วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2560

แทร็ก 5/33 (2)


พระอาจารย์
5/33 (541129D)
(แทร็กชุดต่อเนื่อง)
29  พฤศจิกายน 2554
(ช่วง 2)


(หมายเหตุ  :  ต่อจากแทร็ก 5/33  ช่วง 1

พระอาจารย์ –  เพราะนั้นระหว่างสามชั่วโมงสุดท้ายก่อนรุ่งสางนี่ ระหว่างนั้นน่ะท่านอยู่ในวิปัสสนาญาณ พิจารณารูปนามเกิดดับ ท่านมาดูเห็นขันธ์ห้าเกิดดับในปัจจุบัน  

ดูเฉยๆ นี่ เอาใจรู้ใจเห็นดูอยู่ตรงนี้ ด้วยบารมีของพระพุทธเจ้านี่ แค่สามชั่วโมงนั่นน่ะ ...สุดท้ายนั่นน่ะ ท่านไปจับจ้องเน้นเห็นอยู่ ความดับไปๆๆ ไม่ว่าอะไรเกิด...อันนั้นดับ ไม่ว่าอะไรตั้งอยู่...อันนั้นดับ

ท่านเห็นว่ามันเหมือนกัน มันมีอยู่จุดเดียวกันที่เป็นรูทีน ...เป็นที่ตั้งที่ไม่มีที่ตั้ง เป็นที่ตั้งที่ไม่มีประมาณ เป็นที่ตั้งที่จับต้องไม่ได้ เป็นที่ดูเหมือนมีแต่ดูเหมือนไม่มี

เพราะนั้นท่านเข้าไปสู่ความดับ ดับ ดับไปทั้งหลายทั้งปวง คือ ที่สุดคือความดับไปๆๆ ...นั่นแหละ จนถึงจิตสุดท้าย...ของขันธ์ ของการปรุงแต่งในขันธ์ที่ออกมาจากความไม่รู้น่ะ

ตรงนั้นน่ะถึงเรียกว่าอาสวักขยญาณ คือจิตสุดท้ายดับ...ดับแบบสุญโญเลย เกลี้ยงเลย สิ้นเลย ไม่มีอะไร ใจนี่ขาวรอบแล้ว หมดจดเลย ...พอหมดจดแล้วปุ๊บ มันจะเปิดกระจายออกหมดแล้ว

ไม่จำเพาะแค่ขันธ์ห้าที่มาครอบเหมือนกะลามาครอบอีกแล้ว ...ที่ดูเหมือนกะลาครอบนี่เพราะมันมีอะไรยึดโยงมันอยู่...คือจิตนั่นแหละ มโนวิญญาณหรือจิตสังขารเริ่มต้น...ต้นจิตนั่นแหละ

พอถึงตรงนั้น ใจท่านนี่เกลี้ยงเลย ...จริงๆ น่ะธรรมชาติของใจนี่เกลี้ยงอยู่แล้วนะ แต่พอมีขันธ์ห้าสวมทรงลงองค์นี่ สิงสู่ ใจเข้าไปสิงสู่อยู่ในขันธ์ห้า นี่มันไม่เกลี้ยงไปโดยปริยาย

นี่เรียกว่าวิถีแห่งพุทธะ ไม่ต้องเอาแบบอย่างท่าน แต่เลียนแบบท่าน ...พูดมาทั้งหมดเพื่อให้เข้าใจ เพื่อให้เลียนแบบท่าน ไม่ให้เอาอย่างท่าน

เอาอย่างท่านก็ไม่ได้หรอก เพราะท่านเป็นเอกบุรุษ ในหลายล้านๆ ปีจะมีสักหนึ่งองค์ ...เพราะนั้นตามแบบท่านไม่ได้ ถ้าตามแบบท่านก็ไปรออีกสี่อสงไขยแสนมหากัปก็แล้วกัน

หรือจะเอายิ่งกว่านั้นก็แปดอสงไขยแสนมหากัป ยิ่งกว่านั้นก็สิบหกอสงไขยแสนมหากัป เรียกว่าศรัทธาธิกะ วิริยาธิกะ

