วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/33 (1)


พระอาจารย์
5/33 (541129D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 1)


(หมายเหตุ  :  แทร็กนี้แบ่งการโพสต์เป็น  2  ช่วงบทความ)

พระอาจารย์ –  ภาวนาเป็นเรื่องของใจ บทภาวนาทั้งหลายทั้งปวง วิถีการภาวนา วิธีการภาวนาทั้งหมด ไม่ว่าวิธีไหน มันเป็นอุบาย ...ไม่ต้องไปเถียง ไม่ต้องไปแบ่งแยกกัน ถูกทั้งนั้น นั่นคือมันเป็นอุบายที่จะเข้ามาสู่ใจ 

แต่ถ้ายังไปติดอุบาย หรือไปหลงว่าอุบายนั้นเป็นหลัก หรือไปเข้าใจผิดว่าหลักเป็นอุบาย ...ตรงเนี้ยคือความเสื่อมของการปฏิบัติ คือความเสื่อมของศาสนา

เมื่อใดที่เข้าไปให้ความสำคัญกับรูปแบบของการปฏิบัติ จนละเลย หลงลืมใจ ...ให้รู้ไว้เลย ความเสื่อมของศาสนาเริ่มจากที่นี่แหละ ความเสื่อมจากความรู้แจ้งเห็นจริงในธรรมทั้งหลายทั้งปวง เริ่มจากที่นี่ 

มันเริ่มมานานแล้วล่ะ เริ่มมาตลอดแหละ แต่มันจะมากขึ้นๆ มากขึ้นไปเรื่อยๆ ...อันนี้เป็นกฎธรรมชาติของความเสื่อมไปของทุกสรรพสิ่ง ไม่มีอะไรเที่ยง แม้แต่การดำรงธรรม 

การดำรงในบารมีของพุทธะแต่ละพระองค์ การดำรงในการรู้ในองค์มรรค หรือตรงในองค์มรรคนี่ มันสามารถดำรงได้ด้วยความที่ว่า มันไม่สามารถจะถาวร ...มันก็มีเหตุปัจจัยต่างๆ นานา

เพราะนั้น เมื่อใด สมัยใด บุคคลใดก็ตาม...ที่ภาวนาแล้วกลับมาอยู่ที่ใจได้ กลับมาภาวนาเพื่อให้ใจนี้ตั้ง ให้ใจนี้ปรากฏอยู่ในรูปขันธ์นามขันธ์นั้น

เมื่อใดที่ผู้ปฏิบัติภาวนานี่ เป็นการปฏิบัติโดยหลักที่เรียกว่า กลับมาค้นลงที่ใจ กลับมาตั้งอยู่ที่ใจ กลับมาชำระใจ จนใจรู้ใจเห็นดวงนี้ บริสุทธิ์ผุดผ่องขึ้น ตั้งมั่นขึ้น ตั้งอยู่ในขันธ์นั้นโดดเด่นขึ้นมา 

เมื่อนั้นแหละ ให้รู้ไว้เลยว่า ขณะนั้นบุคคลนั้นเป็นผู้ดำรงอายุพระศาสนา ทำให้ศาสนาพุทธยาวไกลครบห้าพันปี  เรียกว่าการภาวนาจึงเป็นการช่วยสืบอายุศาสนาโดยตรง ไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่สร้างวัด อันนั้นเป็นแค่ภายนอก

ใครจะว่ายังไง ใครจะพูดอะไร ใครจะสอนวิธีไหน...ไม่ต้องไปถกเถียงกัน ตั้งลงที่ใจของเรา ...ถึงจะเป็น "ใจเรา" ก็ตั้งอยู่ที่ "ใจเรา" นั่นแหละ  ยังไม่ต้องเป็นใจรู้ ...ก็ให้เป็น “ใจเรา” นั่นแหละดีแล้ว

