วันอาทิตย์ที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/34 (2)


พระอาจารย์
5/34 (541129E)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/34  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  อยู่ดีๆ ถ้าไม่รู้ปัจจุบัน ไม่เห็นปัจจุบันตั้งอยู่แล้วดับไปนี่ ยังไงก็เข้าไม่ถึงอนัตตา ...จะไปกำหนดว่ามันดับมันว่างๆๆ กำหนดเอาไม่ได้

มันต้องให้ใจนี่เข้าไปเรียนรู้ สำเหนียก แยบคาย ในขันธ์ส่วนต่างๆ ที่ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมา เป็นวาระๆ ไป หรือเป็นเฉพาะกิจเฉพาะกาล...คือปัจจุบันธรรมนั่นแหละ ทิ้งปัจจุบันไม่ได้ ออกจากปัจจุบันไม่ได้ 

ไม่รู้ไม่เห็นปัจจุบันไม่ได้ ไม่ตั้งมั่นรู้เห็นอยู่กับปัจจุบันก็ไม่เข้าใจอะไร ..เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันปรากฏได้ในปัจจุบัน ตั้งให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แล้วก็ดับไปให้เห็นในปัจจุบัน...เท่านั้น นอกนั้นไม่จริง

อย่าไปเพ้อเจ้อ อย่าไปเพ้อฝันในอดีตอนาคตใดๆ หรือสิ่งที่อยู่นอกตัว นอกกาย นอกใจนี้ไป เลื่อนลอย ...รู้สึกตรงไหนในกาย นิดนึงหน่อยนึง รู้มันเข้าไปตรงนั้นแหละ จริงหมดแหละ

อาจจะไม่ได้เข้าใจอะไรลึกซึ้งมโหฬารใหญ่โต ก็ดูเข้าไว้ในปัจจุบันธรรม...ถือกายเป็นปัจจุบัน มันจะได้ไม่ละเมอเพ้อพกไปกับกายที่ยังมาไม่ถึง หรือกายที่ดับไปแล้ว หรือลืมกายไปเลย

ส่วนมากมันจะลืมไปเลย เหมือนกับว่าไม่มีกายนี้อยู่ในโลกเลย ...ไม่รู้มันไปไหนได้ยังไง หือ เดินก็เดิน นั่งก็นั่งอยู่ แต่มันไม่รู้เลยว่ากายนี้อยู่ในโลก นี่ มันหายไปตรงไหน

นี่เข้าขั้นวิกฤติ เขาเรียกว่าเข้าขั้นวิกฤติ...ต้องรีบเยียวยา ให้มันกลับมามีกายมีใจขึ้นมาอีก ...เพราะคนในโลกนี่มันอยู่ในขั้นวิกฤติ ไอซียู ทั้งนั้นแหละ น้ำท่วมจมูกจะตายมิตายแหล่อยู่แล้ว

ความโง่เขลา มันปิดทับท่วมท้นเลยแหละ ตายวันตายพรุ่งก็ไม่รู้เลย เข้าขั้นไอซียู ...เพราะนั้นจิตที่มันหลงลืมเผลอเพลินหายไป กายใจไม่มีในโลกนี้ ให้รู้ไว้เลย เข้าขั้นวิกฤติแล้ว

อย่าไปประมาทนอนใจกับมันนะนั่นน่ะ ...เมื่อรู้ได้เห็นได้ เท่าทันแล้วก็ให้เจริญสติขึ้นมา ระลึกอยู่ที่รู้อยู่ที่เห็นขึ้นมา มันก็มีกายปรากฏขึ้น มันก็มีนามที่อยู่ในกายนั้นปรากฏขึ้น

มันก็มีการรู้ขึ้น เห็นชัดขึ้นมา เป็นส่วนๆ ไป รูปบ้างนามบ้าง ผัสสะบ้าง กิเลสบ้าง ...อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ในปัจจุบันนั่น ดูมันเข้าไป...แรกๆ ก็ให้ทันการเกิดการตั้ง เดี๋ยวต่อไปมันจะทันความดับไป 