แต่พระพุทธเจ้าว่าให้เลียนแบบท่าน เอาท่านเป็นครู เอาท่านเป็นโมเดล คราวนี้นักภาวนาสมัยนี้ มันเป็นนักภาวนาแบบนักเลียนแบบไง ให้เลียนแบบก็เลียนแบบ แต่มันไปเลียนแบบไหน

เพราะพระพุทธเจ้าระหว่างสี่สิบสองพรรษาที่ท่านดำรงคงชีพ หรือระหว่างภาวนาหกปี...นี่ มันมีทั้งภาคอุกฤษฏ์ มันมีทั้งภาคบังคับกดข่ม เอาเป็นเอาตาย

มันมีทั้งภาคที่ท่านปล่อยวางไม่เอาอะไรเลย จะอยู่แบบสบาย จะนั่งแบบสบาย จะพิจารณาแบบสบาย กลางๆ จะเอาแบบรู้อดีตอนาคต รู้วาระจิต กรรมของสัตว์โลก ...ทีนี้ นักเลียนแบบจะเลียนแบบไหน

เพราะนั้นอรรถาจารย์ทั้งหลายน่ะ ก็จะจับตรงปฏิปทาของพุทธะนั่นน่ะมาเป็นแบบ ...แต่ถ้าจะเอาแบบหลัก คือจับเอาหลักเป็นแบบ เอาใจเป็นแบบ...ที่พระพุทธเจ้าเอาใจเป็นหลัก ที่ให้เกิดอาสวักขยญาณ

เพราะนั้นไม่ต้องไปสนใจในรูปแบบต่างๆ นานาจนละเลยจุดสุดท้าย ที่เข้ามาสู่จุดสุดท้าย ...แม้แต่พระพุทธเจ้าจะได้อะไร ทำอะไรมาก็ตาม ท่านมาอยู่ ต้องรวมลงมาอยู่ที่ใจรู้เห็นในปัจจุบันขันธ์

ใครอยากได้อะไร ใครภาวนาแล้วเห็นอะไร ได้อะไร ว่าดี ว่าเลิศ ว่าอะไรก็ตาม ...อย่าเห่อเหิมตามกัน อย่าไปกระหายอยากดีอยากเด่นกับอะไร กับความรู้อันใดที่ไม่ใช่เห็นกายใจปัจจุบันตั้งอยู่ในความเป็นชั่วคราว แล้วมีความดับไปเป็นที่สุด 

ถ้าไม่มีจุดที่ดับไปเป็นที่สุด ถ้าไม่ระลึกหรือเตือนตัวให้ใจดวงนี้มันเห็นความดับไปเสมอๆ ของทุกสิ่งนะ มันมักจะออกนอกทาง มันจะลุ่มหลงมัวเมาต่อเติมออกไป 

มันจะเริ่มติด มันจะเริ่มยึดใหม่อีก ...มันอาจจะละของเก่า แต่มันจะยึดของใหม่ ...มันยังละไม่ทั้งหมด มันละไม่สิ้น มันไม่สะเด็ดน้ำ

น้อมให้เห็น น้อมให้ใจรู้ดวงนี้เห็น...นิดหนึ่งก็เอา หน่อยหนึ่งก็เอา ในความเกิดความดับเป็นชั่วขณะหนึ่งน่ะ ...เพราะนั้นในกายนี่ อิริยาบถย่อยนี่เห็นได้ชัดในการดับไปเป็นขณะๆ น่ะ

แล้วให้สังเกตดูไอ้ตรงที่มันดับแล้วว่างไปตรงนั้นน่ะ มันอยู่ตรงไหน ...หยั่งลงไปให้มันเห็น ให้ใจรู้นั้นมันเห็นความดับไปเป็นธรรมดาตรงนั้น

ใจมันจะเบา มันจะไม่ค่อยแบก มันจะไม่ค่อยรู้สึกว่าหาม มันจะไม่ค่อยรู้สึกว่ามันเป็นภาระ มันจะไม่รู้สึกว่าหนัก...ไอ้นั่นก็หนัก ไอ้นั่นก็เป็นภาระ เรื่องนั้นก็เป็นภาระ เรื่องนี้ก็เป็นภาระ

มันไม่มีน้ำหนักหรอกขันธ์น่ะ การปรากฏของขันธ์น่ะ ...ถึงบอกว่ามันลอยๆ อยู่อย่างงั้นน่ะ เหมือนฟองอากาศ เหมือนฟองน้ำที่มันแตก โพละๆๆ อย่างงั้นน่ะ