อาศัยใจเรา ดวงจิตผู้รู้อยู่นี่แหละ เป็นที่หมายที่มั่น ที่พึ่งที่อาศัย เป็นสรณะ เป็นเหมือนบันได ...ถึงจะเป็นใจเราผู้รู้ก็ตาม ใจเรารู้ก็ตาม ใจที่เป็นผู้รู้ ใจที่เป็นอัตตานี้ก็ตาม ...แต่เป็นบันได

เหมือนตึกมันมีอยู่ ๔ ชั้น เดินชั้นนึงก็แล้ว อ่ะ มันก็ถึงชั้นหนึ่ง ชั้นหนึ่งแล้ว...อ้อ มันยังมีฝ้าเพดาน มีห้อง แล้วมันก็มีบันไดขึ้นไป มันยังมีอีกชั้น ...ก็เดินไป เดินขึ้นบันไดไป อาศัยใจผู้รู้นี่แหละเป็นบันได

รู้ไปๆ รู้ไปเห็นไป รู้ไปๆ เห็นไป รู้ไปเห็นไป มันก็จะไปเห็นอีกชั้น อ้อ ยังมีอีกชั้นนึงอีกห้องนึง กว้างกว่า มันก็เดินไปๆ อ้าว ยังมีบันไดขึ้นไปอีกชั้นนี่หว่า...เดินไปอีก รู้ไปเห็นไปๆๆ ชั้นสามแล้วชั้นที่สี่ 

พอไปถึงชั้นที่สี่ปุ๊บนี่ มันไปถึงดาดฟ้า มันไม่มีที่ให้ไปแล้ว บันไดก็ไม่มี นั่นแหละมันจึงจะทิ้งผู้รู้ มันถึงจะทิ้งอัตตาในตัวของมันเอง คือใจเราหรือผู้รู้ หรือความเป็นสัตว์ความเป็นบุคคลในใจดวงนั้น

มันก็จะเห็นท้องฟ้า โล่ง นั่นแหละคือความหมายว่า ใจที่แบ่งแยกไม่ได้  ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนอย่างนั้น ...แต่ตอนนี้ ยังเป็นใจเรา เพราะเหมือนกบในกะลา

เอากะลามาคว่ำไว้ มีกบอ๊บๆ อยู่ข้างในหนึ่งตัว กบก็กระโดดไปกระโดดมาในกะลา แล้วก็พากะลากระโดดไปกระโดดมา แล้วก็บอกว่ากะลานี้เป็นเรา กะลานี้ของเรา

สิ่งที่อยู่ในกะลาก็เป็นเรื่องของเรา เป็นอาการของเรา เป็นอารมณ์ของเรา เป็นใจของเรา ...กบมันว่าอย่างงั้น กบน่ะคือความไม่รู้ มันสร้างความเห็นที่ยึดมั่นถือมั่นในกะลาใบนี้

แต่เมื่อใดที่หงายกะลาออก กบกระโดดหายไป มันก็จะเห็นว่ากะลานี้ครอบบนอะไร ...นั่นแหละใจที่ไม่มีประมาณ ไม่ใช่ใจจำเพาะอยู่แค่ขันธ์ห้านี่เท่านั้นนะ

อันนี้มันแค่ห่อหุ้มใจไว้ ดูเหมือนเป็นดวงหนึ่ง จำเพาะดวงหนึ่งๆๆ เป็นคนละดวงๆ ว่ากันไปแต่พอหงายกะลาออกแล้ว มันไม่เป็นดวงหนึ่งๆ แล้ว มันดวงเดียวกัน

เหมือนท้องฟ้า เหมือนอวกาศ เหมือนกับอะไรที่ไม่มีอะไรมาประมาณได้น่ะ ไม่มีอะไรมาแบ่งแยกได้ ไม่มีอะไรมาเฉือน ไม่มีอะไรมาทำให้มันเป็นชิ้นๆๆๆ ชิ้นหนึ่ง ชิ้นสอง ชิ้นสาม ชิ้นสี่

หรือมีอาณาเขตของใจ มีอะไรไปกั้นอาณาเขตของใจได้...ไม่มีเลย  ...นั่นแหละใจดวงเดียว ใจเอก ใจใหญ่ ใจที่เป็นธรรมธาตุ ที่เป็นธาตุรู้โดยบริสุทธิ์

