วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/34 (2)


พระอาจารย์
5/34 (541129E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/34  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  อยู่ดีๆ ถ้าไม่รู้ปัจจุบัน ไม่เห็นปัจจุบันตั้งอยู่แล้วดับไปนี่ ยังไงก็เข้าไม่ถึงอนัตตา ...จะไปกำหนดว่ามันดับมันว่างๆๆ กำหนดเอาไม่ได้

มันต้องให้ใจนี่เข้าไปเรียนรู้ สำเหนียก แยบคาย ในขันธ์ส่วนต่างๆ ที่ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมา เป็นวาระๆ ไป หรือเป็นเฉพาะกิจเฉพาะกาล...คือปัจจุบันธรรมนั่นแหละ ทิ้งปัจจุบันไม่ได้ ออกจากปัจจุบันไม่ได้ 

ไม่รู้ไม่เห็นปัจจุบันไม่ได้ ไม่ตั้งมั่นรู้เห็นอยู่กับปัจจุบันก็ไม่เข้าใจอะไร ..เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันปรากฏได้ในปัจจุบัน ตั้งให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ดับไปให้เห็นในปัจจุบัน...เท่านั้น นอกนั้นไม่จริง

อย่าไปเพ้อเจ้อ อย่าไปเพ้อฝันในอดีตอนาคตใดๆ หรือสิ่งที่อยู่นอกตัว นอกกาย นอกใจนี้ไป เลื่อนลอย ...รู้สึกตรงไหนในกาย นิดนึงหน่อยนึง รู้มันเข้าไปตรงนั้นแหละ จริงหมดแหละ

อาจจะไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งมโหฬารใหญ่โต ก็ดูเข้าไว้ในปัจจุบันธรรม...ถือกายเป็นปัจจุบัน มันจะได้ไม่ละเมอเพ้อพกไปกับกายที่ยังมาไม่ถึง หรือกายที่ดับไปแล้ว หรือลืมกายไปเลย

ส่วนมากมันจะลืมไปเลย เหมือนกับว่าไม่มีกายนี้อยู่ในโลกเลย ...ไม่รู้มันไปไหนได้ยังไง หือ เดินก็เดิน นั่งก็นั่งอยู่ แต่มันไม่รู้เลยว่ากายนี้อยู่ในโลก นี่ มันหายไปตรงไหน

นี่เข้าขั้นวิกฤติ เขาเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติ...ต้องรีบเยียวยา ให้มันกลับมามีกายมีใจขึ้นมาอีก ...เพราะคนในโลกนี่มันอยู่ในขั้นวิกฤติ ไอซียู ทั้งนั้นแหละ น้ำท่วมจมูกจะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว

ความโง่เขลา มันปิดทับท่วมท้นเลยแหละ ตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้เลย เข้าขั้นไอซียู ...เพราะนั้นจิตที่มันหลงลืมเผลอเพลินหายไป กายใจไม่มีในโลกนี้ ให้รู้ไว้เลย เข้าขั้นวิกฤติแล้ว

อย่าไปประมาทนอนใจกับมันนะนั่นน่ะ ...เมื่อรู้ได้เห็นได้ เท่าทันแล้วก็ให้เจริญสติขึ้นมา ระลึกอยู่ที่รู้อยู่ที่เห็นขึ้นมา มันก็มีกายปรากฏขึ้น มันก็มีนามที่อยู่ในกายนั้นปรากฏขึ้น

มันก็มีการรู้ขึ้น เห็นชัดขึ้นมา เป็นส่วนๆ ไป รูปบ้างนามบ้าง ผัสสะบ้าง กิเลสบ้าง ...อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในปัจจุบันนั่น ดูมันเข้าไป...แรกๆ ก็ให้ทันการเกิดการตั้ง เดี๋ยวต่อไปมันจะทันความดับไป 

เมื่อมันทันเห็นความดับไปบ่อยๆ สังเกตความดับไปบ่อยๆ ...ต่อไปมันไม่สนใจการเกิดการตั้งแล้ว มันจะสนใจใส่ใจต่อการดับไปเสมอมากขึ้นเอง

ไม่ใช่เกิดมาก็ไม่รู้ ตั้งอยู่ยังไม่รู้เลย นั่น ไม่ต้องถามถึงว่าดับไปเลย...ไม่มีทางอ่ะ  ไม่รู้อะไรสักอย่าง มัวแต่ว่าฝันหวานๆๆ เมื่อไหร่จะได้ๆ เมื่อไหร่จะถึง ฝันหวาน 

เนี่ย รู้ก็ให้มัน...ตั้งอยู่ก็ให้รู้ เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ ...ช่างมัน อะไรเกิดก็ได้ อะไรตั้งอยู่ก็ได้ หรืออะไรดับไปก็ได้...ไม่เลือก ไม่แบ่ง ไม่คัด ไม่สรร...ช่างมัน เรื่องของขันธ์

เพราะโลกคือความไม่แน่นอน เพราะขันธ์คือความไม่แน่นอน เพราะขันธ์นี้เป็นสิ่งที่คะเนไม่ได้ ...ใครจะไปรู้ว่ามันจะสร้างอะไรขึ้นมา ใครจะไปรู้ว่ามันจะสร้างอารมณ์อะไร 

ใครจะไปรู้ว่ามันจะมีความปรุงแต่งใดๆ ...อยู่ดีๆ มันก็คิดเรื่องนี้คือมา  อยู่ดีๆ มันก็ปรุงเรื่องนั้นขึ้นมา  อยู่ดีๆ มันก็นึกถึงคนนั้นคนนี้ ไม่มีปี่มีขลุ่ย ...เอาแน่เอานอนได้ไหม 

เดินไปเดินมานี่ไม่รู้จะไปเจอใคร หรือจะเจอเหตุการณ์อะไร เห็นมั้ย มันคาดฝันไม่ได้นี่ ...เพราะนั้น ไม่ต้องไปเลือก...มันเลือกไม่ได้ มันเป็นไปอย่างนี้ ...เพียงแต่ว่าเราตั้งในที่อันควร เราอยู่ในที่อันควร 

นั่นแหละคืออยู่ที่ใจ อยู่กับสติ อยู่ด้วยสติที่รักษาใจไว้ อยู่กับสมาธิที่ตั้งอยู่ที่ใจ อยู่กับปัญญาที่รู้เห็นใจและกายและสิ่งที่อยู่รอบใจ ...เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญาจึงคุ้มครองรักษาใจไว้ให้ปรากฏอยู่ ไม่เสื่อมไม่หาย

เมื่อใดที่ศีลอ่อน สติอ่อน สมาธิอ่อน ปัญญาอ่อน...ใจมันก็จะอ่อนตาม หายากหาเย็นเหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา หลุดๆ หล่นๆ กะปลกกะเปลี้ย เหมือนคนเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา เดินไปไหนมาไหนไม่แข็งแรง 

นั่นแหละ ใจมันก็ไม่แข็งแรง เพราะมันไม่มีสติ สติมันน้อย สมาธิก็อ่อน การรู้รอบการเห็นรอบก็ไม่มี ...มันก็เหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา มันก็ไม่เดิน เดินไปไหนก็ไม่ได้ 

ถึงเดินได้ก็เดินแบบคนเป็นโปลิโอ หรือว่าคนขาด้วนแขนขาดอย่างนี้ เพราะนั้นมรรคมันก็จะเดินไปยังไงล่ะ ...เพราะนั้นถ้าแข็งแรงแล้วน่ะ เป็นผู้เป็นคนแล้ว คือใจมันตั้งด้วยดีแล้วนั่นน่ะมันเดินได้