มันไม่มีอะไรหรอก ไม่มีน้ำหนัก ไม่มีอะไรเป็นสาระพอให้แบกให้หาม หรือรู้สึกว่าหนักตามมันหรอก ...ใจที่เห็นความเกิดขึ้น ความดับไปเสมอ บ่อยๆ นั่นแหละ คือปัญญาขั้นสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไรสุดกว่านั้นแล้ว 

จะเห็นอะไรประหลาดพิสดารขนาดไหนไม่รู้แหละ แต่เห็นอย่างเดียวว่าเดี๋ยวมึงก็ดับ มันมีความรู้อยู่อย่างเดียวว่าเดี๋ยวมันก็ดับ ไม่เห็นอะไรถาวรชั่วนิจนิรันดร์กาล ...ดับ ดับหมด ดับทั้งนั้น

เพราะนั้น อยู่กับของเกิดๆ ดับๆ เดินไปเดินมา นั่งไปนั่งมา ใช้ชีวิตอยู่นี่ มันอยู่กับของเกิดดับชั่วคราวนี่ มันช่างรู้สึกว่า ไร้สาระสิ้นดีเลย ...ใจมันรู้สึกนะ ไม่ใช่เรารู้สึกนะ ใจมันรู้สึกของมันเองอย่างนั้นนะ

มันก็รู้สึกว่าอยู่ไปงั้นๆ น่ะ ไม่เดือดร้อนอะไรกับอะไร แล้วก็ไม่จับอะไรมาเป็นเรื่องให้เดือดร้อน ...นี่ เป็นผลจากใจที่มันเห็น ใจที่มันรู้สภาพธรรมตามจริงของมัน

แต่การภาวนาที่มันไม่เป็นไปนี่ เพราะมันไม่ตั้งอยู่ที่ฐานใจ ...มันมัวแต่ไปมุ่งอยู่ที่ผล ไปตั้งอยู่ที่ผลที่จะได้ ไปตั้งอยู่ที่ความรู้ที่จะเกิด ความเห็นที่จะตามมา

เพราะนั้นจะไปตั้ง จะไปฝากผีฝากไข้กับสิ่งที่มันแปรปรวนเปลี่ยนแปลง หาความแน่นอนไม่ได้นี่ ...มันจึงทำให้เกิดการที่เรียกว่า ลังเลสงสัย พะวักพะวน กังวล เหนื่อยล้า ท้อ

แต่ถ้าตั้งด้วยสติสมาธิปัญญาที่แท้จริง คือตั้งลงที่ใจ หรือตั้งรวมลงที่ดวงจิตผู้รู้อยู่ ...ไม่ต้องทำอะไรหรอก บอกให้เลยๆ รู้ไป อยู่ที่รู้นั่นแหละ ...ไม่เอาอะไรเลย เอาที่รู้นั่นแหละ ที่เดียวนั่นแหละ 

เชื่อสิ ลองดูสิ เดี๋ยวเข้าใจเอง มันมองเห็นอะไรแจ่มชัดเหมือนกับลืมตามองอย่างนี้ ไม่ใช่หลับหูหลับตาเดินน่ะ ...ใครจะว่าผู้รู้ต้องละ ต้องฆ่าผู้รู้...ไม่สนน่ะ อาศัยรู้นี่

ถ้าไม่ได้รู้ ไม่อยู่ที่รู้นี่...ตายแน่ บอกให้เลย ...ถ้าหารู้ไม่เจอ ถ้าจับรู้ไม่อยู่  ถ้าไม่ตั้งอยู่ที่รู้ ไม่อยู่ที่เห็นนี่...มันจะคลาดเคลื่อนไปหมด ...เพราะนั้น ยึดก็ต้องยึดแล้ว เอาไว้ก่อน 

เพราะกว่าจะหาผู้รู้เจอ...แทบตาย กว่าจะเจอนี่แทบตาย  กว่าจะเจอแล้วอยู่กับมันได้เป็นวันเป็นเดือนนี่ แทบตายหยังเขียดเลย ...ไม่ใช่ง่ายๆ