แต่ตอนนี้เราอยู่ในกะลา แล้วเราก็เข้าใจว่า นี่ ไอ้ที่เรารู้ๆๆๆ นี่เป็นเรารู้ เรารู้อยู่ แค่นั้นเอง ...แต่อาศัยเรารู้ๆ นี่มันเข้าไปเห็นอาการของกะลา หรือขันธ์ทั้งห้า เกิดดับเป็นระยะ

หรืออัตตาที่มันก่อเกิดขึ้นเป็นความคิด อัตตาที่มันสร้างรูปขึ้นมาเป็นลักษณะของความจำ อัตตาที่มันสร้างขึ้นมาเป็นลักษณะของเวทนา ที่มันก่อขึ้นมา แล้วก็ดับไปเป็นขณะๆ

ตรงนี้มันจะทำให้เห็นช่องว่าง หรือว่ามันทะลุขันธ์นั้น ...ดูตรงที่มันดับไปสิ สังเกตดูตรงที่เห็นว่าความคิดนั้นดับ นั่นแหละ มันเป็นช่องที่มันทะลุออกจากขันธ์ ที่จะไปเชื่อมกับสรรพสิ่งที่ไม่มีตัวไม่มีตน

แต่เดี๋ยวมันก็มาเชื่อมติดกันอีก เป็นตัวเรา เป็นขันธ์เรา ...ก็ดูไป อาศัยความเห็นในไตรลักษณ์ของขันธ์นี่แหละ หรือเห็นความเป็นอนัตตาบ่อยๆ ในการเกิดขึ้นและตั้งอยู่แต่ละครั้ง

ไม่ว่ารูป ไม่ว่านาม ไม่ว่าผัสสะ มันมีความดับอยู่ในตัวของมันอยู่แล้ว ทุกอย่างนั่นแหละ ...เห็นบ่อยๆ จนมันต่อกันไม่ติดน่ะ จนมันเห็นว่า มันเป็นแค่อะไรลอยๆ ขึ้นมาจากที่ไม่มีอะไร แล้วก็หายไปในความไม่มีอะไรนั่นแหละ

มันจะเห็นขันธ์นี่ลอยๆ ลอยอยู่บนอะไรก็ไม่รู้ที่จับต้องไม่ได้ แล้วก็หายไป หาไม่เจอเลย ในอะไรก็ไม่รู้ที่จับต้องไม่ได้ หาก็ไม่เห็นเหมือนกัน

นั่นแหละ สอนใจผู้รู้ ผู้เห็น...ใจเห็นนี่แหละ ให้มันเห็นความเป็นอนัตตาที่เรียกว่าเป็นอนัตตธรรมของธรรมทั้งหลายทั้งปวงนี่แหละ บ่อยๆ ...มันจึงจะไปเปิดกะลาออก พลิกกะลาให้หงายขึ้น

ไม่งั้นพระพุทธเจ้าท่านไม่เปรียบว่า ปัญญาเหมือนเปิดของคว่ำที่หงายออกน่ะ  เหมือนเปิดของคว่ำให้มันหงาย ไม่ใช่อยู่เป็นความรู้ในกะลาครอบเท่านี้

ใจมันก็จะเปิดออกเองนั่นแหละ เข้าไปสู่ภาวะที่เรียกว่า อนันตมหาสุญญตา ...มันจะไม่เข้าไปหยั่งถึงสภาพหรือถึงสภาวะที่เรียกว่าอนันตมหาสุญญตาหรือสุญญตาธรรม

แต่เมื่อใดที่อยู่ในกะลานี่ มันจะพากะลานี่ ไปสู่ภาวะที่เรียกว่าอนันตาจักรวาล คือความมีและความเป็นที่ไม่มีคำว่าที่สุด 

เข้าใจมั้ยว่าความเป็นไป ความเป็นอยู่ของคนในโลกนี่ มันจะเป็นไปเพื่ออนันตาจักรวาล คือความก่อเกิด ความได้ ความมี ความเป็น ไม่รู้จักจบสิ้น 

