกผัสสะ ออกเป็นชิ้นเป็นอัน   


โยม –  เขาแยกเองหรือคะ   

พระอาจารย์ –  แยกเองน่ะ ...ถ้านั่งอยู่เฉยๆ นี่ เดี๋ยวมันก็ดูเองน่ะ เห็นเองน่ะ ...มันไม่ไปดูที่ไหน มันไม่ได้เดินไปไหนนี่ มันก็เห็นอันเก่านี่ ... มันไม่ไปไหนหรอก ของเก่า ของก็อยู่ในบ้านนี่ ...แต่มันไม่เคยดูเลย 

เพราะมันไม่เคยอยู่บ้าน ... ถ้ามันอยู่ในบ้านแล้วมันก็รู้สิว่ามีอะไรอยู่ตรงไหนอ่ะ  แล้วไอ้นี่มันเป็นกระดาษหรือมันเป็นแก้ว ทำไมจะไม่รู้ล่ะ ใช่มั้ย    

โยม –  ฮ่ะ    

พระอาจารย์ –  มันก็จำแนกเองน่ะ ... แต่ที่มันยังไม่จำแนกเพราะมันไม่เคยอยู่บ้าน มันไม่เคยหยุดนิ่ง นั่งนิ่ง นั่งเฉยๆ ดูอะไรเป็นชิ้นเป็นอันสักที 

ถึงบอกว่าต้องตั้งมั่นลงก่อนที่กาย บ่อยๆ เสมอๆ ...ให้อยู่กับสิ่งที่ถูกรู้ในปัจจุบันนั่นแหละ มันจะหยุดอยู่ตรงนั้นแหละ ...เรียกว่าสมาธิ  


โยม (อีกคน) –  พระอาจารย์คะ บางโอกาสนี่ มันจะฟุ้งอยู่ตลอดเลย กำหนดพิจารณาในรูปของฟุ้งนี่ได้มั้ยคะ ว่าเราทำไมต้องฟุ้ง

พระอาจารย์ –  พุทโธเข้าไป  
 
โยม –  ค่ะ พุทโธอยู่  พอมันจะเป็นสักพักนึง พอสงบปั๊บมันจะมีอาการที่บางทีก็จะมีพวกทุกขเวทนา เมื่อยขบอะไรขึ้นมาอย่างนี้  แต่นี้ตัวโยมเองไม่รู้ว่าผิดหรือถูก เพราะก็ไม่ได้มีครูบาอาจารย์สั่งสอนอะไร ก็ฟังตามเทปตามอะไรอย่างนี้นะคะ  

แต่ก็กำหนดที่ว่าในกรณีที่เราคิด กำลังคิดเรื่องอะไร ทำไมต้องคิด อะไร มันก็จะเป็นอยู่พักนึง แต่มันก็จะเปลี่ยนเรื่องไปเป็นเรื่องอื่น ก็พยายามดึงลมหายใจ กำหนดด้วยพุทโธ  แต่บางครั้งรู้สึกว่าบางวันได้ บางวันไม่ได้

พระอาจารย์ –  ก็เอาให้ได้ทุกวัน   

โยม – โห (หัวเราะ) บางทีมันเหมือน...

พระอาจารย์ –  ไม่ต้องหามันใหม่ ทำแบบเก่า ... พุทโธก็พุทโธ ลมก็ลมไป เหมือนเดิม ... มันฟุ้งซ่านเพราะมันหาหลายวิธีนั่นแหละ    

โยม –  ใช่ฮ่ะ พยายามว่า เอ๊ะ มันจะถูกกับจริตตัวไหนน้อ  

พระอาจารย์ –  ไม่มีจริต .... เดี๋ยวจะเป็นวิกลจริต (หัวเราะกัน) ไม่มีจริต รู้เข้าไป ...จะพุทโธก็พุทโธเข้าไป อย่าไปคิดว่ามีอะไรดีกว่านี้ อย่าไปเชื่อมัน  