แต่ว่ามันไม่เดินไปเดินมาเหมือนจิตนะ ...มันเดินไปในองค์มรรคอยู่ในตัวด้วยการหยุดอยู่รู้อยู่เห็นอยู่ นั่นแหละ ถือว่าเดินอยู่ในองค์มรรคแล้ว เดินได้คล่องแคล่วว่องไว

อะไรเกิดขึ้นปั๊บ..รู้ๆ  อะไรเกิดไม่คาดไม่ฝันปุ๊บ..รู้  มันกลับมาอยู่ที่รู้ฉับพลัน ...ไม่ได้อะไรปั๊บหลง อะไรปุ๊บหลง อะไรปุ๊บลืม อะไรปั๊บหลุด นั่น มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า ไปดูเอา

พอฝึกเข้าไปจริงๆ จังๆ ขึ้นมาแล้ว ตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรตั้งมั่นจริงแล้ว ปุ๊บ อะไรเกิดขึ้นรู้ ...ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ มันยังรู้เลย ไม่ได้อยากรู้มันก็รู้

มันกลายเป็นนิสัยสันดานขึ้นมาใหม่เลยนะ ถึงเรียกว่าเป็นนิสสยปัจจโย ...ศีลสมาธิปัญญา...มันก็จริงๆ น่ะ ศีลสมาธิปัญญาก็คือสังขารธรรมหนึ่งเหมือนกัน

มันก็คืออาการหนึ่งของขันธ์เหมือนกัน แต่เป็นส่วนที่เป็นกุศล...เป็นเครื่องมือ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้มรรคนั้นเจริญ เพื่อให้ใจนั้นดำเนินไปอยู่ในองค์มรรค

ก็ต้องอาศัยธรรมส่วนที่เรียกว่าสติ..สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรมนี้แหละ เป็นเครื่องหนุนๆๆ ให้ใจนี่มันหมุน มีการชำระปัดเป่าออกไป เหมือนกงล้อของธรรม หรือธรรมจักรน่ะ

ทำไมถึงเป็นกงล้อหมุนไป...นี่ หมุนไปเดินไปในธรรม หมุนไปในองค์มรรค เดินไปอยู่ในองค์มรรค กระแสมรรค ...ก็ต้องอาศัยขาหยั่งสามขานี่แหละ ไตรสิกขา

เมื่อมันเดินได้แข็งแรงมั่นคงแล้วนี่ มันก็รวมลงเป็นหนึ่งที่ใจ...สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงรวมลง อุปกรณ์ทั้งหมดนี่

พออยู่ที่ใจรู้ใจเห็นๆ แล้ว ดูไม่ออกแล้ว อันไหนเรียกสติ อันไหนเรียกสมาธิ อันไหนตั้งมั่น อันไหนเรียกว่ารู้รอบรู้แจ้ง มันกลืนกันจนเหลือแต่ใจดวงเดียวนั่นแหละ มันมีทุกสภาวะ

ดูเหมือนมันมีทุกสภาวธรรม ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งตั้งมั่น ทั้งเข้าใจในรู้นั้นเลยน่ะ ...เห็นมั้ย เรียกว่าสมังคีกันอยู่ในที่อันเดียว นี่สมดุล ไม่แตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไป

อบรม ฝึก เอาแค่สติระลึกรู้ แค่นั้นแหละ แล้วก็หยั่งลงที่ใจ ใจรู้ใจเห็น นั่นแหละ ...ง่ายๆ ธรรมดา ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องซีเรียสอะไร ทำอะไร ยืนอยู่ นั่งอยู่...รู้ได้ตรงไหน รู้ลงไป

แยกมันตรงนั้นน่ะ เอามันหน้าด้านๆ ตรงนั้น ...ระหว่างนั่งกิน นั่งขี้ นั่งเยี่ยว นั่งพูดนั่งคุย ถ้ามันรู้ตรงไหนก็ให้เห็นใจปรากฏตรงนั้นให้ได้ นั่นแหละเขาเรียกว่าฝึก ต้องฝึกบ่อยๆ จนมันชำนาญ จนมันเจน

เอ้า พูดมากแล้ว เดี๋ยวมันจะจำ มันไม่ทำ ...ที่จริงน่ะ พูดเพื่อให้มันเอาไปเจริญ ไม่ได้พูดให้จำ เดี๋ยวมันจะไปติดความจำ เป็นแค่ความจำ...มันแก้อะไรไม่ได้

มันต้องเป็นความจริง รู้ต้องรู้จริง เห็นต้องเห็นจริง กายก็ต้องเดินจริง มีความรู้สึกตรงนั้นจริง แล้วก็ต้องรู้จริงตรงนั้น ...นั่นน่ะแหละจริง ต้องเอาตรงนั้นเป็นตัวจริง

ฟัง จำ...ไม่จริง หลอกเด็ก นี่เราหลอกอยู่นะเนี่ย จริงรึเปล่าไม่รู้ ไม่แน่ ใช่รึเปล่า ...มันต้องเอากายใจตัวเองน่ะแหละเข้าไปพิสูจน์ทราบ ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก

คือใจดวงนั้นน่ะ ของใครของมันนั่นแหละ ...ตอนแรกก็ต้องสมมุติว่าเป็นของใครของมันไว้ก่อน ให้มันเข้าไปเป็นสันทิฏฐิโก คือรู้เองเห็นเอง

ให้ใจดวงนั้นน่ะ ของใครของมันนั่นน่ะ รู้เองเห็นเอง ...มันจึงจะยอมรับ มันจึงจะเชื่อ มันจึงจะว่า...อ๋อ เหมือนที่ไอ้หัวโล้นๆ นี่พูดเลย ...นั่นแหละถึงจะเออ พอเชื่อมันหน่อย

ไอ้ตอนนี้อย่าเพิ่งเชื่อนะ ไม่แน่นะ โดนหลอกนะ เอาแน่ไม่ได้นะ เป็นแค่ลมมากระทบหูแค่นั้นน่ะ ข้อความอาจจะเออเร่อบิดเบือนก็ได้ ...ต้องให้ใจมันสันทิฏฐิโก เมื่อนั้นน่ะโอเค แล้วก็บอก...เข้าใจแระ

เอ้า เอาแล้ว ไป โยมนี่ล่ะ มีอะไรถามมั้ย


โยม –  พระอาจารย์พูดไปแล้ว เรื่อง “ตัตถะ” ค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ ตัตถะในที่นี้ มันจึงจะขาด ถ้าไม่ตัดในที่นี้แล้วมันไม่ขาด


โยม –  "ตัตถะ" นี่แปลว่าอะไรคะ ตรงที่ท่านกล่าวว่า “ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ”

พระอาจารย์ –  "ตัตถะ" คือ “ที่นี้” ที่นี้ที่เดียว ...โยมลองพูดคำว่า "นี้" สิ

ให้อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ตรงโน้น ไม่ใช่โน้น ไม่ใช่นู้น ..."นี้"...รู้ต้องรู้ตรงนี้นะ นี่คือคำว่า “ตัตถะๆ” หยั่งลงที่ “นี้” ...มี “นี้” เดียวนะ ไม่มี “นี้” หลายนี้นะ

หลวงปู่ท่านจะย้ำลง...รู้ที่นี้ รู้ที่เดียว คือนี้เดียว ไม่มีโน้น ไม่มีนู่น ไม่มีนู้นนนน...ไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่ ท่านให้รู้ที่เดียว...ที่นี้ คือตัตถะๆ  แล้วก็เอาวิปัสสติ คือสติที่เพียรเพ่งพิจารณาลงในที่นี้อันเดียว

เพราะนั้นหลวงปู่นี่ ท่านสอนโดยปัญญาจริงๆ นะ สอนดวงจิตผู้รู้จริงๆ ...ท่านไม่ให้สนใจอะไรเลย รู้อย่างเดียว ตั้งลงไป รู้ลงไป อย่าตามอะไรออกไป 