แต่ศีลสมาธิปัญญาหรือมรรคมีองค์แปดนี่ จะเป็นการปฏิบัติหรือการน้อมเพื่อหยั่งลงไปสู่ภาวะที่เรียกว่าสุญญตาธรรม คือความดับไปไม่มีประมาณ ความหมดสิ้นไปแบบไม่มีประมาณ

ไม่มีแม้กระทั่งเวลา สถานที่ บุคคลหรือตัวตนใดตัวตนหนึ่ง ตั้งอยู่ได้เลยในที่นั้นๆ ...จึงเรียกว่าภาวะนั้นว่านิพพานธาตุ

สภาวะนิพพาน เป็นสภาวะที่เหนือบัญญัติและสมมุติภาษา จะเอาว่าเที่ยงหรือไม่เที่ยงมาทาบทาไม่ได้เลย  เพราะเที่ยงก็เป็นบัญญัติ ไม่เที่ยงก็เป็นบัญญัติ ...จะเอาบัญญัติใดไปว่ากับสิ่งที่เหนือบัญญัติไม่ได้

พระพุทธเจ้าถึงบอกไง...อย่าไปค้นนะ อย่าไปคิดหานะ อย่าไปคะเนเอานะ บ้านะ ...แต่อาศัยการที่ใจนี่เข้าไปหยั่ง ใจรู้ใจเห็นนี่เข้าไปหยั่งสภาพธรรมนั้น

ให้มันเห็นสภาวธรรมนั้นตามจริง คือปัจจุบันธรรม หรือปัจจุบันของการก่อเกิดขึ้นรวมตัวกันขึ้นของขันธ์ในแต่ละขณะ ...แล้วมันจะเห็นความดับไปในปัจจุบัน

อาศัยความเพียร ซ้ำซาก รู้อย่างเดิมนี่แหละ เห็นอย่างเดิมนั่นแหละ เห็นเหมือนเก่านั่นแหละ เกิดแล้วก็ดับๆๆ ...มันก็เห็นของเก่านั่นแหละ ไม่ได้ว่ารู้ใหม่ รู้เพิ่ม รู้เติม รู้ลึกซึ้งพิสดารอะไร

ไม่ใช่ว่ารู้ต้องแบบเหมือนกับปีนบันไดฟังเพลงคลาสสิก เนี่ย ภาวนานี่กลายเป็นเรื่องของบางคน จำเพาะผู้ที่มีบารมี ต้องอยู่ในตรงนั้น สถานที่ตรงนี้เท่านั้นถึงจะรู้เห็น

ต้องภาวนาอย่างนู้นอย่างนี้ ต้องเตรียมการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ ...นี่ มันไม่ใช่ว่ายากเย็นลึกซึ้งอะไรปานนั้นหรอก ก็รู้เห็นเหมือนเดิมนี่ เกิดแล้วก็ดับๆ

อ่ะ ตั้งอยู่ด้วย ...เดี๋ยวมันจะไปดูแต่เกิดดับ แล้วก็จะเพ่งเอาแต่เกิดดับ ...มันตั้งอยู่ก็เรื่องของมึง ไม่ใช่เรื่องของกู อะไรมันตั้งๆ ก็ดูมันไปดิ มันไม่มีปาก มันไม่มีเสียง มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่ตั้งอยู่

ไม่ใช่มันไม่ได้ตั้ง มันไม่ได้มีนะ อัตตาน่ะ...มันมี มันมีทั้งนั้นน่ะ ทุกอย่างที่มันก่อเกิด ดำรงอยู่ คงอยู่นี่ ในชั่วคราวหนึ่งๆๆ นี่ มันคืออัตตาตัวตน ...แต่มันไม่ได้เป็นใคร มันไม่ได้เป็นของใคร

อันนี้ต่างหาก ที่ให้เห็นอัตตาตามความเป็นจริง หรืออัตตาที่แท้จริง ...อย่ามัวแต่กลัวอัตตา จะไปละอัตตา ไอ้นั่นภาษา ...มันต้องมาแจ้งว่า อัตตาคือใคร อัตตาคือของใคร