จะพุทโธ ตั้งใจจะพุทโธ ต้องพุทโธให้ตลอด ...ปวดก็ปวด ช่างหัวปวดมัน จะพุทโธอย่างเดียว  พุทโธเข้าไป ไม่สนใจปวด จะทำอะไรก็พุทโธเข้าไป ...ทำให้มันอย่างเดียว อย่าไปโลภมาก  


โยม –  ก็บางทีมันคิดว่าจะทำอย่างไหนให้ถูก   

พระอาจารย์ –  อย่าไปอ้างๆ อย่าไปอ้างด้วยความเชื่อความเห็นใดๆ ... เคยทำยังไง ถนัดยังไง ทำลงไป อันเดียวพอแล้ว จะขึ้นสวรรค์ลงนรกก็พุทโธ เอาพุทโธนั่นแหละ...ทำไป  

อย่าไปเปลี่ยนนั่นเปลี่ยนนี่เป็นคนหลายใจ จับจด ... มันจะไม่ได้ผลอะไรสักอย่าง บอกให้เลย  สุดท้ายก็ตกม้าตายหมด...ไปไม่ได้

ใจมันต้องแข็งแกร่งเด็ดเดี่ยว ...ตายก็ตาย ฟุ้งก็ฟุ้ง กูจะพุทโธลูกเดียว ...ทำไม กลัวอะไร  มันกลัวช้ากลัวเร็วอะไร  กลัวอย่างเดียว กลัว...ไม่จริง                                                             

โยม –  ก็ใช่ มันกลัวไม่จริง                  

พระอาจารย์ –  กลัวไม่จริงก็ต้องทำให้จริงดิ ก็ต้องพุทโธให้จริงดิ

โยม – (หัวเราะ) ความเพียรยังไม่ค่อยมี 

พระอาจารย์ –  ไม่รู้ ไม่มีข้ออ้าง ...บอกแล้วอย่าไปเชื่อข้ออ้าง   

โยม –  ตัวลูกเองน่ะความเพียรยังไม่พอ   

พระอาจารย์ –  ไม่เกี่ยว ไม่สน มันเป็นความคิดขึ้นมาเฉยๆ อย่าไปฟังมัน ...พุทโธลงไป ไม่งั้นก็มานั่งท้อแท้อ่อนแอ ทำอะไรก็ไม่ได้ หยิบโหย่งๆ อยู่อย่างนี้

พุทโธลงไป คิดก็ไม่เอา ปวดก็ไม่เอา ...จะตั้งใจพุทโธก็พุทโธมันลงไป ขอตายกับพุทโธ ไม่ตายกับความปวด ไม่ตายกับความคิด แต่จะตายกับพุทโธ  ดูดิ๊ มันจะอยู่ได้มั้ย  

ให้มันจริงลงไป ...ปฏิบัติไม่จริง พอปฏิบัติไม่จริงแล้วก็โทษนั่นโทษนี่

โยม –  ใช่ฮ่ะ จริงฮ่ะ (หัวเราะกัน)                                            

พระอาจารย์ –  โทษฟ้า โทษดิน โทษลม โทษฝน โทษอาจารย์ โทษแนวทางการปฏิบัติ ...โทษไปหมด แต่ไม่เคยโทษว่า มึงน่ะแหละไม่จริง

ต้องรู้ลงไป พุทโธก็พุทโธเข้าไป อะไรที่นอกจากพุทโธ...ไม่เอา  รู้ลงไป ไม่ได้อะไรก็ช่างหัวมัน มันยังคิดต่อก็ช่างมัน นะ


โยม –  แล้วอย่างที่เขาเพ่งกระดูก อสุภะอะไรอย่างนี้ล่ะคะ   

พระอาจารย์ – ทำไม    

โยม –  ก็ มันเป็นแนวไหนคะ   

พระอาจารย์ –  ไม่เป็นแนวไหนหรอก ...พุทโธเข้าไว้ (หัวเราะกัน)    