เพราะนั้นอย่าไปประมาทว่ารู้ๆๆๆ มันจะได้อะไร...ก็ไม่ได้อะไร ...ได้ใจ ถึงใจ อยู่ที่ใจ  แล้วใจมันก็จะตั้งขึ้นเองน่ะแหละ ...ก็ถ้าไปตั้งที่อื่นน่ะใจมันจะตั้งได้ยังไง

เราเคยอธิบายแล้วไง อย่างที่น้ำท่วม ร้องไห้ระงมเลย คนแก่ เจ็ดสิบแปดสิบ เด็กก็ร้องไห้ คนหนุ่มคนสาวก็ร้องไห้ ...ก็ว่ามันหมดที่พึ่งแล้ว บ้านก็หมด เงินก็หมด รถก็หมด ที่อยู่อาศัยก็หมด อนาคตก็หมด 

คือมันไปพึ่งกับภายนอกน่ะ เอาบ้านเป็นที่พึ่ง เอารถที่พึ่ง เอางานเป็นที่พึ่ง เอาความสุขเป็นที่พึ่ง ...พอเจอน้ำท่วมพั่บเดียว ป้าบ หมดที่พึ่ง ...มันก็ทุกข์น่ะสิ

พระพุทธเจ้าบอกว่าโลกมันพึ่งได้มั้ยล่ะ มันพึ่งไม่ได้ ...พึ่งไม่ได้เพราะอะไร เพราะมันไม่เที่ยง เพราะคะเนกับมันไม่ได้ เพราะควบคุมมันไม่ได้ เพราะมันไม่ได้อยู่ในอำนาจของใคร

พระพุทธเจ้าบอกว่าพึ่งมันไม่ได้นะ แต่ยังไปพึ่งกันอยู่อย่างเงี้ย น้ำตาไหลสิ โศกาอาดูร ปริเทวนา โสกะปริเทวะ อุปายาส คร่ำครวญ ...เพราะมันไปพึ่งในสิ่งที่พึ่งไม่ได้

อย่าว่าแต่คนน้ำท่วม บ้านไฟไหม้เลย ...นักภาวนาก็ยังมาหาที่พึ่งว่า ทำยังไงถึงจะให้สงบ เอาความสงบเป็นที่พึ่งหรือไง

เราไม่ได้ปฏิเสธความสงบ แต่เราบอกว่าความสงบน่ะมันมีอยู่แล้ว ...ใจ ใจนั่นแหละคือตัวสงบ ใจที่ไม่มีความปรุงแต่งในนั้นน่ะคือความสงบระงับจากสังขาร

นั่นแหละคือความสงบที่ไม่ต้องทำ มันมีความสงบในตัวของมันเอง มันเป็นน้ำที่เย็น น้ำมันเย็น น้ำมันนิ่ง น้ำคือน้ำไม่มีคลื่น ...นั่นน่ะ คือความสงบในตัวใจดวงนั้นแล้ว ไม่ต้องสร้างขึ้นมาอีก

เพราะนั้น สงบ..มันก็มีสงบนอกกับสงบใน ...ถ้าไม่เข้าใจมันก็จะไปติดไอ้สงบภายนอก คืออารมณ์ คือเวทนา คือขันธ์อันหนึ่ง คือสิ่งที่อยู่หน้าใจ

เพราะนั้นถ้าปัญญาฉลาดเท่าทันจริงๆ นะ มันจะทวนกลับอีก...ในความสงบนั้น ใครเห็นสงบ อะไรรู้ว่าสงบ นี่ ตรงนั้นสงบกว่า ตรงนั้นนิ่งกว่า

แต่ถ้าไม่ทบทวนกลับ หรือโอปนยิโกน้อมกลับลงที่ใจดวงนั้น ดวงจิตดวงใจรู้อยู่เห็นอยู่ในปัจจุบันนั้น ...มันจะไปจม มันจะไปแช่ มันจะเอามาเป็นที่พึ่ง

เดี๋ยวก็น้ำตาไหลแล้ว เดี๋ยวจะน้ำตาไหล เพราะไปพึ่งในสิ่งที่เป็นอะไรลมๆ แล้งๆ  คือความไม่เที่ยง คือความเป็นอนัตตา คือความไม่มีตัวตนที่แท้จริงดำรงอยู่ได้