เมื่อมันทันเห็นความดับไปบ่อยๆ สังเกตความดับไปบ่อยๆ ...ต่อไปมันไม่สนใจการเกิดการตั้งแล้ว มันจะสนใจใส่ใจต่อการดับไปเสมอมากขึ้นเอง

ไม่ใช่เกิดมาก็ไม่รู้ ตั้งอยู่ยังไม่รู้เลย นั่น ไม่ต้องถามถึงว่าดับไปเลย...ไม่มีทางอ่ะ  ไม่รู้อะไรสักอย่าง มัวแต่ว่าฝันหวานๆๆ เมื่อไหร่จะได้ๆ เมื่อไหร่จะถึง ฝันหวาน 

เนี่ย รู้ก็ให้มัน...ตั้งอยู่ก็ให้รู้ เกิดขึ้นก็รู้ ตั้งอยู่ก็รู้ ดับไปก็รู้ ...ช่างมัน อะไรเกิดก็ได้ อะไรตั้งอยู่ก็ได้ หรืออะไรดับไปก็ได้...ไม่เลือก ไม่แบ่ง ไม่คัด ไม่สรร...ช่างมัน เรื่องของขันธ์

เพราะโลกคือความไม่แน่นอน เพราะขันธ์คือความไม่แน่นอน เพราะขันธ์นี้เป็นสิ่งที่คะเนไม่ได้ ...ใครจะไปรู้ว่ามันจะสร้างอะไรขึ้นมา ใครจะไปรู้ว่ามันจะสร้างอารมณ์อะไร 

ใครจะไปรู้ว่ามันจะมีความปรุงแต่งใดๆ ...อยู่ดีๆ มันก็คิดเรื่องนี้คือมา  อยู่ดีๆ มันก็ปรุงเรื่องนั้นขึ้นมา  อยู่ดีๆ มันก็นึกถึงคนนั้นคนนี้ ไม่มีปี่มีขลุ่ย ...เอาแน่เอานอนได้ไหม 

เดินไปเดินมานี่ไม่รู้จะไปเจอใคร หรือจะเจอเหตุการณ์อะไร เห็นมั้ย มันคาดฝันไม่ได้นี่ ...เพราะนั้น ไม่ต้องไปเลือก...มันเลือกไม่ได้ มันเป็นไปอย่างนี้ ...เพียงแต่ว่าเราตั้งในที่อันควร เราอยู่ในที่อันควร 

นั่นแหละคืออยู่ที่ใจ อยู่กับสติ อยู่ด้วยสติที่รักษาใจไว้ อยู่กับสมาธิที่ตั้งอยู่ที่ใจ อยู่กับปัญญาที่รู้เห็นใจและกายและสิ่งที่อยู่รอบใจ ...เห็นมั้ย ศีลสมาธิปัญญาจึงคุ้มครองรักษาใจไว้ให้ปรากฏอยู่ ไม่เสื่อมไม่หาย

เมื่อใดที่ศีลอ่อน สติอ่อน สมาธิอ่อน ปัญญาอ่อน...ใจมันก็จะอ่อนตาม หายากหาเย็นเหมือนกับเข็นครกขึ้นภูเขา หลุดๆ หล่นๆ กะปลกกะเปลี้ย เหมือนคนเป็นง่อยเปลี้ยเสียขา เดินไปไหนมาไหนไม่แข็งแรง 

นั่นแหละ ใจมันก็ไม่แข็งแรง เพราะมันไม่มีสติ สติมันน้อย สมาธิก็อ่อน การรู้รอบการเห็นรอบก็ไม่มี ...มันก็เหมือนคนง่อยเปลี้ยเสียขา มันก็ไม่เดิน เดินไปไหนก็ไม่ได้ 