"นี้" เดียว พอมีอะไรขึ้นมาก็รู้ตรงนี้เลย ...ละมันหน้าด้านตรงนั้นเลย วางมันทิ้งเลย ทิ้งแบบเอาให้ตายดิ้นตายงอไปเลยด้วยความอยาก แล้วไม่ตามมัน รู้ตรงนั้นเลย ไม่ตามกิเลส

นี่ หลวงปู่ท่านบอกให้เด็ดเดี่ยว ให้มั่นคงแน่วแน่กล้าหาญลงไปในที่อันเดียว คือ “นี้” เดียว นี้อันเดียวเท่านั้น ใจมันก็จะเข้มแข็ง กล้าขึ้น แกร่งขึ้น

ไม่เอ้อระเหยลอยชาย ไม่ปล่อยให้มันลอยนวล ไม่ไปอ้อยอิ่งกับมัน ไม่ไปเผื่อเหลือเผื่อขาดกับมัน ไม่ไปเสียดาย ไม่ไปหวังประโยชน์จากมันน่ะ ...ไม่มีน่ะ ทิ้งเลย 

เหมือนกับคนที่รู้สึกว่าใจดวงนี้มันรวยน่ะ ไม่ต้องไปหวังพึ่งอะไรกับมันเลย อยู่ด้วยตัวของมันเองได้ ...มันต้องเอาใจนี่เป็นหลักนะ ใจนี่เป็นเศรษฐีอยู่แล้ว ไม่มีประมาณอยู่แล้ว 

ยังจะไปหาอะไรมาอีก มาทับมาถมมันรึไง พึ่งไม่ได้หรอก ...พอเวลาไม่เอานี่ พอเราทิ้งไปปุ๊บ กลับไปดูปุ๊บ ก็จะเห็นมันดับไปในตัวของมันโดยทันที ...มันไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ น่ะ

เนี่ย ลมเพลมพัด นามก็เป็นลม รูปก็เป็นลม ผัสสะก็เป็นลม ...เหมือนเขียนภาพในอากาศน่ะ เหมือนเอานิ้ววนๆ ในอากาศแล้วก็เป็นลักษณะใดก็ได้ จะเป็นรูปอะไรก็ได้ ...มันมีอะรั้ย

นี่ มันจะเห็นอย่างนั้นเลย ไม่มีอะไรหรอก ...ความไม่มีตัวตนในสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวนั้นก็ชัดเจนขึ้นมา ใจมันจะยอมรับเห็นชัดเจนขึ้นมา


.................................







แทร็ก 5/34 (1)


พระอาจารย์
5/34 (541129E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  เวลาหลวงปู่ท่านสอนเราเรื่องดวงจิตผู้รู้ ท่านเรียกเราไปบอก...เห็นมั้ย เห็นภาพนี้มั้ย  ท่านบอก เห็นภาพนี้มั้ย อะไรมันเห็น ลูกตาท่านใช่มั้ยเห็น

นี่ ท่านบอกเรา ดวงจิตผู้รู้นี่ ให้ท่านเอาดวงจิตผู้รู้นี่เหมือนลูกตาเห็นรูปนี้ แล้วท่านไม่ต้องไปดูรูป ท่านดูที่ลูกตาน่ะ  ...นี่สอนแบบโง่ๆ ให้เลย เรียกมาบอก เพราะเรามัวแต่ไปวิ่งหานั่นน่ะ

เพราะนั้น รูปมันจะเป็นยังไงก็ได้ เป็นรูปนี้ก็ได้ เป็นรูปนั้นก็ได้ เป็นรูปหมาก็ได้...แต่ตามีลูกเดียว คนเห็นมีคนเดียว ...นี่ท่านเปรียบเทียบ

แต่พวกเรามันชอบตื่นเต้น ตกใจ ดีใจ เสียใจ กับรูปที่ปรากฏ แล้วก็เตลิดออกไป ...นี่เขาเรียกว่าไม่มีสมาธิ ไม่ตั้งมั่นอยู่ที่ใจ ...ใจมันก็โลเลๆ ปลิว เหมือนมดตะนอยน่ะ อื๋อ มดตะนอยใหญ่ไปมดง่ามมั้ง

รูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ในโลกนี้คือกระแสลมที่รุนแรง ...ถ้าออกไปนิดหนึ่งน่ะปลิว ใจนี่ปลิวแล้ว ถูกคลุมมิดไปเลย โดนกลบ...ผัสสะในโลก อารมณ์ในโลกนี่ กลบใจหมดน่ะ

มันต้องอาศัยความเพียร พากเพียร ขยัน รู้นิดรู้หน่อย...รู้เข้าไป ...ไม่ต้องซีเรียสจริงจังมากจนเพ่งเคร่งเครียดหรอก แต่ว่าให้รู้บ่อยๆ เป็นนิสัยน่ะ

สร้างนิสัยรู้เห็นๆ เดี๋ยวนี้ๆๆ รู้ที่นี่ รู้ตรงนี้ๆ ...รู้ที่นี่แหละ ไม่ต้องไปรู้ไกลรู้มากรู้มายอะไรน่ะ  รู้ตรงนี้ อะไรก็ได้ รู้มันเข้าไป เห็นก็รู้ นั่งก็รู้ ยืนก็รู้ ได้ยินก็รู้ 

ให้มันตั้งมั่นขึ้นมา มันไม่ไปไหนหรอกปัญญา...อยู่ตรงนั้นแหละ อยู่ตรงรู้นั่นแหละ เดี๋ยวมันก็เห็นเองน่ะ ...เห็นอะไร ...เออ เห็นของเกิดดับ

ไม่ได้เห็นอะไรหรอก ...เห็นแต่ของเกิดดับ เห็นแต่ของไปๆ มาๆ เห็นแต่ของที่ไม่มีชีวิตแล่นผ่านไปผ่านมา โลดแล่นไปมา ควบคุมไม่ได้ ...นี่มันเห็นแค่นั้นเอง

ขอให้ตั้งอยู่ที่ใจผู้รู้ ใจผู้เห็น มันก็จะชัดเจนในมรรค มันจะเห็นหนทางชัดเจนในตัวของมันเองนั่นแหละ ...มันไม่สงสัยหรอกว่า ที่ทำอยู่นี่ จะได้อะไร จะเป็นอะไร จะเพื่ออะไร มันเข้าใจ

ใครมาบอก ใครมาแซะ ใครมาพูดอะไร งั้นๆ น่ะ  ใครว่าโง่ ใครว่าไม่ใช่ ใครว่าไม่ถูก...ก็งั้นๆ น่ะ ...มันดับตรงนี้เลย มันดับตรงหู มันไม่สนน่ะ มันอยู่ตรงนี้ แล้วมันก็ดับตรงนี้ เห็นตรงนี้ดับ

แล้วก็ความดับไปก็ไม่มีหน้าตาของคนพูด ไม่มีของใคร มีแต่เสียงที่เกิดแล้วก็ดับ ไม่เห็นมีเรื่องราวใดๆ ทั้งสิ้น ...มันดับ ณ ที่เกิด หรือพูดง่ายๆ มันเกิดตรงไหนมันดับตรงนั้นแล้ว

นี่ มันเห็นตั้งแต่นั้นเลยนี่ มันไม่มาตามหลอกตามหลอนมาเป็นผี...ผีอดีต ผีอนาคต ผีกิเลสคนอื่น มาล่อหลอกล่องลอยอยู่จนนอนไม่หลับ มันผีหลอกน่ะ 

นี่ โดนผีหลอกทั้งวัน กิเลสเป็นผี ถูกผีหลอก...กลัว เกิดตกใจ ดีใจ เสียใจ...ผีทั้งนั้น ตามหลอกตามหลอนถ้าอยู่ตรงนี้ ไม่โดนหลอก มันก็เกิดตรงไหนตายตรงนั้น