มัวแต่จะไปทำลายอัตตา ทำลายทำไม ถ้าทำลายมันก็ว่างหมดสิ ...ถ้าว่างหมดน่ะนู่น ไปนู่น อรูปพรหม ...มันไม่ได้ให้ว่างจากอัตตานะ แต่ให้แจ้งในอัตตา ว่าอัตตาคือมันมีอนัตตาในนั้น

นี่ปัญญาของพระพุทธเจ้าเห็นนะนั่นน่ะ ธรรมดาลำพังของผู้ปฏิบัตินะ ถ้าไม่ได้เป็นวิสัยฌานวิสัย หรือว่าพุทธวิสัย หรือว่าสัพพัญญูพุทธะนี่...ไม่เห็นภาวะธรรมที่เรียกว่าอนัตตานี้เลย

อนิจจัง ทุกขัง...อนิจจัง ทุกขัง นี่ มันเห็นมาก่อนพระพุทธเจ้าอีก นักภาวนา ฤาษีชีไพร ดาบส รู้ทั้งนั้นน่ะ  มันไม่รู้หรือว่ามันทุกข์ มันไม่รู้หรือว่ามันไม่เที่ยง...มันรู้

เพราะมันรู้น่ะ มันถึงหนีออกมาอยู่ป่า เพื่อจะมาหาที่มันไม่ทุกข์ ที่มันไม่เปลี่ยนแปลง...รู้ทั้งนั้นน่ะ อนิจจัง ทุกขัง ไม่งั้นไม่มีการภาวนาเกิดขึ้นในสมัยก่อนพระพุทธเจ้าหรอก

แต่มันไม่เห็นเข้าไปถึงความเป็นอนัตตา หรืออนัตตาธรรม ในการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งหรือจักรวาล ...แต่พระพุทธเจ้าพอหยั่งเข้าไปถึงภาวะอนัตตาธรรมๆ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นต้องมีดับไป..เองนะ

ดับไปเองนะ...สำคัญนะ ...ไม่ใช่ไปตั้งหน้าตั้งตาดับมันอีก ไอ้นี่รู้เกินแล้วๆ ...ก็ให้เขาเป็นไป อยากตั้งก็ตั้ง ไม่ดับก็ไม่ดับ ก็เหตุปัจจัย ไม่ใช่เรื่องของเรา ไม่มีเราเป็นเจ้าของ ไม่มีใครไปจัดการมันนี่

พระพุทธเจ้าจับจุดนี้ เห็นจุดนี้เป็นจุดสำคัญเลยนะ...อนัตตธรรมนี่ ...บำเพ็ญมาแทบตายน่ะ หกปีน่ะ ท่านยังบอกว่าไม่ใช่ๆๆ ...นั่นดับได้หมดแม้กระทั่งสัญญา นี่เรียกว่าเนวสัญญานาสัญญายตนะ

ท่านก็ยังมาตรึก...ไม่ใช่ ภาวะนี้มันยังเกิด แล้วมันยังหายไป ...ท่านก็ครุ่นคิด ค้นคิด เพียรคิด เพียรหา ทดสอบทดลองด้วยกายใจของท่านอยู่เสมอ ใจมันไม่ลงน่ะ

นี่ พุทธวิสัยนะ ความเพียรไม่หยุดหย่อน ...ท่านยังว่ามันยังไม่จบ ไม่ใช่ที่จบ แล้วยังไม่ถึงจุดจบ ยังไม่ถึงจุดจบของใจ ยังไม่ถึงที่สุดของใจ ...มันแค่ไปแวะแค่สถานีหนึ่งเท่านั้นเอง

ท่านว่ามันน่าจะมีกว่านั้นอีก ...นี่จึงเป็นเหตุให้ท่านไปนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่ใต้ต้นไม้โพธิ์นั่นน่ะ แล้วเกิดการทบทวน ตั้งแต่ยามต้น ยามกลาง ยามสุดท้าย ทบทวนนี่