ถึงเดินได้ก็เดินแบบคนเป็นโปลิโอ หรือว่าคนขาด้วนแขนขาดอย่างนี้ เพราะนั้นมรรคมันก็จะเดินไปยังไงล่ะ ...เพราะนั้นถ้าแข็งแรงแล้วน่ะ เป็นผู้เป็นคนแล้ว คือใจมันตั้งด้วยดีแล้วนั่นน่ะมันเดินได้

แต่ว่ามันไม่เดินไปเดินมาเหมือนจิตนะ ...มันเดินไปในองค์มรรคอยู่ในตัวด้วยการหยุดอยู่รู้อยู่เห็นอยู่ นั่นแหละ ถือว่าเดินอยู่ในองค์มรรคแล้ว เดินได้คล่องแคล่วว่องไว

อะไรเกิดขึ้นปั๊บ..รู้ๆ  อะไรเกิดไม่คาดไม่ฝันปุ๊บ..รู้  มันกลับมาอยู่ที่รู้ฉับพลัน ...ไม่ได้อะไรปั๊บหลง อะไรปุ๊บหลง อะไรปุ๊บลืม อะไรปั๊บหลุด นั่น มันเป็นอย่างนั้นรึเปล่า ไปดูเอา

พอฝึกเข้าไปจริงๆ จังๆ ขึ้นมาแล้ว ตั้งอกตั้งใจ มีความเพียรตั้งมั่นจริงแล้ว ปุ๊บ อะไรเกิดขึ้นรู้ ...ไม่ได้ตั้งใจจะรู้ มันยังรู้เลย ไม่ได้อยากรู้มันก็รู้

มันกลายเป็นนิสัยสันดานขึ้นมาใหม่เลยนะ ถึงเรียกว่าเป็นนิสสยปัจจโย ...ศีลสมาธิปัญญา...มันก็จริงๆ น่ะ ศีลสมาธิปัญญาก็คือสังขารธรรมหนึ่งเหมือนกัน

มันก็คืออาการหนึ่งของขันธ์เหมือนกัน แต่เป็นส่วนที่เป็นกุศล...เป็นเครื่องมือ เอามาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อให้มรรคนั้นเจริญ เพื่อให้ใจนั้นดำเนินไปอยู่ในองค์มรรค

ก็ต้องอาศัยธรรมส่วนที่เรียกว่าสติ..สติธรรม สมาธิธรรม ปัญญาธรรมนี้แหละ เป็นเครื่องหนุนๆๆ ให้ใจนี่มันหมุน มีการชำระปัดเป่าออกไป เหมือนกงล้อของธรรม หรือธรรมจักรน่ะ

ทำไมถึงเป็นกงล้อหมุนไป...นี่ หมุนไปเดินไปในธรรม หมุนไปในองค์มรรค เดินไปอยู่ในองค์มรรค กระแสมรรค ...ก็ต้องอาศัยขาหยั่งสามขานี่แหละ ไตรสิกขา

เมื่อมันเดินได้แข็งแรงมั่นคงแล้วนี่ มันก็รวมลงเป็นหนึ่งที่ใจ...สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้งหลายทั้งปวงรวมลง อุปกรณ์ทั้งหมดนี่

พออยู่ที่ใจรู้ใจเห็นๆ แล้ว ดูไม่ออกแล้ว อันไหนเรียกสติ อันไหนเรียกสมาธิ อันไหนตั้งมั่น อันไหนเรียกว่ารู้รอบรู้แจ้ง มันกลืนกันจนเหลือแต่ใจดวงเดียวนั่นแหละ มันมีทุกสภาวะ

ดูเหมือนมันมีทุกสภาวธรรม ทั้งรู้ ทั้งเห็น ทั้งตั้งมั่น ทั้งเข้าใจในรู้นั้นเลยน่ะ ...เห็นมั้ย เรียกว่าสมังคีกันอยู่ในที่อันเดียว นี่สมดุล ไม่แตกกระสานซ่านกระเซ็นออกไป