เกิดตรงไหน...เกิดที่ตาดับที่ตา เกิดที่หูดับที่หู เกิดที่จมูกดับที่จมูก เกิดที่ใจดับที่ใจ เกิดที่จิตดับที่จิต เกิดที่ความรู้สึกดับที่ความรู้สึกนั้นๆ  เกิดที่สุขก็ดับตรงที่สุข เกิดที่ทุกข์ก็ดับตรงที่ทุกข์เกิดน่ะ

ไม่เห็นมันจะมีอะไรมากกว่านั้นเลย มันปิดกล่องปิดหีบอยู่ขณะปัจจุบันทุกขณะนั้นน่ะ ...สบาย จะไปก็สบาย จะไม่ไปก็สบายดี  จะอยู่ก็ดี จะไปก็ดี จะเป็นสุขก็ดี จะเป็นทุกข์ก็ดี

มันเหมือนกันหมดน่ะ...อยู่ตรงไหนก็เหมือนกันหมด อยู่กับคนไหนก็เหมือนกันหมด ไม่เลือกว่าอะไรดีอะไรเลว ไม่เลือกว่าอะไรควร อะไรไม่ควร  ไม่เลือกว่าอะไรถูก ไม่เลือกว่าอะไรผิด ...ดับหมด

มันเห็นอย่างนั้น มันทันเห็นอย่างนั้น ...ใจมันตั้งอยู่ไง เพราะใจที่มันตั้งรู้ตั้งเห็นอยู่ภายใน ดวงจิตผู้รู้นี่ ผู้รู้อยู่ ...ไม่ใช่รู้ไป ไม่ใช่รู้ไปเรื่อย รู้ไปไม่จบไม่สิ้น ....รู้อยู่นี่นะ ที่นี้ที่เดียว "นี้ๆ"

นี้คือนี้...ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ ...โย ปัจจุปันนัญจะ โย ธัมมัง ตัตถะ ตัตถะ ...มันต้องอยู่ตัตถะ...นี้ ที่นี่ ที่เดียว ไม่มีหลายที่อ่ะ ...ไอ้หลายที่นั่นจิต จิตไป..ใจอยู่ จิตเกิดจิตดับ ใจไม่เกิดใจไม่ดับ

เห็นมั้ย มันต่างกันนะ อย่าไปตามจิตท่านถึงเรียกว่าดูจิต ท่านถึงเรียกว่าเห็นจิต ...ที่จริงพูดว่าดู เดี๋ยวมันก็ส่งไปดูอีก เอาเป็นว่านั่งดูนั่งเห็น...เห็นจิต

เห็นจิต...นี่มันจะมาแนบกับใจหน่อย  ถ้าดูจิตน่ะมันจะเคลื่อนออกไปนอกใจนิดนึง ...แล้วพอเคลื่อนไปเคลื่อนมา มันไปโตย ขอไปโตย...อ้อ รถเมล์คันนี้เขียนว่านิพพาน เออ กูขอไปโตย

นี่ จิตมันจะหลอก แล้วไม่ค่อยเท่าทันมันนะ เพราะมันจะมาหลอกไอ้ตอนที่..คือไปหมายมั่นเอาไว้กับ อาการนั้น เวทนานั้น สภาวะนั้น สภาวะนี้

เล่ห์เหลี่ยมของขันธ์น่ะ มันก็จะปรุงมาไอ้ตรงที่เราติดมันน่ะ ตรงไหนติดน่ะกูยิ่งปรุง อันไหนที่ค้นแล้วอยากได้น่ะมันจะมา ...มาแล้วก็เหมือนหมางับกระดูก งับพั้บ

คือเล็งมาตั้งแต่ร้านขายนั่นแล้ว นั่งรถผ่านเมืองมาก็เห็นร้านขายกระดูกอยู่ คือยังไม่ทันได้  พอเจ้านายเอามา โหย ตอนไหนก็ไม่รู้ พอวางปั๊บ พั้บ กระโดดงับเลย ...หมางับกระดูก

เหมือนนักปฏิบัติภาวนากระโดดงับขันธ์ตัวเองน่ะ เคยเห็นหมางับหางตัวเองมั้ย เหมือนกันๆ แง็บๆๆๆ ...นั่นแหละ ใจที่มันกระโดดงับขันธ์ตัวเอง เหมือนหมางับหาง หมางับกระดูก

แล้วก็ทุกข์...เพราะกินไม่อิ่ม หิวอีก ...พอทุกข์ปุ๊บก็กลายเป็นหมาขี้เรื้อนเลย เพราะหมาขี้เรื้อนนี่มันคัน มันคันมันก็เกา นั่งก็เกา ฮื้อ ไม่หายคัน ยืนเกาอีก ฮื้อ ไม่หายคัน

เดินไปเกาไปๆ มันก็ยังคัน ฮื้อ เปลี่ยนที่นอนดีกว่า ฮึ ก็ยังคัน เปลี่ยนท่า หันหัวหันหาง หมุนไปหมุนมา สามรอบสี่รอบสี่ตลบ เห็นหมามันวนมั้ย แล้วก็คัน

ในใจมันนึก ที่นี้ไม่ดี ท่านี้ไม่ดี เป็นเหตุให้เกิดการคัน ต้องเปลี่ยนที่...นักภาวนาหมาๆ ...ไม่ได้ว่าใคร เปรียบเทียบๆ ...นี่ บางครั้งก็เป็นหมาขี้เรื้อนบ้าง บางครั้งก็เป็นหมาหวงก้างบ้าง

บางครั้งก็เป็นหมาหิว หมาคาบเนื้อที่ผ่านแม่น้ำ แล้วก็เห็นเงาของเนื้อในน้ำบ้าง ...อู้ย หมาทั้งนั้นน่ะ ภาวนาหมาๆ มันก็มีชีวิตอยู่แบบหมาหิวโซข้างถนน ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักออก

ใครได้เนื้อมาก้อนนึงก็เอามาโชว์แล้ว เดินนี่วางก้าม หน้าคอนี่ตั้ง ได้เนื้อก้อนใหญ่ แล้วไอ้หมาตัวนั้นก็เดินกลับบ้าน เจอแม่น้ำแล้วก็เห็นว่า ฮื้ย เนื้อข้างล่างดีกว่า ใหญ่กว่า ก็ทิ้งเนื้อในปาก...อ้าว หายอีกแล้ว 

นี่ ภาวนาหมาๆ ...ก็ต้องกลับมาภาวนาแบบสุนัขไม่รับประทาน หมาไม่แดก ...คือไม่หาอะไรแดก ไม่แดกอะไร หิวนะๆ อดโซเลยนะ เอาจนหมาแก่ตายน่ะ 

หมาแก่ตายไป คือจิต ...เอาจนจิตตายน่ะ เอาจิตจนไม่เกิดอีกเลยน่ะ เอาจนจิตดวงนั้นแหละหยุดสิ้นซึ่งความปรุงแต่งใดๆ ทั้งปวง นั่นน่ะหมาตายแล้ว

ตายแล้วสบาย ...กลับคืนสู่ธรรมชาติของใจ ธาตุแท้ของใจ ไม่มีที่ให้เกิด ไม่มีที่ให้ตาย หมามันจะมายังไง หมาก็อยู่ไม่ได้ ตั้งอยู่ไม่ได้ หือ

อะไรก็ตั้งอยู่ไม่ได้ มันพรวดๆๆ หมดเลย ถึงบอกว่าเหมือนแมลงวันตอมกับแก้วเจียระไนน่ะ ที่มันลื่นเกลี้ยงเกลาอยู่อย่างนั้น ไม่มีอะไรเกาะจับติดได้ ไม่มีอะไรตั้งอยู่ได้