สำคัญนะใจนี่ ภาวนาเป็นเรื่องของใจล้วนๆ เลยนะ  ถ้าได้ใจดวงเดียวนี่..ได้หมด ถ้าเห็นใจดวงเดียวนี่..เห็นหมด ถ้าหยุดอยู่ที่ใจได้ดวงเดียวนี่..หยุดการไปการมาทั้งสามโลกธาตุเลย

เพียรลงไปในใจนี่แหละ ...เพราะนั้นสติคืออุปกรณ์สำหรับระลึก..แล้วรู้ๆ ...เห็นมั้ย มันดันเสือกระลึกมาทำซากทำไมสติน่ะระลึกเพื่อให้รู้ปรากฏขึ้นมา ระลึกเพื่อให้ใจมันผุดโผล่ขึ้นมา

ออกจากโคลนตม ออกจากหลืบเงาของโมหะ ของตัณหา ของอุปาทาน ที่มันรัดปิดบังอยู่ นั่น พอมีสติระลึกขึ้นมาปุ๊บ รู้เลยว่านั่ง รู้ว่าคิด รู้ว่าขยับ รู้ว่านิ่ง รู้ว่าไหว

เห็นมั้ย ใจมาแล้ว ใจเห็นแล้ว ใจปรากฏเลย นี่คือหน้าที่ของสติ ...เมื่อมีสติปุ๊บ มันจะมีอาการเป็นของสองสิ่งทันที สภาพธรรมสองอย่างทันที คือสภาพที่ถูกรู้กับสภาพที่รู้อยู่ 

สมาธิตามมา หยั่งลงไปที่ใจรู้ดวงนั้น...ใช้คำว่าหยั่งนะ น้อมนะ ตั้งนะ ...เพื่ออะไร ...ให้ใจมันตั้งด้วยสมาธิ คือตั้งมั่น ให้ใจนี่ รู้อยู่ข้างในนี่ มีรู้มีเห็นอยู่ข้างในไม่ไปไม่มา ให้มันแนบแน่นลงที่ใจดวงนั้นแหละ

ให้มันแนบแน่นทำไม ให้ใจมันตั้งทำไม ...ก็เหมือนเวลาเรานั่งอยู่บนตึกแล้วมองลงไปในสี่แยกถนนที่มีการจราจรคับคั่ง มันเห็นมั้ยล่ะ นั่งเฉยๆ แล้วมันเห็นมั้ย มันเห็นรถวิ่งสวนไปสวนมาชัดเจนมั้ย

แต่ถ้าเดินมะงุมมะงาหราค้นหาอะไรอยู่ ทำอะไรอยู่นี่ เดินไปเดินมานี่ มันจะเห็นอะไรมั้ย ...เห็น..แต่ไม่ชัด เห็นแว้บๆ ว่าเฟอร์รารี่รึเปล่าวะ หรือบีเอ็ม อ่ะ มันไม่ใช่ ...ก็มึงไม่นั่งดูดีๆ นี่

คือถ้านั่งดู อ๋อ สีแดง สีดำ สีขาว อ๋อ รถนี้มีสองล้อ รถนี้มีสามล้อ รถนี้มีสี่ล้อ ...พอวิ่งไปปั๊บแล้วก็ไป หายไปแล้ว...อย่าตามไปนะ อย่ากระโดดขึ้นรถคันไหนไปนะ

นี่ต้องตั้งไว้นะ ต้องตั้งไว้อยู่ที่นั่งอยู่ตรงนั้นนะ ...นี่เรียกว่าสัมมาสมาธิ ต้องตั้งอยู่ที่ใจดวงนั้นแหละ ไม่ไปไม่มากับขันธ์หลากหลายที่มันปรุงแต่งขึ้นมาเป็นอัตตาตัวตนหนึ่งๆ หนึ่งๆ

รูปบ้างนามบ้าง ละเอียดบ้าง หยาบบ้าง ประณีตบ้าง มีบ้าง ไม่มีบ้าง ...ทุกอย่างนี้  มันจะปรุงแต่งยังไงก็ได้ มาเป็นรูปลักษณ์เรียกว่าอัตตาตัวตนที่ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมาด้วยอำนาจของกรรมและวิบาก