อบรม ฝึก เอาแค่สติระลึกรู้ แค่นั้นแหละ แล้วก็หยั่งลงที่ใจ ใจรู้ใจเห็น นั่นแหละ ...ง่ายๆ ธรรมดา ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องซีเรียสอะไร ทำอะไร ยืนอยู่ นั่งอยู่...รู้ได้ตรงไหน รู้ลงไป

แยกมันตรงนั้นน่ะ เอามันหน้าด้านๆ ตรงนั้น ...ระหว่างนั่งกิน นั่งขี้ นั่งเยี่ยว นั่งพูดนั่งคุย ถ้ามันรู้ตรงไหนก็ให้เห็นใจปรากฏตรงนั้นให้ได้ นั่นแหละเขาเรียกว่าฝึก ต้องฝึกบ่อยๆ จนมันชำนาญ จนมันเจน

เอ้า พูดมากแล้ว เดี๋ยวมันจะจำ มันไม่ทำ ...ที่จริงน่ะ พูดเพื่อให้มันเอาไปเจริญ ไม่ได้พูดให้จำ เดี๋ยวมันจะไปติดความจำ เป็นแค่ความจำ...มันแก้อะไรไม่ได้

มันต้องเป็นความจริง รู้ต้องรู้จริง เห็นต้องเห็นจริง กายก็ต้องเดินจริง มีความรู้สึกตรงนั้นจริง แล้วก็ต้องรู้จริงตรงนั้น ...นั่นน่ะแหละจริง ต้องเอาตรงนั้นเป็นตัวจริง

ฟัง จำ...ไม่จริง หลอกเด็ก นี่เราหลอกอยู่นะเนี่ย จริงรึเปล่าไม่รู้ ไม่แน่ ใช่รึเปล่า ...มันต้องเอากายใจตัวเองน่ะแหละเข้าไปพิสูจน์ทราบ ให้เกิดภาวะที่เรียกว่า สันทิฏฐิโก

คือใจดวงนั้นน่ะ ของใครของมันนั่นแหละ ...ตอนแรกก็ต้องสมมุติว่าเป็นของใครของมันไว้ก่อน ให้มันเข้าไปเป็นสันทิฏฐิโก คือรู้เองเห็นเอง

ให้ใจดวงนั้นน่ะ ของใครของมันนั่นน่ะ รู้เองเห็นเอง ...มันจึงจะยอมรับ มันจึงจะเชื่อ มันจึงจะว่า...อ๋อ เหมือนที่ไอ้หัวโล้นๆ นี่พูดเลย ...นั่นแหละถึงจะเออ พอเชื่อมันหน่อย

ไอ้ตอนนี้อย่าเพิ่งเชื่อนะ ไม่แน่นะ โดนหลอกนะ เอาแน่ไม่ได้นะ เป็นแค่ลมมากระทบหูแค่นั้นน่ะ ข้อความอาจจะเออเร่อบิดเบือนก็ได้ ...ต้องให้ใจมันสันทิฏฐิโก เมื่อนั้นน่ะโอเค แล้วก็บอก...เข้าใจแระ

เอ้า เอาแล้ว ไป โยมนี่ล่ะ มีอะไรถามมั้ย


โยม –  พระอาจารย์พูดไปแล้ว เรื่อง “ตัตถะ” ค่ะ

พระอาจารย์ –  อือ ตัตถะในที่นี้ มันจึงจะขาด ถ้าไม่ตัดในที่นี้แล้วมันไม่ขาด


โยม –  "ตัตถะ" นี่แปลว่าอะไรคะ ตรงที่ท่านกล่าวว่า “ตัตถะ ตัตถะ วิปัสสติ”