นั่นแหละความหมายของใจบริสุทธิ์ ...ไม่ต้องถามหาที่เกิดแล้ว ไม่ต้องถามว่าอะไรจะมาเกิดได้แล้ว...ตั้งไม่ได้

อย่าว่าแต่หมาเลย เทพอินทร์พรหมยังเป็นไม่ได้เลย ยังจะมาตั้งอยู่ สิงสู่ไม่ได้เลย ในรูปขันธ์นามขันธ์ใดๆ ก็ตาม จะละเอียดสุดละเอียดสุดประณีตขนาดไหนก็ตาม

ธรรมชาติของใจแท้ใจเดิมจิตเดิมประภัสสรนั่นแหละ มีแต่จิตพระอรหันต์ จิตพระพุทธเจ้าเท่านั้นน่ะ ถึงจะคืนสู่สภาพเดิมนั้น

รู้ไป..ชำระไป รู้ไป..ถอดถอนไป รู้ไป..ปล่อยไป รู้ไป..วางไป  ..ไม่ใช่รู้ไป..เอาไป รู้ไป..หาไปนะ ...ยิ่งมียิ่งเห็น...ยิ่งปล่อย ยิ่งเห็นความยึดความถือความมั่นตรงไหน..ยิ่งปล่อย

ไม่ใช่โคตรพ่อโคตรแม่เรา ไม่ใช่ญาติโกโหติกาของเรา ...ใจไม่เคยนับญาติใคร ไม่มีใครเป็นญาติมัน ทิ้งอย่างเดียว วางอย่างเดียว วางมันลงไป อย่าไปกลัวอด อย่าไปกลัวจน

ยิ่งทิ้งยิ่งรวย รวยธรรม รวยความรู้ความเห็นในธรรม ...ทิ้งให้หมด ละให้หมด เอาให้เกลี้ยง เอาให้หมด เอาให้สิ้น จนไม่เหลืออะไรให้ทิ้งน่ะ  เอาให้ไว อย่าช้า อย่าไปเก็บอะไรไว้

มันเก็บอะไรได้ที่ไหน เก็บไม่ได้หรอก ทิ้งเลย อย่าไปวนเวียนซ้ำซากอยู่กับมัน ...เอาเหลือแต่ใจดวงเดียวบริสุทธิ์ ใจเป็นหนึ่ง ใจเป็นเอกอยู่อย่างนั้นน่ะ 

จึงจะรอด จึงจะไม่มาน้ำตาไหล ไม่มาน้ำตาเช็ดหัวเข่าอีกต่อไป ...อย่าภาวนาแบบยาจก อย่าไปขี้ขอ ...ภาวนาแบบเศรษฐี มีแต่ให้ มีแต่แจก มีแต่ทาน มีแต่เสียสละ

ใจมันใหญ่ขนาดทิ้งได้หมดน่ะ เพราะมันไม่เอาอะไรไปไว้เลย นั่นน่ะคือปรมัตถ์ ...ไม่ใช่ภาวนายาจกขี้ขอ ไม่อิ่ม ไม่เต็ม ไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักยั้ง

ภาวนาท่านให้ละ เห็นอะไรก็ละอันนั้นแหละ รู้อะไรก็ละสิ่งนั้นแหละ อย่าไปถืออย่าไปครองอะไร ...ถ้ามันยังไม่ยอมละ ถ้ามันยังเสียดายน่ะ อาลัยอาวรณ์ ให้สังเกตดูตรงที่มันดับไป

แล้วเห็นว่า มันเอาคืนได้ไหม น้อมให้เห็นว่ามันเอาคืนได้มั้ย เวลานั่ง แล้วลุก ให้เห็นว่าไอ้รูปที่นั่ง ความรู้สึกที่นั่งเมื่อกี้น่ะ มันเอาคืนได้มั้ย มันหายไปแล้วเอาคืนได้มั้ย

เนี่ย ให้มันเห็นความดับไป สิ้นไป หายไป หมดไป ในปัจจุบันขณะนั้นๆ บ่อยๆ ใจมันจะละซึ่งความเสียดายตายอยาก ...นั่งอยู่ในรถ ออกมาจากรถนี่ ความรู้สึกในรถนี่ เอาคืนได้มั้ย 

เห็นมั้ยว่ามันดับไป มันไปไหน หายไปไหน  มันสิ้นไปมั้ย มันหมดไปมั้ย มันเอาคืนได้มั้ย มันสูญไปมั้ย ...จะเสียดายขนาดไหน จะเรียกร้องขนาดไหน จะอ้อนวอนขนาดไหน ความรู้สึกนั้นไม่มีทางได้คืนมา 

การที่ใจเห็นไตรลักษณ์หรือความดับไป สูญไป สิ้นไปในปัจจุบันบ่อยๆ นี่ ...มันจะเข้าไปทำลายกิเลสความหวงแหน อาลัย เสียดายในขันธ์

ซึ่งมันจะรวมหมดทั้งวัตถุข้าวของ ทรัพย์สินเงินทอง ฐานันดรต่างๆ สภาวะสถานภาพ ความเป็นหญิง ความเป็นชาย ความเป็นสัตว์ ความเป็นบุคคล ...ทุกอย่างที่มันเข้าไปถือครองได้

มันก็จะเห็นว่า แม้แต่ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเมื่อกี้ ลุกขึ้นมาตรงนี้ มันยังครอบครองไม่ได้เลย ...อย่าว่าแต่เอาบ้านมาเป็นสรณะเลย อย่าว่าแต่เอารถมาเป็นที่พึ่ง เอางานการมาเป็นที่พึ่งที่อาศัยเลย

แค่นั่งแล้วลุก ไอ้ความรู้สึกที่นั่งเมื่อกี้นี้ ยังครอบครองไม่ได้เลย ...มันจะเก่งกาจอะไรนักหนา หือ มนุษย์น่ะ ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของเรา เป็นเจ้าของตีตราจองหมดน่ะ

ดูสิ ให้มันเห็นลงไปตรงนี้ มันยังเอาคืนไม่ได้ ยังครอบครองไม่ได้ มันแน่ไม่จริงนี่หว่า ...ถ้าแน่ไม่จริงนี่ทิ้งซะ ทิ้งความโง่เขลาเบาปัญญานั้นซะ ทิ้งความเห็นผิดๆ ไป

เมื่อมันเห็นถูกแล้วมันจึงจะทิ้งความผิด ...ไม่ใช่อยู่ดีๆ ไปทิ้งความผิดเอาดื้อๆ น่ะ ไม่ได้นะ มันไม่เชื่อหรอก มันเชื่อเพราะมันเห็นว่ามันเอาคืนไม่ได้จริงๆ ใจมันจึงจะยอม

จะเห็นอนัตตาต่อเมื่อเห็นอัตตา ...เมื่อเห็นอัตตาหรือปัจจุบันธรรมนั้นปรากฏ ก็จะเห็นเองแหละว่าอัตตานั้นดำรงได้แค่ชั่วคราวแล้วก็ดับ ความเป็นอนัตตาก็บังเกิดขึ้น


(ต่อแทร็ก 5/34  ช่วง 2)



วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/33 (2)


พระอาจารย์
5/33 (541129D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นระหว่างสามชั่วโมงสุดท้ายก่อนรุ่งสางนี่ ระหว่างนั้นน่ะท่านอยู่ในวิปัสสนาญาณ พิจารณารูปนามเกิดดับ ท่านมาดูเห็นขันธ์ห้าเกิดดับในปัจจุบัน  

ดูเฉยๆ นี่ เอาใจรู้ใจเห็นดูอยู่ตรงนี้ ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้านี่ แค่สามชั่วโมงนั่นน่ะ ...สุดท้ายนั่นน่ะ ท่านไปจับจ้องเน้นเห็นอยู่ ความดับไปๆๆ ไม่ว่าอะไรเกิด...อันนั้นดับ ไม่ว่าอะไรตั้งอยู่...อันนั้นดับ