ทวนไปทวนมา พรวด..บุพเพนิวาสานุสติญาณมาเลย ...นั่นทวนนะนั่นน่ะ ทวนอดีต ด้วยกำลังของพุทธะนี่ ไม่จบเลย เห็นการเกิดการตายๆๆ เกิดแล้วตายแล้วเกิดแล้วตายๆๆ

สองชั่วโมงสามชั่วโมงแล้ว ยังไม่จบเลย นี่ ผลของการค้น การปฏิบัติของท่านทำมาเพื่ออะไร ด้วยอำนาจฌานสมาบัติของท่าน ด้วยอำนาจบารมีที่สะสมมา

นี่ ทำให้เหมือนกับคนตาดีที่มองเห็นในกลางแจ้งน่ะ มองแบบไม่มีประมาณได้เลย การเกิดการตายนี่ เห็นหมด เกิดเป็นอะไร เป็นหมด ...ก็ยังไม่ใช่น่ะ

ท่านก็ว่า เอ๊ะ ดูอย่างนี้  มันก็ยังไม่จบ ก็ยังไม่ถึงจุดจบ ไม่มีที่จุดจบเหมือนกัน ...ท่านเลยตัดบทเลย เอาแค่ปัจจุบันนี้ เอาแค่ชาติปัจจุบัน ท่านก็ตั้งอยู่แค่ปัจจุบัน 

แล้วก็ไล่มา...ตั้งแต่คลอดก่อนเกิดเป็นเด็กทารกมา แล้วก็กลับมาตั้งอยู่กับปัจจุบัน ...พอท่านบล็อก ศีลสมาธิเริ่มมาแล้ว เริ่มเป็นสัมมาแล้ว...อยู่กับปัจจุบัน 

ท่านก็มาดูการเกิดการตายในปัจจุบัน ทำไมถึงได้อย่างนี้มา ทำไมถึงได้กายนี้มา เพราะทำอย่างนี้ถึงได้กายนี้ เพราะทำอย่างนี้ถึงกายอย่างนี้ ดูปัจจัยของการตั้งอยู่แห่งปัจจุบัน

ดูไปดูมา พรวด..จุตูปปาตญาณเกิดอีก ที่มาของสัตว์ กรรมของสัตว์...ทำอย่างไร กุศลอย่างไร...วิบากได้อย่างนั้น อกุศลอย่างไร...วิบากได้อย่างนั้น

ทำอะไรได้อย่างนั้น ทำอย่างนี้เกิดเป็นอย่างนี้ๆๆ ...ทะลุออกไปอีก อีกยามหนึ่งอีกสามชั่วโมงน่ะ ...ไม่ได้การอีกเหมือนกัน ดูได้ไม่จบไม่สิ้นอีกเหมือนกัน

ท่านพลิกมือนิดหนึ่ง ขยับขานิดหนึ่ง ขยับเจตนานิดนึง การเกิดนี่แปรเปลี่ยนหมด เป็นผลอย่างนั้น เป็นผลอย่างนี้ ได้หมด ...จนแจ้งถึงการเกิดของสัตว์โลกเลย ก็ไม่เอา...หยุดอีก กลับมาเอาการเกิดของตัวเองในปัจจุบัน 

ทีนี้ท่านเลยตั้งล็อคๆ บล็อกเลยว่า...อยู่แค่นี้ เอาแค่กายใจเกิดกับตาย รูปกับนาม อะไรเกิด อะไรดับ อะไรเกิด สิ่งนี้เกิดสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ดับไปแล้ว อะไรเกิดขึ้นมาต่อ อะไรมันตั้งอยู่

เนี่ย วิปัสสนาญาณมาเริ่มเกิดตรงนี้ การเห็นการเกิดดับของรูปขันธ์นามขันธ์ในปัจจุบัน ...ท่านมาตั้งมั่นลงไปในกายใจปัจจุบันนี้แหละ จึงเรียกว่าปัจจัยให้เกิดอาสวักขยญาณ


(ต่อแทร็ก 5/33  ช่วง 2)



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น