โยม –  พอดีน้องเขาเพ่ง... ฝึกเพ่งกระดูกอย่างนี้น่ะฮ่ะ   

พระอาจารย์ –  พุทโธเข้าไว้  

โยม –  บางทีก็สับสนนะคะ ฟังหลายครูบาอาจารย์ กัมมัฏฐานมั่ง วิปัสสนามั่ง ไม่รู้จะไปทางไหน 

พระอาจารย์ –  พุทโธให้ได้ก่อน ให้มันสงบก่อน  สงบมากๆ แล้วค่อยมาดูกระดูก ...ถ้ายังไม่สงบ สงบก็ไม่สงบ กระดูกก็จะดู (หัวเราะกัน) หรือจะดูกระดูกให้ได้สงบ หรือจะดูกระดูกก่อน สงบทีหลัง ...มันยิ่งมั่ว

สงบก่อน ...จะพุทโธก็พุทโธก่อน กระดูกไว้ก่อน  ...ให้มันสงบก่อน แล้วค่อยเอาความสงบมาดูกระดูก เข้าใจมั้ย ...ถ้าอยากดูกระดูกน่ะ ให้ดูตอนสงบ  ไม่ใช่ไปดูตอนฟุ้งซ่าน นั่นความอยาก  มันไม่พอหรอก ดูไม่ได้ ดูไม่เห็นกระดูกหรอก

พุทโธไว้ก่อน ให้สงบ ตั้งมั่น จิตรวมดีแล้วจึงค่อยมาเพียรเพ่งลงไปที่กระดูก เอาจิตที่สงบนั้นเพียรเพ่งลงไปที่กระดูก ...เริ่มมาจากแข็งๆ นั่นแหละ ตรงไหนแข็งที่สุด กะโหลกน่ะ ดูลงไป ฟัน ดูเข้าไป เพ่งลงไป ฟันมันติดกับอะไร ดูมันเข้าไป กะโหลกตรงไหน ขากรรไกรยังไง เบ้าตานี่ ไล่เข้าไป

แต่ต้องให้จิตสงบก่อน ถ้าไม่สงบน่ะมันก็แค่ลูบๆ คลำๆ  คาดๆ เดาๆ ... พอมันสงบแล้วมันจะเป็นภาพที่ชัดเจน ฟันเป็นฟัน ขาวก็ขาว แข็งก็แข็งจริง มันชัดเจน ...แต่ถ้าไม่สงบ อะไรก็ไม่ชัดเจน  เดี๋ยวก็มีความคิดอันนั้น เดี๋ยวก็คิดอันนี้ มันไม่จดจ่อลงไปในกระดูก ...มันจะไปจ่ออยู่ที่กระดูกคนอื่น  


โยม –  เอ๊ะ ทำไมชอบไปดูคนอื่นนะคะ ไม่ชอบดูตัวเอง           

พระอาจารย์ –  สันดาน บอกแล้วว่าจิตมันชอบส่งออก    

โยม –  สันดานของจิตใช่มั้ยคะ    

พระอาจารย์ –  สันดานของอาสวะ ... ใจนี่คือรู้ แต่สิ่งที่อยู่หน้าใจนั่นเรียกว่าอาสวะ ...ตัวนี้มันไม่ชอบหยุดอยู่กับปัจจุบัน มันเป็นความคุ้นเคยที่จะไปในอดีตหรืออนาคตตลอดเวลา

สติจึงจะเท่าทันอาการไปอาการมาของจิต ...เพราะนั้นตัวอนุสัย หรือว่าอาสวะ หรือว่าสันดาน คือสิ่งที่มันหมักหมม ตัวนี้ ...อยู่เฉยๆ นี้ไม่มีอะไรมากระทบสัมผัสนี่ มันก็ปรุง ลอยออกมาเป็นความปรุง  ห้ามไม่ได้ด้วย