ท่านเห็นว่ามันเหมือนกัน มันมีอยู่จุดเดียวกันที่เป็นรูทีน ...เป็นที่ตั้งที่ไม่มีที่ตั้ง เป็นที่ตั้งที่ไม่มีประมาณ เป็นที่ตั้งที่จับต้องไม่ได้ เป็นที่ดูเหมือนมีแต่ดูเหมือนไม่มี

เพราะนั้นท่านเข้าไปสู่ความดับ ดับ ดับไปทั้งหลายทั้งปวง คือ ที่สุดคือความดับไปๆๆ ...นั่นแหละ จนถึงจิตสุดท้าย...ของขันธ์ ของการปรุงแต่งในขันธ์ที่ออกมาจากความไม่รู้น่ะ

ตรงนั้นน่ะถึงเรียกว่าอาสวักขยญาณ คือจิตสุดท้ายดับ...ดับแบบสุญโญเลย เกลี้ยงเลย สิ้นเลย ไม่มีอะไร ใจนี่ขาวรอบแล้ว หมดจดเลย ...พอหมดจดแล้วปุ๊บ มันจะเปิดกระจายออกหมดแล้ว

ไม่จำเพาะแค่ขันธ์ห้าที่มาครอบเหมือนกะลามาครอบอีกแล้ว ...ที่ดูเหมือนกะลาครอบนี่เพราะมันมีอะไรยึดโยงมันอยู่...คือจิตนั่นแหละ มโนวิญญาณหรือจิตสังขารเริ่มต้น...ต้นจิตนั่นแหละ

พอถึงตรงนั้น ใจท่านนี่เกลี้ยงเลย ...จริงๆ น่ะธรรมชาติของใจนี่เกลี้ยงอยู่แล้วนะ แต่พอมีขันธ์ห้าสวมทรงลงองค์นี่ สิงสู่ ใจเข้าไปสิงสู่อยู่ในขันธ์ห้า นี่มันไม่เกลี้ยงไปโดยปริยาย

นี่เรียกว่าวิถีแห่งพุทธะ ไม่ต้องเอาแบบอย่างท่าน แต่เลียนแบบท่าน ...พูดมาทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้เลียนแบบท่าน ไม่ให้เอาอย่างท่าน

เอาอย่างท่านก็ไม่ได้หรอก เพราะท่านเป็นเอกบุรุษ ในหลายล้านๆ ปีจะมีสักหนึ่งองค์ ...เพราะนั้นตามแบบท่านไม่ได้ ถ้าตามแบบท่านก็ไปรออีกสี่อสงไขยแสนมหากัปก็แล้วกัน

หรือจะเอายิ่งกว่านั้นก็แปดอสงไขยแสนมหากัป ยิ่งกว่านั้นก็สิบหกอสงไขยแสนมหากัป เรียกว่าศรัทธาธิกะ วิริยาธิกะ

แต่พระพุทธเจ้าว่าให้เลียนแบบท่าน เอาท่านเป็นครู เอาท่านเป็นโมเดล คราวนี้นักภาวนาสมัยนี้ มันเป็นนักภาวนาแบบนักเลียนแบบไง ให้เลียนแบบก็เลียนแบบ แต่มันไปเลียนแบบไหน

เพราะพระพุทธเจ้าระหว่างสี่สิบสองพรรษาที่ท่านดำรงคงชีพ หรือระหว่างภาวนาหกปี...นี่ มันมีทั้งภาคอุกฤษฏ์ มันมีทั้งภาคบังคับกดข่ม เอาเป็นเอาตาย

มันมีทั้งภาคที่ท่านปล่อยวางไม่เอาอะไรเลย จะอยู่แบบสบาย จะนั่งแบบสบาย จะพิจารณาแบบสบาย กลางๆ จะเอาแบบรู้อดีตอนาคต รู้วาระจิต กรรมของสัตว์โลก ...ทีนี้ นักเลียนแบบจะเลียนแบบไหน

เพราะนั้นอรรถาจารย์ทั้งหลายน่ะ ก็จะจับตรงปฏิปทาของพุทธะนั่นน่ะมาเป็นแบบ ...แต่ถ้าจะเอาแบบหลัก คือจับเอาหลักเป็นแบบ เอาใจเป็นแบบ...ที่พระพุทธเจ้าเอาใจเป็นหลัก ที่ให้เกิดอาสวักขยญาณ

เพราะนั้นไม่ต้องไปสนใจในรูปแบบต่างๆ นานาจนละเลยจุดสุดท้าย ที่เข้ามาสู่จุดสุดท้าย ...แม้แต่พระพุทธเจ้าจะได้อะไร ทำอะไรมาก็ตาม ท่านมาอยู่ ต้องรวมลงมาอยู่ที่ใจรู้เห็นในปัจจุบันขันธ์

ใครอยากได้อะไร ใครภาวนาแล้วเห็นอะไร ได้อะไร ว่าดี ว่าเลิศ ว่าอะไรก็ตาม ...อย่าเห่อเหิมตามกัน อย่าไปกระหายอยากดีอยากเด่นกับอะไร กับความรู้อันใดที่ไม่ใช่เห็นกายใจปัจจุบันตั้งอยู่ในความเป็นชั่วคราว แล้วมีความดับไปเป็นที่สุด 

ถ้าไม่มีจุดที่ดับไปเป็นที่สุด ถ้าไม่ระลึกหรือเตือนตัวให้ใจดวงนี้มันเห็นความดับไปเสมอๆ ของทุกสิ่งนะ มันมักจะออกนอกทาง มันจะลุ่มหลงมัวเมาต่อเติมออกไป 

มันจะเริ่มติด มันจะเริ่มยึดใหม่อีก ...มันอาจจะละของเก่า แต่มันจะยึดของใหม่ ...มันยังละไม่ทั้งหมด มันละไม่สิ้น มันไม่สะเด็ดน้ำ

น้อมให้เห็น น้อมให้ใจรู้ดวงนี้เห็น...นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เอา ในความเกิดความดับเป็นชั่วขณะหนึ่งน่ะ ...เพราะนั้นในกายนี่ อิริยาบถย่อยนี่เห็นได้ชัดในการดับไปเป็นขณะๆ น่ะ

แล้วให้สังเกตดูไอ้ตรงที่มันดับแล้วว่างไปตรงนั้นน่ะ มันอยู่ตรงไหน ...หยั่งลงไปให้มันเห็น ให้ใจรู้นั้นมันเห็นความดับไปเป็นธรรมดาตรงนั้น

ใจมันจะเบา มันจะไม่ค่อยแบก มันจะไม่ค่อยรู้สึกว่าหาม มันจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นภาระ มันจะไม่รู้สึกว่าหนัก...ไอ้นั่นก็หนัก ไอ้นั่นก็เป็นภาระ เรื่องนั้นก็เป็นภาระ เรื่องนี้ก็เป็นภาระ

มันไม่มีน้ำหนักหรอกขันธ์น่ะ การปรากฏของขันธ์น่ะ ...ถึงบอกว่ามันลอยๆ อยู่อย่างงั้นน่ะ เหมือนฟองอากาศ เหมือนฟองน้ำที่มันแตก โพละๆๆ อย่างงั้นน่ะ

มันไม่มีอะไรหรอก ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอะไรเป็นสาระพอให้แบกให้หาม หรือรู้สึกว่าหนักตามมันหรอก ...ใจที่เห็นความเกิดขึ้น ความดับไปเสมอ บ่อยๆ นั่นแหละ คือปัญญาขั้นสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสุดกว่านั้นแล้ว 