พระอาจารย์ –  "ตัตถะ" คือ “ที่นี้” ที่นี้ที่เดียว ...โยมลองพูดคำว่า "นี้" สิ

ให้อยู่ตรงนี้ ไม่ใช่ตรงโน้น ไม่ใช่โน้น ไม่ใช่นู้น ..."นี้"...รู้ต้องรู้ตรงนี้นะ นี่คือคำว่า “ตัตถะๆ” หยั่งลงที่ “นี้” ...มี “นี้” เดียวนะ ไม่มี “นี้” หลายนี้นะ

หลวงปู่ท่านจะย้ำลง...รู้ที่นี้ รู้ที่เดียว คือนี้เดียว ไม่มีโน้น ไม่มีนู่น ไม่มีนู้นนนน...ไม่ใช่ อันนั้นไม่ใช่ ท่านให้รู้ที่เดียว...ที่นี้ คือตัตถะๆ  แล้วก็เอาวิปัสสติ คือสติที่เพียรเพ่งพิจารณาลงในที่นี้อันเดียว

เพราะนั้นหลวงปู่นี่ ท่านสอนโดยปัญญาจริงๆ นะ สอนดวงจิตผู้รู้จริงๆ ...ท่านไม่ให้สนใจอะไรเลย รู้อย่างเดียว ตั้งลงไป รู้ลงไป อย่าตามอะไรออกไป 

"นี้" เดียว พอมีอะไรขึ้นมาก็รู้ตรงนี้เลย ...ละมันหน้าด้านตรงนั้นเลย วางมันทิ้งเลย ทิ้งแบบเอาให้ตายดิ้นตายงอไปเลยด้วยความอยาก แล้วไม่ตามมัน รู้ตรงนั้นเลย ไม่ตามกิเลส

นี่ หลวงปู่ท่านบอกให้เด็ดเดี่ยว ให้มั่นคงแน่วแน่กล้าหาญลงไปในที่อันเดียว คือ “นี้” เดียว นี้อันเดียวเท่านั้น ใจมันก็จะเข้มแข็ง กล้าขึ้น แกร่งขึ้น

ไม่เอ้อระเหยลอยชาย ไม่ปล่อยให้มันลอยนวล ไม่ไปอ้อยอิ่งกับมัน ไม่ไปเผื่อเหลือเผื่อขาดกับมัน ไม่ไปเสียดาย ไม่ไปหวังประโยชน์จากมันน่ะ ...ไม่มีน่ะ ทิ้งเลย 

เหมือนกับคนที่รู้สึกว่าใจดวงนี้มันรวยน่ะ ไม่ต้องไปหวังพึ่งอะไรกับมันเลย อยู่ด้วยตัวของมันเองได้ ...มันต้องเอาใจนี่เป็นหลักนะ ใจนี่เป็นเศรษฐีอยู่แล้ว ไม่มีประมาณอยู่แล้ว 

ยังจะไปหาอะไรมาอีก มาทับมาถมมันรึไง พึ่งไม่ได้หรอก ...พอเวลาไม่เอานี่ พอเราทิ้งไปปุ๊บ กลับไปดูปุ๊บ ก็จะเห็นมันดับไปในตัวของมันโดยทันที ...มันไม่มีค่าอะไรทั้งสิ้นเลย เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ น่ะ

เนี่ย ลมเพลมพัด นามก็เป็นลม รูปก็เป็นลม ผัสสะก็เป็นลม ...เหมือนเขียนภาพในอากาศน่ะ เหมือนเอานิ้ววนๆ ในอากาศแล้วก็เป็นลักษณะใดก็ได้ จะเป็นรูปอะไรก็ได้ ...มันมีอะรั้ย

นี่ มันจะเห็นอย่างนั้นเลย ไม่มีอะไรหรอก ...ความไม่มีตัวตนในสิ่งที่ปรากฏชั่วคราวนั้นก็ชัดเจนขึ้นมา ใจมันจะยอมรับเห็นชัดเจนขึ้นมา


.................................







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น