เพราะนั้นจะสงบ ก็พุทโธไป ...แต่มันไม่ได้ตายแค่ความสงบ  เมื่อมันสงบแล้ว มาเพ่ง เพียรเพ่งลงไปที่กาย เอามีดมาแล่เนื้อออก แล่หนังออก ถลกออก เอาให้ไม่เหลืออะไร  เหมือนถอดเสื้อ เหลือแต่เนื้อ เหมือนถอดหนังเหลือแต่กระดูก ... ดูเข้าไป ไม่ต้องว่าอะไร ดูลงไปให้เห็นเป็นกระดูก

พอดูถึงความเป็นกระดูก เห็นความเป็นกระดูกปุ๊บ  มันจะไม่มีความรู้สึกพอใจดีใจเสียใจอะไร มันจะมีแต่ความสลดสังเวช ความเบื่อจะมากขึ้นไปเอง จะเกิดมาทนแทนความยินดีในกาย ในความสวยของกาย ...มันก็จะเห็นความเป็นกระดูก

เหมือนเราเห็นกระดูกหมูหมากาไก่ที่อยู่ข้างนอก มันยังไม่เห็นสวยเลย บางทีก็กลัวด้วยซ้ำ นี่ เหมือนกัน ....เมื่อกลับมาเห็นกายเราเป็นกระดูกนี่ มันก็เหมือนกับกระดูกหมา  ยังกลัว ยังสลดสังเวช ... เพราะนั้นมันจะเกิดความสลด ความกลัว ความสังเวชในกายของตัวเอง เป็นความรู้สึกขึ้นมา

ดูลงไป จนเห็นกายไม่เป็นกาย จนเห็นกายไม่เป็นชิ้นเป็นอัน เห็นเป็นแค่กระดูกเดินไปเดินมา ก๊อกๆ แก๊กๆ  ไหวๆ  ...ไอ้ที่มันนั่งอยู่ได้นี่ มันนั่งได้ด้วยกระดูก  ถ้าไม่มีกระดูกนี่ เหมือนลูกโป่ง ที่หมดลม ...กระดูกมันค้ำไว้  ไอ้เวลาเดินนี่ ไอ้ที่รู้สึกตึ่กๆๆ นี่กระดูก เห็นมั้ย มันอยู่กับกระดูกกระเดี้ยวนี่แหละ ทั้งวันทั้งวี่

ถ้าไม่มีกระดูกนี่ ไม่เห็นเป็นตัวเป็นรูปได้เลย เป็นก้อนเนื้อก้อนน้ำเขละอยู่อย่างนี้ ...กระดูกมันดามไว้ เหมือนคอนกรีตเสริมเหล็กน่ะ มันดามไว้ มันดามเนื้อดามเลือดโดยมีหนังหุ้มไว้ หุ้มเลือดหุ้มหนอง หุ้มเครื่องในไว้  แต่ที่เห็นกันเป็นชิ้นเป็นตัวๆ นี่ กระดูกทั้งนั้นน่ะมันเสริมมันค้ำไว้ ...ดูเข้าไป

ที่คุยกันนี่ ก็กระดุกคุยกัน ถ้าไม่มีกระดูกนี่แยกไม่ออก ใครเป็นอาจารย์ใครเป็นลูกศิษย์แล้ว ถ้าจะดูกระดูกดูลงไป แต่ว่าให้สงบก่อน


โยม –  พระอาจารย์พิจารณาได้ถูกต้องแล้วค่ะ  

พระอาจารย์ –  นี่แหละ ดูกระดูกเข้าไป พิจารณาในที่อันเดียวนั่นแหละ ดูเข้าไป ...จนหาชื่อของเราในกระดูกไม่เจอน่ะ

เวลาเห็นกระดูกนี่ ถ้าเห็นทุกคนเป็นกระดูกนี่ จะรู้มั้ยว่าใครเป็นใคร  ดูเข้าไป จนเห็นเป็นกระดูก จนมีความเชื่อว่ากระดูกนี้ไม่เป็นใคร น่ะ ปัญญาถึงจะเกิดเอง ... ดูไป อยากดูกระดูก...ดูไป  


...........................