จะเห็นอะไรประหลาดพิสดารขนาดไหนไม่รู้แหละ แต่เห็นอย่างเดียวว่าเดี๋ยวมึงก็ดับ มันมีความรู้อยู่อย่างเดียวว่าเดี๋ยวมันก็ดับ ไม่เห็นอะไรถาวรชั่วนิจนิรันดร์กาล ...ดับ ดับหมด ดับทั้งนั้น

เพราะนั้น อยู่กับของเกิดๆ ดับๆ เดินไปเดินมา นั่งไปนั่งมา ใช้ชีวิตอยู่นี่ มันอยู่กับของเกิดดับชั่วคราวนี่ มันช่างรู้สึกว่า ไร้สาระสิ้นดีเลย ...ใจมันรู้สึกนะ ไม่ใช่เรารู้สึกนะ ใจมันรู้สึกของมันเองอย่างนั้นนะ

มันก็รู้สึกว่าอยู่ไปงั้นๆ น่ะ ไม่เดือดร้อนอะไรกับอะไร แล้วก็ไม่จับอะไรมาเป็นเรื่องให้เดือดร้อน ...นี่ เป็นผลจากใจที่มันเห็น ใจที่มันรู้สภาพธรรมตามจริงของมัน

แต่การภาวนาที่มันไม่เป็นไปนี่ เพราะมันไม่ตั้งอยู่ที่ฐานใจ ...มันมัวแต่ไปมุ่งอยู่ที่ผล ไปตั้งอยู่ที่ผลที่จะได้ ไปตั้งอยู่ที่ความรู้ที่จะเกิด ความเห็นที่จะตามมา

เพราะนั้นจะไปตั้ง จะไปฝากผีฝากไข้กับสิ่งที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หาความแน่นอนไม่ได้นี่ ...มันจึงทำให้เกิดการที่เรียกว่า ลังเลสงสัย พะวักพะวน กังวล เหนื่อยล้า ท้อ

แต่ถ้าตั้งด้วยสติสมาธิปัญญาที่แท้จริง คือตั้งลงที่ใจ หรือตั้งรวมลงที่ดวงจิตผู้รู้อยู่ ...ไม่ต้องทำอะไรหรอก บอกให้เลยๆ รู้ไป อยู่ที่รู้นั่นแหละ ...ไม่เอาอะไรเลย เอาที่รู้นั่นแหละ ที่เดียวนั่นแหละ 

เชื่อสิ ลองดูสิ เดี๋ยวเข้าใจเอง มันมองเห็นอะไรแจ่มชัดเหมือนกับลืมตามองอย่างนี้ ไม่ใช่หลับหูหลับตาเดินน่ะ ...ใครจะว่าผู้รู้ต้องละ ต้องฆ่าผู้รู้...ไม่สนน่ะ อาศัยรู้นี่

ถ้าไม่ได้รู้ ไม่อยู่ที่รู้นี่...ตายแน่ บอกให้เลย ...ถ้าหารู้ไม่เจอ ถ้าจับรู้ไม่อยู่  ถ้าไม่ตั้งอยู่ที่รู้ ไม่อยู่ที่เห็นนี่...มันจะคลาดเคลื่อนไปหมด ...เพราะนั้น ยึดก็ต้องยึดแล้ว เอาไว้ก่อน 

เพราะกว่าจะหาผู้รู้เจอ...แทบตาย กว่าจะเจอนี่แทบตาย  กว่าจะเจอแล้วอยู่กับมันได้เป็นวันเป็นเดือนนี่ แทบตายหยังเขียดเลย ...ไม่ใช่ง่ายๆ

เพราะนั้นอย่าไปประมาทว่ารู้ๆๆๆ มันจะได้อะไร...ก็ไม่ได้อะไร ...ได้ใจ ถึงใจ อยู่ที่ใจ  แล้วใจมันก็จะตั้งขึ้นเองน่ะแหละ ...ก็ถ้าไปตั้งที่อื่นน่ะใจมันจะตั้งได้ยังไง

เราเคยอธิบายแล้วไง อย่างที่น้ำท่วม ร้องไห้ระงมเลย คนแก่ เจ็ดสิบแปดสิบ เด็กก็ร้องไห้ คนหนุ่มคนสาวก็ร้องไห้ ...ก็ว่ามันหมดที่พึ่งแล้ว บ้านก็หมด เงินก็หมด รถก็หมด ที่อยู่อาศัยก็หมด อนาคตก็หมด 

คือมันไปพึ่งกับภายนอกน่ะ เอาบ้านเป็นที่พึ่ง เอารถที่พึ่ง เอางานเป็นที่พึ่ง เอาความสุขเป็นที่พึ่ง ...พอเจอน้ำท่วมพั่บเดียว ป้าบ หมดที่พึ่ง ...มันก็ทุกข์น่ะสิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าโลกมันพึ่งได้มั้ยล่ะ มันพึ่งไม่ได้ ...พึ่งไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่เที่ยง เพราะคะเนกับมันไม่ได้ เพราะควบคุมมันไม่ได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร

พระพุทธเจ้าบอกว่าพึ่งมันไม่ได้นะ แต่ยังไปพึ่งกันอยู่อย่างเงี้ย น้ำตาไหลสิ โศกาอาดูร ปริเทวนา โสกะปริเทวะ อุปายาส คร่ำครวญ ...เพราะมันไปพึ่งในสิ่งที่พึ่งไม่ได้

อย่าว่าแต่คนน้ำท่วม บ้านไฟไหม้เลย ...นักภาวนาก็ยังมาหาที่พึ่งว่า ทำยังไงถึงจะให้สงบ เอาความสงบเป็นที่พึ่งหรือไง

เราไม่ได้ปฏิเสธความสงบ แต่เราบอกว่าความสงบน่ะมันมีอยู่แล้ว ...ใจ ใจนั่นแหละคือตัวสงบ ใจที่ไม่มีความปรุงแต่งในนั้นน่ะคือความสงบระงับจากสังขาร

นั่นแหละคือความสงบที่ไม่ต้องทำ มันมีความสงบในตัวของมันเอง มันเป็นน้ำที่เย็น น้ำมันเย็น น้ำมันนิ่ง น้ำคือน้ำไม่มีคลื่น ...นั่นน่ะ คือความสงบในตัวใจดวงนั้นแล้ว ไม่ต้องสร้างขึ้นมาอีก

เพราะนั้น สงบ..มันก็มีสงบนอกกับสงบใน ...ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะไปติดไอ้สงบภายนอก คืออารมณ์ คือเวทนา คือขันธ์อันหนึ่ง คือสิ่งที่อยู่หน้าใจ

เพราะนั้นถ้าปัญญาฉลาดเท่าทันจริงๆ นะ มันจะทวนกลับอีก...ในความสงบนั้น ใครเห็นสงบ อะไรรู้ว่าสงบ นี่ ตรงนั้นสงบกว่า ตรงนั้นนิ่งกว่า

แต่ถ้าไม่ทบทวนกลับ หรือโอปนยิโกน้อมกลับลงที่ใจดวงนั้น ดวงจิตดวงใจรู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ...มันจะไปจม มันจะไปแช่ มันจะเอามาเป็นที่พึ่ง

เดี๋ยวก็น้ำตาไหลแล้ว เดี๋ยวจะน้ำตาไหล เพราะไปพึ่งในสิ่งที่เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ  คือความไม่เที่ยง คือความเป็นอนัตตา คือความไม่มีตัวตนที่แท้จริงดำรงอยู่ได้

สำคัญนะใจนี่ ภาวนาเป็นเรื่องของใจล้วนๆ เลยนะ  ถ้าได้ใจดวงเดียวนี่..ได้หมด ถ้าเห็นใจดวงเดียวนี่..เห็นหมด ถ้าหยุดอยู่ที่ใจได้ดวงเดียวนี่..หยุดการไปการมาทั้งสามโลกธาตุเลย