หรือผัสสะมากมายล้านแปดที่มันจะก่อเกิด ขึ้นมา ปรากฏขึ้นเป็นรูปขันธ์นามขันธ์หนึ่งๆ น่ะ  เลือกไม่ได้น่ะ ไม่รู้ที่มาที่ไปมัน ...ก็ไม่ต้องสนใจน่ะ นั่งเฉยๆ นั่งเป็นรึเปล่า เฉยๆ

ไปวุ่นวี่วุ่นวายอะไร ลุกลี้ลุกลนได้ยังไง ..ไอ้นั้นก็จะเอา ไอ้นี่ก็จะทำ ไอ้นั่นก็จะเห็น ไอ้โน่นก็จะดู วิ่งซ้ายวิ่งขวา วิ่งหน้าวิ่งหลัง มันจะอะไรชัดเจนล่ะ ...นี่ ไม่มีสติ

สติก็ไม่มี สมาธิก็อ่อน ปัญญาน่ะไม่ต้องพูดถึง...เห็นแค่เบลอๆ เบลอๆ ไม่ค่อยชัดน่ะ แล้วก็หงุดหงิดรำคาญ ทำไมมันไม่ชัดวะ ทำไมไม่ยอมรับ ทำไมไม่ปล่อย ทำไมมันไม่ยอมวางสักที

ก็มึงไม่ตั้งดูเฉยๆ น่ะ ดูเข้าไปสิ ดูเฉยๆ เป็นมั้ย ...ไม่เป็น มันอยากดูชัดๆ ไง ก็ชะโงกเข้าไป มันก็ตกตึกอ่ะดิ ...อยู่ที่ใจไม่อยู่ จะไปตามจิตออกไป ความอยากมันพาออกนะ

ตัณหามันพาทะเยอทะยานออกไปนะ อย่าไปฟังมัน เสียงนกเสียงกา เสียงลือเสียงเล่าอ้าง เสียงกระซิบภายใน ...นั่นน่ะสมมุติบัญญัติมันพูดออกมาเป็นภาษา เชื่อมันหมด โง่นะนั่นน่ะ เขาให้นั่งดู

พระพุทธเจ้าก็นั่งดูให้เห็นอยู่แล้ว นั่งยันแจ้งน่ะ ...ท่านนั่งดู  ท่านไม่ได้วิ่งดู ท่านไม่ได้เอาจิตวิ่งไปดู ท่านอยู่ตรงนี้ดู อยู่ที่ใจดวงนี้ ดวงรู้ดวงเห็นนี่

ถามว่ามันอยู่ตรงไหน ...ไม่รู้ ไปทำเอาเอง ชี้ทางให้แล้ว ...พระพุทธเจ้าบอกว่า สติ สมาธิ ปัญญา นั่นแหละเป็นตัวที่จะสามารถกำหนดสภาวะใจให้ปรากฏผุดโผล่ขึ้นมาได้

อย่ามาถาม อย่ามาคาด อย่ามาเดาว่าใจอยู่ไหน ไอ้นี่เป็นใจมั้ย หรือว่าอย่างนี้เรียกว่าใจ หน้าตามันเป็นยังไง ความรู้สึกอย่างนี้รึเปล่า ...มานั่งค้นนั่งคิดนี่...ตายเปล่า ไม่เจอ ไม่ใช่

ถ้าอยากใช่ อยากเจอ...นี่ นั่ง..รู้มั้ยว่านั่ง ขยับรู้มั้ย คิดรู้มั้ย ทำอะไรอยู่รู้มั้ย มีสุขมีทุกข์รู้มั้ย นั่นแหละ รู้เข้าไปบ่อยๆ มันจะชัดขึ้นมาเอง..อ๋อ นี่แหละใจ ใจคือผู้รู้ ใจคือผู้เห็นอยู่นี้ มันก็จะหยั่งลงไปในที่ตรงนั้นได้

แต่ถ้าไม่มีสติ เอ้อระเหยลอยชาย ประมาท ล่องลอยไป...อีกกี่ชาติมันจะเจอใจ เห็นใจล่ะ ...จะพุทโธๆๆ แทบตาย ก็มีแต่พุทโธ ...ใจอยู่ไหน ใครเป็นคนว่าพุทโธ...ทำไมไม่ดู นี่


(ต่อแทร็ก 5/34)




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น