เพียรลงไปในใจนี่แหละ ...เพราะนั้นสติคืออุปกรณ์สำหรับระลึก..แล้วรู้ๆ ...เห็นมั้ย มันดันเสือกระลึกมาทำซากทำไมสติน่ะระลึกเพื่อให้รู้ปรากฏขึ้นมา ระลึกเพื่อให้ใจมันผุดโผล่ขึ้นมา

ออกจากโคลนตม ออกจากหลืบเงาของโมหะ ของตัณหา ของอุปาทาน ที่มันรัดปิดบังอยู่ นั่น พอมีสติระลึกขึ้นมาปุ๊บ รู้เลยว่านั่ง รู้ว่าคิด รู้ว่าขยับ รู้ว่านิ่ง รู้ว่าไหว

เห็นมั้ย ใจมาแล้ว ใจเห็นแล้ว ใจปรากฏเลย นี่คือหน้าที่ของสติ ...เมื่อมีสติปุ๊บ มันจะมีอาการเป็นของสองสิ่งทันที สภาพธรรมสองอย่างทันที คือสภาพที่ถูกรู้กับสภาพที่รู้อยู่ 

สมาธิตามมา หยั่งลงไปที่ใจรู้ดวงนั้น...ใช้คำว่าหยั่งนะ น้อมนะ ตั้งนะ ...เพื่ออะไร ...ให้ใจมันตั้งด้วยสมาธิ คือตั้งมั่น ให้ใจนี่ รู้อยู่ข้างในนี่ มีรู้มีเห็นอยู่ข้างในไม่ไปไม่มา ให้มันแนบแน่นลงที่ใจดวงนั้นแหละ

ให้มันแนบแน่นทำไม ให้ใจมันตั้งทำไม ...ก็เหมือนเวลาเรานั่งอยู่บนตึกแล้วมองลงไปในสี่แยกถนนที่มีการจราจรคับคั่ง มันเห็นมั้ยล่ะ นั่งเฉยๆ แล้วมันเห็นมั้ย มันเห็นรถวิ่งสวนไปสวนมาชัดเจนมั้ย

แต่ถ้าเดินมะงุมมะงาหราค้นหาอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่นี่ เดินไปเดินมานี่ มันจะเห็นอะไรมั้ย ...เห็น..แต่ไม่ชัด เห็นแว้บๆ ว่าเฟอร์รารี่รึเปล่าวะ หรือบีเอ็ม อ่ะ มันไม่ใช่ ...ก็มึงไม่นั่งดูดีๆ นี่

คือถ้านั่งดู อ๋อ สีแดง สีดำ สีขาว อ๋อ รถนี้มีสองล้อ รถนี้มีสามล้อ รถนี้มีสี่ล้อ ...พอวิ่งไปปั๊บแล้วก็ไป หายไปแล้ว...อย่าตามไปนะ อย่ากระโดดขึ้นรถคันไหนไปนะ

นี่ต้องตั้งไว้นะ ต้องตั้งไว้อยู่ที่นั่งอยู่ตรงนั้นนะ ...นี่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ต้องตั้งอยู่ที่ใจดวงนั้นแหละ ไม่ไปไม่มากับขันธ์หลากหลายที่มันปรุงแต่งขึ้นมาเป็นอัตตาตัวตนหนึ่งๆ หนึ่งๆ

รูปบ้างนามบ้าง ละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ประณีตบ้าง มีบ้าง ไม่มีบ้าง ...ทุกอย่างนี้  มันจะปรุงแต่งยังไงก็ได้ มาเป็นรูปลักษณ์เรียกว่าอัตตาตัวตนที่ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรมและวิบาก

หรือผัสสะมากมายล้านแปดที่มันจะก่อเกิด ขึ้นมา ปรากฏขึ้นเป็นรูปขันธ์นามขันธ์หนึ่งๆ น่ะ  เลือกไม่ได้น่ะ ไม่รู้ที่มาที่ไปมัน ...ก็ไม่ต้องสนใจน่ะ นั่งเฉยๆ นั่งเป็นรึเปล่า เฉยๆ

ไปวุ่นวี่วุ่นวายอะไร ลุกลี้ลุกลนได้ยังไง ..ไอ้นั้นก็จะเอา ไอ้นี่ก็จะทำ ไอ้นั่นก็จะเห็น ไอ้โน่นก็จะดู วิ่งซ้ายวิ่งขวา วิ่งหน้าวิ่งหลัง มันจะอะไรชัดเจนล่ะ ...นี่ ไม่มีสติ

สติก็ไม่มี สมาธิก็อ่อน ปัญญาน่ะไม่ต้องพูดถึง...เห็นแค่เบลอๆ เบลอๆ ไม่ค่อยชัดน่ะ แล้วก็หงุดหงิดรำคาญ ทำไมมันไม่ชัดวะ ทำไมไม่ยอมรับ ทำไมไม่ปล่อย ทำไมมันไม่ยอมวางสักที

ก็มึงไม่ตั้งดูเฉยๆ น่ะ ดูเข้าไปสิ ดูเฉยๆ เป็นมั้ย ...ไม่เป็น มันอยากดูชัดๆ ไง ก็ชะโงกเข้าไป มันก็ตกตึกอ่ะดิ ...อยู่ที่ใจไม่อยู่ จะไปตามจิตออกไป ความอยากมันพาออกนะ

ตัณหามันพาทะเยอทะยานออกไปนะ อย่าไปฟังมัน เสียงนกเสียงกา เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เสียงกระซิบภายใน ...นั่นน่ะสมมุติบัญญัติมันพูดออกมาเป็นภาษา เชื่อมันหมด โง่นะนั่นน่ะ เขาให้นั่งดู

พระพุทธเจ้าก็นั่งดูให้เห็นอยู่แล้ว นั่งยันแจ้งน่ะ ...ท่านนั่งดู  ท่านไม่ได้วิ่งดู ท่านไม่ได้เอาจิตวิ่งไปดู ท่านอยู่ตรงนี้ดู อยู่ที่ใจดวงนี้ ดวงรู้ดวงเห็นนี่

ถามว่ามันอยู่ตรงไหน ...ไม่รู้ ไปทำเอาเอง ชี้ทางให้แล้ว ...พระพุทธเจ้าบอกว่า สติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละเป็นตัวที่จะสามารถกำหนดสภาวะใจให้ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมาได้

อย่ามาถาม อย่ามาคาด อย่ามาเดาว่าใจอยู่ไหน ไอ้นี่เป็นใจมั้ย หรือว่าอย่างนี้เรียกว่าใจ หน้าตามันเป็นยังไง ความรู้สึกอย่างนี้รึเปล่า ...มานั่งค้นนั่งคิดนี่...ตายเปล่า ไม่เจอ ไม่ใช่

ถ้าอยากใช่ อยากเจอ...นี่ นั่ง..รู้มั้ยว่านั่ง ขยับรู้มั้ย คิดรู้มั้ย ทำอะไรอยู่รู้มั้ย มีสุขมีทุกข์รู้มั้ย นั่นแหละ รู้เข้าไปบ่อยๆ มันจะชัดขึ้นมาเอง..อ๋อ นี่แหละใจ ใจคือผู้รู้ ใจคือผู้เห็นอยู่นี้ มันก็จะหยั่งลงไปในที่ตรงนั้นได้

แต่ถ้าไม่มีสติ เอ้อระเหยลอยชาย ประมาท ล่องลอยไป...อีกกี่ชาติมันจะเจอใจ เห็นใจล่ะ ...จะพุทโธๆๆ แทบตาย ก็มีแต่พุทโธ ...ใจอยู่ไหน ใครเป็นคนว่าพุทโธ...ทำไมไม่ดู นี่


(ต่อแทร็ก 5/34)